เหตุการณ์สำคัญในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  2  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้นำกำลังพลจำนวนหนึ่งอันประกอบไปด้วยชาวมุฮาญีรีนล้วนออกจากนครม่าดีนะห์เพื่อขัดขวางกองคาราวานของพวกกุเรซ  โดยท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงมอบหมายให้ท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  อุมมิมักตูม  เป็นผู้ดูแลนครม่าดีนะห์และนำการละหมาดที่มัสยิดอันนะบะวีย์  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงนำกำลังพลดังกล่าวเดินทางจนกระทั่งถึงตำบลฮัรรอน มะอฺดันซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นอัลฮิญาซฺ  ในภายหลังพระองค์ก็ทรงนำกำลังพลกลับสู่นครม่าดีนะห์โดยไม่มีการรบพุ่งใด ๆ 

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  2  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงมอบธงรบแรกแห่งอัลอิสลาม  (ตามสายรายงาน)  แก่ท่านอุบัยดะฮฺ  อิบนิ  อัลฮาริษ  อิบนิ  อับดิลมุตตอลิบเพื่อนำกองพลรบอูฐและม้าจำนวน  60-80  นายอันประกอบด้วยชาวมุฮาญีรีนมุ่งสู่ยังบ่อน้ำแห่งหนึ่งในแคว้นอัลฮิญาซฺทางตอนใต้ของซ่านียะฮฺ  อัลมัรวะฮฺ  กองพลรบของมุสลิมได้เผชิญหน้ากับกลุ่มคนเป็นจำนวนมากจากพวกกุเรซ  ซึ่งนำโดย  อิกริมะฮฺ  อิบนุ  อบี  ญะฮฺลิน  แต่ทว่าไม่มีการปะทะใด  ๆ เกิดขึ้นระหว่างสองฝ่าย  และกองพลรบของมุสลิมก็ถอนกำลังกลับสู่นครม่าดีนะห์ในที่สุด

                เดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  2  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                หนึ่งเดือนให้หลังของการศึกอัล-อับวาอฺ  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทรงมุ่งมั่นต่อการทดแทนเหล่าบรรดาผู้อพยพ  (มุฮาญีรีน)  ที่ต้องสูญเสียและละทิ้งทรัพย์สินไว้เบื้องหลังในนครมักกะห์  ทุกครั้งที่พระองค์ได้ทรงทราบข่าวขบวนกองคาราวานของพวกกุเรซ  พระองค์จะทรงนำกำลังคนไปขัดขวางและเข้ายึดครองสินค้าของกองคาราวาน  และนี่คือที่มาของการศึกอัล-บุวาต

                หลังจากที่ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทรงพำนักอยู่ในนครม่าดีนะห์ได้หนึ่งเดือนหลังการศึกอัลอับวาอฺ  พระองค์ได้ข่าวว่า  กองคาราวานของพวกกุเรซได้ล่องขบวนกลับจากแคว้นชามซึ่งในขบวนกองคาราวานนี้มีอุมัย  ยะฮฺ  อิบนุ  ค่อลัฟ  พร้อมด้วยผู้คนอีกหนึ่งร้อยชีวิตได้ร่วมขบวนมาโดยมีจำนวนอูฐขนสินค้าถึง  2,500  ตัวเป็นที่ชัดเจนว่า  กองคาราวานที่มีจำนวนอูฐมากมายเช่นนี้พร้อมด้วยสินค้าจำนวนมากย่อมสามารถทดแทนความสูญเสียของบรรดามุฮาญีรีนได้ส่วนหนึ่งตลอดจนสร้างความแข็งแกร่งให้กับฝ่ายของมุสลิมได้อย่างไม่ต้องสงสัย  ถ้าหากฝ่ายของมุสลิมสามารถยึดครองกองคาราวานดังกล่าวได้ 

                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  จึงไม่ปล่อยให้โอกาสทองเช่นนี้หลุดลอยไปโดยไม่มีความพยายามใด  ๆ  ซึ่งในการเข้าโจมตีเพื่อยึดครองกองคาราวานสินค้าของพวกกุเรซนั้นนอกจากเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับฝ่ายของมุสลิมแล้วยังเป็นการบั่นทอนกำลังของฝ่ายกุเรซทั้งในด้านขวัญและกำลังใจตลอดจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาวมักกะห์โดยรวม  และนี่ก็คือยุทธวิธีอันแยบยลของท่านศาสดา  (ซ.ล.) 

                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  จึงได้นำกำลังพลอันประกอบไปด้วยชาวมุฮาญีรีนจำนวน  200  นายมุ่งออกจากนครม่าดีนะห์ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  2  แห่งฮิจเราะห์ศักราช  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงมอบธงรบให้แก่ท่านสะอฺด์  อิบนิ  อบีวักกอซ  และท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้แต่งตั้งให้ท่านอัซซาอิบ  อิบนุ  อุสมาน  อิบนิ มัซฺอูน  เป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยและนำอิสลามิกชนในการประกอบพิธีนมาซฺในนครม่าดีนะห์  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้นำกำลังพลมุสลิมมุฮาญีรีนออกไปขัดขวางกองคาราวานดังกล่าวเพื่อยึดครองอูฐและสินค้า  หากแต่ว่าพระผู้เป็นเจ้ายังไม่มีพระประสงค์ดังกล่าวเนื่องจากยังไม่ถึงเวลาอันควรสำหรับฝ่ายมุสลิมในการเผชิญหน้ากับกองคาราวานสินค้าของพวกกุรเซ 

