สเปนและคาบสมุทรไอบีเรีย

ด้วยพระนามแห่งเอกองค์อัลลอฮฺ  พระผู้ทรงกรุณาปราณีเสมอ   มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่พระองค์พระผู้ทรงบันดาลให้เรื่องราวในอดีตกาลเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับเหล่าชนผู้ใช้ปัญญาไคร่ครวญ  อัลอันดะลุส ดินแดนอิสลามในอดีตซึ่งชาวมุสลิมได้พิชิตในปีฮ.ศ.91/คศ.710 และดำรงอยู่ต่อมาจนถึงปีฮ.ศ.897/คศ.1492 รวมระยะเวลา 782 ปี และสูญเสียแก่อาณาจักรคริสเตียนในสเปนจวบจนปัจจุบันนับเป็นเวลา 515 ปี นับเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อิสลามอย่างแท้จริงที่รวมเอาเรื่องราวการพิชิตของชาวมุสลิมในยุคแรก การต่อสู้และทุ่มเทเพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่อาณาจักรอิสลามในซีกตะวันตกของโลกอิสลาม

การสร้างความเจริญรุ่งเรืองในด้านอารยธรรมและศิลปะวิทยาการจนกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะและผลิตเหล่านักปราชญ์ในสายธารอารยธรรมอิสลามซึ่งเป็นสากลไม่แบ่งแยกศาสนา ความเชื่อและชาติพันธุ์ จนอาจกล่าวได้ว่า ชาวยุโรปตะวันตกเป็นหนี้บุญคุณชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสในการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการยุคใหม่

 

ความเป็น ”อัลอันดะลุส” ที่ชาวมุสลิมได้สร้างอัตลักษณ์เอาไว้แก่พลเมืองทั้งที่เป็นมุสลิมและคริสเตียนที่หลงไหลในอารยธรรมอิสลามยังคงดำรงอยู่ต่อมาจวบจนทุกวันนี้  ถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีให้หลังนับจากการสูญเสียที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมในฆอรนาเฏาะฮฺ (แกรนาดา) ความเป็นอัลอันดะลุสจะถูกคุกคามและเผชิญกับการลบล้างจากหมู่ชนที่รังเกียจอิสลามแบบเข้ากระดูกดำ แต่กระนั้นพวกเขาก็ซึมซับเอาความเป็นอัลอันดะลุสเอาไว้อย่างไม่รู้ตัว

 

หนังสือเล่มนี้นับเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่รวบรวมเอาความเป็นอัลอันดะลุสเอาไว้โดยละเอียดอย่างที่ไม่เคยมีหนังสือเล่มไหนในวงการหนังสือของมุสลิมไทยนำเสนอสู่สายตาผู้อ่านมาก่อน ผู้เขียนเชื่อเช่นนั้น ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะเพลามือไปบ้างในส่วนของอารยธรรมอิสลามในอัลอันดะลุส เพราะมุ่งเน้นเรียบเรียงเหตุการณ์และความเป็นไปในอัลอันดะลุสนับแต่การพิชิตของกองทัพมุสลิมจวบจนกระทั่งปิดฉากหน้าประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมในดินแดนแห่งนี้

 มัสญิด ญามิอฺ อัล-กุรฏุบะฮฺ

นี่คือเป้าหมายและความมุ่งมั่นในการนำเสนอของผู้เขียน ส่วนอารยธรรมอิสลามในอัลอันดะลุสนั้นต้องถือเป็นงานเขียนเฉพาะซึ่งสามารถรวบรวมและสร้างงานเขียนได้อีกเล่มหนึ่งต่างหาก เพื่อมิให้หนังสือเล่มนี้หนาเทอะทะจนเกินงาม จึงละเรื่องราวเกี่ยวกับอารยธรรมอิสลามเอาไว้ และเขียนถึงในภาคผนวกแบบผาดๆ เท่านั้น

 

วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก

อบู อัลมาส อะลี อะฮฺหมัด อบูบักร มุฮำหมัด อามีน อัซซิยามีย์

(อาลี เสือสมิง)

บ้านป่า สวนหลวง กรุงเทพมหานคร

ค่ำคืนอันทรงเกียรติแห่งวันที่ 1 ซุลฮิจญะฮฺ ฮ.ศ.1428

(11 ธันวาคม 2550/2007)

 


 

