เหตุการณ์สำคัญในเดือนร่อมาฎอน

                ในเดือนร่อมาฎอน  ได้มีการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด  (ซ.ล.)  โดยพระบัญชาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า  (ซ.บ.)  ให้ดำรงตำแหน่งศาสนทูตผู้ประกาศสาส์นครั้งแรกขณะที่ท่านศาสดากำลังบำเพ็ญเพียรในการประกอบศาสนกิจตามแนวทางของท่านศาสดาอิบรอฮีม  (อ.ล.) หรือที่เรียกกันว่าแนวทางแบบอัลฮะนีฟียะห์ของท่านศาสดาอิบรอฮีม  (อ.ล.)  ซึ่งครั้งหนึ่งท่านและศาสดาอิสมาอีล  (อ.ล.)  ผู้เป็นบุตรชายของท่านเคยแสดงเอาไว้ในหมู่ชนชาติอาหรับ 

                แต่เมื่อเวลาผ่านไป  หลักธรรมคำสอนดังกล่าวก็เริ่มจางหายและแปรเปลี่ยนจวบจนถึงยุคของท่านศาสดามุฮัมมัด  (ซ.ล.)  หลักธรรมคำสอนอันได้ชื่อ  ว่าศาสนาอิสลามนั้นก็ได้รับการฟื้นฟูและเผยแผ่อีกคราเหตุการณ์พระราชทานวะฮีย์  (วิวรณ์)  เป็นครั้งแรกแก่ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ผ่านทางเทวทูตญิบรีลขณะที่ท่านอยู่ในถ้ำอัลฮิรออ์นั้นนับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม  เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศสาส์นแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าแก่มวลมนุษยชาติ  ณ  ถ้ำอัลฮิรออ์

                ท่านเทวทูตญิบรีลได้ปรากฏตัวขึ้นและพลางกล่าวว่า  “จงอ่านเถิด”  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ตอบว่า “ข้าพเจ้าอ่านไม่เป็น”  ทันใดนั้นท่านญิบรีลจึงโถมเข้ากอดท่านจนแน่นและแล้วก็ปล่อยท่านจากอ้อมกอดนั้นแล้วพลางกล่าวขึ้นว่า “จงอ่านเถิด” ฝ่ายท่านศาสดา  (ซ.ล.) ก็ยืนกรานด้วยประโยคเดิมว่า “ข้าพเจ้าอ่านไม่เป็น”  เป็นอย่างนี้ถึงสามครั้งสามคราและแล้ว ท่านเทวทูตญิบรีลก็เริ่มอัญเชิญพระดำรัสอันเป็นปฐมโองการจากองค์พระผู้เป็นเจ้าให้ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้สดับรับฟังว่า

                “(มุฮัมมัด)  เจ้าจงอ่านเถิด  ด้วยพระนามแห่งองค์พระผู้อภิบาลของเจ้า  พระผู้ซึ่งทรงสร้าง  พระองค์ทรงสร้างมนุษย์มาจากก้อนเลือด  จงอ่านเถิด  และองค์พระผู้อภิบาลของเจ้านั้นทรงเกียรติยิ่ง  พระผู้ทรงสอนให้รู้ด้วยปากกา  พระองค์ทรงสอนมนุษย์ให้รู้ในสิ่งที่เขาไม่รู้”  บทอัลอะลัก  1/5   พระดำรัสทั้ง  5  โองการซึ่งเป็นปฐมบัญญัติจากพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานลงมาในช่วงเดือนร่อมาฎอนขณะที่ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  มีอายุได้  40  ปี

                วันที่  17  เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  2  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ขณะที่ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  มีอายุได้  54  ถึง  55  ปี  ได้เกิดสมรภูมิบัดรฺครั้งใหญ ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทราบข่าวว่ามีกองคาราวานอูฐบรรทุกสินค้ามุ่งหน้ามาจากแคว้นชาม  (ซีเรีย)  โดยมีอบูซุฟยาน  ซอคร์  อิบนุ  ฮัรบฺกับชายฉกรรจ์ชาวกุเรซจำนวน  30  ถึง  40  คน ร่วมขบวนมา  นับเป็นกองคาราวานอูฐขนาดใหญ่ที่บรรทุกสินค้าอันเป็นทรัพย์สินมหาศาลของ เผ่ากุเรซและผู้คนในนครมักกะห์ 

                ซึ่งถึงแม้ว่าสินค้าที่กองคาราวานนี้บรรทุกมาจะมีค่ามากมายเพียงใดก็ย่อมมิอาจเพียงพอต่อการชดใช้หรือทดแทนทรัพย์สินที่ชาวมุฮาญี่รีนต้องสูญเสียไปจากการอายัดยึดครองของฝ่ายกุเรซในนครมักกะห์  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ปลุกระดมผู้คนโดยเฉพาะชาวมุฮาญี่รีนให้ออกไปยังกองคาราวานดังกล่าวเพื่ออายัดทรัพย์สินเอาไว้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายมุสลิม

                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้นำกำลังพลกว่า  300  นายออกจากนครม่าดีนะห์ในวันที่   8  เดือนร่อมาฎอน  โดยท่านได้แต่งตั้งให้ท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  อุมมิมักตูมเป็นผู้รั้งนครม่าดีนะห์และนำผู้คนที่ไม่ได้ออกศึกในการนมัสการละหมาด  ครั้นเมื่อเดินทัพถึง  ต.อัรเราฮาอฺ  จึงได้มีคำสั่งให้อบู  ลุบาบะฮฺ  เดินทางกลับสู่นครม่าดีนะห์เพื่อร่วมสมทบกับท่านอับดุลลอฮฺในการรักษานครแทนพระองค์

                ไม่ปรากฏว่าในการเดินทัพครั้งนั้นมีกำลังม้าศึกร่วมทัพอยู่เลยนอกจากม้าศึกเพียงสองตัว  ตัวหนึ่งเป็นของท่านอัซซุบัยร์  และอีกตัวหนึ่งเป็นม้าศึกของท่านอัลมิกด้าด  อิบนุ  อัลอัสวัด  อัลกินดีย์เท่านั้น  ส่วนทัพอูฐนั้นมีอยู่ราว  70  ตัวโดยให้พลเดินเท้าผลัดเปลี่ยนกันขึ้นขี่ชุดละสองถึงสามคนต่ออูฐหนึ่งตัว  ฝ่ายกองคาราวานของกุเรซที่มีอบูซุฟยานเป็นผู้นำเมื่อได้ทราบข่าวการเคลื่อนกำลังของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ที่หมายเข้าพิชิตกองคาราวานเพื่อตัดทอนกำลังฝ่ายกุเรซ  อบูซุฟยานก็ได้เร่งรุดส่งม้าเร็วมุ่งหน้าสู่นครมักกะห์เพื่อแจ้งข่าวแก่พลเมืองมักกะห์พร้อมปลุกระดมให้มีการแต่งทัพออกจากมักกะห์เพื่อปกป้องกองคาราวานสินค้าดังกล่าวซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของพลเมืองมักกะห์ทั้งหมดให้พ้นจากการยึดครองของฝ่ายมุสลิม 

                เหล่าผู้นำกุเรซก็เร่งระดมผู้คนได้กำลังพลราว  1,000  คน  เพื่อทำศึกปกป้องกองคาราวานของตน  ครั้นเมื่อท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทราบข่าวการเคลื่อนทัพของมักกะห์ท่านได้ประชุมหารือกับเหล่าสาวกเกี่ยวกับการศึก  เหล่าสาวกทั้งหมดก็ขานรับการเรียกร้องของท่านด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว  ในที่สุดกองทัพของทั้งสองก็ได้ประจัญบานกัน  ณ  ตำบลบะดัร  การสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือด  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้วิงวอนขอต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า 

                “โอ้ องค์พระผู้เป็นเจ้า หากพระองค์ทรงให้กลุ่มชนนี้  (อันหมายถึงฝ่ายมุสลิมซึ่งมีความเสียเปรียบด้านกำลังพลและ     อาวุธยุทโธปกรณ์)  ได้รับความวิบัติแล้วไซร้  พระองค์ก็จะไม่ได้รับการสักการะในหน้าผืนพิภพนี้” จากคำวิงวอนนี้เองท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และกองทัพของท่านก็ได้รับความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าด้วยการส่งกองทัพม่าลาอิกะห์  (เทวทูต)  จำนวน  1,000  ท่านเข้าร่วมรบเป็นกองหนุนแก่ฝ่ายมุสลิมซึ่งได้รับชัยชนะเหนือกองทัพของมักกะฮฺอย่างงดงาม  ในสมรภูมิบัดรฺครั้งใหญ่นี้ฝ่ายกุเรซเสียกำลังพลไปจำนวน  70  คนและถูกจับเป็นเชลยศึกอีกจำนวน  70  คนฝ่ายมุสลิมได้พลีชีพจำนวน  14  คน

                หลังเสร็จสิ้นจากการศึกบัดรฺ  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้นำทัพกลับสู่นครม่าดีนะห์ในฐานะจอมทัพผู้มีชัยและพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบันดาลให้พระดำรัสและศาสนาของพระองค์สูงส่งและสมเกียรติตลอดจนทรงดลบันดาลให้เหล่าทหารผู้กล้าของพระองค์พรั่งพร้อมด้วยเกียรติภูมิ 

              จากผลพวงของชัยชนะทางการทหารของฝ่ายมุสลิมได้ทำให้กลุ่มชนบางพวกเข้ารับอิสลามเพื่ออำพรางว่ายอมสวามิภักดิ์ต่ออำนาจรัฐอิสลามที่มาบัดนี้มีกำลังกล้าแข็งและมีชัยต่อทัพมักกะห์ ชนพวกนี้เป็นที่รู้จักกันในนามว่า  “พวกหน้าไหว้หลังหลอก” (มุนาฟิกูน) มีผู้นำคนสำคัญคือ อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุบัยย์ อิบนิ ซ่าลู้ลซึ่งมีบทบาทในการบ่อนทำลายอิสลามในกาลต่อมา

                ลุวันที่  10  เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  8  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  พร้อมด้วยเหล่านักรบผู้ทแกล้วกล้าจำนวน  10,000  นาย อันประกอบด้วยชาวมุฮาญี่รีน  (เหล่าผู้อพยพจากนครมักกะห์)  และชาวอันซ็อร  (ผู้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือจากชาวเมืองม่าดีนะห์)  ตลอดจนอาหรับเผ่าต่าง ๆ  ที่เป็นพันธมิตรกับฝ่ายมุสลิมได้เคลื่อนกำลังพลออกจากนครม่าดีนะห์มุ่งหน้าสู่นครมักกะห์เพื่อทำการพิชิตนครมักกะห์อย่างเด็ดขาด

                สาเหตุการเคลื่อนทัพของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ดังกล่าวเกิดจากการละเมิดสนธิสัญญาพักรบอัลฮุดัยบียะห์ซึ่งได้ลงนามกันระหว่างฝ่ายมุสลิมกับฝ่ายกุเรซเมื่อราวปีที่  6  แห่งฮิจเราะห์ศักราช  โดยเผ่าบนีบักรซึ่งเป็นพันธมิตรกับฝ่ายกุเรซได้ละเมิดสนธิสัญญาด้วยการลอบโจมตีคนของเผ่าคุซาอะห์ซึ่งเป็นพันธมิตรฝ่ายท่านศาสดา  (ซ.ล.)  เหตุการณ์ดังกล่าวจึงนับได้ว่าเป็นการสิ้นสุดของช่วงระยะเวลาพักรบระหว่างสองฝ่าย 

                เมื่อฝ่ายคุซาอะห์ถูกลอบโจมตี  ท่านอัมร์  อิบนุ  ซาลิม  และท่านบะดีล  อิบนุ  วัรกออฺซึ่งทั้งสองเป็นคนของคุซาอะห์จึงรุดไปแจ้งขอความช่วยเหลือจากท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ให้ปราบปรามพวกกุเรซและเหล่าพันธมิตร  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ตอบรับข้อเรียกร้องอีกทั้งยังได้แจ้งแก่บุคคลทั้งสองด้วยอีกว่าชัยชนะอย่างเด็ดขาดจะตกเป็นของฝ่ายมุสลิมในการพิชิตนครมักกะห์ 

                นอกจากนี้ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ยังได้ปฏิเสธที่จะลงนามสนธิสัญญาครั้งใหม่กับอบูซุฟยานซึ่งเป็นตัวแทนและผู้นำของฝ่ายกุเรซและพันธมิตร เมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ผู้เป็นจอมทัพจึงได้เคลื่อนกำลังพลชาวมุสลิมสู่นครมักกะห์  ครั้นเมื่อถึงชานเมืองนครมักกะห์  อบูซุฟยาน  อิบนุ  ฮัรบ์  ผู้นำของกุเรซก็ได้เข้าพบท่านศาสดา  (ซ.ล.)  เพื่อต่อรองเกี่ยวกับเรื่องรื้อฟื้นสนธิสัญญา  แต่ก็ไร้ผล 

                ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้เสนออิสลามแก่อบูซุฟยาน  ซึ่งในที่สุดอบูซุฟยานก็ได้เข้ารับอิสลาม  และเมื่อกำลังพลของฝ่ายมุสลิมยาตราทัพเข้าสู่ตัวเมืองมักกะห์  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้มีบัญชาให้ป่าวประกาศแก่พลเมืองมักกะห์ให้เป็นที่ทราบกันว่า “ผู้ใดเข้าสู่เคหะสถานของอบีซุฟยาน ผู้นั้นย่อมปลอดภัย และผู้ใดปิดประตูบ้านเรือนของตน ผู้นั้นย่อมปลอดภัยและผู้ใดหลบเข้าสู่มัสยิดอัลหะรอม ผู้นั้นย่อมได้รับความปลอดภัย”

                ราวเดือนร่อมาฎอน  ปีที่  9  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
คณะทูตจากเผ่าซะกีฟ  เดินทางเข้าพบท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และประกาศการเข้ารับอิสลามต่อหน้าท่าน เรื่องนี้มีอยู่ว่าท่านอุรวะห์  อิบนุ  มัสอู๊ดผู้นำเผ่าซะกีฟได้เข้าพบท่านศาสดา  (ซ.ล.)  หลังสิ้นการศึกจากสมรภูมิฮุนัยน์และสมรภูมิตออิฟ  และก่อนหน้าท่านศาสดา  (ซ.ล.)  จะเดินทางถึงนครม่าดีนะห์  ท่านอุรวะห์ก็ประกาศตัวเข้ารับอิสลามและเป็นอิสลามิกชนที่ดี  ต่อมาท่านอุรวะห์ได้ขอคำอนุมัติจากท่านศาสดา  (ซ.ล.)ในการเดินทางกลับสู่ประชาคมของตนเพื่อทำการเผยแผ่ศาสนา  ท่านได้อนุมัติตามคำขอนั้นทั้ง  ๆ  ที่ท่านเกรงว่าอาจจะเกิดภัยแก่ท่านอุรวะห์ 

                อย่างไรก็ตามเมื่อท่านอุรวะห์เดินทางกลับสู่เผ่าซะกีฟท่านก็ได้ทำหน้าที่เรียกร้องชนเผ่าซะกีฟให้เข้ารับอิสลาม  แต่แล้วพวกนั้นก็ตอบรับคำเรียกร้องของท่านด้วยการยิงธนูใส่ท่านจนถึงแก่ชีวิต  การพลีชีพของท่านอุรวะห์ได้ก่อให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจแก่ผู้คนในเผ่าซะกีฟตลอดจนได้  สำนึกว่านั่นเป็นการกระทำของคนเขลาเพราะพวกตนไม่อาจสู้รบปรบมือกับกองทัพอันเกรียงไกรของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้เลย 

                ดังนั้นชนเผ่าซะกีฟจึงได้ตัดสินใจส่งคณะทูตของพวกตนเข้าพบท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และได้ประกาศยอมรับอิสลามราวเดือนร่อมาฎอน  ตรงกับปีฮ.ศ.ที่  9  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ยอมรับการประกาศเข้ารับอิสลามดังกล่าวพร้อมทั้งยังได้ส่งท่านอบูซุฟยาน  ช็อคร์  อิบนุ  ฮัรบ์ซึ่งได้รับอิสลามแล้วตลอดจนท่านอัลมุฆีเราะห์  อิบนุ  ชุอฺบะห์ให้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับคณะทูตเพื่อทำการเผยแผ่ศาสนาและทำลายรูปเคารพประจำเผ่าซะกีฟ

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  12  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                เฮราคลีอุส  (ฮิรอกล์)  จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ได้กะเกณฑ์พลเมืองฮิมซ์  ในมณฑลซีเรียตลอดจนบรรดาขุนนางของโรมันที่ประจำอยู่ในเมืองแห่งนี้  รวมถึงพลเมืองอาหรับที่ถือในศาสนาคริสต์เพื่อเตรียมทำศึกกับกองทัพมุสลิม  จักรพรรดิเฮราคลีอุสได้ปลุกระดมพลเมืองในมณฑลซีเรียเพื่อการณ์ดังกล่าวหลังจากที่ท่านค่อลีฟะห์อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (รฎ.)  ได้มีบัญชา ให้แต่งทัพเข้าพิชิตเมืองฮิมซ์และมณฑลซีเรียมีจำนวนถึง  4  ทัพด้วยกันแต่ละทัพมีผู้บัญชาการรบดังนี้คือท่านยะซีด  อิบนุ  อบีซุฟยาน ,  ท่านอบู  อุบัยดะห์  อามิร  อิบนุ  อัลญัรรอฮฺ,  ท่านชุเราะห์บีล  อิบนุ  ฮัสนะห์และท่านอัมร์  อิบนุ  อัลอ๊าศ  รวมสี่ท่านด้วยกัน

                ครั้นต่อมาจักรพรรดิเฮราคลีอุสได้เคลื่อนทัพสู่เมืองเอ็นตอเกีย  และตั้งมั่นอยู่ที่นั่นโดยใช้เมืองเอ็นตอเกียนี้เป็นศูนย์บัญชาการรบฝ่ายโรมัน  ตลอดจนได้ส่งม้าเร็วแจ้งข่าวขอกำลังหนุนจากกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลในการทำศึกกับฝ่ายมุสลิม

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  12  แห่งฮิจเราะห์ศักราช  เช่นกัน
ท่านยะซีด  อิบนุ  อบีซุฟยาน  หนึ่งในบรรดาแม่ทัพของกองทัพทั้งสี่ที่เคลื่อนกำลังพลเข้าพิชิตมณฑลซีเรียได้มีสาส์นถึงท่านค่อลีฟะห์  อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (รฎ.)  ในสาส์นมีใจความว่า

                “ด้วยพระนามแห่งพระองค์อัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา กรุณาปราณียิ่ง อนึ่ง  จักรพรรดิแห่งโรมัน  นามเฮราคลีอุส  นั้นเมื่อได้ทราบข่าวการเคลื่อนกำลังพลของฝ่ายเราสู่ที่มั่นของตน  องค์พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทรงดลบันดาลให้บังเกิดความครั่นคร้ามขึ้นในหัวใจของเขา  และเขาก็อุตสาหะเคลื่อนกำลังพลของตนลงมาตั้งมั่นที่หัวเมืองเอ็นตอเกียอีกทั้งได้กระทำการแต่งตั้งเหล่าแม่ทัพนายกองของตนให้รักษาการณ์ทั่วมณฑลซีเรีย  (แคว้นชาม)  และยังได้มีคำบัญชาให้เหล่าแม่ทัพนายกองพร้อมทำศึกกับฝ่ายเราซึ่งมาบัดนี้พวกนั้นได้เตรียมพร้อมเต็มอัตราศึก 

                ฝ่ายผู้รักสันติและการประนีประนอมจากพลเมืองซีเรียก็ได้แจ้งให้พวกเราทราบว่า  จักรพรรดิเฮราคลีอุส  ได้เร่งระดมกะเกณฑ์ผู้คนอันเป็นพลเมืองของตนเป็นการใหญ่เพื่อเตรียมการทำศึก  และยังได้ทราบอีกว่าพวกนั้นได้เริ่มเคลื่อนทัพมุ่งสู่ที่มั่นฝ่ายเราโดยลากสิ่งกีดขวางอันเป็นขวากหนามและต้นไม้มาด้วย 

                ฉะนั้น  ขอท่านผู้นำได้โปรดมีคำบัญชาการแก่พวกเราและได้เร่งวินิจฉัยถึงสถานการณ์ความเป็นไปดังกล่าว  พวกเราจักได้ปฏิบัติตามคำบัญชานั้น  หากพระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์  และเราขอวิงวอนต่อพระองค์ให้ได้รับซึ่งชัยชนะ  ความขันติ  การพิชิตตลอดจนความปลอดภัยแก่เหล่าอิสลามิกบริษัทและขอความศานติอีกทั้งพระกรุณาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าจงมีแด่ท่าน”

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  12  แห่งฮิจเราะห์ศักราช  เช่นกัน
ท่านอบูอุบัยดะห์  อิบนุ  อัลญัรรอฮฺ  (รฎ.)  หนึ่งในบรรดาแม่ทัพแห่งกองกำลังพิชิตมณฑลซีเรีย  (แคว้นชาม)  ได้มีสาส์นถึงท่านค่อลีฟะห์อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (รฎ.)  มีใจความว่า “ด้วยพระนามแห่งพระองค์อัลลอฮฺ พระผู้ทรงเมตตาและทรงพระกรุณายิ่ง อนึ่ง  มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่พระผู้ทรงประทานเกียรติภูมิแก่เราด้วยอิสลามและความศรัทธา  และพระองค์ได้ทรงประทานทางนำแก่เราต่อบรรดาข้อขัดแย้งที่เหล่าชนอื่นต่างมีข้อขัดแย้งในระหว่างกัน  (โดยที่เรามิได้ตกอยู่ในข้อขัดแย้งนั้น) 

                ด้วยพระอนุมัติของพระองค์และพระองค์จะทรงประทานทางนำแก่บุคคลที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์สู่วิถีอันเที่ยงตรง  การมีอยู่ว่าเหล่ากองสอดแนมจากชนเนบาเตียน  (อัลอันบาต)  ในมณฑลซีเรียได้แจ้งข่าวให้ทราบว่า ทัพหนุนชุดแรกของจักรพรรดิโรมันได้ลงมาถึงมณฑลซีเรียแล้ว  และพลเมืองซีเรียก็ได้ทำการส่งคณะทูตของตนเพื่อแสดงท่าทีสนับสนุนต่อจักรพรรดิโรมันซึ่งได้ปลุกระดมพลเมืองซีเรียว่า  จำนวนพลเมืองของหัวเมืองซีเรียทั้งหมดรวมกันนั้นย่อมมีกำลังผู้คนมากกว่ากองทัพของชาวอาหรับที่ยกมาประชิดอยู่หลายขุม  ฉนั้นจงลุกขึ้นต่อสู้กองทัพอาหรับผู้รุกรานเถิด 

                การณ์ดังกล่าวคือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับทราบมาจากพลเมืองซีเรียเอง  และขวัญกำลังใจของเหล่าทหารมุสลิมนั้นเริ่มถดถอยต่อการทำศึก  ข้าพเจ้ายังได้ทราบมาอีกว่า  พวกโรมันได้เตรียมพร้อมในการทำศึกกับฝ่ายเราอย่างพรั่งพร้อม  ดังนั้นขอวิงวอนต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดประทานชัยชนะแก่เหล่าศรัทธาชน  และขอพระองค์ได้ทรงทำให้เหล่าผู้ตั้งภาคีได้หลากจำ  แท้จริงพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงสิ่งที่พวกเหล่านั้นได้ประพฤติเอาไว้  …ศานติจงมีแด่ท่าน”

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  13  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ตรงกับรัชสมัยแห่งท่านค่อลีฟะห์อุมัร  อิบนุ  อัลคอตตอบ  (รฎ.)  กองทหารมุสลิมภายใต้การบัญชาการรบของท่านอัลมุซันนา  อิบนุ  ฮาริษะห์  (รฎ.)  ได้รับชัยชนะเหนือกองทัพเปอร์เซียในสมรภูมิอัลบุวัยบ์  ณ  แผ่นดินอิรัก  สมรภูมิครั้งนี้ได้ทำให้แสนยานุภาพทางการทหารของฝ่ายมุสลิมหวนกลับมาเป็นที่ครั่นคร้ามอีกครา  หลังจากที่ฝ่ายมุสลิมเคยพลาดท่าปราชัยในสมรภูมิสะพานแก่กองทัพเปอร์เซียเมื่อวันที่  23  เดือนชะอ์บาน  ปีฮ.ศ.ที่  13

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  36  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านมุฮัมมัด  อิบนุ  อบีฮุซัยฟะห์  ผู้ปกครองอียิปต์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากท่านค่อลีฟะห์อะลี  อิบนุ  อบีตอลิบ  (รฎ.)  ได้ระดมพลเพื่อทำศึกกับกองทัพของมุอาวียะห์  อิบนุ  ฮ่าดีจ  ซึ่งเป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งของฝ่ายท่านมุอาวียะห์  อิบนุ  อบีซุฟยานผู้ปกครองแคว้นชาม  (ซีเรีย)  ซึ่งมีกรณีพิพาทกับท่านค่อลีฟะห์อะลี  (รฎ.) 

