เหตุการณ์สำคัญในเดือนญุมาดิ้ลอูลา

                ในเดือนญุมาดิ้ลอูลา  ปีที่  2  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงทำศึก  “อัลอุชัยเราะห์”  ณ  ที่ราบต่ำยัมบัวอฺ  พระองค์ได้ทรงตั้งทัพอยู่ที่นั่นตลอดทั้งเดือนญุมาดั้ลอูลาและในช่วงเดือนญุมาดั้ลอาคิเราะห์อีกหลายคืนด้วยกัน  การศึกครั้งนี้ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทรงมีกำลังไพร่พลจำนวน  150  นายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชาวมุฮาญีรีนทั้งสิ้นและมีกำลังพลอูฐจำนวน  30  ตัว 

                การศึกครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขัดขวางกองคาราวานของพวกมุซริกีนมักกะห์ที่ล่องกลับจากแคว้นชามแต่ทว่าเมื่อท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงนำกำลังพลเดินทางถึงเขตซัลอุชัยเราะห์  ก็ปรากฏว่ากองคาราวานดังกล่าวได้เดินทางล่วงหน้าผ่านไปแล้วเมื่อหลายวันก่อน  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และกำลังพลจึงเดินทางกลับสู่นครม่าดีนะห์โดยไม่มีการรบพุ่งใด ๆ   เกิดขึ้นในการศึกครั้งนี้

                ในเดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  4  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงทำศึก  “ซาตุ้รรี่กอ”  ซึ่งตามรายงานของอิบนุ  อิสหากว่าท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงพำนักอยู่ที่นครม่าดีนะห์หลังเสร็จการศึกกับพวกยิวตระกูล  “อันน่าฎิร”  ตลอดช่วงเดือนร่อบีอุ้ลอาคิรและต้นเดือนญุมาดั้ลอูลา    ต่อมาพระองค์ก็ทรงเดินทัพสู่แคว้น  “นัจด์”  เพื่อกำหราบพวกตระกูล  “มุฮาริบ”  และตระกูล  “ซะอฺละบะฮฺ”  ซึ่งเป็นตระกูลในเผ่า  ฆ่อตอฟาน  และท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงตั้งท่านอบู  ซัรริน  อัลฆิฟารีย์เป็นผู้สำเร็จราชการแห่งนครม่าดีนะห์  แต่ท่านอิบนุ  ฮิชาม  รายงานว่า  บุคคลที่ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทรงตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการนั้นคือท่านอุสมาน  อิบนุ  อัฟฟาน  (รฎ.) 

                ท่านศาสดาและกำลังพลได้เดินทัพจนกระทั่งถึงเขตที่มีต้นอินทผลัมแห่งหนึ่งและที่นั่นนั้นเองก็เกิดศึก  ซาตุ้รรีกออฺ  ท่านอิบนุ  ฮิชามกล่าวว่า  เหตุที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะว่าเหล่าอัครสาวกซึ่งร่วมในกองทัพได้ซ่อมแซมหรือปะผืนผ้าที่ใช้เป็นธงรบ  บ้างก็กล่าวว่า  เหตุที่เรียกเช่นนั้นเพราะที่ตรงนั้นมีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่งที่ชื่อว่า  ซาตุ้รรีกออฺ  แต่ท่านอัลว่ากีดีย์บอกว่า  สถานที่ตรงนั้นมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่งมีลักษณะสีหินเป็นสีแดง  สีดำ  และสีขาวเป็นแปลง ๆ  ดูคล้ายรอยปะผ้า 

                และในหะดีษของท่านอบีมูซา  รายงานเล่าว่า  เหตุที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะเนื่องจากเหล่าอัครสาวกที่ร่วมในการศึกครั้งนี้ผูกเศษผ้าที่เท้าของพวกเขาอันเนื่องจากพื้นที่ร้อนจัด  ท่านอิบนุ  อิสหากรายงานว่า  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  พร้อมด้วยกำลังพลได้เผชิญหน้ากับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งจากเผ่าฆ่อต้อฟาน  ทั้งสองฝ่ายได้เคลื่อนพลเข้าประชิดกันแต่ยังไม่มีการรบพุ่งใด  ๆ  เกิดขึ้นแต่ทั้งสองฝ่ายก็ได้ตรึงกำลังกันไว้จนกระทั่งฝ่ายกำลังพลมุสลิมเกรงว่าจะมีการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามท่านศาสดา  (ซ.ล.)  จึงได้ทรงนำละหมาด  อัลเค้าฟ์  (ละหมาดในเวลาคับขันในเวลาทำศึก)  ไว้เป็นแบบฉบับแก่มวลมุสลิมในการศึกครั้งนี้ 