สเปนและคาบสมุทรไอบีเรีย

คำว่า “สเปน” (Spain) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาฟินิเชียน (Phoenicien) ต่อมาพวกโรมันได้นำมาประยุกต์ใช้ในรูปพหูพจน์ว่า “ฮิสปาเนีย” (Hispaniae) ซึ่งหมายถึงดินแดนทั้งหมดในคาบสมุทรไอบีเรีย (Iberien Peninsula) ในปัจจุบันคาบสมุทรไอบีเรียคือดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป เป็นที่ตั้งของประเทศใหญ่ 2 ประเทศ คือ สเปนและโปรตุเกส

 

ลักษณะที่ตั้งของบริเวณคาบสมุทรทางเหนือมีเทือกเขาพิเรนีส (Pirineos) ซึ่งชาวอาหรับเรียกว่า เทือกเขาอัลบุรตฺ หรือ อัลบุรตาตฺ หรือ อัลบุรอนิส เทือกเขาพิเรนีสเปรียบเสมือนเส้นกั้นพรมแดนตามธรรมชาติกับประเทศฝรั่งเศส อาณาเขตที่เหลือล้อมรอบด้วยพื้นน้ำของมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตก ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางทิศตะวันออก และช่องแคบญิบรอลต้า (Gibraltar) ทางทิศใต้ซึ่งเชื่อมพื้นน้ำของมหาสมุทรแอตแลนติกกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้าด้วยกัน ช่องแคบนี้มีความกว้าง 14 กม. ยาว 50 กม. และมีความลึก 350 เมตร

 

เนื่องจากดินแดนทางภาคใต้ของคาบสมุทรไอบีเรียมีความใกล้ชิดกับฝั่งแอฟริกาเหนือมีเพียงช่องแคบ ญิบรอลต้าขวางกั้นเท่านั้นทำให้วัฒนธรรมอัฟริกันเข้าไปแพร่หลายได้ง่ายและมากกว่าส่วนอื่นของคาบสมุทร ชาวยุโรปในดินแดนส่วนนี้จึงมีวัฒนธรรมแบบชาวอัฟริกันมากกว่ายุโรป หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า “เป็นดินแดนยุโรปแต่มีวัฒนธรรมอัฟริกัน” นักเขียนชาวตะวันตกบางคนอ้างว่า “ทวีปอัฟริกาควรมีอาณาเขตขึ้นไปถึงเทือกเขาพีเรนีส”

แผนที่คาบสมุทรไอบีเรีย

 

เนื่องจากทางตอนเหนือของคาบสมุทรไอบีเรียมีเทือกเขาพิเรนีสและเทือกเขาแคนตาบาเรียนทำให้ภูมิประเทศบริเวณคาบสมุทรมีลักษณะเป็นที่ราบสูงอีกทั้งแม่น้ำสายใหญ่ๆ อีก 5 สายคือ แม่น้ำ ดุวัยเราะฮฺ (Duero), ชุกอรฺ (Jugar) อัลวาดี อัลกะบีร (Guadelquivir) และวาดี อานะฮฺ (Guadiana) ทั้งหมดนี้ไหลข้ามประเทศจากตะวันออกสู่ตะวันตกไปออกที่มหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนสายสุดท้ายคือ แม่น้ำ อิบเราะฮฺ (Ebro) ไหลขนานไปกับเทือกเขาพิเรนีสไปออกที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากไหลหล่อเลี้ยงผู้คนแล้วยังแบ่งภูมิประเทศออกเป็นส่วนๆ อีกด้วย

 

 

สำหรับกลุ่มชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในคาบสมุทรไอบีเรียนั้นสามารถแบ่งลำดับกลุ่มชนได้ดังนี้

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

สันนิษฐานกันว่าทวีปยุโรปได้เชื่อมติดกับแอฟริกามาก่อนในบริเวณคอคอดยิบรอลต้า (Gibrattar Isthmus) ดังนั้นคาบสมุทรไอบีเรียจึงมีลักษณะเป็นสะพานเชื่อมทางบกระหว่างทวีปทั้งสอง และเมื่อประมาณ 25,000 ปีมาแล้ว มนุษย์โครมันยองได้อพยพเข้ายุโรป จากที่ใดที่หนึ่งในตะวันออกกลาง อัฟริกาเหนือ หรือแผ่นดินในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อแสวงหาดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และอากาศที่อบอุ่นกว่า

 

