กฎหมายอิสลาม : ว่าด้วยครอบครัวและมรดก

องค์ประกอบหลักของการทำข้อตกลงนิกาหฺ

การทำข้อตกลงนิกาห์ (พิธีสมรส) มีองค์ประกอบหลัก 5 ประการ คือ

1) ฝ่ายชาย (เจ้าบ่าว)

2) ฝ่ายหญิง (เจ้าสาว)

3) ผู้ปกครองฝ่ายหญิง (วะลี)

4) พยาน 2 คน

5) การกล่าวคำเสนอ (อีญาบ) และคำสนองรับ (กอบูล)

เงื่อนไขของฝ่ายชาย (เจ้าบ่าว)

ฝ่ายชาย (เจ้าบ่าว) ต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  1. ต้องเป็นบุคคลที่ศาสนาอนุญาตให้ฝ่ายหญิงสมรสด้วย กล่าวคือ ต้องไม่เป็นบุคคลที่ห้ามมิให้ฝ่ายหญิงสมรสด้วย (มุฮฺรอม)

  2. ต้องเป็นบุคคลที่ถูกเจาะจงตัว (มุอัย-ยัน)

  3. ฝ่ายชายต้องไม่อยู่ในภาวะของการครองอิหฺรอม ฮัจญ์หรืออุมเราะฮฺ (อัลฟิกฮุล-มันฮะญีย์ 4/60)

เงื่อนไขของฝ่ายหญิง (เจ้าสาว)

ฝ่ายหญิง (เจ้าสาว) ต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  1. ปราศจากข้อห้ามในการสมรสด้วย กล่าวคือ ต้องไม่เป็นบุคคลที่ห้ามมิให้ฝ่ายชายสมรสด้วย (มุฮฺรอมะฮฺ) หรือเป็นภรรยาของชายอื่นหรืออยู่ในช่วงการครองตน (อิดดะฮฺ)

  2. ต้องเป็นบุคคลที่ถูกเจาะจงตัว (มุอัย-ยะนะฮฺ)

  3. ฝ่ายหญิง (เจ้าสาว) ต้องไม่อยู่ในภาวะของการครองอิหฺรอมฮัจญ์หรืออุมเราะฮฺ (อ้างแล้ว 4/59)

อนึ่ง ไม่อนุญาตสำหรับชายมุสลิมในการสมรสกับสตรีที่ตั้งภาคี (มุชริกะฮฺ) หรือสตรีที่ตกศาสนา (มุรตัดดะฮฺ) และไม่อนุญาตให้สตรีมุสลิมะฮฺสมรสกับชายผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) หรือชายที่เป็นชาวแห่งคัมภีร์ (ยะฮูดี-นัศรอนี)

ส่วนในกรณีของสตรีที่เป็นชาวแห่งคัมภีร์ (ยะฮูดียะฮฺ-นัศรอนียะฮฺ) นั้นอนุญาตให้ชายมุสลิมสมรสกับนางได้โดยมีเงื่อนไขว่านางต้องถือในศาสนาแห่งชาวคัมภีร์ตามบรรพบุรุษของนางก่อนหน้าการบิดเบือนหลักคำสอนในศาสนาทั้งสองนั้น โดยการสมรสกับนางไม่มีผลทำให้นางเป็นอิสลามิกชนแต่อย่างใด (อัลฟิกฮุล-อิสลามีย์ 7/155)

เงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้ปกครองฝ่ายหญิง

ผู้ปกครองฝ่ายหญิง (วะลี) หมายถึง ชายผู้ทรงสิทธิในการประกอบพิธีสมรสให้แก่ฝ่ายหญิง ทั้งนี้ ห้ามมิให้สตรีประกอบพิธีสมรสตนเองหรือบุคคลอื่นโดยไม่มีผู้ปกครอง (วะลี) และแม้ว่าผู้ปกครอง (วะลี) จะยินยอมก็ตาม จึงให้ประกอบพิธีสมรสได้แต่โดยผ่านทางผู้ปกครอง (วะลี) เท่านั้น

สำหรับฝ่ายชายมีสิทธิประกอบพิธีสมรสด้วยตนเอง หรือมอบให้ชายอื่นทำหน้าแทนตนได้ ฝ่ายชายจำต้องมีผู้ปกครอง (วะลี) ก็ต่อเมื่อฝ่ายชายยังไม่บรรลุศาสนภาวะหรือบรรลุศาสนภาวะแล้วแต่วิกลจริต

หลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีความจำเป็นต้องมีผู้ปกครอง (วะลี) ในการทำพิธีสมรสฝ่ายหญิงคือ อัลกุรฺอาน ที่มีดำรัสว่า :

” وَإِذَا طَلَّقْتُمُ النّسَاء فَبَلَغْنَ أَجَلَهُنَّ فَلاَ تَعْضُلُوهُنَّ أَن يَنكِحْنَ أَزْوَاجَهُنَّ إِذَا تَرَاضَوْا بَيْنَهُم بِالْمَعْرُوفِ…”

“และเมื่อสูเจ้าทั้งหลายได้หย่าบรรดาสตรี (ผู้เป็นภริยา) แล้วพวกนางก็ถึงกำหนดเวลา (อิดดะฮฺ) ของพวกนาง สูเจ้าทั้งหลายก็จงอย่าห้ามพวกนางในการที่พวกนางจะสมรสกับบรรดาสามีของพวกนางเมื่อพวกเขามีความพึงพอใจระหว่างกันโดยชอบธรรม …”  (สูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 232)

ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : อายะฮฺนี้เป็นหลักฐานที่บ่งชัดที่สุดถึงการพิจารณาบทบาทสำคัญของผู้ปกครอง (วะลี) ทั้งนี้เพราะหากผู้ปกครอง (วะลี) ไม่มีบทบาทที่สำคัญในการทำพิธีสมรสแล้ว การห้ามของผู้ปกครองก็ย่อมไม่มีความหมายแต่อย่างใด (อัลฟิกฮุล-มันฮะญีย์ 4/61)

ส่วนหลักฐานจากอัลหะดีษ นั้นมีรายงานจากท่านอบูมูซา อัลอัชอะรีย์ (ร.ฎ.) ว่า ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวว่า :

“لاَ نِكَاحَ إِلاَّبِوَلِيّ”  “ย่อมไม่มีการนิกาฮฺนอกจากต้องมีผู้ปกครอง”

(รายงานโดยอัต-ติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 1101)

และอัลหะดีษที่ระบุว่า :

” لاَ نِكَاحَ إِلاَّبِوَلِيّ وَشَاهِدَيْ عَدْلٍ ، وَمَاكَانَ مِنْ نِكَاحٍ عَلى غير ذلِكَ فَهُوَبَاطِلٌ “

“ย่อมไม่มีการนิกาฮฺ (คือการนิกาฮฺใช้ไม่ได้) นอกจากด้วยการมีผู้ปกครอง (วะลี) และพยานที่มีความยุติธรรมสองคน และการนิกาฮฺใดที่ไม่ได้เป็นไปตามนั้น การนิกาฮฺนั้นถือเป็นโมฆะ”

(ม่าวาริด อัซซฺอมอานฺ อิลา ซะวาอิด อิบนิ ฮิบบาน/อบูดาวูด หะดีษเลขที่ 2085)

ผู้ปกครอง (วะลี) จำต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ

1. เป็นมุสลิมจึงไม่อนุญาตให้ชายต่างศาสนิกทำพิธีสมรสแก่สตรีมุสลิมะฮฺ

2. มีความยุติธรรม กล่าวคือ ต้องไม่เป็นผู้ประพฤติบาปใหญ่หรือยืนกรานต่อการประพฤติบาปเล็ก ดังนั้นชายผู้ฝ่าฝืน (ฟาซิก) จะเป็นผู้ปกครองในการทำพิธีสมรสให้กับสตรีผู้ศรัทธามิได้ โดยสิทธิในการเป็นผู้ปกครองจะย้ายไปยังผู้ปกครองในลำดับถัดมา ถ้าหากผู้ปกครองในลำดับถัดมาเป็นผู้มีความยุติธรรม

3. บรรลุศาสนภาวะ ดังนั้นเด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะย่อมไม่มีสิทธิในการเป็นผู้ปกครองในการทำพิธีสมรส

4. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ดังนั้นผู้วิกลจริตจึงไม่มีสิทธิในการเป็นผู้ปกครองในการทำพิธีสมรส

5. ปราศจากข้อตำหนิที่ทำให้การพิจารณาบกพร่อง อาทิเช่น ชราภาพจนเลอะเลือน, หรือมีจิตฟั่นเฟือน เป็นต้น

6. ไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิเนื่องด้วยการใช้จ่ายทรัพย์ที่สุรุ่ยสุร่าย