                อนึ่งการละหมาดอัลเคาฟ์นั้นมีถึงสามลักษณะด้วยกันตามการรายงานของอัลหะดีษ  และเกี่ยวกับวันเวลาของการทำศึกซาตุ้รรีกออฺ  นี้นั้นมีการรายงานไม่ตรงกันบ้างก็รายงานว่าเกิดขึ้นตอนปลายปีที่  5  แห่งฮิจเราะห์ศักราชหลังสงคราม  ค็อยบัร  บ้างก็ว่าเกิดขึ้นเมื่อในช่วงเดือนมุฮัรรอมของปีที่  5  แห่งฮิจเราะห์ศักราช  บ้างก็ว่าในเดือนเชาว๊าลปีที่  4  แห่งฮิจเราะห์ศักราช

                ในเดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  6  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงนำกำลังพลจำนวนหนึ่งมุ่งหน้าสู่เขตของพวกตระกูล “อัลละห์ยาน”  เพื่อสะสางกรณีพิพาทและกำหราบพวกนี้แทนพวก “ร่อเญี้ยะอฺ”    ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงเดินทัพเรื่อยมาจนกระทั่งถึงเขตของพวกตระกูล”อัลละห์ยาน”และท่านศาสดา  (ซ.ล.)  พร้อมด้วยกองกำลังทหารของพระองค์ก็ได้ลงพักตรงบริเวณหุบเขาแห่งหนึ่งที่เรียกกันว่า “วาดีย์  ฆุรอน” 

                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทรงทราบว่าพวกอัลละห์ยานได้ตั้งค่ายอยู่ตามแนวสันเขา  พระองค์จึงได้ทรงปล่อยพวกนั้นโดยไม่มีการโจมตีใด  ๆ  และพระองค์ได้ทรงนำพลทหารม้าจำนวน  200  นายมุ่งหน้าต่อไปจนกระทั่งถึงตำบล  “อุซฟาน”  พระองค์ได้ทรงส่งทหารม้าสองนายให้มุ่งหน้าต่อไปเพื่อดูสถานการณ์จนกระทั่งทั้งสองได้ลงพักที่ตำบล  “กุรออฺ  อัลฆ่อมีม”  ครั้นต่อมาเมื่อทหารม้าทั้งสองนายได้ย้อนกลับมายังเขตที่ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และกำลังพลลงพักรออยู่  ทั้งหมดจึงได้เดินทัพกลับสู่นครม่าดีนะห์ในที่สุด

                ท่านอัลฮาฟิซ  อัลบัยหะกีย์ได้รายงานจากท่านอัลวากีดีย์ว่า  ในช่วงเดือนญุมาดั้ลอูลา  ในปีเดียวกันนี้ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงส่งท่าน  ซัยด์  อิบนุ  ฮาริษะห์  (รฎ.)  พร้อมกำลังพล  15  นายมุ่งสู่พวกตระกูลซะอ์ละบะฮฺและพวกอาหรับเร่ร่อนเมื่อรู้ว่าท่านซัยด์พร้อมด้วยกำลังพลมาถึงก็พากันหลบหนีแตกกระเจิงทิ้งฝูงอูฐไว้ให้เป็นทรัพย์สงครามจำนวน  20  ตัวและทั้งหมดก็ได้เดินทางกลับสู่นครม่าดีนะห์หลังออกไปปฏิบัติภารกิจเป็นเวลาสี่คืนและในเดือนญุมาดั้ลอูลา  ของปีเดียวกันนี้ท่านซัยด์  อิบนุ  ฮาริษะห์  (รฎ.)  ได้นำกำลังพลจำนวนหนึ่งออกไปยังเขตอัลอัยซ์

                วันที่  27  ญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  13  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพของมุสลิมประจำแคว้นชาม  สามารถสร้างความพ่ายแพ้แก่กองทัพโรมันในเมืองอัจนาดีน  “มาฮาน”  แม่ทัพแห่งกองทัพโรมันได้นำโซ่ตรวนและเชือกผูกล่ามเหล่าไพร่พลของกองทัพโรมันเป็นจำนวนมาก  (หนังสืออ้างอิงบางเล่มกล่าวว่า  มีไพร่พลถึง  80,000  นาย)  เพื่อไม่ให้เหล่าไพร่พลทหารหนีทัพและแตกทัพในสมรภูมินี้ได้มีการนำกำลังพลภายใต้การนำของท่านค่อลิด  อิบนุ  อัลวะลีดจากอิรักมาร่วมสมทบกับกองทัพแห่งแคว้นชาม  อันเป็นไปตามคำสั่งของท่านค่อลีฟะห์อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (รฎ.)  การนำกำลังพลจากอิรักมาร่วมสมทบของท่านค่อลิด  อิบนุ  อัลวะลีดมีส่วนอย่างมากในการได้รับชัยชนะของฝ่ายมุสลิมในสมรภูมิครั้งนี้

                ในเดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  857  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนมุฮัมมัด  ข่าน  อัลฟาติฮฺแห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ได้ทรงมีพระราชสาส์นถึงจักรพรรดิคอนสแตนตินที่  2  แห่งอาณาจักรโรมันไบแซนไทน์  ในวันที่  15  ญุมาดั้ลอูลา  ปีฮ.ศ.857  (24  พ.ค.  1453)  โดยซุลตอนได้ทรงแจ้งให้จักรพรรดิทราบว่า  หากพระองค์ทรงส่งมอบกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลแต่โดยดี  ซุลตอนก็ทรงให้สัญญาแก่จักรพรรดิว่าจะไม่มีการยุ่งเกี่ยวหรือกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของชาวเมืองหรือทรัพย์สินของพวกเขาและซุลตอนก็จะทรงมอบ  เกาะโมโร  (มูเราะห์)  แก่จักรพรรดิ  แต่ทว่าจักรพรรดิคอนสแตนตินไม่ทรงรับข้อเสนอดังกล่าว

                วันที่  20  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  857  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                (ตรงกับวันที่  29  พ.ค.  1453)  ซุลตอนมุฮัมมัด  ข่านที่  2  อัลฟาติฮฺแห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ได้ทรงประกาศสงครามต่อจักรพรรดิคอนสแตนตินที่  2  แห่งอาณาจักรโรมันไบแซนไทน์  และซุลตอนได้ทรงมีคำสั่งให้เหล่าทหารหาญของพระองค์ตระเตรียมการยาตราทัพสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลในวันเดียวกันเพื่อเตรียมการพิชิตมหานครแห่งนี้พร้อมทั้งได้ทรงสัญญาต่อกองทัพของพระองค์ว่าจะทรงจัดสรรที่ดินแก่พวกเขาหลังการได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์  (ระบบศักดินา)

                วันที่  21  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  950  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพของซุลตอน  สุลัยมาน  ข่าน  อัลกอนูนีย์แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ภายใต้การบัญชาการรบของคอยรุดดีน  ปาชาได้เข้ายึดครองเมือง  “นีส”  ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลทางตอนใต้ของฝรั่งเศส แต่ทว่ากองทัพของอุษมานียะห์ได้ถอนทัพในเวลาต่อมาจากเมืองดังกล่าวภายหลังเกิดการขัดแย้งกันเองระหว่างบรรดาแม่ทัพนายกองของกองทัพแห่งอุษมานียะห์ (เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคม คศ.1543)

                วันที่  17  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  979  แห่งฮิจเราะห์ศักราช

                กองทัพเรือแห่งอุษมานียะห์ได้ประสบความปราชัยต่อกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรชาติคริสเตียนที่ร่วมกันระหว่างเวนิส,สเปน  และวาติงกันในสมรภูมิ “ลิบาเนท” (Lepante)  อันเป็นหัวเมืองทางทะเลในกรีซตั้งอยู่ตรงบริเวณอ่าว “ลิบาเนท” การยุทธนาวีดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังการยึดครองบรรดาหัวเมืองที่ติดชายฝั่งทะเล “เอเดรียติก”  ของอิตาลี่โดยกองทัพเรือแห่งอุษมานียะห์  ในช่วงก่อนการยุทธนาวีที่  “ลิบาเนท”  นั้นกองทัพเรือแห่งอุษมานียะห์ได้ทำการพิชิตเกาะ  “ไซปรัส”  ได้เมื่อวันที่  10  เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล  ปีฮ.ศ.979  (ตรงกับ  2  สิงหาคม  1571) 

                และในช่วงระหว่างนี้นี่เองที่กองทัพเรือแห่งอุษมานียะห์ได้โจมตีเกาะ  “ครีต”  และเกาะ  “ซฺอนตะฮฺ”  และอีกหลายเกาะโดยไม่สามารถเข้ายึดครองได้แต่สามารถยึดครองบรรดหัวเมือง  “เตลซินโย”  และ  “อันเตียบารี่”  (ทั้งสองเป็นหัวเมืองในแคว้นหนึ่งที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลเอเดรียติกของยูโกสลาเวีย)  เมื่อเวนิสเห็นว่าอุษมานียะห์ได้รับชัยชนะเหนือหัวเมืองชายทะเลดังกล่าวและอีกหลายหัวเมือง 