                เป้าหมายในการทำศึกของอิบนุ  ฮะดีจ ครั้งนี้คือการเข้าตีอียิปต์เพื่อให้จำนนต่ออำนาจของท่านมุอาวียะห์และผลทางการทหารในฐานที่อียิปต์เป็นชัยภูมิทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ  กองทัพของทั้งสองฝ่ายได้ประทะกันอย่างดุเดือด  ณ  เมืองคอรบาตาในเขตอัลเฮาฟ์ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์  หลังเกิดการรบพุ่งกันใหญ่ฝ่ายกองทัพของอิบนุ  ฮุซัยฟะห์ก็ได้เกิดการโกลาหลและแตกสามัคคีจนทำให้ท่านอิบนุ  ฮุซัยฟะห์ผู้เป็นแม่ทัพพลาดท่าเสียทีจนถึงแก่ชีวิต

                วันที่  15  เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  37  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านมุฮัมมัด  อิบนุ  อบีบักร์ได้เดินทางถึงอียิปต์ในฐานะผู้ปกครองอียิปต์โดยได้รับการแต่งตั้งจากท่านค่อลีฟะห์อะลี อิบนุ อบีตอลิบ (รฎ.)  ภายหลังการเสียชีวิตของท่านอัลอัชตัร อิบนุ  มาลิก  ผู้ปกครองอียิปต์คนก่อน

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  37  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
มีการชุมนุมร่วมกันเพื่อหาข้อยุติกรณีการพิพาทระหว่างฝ่ายของท่านอะลี  อิบนุ  อบีตอลิบ  (รฎ.)  ค่อลีฟะห์ท่านที่สี่และฝ่ายท่านมุอาวียะห์  อิบนุ  อบีซุฟยาน  (รฎ.)  ผู้ปกครองแคว้นชาม  (ซีเรีย) การร่วมชุมนุมดังกล่าวมีขึ้นหลังจากการใช้กุศโลบายของทหารฝ่ายท่านมุอาวียะห์ด้วยการพร้อมใจกันชูคัมภีร์อัลกุรอ่านขึ้นเหนือศาสตราวุธท่ามกลางสมรภูมิซิฟฟีน 

                ซึ่งการใช้กุศโลบายดังกล่าวก็เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของฝ่ายตรงข้ามขณะที่สถานการณ์ในการรบตกเป็นของฝ่ายท่านอะลี  (รฎ.)  ด้วยการเป็นต่อ  การชูคัมภีร์อัลกุรอ่านขึ้นเหนือศาสตราวุธจึงตีความได้เป็นสองนัย  อาจจะหมายถึงการพยายามสื่อให้ใช้อัลกุรอ่านเป็นข้อตัดสินและหาข้อยุติการพิพาทจนเกิดการรบพุ่งกันระหว่างสองฝ่าย  หรือไม่ก็เป็นเพียงกุศโลบายในการดึงเวลาหรือสร้างผลทางจิตวิทยาต่อทหารในกองทัพของท่านอะลี  (รฎ.)  ซึ่งนัยยะนี้นั้นเมื่อมองดูตามสถานการณ์ในการรบแล้วก็มีผลมิใช่น้อยในการสร้างความระส่ำระสายของเหล่าทหารที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านอะลี  (รฎ.)  จนแตกออกเป็นสองฝักสองฝ่าย 

                ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้ยุติการรบและใช้อัลกุรอ่านเป็นข้อตัดสิน  พวกนี้ตอนหลังรู้จักกันในนามว่า  อัลค่อวาริจ  อีกฝ่ายหนึ่งยังพร้อมที่ยืนหยัดในการรบจนกว่าจะได้ชัยชนะที่เด็ดขาด  ซึ่งฝ่ายนี้เข้าใจสถานการณ์ความเป็นไปในสมรภูมิเหมือนอย่างที่ท่านอะลี  (รฎ.)  มองเห็นอย่างรู้เท่าทันในกุศโลบายของฝ่ายตรงข้าม  อย่างไรก็ตาม  การรบพุ่งระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ได้ยุติลงชั่วคราวเพื่อร่วมกันหารือตลอดจนหาทางออกให้กับปัญหาบนบรรทัดฐานของอัลกุรอ่านอันเป็นธรรมนูญสูงสุดที่ต่างฝ่ายต่างให้การยอมรับอย่างไร้ข้อกังขา

                ขั้นตอนของการร่วมหารือในการหาข้อยุติกรณีพิพาทเริ่มขึ้นด้วยการพักรบและแต่ละฝ่ายส่งตัวแทนในการเจรจา  ฝ่ายท่านค่อลีฟะห์อะลี  (รฎ.)  ได้เลือกท่านอบูมูซา  อัลอัชอารีย์เป็นตัวแทนในการเจรจา  ส่วนฝ่ายของท่านมุอาวียะห์ได้เลือกท่านอัมร์  อิบนุ  อัลอ๊าศ  เป็นตัวแทนฝ่ายท่าน  ตัวแทนทั้งสองได้ปรึกษาหารือกันจนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าให้ปลดผู้นำของทั้งสองฝ่ายโดยท่านอบูมูซา  อัลอัชอารีย์เป็นบุคคลแรกที่ทำการประกาศมติดังกล่าว 

                ครั้นเมื่อท่านอัมร์ได้ทำการประกาศท่านก็ยืนยันเฉพาะการปลดท่านอะลี  (รฎ.)  แต่กลับมิได้ยืนยันการปลดท่านมุอาวียะห์  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเหตุที่ว่าท่านมุอาวียะห์นั้นท่านมิได้กล่าวอ้างตำแหน่งค่อลีฟะห์ตั้งแต่ต้นจึงไม่มีความจำเป็นในการปลดท่านออกจากตำแหน่งที่ท่านมิได้เป็น  ส่วนการเป็นผู้นำและมีอำนาจปกครองมณฑลซีเรียนั้นท่านมุอาวียะห์ดำรงตำแหน่งนี้นับแต่การแต่งตั้งของท่านค่อลีฟะห์อุมัร  (รฎ.)  เรื่อยมาจนถึงสมัยของท่านค่อลีฟะห์อุสมาน  (รฎ.)  ครั้นเมื่อท่านอะลี  (รฎ.)  ได้รับการให้สัตยาบันขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ท่านอะลี  (รฎ.)  ก็มิได้รับรองต่อการเป็นผู้ปกครองมณฑลซีเรียอีกต่อไป  ดังนั้นจึงเท่ากับว่าท่านมุอาวียะห์ในขณะนั้นมิได้มีตำแหน่งอันใดเลย 

                แต่กระนั้นอำนาจและอิทธิพลของท่านต่อแนวร่วมของพลเมืองซีเรียยังคงมีอยู่นอกเหนือจากการที่ท่านมุอาวียะห์ได้อ้างสิทธิในการเรียกร้องให้ดำเนินคดีอาญากับบรรดาผู้สังหารค่อลีฟะห์อุสมาน  (รฎ.)  ในฐานะความเป็นญาติที่ใกล้ชิดกับท่านค่อลีฟะห์อุสมาน  (รฎ.)  อนึ่งเรื่องราวดังที่มีรายงานมาในตำราทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการตัดสินนี้ยังมีข้อกังขาถึงความถูกต้องและความโปร่งใสในการรายงานหลายประเด็นด้วยกันเป็นต้นว่า  คุณสมบัติของผู้รายงานที่เหล่าเจ้าของตำรานำมาอ้างอิง,เนื้อเรื่องที่มีการหารือกันในการตัดสินความจริง 

                ความจริงแล้วเป็นข้อประเด็นใดกันแน่  และบุคลิกภาพจริง ๆ  ของตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายปรากฏตามรายงานมีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด  เรื่องราวเหล่านี้จำต้องทบทวนและวิเคราะห์กันเสียใหม่อย่างมีระบบ  เพราะถ้ายังยึดถือกันตามข้อมูลเดิมอย่างเป็นที่รู้จักกันนั้นจะมีผลในทางลบมากกว่าผลบวก  และหนังสือเล่มนี้คงต้องละประเด็นเหล่านี้เอาไว้ก่อน  เนื่องจากจะทำให้หนังสือเล่มนี้เบี่ยงเบนออกจากวัตถุประสงค์เดิมนั่นคือการรวบรวมเหตุการณ์สำคัญ  ๆ  ในประวัติศาสตร์เท่านั้น

                วันที่  17  เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  40  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านอิหม่ามอะลี  อิบนุ  อบีตอลิบ  (รฎ.)  ค่อลีฟะห์ท่านที่สี่ได้เสียชีวิตภายหลังการลอบสังหารของอับดุรเราะห์มาน  อิบนุ  มุลญัม  ซึ่งเป็นหนึ่งจากมือสังหารของพวกค่อวาริจญ์  (พวกกบถต่อท่านค่อลีฟะห์อะลี  (รฎ.)  และกล่าวหาว่าท่านอะลี  (รฎ.)  ผิดพลาดในการยอมรับให้มีการตัดสิน)  อับดุรเราะห์มานผู้นี้ได้ลอบสังหารท่านค่อลีฟะห์อะลี  (รฎ.)  ด้วยอาบยาพิษ 

                เหตุการณ์ก่อนลงมือสังหารนี้มีอยู่ว่า  พวกค่อวาริจญ์ได้ตกลงกันให้บุคคลสามคนแยกย้ายกันลงมือสังหารท่านค่อลีฟะห์อะลี  (รฎ.)  ท่านมุอาวียะห์  และท่านอัมร์  อิบนุ  อัลอ๊าศโดยลงมือพร้อมกันในวันเดียว  ปรากฏว่าอับดุรเราะห์มาน  อิบนุ  มัลญัมได้ลอบสังหารท่านอะลี  (รฎ.)  เป็นผลสำเร็จในขณะที่อัลบัรก์และอัมร์  อัตตัยมีย์กระทำการไม่สำเร็จ  ท่านค่อลีฟะห์อะลี  อิบนุ อบีตอลิบ  (รฎ.)  ได้ถูกอิบนุ  มุลญัมลอบสังหารขณะที่ท่านจะออกไปละหมาดซุบฮิที่มัสยิดในนครกูฟะห์  มณฑลอิรัก 

                มีรายงานว่าในคืนวันศุกร์ที่  17  เดือนร่อมาฎอน  ปีฮ.ศ.ที่  40  ท่านอะลี  (รฎ.)  ได้ลุกขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนรุ่งอรุณ  และได้กล่าวแก่ท่านฮะซัน  (รฎ.)  ผู้เป็นบุตรชายว่า” ในคืนนี้ฉันได้ฝันเห็นท่านศาสนทูต (ซ.ล.)”  หลังจากที่ท่านอะลี (รฎ.)  ได้เสียชีวิตท่านฮะซัน, ท่านฮุซัยน์, ท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  ญะอฺฟัรและท่านมุฮัมมัด  อิบนุ  อัลฮะนะฟียะห์  (รฎ.)  ได้ร่วมกันอาบน้ำศพและทำการห่อผ้าศพ  3  ผืนและท่านฮะซัน  (รฎ.)  ในฐานะบุตรชายคนหัวปีของท่านอะลี  (รฎ.)  ได้นำละหมาดญ่านาซะฮฺและศพของท่านได้ถูกฝังอยู่  ณ  ที่ทำการบริหารราชการแห่งนครกูฟะห์ในเวลากลางคืน  ขอเอกองค์พระผู้เป็นเจ้า  (ซ.บ.)  ได้ทรงประทานความโปรดปรานและตอบแทนความดีงามที่ท่านค่อลีฟะห์อะลี  (รฎ.)  ที่ได้มีคุณูปการแก่อิสลามและปวงชนมุสลิมด้วยเทอญ

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  145  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านมุฮัมมัด  อิบนุ  อับดิลลาฮฺ  อิบนิ  อัลฮะซัน  อิบนิ  อัลฮะซัน  อิบนิ  อะลี  อิบนิ อบีตอลิบ  (รฎ.)  ซึ่งมีฉายานามว่า  “อันนัฟซุสซะกียะห์”  (ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์)  ได้ถูกสังหาร  ท่านมุฮัมมัด  อันนัฟซุสซะกียะห์ได้นำกำลังพลที่ร่วมสนับสนุนท่านและให้สัตยาบันในการดำรงตำแหน่งผู้นำ  (อิหม่าม)  จำนวน  100,000  นาย  เพื่อทำศึกกับกองทัพของค่อลีฟะห์อบู  ญะอ์ฟัร  อัลมันซู๊ร  แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ 