                ดังนั้นเมื่ออุมัยยะห์  อิบนุ  ค่อลัฟล่วงรู้ถึงการนำกำลังพลออกจากนครม่าดีนะห์ของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  อุมัยยะห์  จึงได้เปลี่ยนเส้นทางลำเลียงกองคาราวานของตนและสามารถพากองคาราวานให้รอดปลอดภัยจากการโจมตีของฝ่ายมุสลิม  ดังนั้นท่านศาสดา  (ซ.ล.)  พร้อมด้วยเหล่ามุฮาญีรีนจึงถอยกลับสู่นครม่าดีนะห์โดยไม่ได้รับสิ่งใดไม่ว่าการยึดกุมกองคาราวานสินค้าหรือการประจันบาญกับพวกกุเรซ

                อนึ่งในการศึกครั้งนี้ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงนำไพร่พลอันประกอบไปด้วยบรรดามุฮาญีรีนเดินทางจนถึงบุว๊าต  ซึ่งเป็นภูเขาลูกหนึ่งจากทางด้านแคว้นญุฮัยนะห์  ใกล้กับภูเขาร็อดวา  ในบริเวณเขตยัมบั้วอฺ  ระยะทางระหว่างบุว๊าตกับนครม่าดีนะห์นั้นห่างกันประมาณ  48  ไมล์  บริเวณภูเขาบุว๊าตนั้นอยู่ใกล้กับสถานที่แห่งหนึ่งที่ชื่อซีค่อชับ  ซึ่งตั้งอยู่ถัดจากเส้นทางการค้าสู่แคว้นชาม

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  12  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านค่อลีฟะห์  อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (รฎ.)  ได้แต่งตั้งให้ท่านคอลิด  อิบนิ  สะอีด  อิบนิ  อัลอ๊าศให้เป็นแม่ทัพใหญ่ของกองทัพแห่งแคว้นชามเพื่อทำการศึกกับจักรวรรดิโรมันซึ่งคุกคามอาณาเขตและดินแดนของอาณาจักรอิสลาม

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  12  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านค่อลีฟะห์อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (รฎ.)  ได้ทำการถอดถอนท่านคอลิด  อิบนิ  สะอีด  อิบนิ  อัลอ๊าศออกจากการเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งแคว้นชามและแต่งตั้งให้ท่านยะซีด  อิบนิ  อบีซุฟยาน  ท่านอบีอุบัยดะห์  อามิร  อิบนิ  อัลญัรรอฮฺ  ท่านชุเราะฮฺบีล  อิบนิ  ฮ่าซานะฮฺ  และท่านอัมร์  อิบนิ  อัลอ๊าศ  (รฎ.)  เป็นคณะเสนาธิการแทน

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  15  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านค่อลิด  อิบนุ  อัลวะลีด  (รฎ.)  ได้ทำสัญญารับรองความปลอดภัยในชีวิต  ทรัพย์สินแก่ประชาชนชาวนครดามัสกัส  โดยมีใจความดังนี้
                “ด้วยพระนามแห่งพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ”

                นี่คือสัญญาที่คอลิด  อิบนุ  อัลวะลีดได้มอบให้แก่ประชาชนชาวเมืองดามัสกัส  เมื่อเขา  (คอลิดและกองทัพ)  เข้าสู่เมือง  เขาก็มอบความปลอดภัยแก่ชาวเมืองในชีวิต,  ทรัพย์สิน  โบสถ์วิหารและกำแพงเมืองจะต้องไม่ถูกทำลาย  ตลอดจนเคหสถานของชาวเมืองจักต้องไม่ถูกล่วงละเมิดในการพักอาศัย  สำหรับชาวเมืองคือสิ่งที่จักต้องได้รับการปฏิบัติด้วยสิ่งดังกล่าว  อันเป็นพันธสัญญาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าและองค์ศาสดา  เหล่าค่อลีฟะห์ตลอดจนปวงชนผู้ศรัทธาและชาวเมืองทั้งหลายจักได้รับการปฏิบัติดีต่อพวกเขาเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาทั้งหลายได้จ่ายภาษี  “ส่วยอัลญิซฺยะห์”…

                ภาษีอัลญิซฺยะห์  เป็นภาษีประเภทหนึ่งที่บุคคลต่างศาสนิกที่ไม่ใช่มุสลิมหรืออิสลามิกชนที่มีถิ่นอาศัยในดินแดนหรือหัวเมืองที่กองทัพของมุสลิมสามารถถพิชิตได้  โดยบุคคลเหล่านี้ยังคงนับถือในศาสนาและลัทธิของตนต่อไปอย่างมีเสรีภาพในการถือศาสนาและการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของศาสนานั้น ๆ  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชาวยิวและคริสตศาสนิกชน  บุคคลเหล่านี้ถูกเรียกว่า  อะหฺลุซซิมมะห์  (ชนแห่งพันธะสัญญา)  ทั้งนี้มุสลิมจะต้องปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างดีโดยถือเป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายมุสลิม 

