อูฐ  สัตว์แห่งท้องทะเลทราย ซึ่งชาวอาหรับรู้จักมักจี่เป็นอย่างดี พอๆ กับควายหรือกระบือสำหรับคนไทยที่เป็นชาวนา  ในภาษาอาหรับเรียกอูฐเอาไว้หลายชื่อด้วยกัน  อาทิเช่น ญ่าม่าลุน (جَمَلٌ) คำนี้ฝรั่งเอาไปใช้ คือคำว่า Camelทั้งนี้ชาวอาหรับท้องถิ่นบางเหล่าออกเสียงคำ “ญ่าม่าลุน” หรือ “ญ่ามั๊ลฺ”  ว่า “ฆ่ามั้ล”  พอฝรั่งมาพบสัตว์แห่งท้องทะเลทรายที่ผูกพันกับชาวอาหรับก็เลยเรียกเพี้ยนเป็น  “ฆ่าเม็ล” (Camel) ในดินแดนยุโรปอันเป็นนิวาสถานของพวกฝรั่ง  ไม่มีสัตว์ชนิดนี้  จึงเรียกชื่อของมันอย่างชาวอาหรับ 

                     บางคนอาจจะตั้งข้อสังเกตว่า ในทวีปออสเตรเลียซึ่งฝรั่งอังกฤษไปตั้งรกรากอยู่ก็เห็นมีฟาร์มอูฐ  จะบอกว่า ฝรั่งไม่รู้จักอูฐได้อย่างไร  จริงๆ แล้วฝรั่งรู้จักอูฐจากชาวอาหรับมาก่อนหน้าการค้นพบทวีปออสเตรเลีย  แต่ภายหลังก็มีฝรั่งหัวใสขนเอาอูฐไปลองเลี้ยงในทะเลทรายของออสเตรเลีย  ซึ่งได้ผลดี

 

                    ในคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวถึง อูฐ ด้วย คำว่า ญ่ามาลุน  เอาไว้ 2 ที่ด้วยกัน 

                    ที่หนึ่ง มาในรูปคำนามบ่งประเภท (اسْمُ جِنْسٍ )  ปรากฏอยู่ในบท อัลอะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 40 ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธโองการต่างๆ ของเรา  และได้แสดงความโอหังต่อโองการเหล่านั้น  บรรดาประตูแห่งฟากฟ้าจะไม่ถูกเปิดให้แก่พวกเขา  และพวกเขาจะไม่ได้เข้าสวรรค์  จนกว่าอูฐจะลอดเข้าไปในรูเข็มได้  และในทำนองนั้นแหล่ะ  เราจะตอบแทนลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด” 

 

                    สำนวนในอายะฮฺนี้เป็นการอุปมาอุปมัยว่า  การที่พวกปฏิเสธจะได้เข้าสวรรค์นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม  เพราะรูเข็มนั้นเล็กกระจิดริด  และอูฐก็เป็นสัตว์สี่เท้าขนาดใหญ่  การที่อูฐจะลอดรูเข็มจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ตามหลักของเหตุผลและตรรกะ  สำนวนเช่นนี้ยังเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปในความหมายว่า  ไม่มีทาง, โดยสิ้นเชิง หรือหมดสิทธิ์อีกด้วย

 