ดังปรากฏภาพเขียนตามผนังถ้ำของพวกมนุษย์โครมันยองในสเปนตอนเหนือ (H.A.Davies,An Outline History of the World, (Hongkong, 1975) p.6) และเชื่อกันว่า มนุษย์นีอันเดอร์ทัล (Neanderthal) เคยใช้เส้นทางคอคอดยิบรอลต้านี้เข้าสู่ยุโรปมาก่อน (Harold Livermore, Coller’s Encyclopedia xxi (1977) 392B)

 

ยุคหินใหม่ (Neolthic Age)

เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล บริเวณตอนใต้ของสเปนมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอัฟริกาบริเวณดังกล่าวเป็นจุดแรกที่ถูกรุกรานและเข้ามาตั้งถิ่นฐานโดยชนเผ่าไอบีเรียน (Iberians) ซึ่งเป็นชนผิวขาวที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณตอนเหนือของทวีปอัฟริกา พวกนี้ต่อมาเมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ก็ได้เข้าครอบครองและแผ่อิทธิพลไปทั่วบริเวณคาบสมุทรและกลายเป็นชนเผ่าที่เด่นที่สุด และคาบสมุทรไอบีเรียก็ได้ถูกเรียกขานตามนามของชนเผ่านี้

 

ในสมัยศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตกาล ชนเผ่าฟินิเชียน (Phoenicians) ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ เซมิติก ที่แต่เดิมมีนิวาสถานอยู่ในบริเวณคาบสมุทรอารเบียและได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ตามชายฝั่งตะวันตกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สร้างเมืองไซดอน (ซอยดา) ตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 15 ก่อนคริสตกาลและเมืองไทร (ซูรฺ) ซึ่งกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ

 

พวกฟินิเชียนเป็นนักเดินเรือที่มีความเชี่ยวชาญ (Davies, op.cit.,p.84) ได้เดินเรือและแผ่อิทธิพลไปทั่วทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเข้ามายังคาบสมุทรไอบีเรียและตั้งอาณานิคมขึ้นบนฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ณ สถานที่ที่ปัจจุบันคือเมืองคาดิช (Cadiz) และเมืองมะละกา (มาลิเกาะฮฺ)

 

ในเวลาต่อมาชาวฟินิเชียนได้นำความรู้ทางด้านกสิกรรม การทำเหมืองแร่ การเดินเรือ การประดิษฐ์เครื่องใช้ เครื่องประดับ งานช่างฝีมือ การคำนวณ และตัวอักษรที่ดัดแปลงมาจากอักษรโบราณของชาวอียิปต์และชาวบาบิโลเนียนที่ครั้งหนึ่งชาวฟินิเชียนเคยเป็นดินแดนในอาณัติมาก่อนมาเผยแพร่ให้แก่คาบสมุทรอีกด้วย

 

ต่อมาพวกพ่อค้าจากเกาะโรดส์ (Rhodes) และนครรัฐกรีกอื่นๆ ก็ได้ติดตามเข้ามาค้าขายในคาบสมุทรไอบีเรียและก็ได้ร่วมกันก่อตั้งอาณานิคมขึ้นบนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชาวกรีกกลายเป็นชาติคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของพวกพ่อค้าชาวฟินิเชียน มีการสร้างสถานีทางการค้าขึ้นใหม่ และยังได้ถ่ายทอดความเจริญในเกือบทุกสาขาที่เกิดขึ้นในยุคทองของกรีกให้แก่ชาวคาบสมุทรไอบีเรียอีกด้วย

 

ในตอนปลายศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ชนเผ่าเซลท์ (Celts) ได้เริ่มอพยพจากฝรั่งเศสข้ามภูเขาพีเรนีส เข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียพวกเซลท์ได้ผสมผสานกลมกลืนกับชนเผ่าไอบีเรียน ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณตอนกลางติดกับตอนเหนือของคาบสมุทร ในเวลาต่อมาการผสมผสานกลมกลืนระหว่างชนเผ่าเซลท์และไอบีเรียนได้ก่อให้เกิดชนเผ่าในหมู่ที่เรียกว่า เซลทิเบอเรียนส์ (Celtiberians) ซึ่งจะอาศัยอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกบริเวณตอนกลาง และบริเวณชายฝั่งทางตอนเหนือของคาบสมุทรไอบีเรีย

 

