ศาสนาอิสลามในสมัยสุโขทัย

บานหน้าต่างพระวิหารวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีภาพเขียนชาวต่างประเทศ ชาติต่างๆ

{jcomments on}ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ไม่มีเมืองใดเป็นราชธานีที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครองของประเทศ แต่บ้านเมืองแบ่งออกเป็นรัฐๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ละรัฐก็มีเมืองสำคัญของตนเอง

เช่น ภาคใต้มีเมืองนครศรีธรรมราช ภาคกลางมีเมืองสุพรรณภูมิ และอโยธยา ภาคเหนือตอนบนมีเมืองเชียงใหม่ และภาคเหนือตอนล่างมีเมืองสุโขทัย เป็นต้น (ศรีศักร วัลลิโภดม “กรุงศรีอยุธยาของเรา” ศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน (๒๕๔๑) หน้า “ความนำ”)

ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ดังปรากฏในหลักศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ ดังนี้

ทิศเหนือ ได้เมืองแพร่ น่าน พลั่ว (เมืองบัวในปัจจุบันในจังหวัดน่าน) เลยฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง)

ทิศใต้ ได้เมืองคณฑี (กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก (ชัยนาท) สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช จนสุดฝั่งทะเล

ทิศตะวันออก ได้สระหลวง (พิจิตร) สองแคว (พิษณุโลก) ลุมบาจาย (หล่มเก่า) สระคา ถึงฝั่งโขง เวียงจันทน์ เวียงคำ

ทิศตะวันตก ได้เมืองฉอด หงสาวดี จดสมุทรห้า (อ่าวเบงกอล)

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงยกทัพไปปราบอาณาจักรต่างๆ เพื่อขยายพระราชอาณาเขตของกรุงสุโขทัยออกไป เช่น อาณาจักรจามปา กัมพูชา และมลายู (รศ.ดนัย ไชยโยธา อ้างแล้ว หน้า ๒๓) ในจำนวนหัวเมืองที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งจากอาณาเขตของสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้นมีจามปา นครศรีธรรมราช และมลายู ในส่วนของจามปา นั้นศาสนาอิสลามได้สถิตอย่างมั่นคงมาก่อนแล้ว เพราะเพิ่งมาถูกพวกอันนัมทำลายลงในปี พ.ศ. ๒๐๑๔

ส่วนนครศรีธรรมราช ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น ปรากฏว่า ชาวเมืองนครศรีธรรมราช นับถือศาสนาอิสลามกันอยู่จำนวนมาก (บันทึกปาฐกถาของคึกฤทธิ์ ปราโมช หน้า ๙๙) ส่วนหัวเมืองมลายูทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นตานี (ระแงะ) ไทรบุรี (เคดาห์) กลันตัน, ตรังกานู, ปะหังและมะละกา (ซึ่งยังมิได้ตั้งเมืองขึ้นเป็นหลักเป็นฐาน) ผู้คนในย่านนั้นนับถือศาสนาอิสลามอยู่โดยทั่วไป (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ “มุสลิมในประเทศไทย” (๒๕๓๙) หน้า ๕

ดังนั้นหัวเมืองประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัยทางทิศใต้ นับตั้งแต่นครศรีธรรมราชลงไปจนสุดภาคใต้เลยไปจนถึงมาเลเซีย ทั้งสิงคโปร์ สุมาตรา มะละกา และหมู่เกาะอินโดนีเซีย (สุมาตรา-ชวา) ทั้งหมดนั้น ศาสนาอิสลามได้แผ่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ก่อนที่คนไตจะอพยพมาจากยูนนานและภาคใต้ของจีนเสียอีก (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ “ความสัมพันธ์ของมุสลิมฯ” หน้า ๑๑)

การปกครองพระราชอาณาเขตในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้นประกอบด้วยหัวเมืองชั้นใน (เมืองลูกหลวง), หัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราชอันหมายถึงหัวเมืองชายแดนอาณาจักรเป็นหัวเมืองชาวต่างชาติ ได้กำหนดให้เจ้านายของเมืองนั้นๆ ได้ปกครองกันเองมีอำนาจสิทธิ์ขาดภายในบ้านเมืองของตน แต่ต้องถวายเครื่องราชบรรณาการต่อพระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัยตามกำหนด เมื่อมีศึกมาประชิดกรุงสุโขทัย เมืองประเทศราชต้องเกณฑ์ไพร่พลมาช่วยรบด้วย