                    ที่สอง  มาในรูปคำนามพหูพจน์  (جَمْعٌ )  ปรากฏอยู่ในบท  อัลมุรซ่าลาต  อายะฮฺที่ 33 กล่าวถึงไฟนรกญะฮันนัมว่า มันจะพ่นความร้อนออกมาเป็นประกายไฟที่มีขนาดใหญ่เท่าป้อมปราการ  คือ ประกายไฟหรือสะเก็ดไฟแต่ละอันที่ปะทุออกมาจากนรกญะฮันนัมนั้น มีขนาดใหญ่โตมโหฬารเท่ากับป้อมปราการหรือปราสาท  และความรวดเร็วของปะทุไฟตลอดจนสีสันของมันมีลักษณะคล้ายกับฝูงอูฐสีเหลืองเข้มก็มิปาน  ก็ลองจินตนาการดูเอาเองเถิดว่า  ขนาดสะเก็ดไฟของนรกญะฮันนัมที่ปะทุออกมายังมีความเขื่องและน่าสะพรึงกลัวขนาดนี้  และนรกญะฮันนัมโดยรวมจะน่าสะพรึงกลัวขนาดไหน บอกได้เลยว่าเกินจินตนาการและสุดจะบรรยาย  ดังนั้นคำว่า “อูฐ”  ในอายะฮฺแรกและ “ฝูงอูฐสีเหลืองเข้ม” ในอายะฮฺที่ สอง จึงเป็นอูฐที่ถูกหยิบยกมาเป็นอุปมาอุปมัย

 

                    นอกจากคำว่า ญ่ามาลุน (جَمَلٌ)  ในอัลกุรอานยังได้ใช้คำว่า อี้บิ้ล (إِبِلٌ)  โดยระบุไว้ในบท อัลอันอาม อายะห์ที่ 144  และบทอัลฆอชิยะฮฺ อายะห์ที่ 17 ซึ่งมีความว่า  “พวกเขาไม่พิจารณาดูอูฐดอกหรือว่า มันถูกบังเกิดมาอย่างไร”  อูฐเป็นสัตว์ที่ชาวอาหรับรู้จักและคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี  เรียกได้ว่า  อาหรับกับอูฐเป็นของคู่กัน  ลองมารู้จักอูฐกันสักหน่อย  อูฐ เป็นชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ในวงศ์ Camelidae  หัว คอ และขาทั้ง 4 ยาว  มีนิ้วตีนข้างละ 2 นิ้ว  กระเพาะมี 3 ส่วน  ไม่มีถุงน้ำดี  มี 2 ชนิด  คือ ชนิด 2 หนอก (Camelus bactrianus)  มีในประเทศจีน  ปากีสถาน  และอัฟกานิสถาน  เข้าใจว่าแหล่งกำเนิดของอูฐชนิดนี้อยู่ที่เมืองบัคเตรีย  หรือ บะลัค  อยู่ในอัฟกานิสถาน  เป็นเมืองชุมทางการค้าในเส้นทางสายไหมยุคโบราณ 

 

                    อีกชนิดหนึ่งคือ  ชนิดหนอกเดียว  (C.dromedarius)  มีมากในแถบประเทศอาหรับและทวีปแอฟริกาตอนเหนือ  คำว่า อูฐ เป็นภาษาประกฤติ (โอฏฐ)  บ้างก็ว่าเป็นศัพท์มาจากฮินดี ว่า  อูนต์  นักเดินทางสมัยก่อนเชื่อว่า  ขณะที่อยู่ในทะเลทรายและต้องการน้ำดื่ม  สามารถฆ่าอูฐและนำน้ำจากกระเพาะอาหารของอูฐมาดื่มได้  โดยทางทฤษฎีแล้ว  วิธีการดังกล่าวก็น่าจะเป็นไปได้  ทว่าปริมาณน้ำที่เก็บสะสมไว้ในกระเพาะ ก็มีไม่มากพอที่จะทำให้อูฐสามารถเดินทางในทะเลทรายได้ไกลๆ โดยไม่ต้องดื่มน้ำเลย

 

                    ส่วนโหนกหรือหนอกบนหลังอูฐนั้น ไม่ใช่ถังเก็บน้ำอย่างที่หลายคนเข้าใจ  อวัยวะส่วนนี้จะเต็มไปด้วยไขมันต่างหาก
เมื่ออูฐไม่สามารถเก็บน้ำไว้ในร่างกายได้มาก ๆ พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงสร้างร่างกายของอูฐให้มีกลไกบางอย่างที่ช่วยประหยัดน้ำให้ได้มากที่สุด  นั่นคือ