7. ไม่เป็นทาส

8. เป็นชาย

9. ต้องไม่อยู่ในภาวะของผู้ครองอิหฺรอมฮัจญ์หรืออุมเราะห์

(อัลฟิกฮุลมันฮะญีย์ 4/63 – 65 , อัลฟิกฮุลอิสลามีย์ 7/195-197)

ฉะนั้นเมื่อผู้ปกครอง (วะลี) ขาดคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใดตามเงื่อนไขข้างต้น สิทธิในการเป็นผู้ปกครอง (วะลี) ก็ย้ายไปยังผู้มีสิทธิเป็นผู้ปกครอง (วะลี) ในลำดับถัดมา ยกเว้นในกรณีที่ผู้ปกครองอยู่ในภาวะของผู้ครองอิหฺรอม สิทธิในการเป็นผู้ปกครองจะไม่ย้ายไปยังผู้มีสิทธิเป็นผู้ปกครองในลำดับถัดมา แต่สิทธิในการทำพิธีสมรสนั้นจะย้ายไปยังผู้ปกครองรัฐ (สุลตอน) (อัลฟิกฮุลมันฮะญีย์ 4/65)

ลำดับของผู้ปกครองฝ่ายหญิง

ลำดับผู้ปกครอง (วะลี) มีดังนี้

1) บิดา

2) ปู่ (คือบิดาของบิดา)

3) พี่ชายหรือน้องชาย ที่ร่วมบิดามารดา

4) พี่ชายหรือน้องชาย ที่ร่วมแต่บิดา

5) บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชาย ที่ร่วมบิดามารดา

6) บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชาย ที่ร่วมแต่บิดา

7) พี่ชายหรือน้องชายของบิดา ที่ร่วมบิดามารดา

­8) พี่ชายหรือน้องชายของบิดา ที่ร่วมแต่บิดา

9) บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชายบิดา ที่ร่วมบิดามารดา

10) บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชายบิดา ที่ร่วมแต่บิดา

11) ทายาทชายที่รับมรดกกันได้ ตามศาสนบัญญัติ

12) ประมุขของรัฐอิสลาม (สุลตอน) หรือฮากิม คือ ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประมุขของรัฐอิสลามให้มีตำแหน่งเป็นผู้ชี้ขาดหรือตัดสินคดีความโดยทั่วไป (กอฎี ก็เรียก) (กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัว-มรดก หน้า 25-26 / อัลฟิกฮุลมันฮะญีย์ 4/63)

ประเภทของการเป็นผู้ปกครอง (อัลวิลายะฮฺ)

การเป็นผู้ปกครอง (วิลายะฮฺ) ในการสมรสมี 2 ประเภท คือ

1) การเป็นผู้ปกครองโดยมีสิทธิบังคับ (วิลายะฮฺ-อิจฺญ์บารฺ) การเป็นผู้ปกครองประเภทนี้เป็นสิทธิเฉพาะผู้เป็นบิดาของฝ่ายหญิงและบิดาของบิดาฝ่ายหญิง (ปู่) เท่านั้น ผู้ปกครองในลำดับอื่น ไม่มีสิทธิ กล่าวคือ บุคคลทั้งสองมีสิทธิในการทำพิธีสมรสฝ่ายหญิง โดยไม่ต้องขออนุญาตฝ่ายหญิงได้ อย่างไรก็ตามส่งเสริมให้บุคคลทั้งสองขออนุญาตฝ่ายหญิงในการสมรสนางก่อนเพื่อเป็นการให้เกียรติและรักษาน้ำใจของนาง

2) การเป็นผู้ปกครองโดยมีสิทธิเลือก (วิลายะฮฺ-อิคฺติยาร) คือการเป็นผู้ปกครองของผู้ปกครองตามลำดับที่กล่าวมาทั้งหมดในการทำพิธีสมรสสตรีที่ผ่านการสมรสแล้ว ซึ่งผู้ปกครอง (ถึงแม้ว่าจะเป็นบิดา) ไม่มีสิทธิในการทำพิธีสมรสนาง เว้นเสียแต่ด้วยการอนุญาตและความพอใจของนางเท่านั้น (อัลฟิกฮุล-มันฮะญีย์ 4/66-67)

คุณสมบัติและเงื่อนไขของพยานในพิธีสมรส

การประกอบพิธีสมรสนั้นต้องกระทำต่อหน้าพยานตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงจะมีผลสมบูรณ์ตามหลักการศาสนา ซึ่งพยานแต่ละคนนั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ

  1. เป็นมุสลิม ดังนั้นการประกอบพิธีสมรสโดยมีพยานที่มิใช่มุสลิมจึงใช้ไม่ได้

  2. เป็นชาย การประกอบพิธีสมรสโดยมีพยานเป็นหญิงหลายคนหรือชายหนึ่งคนร่วมกับหญิงสองคนถือว่าใช้ไม่ได้

  3. มีสติสัมปชัญญะ

  4. บรรลุศาสนภาวะ การประกอบพิธีสมรสโดยมีบรรดาคนบ้าหรือคนวิกลจริตและเด็ก ๆ เป็นพยานรับรู้เท่านั้นจึงใช้ไม่ได้

  5. มีความยุติธรรม แม้เพียงภายนอกก็ตาม ดังนั้นการประกอบพิธีสมรสโดยมีพยานรับรู้ที่เป็นคนชั่ว (ฟาซิก) ซึ่งประพฤติชั่วโดยชัดเจนจึงใช้ไม่ได้

  6. ไม่หูหนวกและตาบอด

  7. เป็นเสรีชน มิใช่ทาส

  8. มีจำนวน 2 คนขึ้นไป (โดยไม่นับผู้ปกครอง (วะลี) ในขณะทำพิธีสมรส)

  9. พยานทั้ง 2 คนต้องเข้าใจในความหมายของภาษาที่ใช้ในการทำพิธีสมรส ทั้งนี้เพราะเป้าหมายจากการเป็นพยานนั้นคือเข้าใจคำพูดของผู้ทำข้อตกลงในพิธีสมรสทั้งสองฝ่าย (อัลฟิกฮุล – มันฮะญีย์ 4/71 , อัลฟิกฮุลอิสลามีย์ 7/75-77)

การกล่าวคำเสนอ (อีญาบ) และคำสนองรับ (กอบูล)

การกล่าวคำเสนอ (อีญาบ) คือการเปล่งวาจาเสนอการสมรสของผู้ปกครอง (วะลี) ฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี อาทิเช่น ผู้ปกครองฝ่ายหญิงกล่าวกับเจ้าบ่าวในขณะประกอบพิธีสมรสว่า : ฉันสมรสท่าน หรือ ฉันนิกาฮฺบุตรีของฉันแก่ท่าน เป็นต้น

การกล่าวคำสนองรับ (กอบูล) คือ การเปล่งวาจาสนองรับการสมรสของฝ่ายชาย, ตัวแทนฝ่ายชายหรือผู้ปกครองฝ่ายชายในกรณีที่ฝ่ายชาย (เจ้าบ่าว) ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ หรือ วิกลจริต แล้วแต่กรณี อาทิเช่น ฝ่ายชาย (เจ้าบ่าว) กล่าวตอบผู้ปกครอง (วะลี) ฝ่ายหญิงในพิธีสมรสว่า ฉันสมรส หรือ ฉันรับการนิกาฮฺบุตรีของท่าน เป็นต้น

เงื่อนไขในการกล่าวคำเสนอ (อิญาบ) และคำสนองรับ (กอบูล) มีดังนี้

1) ต้องใช้ถ้อยคำที่บ่งถึงการสมรสคือคำว่า “อัต-ตัซฺวีจญ์” หรือ “อัล-อิงกาฮฺ” และคำที่กระจายมาจากสำนวนทั้งสอง

2) ต้องใช้ถ้อยคำที่บ่งถึงการสมรสโดยชัดเจน

3) การกล่าวคำเสนอ (อีญาบ) และคำสนองรับ (กอบูล) ต้องติดต่อกัน กล่าวคือ ต้องไม่มีสิ่งอื่นมาคั่นกลางระหว่างการกล่าวคำเสนอ (อีญาบ) และคำสนองรับ (กอบูล)

4) คุณสมบัติของผู้ประกอบพิธีสมรสทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องคงอยู่จวบจนการกล่าวคำสนองรับ (กอบูล) เสร็จสิ้น

5) สำนวนทั้งสองต้องเบ็ดเสร็จลุล่วง กล่าวคือ ต้องไม่อ้างอิงการทำข้อตกลงยังเวลาอนาคตหรือมีเงื่อนไขผูกพัน

6) สำนวนทั้งสองต้องไม่มีกำหนดเวลา

อนึ่งการประกอบพิธีสมรสด้วยภาษาอื่นที่มิใช่ภาษาอาหรับแต่มีความหมายในการแปลเหมือนกันถือว่าใช้ได้