                ภาษีอัลญิซยะห์มีอัตราประมาณ  1  ดินาร์  หรือประมาณ  12  ดิรฮัมโดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ปกครองมุสลิมในการกำหนดอัตราซึ่งต้องพิจารณาตามอัตภาพของผู้เสียภาษี  ผู้เสียภาษีอัลญิซยะห์จะได้รับการปกป้องดูแลในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยและอธิปไตยของดินแดน  ดังนั้นผู้เสียภาษีจึงได้รับการผ่อนผันในการเป็นทหารในกองทัพของมุสลิมประหนึ่งดังเป็นข้อแลกเปลี่ยนในภาระหน้าที่ตรงนี้  ภาษีอัลญิซยะห์จะถูกจัดเก็บจากบรรดาชายฉกรรจ์ที่มีความสามารถในการจ่ายและเหมาะสมตามอัตภาพ  ในส่วนของเด็ก  ผู้หญิง  คนชรา  ทาส  ตลอดจนบรรดานักบวชในศาสนานั้นจะได้รับการผ่อนผันไม่ถูกจัดเก็บ  อนึ่งภาษีอัลญิซฺยะห์จะถูกยกเลิกเมื่อบุคคลผู้นั้นเข้ารับอิสลาม

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  138  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                อับดุรเราะห์มาน  อัดดาคิ้ล  ผู้มีฉายานามว่า  เหยี่ยวแห่งกุเรซ  (ซอกร์  กุรอยช์)  ได้นำไพร่พลข้ามช่องแคบญิบรอลต้า  (ญะบัลตอริก)  เพื่อสมทบกับบรรดาผู้ให้การสนับสนุนตนในแคว้นเอ็นดาลูเซีย  (สเปน)  เพื่อเตรียมการปลดแอกแยกแคว้นเอ็นดาลูเซีย  ให้เป็นอิสระไม่ขึ้นกับค่อลีฟะห์แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺ  ในกรุงแบกแดด  ซึ่งในที่สุดด้วยพระประสงค์แห่งพระผู้เป็นเจ้า  อับดุรเราะห์มาน  อัดดาคิ้ล  ผู้นี้ก็สามารถสถาปนาจักรวรรดิอิสลามอันรุ่งเรืองขึ้นซึ่งไม่มีจักรวรรดิใดเสมอเหมือนในหน้าประวัติศาสตร์

                ระบบการปกครองของราชวงศ์อุมาวียะห์อันมีศูนย์กลางในกรุงดามัสกัส  (ดิมิชก์)  ได้ล่มสลายลงในปีฮ.ศ.132/คศ.749  พวกนิยมในราชวงศ์อับบาซียะห์ได้โค่นอำนาจของราชวงศ์อุมาวียะห์ลงและทำการกวาดล้างไล่ติดตามสังหารบุคคลในราชวงศ์อุมาวียะห์ไม่ให้เหลือรอด  แต่ปรากฏว่ามีเจ้าชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์นามว่า  อับดุรเราะห์มาน  อิบนุ  มุอาวียะห์  อิบนิ  ฮิชาม  สามารถหลบรอดพ้นจากน้ำมือของพวกอับบาซียะห์มาได้อย่างหวุดหวิด 

                อับดุรเราะห์มานประสบความสำเร็จในการเดินทางผ่านดินแดนอียิปต์โดยมุ่งหลบภัยในดินแดนซีกตะวันตกแห่งจักรวรรดิอิสลาม  เขาเดินทางจนกระทั่งถึงเขตมอรอคโคอันเป็นพรมแดนที่ไกลสุดของแอฟริกาเหนือ    และข้ามช่องแคบญิบรอลต้าสู่ฝั่งแคว้นเอ็นดาลูเซีย  (สเปน)  โดยขึ้นฝั่งที่เมืองอัลมุนักกับ  หรือ  อัลมุนักก็อบ  (Almunecar)  ซึ่งเป็นเมืองเล็ก  ๆ  ในสเปนทางตอนใต้ของแกรนาดา  (ฆอรนาเตาะฮฺ)  บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  ในปีฮ.ศ.138/คศ.775  พร้อมกับบรรดาผู้ให้การสนับสนุนชาวเบอร์เบอร์  (บัรบารีย์)  และเข้าสู่แคว้นเอ็นดาลูเซียในเวลาต่อมา 

                อับดุรเราะห์มานจึงได้รับขนานนามว่า  อัดดาคิล  อันหมายถึง  “ผู้เข้าสู่เอ็นดาลูเซีย”  เพราะเขาเป็นบุคคลแรกจากตระกูลอุมัยยะห์ในสายของมัรวาน  อิบนิ  อัลฮ่ากัมที่เข้าสู่แคว้นเอ็นดาลูเซีย  อับดุรเราะห์มานได้อาศัยความฉลาดหลักแหลมในการหลบเร้นแฝงกายเข้าสู่หัวเมืองต่าง ๆ  ในแคว้นเอ็นดาลูเซียเพียงลำพังในช่วงเวลาที่เกิดการบาดหมางอย่างรุนแรงระหว่างพวกอัลย่ามานียะห์  (พวกอาหรับจากเยเมน)  และพวกอัลมุฎอรียะห์  (อาหรับในแคว้นอัลฮิญ๊าซ) 

                ฝ่ายพวกอัลย่ามานียะห์ได้พากันพร้อมใจยกให้อับดุรเราะห์มานขึ้นเป็นผู้นำและพร้อมที่จะให้การสนับสนุน  นอกจากนี้บรรดาทหารในแคว้นเอ็นดาลูเซียเป็นจำนวนมากยังได้ให้การสัตยาบันแก่อับดุรเราะห์มานอีกด้วยอันเป็นผลทำให้บรรดาทหารประจำหัวเมืองต่าง  ๆ  เข้าร่วมสวามิภักดิ์และในที่สุดพวกอัลมุฎอรียะห์ก็ได้เข้าร่วมสมทบอีกแรง  บรรดาไพร่พลและผู้ให้การสนับสนุนต่ออับดุรเราะห์มานจึงได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย  หัวใจของบรรดาประชาชนก็ยอมรับและนิยมต่ออับดุรเราะห์มานเนื่องจากกุศโลบายอันแยบยลของเขาจนในที่สุดบุคคลที่เคยไม่เห็นด้วยก็พลอยเห็นดีเห็นชอบและเข้าร่วม 