                ทัพของท่านมุฮัมมัดได้ตั้งมั่นอยู่  ณ  นครม่าดีนะห์  ฝ่ายกองทัพของค่อลีฟะห์อัลมันซู๊ร  มีท่านอีซา  อิบนุ  มูซาซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงและมีฐานะผู้สืบทอดอำนาจเป็นแม่ทัพ  ครั้นเมื่อกองทัพของทั้งสองฝ่ายเริ่มประทะกัน  กำลังพลในทัพของท่านมุฮัมมัดก็เริ่มแตกทัพและถอนกำลังออกจากสมรภูมิเกือบทั้งหมด  ฝ่ายกำลังทหารที่ยังคงเหลืออยู่เพียงน้อยนิดก็ทำการสู้รบต่อไปอย่างสิ้นหวังในที่สุดท่านมุฮัมมัดผู้เป็นแม่ทัพก็พลีชีพกลางสมรภูมิ  การศึกในครั้งนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจของเหล่าผู้ให้การสนับสนุนต่อลูกหลานของท่านอะลี  (รฎ.) ในการต่อสู้เพื่ออำนาจที่ชอบธรรมได้เป็นอย่างดีว่าพวกเขามีความจริงใจและกล้าหาญมากน้อยเพียงใด

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  181  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านค่อลีฟะห์ฮารูน  อัรร่อชีด  แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์  ได้มีคำสั่งปลดฮัรซามะห์  อิบนุ  อะอฺยูน  จากตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ที่มีอำนาจบัญชาการรบในการยกทัพเพื่อปราบปรามพวกกบถที่แข็งเมืองในดินแดนซีกตะวันตกของอาณาจักรอิสลาม  (หัวเมืองแอลจีเรีย,  ตูนิเซียและมอรอคโคในแอฟริกาเหนือ)  จากการล้มเหลวในภารกิจทางการทหารดังกล่าวค่อลีฟะห์ฮารูนจึงได้มีคำสั่งปลด  แม่ทัพฮัรซามะห์และทรงแต่งตั้งให้มุฮัมมัด  อิบนุ  มุกอตติ้ล  อิบนิ  ฮะกีม  อัลอักกีย์ดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่แทน

                วันที่  2  เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  201  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านค่อลีฟะห์  อัลมะอฺมูน  อิบนุ  ฮารูน  อัรร่อชีด  แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ได้ทรงประกาศสถาปนาแต่งตั้งให้ท่านอะลี  อัรริฎอ  อิบนุ  มูซา  อัลกาซิม  ขึ้นเป็นรัชทายาทสืบอำนาจในกาลข้างหน้า  ท่านอะลี  อัรริฎอ  ผู้นี้นั้นสำหรับบรรดาผู้นิยมในนิกายชีอะห์อิหม่ามสิบสองหรือชีอะห์อิมามียะห์ถือว่าท่านเป็นอิหม่ามลำดับที่  8  จากบรรดาอิหม่ามสิบสองท่าน  นับจากการสถาปนาดังกล่าวไม่นานนักท่านอะลี  อัรริฎอก็ได้เสียชีวิต

                (ค่อลีฟะห์อับดุลลอฮฺ  อัลมะอฺมูน  อิบนุ  ฮารูน  อัรร่อชีด  อิบนิ  มุฮัมมัด  อัลมะฮฺดีย์  ถือกำเนิดในปีฮ.ศ.170  ซึ่งเป็นวันเดียวกับการขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ของพระบิดา  และอัลมะอฺมูนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่สองรองจากอัลอะมีน  ขณะมีอายุได้ 13  ปี  ต่อมาเมื่ออัลอะมีนได้เสียชีวิตในวันที่  25  เดือนมุฮัรรอม  ปีฮ.ศ.ที่  198  (ตรงกับวันที่  5  กันยายน  คศ.813)  อัลมะอ์มูนก็ได้รับการสัตยาบันให้ขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์  ในรัชกาลของพระองค์วิทยาการแขนงต่าง ๆ  มีความเจริญขีดสุด 

                บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตโดยเฉพาะนักปรัชญาและนักแปลตำรับตำราทางวิชาการของชาวกรีก,  โรมัน,  ซีเรีย  และเปอร์เซียได้รับการอุปถัมภ์เป็นอันมาก ในขณะที่บรรดานักวิชาการของอะห์ลุซซุนนะห์เริ่มถูกคุกคามทางความคิดและบางท่านก็ถึงกับต้องราชทัณฑ์อันมีเหตุมาจากแนวความเชื่อต่อสถานภาพของอัลกุรอ่านโดยที่ค่อลีฟะห์อัลมะอฺมูนได้ให้การสนับสนุนต่อแนวความเชื่อของกลุ่มมัวะอ์ตะซิละห์ซึ่ง               มีความคิดเชิงปรปักษ์ต่อนักวิชาการอะห์ลุซซุนนะห์วัลญ่ามาอะห์  ค่อลีฟะห์อัลมะอ์มูนได้สิ้นพระชนม์ขณะทรงนำทัพปิดล้อม  เมืองต็อรซู๊ซ  เมื่อวันที่  19  เดือนร่อญับ  ปีฮ.ศ.ที่  218  (ตรงกับวันที่  10  สิงหาคม  ปีฮ.ศ.832)

                ค่อลีฟะห์อัลมะอฺมูนทรงอยู่ในอำนาจ  20  ปี  5  เดือนกับ  3  วันรัชกาลของพระองค์   ตรงกับช่วงครองอำนาจของอัลหะกัม  อิบนุ  ฮิชามเจ้าครองนครรัฐอุมัยยะห์ลำดับที่สามในเอ็นดาลูเซีย  (สเปน)  (ฮ.ศ.180/ฮ.ศ.206)  ตลอดจนช่วงครองอำนาจของอับดุรเราะห์มานที่  2 (ฮ.ศ.206/ฮ.ศ.238)  ผู้เป็นโอรสของอัลหะกัม  รัชกาลของอัลมะอ์มูนยังตรงกับรัชสมัยของอิดรีส  อิบนุ  อิดรีส  อิบนิ  อับดิลลาฮฺ  (ฮ.ศ.188/ฮ.ศ.213)  ในอาณาจักรอัลอะดาริซะห์แห่งแอฟริกาเหนือ  ส่วนในยุโรปนั้นตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์ชาร์ลมาญแห่งอาณาจักรของพวกแฟรงค์ในฝรั่งเศส)

                ท่านอิหม่ามอะลี  อัรริฎอ  อิบนุ  มูซา  อัลกาซิม  อิบนิ  ญะอฺฟัร  อัซซอดิก (คศ.765/818)  อิหม่าม  (ผู้นำ)  ลำดับที่  8  ตามความเชื่อของฝ่ายชีอะห์นิกายอิหม่ามสิบสอง  (ญะอ์ฟะรียะห์)  ค่อลีฟะห์อัลมะอฺมูน  ได้สถาปนาท่านอะลี  อัรริฎอขั้นเป็นรัชทายาทสืบต่อจากพระองค์และเฉลิมนามแก่ท่านอะลีว่า “อัรริฎอ  มิน  อาล  มุฮัมมัด”  (ผู้ได้รับความพึงพอใจจากวงศ์วานของท่านศาสดามุฮัมมัด  ซ.ล.)  ทั้งนี้ท่านค่อลีฟะห์อัลมะอ์มูนได้ทรงดำเนินการเพื่อปูทางสำหรับการสถาปนาอิหม่ามอะลี  อัรริฎอตามขั้นตอนตามนี้

                1. ทำการถอดอัลมุอ์ตะมิน  หรือัลมุอ์ตะมินบิลลาฮฺ  ผู้เป็นพระอนุชาของพระองค์ออกจากตำแหน่งรัชทายาท
                2. ทรงอภิเษกพระราชธิดานามว่า  อุมมุฮะบีบะห์  แก่ท่านอิหม่ามอะลี  อัรริฎอ
                3. ทำการเปลี่ยนแปลงสัญลักษณ์ของบรรดาผู้นิยมในราชวงศ์อับบาซียะห์คือธงสีดำให้เป็นสีเขียว  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบรรดาผู้นิยมในวงศ์วานของท่านค่อลีฟะห์อะลี  อิบนุ  อบีตอลิบ  (รฎ.)
                4. ทรงมีบัญชาให้ตีเหรียญกษาปณ์โดยมีนามของอิหม่ามอะลี  อัรริฎอปรากฏอยู่

                อย่างไรก็ตามค่อลีฟะห์อัลมะอฺมูนก็ทรงพบกับอุปสรรคมากมาย  ทั้งจากบรรดาผู้ใกล้ชิดและมวลชนที่ได้ให้การสนับสนุนต่อราชวงศ์อับบาซียะห์  จนถึงขั้นมีการลุกฮือเรียกร้องให้ทำการปลดค่อลีฟะห์อัลมะอฺมูนออกจากตำแหน่ง  ต่อมาภายหลังท่านอิหม่ามอะลี  อัรริฎอก็ได้เสียชีวิตขณะที่ค่อลีฟะห์อัลมะอฺมูนทรงติดพันการศึก  ณ  เมืองตูซ  (หรือเมืองตอรซูซ)  ท่านค่อลีฟะห์ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางแผนสังหารท่านอิหม่ามอะลี  อัรริฎอ 

                ซึ่งข้อกล่าวหานี้ขาดความน่าเชื่อถือและปราศจากหลักฐาน  ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุที่ว่าท่านค่อลีฟะห์อัลมะอูมูนผู้นี้ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ให้มีความรักในวงศ์วานของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และท่านยังมีฐานะเป็นพ่อตาของท่านอิหม่ามอะลี  อัรริฎอ  ตลอดจนท่านอิหม่ามเองยังเป็นผู้ที่บอกให้ค่อลีฟะห์อัลมะอฺมูนทรงรับทราบถึงความวุ่นวายและการกบถแข็งเมืองของพลเมืองในมณฑลอิรัก  ซึ่งนิยมในวงศ์วานของท่านอะลี  อิบนุ  อบีตอลิบ  (รฎ.) 

                อาจเป็นไปได้ว่าการลอบวางยาพิษท่านอิหม่ามอะลี  อัรริฎอนั้นเกิดขึ้นจากน้ำมือของบุคคลในราชวงศ์อับบาซียะห์เพื่อกำจัดปัญหาความวุ่นวายที่เกิดจากการคัดค้านการสถาปนาดังกล่าวของบรรดาผู้นิยมในราชวงศ์อับบาซียะห์  ท่านค่อลีฟะห์อัลมะอฺมูนได้ทรงมีพระราชสาส์นจากเมืองตูซ  ถึงบรรดาข้าหลวงและเหล่าสมาชิกในราชวงศ์ตลอดจนพลเมืองในราชธานีแบกแดดให้ทราบกันทั่วถึงการสิ้นชีวิตของท่านอิหม่ามอะลี  อัรริฎอ  (รฎ.)

                วันที่  9  เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  222  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
อัลอัฟซีน  แม่ทัพใหญ่ของค่อลีฟะห์อัลมุอฺตะซิม  อิบนุ  ฮารูน  อัรร่อชีด  แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์สามารถนำทัพเข้าตีเมืองอัลบัซร์  อันเป็นฐานที่มั่นคงของบาบุก  อัลคุรร่อมีย์  ซึ่งมีป้อมปราการที่แข็งแกร่ง  ภายหลังการสู้รบติดพันที่ยืดเยื้อตลอดระยะเวลา  2  ปีเต็ม บาบุก  อัลคุรร่อมีย์เริ่มมีบทบาทอย่างเด่นชัดราวปี  ฮ.ศ.201  ในรัชสมัยของท่านค่อลีฟะห์ อัลมะอฺมูน  แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์  ส่วนหนึ่งจากอุดมการณ์ของบาบุกและเหล่าพลพรรคของตนคือ  การต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจจากการปกครองของชนชาติอาหรับมุสลิมสู่ชนชาติเปอร์เซียและชาวมะยูซีย์ 

                (พวกเมไจหรือโซโรอัสเตอร์ซึ่งบูชาไฟ)  ตลอดจนปฏิเสธต่อการยอมรับกฎหมายอิสลามและหลักบัญญัติสำคัญทางศาสนาทุกกรณี  และอนุญาติให้ดื่มสุราตลอดจนการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี  อาทิเช่น  การสมรสกับเครือญาติที่ห้ามสมรส  เป็นต้น

                (อัลอัฟซีน  เป็นแม่ทัพสำคัญของท่านค่อลีฟะห์อัลมุอฺตะซิม  บิลลาฮฺในการทำศึกกับอาณาจักรโรมันในแคว้นเอเซียน้อย  (เอเซียไมเนอร์)  หลายครั้งด้วยกัน  และเคยนำทัพชนะศึกในสมรภูมิอัมมูรียะห์  ราวปีคศ.838  และในชีวิตบั้นปลายของอัลอัฟซีนได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนนอกรีต  (ตกศาสนา)  และต้องราชทัณฑ์ถูกคุมขังจนเสียชีวิตในที่คุมขังราวปีคศ.841)

                (อัลคุรร่อมียะห์  เป็นลัทธิอุตริกรรมที่มีต้นกำเนิดอยู่ในแคว้นคุรอซาน  เริ่มมีกำลังกล้าแข็งมากขึ้นภายหลังการถูกลอบสังหารของอบูมุสลิม  อัลคุรอซานีย์  มีหัวหน้าคือ  บาบุก อัลคุรร่อมีย์  ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปีคศ.814/837)