                    1. โดยทั่วๆ ไป  อุณหภูมิร่างกายคนเราจะไม่สูงเกินกว่า 37 องศาเซลเซียสได้มากนัก  เมื่ออุณหภูมิสูงกว่าเกณฑ์  ร่างกายจะขับเหงื่อออกมาเพื่อให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง  แต่อูฐจะรับความร้อนได้ถึง 41 องศาเซลเซียส  ซึ่งเป็นอุณหภูมิทั่วไป   ในท้องทะเลทรายที่ร้อนระอุ เหงื่อของอูฐถึงจะหลั่งออกมา  ดังนั้นอูฐจึงรักษาน้ำเอาไว้ในร่างกายได้มาก เพราะใช่ว่าอุณหภูมิในท้องทะเลทรายจะสูงเกิน 41 องศาเซลเซียส อยู่ตลอดเวลาเสียเมื่อไหร่

                    2. ขนอูฐสามารถกันความร้อนภายนอกได้ แต่ขนอูฐจะไม่หนาหรือยาวเกินความจำเป็น  มิฉะนั้นเหงื่อซึ่งระบายออกจากร่างกายจะไม่สามารถระเหยได้

                    3. ระบบสรีระของอูฐสามารถทนทานต่อการสูญเสียน้ำในร่างกายได้ดี  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวอื่นจะตายทันทีเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำเพียงร้อยละ 20 แต่อูฐสามารถทนอยู่ได้  แม้ร่างกายจะสูญเสียน้ำถึง ร้อยละ 40

                    4. อูฐดื่มน้ำได้ครั้งละมากๆ อูฐบางตัวดื่มน้ำในปริมาณเกือบ 1 ใน 3 ของน้ำหนักตัวภายใน 10 นาที  จากเหตุผลที่ว่ามา  ทำให้อูฐสามารถเดินทางไกลในทะเลทรายได้โดยไม่ต้องดื่มน้ำบ่อยๆ อูฐวิ่งได้เร็วกว่าชั่วโมงละ 16 กิโลเมตร  เร็วพอๆ กับแกะ ในขณะที่คนวิ่งเร็วที่สุดเพียง 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

                    อย่างไรก็ตาม  อูฐเป็นสัตว์บกที่สามารถกินน้ำได้ครั้งละหลายสิบลิตรและอดน้ำได้หลายวันติดต่อกัน และเนื่องจากมนุษย์เรานิยมใช้อูฐเป็นพาหนะเดินทางไปในทะเลทรายซึ่งร้อนและแห้งแล้ง  ทำให้อูฐต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อม  อันเป็นลักษณะพิเศษที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างให้มันเป็นเช่นนั้น 

 

                    อูฐลดการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายทุกๆ ทางดังที่กล่าวมา  โดยเฉพาะทางปัสสาวะ  จะทำให้น้ำปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงกว่าน้ำเลือดได้ถึง 8 เท่า ในขณะที่มนุษย์สามารถทำได้เพียง 4 เท่า  ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ปัสสาวะอูฐมีปริมาณน้อย  มีความเข้มข้นสูง  และกักเก็บไว้นานกว่าจะถูกขับถ่ายออกมา  ทำให้มีกลิ่นฉุนมาก  กลิ่นฉุนนี้เกิดจากของเสียในร่างกายที่ถูกขับออกมาทางไต ออกมากับปัสสาวะเรียกว่า “ยูเรีย” สารยูเรียนี้เมื่อถูกกักเก็บไว้นานหรือมีแบคทีเรียเข้าไปทำปฏิกิริยาจะถูกเปลี่ยนเป็น “แอมโมเนีย” ซึ่งมีกลิ่นฉุนเช่นเดียวกับแอมโมเนียที่ใช้ดมแก้เป็นลมนั่นเอง

 