                อับดุรเราะห์มานสามารถสร้างความปราชัยให้แก่ยูซุฟ  อิบนิ  อับดิรเราะห์มาน  อัลฟิฮฺรีย์  ผู้เป็นข้าหลวงใหญ่ปกครองแคว้นเอ็นดาลูเซียในสมรภูมิอัลม่าซ็อรเราะฮฺ  ณ  เมืองคอร์โดบาฮฺ  (กุรตุบะฮฺ)  ในปีฮ.ศ.138  และอับดุรเราะห์มานก็ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองอำนาจปกครองแคว้นเอ็นดาลูเซียและตั้งเมืองคอร์โดบาฮ์  (Cordoba)  เป็นราชธานีพร้อมทั้งวางรากฐานอันมั่นคงสำหรับอำนาจของตระกูลมัรวานซึ่งเป็นสายหนึ่งของราชวงศ์อุมาวียะห์ตลอดจนได้ฟื้นฟูบูรณะปฏิสังขรณ์สถาปัตยกรรมและสร้างปราสาทพระราชวังและมัสยิดหลวงแห่งนครโคโดบาฮฺ  พร้อมทั้งสร้างป้อมปราการล้อมรอบราชธานีด้วยอิฐเผาซึ่งบางส่วนยังคงปรากฏอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  221  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                มูฮัมมัด  อิบนุ  อิดรีสที่  2  (คศ.828-835)  ผู้เป็นอิหม่ามปกครองอาณาจักรอัลอาดารีซะฮฺ  (พวกอิดรีซียูน)  หรืออัล-อิดรีซียะฮฺซึ่งมีดินแดนครอบครองทางด้านแอฟริกาเหนือซีกตะวันตกหรือมอรอคโคและอาณาเขตใกล้เคียงได้เสียชีวิตหลังจากที่มีอาการป่วยเรื้อรังนับตั้งแต่การเสียชีวิตของอุมัรผู้เป็นทั้งแม่ทัพคู่ใจและพี่น้องของมุฮัมมัด  เป็นระยะเวลา  7  เดือน  ขณะที่ท่านอิหม่ามมุฮัมมัดกำลังป่วยอยู่นั้นท่านได้สั่งเสียบุตรผู้มีนามว่า  อาลีซึ่งมีฉายาว่า”ฮัยด้าเราะฮฺ”  ให้สืบตำแหน่งต่อจากท่านทั้งที่ท่านอาลี  ในขณะนั้นมีอายุยังไม่ถึง  9  ปี  ศพของท่านมุฮัมมัด  อิบนุ  อิดรีสที่  2  ได้ถูกฝังอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของมัสยิดญาเมี๊ยะอฺอัชชุร่อฟาอฺ  ณ  เมืองฟาสในมอรอคโค

                อนึ่ง  เมื่ออิหม่ามอิดรีสที่  2  แห่งอาณาจักรอัล-อิดรีซียะฮฺได้ทรงสิ้นพระชนม์  พระราชบุตรนามว่า  มุฮัมมัดได้ขึ้นครองอำนาจสืบต่อมาโดยบรรดาพี่น้องของมุฮัมมัดมีส่วนร่วมในอำนาจปกครองหัวเมืองต่าง ๆ  ด้วยตามคำสั่งเสียของพระนางกันซะฮฺ  ผู้เป็นย่าของมุฮัมมัด  ดังนั้นอัลกอเซ็มผู้เป็นพี่น้องคนหนึ่งของมุฮัมมัดก็ได้ปกครองหัวเมืองซับตะฮฺ  (เมืองท่าในมอรอคโคตรงข้ามกับภูเขาญิบรอลต้า)  เมืองตอนญะฮฺ ,  ป้อมฮะญะรุนนัสร์  เมืองบิสก้าเราะฮฺ  (ในพรมแดนแอลจีเรียในปัจจุบัน)  เมืองตีตอวุนตลอดจนเผ่าต่าง ๆ  ที่สวามิภักดิ์ต่อหัวเมืองเหล่านี้ 

                ส่วนอุมัรได้ครอบครองหัวเมืองซอนฮาญะฮฺตอนล่างอันเป็นดินแดนของพวกเผ่าซอนฮาญะฮฺที่ประกอบด้วยเผ่าเบอร์เบอร์อันเก่าแก่  เช่น  เผ่าลัมตูนะฮฺ  ,  อัลมุลัซซิมะห์  และเผ่าอัตต้อวาเร็ก  เป็นต้น  และเมืองฆุมาเราะฮฺ  ดาวุดคืออีกคนหนึ่งที่ได้ปกครองเมืองฮุวาเราะฮฺซึ่งเป็นถิ่นของเผ่าเบอร์เบอร์  ฮุวาเราะฮ์ ,  เมืองตัซวุ้ล ,  เมืองตาซีย์และดินแดนของเผ่ามิกนาซะฮฺ  และฆี่ยาซะฮฺที่อาศัยอยู่ในดินแดนระหว่างทั้งสองเมืองนี้  ส่วนอับดุลลอฮฺได้ครองหัวเมืองอัฆบ๊าตและเมืองน่าฟิส  ,  แนวเขาอัลมุซอมีตะฮฺ  ,  หัวเมืองลัมเตาะฮ์และเมืองอัซซูซ  อัลอักซอ  ยะฮฺยาได้ปกครองเมืองอาซีลา,  เมืองอัลอ้ารออิซและหัวเมืองซฺวาเงาะฮฺ ,  อีซาได้ครองชาละฮฺ  เมืองซ่าลา,  เมืองอัซมูรและเมืองตามิซนาและบุรอฆวาเตาะฮฺ 