                เวนิสจึงขอความช่วยเหลือจากสเปนและพระสันตะปาปาซึ่งภายหลังได้มีการทำข้อตกลงกันในการทำสงครามกับอุษมานียะห์ทางทะเล  อันเนื่องจากเกรงว่าอุษมานียะห์จะแผ่แสนยานุภาพและคุกคามต่ออิตาลี  ทั้งหมดได้รวบรวมกองเรือรบของตนและตั้งให้  “ดอนควน”  บุตรนอกสมรสของชาร์ลกันหรือกษัตริย์คาร์ลที่  5  แห่งสเปนเป็นแม่ทัพเรือ  กองเรือรบของพวกคริสเตียนได้เดินทางจนกระทั่งถึงชายฝั่งของอุษมานียะห์ 

                โดยกองเรือรบผสมดังกล่าวประกอบด้วยกองเรือรบเอสปาโนล่าแห่งสเปนจำนวน  70  ลำ  กองเรือรบของเวนิสจำนวน  140  ลำ  กองเรือรบแห่งพระสันตะปาปาจำนวน  12  ลำ  และเรือรบของพวกอัศวินครูเสดแห่งเกาะมอลต้าอีกจำนวน  9  ลำ  ส่วนกองทัพเรือของอุษมานียะห์นั้นมีจำนวนทั้งสิ้น  300  ลำ  และในวันที่  17  ญุมาดั้ลอูลา  ฮ.ศ.ที่  979  (7  ตุลาคม  คศ.1571) 

                กองเรือรบของทั้งสองฝ่ายก็ได้ปะทะกันในบริเวณ  “ลิเบนต้า”  หรือ  “ลิบาเนท”  เป็นระยะเวลาถึง  3  ชั่วโมงโดยรบพุ่งกันอย่างต่อเนื่องและจบฉากลงด้วยชัยชนะของกองเรือรบผสมฝ่ายคริสเตียนซึ่งสามารถยึดเรือรบฝ่ายอุษมานียะห์ได้เป็นจำนวนถึง  130  ลำ  มีเรือถูกไฟไหม้และจมลงจำนวน  94  ลำ  ปืนใหญ่ถูกยึดถึง  300  กระบอก  และทหารตกเป็นเชลยถึง  30,000  คน  ยุทธนาวีครั้งนี้นับเป็นสมรภูมิครั้งแรกที่ได้เกิดขึ้นระหว่างประเทศเดียวฝ่ายหนึ่งและประเทศคริสเตียนที่มีจำนวนมากกว่า  2  ประเทศอีกฝ่ายหนึ่งและการที่พระสันตะปาปาได้เข้ามามีส่วนในการรบด้วยย่อมบ่งถึงสิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันทำสงครามกับรัฐอิสลามว่าคือ  “ศาสนา”  ดังเช่นที่เหตุการณ์ต่าง ๆ  ตลอดจนสงครามอีกนับครั้งไม่ถ้วนที่ได้เกิดขึ้นในช่วงหลัง  ต่างก็ยืนยันเช่นนั้นหาใช่เป็นนโยบายทางการเมืองตามคำกล่าวอ้างไม่ 

                ชัยชนะของฝ่ายคริสเตียนที่มีต่อจักรวรรดิอุษมานียะห์ในยุทธนาวีครั้งนี้ได้สร้างความปลื้มปิติแก่ชาวคริสเตียนทั้งมวลจนถึงขั้นที่ว่าพระสันตะปาปาได้ทรงแสดงธรรม  ณ  มหาวิหารเซนต์ปิเตอร์แห่งกรุงโรมและแสดงความขอบใจต่อ  “ดอนควน”  ที่เขาสามารถสร้างชัยชนะเหนือกองทัพเรือแห่งอิสลามได้ 

                ส่วนทางฝ่ายอิสตันบูลนั้นเมื่อข่าวความปราชัยในการยุทธนาวีดังกล่าวได้เป็นที่ทราบกันก็ส่งผลให้ชาวมุสลิมในนครอิสตันบูลเกิดความไม่พอใจต่อชาวคริสเตียนและตั้งใจจะทำการสังหารคณะมิชชันนารีคาทอลิกเพื่อเป็นการแก้แค้นหากแต่ว่าท่านมหาเสนาบดีมุฮัมมัด  ปาชา  ซิกิ้ลลีย์ได้มีคำสั่งให้กักตัวคณะบาดหลวงดังกล่าวไว้ภายใต้การอารักขาจนกระทั่งเหตุการณ์ได้สงบลงและส่งตัวคณะบาดหลวงคาทอลิกดังกล่าวออกนอกประเทศตามคำขอร้องของทูตฝรั่งเศส

