กฎหมายอิสลาม : ว่าด้วยครอบครัวและมรดก

การสู่ขอหรือการหมั้น (อัลคิฏบะฮฺ)

การสู่ขอหรือการหมั้น เรียกในภาษาอาหรับว่า “อัล-คิฏบะฮฺ” (اَلْخِطْبَةُ) หมายถึง การแสดงความจำนงในการสมรสกับสตรีที่ถูกเจาะจง และแจ้งให้สตรีหรือผู้ปกครอง (วะลี) ของนางรับทราบถึงสิ่งดังกล่าว ซึ่งการแจ้งให้ทราบนี้อาจจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์โดยตรงจากฝ่ายชาย ผู้สู่ขอหรือผ่านคนกลางก็ได้ ดังนั้นหากสตรีผู้ถูกสู่ขอหรือครอบครัวของนางตอบตกลง การสู่ขอหรือการหมั้นระหว่างบุคคลทั้งสอง (คือฝ่ายชายและฝ่ายหญิง) ก็เป็นอันสมบูรณ์ และจะมีหลักการและผลพวงตามหลักการศาสนาเกิดขึ้นตามมา

คุณสมบัติของสตรีที่ถูกสู่ขอ (อัลมัคฏูบะฮฺ)

(1) เป็นสตรีที่เคร่งครัดในศาสนา

(2) เป็นสตรีที่ให้กำเนิดบุตรได้หลายคน

(3) เป็นสตรีที่โสดที่ไม่เคยผ่านการสมรสมาก่อน

(4) มาจากครอบครัวที่เป็นที่ทราบกันว่าเคร่งครัดในศาสนาและมีความพอเพียงในการดำเนินชีวิต

(5) มีชาติตระกูลที่ดี

(6) มีรูปโฉมงดงาม

(7) เป็นสตรีอื่นที่มิใช่ญาติใกล้ชิด

(8) มีความเหมาะสมกัน

เงื่อนไขที่อนุญาตให้ทำการสู่ขอมี 2 ประการ คือ

(1) การสมรสกับสตรีที่ถูกสู่ขอไม่เป็นที่ต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ กล่าวคือ สตรีผู้ถูกสู่ขอต้องมิใช่สตรีที่ห้ามฝ่ายชายสมรสด้วยไม่ว่าจะเป็นการห้ามตลอดไป (มุอับบัด) เช่น พี่สาว, น้องสาว, ป้า หรือ น้าสาว เป็นต้น หรือเป็นการห้ามชั่วคราว (มุอักกอตฺ) อาทิเช่น พี่สาวหรือน้องสาวของภรรยา, ภรรยาของชายอื่น, สตรีที่ยังคงอยู่ในช่วงเวลาครองตน (อิดดะฮฺ) จากการหย่าของสามีที่สามารถคืนดี (รอจญ์อะฮฺ) ได้ เป็นต้น

(2) สตรีที่ถูกสู่ขอนั้นจะต้องไม่เป็นสตรีที่ถูกสู่ขอ (คู่หมั้น) มาก่อนสำหรับชายผู้สู่ขออีกคนหนึ่ง กล่าวคือ ไม่อนุญาตให้สู่ขอสตรีที่ถูกสู่ขออยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเรียกว่า การสู่ขอทับซ้อน (อัลคิฏบะฮฺ อะลัล คิฏบะฮฺ) ทั้งนี้เมื่อมีการตอบรับการสู่ขออย่างชัดเจนแก่ชายผู้สู่ขอก่อนแล้ว ยกเว้นด้วยการอนุญาตของชายผู้สู่ขอก่อนหรือชายผู้สู่ขอก่อนไม่ถูกตอบรับการสู่ขอ การสู่ขอในกรณีนี้ไม่เป็นที่ต้องห้าม ซึ่งการเป็นที่ต้องห้ามในที่นี้หมายถึง มีบาป มิได้หมายความว่าการสมรสที่เกิดขึ้นจากการสู่ขอทับซ้อนของชายผู้สู่ขอคนที่สองนั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใดตามทัศนะของปวงปราชญ์ (ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ อ้างแล้ว 7/15, 17/อัลฟิกฮุลมันฮะญีย์ เล่มที่ 4 หน้า 51)

สำนวนในการสู่ขอแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

(1) สำนวนที่ชัดเจนในการสู่ขอ (อัต-ตัศรีฮฺ) หมายถึง ถ้อยคำที่เด็ดขาดในการบ่งถึงความจำนงในการสมรส อาทิเช่น ฉันต้องการสมรสกับเธอ หรือ เมื่อช่วงเวลาการครองตน (อิดดะฮฺ) ของเธอสิ้นสุดลง ฉันจะสมรสกับเธอ เป็นต้น

(2) สำนวนที่กำกวม (อัต-ตะอฺรีฎ) กล่าวคือ เป็นถ้อยคำที่สามารถตีความได้ว่ามีความจำนงในการสมรสหรือไม่มีการสมรสก็ได้ อาทิเช่น กล่าวกับสตรีที่อยู่ในช่วงเวลาครองตน (อิดดะฮฺ) ว่า “เธอเป็นคนสวย” หรือ “บางทีอาจมีคนสนใจเธอน่ะ” เป็นต้น