                ส่วนท่านมุฮัมมัด  อิบนุ  อิดรีสนั้นท่านได้พำนักอยู่ในราชธานีฟาส  อยู่มาไม่นานอีซาผู้เป็นพี่น้องคนหนึ่งได้ก่อการกบฏแข็งเมืองในหัวเมืองชาละฮฺและไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อมุฮัมมัด  มุฮัมมัดซึ่งเป็นอิหม่ามสืบอำนาจโดยชอบธรรมจากอิหม่ามอิดรีสที่  2  จึงได้มีสาส์นถึงอัลกอเซ็มเจ้าเมืองตอนญะฮฺให้นำทัพไปปราบปรามอีซาแต่ทว่าอัลกอเซ็มกลับปฏิเสธไม่ปฏิบัติตาม  มุฮัมมัดจึงจำต้องมีสาส์นอีกฉบับหนึ่งไปยังอุมัรผู้ครองหัวเมืองซอนฮาญะฮฺและฆุมาเราะฮฺให้มาช่วย  ปรากฏว่าอุมัรได้ปฏิบัติตามคำสั่งและเร่งรุดเดินทัพไปช่วยเหลือมุฮัมมัดทั้งนี้อุมัรกับอีซานั้นได้มีข้อขัดแย้งกันมาก่อนแล้ว 

                อุมัรจึงนำทัพมุ่งสู่ดินแดนภายใต้ปกครองของอีซาด้วยจำนวนไพร่พลอันประกอบไปด้วยเผ่าซอนฮาญะฮฺและฆุมารียะฮฺเป็นจำนวนมาก  โดยอิหม่ามมุฮัมมัดได้ส่งกองทัพม้าเข้าร่วมสมทบจำนวน  1,000  นายจากเผ่าซ่านาตะฮฺ  และกองทัพของอุมัรก็ได้รบพุ่งกับกองทัพของอีซาและสามารถสร้างความพ่ายแพ้ปราชัยแก่กองทัพของอีซาได้ในที่สุด  อุมัรจึงได้มีสาส์นแจ้งข่าวการได้รับชัยชนะในครั้งนี้ถึงอิหม่ามมุฮัมมัด  ท่านอิหม่ามจึงได้แต่งตั้งให้อุมัรปกครองหัวเมืองต่าง ๆ  ที่สามารถตีชิงมาได้จากอีซา  และมีคำสั่งให้เดินทัพเคลื่อนสู่การศึกกับอัลกอเซ็ม  อุมัรจึงเดินทัพสู่ดินแดนของอัลกอเซ็ม  และตั้งทัพที่ชานเมืองตอนญะฮฺและการรบพุ่งระหว่างกองทหารทั้งสองฝ่ายได้เกิดขึ้น 

                อุมัรเป็นฝ่ายได้ชัยและสามารถเข้ายึดครองเมืองตอนญะฮฺและหัวเมืองต่าง  ๆ  ที่เคยสวามิภักดิ์กับอัลกอเซ็ม  ดังนั้นหัวเมืองชายทะเลทั้งหมดก็ขึ้นตรงกับอุมัรนับตั้งแต่เมืองฆุมาเราะฮฺจรดเมืองซับตะฮฺและเมืองตอนญะฮฺ  ในเขตชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  และยังจรดหัวเมืองอะซีล่า  ,  ซ่าลา  ,  อัซบูรและเมืองตามิซฺนาซึ่งหัวเมืองต่าง  ๆ  เหล่านี้ตั้งประชิดชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกทั้งสิ้น  ส่วนอัลกอเซ็มได้เดินทางสู่ชายฝั่งทะเลถัดจากเมืองอะซีล่าและมุ่งมั่นประกอบอิบาดะฮ์ในตำบลแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองตาฮิดารอต  โดยปลีกตัวสันโดษในสถานที่แห่งนั้นจนกระทั่งเสียชีวิต  อุมัรได้สวามิภักดิ์ต่อท่านอิหม่ามมูฮัมมัดจวบจนกระทั่งเสียชีวิตในปีฮ.ศ.220  ในหัวเมืองซอนฮาญะฮฺ  ณ  สถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกกันว่าฟัจญุลฟุรซฺ  ศพของท่านอุมัรได้ถูกนำสู่ราชธานีฟาสและถูกฝังศพในสุสานเคียงคู่กับพระบิดา คือ อิหม่ามอีดรีสที่  2

                วันศุกร์ที่  28  เดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  359  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                พวกฟาฎีมียะฮ์  (ซึ่งเป็นชีอะฮ์สายอิสมาอีลียะห์)  ในอียิปต์  ได้นำประโยคที่ว่า  ฮัยย่า  อะลาคอยริ้ลอะมัล  -มาสู่การประกอบความดีงามเถิด-  เข้ามาผนวกในสำนวนการอะซานในการเรียกร้องบอกเวลานมัสการ  5  เวลา  ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ถือเป็นอุตริกรรมในศาสนาตามทัศนะของฝ่ายอะห์ลิสซุนนะฮฺ  (ซุนนีย์) 