                ต้นเดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  954  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาประนีประนอมระหว่างซุลตอนสุลัยมาน  ข่าน  อัลกอนูนีย์แห่งอุษมานียะห์  และจักรพรรดิแห่งออสเตรียเฟอร์ดินานที่  1  แห่งราชวงศ์เฮบสเบิร์ก  การกระทำสนธิสัญญาดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังการปราชัยของกองทัพออสเตรียขณะทำศึกแย่งชิงฮังการีจากอุษมานียะห์  สนธิสัญญาประนีประนอมดังกล่าวได้กำหนดให้มีการสงบศึกเป็นเวลา  5  ปี

                โดยจักรพรรดิเฟอร์ดินานจะต้องจ่ายบรรณาการเป็นประจำทุกปีเป็นจำนวน  30,000  ดูก้า  แลกเปลี่ยนกับการที่ฮังการีบางส่วนยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของออสเตรียและดินแดนของฮังการีที่เหลือยังคงขึ้นตรงกับเจ้าชาย  “ซาโปลี”  ซึ่งมีพระนาง  “อิซซาเบลล่า”  ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและและอยู่ภายใต้การดูแลของอุษมานียะห์อีกทอดหนึ่ง  เงื่อนไขต่าง  ๆ  ในสนธิสัญญานี้ยังคงมีผลเรื่อยมาจนถึงวันที่  24  เดือนร่อญับ  ปีฮ.ศ.1110  (ตรงกับปีคศ.1699)  ขณะมีการลงนามในสนธิสัญญา  “คาร์โลฟิตซ์”  (Carlofith)  ซึ่งเป็นชื่อของเมืองในยูโกสลาเวีย  บนฝั่งแม่น้ำ  “ดานูบ”  ในเขตของเซอร์เบีย  ตามสนธิสัญญานี้  จักรวรรดิอุษมานียะห์ต้องยอมสูญเสียฮังการีแก่ออสเตรีย  อนึ่งในสนธิสัญญานี้มีออสเตรีย,โบโลเนีย,รัสเซียและอุษมานียะห์ร่วมลงนาม

                วันที่  25  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1083  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ได้มีการร่วมลงนามในสนธิสัญญา  “โบซากิ้ส” ระหว่างโบโลเนียและจักรวรรดิอุษมานียะห์ในสนธิสัญญาฉบับนี้กษัตริย์โบโลเนียได้ยอมเสียดินแดนบางส่วนที่เป็นประเทศราชของตนแก่จักรวรรดิอุษมานียะห์และยอมจ่ายบรรณาการทุกปีเป็นจำนวน 220,000 เหรียญทองเวนิส ภายหลังจากที่ซุลตอนสุลัยมาน ข่าน อัลกอนูนีย์ (ซึ่งได้ทรงนำทัพอุษมานียะห์ด้วยพระองค์เอง) ได้สร้างความปราชัยแก่กษัตริย์แห่งโบโลเนียและเข้ายึดครองเมือง  “ลิมเบิร์ก”  ได้

                วันที่  24  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1125  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
มีการร่วมลงนามในสนธิสัญญาแห่ง  “อดิ้รนะฮฺ”  (เอเดรียโนเปิ้ล)  ระหว่างจักรวรรดิอุษมานียะห์และรัสเซียหลังเกิดสงครามระหว่างสองฝ่ายอันมีสาเหตุมาจากการที่รัสเซียไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสนธิสัญญา”แฟลกซิน”  และในสนธิสัญญา  “อดิ้รนะฮฺ”  รัสเซียจำต้องยอมสูญเสียเขตปกครองของตนหลายเขตด้วยกันในส่วนดินแดนเหนือชายฝั่งทะเลดำ  อนึ่งการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลังการรบกันระหว่างสองฝ่ายและกองทัพของรัสเซียได้ถูกผลักดันให้ร่นถอยในการรบครั้งนั้น

                วันที่  15  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1206  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
              