เมืองที่เป็นประเทศราชในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น สันนิษฐานว่ามีดังนี้ ทิศใต้ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองมะละกา และเมืองยะโฮร์ ทิศตะวันตก ได้แก่ เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ และเมืองหงสาวดี ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เมืองน่าน เมืองเซ่า (เมืองหลวงพระบาง) เมืองเวียงจันทร์ และเมืองเวียงคำ (รศ.ดนัย ไชยโยธา อ้างแล้ว หน้า ๑๙) ดังนั้น หัวเมืองประเทศราช ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอาณาจักรสุโขทัย ต่างก็เป็นหัวเมืองที่มีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลามอยู่ทั้งสิ้น อันนับแต่เมืองนครศรีธรรมราช จดแหลมมลายูคือเมืองยะโฮร์

ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ได้กล่าวถึงการขยายอำนาจของพ่อขุนราคำแหงมหาราชไว้ในบทความเรื่อง “จดหมายเหตุราชวงศ์หยวน” พิจารณาใหม่ ความว่า : “ในพ.ศ.๑๘๓๘/ค.ศ.๑๒๙๕) พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงแผ่พระราชอำนาจมาครอบคลุมเมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราช (ดังจารึกของพระองค์ระบุไว้) และยังทรงได้รุกรานไปจนถึงแหลมมลายู เป็นเหตุให้พระเจ้าหงวนส่งฮ่องเต้ราชโอรสของกุบไลข่าน มีคำสั่งให้กรุงสุโขทัย “อย่าทำร้ายชาวมลายูและให้รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้”

อย่างไรก็ดี พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในพ.ศ.นี้ก็ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ได้ทรงแผ่ขยายอาณาเขตทางใต้ครอบคลุมเมืองเพชรบุรี เมืองนครศรีธรรมราช และเลยไปจนถึงปลายแหลมมลายู” (มาตยา อิงคนารถ, ทวี ทองสว่าง และพัฒนา รอดสำอางค์ “ประวัติศาสตร์ไทย” ๒๕๒๙ หน้า ๓๗๔๓)

วรรณกรรมสมัยสุโขทัยที่สะท้อนความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองต่างๆ ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกพระราชอาณาจักรนั้น ดูได้จากหนังสือ “เรื่องนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นผู้รวบรวมหรือแต่งขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้บรรยายจำแนกชาติภาษาต่างๆ มากขึ้นไปกว่าที่เคยรู้จักกันมาก่อนหน้านั้น มีดังต่อไปนี้

แต่ข้าน้อย ผู้ชื่อ ศรีจุฬาลักษณ์ จะถึงจำแนกชาติ ภาษาต่างๆ ต่อออกไป คือ ภาษาไทยหนึ่ง (ในหนังสือใช้ตัวเลขไทย-ผู้เขียน) ลาวภาษาหนึ่ง ลาวน้ำหมึกภาษาหนึ่ง ลาวลื้อภาษาหนึ่ง ลาวเงี้ยวภาษาหนึ่ง ลาวทรงดำภาษาหนึ่ง ลาวทรงขาวภาษาหนึ่ง เขมรกัมพูชาภาษาหนึ่ง เขมรดงภาษาหนึ่ง เขมรละมาตภาษาหนึ่ง เขมรซวยภาษาหนึ่ง พม่าภาษาหนึ่ง รามัญภาษาหนึ่ง ทวายภาษาหนึ่ง กระแซภาษาหนึ่ง ยะไข่ภาษาหนึ่ง ไทยใหญ่ภาษาหนึ่ง (กล่าวถึงพราหมณ์ภาษา)

แขกอาหรับภาษาหนึ่ง แขกมะห่นภาษาหนึ่ง แขกสุนหนี่ภาษาหนึ่ง แขกมังกะลี้ภาษาหนึ่ง แขกมะเลลาภาษาหนึ่ง แขกขุร่าภาษาหนึ่ง แขกฮุยหุยภาษาหนึ่ง แขกมลายูภาษาหนึ่ง แขกมุหงิดภาษาหนึ่ง แขกชวาภาษาหนึ่ง แขกจามภาษาหนึ่ง แขกพฤกษภาษาหนึ่ง (หลังจากนี้กล่าวถึงฝรั่งภาษาและอื่นๆ) (วรรณกรรมสมัยสุโขทัย : กรมศิลปากรจัดพิมพ์ ๒๕๒๘ หน้า ๒๖๐)