                ท่านอิบนุกะซีรได้รายงานเล่าไว้ในหนังสือ  อัลบิดายะฮฺวันนีฮ่ายะฮฺ  เล่มที่  6  หน้า  284  ว่า  อบุลฮุซัยน์  เญาฮัร  อัซซิกิ้ลลี่ย์  แม่ทัพใหญ่ของอัลมุอิซฺลี่ดีนิ้ลลาฮฺแห่งราชวงศ์อัลฟาฏีมียะห์ ได้มีคำสั่งให้บรรดามุอัซซินตามมัสยิดต่าง ๆ   ทั้งอิยิปต์ทำการอะซานเพิ่มเติมด้วยสำนวนดังกล่าวและยังมีคำสั่งให้บรรดาอิหม่ามประจำมัสยิดต่าง  ๆ  ให้สล่ามเสียงดังในการให้สล่ามแรกของการนมัสการ  การอะซานด้วยสำนวนดังกล่าวนี้ยังคงมีอยู่ในอียิปต์และซีเรียมากกว่า  100  ปี  และมีการเขียนการสาปแช่งท่านอบูบักรและท่านอุมัร  (รฎ.)  เหนือบานประตูทางเข้ามัสยิดต่าง ๆ   อินนาลิ้ลลาฮิ่ว่าอินนาอิลัยฮิรอญี่อูน 

                นอกจากนี้พวกฟาฏีมียะห์ยังได้จัดงานรื่นเริงและเทศกาลต่าง  ๆ  ทั้งเทศกาลของชนพื้นเมืองและชาวคริสต์ในอียิปต์  เช่น  ตรุษ  อันเนารูซฺซึ่งตรงกับวันที่  11  พ.ย.  วันอัลง็อตตอซ  เทศกาลค่อมีซุ้ลอะฮฺดิ  และเทศกาลว่าฟาอุ้ลนัยล์  (อันตรงกับช่วงหน้าน้ำหลากของแม่น้ำไนล์)  นอกจากนี้ยังได้มีการจัดงานตรงกับวันเกิดของบรรดาวงศ์วานของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  เช่นงานเมาลิดของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  , งานเมาลิดท่านฮุซัยน์  (รฎ.)  ,   งานเมาลิดท่านหญิงซัยนับ  (รฎ.)  ตลอดจนงานในค่ำคืนการดูดวงจันทร์ของเดือนร่อมาฎอน  งานในค่ำคืนอัลอิสรออฺและเมี๊ยะรอจและค่ำคืนนิสฟูชะอฺบาน  เป็นต้น 

                ท่านอัลมักรีซีย์ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง  ท่านได้รายงานว่า  หลังจากที่เญาฮัร  อัซซิกิลลี่ย์  ได้เข้ายึดครองเมืองอัลฟุสตอต  อันเป็นเมืองเก่าแก่ในอิยิปต์ได้ไม่กี่วัน  ก็ได้มีการจัดการละหมาดขึ้น  ณ  มัสยิดอัลอะติ๊ก  (มัสยิดอัมร์  อิบนิ  อัลอ๊าศ)  และเญาฮัรก็ได้ขึ้นกล่าวแสดงคุตบะฮ์  (แสดงธรรม)  และขอพรให้แก่อัลมุอิซฺลิดีนิลลาฮฺแห่งราชวงศ์อัลฟาฏีมียะห์  เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่  19  เดือนชะอฺบาน  ฮ.ศ.358  และในวันที่  28  เดือนร่อบีอุซซานีย์ปีฮ.ศ.359  นั่นก็คือ  8  เดือนให้หลังจากการขึ้นคุตบะฮฺครั้งแรกที่มัสยิดอัมร์ 

                การเรียกร้องในแนวทางของสายชีอะฮฺได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การเพิ่มเติมสิ่งอุตริกรรมต่าง  ๆ  ในมัสยิดอะฮฺหมัด  อิบนิ  ตูลูน  ซึ่งเป็นมัสยิดที่เก่าแก่เป็นอันดับสองในอียิปต์  ดังกล่าวนี้ก็คือการที่บรรดานักประวัติศาสตร์ได้เล่าถึงการนำเอาสำนวน  “ฮัยย่าอะลาคอยริลอะมั้ล”  เข้ามาผนวกในการอะซาน  ดูเหมือนว่าการที่พวกฟาฏีมียะห์ได้เลือกเอามัสยิดอิบนิตูลูนเพื่อประกอบพิธีกรรมตามลัทธิของตนเนื่องจากมีเหตุดังการบอกเล่าของท่านอิบนุ  ญุบัยร์  ซึ่งเป็นนักท่องดินแดนที่เล่าว่ามัสยิดอิบนิตูลูนแห่งนี้เป็นแหล่งชุมชนของอาหรับที่มีภูมิลำเนาเดิมในเขตตะวันตกของโลกอิสลาม  (อัลมัฆริบียะห์)  พวกอาหรับเหล่านี้ได้ปักหลักอาศัยอยู่ในสถานที่แห่งนี้  ทำการสั่งสอนเล่าเรียนกับมาตั้งแต่ช่วงสมัยการก่อตั้งของอะฮ์หมัด  อิบนิ  ตูลูนแล้ว  ต่อมาเญาฮัร  อัซซิกิลลีย์ก็มองเห็นว่ามีความจำเป็นว่าจะต้องมีการสร้างมัสยิดสถานเฉพาะสำหรับการประกอบพิธีกรรมตามลัทธิชีอะห์อัลอิสมาอีลียะห์  เญาฮัรจึงได้ทำการสร้างมัสยิดอัลอัซฺฮัร  ขึ้นในไคโร