                วันที่  6  เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  223  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ค่อลีฟะห์อัลมุอฺตะซิม  บิลลาฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ได้ทรงนำทัพเข้าปิดล้อม  เมืองอัมมูรียะห์  ซึ่งเป็นเมืองเอกที่มีความเจริญและสวยงามที่สุดในเขตเอเชียน้อยของจักรวรรดิไบแซนไทน์  กองทัพของอัลมุอฺตะซิมสามารถทำลายกำแพงเมืองและยาตราทัพเข้าสู่ตัวเมืองชั้นในพร้อมกับทำลายเมืองอัลมูรียะห์ลงอย่างราบคาบ  การศึกครั้งนี้มีเหตุมาจากการที่จักรพรรดิธิโอโฟลิส  แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์  ได้ฉวยโอกาสขณะที่อัลมุอ์ตะซิม  บิลลาฮฺกำลังมีศึกติดพันในการปราบปราม  บาบุก  อัลคุรร่อมีย์ในคุรอซาน  จักรพรรดิโรมันสบโอกาสจึงนำทัพโรมันจำนวน  100,000  นาย  เข้าโจมตีหัวเมืองซ่าบัรเฎาะห์โดยเผาทำลายเมืองตลอดจนกวาดต้อนพลเมืองมุสลิมเป็นเชลยศึก 

                ครั้นเมื่ออัลมุอฺตะซิมทรงทราบข่าวการรุกรานเมืองซ่าบัรเฎาะห์  พระองค์จึงได้ทรงสอบถามว่า  เมืองใดที่มีความรุ่งเรืองและสำคัญที่สุดของจักรวรรดิโรมัน  พระองค์ก็ได้รับคำตอบว่า  เมืองอัมมุรียะห์ในเขตเอเซียน้อย  อัลมุอฺตะซิมจึงตั้งมั่นพระทัยว่าจะทรงนำทัพ เข้าตีและทำลายเมืองแห่งนี้เพื่อตอบโต้ฝ่ายโรมันให้สาสม  และในที่สุดอัลมุอฺตะซิมก็ได้ทรงทำสำเร็จตามที่ตั้งพระทัยไว้

                (เมืองอัมมูรียะห์  หรือนครอัมโมเรีย  เป็นเมืองเอกที่สำคัญที่สุดรองจากนครคอนสแตนติโนเปิ้ลของจักรวรรดิไบแซนไทน์  ตั้งอยู่ในคาบสมุทรอนาโตเลีย  ชาวอาหรับได้ทำการพิชิตเมืองแห่งนี้ได้ในรัชสมัยค่อลีฟะห์อัลมุอฺตะซิม  บิลลาฮฺโดยการนำทัพของอัลอัฟซีน  หลังจากทำการปิดล้อมราว  13  วันหลังเมืองแตกพลเมืองอัมมูรียะห์ได้ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกมากถึง 3,000  นาย)

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  254  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                อะฮฺหมัด  อิบนุ  ตูลูนได้เดินทางถึงอียิปต์ในฐานะข้าหลวงผู้ปกครองอียิปต์โดยได้รับการแต่งตั้งจากค่อลีฟะห์อบูอับดิลลาฮฺ  มุฮัมมัด  อัลมุอฺตัซฺ  อิบนุ  ญะอฺฟัร  อัลมุตะวักกิล  บิลลาฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะห์

                (อะฮฺหมัด  อิบนุ  ตูลูนอดีตทาสชาวเติร์กที่ถูกส่งเข้าสู่ราชสำนักของค่อลีฟะห์อัลมะอฺมูน  ครั้นในรัชสมัยอัลมุอฺตะซิม  บิลลาฮฺ  พวกเติร์กเริ่มมีอิทธิพลในราชสำนักของอับบาซียะห์โดยเฉพาะในนครแบกแดดราชธานี  ต่อมาเมื่อถึงรัชกาลค่อลีฟะห์อัลวาซิก  บิลลาฮฺ  เสนาบดีบาบากชาวตุรกีก็ได้รับตำแหน่งผู้ปกครองหัวเมืองอียิปต์แต่ทว่าบาบากเลือกที่จะพำนักอยู่ในราชธานีแบกแดดจึงได้ส่งอะฮฺหมัด  อิบนุ  ตูลูนทาสผู้ใกล้ชิดของตนให้ไปปกครองอียิปต์แทนราวปีฮ.ศ.254 

                เมื่ออิบนุ  ตูลูนเดินทางถึงอียิปต์ก็เริ่มสร้างฐานอำนาจของตนจนสามารถรวบอำนาจการบริหาร  การคลัง  และการทหารในแผ่นดินอียิปต์อย่างเป็นอิสระจากอำนาจส่วนกลางของแบกแดด  อะฮฺหมัด  อิบนุ  ตูลูนได้พยายามสร้างความเป็นปึกแผ่น  ปราบปรามความไม่สงบจนอียิปต์และพลเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย 

                ครั้นล่วงสู่รัชสมัยค่อลีฟะห์อัลมุอฺตะมิด  บิลลาฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะห์  อะฮฺหมัด  อิบนุ  ตูลูนจึงได้ประกาศเจตนารมณ์อันชัดเจนของตนต่อการแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับอำนาจส่วนกลางของแบกแดดอีกต่อไปและได้สถาปนาอาณาจักรตูลูนียะห์ขึ้นในอียิปต์  (ฮ.ศ.254/292) 

                อะฮฺหมัด  อิบนุ  ตูลูน สามารถรวบรวมกองทัพที่มีกำลังพลมากถึง  100,000  นายเพื่อปกป้องอาณาจักรของตนและได้เลือกเอาชัยภูมินอกเขตเมืองฟุสต้อตเป็นราชธานีโดยขนานนามว่า  อัลก่อตออิอฺ  ซึ่งหมายถึงพื้นที่อาณาเขตที่ปักปันให้กองทหารและพลเมืองเผ่าต่าง  ๆ  พร้อมทั้งสร้างมัสยิดญามิอฺขึ้นตรงใจกลางนคร  อัลก่อตออิอฺ  ซึ่งยังคงตั้งตระหง่านอยู่จวบจนทุกวันนี้  ในปีฮ.ศ.264  อะฮฺหมัด  อิบนุ  ตูลูนได้ทำศึกขยายดินแดนผนวกรวมเอาแคว้นชาม  (ซีเรีย)  เข้าไว้ในอำนาจของตน)

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  273  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                อบู  อับดิลลาฮฺ  มุฮัมมัด  อิบนุ  ยะซีด  อิบนุ  มาญะฮฺ  ผู้ประพันธ์หนังสือหะดีษ”สุนันอิบนิมาญะฮฺ”ได้เสียชีวิต ขณะมีอายุได้ 64 ปี (อิบนุ  มาญะห์เป็นชาวเมืองอัลกอซฺวัยนีย์  ในอิหร่านถือกำเนิดในปีฮ.ศ.209  เมื่อเติบโตขึ้นท่านได้ออกเดินทางเสาะแสวงหาวิชาความรู้ในศาสตร์แขนงต่าง ๆ  โดยเฉพาะวิชาอัลหะดีษสู่เมืองรอยย์,บัสเราะห์, กูฟะห์,แบกแดด,ซีเรีย, อียิปต์, ฮิญาซฺ และหัวเมืองอื่น ๆ 

                ส่วนหนึ่งจากบรรดาคณาจารย์ของท่านอิบนุมาญะห์ในสาขาวิชาอัลหะดีษได้แก่ท่านอบูบักร  อิบนุ  อบีชัยบะห์  ,  ท่านอิหม่ามลัยซฺตลอดจนบรรดาสานุศิษย์ของท่านอิหม่ามมาลิก  อิบนุ  อะนัส  (ร.ฮ.)  ส่วนสานุศิษย์ที่ได้รายงานหะดีษจากท่านนั้นมีมากมายเป็นต้นว่า  ท่านซีบะวัยฮฺ  มุฮัมมัด  อิบนุ  อีซา  อัซซอฟฟาร  ,  อะฮฺหมัด  อิบนุ  อิบรอฮีมปู่ของท่านอัลฮาฟิซฺ  อิบนุ  กะซีร  และท่านสุลัยมาน  อิบนุ  ยะซีด  เป็นต้น  ท่านอิบนุ  มาญะห์ได้ประพันธ์หนังสืออันทรงคุณค่าเอาไว้เป็นอันมากทั้งในสาขาวิชาอัลหะดีษ,การอรรถาธิบายอัลกุรอ่านและประวัติศาสตร์  ฯลฯ)

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  584  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ท่านซุลตอน  ซ่อลาฮุดดีน  อัลอัยยูบีย์  ได้นำกองทัพเข้าทำการปิดล้อมเมืองซอฟัต  (ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของปาเลสไตน์)  ในมณฑลซีเรีย  (ชาม)  การปิดล้อมทางทหารดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนในที่สุดชาวเมืองซ่อฟัดก็ยอมจำนนด้วยการเปิดประตูเมืองและทำสนธิสัญญาประนีประนอมในวันที่  8  เดือนเซาว้าล  ปีฮ.ศ.ที่  584

                วันที่  3  เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  586  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                พวกครูเสดได้ทำการปิดล้อมเมืองอักก้า  อย่างหนักโดยพวกครูเสดได้พยายามในการเข้าตีเมืองแห่งนี้หลายระลอกแต่ก็คว้าน้ำเหลว  อนึ่งการปิดล้อมเมืองอักก้าของกองทัพครูเสดได้เริ่มต้นตั้งแต่ราวเดือนร่อญับ  ปีฮ.ศ.585  เมืองอักก้า  เป็นเมืองท่าทางชายฝั่งตะวันตกของปาเลสไตน์  ชาวกรีกเรียกขานเมืองนี้ในอดีตว่า “บาโตลิมาอุส” ท่านซูเราะห์บีล อิบนุ ฮัสนะห์ได้นำทัพเข้าพิชิตเมืองอักก้าในสมัยของท่านค่อลีฟะห์อบูบักร (รฎ.) 

                ต่อมาท่านมุอาวียะห์ได้ทำการบูรณะฟื้นฟูเมืองอักก้าขึ้นใหม่จนเป็นเมืองท่าที่สำคัญในมณฑลซีเรีย  และราวปีฮ.ศ.1104  อะฮฺหมัด  อิบนุ  ตูลูนได้สร้างป้อมปราการขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณท่าเรือของเมือง  ในช่วงสงครามครูเสด  บุฆดาวินที่  1  กษัตริย์ของพวกครูเสดที่สถาปนารัฐครูเสดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ได้พิชิตเมืองนี้ได้และทำการขยายผังเมืองเดิมจนกว้างขวางและทำนุบำรุงจนสวยงาม  ท่านซุลตอนซ่อลาฮุดดีนได้ตีเมืองนี้คืนได้จากพวกครูเสดในปีฮ.ศ.1187  หลังชัยชนะในสมรภูมิอัลฮิตตีน)

                วันที่  2  เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  587  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนซ่อลาฮุดดีน  อัลอัยยูบีย์ได้เคลื่อนกำลังพลออกจากเมืองอัสก่อลาน  หลังจากได้ทำการตรวจตรามิให้มีพลเมืองอาหรับมุสลิมและมิใช่มุสลิมหลงเหลืออยู่  ตลอดจนมีคำสั่งให้ทำลายอาคารบ้านเรือนและป้อมปราการของเมืองลงอย่างราบคาบ  เหตุที่กองทัพมุสลิมต้องกระทำเช่นนี้เนื่องจากเกรงว่า  พวกครูเสดจะเข้ายึดเมืองนี้และจะกวาดต้อนชาวเมืองที่เหลืออยู่ไปเป็นเชลย 

                ซึ่งถ้าหากเมืองอัสกอลานตกอยู่ในน้ำมือของพวกครูเสดในสภาพที่สมบูรณ์ก็จะเป็นฐานที่มั่นของพวกครูเสดในการเดินทัพเพื่อเข้าตี  นครเยรูซาเล็ม  (บัยตุ้ลมักดิส)  (เมืองอัสกอลาน  ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนใต้ของปาเลสไตน์)  ก่อนเริ่มลงมือทำลายเมืองอัสกอลานนั้น  ท่านซอลาฮุดดีนได้ประกาศด้วยถ้อยความอันเลื่องลือว่า  ”ขอสาบานต่อเอกองค์พระผู้เป็นเจ้า แน่นอนการที่บรรดาลูก ๆ ของข้าพเจ้าได้เสียชีวิตยังเป็นเรื่องเล็กสำหรับข้าพเจ้ายิ่งกว่าการทำลายหินเพียงหนึ่งก้อนของเมืองนี้เสียอีก”

