กฎหมายอิสลาม : ว่าด้วยครอบครัวและมรดก

ข้อควรปฏิบัติตามสุนนะฮฺเนื่องในการประกอบพิธีสมรส มีดังนี้

1) การสู่ขอหรือการหมั้น (อัล-คิฏบะฮฺ) ก่อนหน้าการประกอบพิธีสมรส

2) ขอพรแก่คู่สมรสด้วยประโยคดุอาอฺที่ว่า :  

(بَارَكَ الله لَكَ ، وَبَارَكَ عَلَيْكَ ، وَجَمَعَ بَيْنَكُمَا فِى الْخَيْرِ)   “ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงประทานสิริมงคลแก่ท่านและทรงประทานสิริมงคลเหนือท่าน ตลอดจนรวมระหว่างท่านทั้งสองในคุณงามความดี”   (อัตติรมีซี – 1091 – / อบูดาวูด – 2130 – / อิบนุมาญะฮฺ – 1905)

3) ประกาศการประกอบพิธีสมรสให้เป็นที่รับรู้ และแสดงออกซึ่งความยินดี โดยประกอบพิธีสมรสในมัสญิด

4) อัล-วะลีมะฮฺ

คำว่า อัล-วะลีมะฮฺ (اَلْوَلِيْمَةُ) ตามหลักภาษาหมายถึง อาหารที่ทำขึ้นเพื่อเชื้อเชิญแขกมาร่วมรับประทานหรือไม่ก็ตาม ณ ที่นี้หมายถึง การเลี้ยงฉลองภายหลังเสร็จสิ้นการประกอบพิธีสมรส ซึ่งตามหลักการศาสนาถือเป็นสุนนะฮฺ มะอักกะดะฮฺ เนื่องจากมีปรากฏในสุนนะฮฺของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ทั้งที่เป็นคำพูดและการกระทำ อาทิเช่น อัลหะดีษที่ระบุว่า

“أَوْلِمْ وَلَوْ بِشَا ةٍ”

“จงเลี้ยงฉลอง (เนื่องจากการสมรส) แม้ด้วยแพะเพียงตัวเดียว” (ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวหะดีษนี้กับท่านอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ เอาว์ฟฺ (ร.ฎ.) รายงานโดยบุคอรี – 4872 – และมุสลิม – 1427 – )

และมีรายงานระบุว่าท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้เลี้ยงอาหารเนื่องจากการสมรสภริยาของท่านบางคนด้วยข้าวสาลีจำนวน 2 มุดด์ (ประมาณ 12 ขีด) – บุคอรี (4877) – และท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้เลี้ยงอาหารเนื่องจากการสมรสกับท่านหญิงซ่อฟียะฮฺ บุตรี ฮุยัยฺย์ (ร.ฎ.) ด้วยแป้งสาลีและอินทผาลัม – ติรมีซี (1095) – และมีรายงานว่าท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้เลี้ยงอาหารเนื่องจากการสมรสกับท่านหญิงซัยนับ (ร.ฎ.) – มุสลิม (1428) –

– การจัดงานวะลีมะฮฺสำหรับผู้มีความสามารถที่น้อยที่สุดคือ แพะหรือแกะ 1 ตัว ส่วนมากที่สุดนั้นไม่มีกำหนด

– เวลาสำหรับการจัดงานวะลีมะฮฺเนื่องจากการสมรสนั้นเปิดกว้างนับแต่การประกอบพิธีสมรสถึงช่วงเวลาหลังการส่งตัวคู่สมรส แต่ที่ดีที่สุด (อัฟ-ฎ็อล) คือภายหลังการส่งตัวคู่สมรสและมีการร่วมหลับนอนฉันท์สามีภรรยาแล้ว

– การตอบรับคำเชิญสู่การร่วมงานวะลีมะฮฺ เนื่องจากการสมรสนั้นถือเป็นภารกิจจำเป็น (วาญิบ) สำหรับผู้ที่ถูกเชื้อเชิญ โดยการรับประทานอาหารในงานวะลีมะฮฺนั้นไม่ถือเป็นสิ่งจำเป็น หากแต่สิ่งที่จำเป็นก็คือ ให้มาร่วมงาน ส่วนจะรับประทานอาหารหรือไม่นั้นให้ถือตามอัธยาศัย ทั้งนี้นักวิชาการได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับความจำเป็นที่จะต้องรับคำเชิญสู่งานวะลีมะฮฺเอาไว้ดังนี้