  มีการลงนามในสนธิสัญญา  “ยาซ”  (Jasi  เมืองหนึ่งในโรมาเนีย  เมืองหลวงของมอลดาเวียเก่า)  ระหว่างจักรวรรดิอุษมานียะห์และรัสเซียโดยมีอังกฤษ  ปรัสเซีย  ฮอลแลนด์  เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยสนธิสัญญาฉบับนี้กำหนดให้รัสเซียได้ครอบครอง  “ไครเมีย”  และส่วนหนึ่งจากรัฐ  “อัลกูบาน”  และ  “บัซซ่าราเบีย”  และแคว้นต่าง  ๆ  ที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ  “บูก”  และแม่น้ำ  “ดินิสเตอร์”  โดยใช้แม่น้ำดินิสเตอร์เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างสองประเทศ  ส่วนรัสเซียนั้นจะต้องยอมเสียเมือง  “อูซียฺ”  แก่จักรวรรดิอุษมานียะห์

                ต้นเดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1222  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                มีการลงนามในสนธิสัญญา  “เธลเซต”  ระหว่างฝรั่งเศสและรัสเซีย  โดยมีมาตราที่  22  และมาตราถัดมากำหนดให้รัสเซียยุติการคุกคามต่อจักรวรรดิอุษมานียะห์จนถึงขั้นให้นโปเลียนเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่ายและกำหนดให้กองทัพรัสเซียยอมสละแคว้น  “อัฟล๊าก”  (รัฐหนึ่งในแถบแม่น้ำดานูบ)  และแคว้น  “บุฆดาน”  (โรมาเนีย)  โดยกองทัพของอุษมานียะห์จะต้องยังไม่เคลื่อนทัพเข้าสู่รัฐทั้งสองจนกว่าจะมีการประนีประนอมในท้ายที่สุดเสียก่อน  และถ้าหากว่าทางราชสำนักของอุษมานียะห์ไม่ยอมรับการเป็นตัวกลางของฝรั่งเศส

                ทางฝรั่งเศสก็จะร่วมมือกับรัสเซียทำการรบแย่งชิงแว่นแคว้นและหัวเมืองต่าง ๆ  ที่เป็นของอุษมานียะห์ในทวีปยุโรปทั้งหมดนอกจากกรุงอิสตันบูลและเขตปริมณฑล  และจะนำดินแดนดังกล่าวที่ตีชิงมาได้มาแบ่งสรรกันระหว่างรัสเซียและฝรั่งเศสพร้อมทั้งยังเอาใจออสเตรียด้วยการมอบดินแดนบางส่วนที่มีพื้นที่เพียงน้อยนิด

                วันที่  16  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1227  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                มีการลงนามในสนธิสัญญา  “บูคาเรสต์”  ระหว่างจักรวรรดิอุษมานียะห์และรัสเซีย  ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวกำหนดให้จักรวรรดิอุษมานียะห์ยังคงรักษาแคว้น  “อัฟล๊าก”  และแคว้น  “บุฆดาน”  ตลอดจนแคว้น”เซอร์เบีย”ไว้ใต้อำนาจของจักรวรรดิต่อไป  ส่วนทางฝ่ายรัสเซียนั้นยังคงครอบครองแคว้น”บิซารบียา”  และบางส่วนของปากน้ำแม่น้ำดานูบ  อนึ่งการลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ตรงกับวันที่  28  พฤษภาคม  1812  ในช่วงรัชสมัยแห่งซุลตอนมะฮฺหมูด  ข่านที่  2  องค์ซุลตอนลำดับที่  30  แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์

                วันที่  2  เดือนญูมาดั้ลอูลา  ปีที่  1255  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                อะหฺหมัด  ปาชา แม่ทัพเรือแห่งอุษมานียะห์ได้นำกองเรือรบทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนมุ่งหน้าสู่เมือง  “อเล็กซานเดรีย”  และส่งมอบกองเรือรบทั้งหมดแก่มุฮัมมัด  อาลี  ปาชา  (ตรงกับวันที่  14  กรกฎาคม  1839  ในรัชสมัยแห่งซุลตอนอับดุลม่าญีดที่  1)  เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ทำให้อุษมานียะห์ต้องสูญเสียกองเรือรบเกือบทั้งหมดและทำให้กลุ่มประเทศยุโรปเข้ามาแทรกแซงและในที่สุดมุฮัมมัด  อาลี  ปาชา  ก็ยอมส่งมอบกองเรือรบคืนแก่อุษมานียะห์โดยมุฮัมมัด  อาลี  ปาชามีอำนาจปกครองอียิปต์อย่างเป็นเอกเทศ