                เดือนร่อมาฎอน  ปีที่  658  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพของชาวมุสลิมภายใต้การนำของอัลมาลิก  อัลมุซอฟฟัร  กุตุซผู้ปกครองอียิปต์ในราชวงศ์มัมลูกียะห์ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อกองทัพของพวกมองโกล  (ตาตาร์)  ในสมรภูมิอัยน์ญาลูต  พวกตาตาร์ได้รุกรานเข้าทำลายดินแดนของชาวมุสลิม  พลเมืองเป็นจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิต  อารยธรรมความเจริญที่ได้รับการสั่งสมมาแต่อดีตย่อยยับและถูกทำลายลง 

                ผู้คนตกอยู่ในสภาพที่หวาดกลัวและเสียขวัญ  พวกมองโกลถูกมองว่าเป็นกองทัพที่มิเคยปราชัยและไม่มีกองทัพใด  ๆ  อาจต้านทานได้  สมรภูมิอัยน์ญาลูตจึงถือได้ว่าเป็นสมรภูมิครั้งสำคัญที่สุดสมรภูมิหนึ่งของโลกเพราะเปรียบเสมือนการลบล้างความเชื่อที่ว่าไม่มีผู้ใดสามารถต่อกรกับกองทัพมองโกลได้  ในการศึกครั้งนี้แม่ทัพคนสำคัญนามว่า  บัยบรัส  อัลบันดะกอดารีย์ได้นำทัพมุสลิมต่อสู้อย่างห้าวหาญและไล่ตามบดขยี้พวกทหารมองโกลที่แตกพ่ายทั่วแคว้นชาม  (ซีเรีย) 

                หลังสมรภูมิอัยน์ญาลูตพวกมองโกลได้เริ่มล่าถอยและพบกับความปราชัยมากขึ้น (กุตุซฺ  ซุลตอนแห่งอียิปต์แห่งราชวงศ์มะมาลีก  (มัมลูกียะห์)  มีเชื้อสายอัลคุวาริซฺมีย์  ซึ่งหมายถึงเคยเป็นพลเมืองในอาณาจักรอัลคุวาริซฺมีย์ในเอเซียกลางหรือในตุรกีสถานของรัสเซียปัจจุบัน  อาณาจักรอัลคุวาริซฺมีย์ได้ถูกพวกมองโกลจากตะวันออกซึ่งนำโดยเจงกิสข่านรุกรานและทำลายล้างจนราบคาบในรัชสมัยซุลตอนอะลาอุดดีน  มุฮัมมัด  คุวาริซฺมีย์  ชาฮฺซุลตอนองค์สุดท้ายของอาณาจักร  ซุลตอนกุตุซฺเป็นอดีตมัมลูก  (ทาส)  เข้ารับราชการในสังกัดกองทหารราชองครักษ์ของซุลตอนซอและฮฺ  อันนัจมุดดีน 

                อัลอัยยูบีย์เรียกกองทหารนี้ว่า  พวกมัมลูกชาวนาวิกโยธิน  หรือกองทหารมัมลูกสังกัดทัพเรือกุตุซฺ  สามารถนำทัพมุสลิมซึ่งประกอบด้วยพลเมืองอียิปต์และกองทหารมัมลูกในการศึกครั้งใหญ่กับกองทัพมองโกล  ณ  อัยน์ญาลูต  ในภายหลังกุ  ตุซฺได้ถูกบัยบรัส  แม่ทัพของตนลอบสังหารและยึดอำนาจในราชวงศ์มัมลูกียะห์) (อัยน์  ญาลูต  เป็นสถานที่แห่งหนึ่งในปาเลสไตน์ใกล้กับเมืองบีซาน  อัยน์  ญาลูตเป็นยุทธภูมิระหว่างกองทัพของฝ่ายมุสลิมซึ่งนำโดยซุลตอนกุตุซฺและแม่ทัพบัยบรัส  และกองทัพมองโกลที่มีอับฆอเป็นแม่ทัพใหญ่)

                วันที่  21  เดือนร่อมาฎอน  ที่  726  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนอุสมานข่านที่  1  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์  (ออตโตมาน)  ปฐมราชวงศ์และผู้สถาปนาจักรวรรดิอุษมานียะห์  (ออตโตมาน  เติร์ก)  ได้สิ้นพระชนม์  และพระราชโอรสนามว่า  อุรุคข่าน  ได้ครองอำนาจสืบมา (ซุลตอนอุสมานข่านที่  1  (ออตมาน)  เป็นโอรสของอุรตุฆรุ้ล  อิบนุ  สุลัยมาน  ชาฮฺซึ่งเป็นผู้นำเตอร์กะเมน  ที่สวามิภักดิ์ต่อซุลตอน  อัลอะมีร  อะลาอุดดีนแห่งอาณาจักรซัลจูกเติร์กในมณฑลกูนียะห์ซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรซัลจูกเติร์ก  เผ่าของอุรตุฆรุ้ล  ได้อพยพจากที่ราบเอเซียตะวันตกสู่เขตเอเซียน้อยในคาบสมุทรอนาโตเลีย 

                จากความดีความชอบที่อุรตุฆรุ้ลได้นำกำลังผู้คนในเผ่าของตนเข้าช่วยเหลือกองทหารของซุลตอนอะลาอุดดีนขณะมีการรบติดพันกับกองทหารโรมัน  ซุลตอนได้มอบที่ดินบางส่วนให้อุรตุฆรุ้ล  นำเผ่าของตนตั้งถิ่นฐานโดยมีภารกิจในการสนับสนุนกองทัพของซุลตอนเมื่อมีการศึก  อุรตุฆรุ้ลได้เสียชีวิตในปีฮ.ศ.687  ซุลตอนจึงได้แต่งตั้งอุสมานบุตรชายคนโตให้เป็นผู้สืบทอดราวปีฮ.ศ.688 

                อุสมานสามารถนำทัพของตนในการรบพุ่งขยายอาณาเขตและพิชิตป้อมกุรอฮฺ  ฮิซอร  (ป้อมดำ)  ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองกูนียะห์ได้สำเร็จ  ซุลตอนจึงทรงพระราชทานตำแหน่ง  เบย์  แก่อุสมานพร้อมทั้งยกดินแดนทั้งหมดที่อุสมานสามารถนำทัพเข้าตีในการแผ่ขยายอาณาเขตนอกจากนี้ยังทรงให้จารึกนามของอุสมานในเหรียญกษาปณ์และขอพรในการแสดงคุตบะฮฺวันศุกร์อีกด้วย)

                (ซุลตอนอุรุคข่านที่  1  เป็นโอรสของซุลตอนอุสมานและพระนางมาลคอตูน  เมื่ออุรุคข่านได้สืบอำนาจต่อจากบิดาก็ได้ย้ายราชธานีไปยังเมืองบุรเซาะฮฺ  ซึ่งมีชัยภูมิที่ดี  ในรัชกาลอุรุคข่านจักรวรรดิออตโตมานมีอาณาเขตครอบคลุมเอเซียน้อยและดินแดนฝั่งยุโรปบางส่วน  ซุลตอนอุรุคข่านทรงสิ้นพระชนม์ในปีฮ.ศ.761  (คศ.1360)  ขณะมีอายุได้  81  ปีและอยู่ในอำนาจถึง  35  ปี  และซุลตอนมุรอดข่านที่  1  ราชโอรสได้สืบอำนาจต่อมา)

                วันที่  3  เดือนร่อมาฎอน  ที่  825  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนมุรอด  ข่านที่  2  แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์  (ออตโตมาน)  ได้ทรงนำกองทัพเข้าปิดล้อมนครคอนสแตนติโนเปิ้ลเพื่อพยายามพิชิตนครแห่งนี้ให้จงได้  กองทัพอุษมานียะห์ได้ทำการปิดล้อมอย่างหนักและพยายามเข้าตีหลายระลอกแต่ในที่สุดก็จำต้องถอยทัพและยกเลิกการปิดล้อมราชธานีของอาณาจักรไบแซนไทน์

                วันที่  9 เดือนร่อมาฎอน  ที่  918  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนอัลฆูรีย์  แห่งอียิปต์ในราชวงศ์มัมลูกียะห์ได้แต่งตั้งตูมานบาย  อัศวินม่ามาลีกแห่งดูดาร์  ให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมสรรพาวุธและยังแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้ประกาศแห่งสภาลูกขุนรวมถึงตำแหน่งสมุหราชมณเทียรและมีอำนาจควบคุมดูแลกรมกองต่าง  ๆ  อีกด้วย

                วันที่  14  เดือนร่อมาฎอน  ที่  922  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ตูมานบาย  ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งซุลตอนแห่งอียิปต์  ภายหลังความปราชัยของกองทหารม่ามาลีกที่นำทัพโดยซุลตอนกอนซุวะฮฺ  อัลฆูรีย์ในวันที่  25  เดือนร่อญับ  ปีฮ.ศ.922  ในการรบกับกองทัพอุษมานียะห์และซุลตอนอัลฆูรีย์ได้สิ้นชีวิตกลางสนามรบ  ตูมานบายได้พยายามรักษาอำนาจของพวกม่ามาลีกในอียิปต์เอาไว้ตลอดระยะเวลาสามเดือนเศษ 

                ในที่สุดกองทัพอุษมานียะห์ก็สามารถเข้ายึดครองอียิปต์ได้ในวันที่  29  เดือนซุลฮิจญะห์  ปีฮ.ศ.922  และซุลตอนซ่าลีม  ข่านที่  1  ของอุษมานียะห์ได้ทรงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตตูมานบายในวันที่  21  เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล  ปีฮ.ศ.923 (ตูมานบาย  หรือ  อัลม่าลิก  อัลอัชรอฟ  ตูมานบายที่  2  เป็นอดีตอัศวินม่ามาลีกสังกัดกองทัพบกประจำป้อมปราการและเป็นซุลตอนท่านสุดท้ายแห่งอาณาจักรม่ามาลีกในอียิปต์  ขึ้นครองอำนาจในปีฮ.ศ.922  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกม่ามาลีกมีอำนาจในอียิปต์, ซีเรีย, จรดเขตแดนอิรัก  ตรงกับรัชสมัยค่อลีฟะห์อัลมุตะวักกิ้ล  อะลัลลอฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ในกรุงไคโร 

                ตูมานบายได้มีคำสั่งให้ทำการซ่อมแซมความแข็งแรงของป้อมปราการรอบกรุงไคโร  อย่างไรก็ตามก็มิสามารถต้านทานปืนใหญ่ของซุลตอนซ่าลีม  ข่านที่  1  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ได้  ตูมานบายได้ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ  ณ  ประตูเมืองซุวัยละห์ของกรุงไคโรในปี ฮ.ศ. 923/คศ.1517)

                วันที่  6 เดือนร่อมาฎอน  ที่  923  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนซ่าลีม  ข่านที่  1  ได้ทรงมีคำสั่งให้ประหารชีวิต  มหาเสนาบดียูนุส  ปาชาซึ่งได้แสดงการตำหนิต่อ ซุลตอนในการนำทัพเข้าพิชิตอียิปต์  โดยให้เหตุผลว่าการพิชิตอียิปต์มิได้นำผลดีอันใดมาสู่ซุลตอนนอกจากการสูญเสียกำลังพลไปมากกว่าครึ่งที่ต้องบาดเจ็บล้มตาย  นอกจากนี้ยูนุส  ปาชายังได้ตำหนิซุลตอนซ่าลีมที่ได้ทรงแต่งตั้งคอยรุดดีน  อาฆอ  นายทหารกองทัพเจนเนสซารีย์ให้เป็นข้าหลวงปกครองอียิปต์  เหตุผลก็คือคอยรุดดีนผู้นี้เป็นอดีตอัศวินม่ามาลีกที่แปรพรรคและทรยศต่อตูมานบาย  จึงไม่เป็นการสมควรที่จะให้คนทรยศผู้นี้ทำการปกครองอียิปต์ 

                การวิจารณ์และตำหนิอย่างรุนแรงของยูนุส  ปาชาที่มีต่อซุลตอนซ่าลีมเกิดขึ้นขณะที่ซุลตอนทรงนำทัพออกจากอียิปต์กลับสู่ราชธานีอิสตันบูลและเดินทัพถึงเมืองอัลอะรีซ  ยังความกริ้วเป็นอันมากต่อมหาเสนาบดีผู้นี้  พระองค์จึงทรงมีคำสั่งให้ทำการประหารชีวิตในทันที  และพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งปิร  มุฮัมมัด  ปาชา  ผู้สำเร็จราชการในราชธานีอิสตันบูลให้ดำรงตำแหน่งมหาเสนาบดี  (อัซซอดร์  อัลอะอฺซฺอม)  (คำว่า  ปิรฺ  เป็นคำในภาษาเปอร์เซีย  มีความหมายว่า  ผู้สูงอายุ  ผู้ชี้แนะหรือครู    นิยมใช้ในปากีสถานและอินเดียถึงบุคคลที่เป็นครูหรือผู้นำลัทธิซูฟีย์)

                วันที่  25  เดือนร่อมาฎอน  ที่  927  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทหารฮังการี  ได้ถอยทัพออกจากกรุงเบลเกรด  เนื่องจากการโจมตีอย่างหนักหน่วงของกองทัพอุษมานียะห์ภายใต้การบัญชาการรบของซุลตอนสุลัยมาน  ข่านที่  1  อัลกอนูนีย์แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์  กษัตริย์ฮังการีได้ทำการสังหารทูตที่ซุลตอนสุลัยมานได้ส่งไปยังฮังการีเพื่อเรียกร้องให้ฮังการียอมจ่ายบรรณาการแก่จักรวรรดิแต่ถ้าแข็งขืนก็จะเกิดสงคราม  จากการละเมิดของกษัตริย์ฮังการีซุลตอนจึงนำทัพเข้าตีกรุงเบลเกรดและภายหลังที่ได้ยาตราทัพเข้าสู่ตัวเมืองซุลตอนได้ทำการละหมาดวันศุกร์ในโบสถ์แห่งหนึ่งของเมืองซึ่งในภายหลังถูกเปลี่ยนเป็นมัสยิดญามิอฺ 

                กรุงเบลเกรดนับเป็นป้อมปราการที่เข้มแข็งที่สุดของฮังการีซึ่งจากการที่เมืองนี้ตกอยู่ในน้ำมือของอุษมานียะห์ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกอุษมานียะห์สามารถพิชิตดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำดานูบได้จากแว่นแคว้นและอาณาจักรต่าง ๆ  ยังความครั่นคร้ามแก่ดินแดนในยุโรปไปทั่วถึงขั้นที่ว่าพระเจ้าไกเซอร์แห่งรุสเซียตลอดจนผู้ปกครองรัฐเวนิสและรอจซะฮฺจำต้องส่งสาส์นแสดงความยินดีต่อ  ซุลตอนสุลัยมานเพื่อเอาใจพระองค์

                (แม่น้ำดานูบ  หรือ  แม่น้ำตูนะฮฺ  เป็นแม่น้ำสายที่สองของยุโรปถัดจากแม่น้ำโวลการ์  มีความยาว  2850  กม.มีต้นน้ำในเยอรมันตะวันตกและไหลผ่านออสเตรีย,เชคโกสละวะเกีย,ฮังการี,ยูโกสลาเวีย,โรมาเนีย,บัลแกเรียและรัสเซีย  และไหลลงสู่ทะเลดำ) (รัฐรอจซะฮฺ  หรือ  รอญูซะฮฺ  เป็นเมืองท่าทางการค้าของเดลมาเซีย  ซึ่งปัจจุบันถูกแบ่งระหว่างยูโกสลาเวีย,ออสเตรียและอิตาลี  รัฐรอจซะฮฺตั้งอยู่บนชายฝั่งทางทิศตะวันออกของทะเลเอเดรียติก  ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ราว คศ.ที่ 7 

                ชาวเมืองรอจซะห์ได้จัดตั้งรัฐปกครองตนเองและยอมจ่ายบรรณาการแก่ออตโตมานและมีสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างกันเช่นเดียวกับรัฐเวนิสและเจนัว  รัฐรอจซะห์ปกครองตนเองเรื่อยมาจนกระทั่งถูกจักรพรรดินโปเลียนเข้ายึดครองในปีคศ.1806  และตกอยู่ใต้อาณัติของฝรั่งเศสเรื่อยมาจนกระทั่งรัฐบาลของนโปเลียนล่มในปีคศ.1815  ปัจจุบันรัฐรอจซะฮฺเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรียตามข้อตกลงเวียนนา)


                วันที่  20  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1094 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซูบิสกีย์  กษัตริย์แห่งโบโลเนียได้นำทัพเข้าโจมตีกองทัพของอุษมานียะห์ซึ่งกำลังปิดล้อมกรุงเวียนนาอย่างหนัก  การยกทัพของโบโลเนียเข้าตีตลบหลังกองทัพอุษมานียะห์เพราะได้รับการยุยงจากโป๊ปแห่งกรุงโรมทำให้กองทัพอุษมานียะห์จำต้องล่าถอยและยกเลิกการปิดล้อมกรุงเวียนนาราชธานีของออสเตรีย  แม่ทัพของอุษมานียะห์ขณะนั้นคือ  กุรอฮฺ  มุสตอฟา  ปาชา

                (โบโลเนีย  ชาวตุรกีเรียก”ลาฮิสตาน”เป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งมีประชากรถึง  15  ล้านคน  (ในขณะนั้น)  มีราชธานีคือ”วาร์โซเฟีย”  (วอร์ซอร์)  โบโลเนียหรือโปแลนด์ปกครองด้วยระบบกษัตริย์  อาณาจักรแห่งนี้ได้รับการยอมรับในอธิปไตยจนกระทั่งปีคศ.1773  รัสเซีย,ออสเตรีย,ปรัสเซียได้ตกลงแบ่งดินแดนของโบโลเนียระหว่างกัน  โดยดินแดนส่วนใหญ่ตกเป็นของออสเตรียและรัสเซีย  และในปีคศ.1795  ดินแดนส่วนที่เหลือเพียงน้อยนิดก็ได้ถูกแบ่งจนอาณาจักรแห่งนี้สูญหายไปในที่สุด)

                วันที่  9   เดือนร่อมาฎอน  ที่  1197 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาพักรบและห้ามรุกรานต่อกันระหว่างจักรวรรดิอุษมานียะห์  (ออตโตมาน)  และออสเตรียภายหลังความล้มเหลวในการพิชิตกรุงเวียนนา  (วิยานะฮฺ)  ของกองทัพอุษมานียะห์

                วันที่  25  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1213 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                นายพลเดอร์แซกซ์  แม่ทัพฝรั่งเศสได้เดินทางสู่เกาะฟิลลาฮฺทางตอนใต้ของอียิปต์เพื่อบัญชาการกองทหารฝรั่งเศสที่ไล่ติดตามบดขยี้กองทหารของพวกม่ามาลีกที่มีมุรอด  เบย์เป็นผู้นำ  ซึ่งการไล่ตามบดขยี้นี้เป็นภารกิจทางทหารในการเข้ายึดครองอียิปต์ของฝรั่งเศสโดยจอมทัพนโปเลียน  โปนาปาร์ต  อนึ่งกองทัพเรือของฝรั่งเศสได้ยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งเมืองอเล็กซานเดรียในวันที่  17  เดือนมุฮัรรอม  ปีฮ.ศ.1213

                วันที่  19  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1213 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                จอมทัพนโปเลียน  โปนาปาร์ตได้นำทัพฝรั่งเศสเข้ายึดครองเมืองฆอซซะฮฺ  (ฉนวนกาซา)  และเคลื่อนทัพออกจากเมืองนี้ในวันที่  23  เดือนเดียวกันเพื่อมุ่งสู่ซีเรีย (นโปเลียน  โปนาปาร์ต  (คศ.1769/1821)  ถือกำเนิดในเมืองอาแจกซิโอ  เป็นจอมทัพของฝรั่งเศสที่เลื่องลือที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก  ทำสงครามยึดครองอิตาลี  (1794)  อียิปต์  (1798/1799) 

                ในการพิชิตอียิปต์นโปเลียนได้นำคณะนักวิทยาศาสตร์และบูรพาคดีเป็นจำนวนมากสู่อียิปต์พร้อมทั้งนำแท่นพิมพ์จากกรุงวาติงกันเข้ามาใช้ในอียิปต์เป็นครั้งแรก  เรียกกันว่า  แท่นพิมพ์  โบลาก  ในปี คศ.1798  นำทัพเข้าตีดินแดนปาเลสไตน์แต่ประสบความล้มเหลวในการเข้าตีป้อมปราการแห่งเมืองอักก้า  และในปีคศ.1812  นำทัพเข้าตีรัสเซียแต่ในที่สุดต้องล่าถอยเพราะสูญเสียกำลังพลไปเป็นอันมาก  และในปีคศ.1804  นโปเลียนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดิ  และได้พ่ายแพ้ในสมรภูมิวอเตอร์ลูว์  คศ.1804  และถูกเนรเทศสู่เกาะเซนต์เฮเลนและสิ้นชีวิตลงที่นั่น)

                วันที่  7   เดือนร่อมาฎอน  ที่  1221  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                มุฮัมมัด  เบย์  อัลอัลฟีย์  อัศวินม่ามาลีกผู้หนึ่งได้เสียชีวิตมุฮัมมัด  เบย์ผู้นี้เป็นคู่แข่งกับมุฮัมมัด  อะลี  ปาชาในการปกครองอียิปต์และยังเป็นพันธมิตรกับอังกฤษในการสนับสนุนตนให้มีอำนาจในอียิปต์แต่ผู้เดียว

                วันที่  27  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1223 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทหารเจนนิสซารีย์  (เยนี  ตาชรีย์  ,อิงกิชารียะห์)  กองทหารประจำการแห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์อันเกรียงไกรได้ก่อการกบถครั้งใหญ่ต่อซุลตอนมะห์มูด  ข่านที่  2  ภายหลังความพยายามของซุลตอนที่จะทรงยุบเลิกเหล่าทัพเจนนิสซารีย์และปราบปรามให้หมดสิ้นเนื่องจากในช่วงระยะหลังกองทหารเจนนิสซารีย์ได้ก่อการกบถและขัดคำสั่งตลอดจนสร้างความวุ่นวายอยู่เนือง ๆ  ทั้งในยามทำศึกและยามว่างเว้นจากการศึก 

                ข้อเรียกร้องของทหารเจนนิสซารีย์ในการลุกฮือครั้งนี้คือให้นำซุลตอนมุสตอฟา  ข่านที่  4  กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งซึ่งพระองค์เองก็เคยถูกพวกกองทหารเจนนิสซารีย์บังคับให้สละอำนาจมาแล้วเช่นกัน  การปราบปรามของซุลตอนมะฮฺมูดเกือบประสบผลสำเร็จ  ถ้าหากว่าไม่มีการลอบวางเพลิงนครอิสตันบูลจนเกือบวอดวายเสียก่อน  พระองค์จึงจำต้องยุติการปราบปรามกองทหารเจนนิสซารีย์ในที่สุด

                วันที่  27  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1237 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพเรือกรีซสามารถลอบวางเพลิงและสร้างความเสียหายแก่กองทัพเรือของจักรวรรดิอุษมานียะห์  เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงการลุกฮือของพลเมืองกรีซในเขตโมร่าเพื่อปลดแอกกรีซจากการปกครองของจักรวรรดิอุษมานียะห์  กองทหารของอุษมานียะห์ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนถึง  3,000  นาย

                วันที่  28  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1240 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                อิบรอฮีม  ปาชา  แม่ทัพอียิปต์ได้ยาตราทัพเข้าสู่เมืองน่าวารีน  ในกรีซ  ภายหลังการปิดล้อมอย่างหนักหน่วง  การศึกในครั้งนี้เป็นการสนองตอบของมุฮัมมัด  อะลี  ปาชา ผู้ปกครองอียิปต์ต่อข้อเรียกร้องของซุลตอนในการส่งกองทัพสนับสนุนจักรวรรดิอุษมานียะห์เพื่อปราบปรามการลุกฮือของพลเมืองกรีซที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของจักรวรรดิ

                วันที่  25  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1240 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพรัสเซียได้ยกพลข้ามแม่น้ำบรูซ  ซึ่งเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างรัสเซียกับจักรวรรดิอุษมานียะห์และเข้ายึดครองแคว้นอัฟลากและบัฆดานอันเป็นดินแดนใต้อาณัติของอุษมานียะห์  รัสเซียได้เคยเรียกร้องต่อจักรวรรดิให้รื้อฟื้นข้อตกลงตามสนธิสัญญาฮิงการ์  อิสกิลาซีย์  ขึ้นใหม่ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้ได้เคยลงนามกันไว้ระหว่างสองฝ่ายเมื่อวันที่  26  เดือนร่อญับ  ปีฮ.ศ.1269 

                โดยมีข้อตกลงให้รัสเซียมีสิทธิในการพิทักษ์คุ้มครองชาวคริสเตียนออร์ธอดอกซ์ที่อยู่ในดินแดนของอุษมานียะห์  ครั้นเมื่อซุลตอนแห่งอิสตันบูลได้ทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซียเกี่ยวกับสนธิสัญญาดังกล่าว  รัสเซียจึงได้ประกาศสงครามกับจักรวรรดิและเข้ายึดครองแคว้นอัฟลากและบัฆดาน