(อัลฟิกฮุลมันฮะญีย์ 4/55-58)

มะฮัร (อัลมะฮฺรุ้)

มะฮัรฺ (اَلْمَهْرُ) หมายถึง ทรัพย์หรือสิ่งของที่ฝ่ายชายให้แก่หญิงคู่สมรสด้วยสาเหตุการทำข้อตกลงในการสมรส อนึ่งนักวิชาการเรียกชื่อ เงินหรือสิ่งของที่ฝ่ายชายให้แก่หญิงคู่สมรสหลายชื่อด้วยกัน อาทิเช่น ศ่อดาก, นิหฺละฮฺ, มะฮัร เป็นต้น

มะฮัร เป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) เหนือฝ่ายชายเพียงแค่การประกอบพิธีสมรสเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ไม่ว่าจะมีการขานจำนวนที่แน่นอนของทรัพย์ที่ให้แก่ฝ่ายหญิงในการประกอบพิธีสมรสหรือไม่ก็ตาม (อัลฟิกฮุลมันฮะญีย์ 4/75) และมะฮัรฺนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งจำเป็นในการทำข้อตกลงสมรส แต่มะฮัรฺก็มิใช่องค์ประกอบหลัก (รุกน์) หรือเงื่อนไขหนึ่ง (ชัรฏ์) จากบรรดาเงื่อนไขของการสมรส อันที่จริงมะฮัรฺเป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการประกอบพิธีสมรสเท่านั้น (อัลฟิกฮุล-อิสลามีย์ 7/253)

หลักฐานที่บ่งชี้ว่ามะฮัรเป็นสิ่งจำเป็น คือ

อัลกุรฺอาน : พระดำรัสที่ว่า

“وَآتُواْ النَّسَاء صَدُقَاتِهِنَّ نِحْلَةً…”

“และสูเจ้าทั้งหลายจงนำมาให้แก่บรรดาหญิง (คู่สมรส) ซึ่งบรรดามะฮัรของพวกนางด้วยความเต็มใจ”

(สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 4)

อัล-หะดีษ รายงานจากสะฮฺล์ อิบนุ สะอฺด์ (ร.ฎ.) ว่า : มีสตรีนางหนึ่งมาหาท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และกล่าวว่า : “แท้จริงนางได้มอบตัวของนางแก่อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์” ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) กล่าวว่า : “ฉันไม่มีความต้องการในสตรีแต่อย่างใด” ชายผู้หนึ่งก็กล่าวขึ้นว่า “ท่านจงสมรสนางให้แก่ฉัน” ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) กล่าวว่า : “ท่านจงมอบอาภรณ์แก่นาง” ชายผู้นั้นกล่าวว่า : “ฉันไม่มี” ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) กล่าวว่า : ท่านจงมอบให้แก่นางถึงแม้ว่าจะเป็นแหวนที่ทำจากเหล็กก็ตาม” อัลหะดีษ (บุคอรี (4341) / มุสลิม (1425)

อนึ่งส่งเสริมให้ขานจำนวนของมะฮัรฺในการประกอบพิธีสมรส ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาพิพาทที่จะเกิดขึ้นระหว่างคู่สมรสทั้งสอง

สิทธิและอัตราของมะฮัรฺ

มะฮัรฺเป็นสิทธิของฝ่ายหญิงเพียงผู้เดียว และนางย่อมมีสิทธิที่จะจัดการอย่างไรก็ได้ เป็นต้นว่าจะยกให้พ่อแม่, บริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือมอบกลับคืนให้กับฝ่ายชายก็ได้

มะฮัรฺไม่มีกำหนดอัตราที่แน่นอน ไม่ว่าจะมากสุดหรือน้อยสุด ทุกสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นทรัพย์ หรือแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์ได้ ย่อมอนุญาตให้กำหนดเป็นมะฮัรฺ มากหรือน้อยเป็นสิ่งของหรือเป็นหนี้ หรือเป็นประโยชน์ก็ตาม อาทิเช่น พรมปูละหมาด, เงินจำนวน 10,000 บาท, การพักอาศัยในเคหสถานหรือการสอนอาชีพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สมควรที่มะฮัรฺจะมีจำนวนอัตราที่ไม่น้อยกว่า 10 ดิรฮัม และไม่ควรเกินกว่า 500 ดิรฮัม (อัลฟิกฮุล มันฮะญีย์ 4/77-78)