                    เห็นมั้ยล่ะ ว่าเจ้าอูฐนี่เป็นสัตว์ที่มีอะไรพิเศษจริงๆ หากมนุษย์เราศึกษาเรื่องของอูฐอย่างจริงจัง ก็จะพบความน่าอัศจรรย์อีกเป็นอันมาก และความอัศจรรย์นั้นเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงพระปรีชาญาณในการสรรค์สร้างของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงฤทธานุภาพนั่นเอง

 

                    ในคัมภีร์อัลกุรอาน  ปรากฏคำว่า  อัลบุดนุ้ (اَلْبُدْنُ) ซึ่งหมายถึง  อูฐที่อ้วนพี  มีร่างใหญ่ เนื้อมาก  กล่าวไว้เพียงแห่งเดียวในบท อัลฮัจญ์ อายะห์ที่ 36 ความว่า “และอูฐที่อ้วนพีนั้น  เราได้กำหนดมันสำหรับพวกเจ้าอันเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาเครื่องหมายของอัลลอฮฺ   ในอูฐที่อ้วนพีนั้น คือ ความดีสำหรับพวกเจ้า”

 

                    เหตุที่เรียกอูฐอ้วนพีว่า “บุดน์” (بُدْنٌ)  เพราะ มันมีร่างกายที่ใหญ่โตมีเนื้อมาก  ถือเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีอานิสงค์มากในการเชือดกุรบ่าน (قُرْبَانٌ)  หรือ อุฎฮี่ยะฮฺ (أُضْحِيَّةٌ) ในช่วงพิธีฮัจญ์และการเชือดในช่วงวันอีดอัลอัฎฮา ที่ระบุว่า “มันมีความดีสำหรับพวกท่าน”  นั้นหมายถึงเป็นประโยชน์ในการใช้สอย  การใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง  การบริโภคหรือแม้กระทั่งห้องนอนเคลื่อนที่  ชาวอาหรับออกแบบกระโจมบนหลังอูฐ  ซึ่งเรียกว่า  เฮาดัจญ์ (هَوْدَجٌ) เอาไว้หลากหลายสไตล์  แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นทะเลทรายที่กว้างใหญ่ไพศาล  อูฐเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากและเป็นเพื่อนตายสำหรับชาวอาหรับบะดะวี่ย์ (เบดูอิน)  ประโยชน์ของมันในโลกนี้จึงมีมาก อีกทั้งประโยชน์ในโลกหน้าซึ่งเป็นผลานิสงค์ในการเชือดอูฐเป็นพลีทานก็มีมหาศาลเช่นกัน 

 

                    ชาวอาหรับถือว่าอูฐเปรียบเสมือน “เรือบก” ที่บรรทุกสัมภาระและสินค้าได้คราวละมากๆ มีความอึดเป็นยอด  อูฐบางตัวสามารถอดน้ำได้ถึง 10 วัน เหตุที่คออูฐยาวคล้ายยีราฟนั้นก็เพื่อช่วยให้มันทรงตัวได้ขณะที่มันลุกขึ้นพร้อมกับสัมภาระอันหนักอึ้งบนหลัง  อาหารของอูฐนั้นก็คือ พันธุ์พืชเกือบทุกชนิด  ต้นไม้และหนามบางชนิดอูฐสามารถกินเป็นอาหารได้  ในขณะที่สัตว์ชนิดอื่นกินพืชเหล่านั้นไม่ได้ 