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  498  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนบัรกีย่ารูก  แห่งราชวงศ์ซัลจูกเติร์ก  ได้สิ้นพระชนม์  ขณะมีพระชนมายุได้  25  ปีหลังจากที่ทรงครองราชย์ได้  12  ปี  4  เดือน
ซุลตอนบัรกีย่ารูก  -คศ.1080-คศ.1105-  ทรงดำรงตำแหน่งซุลตอนสืบต่อจากมาลิก  ชาฮฺผู้เป็นพระราชบิดาในปีคศ.1092  ในช่วงรัชสมัยของพระองค์โดยส่วนใหญ่จะเกิดการแย่งชิงอำนาจจากพระมารดา  บรรดาราชวงศ์และพระประยูรญาติทางฝ่ายพระมารดาของพระองค์เองในปีคศ.1104  พระองค์ได้ทรงยินยอมให้อำนาจในการปกครองเป็นของพระมารดา  และด้วยการสิ้นสุดรัชสมัยของพระองค์  อาณาจักร  ซัลจูก  เติร์กก็เริ่มอ่อนแอลง

                วันที่  14  เดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  529  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซัมซุ้ลมุลูก  เจ้าครองนครอะเล็บโป  (ฮะลับ)  ได้ถูกลอบสังหารด้วยการยุยงจากมารดาของตนและชิฮาบุดดีนมะฮฺหมูดผู้เป็นพระอนุชาก็ขึ้นครองกรุงดามัสกัส  นครอะเล็บโป  หรือเมืองฮะลับ  เป็นเมืองหนึ่งทางตอนเหนือของซีเรียที่รู้จักกันในนามว่า  “อัชชะฮฺ    บ๊าอฺ”  อันหมายถึง  นครแห่งสายลมและหิมะ  นครแห่งนี้เคยเป็นรัฐอิสระเมื่อประมาณ  1200  ปีก่อนคริสตกาลภายหลังการล่มสลายของพวกฮิตไทน์  พวกโรมันได้เข้ายึดครองนครแห่งนี้เมื่อ  65  ปีก่อนคริสตกาล  ในปีคศ.540  พวกเปอร์เซียได้ทำลายเมืองนี้และในปีคศ.637  ชาวอาหรับมุสลิมก็ได้เข้าพิชิตนครแห่งนี้  ในระหว่างปีคศ.944  นครแห่งนี้เป็นราชธานีของพวกอัลฮัมดานียีนซึ่งในช่วงที่พวกนี้มีอำนาจนั้นมีนักปกครองที่เลื่องลือท่านหนึ่งนามว่า  ซัยฟุดเดาละฮฺ  (อัลฮัมดานีย์)  ต่อมานครแห่งนี้ก็ถูกพวกมองโกลเข้ารุกรานและถูกพวกม่ามาลีกเข้ายึดครองหลังสมรภูมิ  อัยน์ญาลูต  ในปีคศ.1260  และตกเป็นมณฑลหนึ่งของอุษมานียะห์ในปีคศ.1516

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  539  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทหารรักษานครอะเล็บโป  (ฮะลับ)  ได้เผชิญหน้ากับกองทหารครูเสดที่พยายามเข้าตีเมืองบ้าโอลเบก  (บะอฺละบัก)  และสามารถสร้างความปราชัยแก่พวกครูเสดได้ในที่สุด  เมืองบ้าโอลเบกหรือบะอฺละบัก  Baal-bak เป็นเมืองหนึ่งในเลบานอนที่มีความสำคัญทางประวัติศาตร์และโบราณคดีย้อนกลับไปถึงยุคของพวกฟินิเชี่ยน ในสมัยกรีกเมืองนี้มีชื่อว่า เฮโลโปลิส หรือสุริยะนคร ส่วนหนึ่งจากโบราณสถานของเมืองนี้ก็คือ วิหารบาคุสและเสาทั้งหกต้น

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  541  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                อิมาดุดดีน  อะตาบัก  ซังกีย์  (คศ.1127-คศ.1146)  เจ้าครองนครโมซุลหรือนครอัลเมาซิล  (โมซุล)  และหัวเมืองอัลญะซีเราะห์  และแคว้นชามได้ถูกลอบสังหารด้วยน้ำมือของทาสรับใช้  ณ  ป้อมเดาซัร  (ป้อม”เดาซัร”นั้นรู้จักกันในนามป้อมญะอฺบัร  ในซีเรียบนฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส)  และบุตรชายสองคนของอิมาดุดดีนอันได้แก่  อัลม่าลิก  อัลอาดิ้ล  นูรุดดีน  อบู  อัลกอเซ็ม  มะห์หมูด  หรือ  นูรุดดีน  อัซซังกีย์ได้ปกครองเขตซีเรีย  ส่วนซัยฟุดดีน  อัลฆอซีย์  ได้ปกครองนครโมซุลและหัวเมืองอัลญะซีเราะห์