ในช่วงหลังของศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล พวกคาร์เธจ (Cathaginian) หรือ กุรฏอญินะฮฺ ซึ่งอาศัยอยู่บนฝั่งตอนเหนือของทวีปอัฟริกา (เมืองคาร์เธจ (Cathage) หรือ กุรตอจฺญ์ เคยเป็นอดีตอาณานิคมของพวกฟินิเชียนที่ตั้งขึ้นบนชายฝั่งตอนเหนือของทวีปแอฟริกาเป็นเมืองท่าที่มั่งคั่งจากการค้าพาณิชย์นาวี) ได้เริ่มเดินทางเข้าไปจัดตั้งอาณานิคมในคาบสมุทรไอบีเรีย ภายหลังจากที่ต้องสูญเสียซิซิลี (Sicily) แก่พวกโรมัน (Romans) ซึ่งเป็นผลมาจากความปราชัยในสงครามปูนิคครั้งที่ 1 (The First Punic War) ในปี 241 ก่อนคริสตกาล

 

ต่อมาฮามิลการ์ บาร์กา (Hamilcar Barca) ผู้นำชาวคาร์เธจได้เข้าครอบครองดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียเพื่อทดแทนเกาะซิซิลีที่ต้องสูญเสียไป ดินแดนส่วนใหญ่ในคาบสมุทรได้ถูกยึดครองโดยพวกคาร์เธจ ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามในระหว่างปี 237-228 ก่อนคริสตกาล และในปี 228 ก่อนคริสตกาล พวกคาร์เธจได้สร้างเมืองบาร์เซ-โลนา (Barcelona) หรือ บัรฺชะลูนะฮฺ ขึ้นบนฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเมืองคาร์ธาโก โนวา (Carthago Nova) ปัจจุบันนี้คือเมืองคาร์ธาจีนา (Cartagena) หรือ กุรฏอญินะฮฺ ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้

 

เมื่อฮามิลการ์ บาร์กา เสียชีวิตในปี 228 ก่อนคริสตกาลแล้วฮาสดรูบาล (Hasdrubal) ผู้เป็นหลานได้รับตำแหน่งสืบต่อมา ฮาสดรูบาลสามารถขยายอิทธิพลของพวกคาร์เธจเข้าครอบครองดินแดนทางตอนใต้ของคาบสมุทรไอบีเรียเอาไว้ได้เกือบทั้งหมด ความสำเร็จในการยึดดินแดนของพวกคาร์เธจได้ก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อพวกโรมันซึ่งกำลังขยายอิทธิพลเข้าไปในภาคใต้ของแคว้นกอล (Gaul) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในดินแดนของฝรั่งเศส

 

ต่อมาพวกโรมันได้ทำสัญญากับฮาสดรูบาล (The Cathage-Rome Agreement) โดยมีสาระสำคัญว่าพวกคาร์เธจจะไม่ขยายอิทธิพลเข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรไอบีเรียเกินกว่าเขตที่แม่น้ำ Ebro (อิบเราะฮฺ) ไหลผ่าน ซึ่งแม่น้ำสายนี้มีต้นกำเนิดมาจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรไอบีเรีย ไหลลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยผ่านเมืองบาร์เซโลนา (บัรชะลูนะฮฺ)

 

เมื่อฮันนิบาล (ฮะนีบะอฺล์) ลูกชายของฮามิลการ์ บาร์กา ขึ้นครองอำนาจในปี 221 ก่อนคริสตกาล แม้ว่าอายุจะยังไม่ครบสามสิบปีแต่ความที่เป็นคนฉลาดและเป็นผู้มองการณ์ไกล ฮันนิบาลคิดว่าสงครามระหว่างคาร์เธจกับโรมันคงจะหลีกเลี่ยงได้ยาก เขาจึงจัดกองทัพคาร์ เธจขึ้นมาใหม่ โดยนำชาวพื้นเมืองไอบีเรียนมาเป็นทหารรับจ้าง (Mercenaries) ส่วนพวกโรมัน ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์อาณานิคมของพวกกรีก ก็ได้ชิงเข้ายึดครองเมืองซากันตัม (Sagantum) อดีตอาณานิคมของพวกกรีกและยังเป็นเมืองป้อมปราการที่สำคัญเพียงเมืองเดียวในเขตอิทธิพลของพวกคาร์เธจ

 

ในปี 219 ก่อนคริสตกาล ฮันนิบาลได้ยึดเมืองซากันตัมไว้ในอำนาจ พวกโรมันทำการประท้วงแต่ก็ไร้ผล ปีต่อมาคาร์เธจจึงได้ประกาศสงครามกับโรมันซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงครามปูนิคครั้งที่ 2 (The Second Punic War) ในระหว่างปี 218-201 ก่อนคริสตกาล