1) เจ้าภาพต้องไม่เจาะจงเชื้อเชิญเฉพาะคนรวยเท่านั้น หากเจาะจงเชิญเฉพาะคนรวยก็ไม่จำเป็นต้องตอบรับคำเชิญ

2) เจ้าภาพต้องเป็นมุสลิมและผู้ถูกเชิญต้องเป็นมุสลิม

3) เป็นการเชิญในวันแรกหากมีการจัดงานวะลีมะฮฺมากกว่า 1 วัน หากเชิญในวันที่ 2 ก็ถือว่าส่งเสริม (มุสตะหับ) ให้รับคำเชิญ แต่ถ้าเป็นวันที่ 3 ก็ถือว่าเป็นสิ่งไม่บังควรในการตอบรับคำเชิญ (มักรูฮฺ)

4) เป็นการเชิญชวนอย่างมิตรภาพและเป็นการสร้างความใกล้ชิด

5) เจ้าภาพต้องไม่เป็นผู้อธรรมหรือเป็นคนชั่วหรือเป็นผู้มีทรัพย์สินที่ต้องห้าม

6) ในงานวะลีมะฮฺต้องไม่มีสิ่งที่เป็นอบายมุข อาทิเช่น มีการเลี้ยงสุรา มีการปะปนกันระหว่างชายหญิง เป็นต้น

(เก็บความจาก อัลฟิกฮุล – มันฮะญีย์ 4/96-99)

สตรีที่ห้ามสมรสด้วย

ศาสนาอิสลามห้ามชายทำการสมรสกับสตรีดังต่อไปนี้

1. แม่, ยาย ฯลฯ

2. ลูกสาว , หลานสาว ฯลฯ

3. พี่สาว, น้องสาว

4. พี่สาวน้องสาวของพ่อ (ป้า – อา)

5. พี่สาวน้องสาวของแม่ (ป้า – น้า)

6. ลูกสาวของพี่ชายหรือน้องชาย ฯลฯ

7. ลูกสาวของพี่สาวหรือน้องสาว ฯลฯ

8. แม่นม

9. สตรีที่ร่วมดื่มนมจากแม่นมคนเดียวกัน

10. แม่ของภรรยา (ทั้งแม่จริงหรือแม่นม) ฯลฯ

11. ลูกสาวของภรรยาที่ชายนั้นร่วมหลับนอนด้วย มิใช่ภรรยาที่เพียงแต่ทำข้อตกลงสมรสด้วยเท่านั้น

12. ภรรยาของพ่อ ของปู่ ฯลฯ

13. ลูกสะใภ้ หลานสะใภ้ ฯลฯ

14. พี่สาวหรือน้องสาวของภรรยาไม่ว่าจะร่วมสายโลหิตหรือร่วมดื่มนมก็ตาม กล่าวคือ ศาสนาห้ามมิให้รวมสตรีสองพี่น้องมาเป็นภรรยาในคราวเดียวกันทั้ง 2 คน

15. ห้ามมิให้สมรสกับสตรีร่วมกับป้าของนางหรือน้าของนางหรือลูกสาวของพี่สาวน้องสาวหรือพี่ชายน้องชายของนางในคราวเดียวกัน

16. สตรีที่เกินจากภรรยา 4 คนในคราวเดียวกัน กล่าวคือ ห้ามชายที่มีภรรยาในคราวเดียวกัน ครบ 4 คนแล้วสมรสกับสตรีคนที่ 5 ในขณะที่ไม่ได้หย่าขาดคนใดคนหนึ่งจากภรรยาจำนวน 4 คนนั้น

17. สตรีที่ตั้งภาคี ซึ่งมิใช่สตรีจากชาวคัมภีร์

18. สตรีที่มีสามีอยู่แล้ว

19. สตรีที่ยังคงอยู่ในช่วงเวลาการครองตน (อิดดะฮฺ)

20. สตรีที่ถูกหย่าขาดจากสามีครบ 3 ครั้ง ไม่อนุญาตให้สามีที่หย่าภรรยาของตนครบ 3 ครั้ง กลับไปคืนดีหรือสมรสกับภรรยาคนดังกล่าวอีก จนกว่านางจะได้สมรสกับสามีใหม่อย่างถูกต้องตามหลักการของศาสนา หากต่อมาสามีใหม่ได้หย่าขาดนาง และนางพ้นช่วงเวลาการครองตนจากการหย่าของสามีใหม่แล้ว จึงจะอนุญาตให้สามีเก่าสมรสกับนางได้โดยประกอบพิธีสมรสใหม่และมะฮัรใหม่ (จากอัลฟิกฮุลมันฮะญีย์ 4/26-34 โดยสรุป)