ตามหลักการของศาสนา อนุญาตให้ใช้สำนวนทั้ง 2 ชนิดได้ เมื่อปรากฏว่า สตรีผู้ถูกสู่ขอปลอดจากการสมรสและช่วงเวลาการครองตน (อิดดะฮฺ) ตลอดจนปลอดจากความเป็นบุคคลต้องห้ามในการสมรสด้วย ส่วนในกรณีที่สตรีผู้นั้นเป็นสตรีที่อยู่ในช่วงการครองตนเนื่องจากสามีเสียชีวิต หรือการหย่าแบบบาอินไม่ว่าบาอินเล็กหรือบาอินใหญ่ อนุญาตให้สู่ขอด้วยสำนวนที่ 2 (คือกำกวม) ได้เท่านั้นตามทัศนะของปวงปราชญ์

ส่วนในกรณีที่สตรีผู้นั้นเป็นภรรยาของชายอื่น หรือเป็นสตรีที่ห้ามสมรสด้วย หรือเป็นสตรีที่ยังคงอยู่ในช่วงการครองตน (อิดดะฮฺ) เนื่องจากการหย่าแบบที่สามีสามารถคืนดี (รอจญ์อะฮฺ) ได้ ถือว่าเป็นที่ต้องห้ามในการสู่ขอนางไม่ว่าจะใช้สำนวนชนิดใดก็ตาม (อ้างแล้ว 7/16,17อ้างแล้ว 4/50,51)

อนึ่งตามศาสนบัญญัติอนุญาตให้ทำความรู้จักกับสตรีที่ถูกสู่ขอจากสองแนวทางเท่านั้น คือ

(1) โดยการส่งสตรีที่ผู้สู่ขอมีความวางในใจตัวนางให้ไปดูตัวสตรีที่จะถูกสู่ขอ แล้วสตรีผู้นั้นบอกเล่าถึงคุณลักษณะของสตรีที่จะถูกสู่ขอให้ชายผู้สู่ขอทราบและฝ่ายหญิงก็สามารถกระทำเช่นเดียวกันได้ด้วยการส่งชายผู้หนึ่งไปดูตัวฝ่ายชาย

(2) ฝ่ายชายผู้สู่ขอมองดูสตรีที่ถูกสู่ขอโดยตรง เพื่อรู้ถึงสภาพความงามและความสมบูรณ์ของร่างกาย โดยให้ฝ่ายชายมองดูใบหน้า ฝ่ามือทั้งสองและส่วนสูงของฝ่ายหญิง ทั้งนี้ใบหน้าจะบ่งถึงความงาม สองฝ่ามือจะบ่งถึงความสมบูรณ์ของร่างกายหรือความบอบบางและส่วนสูงจะบ่งว่านางเป็นคนสูงหรือเป็นคนเตี้ย นักวิชาการสังกัดมัซฮับชาฟิอีย์ระบุว่า : สมควรที่การมองดูของฝ่ายชายผู้สู่ขอยังสตรีนั้นเกิดขึ้นก่อนหน้าการสู่ขอ และการมองดูนั้นควรเป็นไปอย่างลับ ๆ โดยที่ฝ่ายหญิงหรือครอบครัวของนางไม่รู้

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาเกียรติของฝ่ายหญิงและครอบครัวของนาง ดังนั้นเมื่อฝ่ายหญิงเป็นที่พึงพอใจสำหรับฝ่ายชายก็ให้ฝ่ายชายทำการสู่ขอโดยไม่มีการทำร้ายหรือสร้างความลำบากใจให้แก่นางและครอบครัวของนาง ซึ่งการมองดูนาง (ดูตัว) นี้จะเป็นไปด้วยความยินยอมของนางหรือไม่ก็ตาม (อัลค่อฏีบ-อัชชิรบีนีย์, มุฆนีย์-อัลมุฮฺตาจญ์ 3/128)

ผลพวงของการสู่ขอ

การสู่ขอหรือการหมั้นมิใช่การสมรส แต่เป็นเพียงข้อสัญญาว่าจะมีการสมรส จึงไม่มีผลใด ๆ จากหลักการสมรสเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการอยู่สองต่อสองกับสตรีผู้ถูกสู่ขอ หรือการไปไหนมาไหนกันสองต่อสอง ทั้งนี้เพราะสตรีผู้ถูกสู่ขอยังคงเป็นหญิงอื่นที่ศาสนาห้ามจากการกระทำสิ่งข้างต้น

การยกเลิกการสู่ขอ

นักวิชาการส่วนใหญ่มีทัศนะว่าอนุญาตให้ฝ่ายชายผู้สู่ขอ หรือฝ่ายหญิงที่ถูกสู่ขอ ยกเลิกการสู่ขอหรือการหมั้นได้ ในกรณีที่มีความจำเป็น ส่วนในกรณีที่มีการมอบของขวัญหรือของกำนัลให้แก่ฝ่ายหญิงที่ถูกสู่ขอแล้วมีการยกเลิกการหมั้นในภายหลัง ฝ่ายชายก็ย่อมไม่มีสิทธิในการขอคืนสิ่งดังกล่าว ทั้งนี้เพราะของขวัญหรือของกำนัล (ฮะดียะฮฺ) มีข้อชี้ขาดเช่นเดียวกับฮิบะฮฺนั่นเอง (ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ อ้างแล้ว 7/26-27)