                    จริงๆ แล้วชาวอาหรับแบ่งชนิดของอูฐเอาไว้หลากหลายด้วยกัน  อาทิเช่น  “อัลอัรฮะบี่ยะห์” (اَلأَرْحَبِيَّةُ)  เป็นพันธุ์อูฐของเผ่าอัรฮับ ในเมืองฮะมะดาน  บ้างก็บอกว่าอูฐพันธุ์นี้เป็นอูฐที่มีต้นกำเนิดจากเยเมน (ยะมัน)  “อัชชัซฺก่อมี่ยะฮฺ”  (اَلشَّذْقَمِيَّةُ)  เป็นอูฐของชาวอาหรับผู้หนึ่ง ชื่อ ชัซฺก็อม (شَذْقَمٌ) อัลอีดี่ยะฮฺ (اَلْعِيْدِيَّةُ)  เป็นอูฐของเผ่าอีด “อัลมัจญ์ดี่ยะห์” (اَلْمَجْدِيَّةُ)  เป็นอูฐของเมืองเยเมนเช่นกัน ฯลฯ  ชาวอาหรับบอกว่าอูฐเป็นสัตว์ขี้อิจฉาและอาฆาต  ขณะที่อูฐหนุ่มพยศนั้นนิสัยของมันจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง  เกรี้ยวกราด  อาละวาด  จนชาวอาหรับกระเจิดกระเจิงเลยทีเดียว  ที่แปลกก็คือ อูฐจะไม่ผสมพันธุ์กับแม่ของมัน  มีเรื่องเล่ากันมาว่า  ในสมัยโบราณมีชายผู้หนึ่งเอาผ้าคลุมแม่อูฐของตน  แล้วส่งลูกอูฐเข้าไปหาแม่อูฐนั้น เมื่อลูกรู้ว่านั่นเป็นแม่อูฐของตน  มันก็กัดลูกอัณฑะของตนจนขาดและหันมาเล่นงานชายผู้นั้นจนตาย  นี่เป็นเรื่องเล่าที่เขาเล่ากันมา  จริงเท็จประการใดก็มิอาจทราบได้

 

                    ชาวอาหรับเรียกชื่ออูฐ (كُنْيَةٌ) ว่า อบูอัยยู๊บ (أَبُوْاَيُّوْبَ) และ อบูซอฟวาน (أَبُوْصَفْوَانَ)  เนื้ออูฐเป็นที่อนุมัติ (حَلاَلٌ)  ให้บริโภคได้โดยมีตัวบทจากอัลกุรอานและมติเห็นพ้องของปวงปราชญ์  (اَلاِجْمَاعُ)  ส่วนการที่ท่านศาสดายะอฺกู๊บ (เจคอบ) หรือ  อิสรออีลถือว่าเนื้ออูฐและน้ำนมอูฐเป็นที่ต้องห้ามสำหรับตัวท่านนั้นเป็นไปตามการวินิจฉัยของท่านเอง  ทั้งนี้เนื่องจากท่านศาสดายะอฺกู๊บ (อะลัยฮิซซลาม) ได้เคยอาศัยอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร  และมีอาการปวดเส้นที่บั้นเอวจนถึงหัวเข่าหรือข้อเท้า  เรียกว่า โรคเหน็บชาคล้ายกับโรคเกาท์ (عِرْقُالنَّسَا)  ท่านเข้าใจว่า สาเหตุของอาการเจ็บป่วยดังกล่าว  มาจากการบริโภคเนื้ออูฐและนมของมัน  ท่านจึงถือว่า  นั่นเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับตัวท่าน

                    ในพระคัมภีร์อัลกุรอาน  ได้ระบุถึงอูฐเพศเมียด้วยคำว่า  อันนาเกาะฮฺ (اَلنَّاقَةُ)  7 แห่งด้วยกัน  ทั้งหมดเป็นเรื่องราวอูฐของท่านศาสดาซอและฮฺ (อะลัยฮิซซลาม)  ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ)  ได้ทรงสำแดงปาฏิหาริย์แก่กลุ่มชน ซะมู๊ด (ثَمُوْدُ) พวกซะมู๊ดเป็นชนเผ่าอาหรับโบราณในยุคสมัยหลังพวกอ๊าด  พวกซะมู๊ดอาศัยอยู่ในแคว้นอัลฮิจฺร์ (اَلْحِجْرُ)  ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแคว้นอัลฮิญาซฺกับเมืองตะบู๊ก  คำว่า ซะมู๊ด  เป็นนามชื่อของต้นตระกูลเผ่า  เป็นพี่น้องกับญ่าดีซ  ซึ่งทั้งสองเป็นบุตรของอาซิร บุตร อิรอม บุตร ซาม บุตรศาสดานัวฮฺ (อะลัยฮิซซลาม)  พวกซะมู๊ดกราบไหว้รูปเคารพเหมือนพวกอ๊าด  และมีความชำนาญในการสลักหินและภูเขาเป็นบ้านเรือน 

