มรดกและการแบ่งมรดก

ความหมายและความสำคัญ

มรดก คือ ทรัพย์สินหรือสิทธิที่ผู้ตายได้ทิ้งไว้ ซึ่งทายาทโดยชอบธรรมมีสิทธิได้รับด้วยการสิ้นชีวิตของผู้ตาย (อัลฟิกฮุล-อิสลามีย์ 8/243) การแบ่งมรดก เป็นระเบียบตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ได้รับการยืนยันด้วยตัวบทอัลกุรฺอาน อัลหะดีษ และอิจญ์มาอฺ ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับหลักการที่ว่าด้วยการละหมาด การจ่ายซะกาฮฺ การทำธุรกรรมต่างๆและบทลงโทษตามลักษณะอาญา โดยจำเป็นในการบังคับใช้และนำมาปฏิบัติ ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงหรือฝ่าฝืน ไม่ว่ากาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปนานเพียงใดก็ตาม (อัลฟิกฮุ้ลมันฮะญีย์ 5/71,72) และผู้ใดปฏิเสธบัญญัติของศาสนาในเรื่องการแบ่งมรดก ผู้นั้นเป็นผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) ออกนอกจากศาสนาอิสลาม (อ้างแล้ว 5/68)

ท่านนบีมุฮำหมัด (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวว่า : “จงแบ่งทรัพย์สินในระหว่างผู้สืบทอดตามนัยแห่งคัมภีร์ของอัลลอฮฺ”   (รายงานโดยบรรดาเจ้าของสุนัน)


องค์ประกอบของการแบ่งมรดก

องค์ประกอบของการแบ่งมรดกมี 3 ประการ คือ

  1. เจ้าของมรดกหรือผู้ตาย (อัล-มุวัชริซฺ)
  2. ผู้สืบ (รับ) มรดก (อัล-วาริซฺ)
  3. ทรัพย์สินหรือสิทธิของเจ้าของมรดกหรือผู้ตาย เรียกในภาษาอาหรับว่า อัลเมารูซฺ,อัล-มีรอซฺ และอัล-อิรซฺ (المَوْرُوْثُ ، اَلمِيْرَاثُ ، اَلإِرْثُ) เมื่อขาดองค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดจาก 3 ประการนี้ ก็ไม่มีการสืบมรดก (อัลฟิกฮุลอิสลามีย์ 8/248,249)

สิ่งที่ถือว่าเป็นมรดก

สิ่งที่ถือว่าเป็นมรดกได้แก่

  1. สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ตาย เช่น ที่ดิน ตึก อาคาร บ้าน สวน ไร่นา รถยนต์ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น
  2. เงินสดในมือ และในธนาคาร
  3. ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีสิทธิโดยชอบธรรม แต่ยังมิได้มีการส่งมอบ เช่น หนี้สินของผู้ตายที่ติดค้างอยู่ที่ผู้อื่น (ลูกหนี้) เงินค่าทำขวัญ เงินค่าทดแทน เงินค่าตอบแทน เป็นต้น
  4. สิทธิทางวัตถุ ซึ่งมิได้เกิดจากตัวทรัพย์สินโดยตรงแต่ทว่าเกิดจากการกระทำโดยทรัพย์สินนั้นหรือมีความผูกพันกับทรัพย์สินนั้น เช่น สิทธิในน้ำดื่ม สิทธิในการใช้ทางสัญจร สิทธิในการอาศัย สิทธิในที่ดินเพื่อการเพาะปลูก สิทธิในการเช่าช่วง เป็นต้น

บรรดาสิทธิที่เกี่ยวพันกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย

มีสิทธิ 5 ประการที่เกี่ยวพันกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยมีความสำคัญก่อนหลังตามลำดับ ดังนี้ คือ

  1. บรรดาหนี้สินที่เกี่ยวพันกับตัวของทรัพย์มรดกก่อนหน้าการเสียชีวิตของผู้ตาย อาทิ เช่น การจำนอง,การซื้อขาย และทรัพย์สินซึ่งจำเป็นต้องออกซะกาฮฺ

  2. การจัดการศพ อันหมายถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดนับแต่การเสียชีวิตของผู้ตายจวบจนเสร็จสิ้นการฝังศพโดยไม่มีความสุรุ่ยสุร่ายหรือความตระหนี่ในการใช้จ่าย

  3. บรรดาหนี้สินที่มีภาระผูกพันกับผู้ตาย ไม่ว่าบรรดาหนี้สินนั้นจะเป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ ()อาทิ เช่น ซะกาฮฺ,สิ่งที่ถูกบน (นะซัร) เอาไว้ และบรรดาค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) หรือจะเป็นสิทธิของบ่าว อาทิ เช่น การยืมหนี้สิน เป็นต้น

  4. พินัยกรรม (วะศียะฮฺ) ที่ผู้ตายทำไว้จากจำนวน 1 ใน 3 ของทรัพย์สินที่ผู้ตายละทิ้งไว้ หลังจากค่าใช้จ่ายในการจัดการศพและการชดใช้หนี้สินของผู้ตาย

  5. ทรัพย์อันเป็นมรดก ซึ่งถือเป็นสิทธิที่เกี่ยวพันกับทรัพย์สินของผู้ตายในลำดับท้ายสุด โดยให้นำมาแบ่งระหว่างทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกตามสัดส่วนที่ศาสนากำหนด (อัลฟิกฮุล-มันฮะญี่ย์ 5/73,74)

เงื่อนไขของการแบ่งมรดก

การแบ่งมรดกนั้นจะมีเงื่อนไข ดังนี้

  1. เจ้าของมรดกได้เสียชีวิตอย่างแน่นอน หรือด้วยคำสั่งของศาล (ว่าเสียชีวิตหรือสาบสูญ)

  2. ผู้สืบมรดก (ทายาท) ยังมีชีวิตอยู่อย่างแน่นอน หรือด้วยคำสั่งของศาล

  3. จะต้องทราบว่าผู้นั้นเกี่ยวข้องในการสืบมรดกอย่างไร เช่น เป็นสามี เป็นภรรยา ฯล

  4. จะต้องไม่ถูกกันสิทธิในการสืบมรดกตามหลักศาสนบัญญัติ

ผู้ที่ไม่มีสิทธิในกองมรดก

ผู้ที่ไม่มีสิทธิสืบมรดกโดยเด็ดขาด มีดังนี้ คือ

  1. ผู้ที่ทำการสังหารเจ้าของมรดก หรือมีส่วนร่วมในการสังหาร (สมรู้ร่วมคิด) ไม่ว่าจะเป็นการสังหารโดยเจตนาหรือผิดพลาด,จะด้วยสิทธิอันชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม หรือตัดสินให้ประหารชีวิตหรือเป็นพยานปรักปรำจนเป็นเหตุให้มีการประหารชีวิตหรือรับรองพยานในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้มีรายงานจากท่าน อัมร์ อิบนุ ชุอัยฺบ์ จากบิดาของเขาจากปู่ของเขาว่า แท้จริงท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวว่า : – لَيْسَ لِلْقَاتِلِ شَئٌ (أَىْ مِنَ الْمِيْرَاثِ –  “สำหรับผู้สังหารย่อมไม่มีสิทธิใดๆเลยจากทรัพย์มรดก”  (อบูดาวูด-4564-)

  2. ทาส ทุกชนิด ทั้งนี้เพราะทาสไม่มีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน
  3. ผู้สืบมรดกเป็นชนต่างศาสนิก หรือสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม (มุรตัด) ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวว่า :  – لاَيَرِثُ الْمُسْلِم الكَافِرَوَلاَالْكَافِرُالْمُسْلِمَ –  “มุสลิมจะไม่สืบมรดกคนต่างศาสนิกและคนต่างศาสนิกก็จะไม่สืบมรดกคนมุสลิม”  (รายงานโดย บุคอรี-6383-,มุสลิม-1614-)

ผู้มีสิทธิสืบมรดก اَلْوَارِثُ (อัลวาริซฺ)

ทายาทผู้ตายที่เป็นชายซึ่งมีสิทธิในการสืบมรดก มีดังนี้

  1. บุตรชายของผู้ตาย

  2. หลานชาย เหลนชาย ฯลฯ

  3. บิดาของผู้ตาย

  4. ปู่ของผู้ตาย (บิดาของบิดา ฯลฯ)

  5. พี่ชายหรือน้องชาย (ทั้งที่ร่วมบิดามารดา หรือร่วมบิดา หรือร่วมมารดากับผู้ตาย

  6. บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชาย (ร่วมบิดามารดา)

  7. บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชาย (ร่วมบิดากับผู้ตาย)

  8. อาหรือลุง (พี่ชายหรือน้องชายของบิดาที่ร่วมบิดามารดากับบิดาของผู้ตาย)

  9. อาหรือลุง (พี่ชายหรือน้องชายของบิดาที่ร่วมบิดากับบิดาของผู้ตาย)

  10. บุตรชายของลุงหรือของอา (บุตรของพี่ชายหรือน้องชายของบิดาที่ร่วมบิดามารดากับบิดาของผู้ตาย)

  11. บุตรชายของลุงหรือของอา (บุตรของพี่ชายหรือน้องชายของบิดาที่ร่วมบิดากับบิดาของผู้ตาย)

  12. สามีของผู้ตาย

  13. ผู้ปลดปล่อยทาสให้เป็นไท (ในกรณีที่อดีตทาสที่เขาปล่อยนั้นเป็นเจ้าของมรดก)

อนึ่งถ้าบุคคลเหล่านี้ทั้งหมดมีชีวิตอยู่ในขณะแบ่งมรดกผู้มีสิทธิสืบมรดกมีเพียง บิดา ลูก และสามีของผู้ตายเท่านั้น

ทายาทผู้ตายที่เป็นหญิงซึ่งมีสิทธิในการสืบมรดก มีดังนี้

  1. บุตรีของผู้ตาย
  2. บุตรีของบุตรชาย (หลานสาว) หรือบุตรีของบุตรชายของบุตรชาย (เหลนสาว) ของผู้ตาย
  3. มารดาของผู้ตาย
  4. ย่า (มารดาของบิดา) ของผู้ตาย
  5. ยาย (มารดาของมารดา) ของผู้ตาย
  6. พี่สาวหรือน้องสาว (ร่วมบิดามารดาหรือร่วมมารดาหรือร่วมบิดากับผู้ตาย)
  7. ภรรยาของผู้ตาย
  8. นายหญิงผู้ปลดปล่อยทาสให้เป็นไท (ในกรณีที่อดีตทาสที่นางปลดปล่อยนั้นเป็นเจ้าของมรดก)

อนึ่ง ถ้าบุคคลเหล่านี้ทั้งหมดมีชีวิตอยู่ในขณะแบ่งมรดกผู้ที่มีสิทธิในการสืบมรดก คือ

  1. บุตรีของผู้ตาย
  2. หลานสาว (บุตรีของบุตรชาย) ของผู้ตาย
  3. ภรรยาของผู้ตาย
  4. มารดาของผู้ตาย
  5. พี่สาวหรือน้องสาวที่ร่วมบิดามารดากับผู้ตาย
    และถ้าหากนำผู้สืบมรดกทั้งชายและหญิงมารวมกัน  ผู้ที่มีสิทธิในการสืบมรดกนั้น คือ  1. บิดาของผู้ตาย  2. มารดาของผู้ตาย  3.บุตรชายของผู้ตาย  4.บุตรีของผู้ตาย  5.สามีหรือภรรยาของผู้ตาย

อนึ่ง เกี่ยวกับผู้สืบมรดกนี้ ยังแบ่งออกเป็นผู้ที่มีสิทธิสืบมรดกตามสัดส่วนที่ถูกกำหนดแน่นอน เรียกว่า อัศหาบุล-ฟัรฎ์ (أَصْحَابُ الْفِرْضَِ) และผู้มีสิทธิสืบมรดกในส่วนที่เหลือ เรียกว่า อะเศาะบะฮฺ (اَلْعَصَبَةُ)  ซึ่งสามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเพิ่มเติมต่อไป

อัตราหรือสัดส่วนการแบ่งมรดกตามที่มีปรากฏในคัมภีร์อัลกุรฺอาน คือ

  1. 1/2 เรียกว่า นิศฟุ (نِصْفٌ)
  2. 1/4 เรียกว่า รุบฺอ์ (رُبْعٌ)
  3. 1/3 เรียกว่า สุลุสฺ (ثَلُثٌ)
  4. 2/3 เรียกว่า สุลุสานิ (ثُلُثَانِ)
  5. 1/6 เรียกว่า สุดุสฺ (سُدُسٌ)
  6. 1/8 เรียกว่า สุมุนฺ (ثُمُنٌ)