                วันที่  16  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1255  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
บรรดากงสุลของกลุ่มประเทศยุโรปอันประกอบไปด้วยฝรั่งเศส,อังกฤษ,รัสเซีย,ออสเตรีย,  ปรัสเซียได้ร่วมกันเรียกร้องต่อราชสำนักแห่งอุษมานียะห์ให้กลุ่มประเทศของตนเข้ามามีส่วนในปัญหาของอียิปต์พร้อมกับเสนอเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างมุฮัมมัด  อาลี  ปาชากับทางฝ่ายราชสำนักอุษมานียะห์เพื่อคลี่คลายปัญหานี้ซึ่งกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของอุษมานียะห์และอธิปไตยเหนือดินแดนอียิปต์และแคว้นชามที่มุฮัมมัด  อาลี  ปาชา  ได้ใช้กำลังทางทหารเข้ายึดครองบวกกับสถานการณ์ที่อุษมานียะห์ต้องสูญเสียกองทัพเรือของตนแก่มุฮัมมัด  อาลี  ปาชาซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความวิตกกังวลแก่ยุโรปที่จะต้องเผชิญกับการท้าทายของอำนาจใหม่ที่มูฮัมมัด  อาลีได้สร้างขึ้นในช่วงเสื่อมของอุษมานียะห์

                วันที่  18  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1225  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                บรรดากงศุลของกลุ่มประเทศยุโรปได้ร่วมประชุมหารือกับมหาเสนาบดีแห่งอุษมานียะห์เพื่อถกปัญหาของอียิปต์และได้ลงมติให้ร่วมประชุมกันใหม่อีกครั้งหนึ่งในภายหลัง  ทั้งนี้เนื่องจากมีความคิดขัดแย้งกัน

                วันที่  29  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1271  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
กองทัพแห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์ซึ่งได้กำลังสนับสนุนจากกองพลทหารอียิปต์ได้ปะทะกับกองทัพรัสเซียซึ่งได้รุกล้ำเส้นพรมแดนของจักรวรรดิอุษมานียะห์  และการศึกครั้งนี้ได้ปิดฉากลงด้วยความปราชัยของกองทัพรัสเซียในสมรภูมิ  “อิบาตูเรีย” และหนึ่งจากผู้พลีชีพในสมรภูมิครั้งนี้คือ ส่าลีม ปาชา อบูต้อรบูช นายทหารแห่งทัพทหารอียิปต์

                วันที่  27  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1292  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนอับดุลอ้าซีซฺ  แห่งอุษมานียะห์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าประทานเมือง  “ซัยละอฺ”  และดินแดนที่ผนวกให้แก่คุดัยวีย์ (กษัตริย์ผู้ครองอียิปต์ซึ่งมีมูฮัมมัด อาลี ปาชาเป็นปฐมราชวงศ์) เมือง  “ซัยละอฺ” เป็นเมืองท่าในโซมาเลียตรงอ่าวเอเดนในทะเลแดง

                วันที่  7  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1293  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ได้มีการสถาปนาซุลตอนมุรอดที่  5  พระราชโอรสในซุลตอนอับดุลม่าญีด  ข่าน  ขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์แห่งปวงชนมุสลิม  ซุลตอนมุรอด  ข่านที่  5  ทรงเป็นซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ลำดับที่  33  พระองค์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหลังการปลดซุลตอนอับดุลอ้าซีซ  ข่านออกจากพระราชอำนาจ

                วันที่  17  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1295  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                เกิดความวุ่นวายขึ้นในกรุงอิสตันบูลซึ่งเกือบจะเป็นเหตุให้กองทัพรัสเซียยกทัพเข้าสู่กรุงอิสตันบูลและยึดครอง  ความวุ่นวายดังกล่าวมีสาเหตุมาจากชายคนหนึ่งที่มีชื่อว่า  อาลี  ซ่าอาวีย์  อะเฟ็นดีย์  เป็นชาวเมืองบุคอรอเดิมบุคคลผู้นี้ได้เดินทางมาอิสตันบูลเพื่อร่ำเรียนหาวิชาความรู้จนกระทั่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาอาหรับเป็นอย่างดีทั้งความฉะฉาน  กาพย์กลอนและการกล่าวคำปราศรัย 