 

สงครามครั้งนี้ดำเนินไปในดินแดนต่างๆ เช่น คาบสมุทรไอบีเรีย คาบสมุทรอิตาลี และภาคเหนือของแอฟริกา ฮันนิบาลนำทัพข้ามสเปน, เทือกเขาพิเรนีส และเทือกเขาแอลป์ (Alpes) และได้รับชัยชนะเหนือโรมันในทราซิมิโน (Trasimeno) ซึ่งอยู่ในตอนกลางของอิตาลี ในปี 217 ก่อนคริสตกาลและในคาน่าปี 216 ก่อนคริสตกาล

 

ภายในคาบสมุทรไอบีเรีย กองทัพโรมันภายใต้การนำของสกิปีโอ แอฟริกานุส ได้รับการสนับสนุนจากชาวพื้นเมืองทำให้กองทัพโรมันสามารถรุกเข้าไปในเขตยึดครองของพวกคาร์เธจและสามารถยึดเมืองคาร์ธาโก โนวา ได้ในปี 210 ก่อนคริสตกาล พอถึงปี 206 ก่อนคริสตกาล สกิปิโอก็สามารถขับไล่พวกคาร์เธจออกจากเมืองคาดิซกลับไปยังแอฟริกาเหนือได้สำเร็จ

 

หลังจากนั้นสกิปิโอก็เริ่มขยายอำนาจของสาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) เข้าครอบครองดินแดนทั้งหมดของคาบสมุทรไอบีเรียซึ่งก็ประสบผลสำเร็จค่อนข้างจะสมบูรณ์ ในตอนปลายปี 205 ก่อนคริสตกาล และนับแต่นั้นพวกโรมันก็ครองสเปนเรื่อยมาราว 600 ปี (ตั้งแต่ 205 B.C. – คศ.410)

 

อารยธรรมของพวกคาร์เธจซึ่งมั่งคั่งจากการค้าและความมั่นคงทางทหารก็ถูกแทนที่โดยอารยธรรมโรมัน สเปนได้กลายมาเป็นดินแดนแห่งแรกที่ถูกผสมกลมกลืนโดยอารยธรรมโรมัน และยังเป็นเขตมณฑลที่สำคัญที่สุดของสาธารณรัฐโรมันซึ่งตั้งอยู่ภายนอกแหลมอิตาลี

 

เมือง เซบีญ่า ในอดีต

 

สเปนในสมัยอาณาจักรโรมัน

พวกโรมันได้แบ่งดินแดนสเปนออกเป็น 2 ส่วนคือ

1.Father Hispania ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของแม่น้ำอิบเราะฮฺ (Ebro)

2.Hither Hispania อยู่ทางภาคตะวันออกของแม่น้ำอิบเราะฮฺ

 

ดินแดนทั้ง 2 ส่วนจะถูกปกครองโดยพรีเตอร์ (Praetors) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้พิพากษาของสาธารณรัฐโรมัน ถึงแม้ดินแดนทั้งสองส่วนจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สิ่งที่มีอยู่เหมือนกันคือ ความกระด้างกระเดื่องที่มีต่อพวกโรมัน

 

ทั้งนี้เพราะพวกโรมันยึดครองสเปนเนื่องจากความละโมบที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากทั้งแร่ธาตุและกำลังคนที่สเปนมีอยู่ ทำให้พวกโรมันต้องถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวพื้นเมือง และได้ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 200 ปี

 

แต่ภายหลังปี 181 ก่อนคริสตกาลไปแล้ว พวกโรมันได้เปลี่ยนนโยบายที่โอนอ่อนต่อชาวพื้นเมือง ซึ่งก็มีผลให้ชาวพื้นเมืองเริ่มยอมรับในอำนาจของพวกโรมันมากขึ้น แต่พวกโรมันก็กลับมาใช้วิธีการรุนแรงอีก จึงส่งผลให้เกิดการกบฏขึ้นในปี 151 ก่อนคริสตกาล

 

