กฎหมายอิสลาม : ว่าด้วยครอบครัวและมรดก

การเลี้ยงดูบุตร (อัลหะฎอนะฮฺ)

การเลี้ยงดูบุตรเป็นหน้าที่จำเป็นของบิดาและมารดา ฉนั้นถ้าหากเด็กไม่มีบิดาและมารดาก็ให้ญาติในลำดับใกล้ชิดที่สุดเป็นผู้เลี้ยงดู แต่ถ้าหากไม่มีญาติใกล้ชิดก็ต้องเป็นภาระของรัฐมุสลิมหรือประชาคมมุสลิมในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กนั้น

เมื่อมีการหย่าร้างระหว่างบิดาและมารดาของเด็ก ผู้มีสิทธิมากที่สุดในการเลี้ยงดูบุตรคือมารดาของเด็กตราบใดที่นางยังไม่ได้สมรสใหม่ เนื่องจากท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวกับสตรีที่มาฟ้องร้องกับท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ถึงสามีของนางที่หย่านางและต้องการพรากบุตรชายของนางว่า :

” أَنْتِ أَحَقُّ به مَالَمْ تَنْكِحِىْ “

“เธอมีสิทธิในตัวเขามากที่สุดตราบใดที่เธอยังไม่ได้สมรสใหม่ (กับชายอื่น)” (รายงานโดยอะฮฺหมัด, อบูดาวูด และอัลหากิม)

หากไม่มีแม่ของเด็ก หรือมีแต่นางปฏิเสธที่จะเลี้ยงดู สิทธิในการเลี้ยงดูเด็กก็เป็นของยาย (แม่ของแม่) หากไม่มียายก็เป็นของย่า (แม่ของพ่อ) ถัดมาคือพี่น้องผู้หญิงร่วมพ่อร่วมแม่, พี่น้องผู้หญิงร่วมพ่อ, พี่น้องผู้หญิงร่วมแม่, น้าสาว (พี่น้องผู้หญิงของแม่) ป้า (พี่น้องผู้หญิงของพ่อ) ลูกสาวของพี่ชายหรือน้องชาย และลูกสาวของพี่สาวหรือน้องสาวตามลำดับ (อัลฟิกฮุล-มันฮะญีย์ 4/192-193)

ระยะเวลาในการเลี้ยงดูบุตรจะดำเนินเรื่อยไปจนกระทั่งถึงวัยรู้เดียงสา (อัตตัมยีซฺ) อันหมายถึงการที่เด็กนั้นสามารถทำธุระส่วนตัวได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ใด อาทิเช่น การทานอาหาร การดื่มน้ำ การปลดทุกข์ และการชำระร่างกาย เป็นต้น ซึ่งวัยรู้เดียงสานี้จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์เมื่อเด็กมีอายุได้ 7 ขวบ

ดังนั้นเมื่อเด็กมีอายุครบ 7 ปี ก็ถือว่าเป็นผู้รู้เดียงสา (มุมัยยิซฺ) ระยะเวลาในการเลี้ยงดูก็สิ้นสุดลง และให้เด็กมีสิทธิในการเลือกว่าจะอยู่กับผู้ใดระหว่างมารดาและบิดาของเขา ผู้ใดจากทั้งสองที่เด็กเลือกจะอยู่ด้วย ก็ให้ส่งมอบเด็กแก่ผู้นั้น แต่ถ้าเด็กไม่เลือกและบิดามารดาของเด็กมีการขัดแย้งกันก็ให้จับฉลากระหว่างบุคคลทั้งสอง

อนึ่งในกรณีที่ฝ่ายมารดาเป็นผู้เลี้ยงดูบุตร บิดาของเด็กมีหน้าที่ต้องออกค่าเลี้ยงดูตามกำหนดเวลาที่ศาสนากำหนดเอาไว้ โดยค่าเลี้ยงดูนั้นให้เป็นไปตามฐานานุรูปของบิดา (มินฮาญุล-มุสลิม หน้า 346)