                แต่ทว่าบุคคลผู้นี้นิยมสร้างความวุ่นวายปลุกระดมและสร้างความบาดหมางจึงเป็นเหตุทำให้ถูกเนรเทศเป็นครั้งแรกเมื่อปี  ฮ.ศ.1287/1870  เขาผู้นี้จำต้องอยู่นอกประเทศเป็นเวลาถึง  9  ปี  ต่อมาเขาก็เดินทางกลับสู่กรุงอิสตันบูลด้วยการวิ่งเต้นของ  “เมดฮัต  ปาชา”  และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลหอสมุดแห่งองค์ซุลตอนซึ่งบรรดาพระราชโอรสน้อยใหญ่แห่งองค์ซุลตอนอับดุลฮามีดทรงศึกษาในสถานที่แห่งนี้  ต่อมาเขาก็ถูกปลดออกอันเนื่องมาจากทำตัวไม่เหมาะสมและชอบเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง  เมื่อถูกปลด  อาลี  อะเฟ็นดีย์ ผู้นี้ก็เริ่มวางแผนก่อความวุ่นวายในกรุงอิสตันบูลโดยมีเป้าหมายให้ถอดซุลตอนอับดุลฮามีด  ข่านออกจากพระราชอำนาจและเรียกร้องให้นำซุลตอนมุรอด  ข่านกลับมาสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง 

                เหตุการณ์ได้บานปลายจนถึงขั้นผู้ก่อความไม่สงบซึ่งมีด้วยกันสองกลุ่มจำนวนร่วมสองร้อยคนภายใต้การนำของซอและฮฺ  เบย์  และอาลี  ซ่าอาวีย์  อะเฟ็นดีย์ผู้นี้นำกำลังคนบุกพระราชฐาน “ญุรอฆอน” และกุมตัวซุลตอนมุรอดเอาไว้  แต่ในท้ายที่สุดกองทหารจากพระตำหนัก  “ยัลดัซฺ”  ซึ่งซุลตอนอับดุลฮามีดทรงประทับอยู่ที่นั่นได้มาถึงและปิดล้อมพระราชฐาน  “ญุรอฆอน” เอาไว้และจบฉากลงด้วยการที่ผู้ก่อความไม่สงบครั้งนี้โดยเฉพาะอาลี  ซ่าอาวีย์เสียชีวิตทั้งหมด  หลังเหตุการณ์ได้สงบลง  ซุลตอนมุรอดและพระราชวงศ์ของพระองค์ก็ถูกย้ายมาประทับในพระราชฐานส่วนในของพระตำหนัก  “ยัลดัซฺ”  เหตุการณ์ในกรุงอิสตันบูลก็สงบลง  ประชาชนก็เปิดร้านรวงเป็นปกติ  จักรวรรดิอุษมานียะห์ก็รอดพ้นจากการแทรกแซงด้วยกำลังทหารของรัสเซียซึ่งขณะนั้นกำลังประชิดเขตปริมณฑลของกรุงอิสตันบูลอยู่ด้วยข้ออ้างในการให้ความคุ้มครองชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียนออธอดอกซ์

                วันที่  20  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1295  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กรุงอิสตันบูลได้ประสบอัคคีภัยครั้งใหญ่  ซึ่งได้เผาผลาญพื้นที่จำนวนมิใช่น้อยของพระราชวังและยังได้ไหม้อาคารสภาองคมนตรีและอาคารใกล้เคียงตลอดจนที่ทำการศาลตุลาการ  ที่ทำการฝ่ายกรมวังและมหาดไทยและส่วนอื่น  ๆ  โดยเผาผลาญข้าวของเครื่องใช้  เฟอร์นิเจอร์และเอกสารของราชการ  เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้นั้นน่าจะมาจากการลอบวางเพลิงของพวกก่อความไม่สงบที่ยังเล็ดรอดมาได้เพื่อแก้แค้นต่อสิ่งที่พวกนี้ได้ประสบเมื่อครั้งเหตุการณ์  ณ  พระราชฐานญุรอฆอน

                วันที่  8  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1343  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนอับดุลอะซีซฺ  อาลซุอูด  ทรงนำกองทัพอันเกรียงไกรยาตราเข้าสู่มหานครมักกะฮฺ  โดยพระองค์ทรงประกาศผนวกรวมมหานครมักกะฮฺเข้าสู่พระราชอำนาจของพระองค์  ซุลตอนอับดุลอะซีซฺ  (คศ.1880/1953)  เป็นผู้สถาปนาราชอาณาจักรซาอูดีย์อาราเบีย  พระองค์ทรงตีนครริยาดได้จากอิบนุร่อชีด  (1902)  และตีนครมักกะฮฺได้จากช่ารีฟ  ฮุซัยน์  (1924)  และทรงสถาปนาราชอาณาจักรในปีคศ.1932

                วันที่  21  เดือนญุมาดั้ลอูลา  ปีที่  1351  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนามชื่อ  “ราชอาณาจักร แห่ง อัลฮิญาซฺ และอันนัจด์ และดินแดนที่ถูกผนวกเป็น “ราชอาณาจักรซุอูดีย์อาราเบีย” (ซาอุดิอาราเบีย)