                อิมาดุดดีน  ซังกีย์  (เสียชีวิต  คศ.1146)  เป็นพระพี่เลี้ยงคนสนิทของซุลตอน  อัลบ์  อัรซ่าลาน  แห่งเซลจูกเติร์ก  ปฐมราชวงศ์อัซซังกีย์  (1127)  อิมาดุดดีนได้ตีเมือง”อัรร่อฮา” จากพวกครูเสดในปีคศ.1144 หลังจากที่พวกครูเสดได้ยึดครองเมืองนี้เป็นระยะเวลา 50 ปี อิมาดุดีนได้ถูกลอบสังหารขณะยกพลปิดล้อมป้อมญะอฺบัร (หรือป้อมอัดเดาซัร) อะตาบัก  ,  อะตาบิก  (Ata-big)  เป็นคำสมัญญานามในภาษาเตอร์กิชหมายถึง  เจ้าชาย  ,  นาย  ,  อัศวิน  แต่ตามรากศัพท์หมายถึงพระพี่เลี้ยงที่คอยอบรมและฝึกฝนศิลปวิทยาการแก่บรรดาพระโอรสของกษัตริย์ทั้งหลาย  ,  พวกเซลจูก  (ซัลจูกียะห์หรือซะลาญี่เกาะฮ์)  ได้ใช้คำนี้เรียกบรรดาบุคคลในราชสำนัก  บรรดาเสนาบดีและแม่ทัพนายกอง  พวกอะตาบิกบางคนสามารถก้าวขึ้นสู่การมีอำนาจโดยในช่วงคริตศตวรรษที่  12  บรรดาหัวเมืองในแคว้นชามแคว้นเปอร์เซียได้แตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยเป็นต้นว่าพวกอะตาบิกะฮฺแห่งอาร์เซอร์ไบญาน  ,  เปอร์เซีย  และตระกูลบูรีย์  อิบนุ  ตุฆต้ากีนในกรุงดามัสกัสและตระกูลซังกีย์  ในนครโมซุล  อัลญ่าซีเราะห์และชาม

                วันที่  17  ร่อบีอุ้ลอาคืร  ปีที่  564  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                อะสะดุดดีน  ชีรอกโก้ฮฺ  อิบนุ ชาซีย์  (เสียชีวิต  ฮ.ศ.564/คศ.1169)  ซึ่งเป็นอาของท่านซ่อลาฮุดดีน  ,  อัลอัยยูบีย์  ซึ่งรับใช้ราชการทหารกับท่านนูรุดดีน  ซังกีย์ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีในอียิปต์ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อัลฟาตีมียะห์  (ซึ่งเป็นพวกที่นิยมในนิกายชีอะห์สายอัลอิสมาอีลียะห์)  ท่านอะสะดุดดีนผู้นี้นับเป็นชาวมุสลิมซุนนีย์คนแรกที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีในอาณาจักรของพวกชีอะห์  (ท่านอะสะดุดดีน  ชีรอกโกฮฺ)  ได้นำทัพเข้าทำศึกกับพวกครูเสดและได้รับชัยชนะในสมรภูมิเต็ล  บัสเตาะฮฺ  เมื่อคศ.1163 

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  565  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพของพวกครูเสดได้ยกพลขึ้นบก  ณ  ชายฝั่งของอียิปต์  ใกล้กับเมืองดิมย๊าตและตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนี้เป็นเวลาถึง  50  วันเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์อัลฟาตีมียะห์  ซึ่งขณะนั้นท่านซ่อลาฮุดดีนได้มีตำแหน่งเป็นมหาเสนาบดีในแผ่นดินแห่งค่อลีฟะห์อัลอาดิ้ดลีดีนิ้ลลาฮฺซึ่งเป็นค่อลีฟะห์องค์สุดท้ายแห่งอัลฟาตีมียะห์  การปิดล้อม  เมืองดิมย๊าตอันเป็นเมืองหน้าด่านติดชายทะเลของอียิปต์ได้สิ้นสุดลงด้วยการยกเลิกการปิดล้อมของพวกครูเสดภายหลังการขอกำลังสนับสนุนของซ่อลาฮุดดีนจากนูรุดดีน  อัซฺซังกีย์ให้มาช่วยรบ

                วันที่  22  ร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  1216  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                นายพลมิโน่  แม่ทัพแห่งกองกำลังยึดครองของฝรั่งเศสในอียิปต์ได้ยอมแพ้หลังจากถูกกองกำลังอุษมานียะห์และอังกฤษทำการปิดล้อมอยู่ในเมืองอเล็กซานเดรียและได้เกิดการรบพุ่งอย่างรุนแรงสร้างความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่ายและในท้ายที่สุดนายพลแห่งฝรั่งเศสก็ได้ยอมแพ้และออกเดินทางกลับสู่ฝรั่งเศสพร้อมด้วยเหล่าทหารหาญที่รอดตายโดยเรือของราชนาวีอังกฤษ

                ในเดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  1221  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนส่าลีม  ข่านที่  3  แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการปลดมูฮัมมัด  อาลี  ปาชาออกจากการเป็นข้าหลวงปกครองอิยิปต์และทรงแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงครองเมือง  ซาโลนิกแทน  ต่อมาภายหลังก็ทรงมีพระบรมราชโองการปลดมูฮัมมัด  อาลี  ปาชาออกจากตำแหน่งข้าหลวงปกครองทั้งสองหัวเมืองและทรงแต่งตั้ง  มูซา  ปาชาเป็นข้าหลวงปกครองหัวเมืองอียิปต์แทนและนี่ก็คือจุดแตกหักระหว่างมุฮัมมัด  อาลี  ปาชา  กับทางราชสำนักแห่งอิสตันบูล

                วันที่  14  เดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีที่  1334  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ช่ารีฟ  ฮุซัยน์  เจ้าครองนครมักกะฮฺได้มีสาส์นถึง  เซอร์อาร์เธอร์  เฮนรี่  แมกมาฮอน  ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือจักรภพประจำอียิปต์  โดยช่ารีฟ  ฮุซัยน์ได้ขอให้รัฐบาลอังกฤษส่งกำลังสนับสนุนและกำลังบำรุงกองทัพของชาติอาหรับซึ่งได้เข้าร่วมสงครามช่วยอังกฤษและพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่  1  ทั้งเงินตรา  อาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหาร