เหตุการณ์สำคัญในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์

                เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  6  แห่งฮิจเราะห์ศักราช  (ปลายปี)
                เกิดสงครามอัลฮุดัยบียะห์  (เป็นหุบเขาแห่งหนึ่งใกล้กับนครมักกะห์)  ในสงครามครั้งนี้ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทรงออกจากนครม่าดีนะห์  พร้อมด้วยผู้คนจำนวนพันกว่าคนเพื่อทำอุมเราะห์  ณ  นครมักกะห์  ครั้นเมื่อพวกตั้งภาคีที่นครมักกะห์ทราบเรื่องก็ได้ระดมผู้คนจากเผ่าต่าง ๆ  และพากันยกขบวนไพร่พลออกมาตั้งรับนอกนครมักกะห์เพื่อขัดขวางการประกอบพิธีอุมเราะห์ของท่านศาสดา  (ซ.ล.)  และเหล่าอิสลามิกชนในปีนี้ 

                 พวกตั้งภาคีได้มอบให้คอลิด  อิบนุ  อัลวะลีด  (ขณะนั้นยังไม่ได้รับอิสลาม)  ขี่ม้าศึกนำขบวนไพร่พลของพวกเขาไปยังด้านต.อัลฆ่อมีน  และท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ก็ได้ทรงสวนทางกับคอลิด  และมาสุดที่อัลฮุดัยบียะห์  พระองค์และพวกตั้งภาคีก็มีการส่งคนมาเจรจากันระหว่างสองฝ่าย  จนกระทั่งเมื่อสุฮัยล์  อิบนุ  อัมรุ  ได้มาถึงที่นั่น  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ก็ได้ทรงทำสนธิสัญญาประนีประนอมโดยมีข้อสัญญาตกลงกันดังนี้

                 1.ให้ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ถอยกลับไปจากนครมักกะห์ในปีนี้เสียก่อนและให้กลับมาทำอุมเราะห์ใหม่ในปีหน้า  โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เข้าสู่นครมักกะห์นอกเสียจากพำนักอยู่ในนครมักกะห์ได้ไม่เกิน  3  วัน

                 2.รับรองความปลอดภัยระหว่างทั้ง  2  ฝ่ายเป็นระยะเวลา  10  ปี


                 3.บุคคลใดมีความประสงค์เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ก็ย่อมกระทำได้บุคคลใดมีความประสงค์เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายกุเรซมักกะห์ก็ย่อมกระทำได้

                 4.ชาวมักกะห์คนใดที่หนีเข้ามากับฝ่ายท่านศาสดา  (ซ.ล.)  จะถูกส่งมอบตัวคืนแก่ฝ่ายกุเรซ  ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นมุสลิมก็ตาม


                 พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ได้ทรงรับรองมาตราต่าง ๆ  ที่มีระบุอยู่ในสนธิสัญญาอัลฮุดัยบียะห์  นอกจากประเด็นของสตรีผู้ศรัทธาที่ได้ฮิจเราะห์  (อพยพ)  มาสู่นครม่าดีนะห์  พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ได้ทรงบัญญัติห้ามบรรดามุสลิมในการส่งมอบตัวสตรีเหล่านั้นแก่พวกกุเรซมักกะห์  และทรงบัญญัติห้ามการสมรสนางเหล่านั้นกับพวกปฏิเสธ  (กุฟฟาร)  นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

                 ก่อนการทำข้อตกลงในสนธิสัญญาอัลฮุดัยบียะห์  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงส่งท่านอุสมาน  อิบนุ  อัฟฟาน  (ร.ฎ.)  ไปยังพวกกุเรซมักกะห์เพื่อแจ้งว่าท่านศาสดาไม่ได้ประสงค์ที่จะทำสงคราม  แต่พระองค์มาสู่นครมักกะห์เพื่อประกอบพิธีอุมเราะห์เท่านั้น  ท่านอุสมาน  อิบนุ  อัฟฟาน  (ร.ฎ.)  ยังไม่กลับมาจากการปฏิบัติภารกิจก็มีข่าวลือออกมารู้ถึงท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ว่าท่านอุสมานถูกสังหารท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทรงมีความโกรธต่อเหตุการณ์  (อันมาจากข่าวลือ)  ในครั้งนั้น 

                 พระองค์จึงทรงเรียกเหล่าอัครสาวกของพระองค์ให้มาร่วมสัตยาบันในการทำสงครามกับพวกกุเรซ  เหล่าอัครสาวกจึงได้ร่วมกันในสัตยาบันต่อท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ภายใต้ต้นไม้ซึ่งเรียกกันว่า  สัตยาบันอัรริฎวาน  พระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ได้ทรงพระราชทานโองการอัลกุรอ่านลงมาเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกด้วย

                 ครั้นเมื่อท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้เสร็จสิ้นจากการทำสนธิสัญญาประนีประนอมกับพวกตั้งภาคีแห่งนครมักกะห์แล้วพระองค์ก็ได้ทรงเริ่มสละการครองพิธีอุมเราะห์ของพระองค์และยังได้ทรงใช้บรรดาผู้คนทั้งหลายให้กระทำสิ่งดังกล่าวอีกด้วย

                 เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  6  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ได้มีการทำอุมเราะห์ชดใช้  (กอฎอ)  ซึ่งท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงทำข้อตกลงกับพวกกุเรซในสนธิสัญญาอัลฮุดัยบียะห์และในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์ในปีนี้  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงออกเดินทางจากนครม่าดีนะห์ในสภาพของผู้ครองพิธีอุมเราะห์ท่านเดินทางรอนแรมจนกระทั่งถึงนครมักกะห์และพระองค์  (พร้อมด้วยผู้คนที่ร่วมมาด้วย)  ได้ทำพิธีอุมเราะห์  ทำการเวียนรอบ  (ตอว๊าฟ)  บัยตุ้ลลอฮฺ  เดินสะอ์ยฺและปลดหรือสละการครองอุมเราะห์ของพระองค์  (ตะฮั้ลลุ้ล)  และหลังจากที่พระองค์ทรงสละการครองอุมเราะห์แล้วพระองค์ได้ทรงทำการสมรสกับพระนาง  มัยมูนะห์บุตรีท่านอัลฮารีซ  มารดาแห่งศรัทธาชน  (ร.ฎ.)

                 วันที่  23, 24  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  10 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงออกเดินทางพร้อมด้วยอิสลามิกชนจำนวนมากจากนครม่าดีนะห์มาสู่นครมักกะห์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์อำลา  (ฮัจญ์อัล-ว่าดาอฺ)  ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทรงทำการละหมาดอัสริที่ตำบลซิ้ลฮุลัยฟะห์  โดยละหมาดย่อ  2  ร่อกาอะห์  และค้างแรมที่ตำบลดังกล่าว  และเมื่อท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้อยู่  ณ  วาดี  อัลอะกีกก็ได้มีมาลาอิกะห์ซึ่งมาจากพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  ทรงมีคำสั่งใช้ให้ท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ทรงกล่าวในการตั้งเจตนาประกอบพิธีฮัจญ์  ให้เป็นฮัจญีกีรอน  (ทำอุมเราะห์และฮัจญ์พร้อมกันทีเดียว)  พอรุ่งเช้าท่านศาสดา  (ซ.ล.)  ได้ทราบบอกให้ผู้คนทั้งหลายได้ทราบถึงสิ่งดังกล่าว

                 วันที่  7  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  12 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ท่านค่อลีฟะห์แห่งปวงชนมุสลิม  อบูบักร  อัซซัดดิ๊ก  (ร.ฎ.)  ได้ส่งท่านสะอีด  อิบนุ  อามิร  อิบนิ  ฮาซิม  พร้อมด้วยกำลังบำรุงที่มีจำนวนพลถึง  700  นายเพื่อไปสมทบกองทัพของท่านยะซีด  อิบนุ  อบีซุฟยาน  ณ  แคว้นชามทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมในการทำสงครามกับโรมัน

                 ในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  12 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ท่านฮัมซะฮฺ  อิบนุ  มาลิก  อัลฮัมซานีย์  อัลอุซรีย์ได้มุ่งหน้ามาพบท่านค่อลีฟะห์  อบูบักร  อัซซิดดิ๊ก  (ซ.ล.)  ในนครม่าดีนะห์พร้อมด้วยไพร่พลมากมายจากเมืองฮัมชซานฺ  ซึ่งมีจำนวนมากกว่า  2,000  นายและท่านฮัมซะฮฺ  อิบนุ  มาลิกก็ได้ออกเดินทางออกจากนครม่าดีนะห์  ภายในเดือนนั้นหลังจากที่คอลีฟะห์  อบูบักร  อัซ    ซิดดิ๊ก  (ร.ฎ.)  ได้มีคำสั่งให้ท่านฮัมซะห์และไพร่พลมุ่งสู่แคว้นชามเพื่อเป็นทัพเสริมเข้าสมทบกับกองทัพของท่านอบีอุบัยดะห์  อามิร  อิบนุ  อัลญัรรอฮฺทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการทำศึกกับโรมัน

                 วันที่  15  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  12 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 มุสลิมภายใต้การบัญชาการรบของท่านคอลิด  อิบนุ  อัลวะลีด  (ร.ฎ.)  ได้กำชัยชนะครั้งใหญ่ต่อกองทัพของเปอร์เซีย,โรมันและอาหรับเผ่าตัฆลูข,ฮิยาตและอันนามิร  ซึ่งเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกันเพื่อทานการรุกคืบของมุสลิมในสมรภูมิอัลฟัรร็อฎ  ทางตะวันออกเฉียงใต้เหนือเส้นพรมแดนเชื่อมต่อแคว้นชาม  ,  อิรัก  และอัลญะซีเราะห์  ในสมรภูมิครั้งนี้ฝ่ายพันธมิตรโรมัน,เปอร์เซียและอาหรับได้ถูกสังหารเป็นจำนวนถึง  100,000  คน  อันเป็นมติเห็นพ้องของบรรดานักประวัติศาสตร์

                 วันที่  25 เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  12 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ท่านคอลิด  อิบนุ  อัลวะลีดได้เดินทางจากอัลฟัรรอฎ  สู่นครมักกะห์  หลังจากการรับชัยชนะในสมรภูมิอัลฟัรรอฎ  พร้อมด้วยพรรคพวกของท่านเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์โดยทิ้งกองทัพของท่านไว้ที่อิรัก  ท่านคอลิดได้ประกอบพิธีฮัจญ์จนเสร็จสิ้นโดยไม่มีใครล่วงรู้ถึงเรื่องนี้  ทั้งนี้ท่านคอลิดเองก็ไม่ได้ขออนุญาตต่อท่านค่อลีฟะห์อบูบักร 

                 ในเรื่องนี้  ท่านค่อลิดได้เดินทางกลับสู่กองทัพของท่าน  ณ  อิรัก  โดยไม่มีใครล่วงรู้  ทั้ง  ๆ  ที่ท่านค่อลีฟะห์เองก็ได้ประกอบพิธีฮัจญ์ในปีเดียวกันนี้  ท่านอุมัร  อิบนุ  อัลค็อตต็อบ  (ร.ฎ.)  ได้รบเร้าให้ท่านคอลีฟะห์  อบูบักรปลดท่านคอลิดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารด้วยสาเหตุการปฏิบัติในครั้งนี้  นอกเสียจากว่าท่านอบูบักร  ที่ปฏิเสธและไม่เห็นด้วยโดยกล่าวว่า  “ข้าพเจ้าจะไม่ปลดดาบชิงที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงชักดาบนั้นเพื่อรณรงค์ศึกกับเหล่าผู้ปฏิเสธ”

                 วันที่  28 เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  13 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 กองทัพมุสลิมภายใต้การนำทัพของคอลิด  อิบนุ  อัลวะลีด  (ร.ฎ.)  ได้สร้างความปราชัยครั้งใหญ่แก่กองทัพโรมัน  ใน  สมรภูมิฟะห์ลฺบีซานกำลังพลของมุสลิมในสมรภูมิครั้งนี้มีราว  26,000  คนถึง  30,000  คนส่วนฝ่ายโรมันนั้นนักประวัติศาสตร์ระบุว่ามีราว  50,000  คนถึง  80,000  คน

                 ต้นเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  16 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 กองทัพมุสลิมภายใต้การนำทัพของท่านสะอัด  อิบนุ  อบีวักก็อซ  (ร.ฎ.)  สามารถพิชิตเมืองญ่าเลาลาอฺ  ได้สำเร็จหลังจากได้สร้างความปราชัยครั้งใหญ่ต่อกองทัพเปอร์เซียที่เมืองแห่งหนึ่ง  การพิชิตเมืองญ่าเลาลาอฺได้นั้นเกิดขึ้นภายหลังเมืองอัลมาดาอิน  ได้ตกลงอยู่ในมือของมุสลิมเป็นเวลา  9  เดือน

                 ในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  64 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 พวกอุม่าวียะห์ได้แสดงสัตยาบันแก่มัรวาน  อิบนุ  อัลฮะกัม  อิบนิ  อัลอ๊าศ  ขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์โดยให้คอลิด  อิบนิยะซีด  อิบนิ  มุอาวียะห์  และอัมรุ  อิบนุ  สะอีดอัลอ๊าศ  ดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์สืบต่อมาเป็นลำดับ  การแสดงสัตยาบันดังกล่าวมีขึ้นในที่ประชุมอัลญ่าบียะห์ซึ่งจัดให้มีขึ้นหลังจากพิพาทอย่างรุนแรงระหว่างอาหรับแห่งแคว้นชามอันมีเหตุมาจากการแก่งแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มคนในตระกูลอัลอุมาวียะห์  ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของค่อลีฟะห์  มุอาวียะห์ ที่  2  โดยต่างฝ่ายต่างก็เห็นว่าตนมีความเหมาะสมกว่าผู้อื่นในการเป็นค่อลีฟะห์

                 ในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  71 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ตอริก  อิบนุ  อัมร์บ่าวของท่านอุสมาน  อิบนุ  อัฟฟาน  (ร.ฎ.)  ได้นำทัพของค่อลีฟะห์มัรวาน  อิบนุ  อัลหะกัมเข้าสู่นครม่าดีนะห์  โดยขับไล่ข้าหลวงของท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  อัซซุบัยร์  ซึ่งได้รับการสัตยาบันการเป็นค่อลีฟะห์ในแคว้นฮิญาซฺและบางหัวเมืองของอิรัก  ,  ชาม  และอียิปต์ให้ออกไปจากนครม่าดีนะห์

                 ต้นเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  72 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 อัลฮัจญาจ  อิบนุ  ยูซุฟ  อัซซ่ากอฟีย์  แม่ทัพของค่อลีฟะห์อับดุลมาลิก  อิบนุ  มัรวานแห่งราชวงศ์อุมาวียะห์ได้ทำการปิดล้อมรอบนครมักกะห์โดยที่อับดุลลอฮฺ  อิบนุ  อัซซุบัยร์  (ซึ่งยืนกรานปกป้องสิทธิของตนในการดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ตามการสัตยาบันที่ตนได้รับ)  ได้อาศัยนครมักกะห์เป็นที่พักพิงหลบซ่อน  ,  อัล ฮัจญาจสามารถเข้ายึดภูเขาอบีกุบัยซ์  (และฮัจญาจก็สามารถกุมสถานการณ์การรบได้โดยอาศัยภูเขาลูกนี้)  ทำการระดมยิงลูกหินเข้าตัวเมืองมักกะห์โดยไม่หยุดหย่อน 

                 จนกระทั่งอับดุลลอฮฺ  อิบนุ  อุมัรได้ห้ามปรามอัล  ฮัจญาจจากการระดมยิงดังกล่าวว่า จงยำเกรงพระองค์อัลลอฮฺ  (ซ.บ.)  และยุติการระดมยิงหินใส่ผู้คน  เพราะท่านนั้นอยู่ในเดือนต้องห้ามและผืนแผ่นดินต้องห้ามและแท้จริงบรรดาแขกแห่งพระผู้เป็นเจ้าจากแว่นแคว้นต่าง ๆ  ได้มุ่งมายังนครแห่งนี้เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์และเพิ่มพูนความดีงาม  แท้จริงเครื่องดีดหิน  (อัลมันญานีก)  นั้นได้ห้ามผู้คนจากการต่อว๊าฟ  ดังนั้นท่านจงยุติการยิงจนกว่าผู้คนจะได้ประกอบพิธีฮัจญ์อย่างสมบูรณ์เสียก่อน

                 ในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  145  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 อีซา  อิบนุ  มูซา  รัชทายาทแห่งค่อลีฟะห์อบูญะอ์ฟัร  อัลมันซู๊ร  ในราชวงศ์อัลอับบาซียะห์  ได้สร้างความปราชัยแก่อิบรอฮีม  อิบนุ  อับดิลลาฮฺ  อิบนิ  อัลหะซัน  อิบนิ  อัลฮะซัน  อิบนิ  อะลี  อิบนิ  อบีตอลิบ  ในตำบล “บาคุมรอ”  ใกล้กับนครอัลกูฟะห์ซึ่งก่อนหน้านี้อีซา  อิบนุ  มูซาได้ทำการสังหารมุฮัมมัด  อิบนุ  อับดิล  ลาฮฺ  อิบนิ  อัลฮะซัน  อิบนิ  อัลฮะซัน  อิบนิ  อะลี  อิบนิ  อบีตอลิบ  ผู้เป็นพี่น้องกับอิบรอฮีม ซึ่งถือว่าผู้มีสิทธิอันชอบธรรมในการเป็นค่อลีฟะห์มากกว่าพวกอับบาซียะห์  โดยอ้างถึงสิทธิอันชอบธรรมในการที่ตนเป็นหลานชายของท่านอัลฮะซัน  อิบนุ  อะลี  อิบนิ  อบีตอลิบ และจากการที่บรรดาบุคคลในตระกูลฮาชิมได้แสดงสัตยาบันแก่ตนในช่วงรัชสมัยแห่งราชวงศ์อุมาวียะห์  มูฮัมมัดจึงได้ประกาศการปฏิวัติของตนในนครม่าดีนะห์โดยตกลงกับอิบรอฮีมให้ทำการลุกฮือในเวลาเดียวกันที่เมืองอัลบัสเราะห์ทางตอนใต้ของอิรัก

                 ในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  169  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
พวกอะลาวียูน  (ผู้นิยมในการสนับสนุนวงศ์วานของท่านอะลี  (ร.ฎ.)  ได้ทำการกบถลุกฮือ  ณ  นครมักกะห์และม่าดีนะห์ภายใต้การนำของอัลฮุซัยน์  อิบนิ  อะลี  อิบนิ  อัลฮะซัน  อิบนิ  อัลฮะซัน  อิบนิ  อาลี  อบีตอลิบ  (ร.ฎ.)  ในรัชสมัยของค่อลีฟะห์อัลฮาดีย์แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ทั้งนี้อัลฮุซัยน์ได้อ้างสิทธิการเป็นค่อลีฟะห์ในนครม่าดีนะห์  พวกอะละวียูน  ได้ถือเอาการกดขี่ของข้าหลวงแห่งนครม่าดีนะห์เป็นโอกาสในการปลุกระดมให้ชาวมะดีนะห์มีความรู้สึกชิงชังต่อพวกอับบาซียะห์  อัลฮุซัยน์  อิบนุ  อะลี  ได้เข้าพบข้าหลวงแห่งนครม่าดีนะห์และคัดค้านการกดขี่และหมิ่นเกียรติวงศ์วานของตน

                 วันที่  28  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  316  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ได้มีการประกาศการเป็นค่อลีฟะห์แห่งอิสลามในแคว้นเอ็นดาลูเซีย  (สเปน)  หลังจากที่บรรดาข้าหลวงปกครองปกครองเอ็นดาลูเซียในราชวงศ์อุมาวียะห์ได้ขนานนามตัวเองว่า  “อะมีร”  (เจ้าครองรัฐ)  และอับดุรเราะห์มาน  อิบนุ  มุฮัมมัดก็ได้รับการสถาปนาเป็นค่อลีฟะห์  และมีพระนามว่าอันนาซิรลิดีนิลลาร์  ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นในเอ็นดาลูเซียและเขตอาณัติของเอ็นดาลูเซีย  ตลอดจนสร้างบารมีให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาชน

                 ในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  617 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 พวกมองโกลได้รุกเข้าตีเมืองอัลกัรจ์และตัฟลีส  (เมืองอัลกัรจ์หรือแคว้นกัรจิสตานอยู่ในเขตเทือกเขาคอเคซัสมีอาณาเขตติดทะเลดำทางตะวันออก  และทิศตะวันออกจรดแคว้นตอฆิสตานและจรดอาร์เมเนียทางทิศใต้  ชาวอาหรับเคยพิชิตแคว้นกัรจิสตานในรัชสมัยค่อลีฟะห์มัรวานที่  2  ต่อมาในภายหลังกลายเป็นรัฐอิสระ  ,  เจงกิสข่าน  และตัยมูร  แลงก์ก็ได้รุกรานเมืองนี้และพวกอิมามียะห์เคยยึดครองได้ระยะเวลาหนึ่ง  และตอนหลังได้ถูกผนวกเป็นดินแดนของรุสเซีย)  (เมืองตัฟลีสหรือติฟลีส  Tbilissi ปัจจุบันอยู่ในรุสเซีย) และได้เข่นฆ่าผู้คนจำนวนมาก ซึ่งการรุกเข้าตีเมืองทั้งสองของพวกมองโกลเป็นส่วนหนึ่งจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับแว่นแคว้นและอาณาจักรอิสลามต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่หลังแม่น้ำอมูรอาเรียในเอเซียกลาง

                 วันที่  23  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  798  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ซุลตอนบายาซีดข่านที่  1  แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์สามารถสร้างความพ่ายแพ้แก่กองทัพของยุโรปตะวันตกอันประกอบด้วยฮังการี  ,  ฝรั่งเศส  ,  ออสเตรีย  ,  บาวาเรีย  และสามารถจับบรรดาแม่ทัพหลายกองและเหล่าอัศวินของยุโรปเป็นเชลยศึกได้เป็นอันมากในสมรภูมินิโคโปลิสทางตอนเหนือของบัลแกเรียบนเส้นพรมแดนของโรมาเนีย  (สมรภูมินิโคโปลิสหรือนิโกบุลี่เกิดขึ้นภายหลังหัวเมืองบัลแกเรียตกอยู่ภายใต้อำนาจของอุษมานียะห์  เมื่อแซกซิมอน  กษัตริย์ฮังการีหรือซิกิสมอนด์  เดอร์ลักซ์ซอมเบิร์ก  ได้ทราบว่าบัลแกเรียแตก  ก็เกิดวิตกจริตในอำนาจของตนซิกิสมอนด์  จึงได้ขอความช่วยเหลือจากยุโรปและได้รับการสนับสนุนจากโป๊ปแห่งคริสตจักร 

                 (กษัตริย์ฮังการีหรือซิกิสมอนด์  เดอร์ลักซ์ซอมเบิร์ก  มีอำนาจระหว่างคศ.1387,1437  เป็นกษัตริย์โรมาเนียในช่วงปีคศ.1411,1433  และขึ้นเป็นจักรพรรดิเยอรมนีระหว่างปีคศ.1433,1437  และเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นโบฮิเมียราวปีคศ.1419,1437  อันเป็นปีสิ้นพระชนม์ในการประชุมแห่งกอนสตินซ่า  ซิกิสมอนด์ได้มีคำสั่งให้เผานักปฏิรูปชาวเชกญีน  ฮัส  หรือ  ญอง  ฮังล์  ทั้งเป็น)


                 โป๊ปจึงได้ประกาศสงครามศาสนาท่ามกลางประชาชนยุโรปตะวันตกซึ่งดุ๊ก  เบอร์กูเนีย  (อันเป็นแคว้นใหญ่ทางตะวันออกของฝรั่งเศส)  ได้ตอบรับคำของโป๊ปโดยส่งบุตรชาย  คือ  ควนต์  เนวารัส  (Quente  Navaras)  พร้อมกำลังพล  6,000  นาย  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกศักดินาและพระประยูรญาติของกษัตริย์ฝรั่งเศสและขณะเคลื่อนพลสู่ฮังการีนั้นเจ้าครองรัฐบาวาเรีย  ออสเตรีย  และกองทหารนักบวชแห่งเซนต์  เฮนน่า  ในเยรูซาเล็มซึ่งเคยร่วมรบในสงครามครูเสดเข้าร่วมสมทบอีกด้วย 

                 กองทัพพันธมิตรยุโรปได้ข้ามแม่น้ำดานูบและตั้งค่ายที่เมืองนิโคโปลิสเพื่อทำการปิดล้อมเมืองนี้ซุลตอน  บายะซีดข่านที่  1  จึงนำทัพที่มีกำลังพล  200,000  นาย  (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเซอร์เบียภายใต้การนำของสตีเฟ่น  บุตร  ลาซารและชาวคริสเตียนที่สวามิภักดิ์ต่อซุลตอน)  มุ่งสู่กองทัพพันธมิตรยุโรปและมีการสู้รบกันอย่างดุเดือดในวันที่  23  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีฮ.ศ.ที่  798  (27  กันยายน  คศ.1396) 

                 และผลของสงครามครั้งนี้คือชัยชนะของอุษมานียะห์เหนือกองทัพพันธมิตรยุโรปและบรรดาเจ้าศักดินาแห่งฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากได้ตกเป็นเชลยส่วนหนึ่งก็คือ  ควนด์  เดอร์  เนเวอร์สเอง  กล่าวกันว่า  หลังจากที่ควนด์  เนเวิร์สได้ยอมจ่ายค่าไถ่จากการเป็นเชลยซุลตอนบายาซิดได้กล่าวกับคานต์ว่า  “ฉันไม่ถือสาถ้าหากท่านไม่รักษาสัญญาตามคำสาบานที่ให้นี้  และท่านก็ยอมหวนกลับมาทำสงครามกับฉันได้ทุกเมื่อทั้งนี้ย่อมไม่มีสิ่งใดที่ฉันรักยิ่งไปกว่าการได้สู้รบกับชาวคริสเตียนยุโรปทั้งหมดและได้รับชัยชนะเหนือพวกเขา

                 วันที่  5  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  883  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 มีการลงนามในสนธิสัญญาประนีประนอมระหว่างรัฐเวนิส  (ในอิตาลี)  กับจักรวรรดิอุษมานียะห์ซึ่งได้ทำการปิดล้อมรัฐแห่งนี้อย่างหนักหน่วงและภายหลังที่อุษมานียะห์สามารถตีเอาหัวเมืองต่าง ๆ  ที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐเวนิสได้ทั้งหมด  แต่ทว่ากองทัพของอุษมานียะห์ก็ไม่สามารถทำการเข้าตีหักเอาเมืองเวนิสได้อันเนื่องมาจากมีป้อมปราการที่แข็งแกร่ง  และการสู้รบป้องกันเมืองของชาวเมืองอย่างเป็นสามารถ 

                 สนธิสัญญาในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นชัยชนะของจักรวรรดิอุษมานียะห์  ซึ่งถือเป็นก้าวแรกตามแผนการของอุษมานียะห์ในการเข้าแทรกแซงกิจการของยุโรป  และปรากฏสาธารณรัฐเวนิสในขณะนั้นเป็นรัฐยุโรปได้มีความสำคัญมากที่สุดรัฐหนึ่งโดยเฉพาะในด้านพาณิชย์นาวี  และก็มีเพียงสาธารณรัฐเจนัวเท่านั้นที่เป็นคู่แข่งกับรัฐเวนิสในด้านการค้าทางทะเล

                 วันที่  21  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  932  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ซุลตอนสุลัยมาน  ข่าน  อัลกอนูนีย์แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์ได้รับชัยชนะต่อกองทัพของฮังการีในหุบเขาโมฮอกซ์และกษัตริย์หลุยส์แห่งฮังการีถูกสังหารในสมรภูมิครั้งนี้ซึ่งนับเป็นผลพวงสำคัญที่ทำให้ฮังการีทั้งหมดตกเป็นของอุษมานียะห์  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวเมืองบูดาเปสต์  ราชธานีฮังการีจำต้องส่งมอบกุญแจเมืองสุลตอน  และยอมสวามิภักดิ์อย่างไม่มีเงื่อนไขต่ออำนาจของจักรวรรดิอิสลาม

                 วันที่  28  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  939  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                  มีการลงนามในสนธิสัญญาประนีประนอมระหว่างซุลตอนสุลัยมาน  ข่าน  อัลกอนูนีย์  และออสเตรีย  อันมีกษัตริย์เฟอร์ดินานด์เป็นประมุข  กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ได้เคยรุกรานฮังการีโดยมีจุดประสงค์ที่จะตีชิงดินแดนของฮังการีจากจักรวรรดิอุษมานียะห์และผนวกเข้าไปในอาณาเขตของออสเตรีย  แต่ทว่าเฟอร์ดินานด์ประสบความล้มเหลว  ยิ่งไปกว่านั้น  ราชธานีเวียนนาแห่งออสเตรียยังต้องประสบการปิดล้อมอย่างหนักหน่วงของอุษมานียะห์ในเดือนซอฟัร  ฮ.ศ.937  อีกด้วย 

                 เฟอร์ดินานด์จึงต้องเรียกร้องให้มีการประนีประนอมสนธิสัญญาดังกล่าวได้ระบุให้ออสเตรียต้องคืนเมืองกูโรนแก่อุษมานียะห์และให้ออสเตรียรักษาดินแดนที่ยึดครองได้จากอาณาเขตของฮังการีและการทำข้อตกลงใด ๆ ระหว่างออสเตรียกับซาโปลีย์  ผู้ปกครองฮังการีจากทางด้านซุลตอนไม่มีผลบังคับใด  ๆ  หากซุลตอนไม่ทรงรับรอง  และนับได้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองครั้งแรกระหว่างจักรวรรดิอุษมานียะห์กับออสเตรีย


                 วันที่  3  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  980  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 มีการลงนามในสนธิสัญญาประนีประนอมระหว่างจักรวรรดิอุษมานียะห์  ในรัชสมัยซุลตอนส่าลีมข่านที่  2  กับสาธารณรัฐเวนิสซึ่งพยายามอย่างยิ่งในการทำสนธิสัญญาครั้งนี้ระหว่างสองฝ่ายอันเนื่องจากมีความหวาดกลัวต่อการตอบโต้ของจักรวรรดิอุษมานียะห์  ทั้งนี้มีเหตุมาจากกรณีที่เวนิสได้เคยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับสเปน,มอลต้าและคริสตจักรโรม  ซึ่งกองทัพเรือของพันธมิตรยุโรปมีราว  240  ลำ  เป็นของเวนิสเสีย  140  ลำ 

                 กองทัพเรือของพันธมิตรยุโรปได้สร้างความปราชัย  แก่กองทัพเรือตุรกีอย่างย่อยยับในสมรภูมิลิบนีธ  (ลิเพนต้า)  อันเป็นสมรภูมิทางทะเลครั้งใหญ่  ในวันที่  17  ญุมาดิ้ลอูลา  ปี ฮ.ศ.979  แต่ทว่าฝ่ายอุษมานียะห์ก็ได้เร่งรีบในการเสริมสร้างกองทัพเรือของตนให้กลับมาเกรียงไกรอีกครั้งจึงทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่ชาวเวนิส  ดังนั้นเวนิสจึงได้เรียกร้องให้มีการทำสนธิสัญญาประนีประนอม  ซึ่งอุษมานียะห์ก็ตกลงเห็นชอบบนเงื่อนไขที่ว่า  เวนิสจะต้องสละเกาะไซปรัสแก่จักรวรรดิพร้อมจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวน  300,000  ดูก้า


                 วันที่  23  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1186  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 จักรพรรดินีแคธธารีน่าที่  2  แห่งรุสเซียได้มีสาส์นเตือนจักรวรรดิอุษมานียะห์  ซึ่งสาส์นดังกล่าวระบุเงื่อนไข  7  ข้อสำหรับข้อตกลงในการประนีประนอมและยุติสงครามในแคว้นไครเมีย  ซึ่งได้ประกาศแยกตัวออกจากจักรวรรดิอุษมานียะห์และเป็นเอกราชภายใต้อิทธิพลและการคุ้มครองของรุสเซีย  เงื่อนไขดังกล่าวคือ

                 1. ให้จักรวรรดิอุษมานียะห์ยอมสละป้อม “กัชยี”  ในอูเครเนีย  (รัฐยูเครน  มีเมืองเคียฟ  เป็นเมืองเอก)  และป้อมเยนีกอลอะห์  แหลมไครเมีย

                 2. ต้องให้กองเรือสินค้าและกองรบของรุสเซียมีอิสระเสรีในการเดินเรือในทะเลดำ  และน่านน้ำในเขตหมู่เกาะของกรีซ  (ซึ่งล้วนแต่เป็นทะเลที่อยู่ในอาณาเขตน่านน้ำของจักรวรรดิอุษมานียะห์ทั้งสิ้น)

                 3. จะต้องมอบป้อมปราการต่าง  ๆ  ในคาบสมุทรไครเมียที่ยังเป็นของจักรวรรดิอุษมานียะห์แก่พวกตาตาร์  (มองโกล)  ซึ่งเป็นพันธมิตรกับรุสเซีย

                 4. ให้มอบตำแหน่งเจ้าครองแคว้นอัฟล๊าก  (โรมาเนียในลุ่มแม่น้ำดานูบ)  แก่เจ้าชายเจอร์จุว่า  ฆีก้าและเชื้อพระวงศ์ผู้สืบทอดโดยแลกกับการจ่ายบรรณาการ  1  ครั้งในรอบ  3  ปี  (ขณะนั้นเจอร์จุว่า  และเชื้อพระวงศ์ตกเป็นเชลยอยู่ในรุสเซีย)

                 5. ให้มอบพระนาม “บาดิชาฮฺ” แก่พระเจ้าชาร์รุสเซียในเอกสารสนธิสัญญาและสาส์นตอบโต้ทางการเมืองและการทูต  (คำว่า “บาดิชาฮฺ”เป็นสมัญญานามในภาษาเตอร์กิช  มีความหมายว่า “ซัยยิดุ้นาอัซซุ้ลตอน”  ในภาษาอาหรับ  (ซุลตอนผู้เป็นนายของพวกเรา)  ซึ่งคำ ๆ  นี้มักจะใช้เป็นราชาศัพท์เมื่อกล่าวถึงซุลตอนตุรกีขณะพระองค์ไม่ได้อยู่  เหมือนกับคำว่า “นายหลวง”  หรือ  “ในหลวง”  นั่นเอง)

                 6. จักรวรรดิอุษมานียะห์จะต้องยอมเสียเมือง “กอลบุ้รอน”  (หรือป้อมแห่งเมือง “อูซีย์” ซึ่งเป็นช่องแคบ  ปัจจุบันเป็นเมืองท่าที่ชื่อ “อูธาซากอฟ”)  ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลดำ  และให้ทำลายป้อมปราการในเมือง “อูกาซ่ากอฟ” ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลดำอีกด้วย

                 7. ให้รุสเซียมีสิทธิในการพิทักษ์คุ้มครองชาวคริสเตียน  ออร์ธอดอกซ์ทั้งหมดในดินแดนของจักรวรรดิอุษมานียะห์  ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่จักรวรรดิอุษมานียะห์จะไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อที่สงครามครั้งใหม่จะได้ปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่งระหว่างทั้งสองฝ่าย

                 ในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1217 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 อังกฤษได้ถอนกำลังออกจากอียิปต์และนครอเล็กซานเดรียภายหลังการประสบความสำเร็จในการร่วมมือระหว่างอุษมานียะห์และอังกฤษเพื่อขับไล่กองกำลังยึดครองของฝรั่งเศสออกจากอียิปต์และอเล็กซานเดรียในวันที่  22  เดือนร่อบีอุ้ลอาคิร  ปีฮ.ศ.1216  อังกฤษได้ยักยื้อในการถอนกำลังทหารออกจากอียิปต์และอเล็กซานเดรียโดยใช้เวลาร่วมปีครึ่ง

                 วันที่  19  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1239 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 กองทัพเรืออียิปต์ได้เคลื่อนออกจากท่าเรือนครอเล็กซานเดรียเพื่อลำเลียงกองทัพอียิปต์ภายใต้การนำของอิบรอฮีม  ปาชา เป็นกำลังสนับสนุนต่อกองทัพอุษมานียะห์ในการปราบปรามการปฏิวัติลุกฮือในหมู่เกาะของกรีซที่ได้มีการกบถแข็งเมืองต่อการปกครองของอุษมานียะห์  จึงทำให้ซุลตอนมะห์มูด  ข่านที่  2  จำต้องขอกำลังทหารสนับสนุนจากมุฮัมมัด  อะลี  ปาชา  อุปราชแห่งอียิปต์เพื่อปราบปรามการลุกฮือดังกล่าว

                 วันที่  10  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1241  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ซุลตอนมะห์มูดข่านที่  2  แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ทรงประกาศยุบกองทหารเจนเนสซารี  (อิงกิชารีย์)  ภายหลังจากการสังหารทหารเจนเนสซารีย์ส่วนใหญ่  สาเหตุของการประกาศยุบกองทหารดังกล่าวก็อันเนื่องมาจากการแข็งข้อและกบถต่อการดำเนินการของบรรดาซุลตอนหลายต่อหลายองค์ตลอดจนการละเมิดต่อพระราชอำนาจของซุลตอนเหล่านั้นของกองทหารเจนเนสซารีย์ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า

                 กองทหารเจนเนสซารีย์  (หรือ  เยนี่  เตชรีห์)  หมายถึง  “กองทัพใหม่” ได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยซุลตอน อัลฆอซีย์ อุรุคข่านที่ 1 ในช่วงต้นราชวงศ์อุษมานียะห์ของตุรกี กองทหารเจนเนสซารีย์มีส่วนอย่างมากในการแผ่แสนยานุภาพของจักรวรรดิอุษมานียะห์ให้มีความเกรียงไกรแต่ในช่วงเวลาต่อมา กองทหารดังกล่าวก็กลับกลายเป็นสาเหตุสำคัญในการแข็งข้อต่อซุลตอน ความวุ่นวายและทำให้จักรวรรดิอุษมานียะห์อ่อนแอลงในที่สุ

                 วันที่  15  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1242  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 จักรวรรดิอุษมานียะห์ประกาศไม่ยอมรับการไกล่เกลี่ยของอังกฤษและกลุ่มประเทศยุโรปในการเป็นตัวกลางระหว่างจักรวรรดิกับประชาชนชาวกรีกซึ่งได้ประกาศการปฏิวัติต่อต้านการปกครองของอุษมานียะห์ในปีฮ.ศ.1237  ทั้งนี้จักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ย้ำในจุดยืนของตนที่ไม่ยอมให้มีการแทรกแซงกิจการภายในของตน

                 วันที่  28  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1243  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 กองทัพรุสเซียได้เข้ายึดครองนครบูคาเรสต์  ราชธานีแห่งแคว้นอัลอัฟล๊าก  (โรมาเนีย)  โดยรุสเซียได้ประกาศสงครามกับจักรวรรดิอุษมานียะห์  นับตั้งแต่วันที่  11  เซาว๊าล  ฮ.ศ.1243  หลังจากที่ซุลตอน  มะห์มูดข่านที่  2  แห่งจักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาการทำสงครามญิฮาดต่อต้านอังกฤษ,ฝรั่งเศสและรุสเซียซึ่งร่วมมือกันยกกองทัพเรือทำศึกและรุกรานอุษมานียะห์  “ในยุทธนาวี น่าวารีน”  เมื่อวันที่  28  ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล  ฮ.ศ.1243  ใกล้กับชายฝั่งของกรีซ,อุษมานียะห์ได้สูญเสียของทัพเรือของตนในสมรภูมิครั้งนี้พร้อมด้วยกองทัพเรืออียิปต์ทั้งหมด 

                 เป้าหมายในการรุกรานครั้งนี้  ก็เพื่อให้การช่วยเหลือต่อเหล่าผู้ก่อการลุกฮือในกรีซ  ซุลตอนได้ทรงย้ำไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ว่า  แรงจูงใจให้มีการรุกรานในครั้งนี้ของกลุ่มประเทศยุโรป  คือ  เรื่องของศาสนาหาใช่นโยบายทางการเมืองไม่  และทรงลงท้ายด้วยการปลุกระดมให้มุสลิมทำการสู้รบเพื่อรักษาดินแดนและศาสนาเอาไว้ให้ถึงที่สุด

                 วันที่  21  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1256  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ซุลตอนอับดุลมะญีด  ข่านแห่งอุษมานียะห์ได้มีพระบรมราชโองการมอบอียิปต์แก่มุฮัมมัด  อะลี  ปาชาและวงศ์วานของมุฮัมมัด  อะลี  ในกาลต่อมา  เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นข้อสิ้นสุดกรณีพิพาทระหว่าง  2  ฝ่ายและมุฮัมมัด  อะลี  ปาชา  ก็ประสบความสำเร็จในการแผ่อิทธิพลของตนเหนือดินแดนของอุษมานียะห์  และเส้นทางสู่อิสตานะห์  (กรุงอิสตันบูล)  ราชธานีแห่งอุษมานียะห์ก็ถูกเปิดออกแก่การทำศึกของกองทัพอียิปต์  อันมีอิบรอฮีม  ปาชา  บุตรชาย  มุฮัมมัด  อะลี  ปาชา  เป็นแม่ทัพ

                 วันที่  27  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1277  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 กองกำลังของฝรั่งเศสได้ถอนทัพออกจากภูเขาเลบานอนหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ส่งกองพลจำนวน  1,500  นาย  ภายใต้การนำของแม่ทัพ”ดูบูล”พร้อมอาวุธครบมือเข้ายึดฝั่งเขตเบรุตในวันที่  22  มุฮัรรอม  ฮ.ศ.1277  โดยฝรั่งเศสอ้างสิทธิการพิทักษ์คุ้มครองคริสเตียนนิกาย  โมโรไนท์จากการกดขี่ของมุสลิม 

                 แต่ทว่ากองกำลังของฝรั่งเศสก็ไม่พบสิ่งใดที่สามารถจะดำเนินการตามข้ออ้างได้ตลอดช่วงเวลาที่ส่งกำลังพลเข้าไปทั้งนี้เนื่องจากอุษมานียะห์ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างความสงบและความปลอดภัยในเลบานอนให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งมักจะมีสงครามกลางเมืองที่ประทุขึ้นระหว่างพวกดูรซ  กับพวกโมโรไนท์นับตั้งแต่ปี ฮ.ศ.1257

                 อนึ่ง  สิ่งที่สมควรกล่าวถึงก็คือ  ในระหว่างที่ฝรั่งเศสกำลังกระวีกระวาดที่จะยึดครองแอลจีเรียอยู่นั้นได้กระทำการป่าเถื่อนสังหารหมู่ชาวมุสลิมแอลจีเรีย  อย่างน้อยก็คือสิ่งที่นายพล “บิลิเซ่ฮฺ” ได้กระทำการป่าเถื่อนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เผ่าอาหรับแอลจีเรียทั้งเผ่าไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย, สตรี, คนแก่หรือเด็กด้วยการเผาทั้งเป็น

                 ในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1283  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 จักรวรรดิอุษมานียะห์ในรัชสมัยของซุลตอน  อับดุลอะซีซมีความจำเป็นต้องถอนทหารออกจากแคว้นเซอร์เบียเพื่อใช้ในการปราบปรามการปฏิวัติลุกฮือในเกาะครีตซึ่งผลที่ตามมาก็คือเซอร์เบียได้เอกราชอย่างสมบูรณ์จากอุษมานียะห์  (เกาะครีต  เป็นเกาะหนึ่งที่รู้จักกันดีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  ถือเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เพราะเกาะนี้ตั้งอยู่ปากช่องทางเข้าสู่หมู่เกาะของกรีซหากผู้ใดสามารถยึดครองเกาะนี้ได้เท่ากับเป็นกุมช่องแคบดาร์ดาร์แนลเอาไว้ในกำมือ)

                 (ซุลตอนอัลฆอซี  ข่านทรงประสูติในวันที่  14  ชะอฺบาน  ปีฮ.ศ.1245  (8  ก.พ.1830)  และทรงเสด็จขึ้นครองราชย์  เมื่อวันที่  18  ซุ้ลฮิจญะห์  ฮ.ศ.1277  (7  ก.ค.1861))  (แคว้นเซอร์เบีย  แต่เดิมเป็นเขตมณฑลทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของยูโกสลาเวียโดยรวมเอากรุงเบลเกรดเข้าไว้ในอาณาเขตต่อมาก็แผ่ขยายอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของยูโกสลาเวียในปัจจุบัน  แคว้นเซอร์เบียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุษมานียะห์ภายหลังสมรภูมิโคโซโว  เมื่อปีคศ.1389  เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปีคศ.1815  และในปีคศ.1830  ยังคงเป็นรัฐอิสระที่อยู่ใต้อาณัติของอุษมานียะห์และได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์  ในปีคศ.1878)

                 วันที่  2  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1354  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 นักศึกษาชาวปาเลสไตน์ในมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรได้ยื่นคำคัดค้านถึงกระทรวงอาณานิคมอังกฤษโดยไม่เห็นด้วยที่อังกฤษใช้นโยบายคุกคามปาเลสไตน์  และได้เรียกร้องให้มอบสิทธิอันสมบูรณ์ในการเป็นเอกราชแก่ชาวอาหรับปาเลสไตน์ตลอดจนให้ตั้งรัฐบาลปกครองตนเองและยุติการอพยพของชาวยิวรวมถึงความพยายามในการเปลี่ยนที่ดินของชาวอาหรับไปให้ชาวยิวด้วยวิธีการที่ขาดความชอบธรรม  เพราะนั่นหมายถึงการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากประเทศของตน

                 ในเดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1397  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 ประธานาธิบดีฮุสนีย์  มุบาร็อก  แห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ได้กล่าวเปิดการประชุมสามัญ  ครั้งที่  8  ขององค์การวิจัยอิสลามด้วยคำสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีอันว๊าร  ชาด๊าด  โดยมีข้อความว่ามัสยิด  อัลอักซอ  อันประเสริฐ  ยังคงตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูและพี่น้องชาวปาเลสไตน์ก็ยังไม่สามารถเรียกร้องนำเอาสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขากลับคืนมา  สถานการณ์เช่นนี้ย่อมต้องมีการญิฮาดต่อสู้อย่างต่อเนื่อง  จนกว่าเราจะปลดปล่อยมาตุภูมิ,สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของปาเลสไตน์  และนี่ถือเป็นภาระหน้าที่สำหรับชาวอาหรับทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น  และเราก็จะไม่เบื่อหน่ายต่อการป่าวประกาศต่อพี่น้องมุสลิมและประชาคมโลกถึงความยุติธรรมในปัญหาของพวกเรา

                 วันที่  9  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1417  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 รัฐบาลอิสราเอลเริ่มดำเนินการสร้างเคหะชุมชนชาวยิวตามโครงการนิคมชาวยิว  ที่ภูเขาอบู  ฆุนัยน์  (ในเขตกรุงเยรูซาเล็ม)

                 วันที่  12  เดือนซุ้ลเกาะอฺดะห์  ปีที่  1417  แห่งฮิจเราะห์ศักราช
                 อิหม่ามอักบัร  ชัยคุ้ลอัซฮัร  ดร.มุฮัมมัด  ซัยยิดตอนตอวีย์ได้ลุกขึ้นเรียกร้องต่อสาธารณชนในการประชุมครั้งใหญ่ของมวลชนที่มัสยิด  อัลอัซฮัร  “จงมาสู่การญิฮาดเทอญ”  โดยท่านได้ย้ำถึงท่าทีของรัฐบาล  ผู้นำและประชาชนอียิปต์ที่พร้อมใจกันให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในการต่อต้านการกดขี่ที่เกิดขึ้นและปกป้องอัลกุดส์ 

                 ท่านชัยคุ้ลอัซฮัร  ได้กล่าวถึงการตั้งนิคมชาวยิวในอัลกุดส์  (เยรูซาเล็ม)  ว่ามีเป้าหมายในการทำให้นครแห่งนี้เป็นของชาวยิวและเปลี่ยนแปลงสถานที่สำคัญในอัลกุดส์  ท่านได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ถึงเป็นภาระหน้าที่ของพวกเราในการหยิบยื่นการช่วยเหลือพี่น้องชาวปาเลสไตน์  และพวกเราก็พร้อมในการพลีชีพและสละทรัพย์สินทั้งหมดหากมีความจำเป็นทั้งนี้เพราะเหตุที่ว่าเราไม่พึงพอใจต่อการกดขี่และการอธรรมเช่นนี้