                วันที่  23  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1270 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทัพรัสเซียภายใต้การบัญชาการการรบของจอมพลเจ้าชายบิสกิฟิตซฺได้ถอยทัพและยกเลิกการปิดล้อมเมืองซิลซิตาเรียในคาบสมุทรไครเมีย  หลังจากที่ทำการปิดล้อมและรบพุ่งอย่างหนักตลอดระยะเวลา  35  วัน  เริ่มตั้งแต่วันที่  17  เดือนชะอฺบาน  ปีฮ.ศ.1270 

                อย่างไรก็ตามกองทัพรัสเซียก็ไม่สามารถพิชิตเมืองนี้ได้ทั้งที่มีกำลังพลมากถึง  60,000  นายในขณะที่กำลังพลฝ่ายอุษมานียะห์มีจำนวนเพียง  15,000  นายซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารสัญชาติอียิปต์ที่ประจำการในเมืองซิลซิตาเรีย  เมื่อกองทัพรัสเซียได้ล่าถอยฝ่ายกำลังพลอุษมานียะห์จึงได้รุกไล่บดขยี้สร้างความสูญเสียแก่กองทัพรัสเซียเป็นอันมาก

                วันที่  17  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1270 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                จักรวรรดิอุษมานียะห์ร่วมด้วยฝรั่งเศส,อังกฤษและออสเตรียได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับกรณีจัดตั้งกองกำลังทหารออสเตรียในแคว้นอัฟลากและบัฆดาน  หลังจากที่รัสเซียได้ถอยทัพออกจากแคว้นดังกล่าวและการร่วมมือในระหว่างการกันเพื่อต่อต้านการรุกรานของกองทัพรัสเซียเมื่อใดก็ตามที่กองกำลังรัสเซียได้ทำการรุกรานคาบสมุทรบอลข่าน

                วันที่  21  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1271 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองกำลังทหารสัมพันธมิตรอันประกอบด้วยอังกฤษ,ฝรั่งเศส,อิตาลีและจักรวรรดิอุษมานียะห์ในสงครามไครเมียได้เข้ายึดป้อมยอดภูเขียวซึ่งเป็นป้อมปราการหนึ่งของเมืองซิบาสติโปลิสอันเป็นเมืองท่าสำคัญของรัสเซียตั้งอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรไครเมีย 

                จากชัยชนะครั้งนี้ได้ทำให้เมืองซิบาสติโปลิสตกอยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตร  โดยก่อนหน้าการล่าถอยของกองทัพรัสเซียเมืองนี้ได้ถูกลอบวางเพลิงจนสิ้น  ต่อมาภายหลังรัสเซียก็สามารถตีเมืองนี้คืนได้สำเร็จอันเป็นผลมาจากข้อตกลงในสนธิสัญญาแห่งกรุงปารีสที่ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่  18  เดือนญุมาดิ้ลอาคิเราะห์  ปีฮ.ศ.1272

                ต้นเดือนร่อมาฎอน  ที่  1272 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                คณะกรรมาธิการดำเนินการปักปันเขตแดนระหว่างจักรวรรดิอุษมานียะห์และรัสเซียได้ประชุมหารือในเมืองญาลาติส  ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงบูคาเรสต์และวัตถุประสงค์ในการประชุมหารือของคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวคือปักปันเขตแดนระหว่างทั้งสองฝ่ายในแคว้นเซอร์เบีย  บาซารฺเบีย  ทางตอนเหนือของทะเลดำ

                วันที่  23  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1280 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                จักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ยุติการสร้างป้อมปราการในแคว้นเซอร์เบีย  (อัลญะบั้ล  อัลอัคฎอร)  บริเวณชายฝั่งทะเลเอเดรียติกจรดภาคเหนือของแอลบาเนีย  แคว้นเซอร์เบียได้ตกอยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิอุษมานียะห์นับจากสมรภูมิโคโซโว  (กูส  อุวาฮฺ)  ในปีฮ.ศ.1389  เจ้าผู้ครองนครรัฐเซอร์เบียต้องการแยกตนเองเป็นอิสระจากการปกครองของจักรวรรดิอุษมานียะห์และยังมีส่วนในการสนับสนุนยุยงการกบถลุกฮือในแคว้นเฮอร์เซโกวิน่า 

                อย่างไรก็ตามจักรวรรดิอุษมานียะห์ก็สามารถปราบปรามการกบถลุกฮือดังกล่าวได้อย่างสิ้นซากและได้เริ่มสร้างป้อมปราการตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญในแคว้นเซอร์เบีย  แต่กลุ่มประเทศยุโรปก็ได้เข้ามาแทรกแซงจนทำให้ซุลตอนจำต้องยุติการสร้างป้อมปราการดังกล่าวในที่สุด

                วันที่  2  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1322 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ซุลตอนอับดุลฮามีด  ข่านที่  2  แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกา  สิทธิพิเศษในการลงทุนตามเขตแม่น้ำที่อยู่ในเส้นทาง  รถไฟสายฮิยาซฺ  อัลฮ่ามีดียะห์  หลังจากการประกาศพระราชกฤษฎีกาและด้มีหนังสือแถลงการณ์ของมหาเสนาบดี  (อัซซอดร์  อัลอะอฺซอม)  ณ  วันที่  5  เดือนร่อมาฎอน  ปีฮ.ศ.1322  ซึ่งมีพระราชกำหนดห้ามทำเหมืองแร่ในบริเวณใกล้กับทางรถไฟสายนี้ (เส้นทางรถไฟสายอัลฮิญาซฺ  เชื่อมต่อระหว่างนครม่าดีนะห์กับซีเรียและมีสถานีปลายทางที่นครอิสตันบูลนักประวัติศาสตร์ถือว่าการวางเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นผลงานชิ้นสำคัญของซุลตอนอับดุลฮามีด  ข่านที่  2 

                ความคิดในการสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้เคยมีมาก่อนรัชสมัยของพระองค์แต่ทางราชสำนักอิสตันบูลยังมิได้ลงมือดำเนินการอย่างจริงจังทั้งนี้เป็นเพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาลตลอดจนปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในเส้นทางจากการเที่ยวปล้นสะดมภ์ของชนอาหรับเร่ร่อนเบดูอิน
เมื่อซุลตอนได้เสด็จขึ้นครองราชย์  พระองค์ได้ทรงมีพระราโชบายอย่างแน่วแน่ในการดำเนินโครงการนี้ให้ลุล่วง  ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้บริการแก่บรรดาฮุจญาจที่จะเดินทางสู่นครม่าดีนะห์และนครมักกะห์ตลอดจนเป็นการเปิดเส้นทางการคมนาคมที่นับว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้น 

                นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายในพระราชดำริเพื่อปูทางสู่แนวร่วมสันนิบาตประชาชาติอิสลามให้เป็นรูปธรรมด้วยการอาศัยการคมนาคม  ซึ่งในช่วงเวลานั้นโลกอิสลามกำลังถูกคุกคามจากฝรั่งชาติตะวันตกที่แผ่อิทธิพลด้วยการล่าอาณานิคมดังนั้นโครงการเส้นทางรถไฟสายอัลฮิญาซฺนี้จึงได้รับการคัดค้านจากชาติตะวันตก  อย่างไรก็ตามโครงการนี้ก็ได้รับการขานรับจากประชาชาติอิสลามโดยถ้วนหน้า  โดยทางอิสตันบูลได้ประกาศรับบริจาคระดมทุนในการดำเนินโครงการ  มีการจัดตั้งคณะกรรมการรวบรวมเงินบริจาคและคณะกรรมการบริหารโครงการ  ในที่สุดเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนก็หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ 

                ชาวมุสลิมในอินเดียขานรับเป็นกลุ่มแรกฝ่ายสื่อมวลชนในอินเดียก็ประโคมข่าว จนทำให้อังกฤษเจ้าอาณานิคมในขณะนั้นต้องประกาศห้ามการร่วมบริจาคในโครงการดังกล่าว แต่ชาวมุสลิมในอินเดียก็ยืนกรานจนอังกฤษต้องยอมทำตามความต้องการของชาวมุสลิมในอินเดียโดยดำเนินการส่งเงินบริจาคที่รวบรวมได้ส่งไปยังนครอิสตันบูล 

                ในโครงการนี้ยังมีบรรดาเจ้าครองนครรัฐต่าง ๆ  บรรดาคหบดีตลอดจนองค์กรมุสลิมต่าง ๆ  ได้ร่วมสมทบเงินบริจาคเป็นจำนวนมาก  เป็นต้นว่า  คุดัยวีย์  อับบาส  ฮิลมีย์  แห่งอียิปต์  พระองค์ได้ร่วมจัดส่งอุปกรณ์และวัสดุในการก่อสร้าง  ซุลตอนแห่งมุกัลลาในเยเมนได้ร่วมบริจาคเงิน  20,000  รูปี  เจ้าครองนครคูเวตเชคอัลมุบารอก  อัซซอบบาฮฺ  บริจาค  500  ลีร่าตุรกี  ชาฮฺแห่งอิหร่านบริจาค  50,000  ลีร่าตุรกี  ซุลตอนแห่งมัรรอกิช  (มอรอคโค)  บริจาค  750,000  ฟรังก์  เจ้าครองนครบุคอรอร่วมบริจาค  400  ฟรังก์  ชาวมุสลิมแห่งรัฐนาตาลในแอฟริกาใต้บริจาค  1,000  ลีร่าตุรกี  ชาวมุสลิมในสิงคโปร์ร่วมบริจาค  4,000  ปอนด์สเตอร์ลิง  ชาวลักเนาว์ในอินเดียร่วมบริจาค  32,000  ลีร่าตุรกี  ชาวมุสลิมในกรุงย่างกุ้งของพม่าและชาวมุสลิมในรัฐมัดราสบริจาค  73,000  ลีร่าตุรกี  ฯลฯ 

                การวางศิลารากฐานได้กระทำกัน  ณ  ตำบลอัลมุซัยรีบ  ในเขตเมืองฮูรอนใกล้กับนครดามัสกัสโดยมีนายพลกาซิม  เบย์เป็นควบคุมงานโยธาและใช้ทหารตุรกีเป็นแรงงานหลักมีวิศวกรชาวเยอรมันคือ  อัลเฮอร์  มิซร์ควบคุมดูแลอย่างแข็งขันและดีเยี่ยม  เส้นทางรถไฟสายนี้เริ่มจากชุมทางนครดามัสกัสผ่านเมืองอัลมุซัยรีบ ,  อัมมาน,  เมืองม่าอาน,  ตะบู๊ก  และ  นครม่าดีนะห์  และในวันที่  22  เดือนชะอ์บาน  ปีฮ.ศ.1326  ตรงกับวันที่  28  สิงหาคม  คศ.1908  รถไฟขบวนแรกก็ถึงนครม่าดีนะห์อย่างเป็นทางการท่ามกลางการต้อนรับอย่างคับคั่งจากประชาชนและบุคคลสำคัญของนครม่าดีนะห์) 

                วันที่  17  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1331 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ซุลตอนมุฮัมมัด  ร่อช๊าด  ข่านที่  5  แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ได้ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยสิทธิพิเศษในการก่อสร้างท่าเทียบเรือและการลงทุนทางพาณิชย์นาวี  เมืองฮัยฟ่า  การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องจากโครงการเส้นทางรถไฟสายอัลฮิญาซฺในรัชสมัยซุลตอนอับดุลฮามีด


                วันที่  10  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1393 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                กองทหารของอียิปต์ประสบความสำเร็จในการยกพลข้ามคลองสุเอซและทำลายแนวบังเกอร์ทรายและสร้างความปราชัยแก่กองทหารอิสราเอล  ในขณะเดียวกันกองทัพซีเรียก็สามารถปลดปล่อยดินแดนที่ถูกอิสราเอลยึดครองเมื่อครั้งสงครามหกวันได้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตญะบั้ล  อัชเชค  ชัยชนะในสมรภูมิข้ามคลองสุเอซครั้งนี้เป็นการปูทางไปสู่การถอนทหารของอิสราเอลออกจากคาบสมุทรซีนายทั้งหมดในเวลาต่อมา


                วันที่  15  เดือนร่อมาฎอน  ที่  1414 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                ชาวยิวไซออนิสต์หัวรุนแรงคนหนึ่งได้จู่โจมอัลฮ่ารอม  อัลอิบรอฮีมีย์  (มัสยิดของท่านศาสดาอิบรอฮีม  (อ.ล.))  ในปาเลสไตน์และสาดกระสุนปืนออโตเมติกเข้าใส่บรรดาผู้ร่วมละหมาดภายในมัสยิด  ยังผลให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก  รัฐบาลอิสราเอลได้สอบสวนคดีสะเทือนขวัญข้างต้นและได้บทสรุปว่ามือสังหารชาวยิวผูนี้ไม่มีความผิดหรือไม่อาจดำเนินคดีกับชายผู้ได้เพราะมีความบกพร่องทางสมองหรือวิกลจริต