บุคคลผู้ประสบผลสำเร็จในการปกครองสเปน คือ จูเลียส ซีซ่าร์ ทั้งนี้โดยการใช้นโยบายลดการเก็บภาษีทำนามาใช้สเปน เมื่อซีซาร์ถูกลอบสังหารในปี 43 ก่อนคริสตกาล ออคเตเวียน (Octavian) ผู้เป็นทั้งหลานและบุตรบุญธรรมของซีซาร์ สามารถปราบปรามความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐโรมัน หลังจากนั้นก็ได้ยกเลิกการปกครองแบบสาธารณรัฐโดยการสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ จากนั้นก็หันมาปราบปรามความวุ่นวายในสเปนลงได้อย่างราบคาบ

 

พวกโรมันได้หันมาพัฒนาสเปนทั้งด้านการทำเหมืองแร่ การค้า และการเกษตรกรรม ทำให้ชาวพื้นเมืองยอมรับสถาบันและขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างโรมัน จนในที่สุดชาวพื้นเมืองก็ได้กลายมาเป็นชาวละติน (Latin) โดยการยอมรับภาษาและวัฒนธรรมของโรมันและสเปนก็ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมละตินในเวลาต่อมา (Smith, Spain : A Modern History, p.3-10)

 

ในตอนศตวรรษที่ 1 แห่งคริสตกาล ดินแดนอัลอันดะลุส (เอนดาลูเซีย) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสเปนได้เริ่มถูกเปลี่ยนให้หันมารับอารยธรรมโรมัน (Romanization) มากขึ้น ในเวลาต่อมา เอนดาลูเซีย ได้กลายมาเป็นดินแดนที่รับเอาอารยธรรมของพวกโรมันไว้มากที่สุด บุคคลที่มีชื่อเสียงของอาณาจักรโรมันที่มาจากบริเวณดังกล่าว ได้แก่ จักรพรรดิทราจัน (Trajan) จักรพรรดิฮาเดรียน (Hadrian) เป็นต้น

 

 

คริสต์ศาสนาในสเปน

อิทธิพลของคริสต์ศาสนาเริ่มแพร่ขยายเข้ามาในระยะเวลาที่อาณาจักรโรมันเริ่มจะเสื่อมลง คือ ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 โดยผ่านทางเอนดาลูเซียซึ่งเป็นดินแดนที่มีพวกยิว (Jew) อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

 

ต่อมาในศตวรรษที่ 3 ก็ได้เกิดชุมชนคริสเตียนปรากฏขึ้นภายในบริเวณเมืองใหญ่ๆ ของสเปนมีการปราบปรามพวกคริสเตียนในระยะแรกๆ จวบจนในปีคศ.312 จักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantin) ได้เข้ารีตในคริสต์ศาสนา และปีต่อมาพระองค์ได้ออกมาออกคำประกาศแห่งเมืองมิลาน (Edict of Milan) อนุญาตให้คริสต์ศาสนาเผยแพร่ในอาณาจักรโรมันได้อย่างเสรี (Marvin Perry, et al ., Western Civilization (Vol.l,Boston : Houghton Mifflin Company, 1985) p.162)

 

อาณาจักรโรมันได้ต่อสู้กับกลุ่มอนารยชน (Barbarian Tribes) มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ในปีคศ.410 พวกวิสิโกธ (Visigoths) ซึ่งเป็นอนารยชนเผ่าเยอรมัน (Germanic Tribe) ได้เข้าปล้นกรุงโรมและอนารยชนเผ่าแวนดัล (Vandals) และซูวี (Suevi) ได้รุกข้ามแม่น้ำไรน์เข้าปล้นสะดมในแคว้นกอลและได้รุกเข้าไปตั้งถิ่นฐานในสเปน พวกซูวีอยู่ทางเหนือและพวกวันดัล (แวนดัล) อยู่ทางใต้ของคาบสมุทรไอบีเรีย

 

การที่พวกแวนดัลเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคใต้ของสเปนนี่เอง จึงเรียกดินแดนทางภาคใต้ว่า แวนดาลูเซีย (Vandalusia) เมื่อชาวอาหรับได้เข้ามายึดครองดินแดนแถบนี้ในภายหลังจึงเรียกว่า อัลอันดะลุส หรือ เอนดะลูเซีย ต่อมาพวกวิสิโกธก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในเขตคาบสมุทรไอบีเรียและขับไล่พวกวันดัลไปยังแอฟริกาในราวปีคศ.429 และยังได้ขับไล่พวกซูวีอีกด้วย และในที่สุดประมาณปีคศ.475 บริเวณคาบสมุทรส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกวิสิโกธจนถึงประมาณปี คศ.711