 

                    ท่านศาสดาซอและฮฺ (อะลัยฮิซซลาม)  ได้เรียกร้องพวกซะมู๊ดซึ่งเป็นชนเผ่าเดียวกับท่านให้ละทิ้งการกราบไหว้รูปเคารพและหันมาศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ)  เพียงพระองค์เดียว  อยู่มาวันหนึ่งพวกซะมู๊ดมารวมตัวกันในสโมสรของพวกตน  ท่านศาสดาซอและฮฺ (อะลัยฮิซซลาม)  จึงได้มาหาพวกซะมู๊ดและได้เรียกร้องเชิญชวนพวกนั้นให้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ)  แต่พวกซะมู๊ดตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าหากท่านศาสดาซอและฮฺทำให้อูฐตัวเมียซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ออกมาจากก้อนหิน  พวกตนถึงจะยอมศรัทธา 

 

                    ท่านศาสดาซอและฮฺจึงลุกขึ้นไปนมัสการและวิงวอนขอต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ให้สำแดงปาฏิหาริย์ (มัวอฺญิซาต)  พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ)  จึงทรงบันดาลให้ก้อนหินนั้นแตกออกแล้วมีอูฐเพศเมียท้อง 10 เดือนขนาดใหญ่ออกมาจากก้อนหินนั้น  เมื่อประจักษ์เห็นปาฏิหาริย์อันน่าอัศจรรย์นั้น  พวกซะมู๊ดส่วนหนึ่งก็ศรัทธาต่อการเรียกร้องเชิญชวนของท่านศาสดาซอและฮฺ  ในขณะที่พวกซะมู๊ดส่วนใหญ่ยังคงยืนกรานและปฏิเสธศรัทธาแต่ก็ยอมให้แม่อูฐนั้นมีชีวิตอยู่ท่ามกลางพวกเขา  โดยแม่อูฐมีอิสระในการออกหากินในทุ่งหญ้าและแบ่งวันให้แม่อูฐได้ดื่มน้ำจากบ่อผลัดกับพวกซะมู๊ด 

 

                    ต่อมาพวกซะมู๊ดหมดความอดทนเพราะพวกตนเดือดร้อนจากการใช้บ่อน้ำที่ต้องยอมสละวันให้กับแม่อูฐ  จึงรวมหัวกันคบคิดและสังหารแม่อูฐ  ในการสังหารแม่อูฐนี้มีผู้ลงมือทั้งหมด 9 คน โดยมี  กอดด๊าร บุตร ซาลิฟ บุตร ญุนดุอฺ เป็นผู้นำ  กล่าวกันว่า  บุคคลผู้นี้เป็นบุตรนอกสมรส (ลูกซินา)  ชายทั้งหมดได้ซุ่มยิงแม่อูฐด้วยลูกธนูและตัดขาทั้ง 4 ข้างของแม่อูฐด้วยดาบ  เมื่อพวกซะมู๊ดได้สังหารแม่อูฐแล้ว  ท่านศาสดาซอและฮฺ (อะลัยฮิซซลาม)  จึงได้บอกให้พวกซะมู๊ดทราบว่าภายในระยะเวลาหลังจากนี้อีกราว 3 วัน  พวกเขาจะต้องถูกลงทัณฑ์อย่างสาสม 

 

                    ในเช้าวันพฤหัสฯ  พวกซะมู๊ดตื่นมาด้วยใบหน้าซีดเซียวเป็นสีเหลือง  พอถึงวันศุกร์ใบหน้าของพวกเขากลับกลายเป็นสีแดงจัด  ครั้นพอถึงวันเสาร์ใบหน้าของพวกซะมู๊ดก็ดำคล้ำกันทุกคน  ครั้นเมื่อถึงรุ่งสางของวันอาทิตย์  พวกซะมู๊ดก็ได้แต่รอคอยชะตากรรมของพวกตน  ครั้นเมื่อดวงอาทิตย์ทอแสง  ก็เกิดเสียงกัมปนาทมาจากเบื้องบน  และแผ่นดินไหวสั่นสะเทือนมาจากเบื้องล่าง  พวกซะมู๊ดทั้งหมดจึงตายอยู่ในบ้านช่องของพวกตนโดยกลายเป็นศพที่ไร้วิญญาณ 

 

                    นี่คือการลงทัณฑ์จากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ)  ที่เกิดกับพวกซะมู๊ดที่ปฏิเสธศรัทธาและอาจหาญลงมือสังหารอูฐของพระองค์อันเป็นปาฏิหาริย์ของท่านศาสดาซอและฮฺ (อะลัยฮิซซลาม) ในคัมภีร์อัลกุรอานใช้สำนวนว่า “อูฐของพระองค์อัลลอฮฺ”  (نَاقَةُاللهِ)  เป็นการอ้างอิงในเชิงบ่งบอกถึงความสำคัญของแม่อูฐ  ซึ่งเป็นสัญญาณของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ)  ที่ยืนยันความสัจจริงของท่านศาสดาซอและฮฺ (อะลัยฮิซซลาม)  มีข้อมูลระบุว่า  ชาวซะมู๊ดที่ศรัทธาต่อศาสดาซอและฮฺมีจำนวน 4 พันคน  ทั้งหมดได้หลบหนีออกจากดินแดนของพวกตนไปยังแคว้น ฮัฎร่อเมาต์  พร้อมกับศาสดาซอและฮฺ  ครั้งเมื่อทั้งหมดได้มาถึงฮัฎร่อเมาต์  ท่านศาสดาซอและฮฺก็เสียชีวิตลงที่นั่น  ในภายหลังพวกซะมู๊ดที่เหลือจึงร่วมกันสร้างเมืองฮาฎู้ร ขึ้นที่นั่น  เรื่องของอูฐก็เห็นจะต้องจบลงแต่เพียงเท่านี้ 

                    อ้อ ! ลืมบอกไปว่า  อูฐที่มีขนสีแดงถือเป็นอูฐหายากสำหรับชาวอาหรับ  มีค่าสูงมากเลยทีเดียว  และท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ้อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม)  มีอูฐเป็นสัตว์พาหนะของท่านอยู่หลายตัว เช่น อัลกอซวาอฺ (اَلْقَصْوَاءُ)  มีระบุว่าเป็นอูฐตัวที่ท่านใช้ขี่ในการอพยพ (ฮิจเราะฮฺ)  อัลอัฎบาอฺ (اَلْعَضْبَاءُ)  และอัลญัดอาอฺ (اَلْجَدْعَاءُ)  อูฐที่ชื่อ  “อัลอัฎบาอฺ”  นั้นเป็นอูฐที่มีฝีเท้าจัด  ไม่เคยแพ้อูฐตัวใดในการแข่งขัน  แต่ต่อมาก็ต้องแพ้ให้กับอูฐของชาวอาหรับผู้หนึ่ง  ทำให้บรรดาสาวกเกิดความไม่สบายใจ  ท่านศาสดาจึงกล่าวว่า  “เป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ ที่พระองค์จะไม่ยกสิ่งใดจากโลกนี้ให้สูงส่ง  นอกเสียจากพระองค์ได้ทรงให้สิ่งนั้นต่ำลง“  กล่าวคือ  มีชนะก็ต้องมีแพ้  เป็นของธรรมดานั่นเอง