บรรดาชนชาติแขก หรือเหล่าแขกภาษาที่ถูกระบุไว้ใน “ตำหรับนางนพมาศ” นี้แสดงให้เห็นว่าบรรดาชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีแล้วในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยเฉพาะในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ ๑ ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑ มีคำว่า “ปสาน” ซึ่งหมายถึงตลาดขายของแห้ง และเชื่อกันว่ามาจากศัพท์เปอร์เชีย บาซาร์ (Bazar) หรือศัพท์มลายูว่า ปะสัร ซึ่งเพี้ยนมาจากบาซาร์ (วัฒนธรรมไทย ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ หน้า ๕๗) ข้อความในศิลาจารึกมีว่า “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีตลาดปสานมีพระอัจนะ มีปราสาท มีป่าหมาก พร้าว มีป่าหมาก ลาง มีไร่มีนา มีถิ่นมีถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก…”

ใน “ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์” ท่านกาญจนาคพันธ์เขียนว่า “นับเพียงชั้นสุโขทัยที่เกิดศาสนาอิสลามขึ้นแล้ว แขกมะหะหมัด ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเรา เรารู้ไม่ได้ว่าเป็นชาติไหน ภาษาไหนว่าโดยเฉพาะภาษาหรือชาติอาหรับตามโคลงภาพวัดโพธิ์ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้จะได้เคยติดต่อหรือเข้ามาอยู่เมืองไทยเก่าแก่มาแล้วอย่างไร ก็ไม่มีทางทราบได้ แต่เมื่อว่าถึงถ้อยคำหรือภาษาที่มีปรากฏเป็นหลักฐานว่าเป็น “ภาษาแขก” ใช้เก่าแก่ที่สุดนั้น ก็ได้แก่ คำว่า “ปสาน” มีอยู่ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง

คำ “ปสาน” นี้ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ให้คำอธิบายว่า “ตลาดมีห้องแถวภาษาเปอร์เซียว่า “บาซาร์” แปลว่า ตลาดที่ตั้งประจำหรือถนนที่มีห้องเป็นร้านค้า ในภาษาไทยเขียนคำนี้หลายอย่าง เช่นในศิลาจารึกเขียน “ตลาดปสาน” ในกฎหมายลักษณะลักพาของพระเจ้าอู่ทอง เขียน “ตลาดพิศาล” เพี้ยนมาในยุคหลังๆ เขียน “ตลาดยี่สาน” ลักษณะตลาดของไทยสมัยโบราณกล่าวกว้างๆ เห็นจะมี ๒ อย่างคือตลาดที่ตั้งประจำอย่างหนึ่ง กับตลาดตั้งชั่วครั้งชั่วคราว อย่างที่เรียกว่า “ตลาดนัด” อีกอย่างหนึ่ง (วิทยาสาร ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๔๑ หน้า ๕๒)

อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาด “ปสาน” เป็นตลาดที่ตั้งประจำและมีห้องแถว ก็ย่อมแสดงว่า ในสมัยกรุงสุโขทัยนั้นมีชนชาติที่นับถือศาสนาอิสลามได้เข้ามาค้าขายและตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณตลาดดังกล่าว หรือไม่ก็อาศัยอยู่ในห้องแถวของตลาดนั่นเอง จึงพอจะกล่าวได้ว่า ชุมชนแรกของชาวมุสลิมในกรุงสุโขทัยนั้นก็คือ ย่านตลาดปสานนั่นเอง

จากจดหมายเหตุและพงศาวดารพบว่า สมัยกรุงสุโขทัยเรามีการค้ากับจีน มอญ ชวา มลายู และอาณาจักรรอบๆ เป็นสำคัญ (รศ.ดนัย ไชยโยธา “อ้างแล้ว” หน้า ๔๘) ในปัจจุบันเราพบเครื่องถ้วยชาม สังคโลกอันเป็นหัตถกรรมของกรุงสุโขทัย และเป็นสินค้าออกสำคัญยังประเทศมุสลิมหลายแห่ง (บันทึกปาฐกถาของ คึกฤทธิ์ ปราโมช หน้า ๙๙) เช่นที่ อินโดนีเซียซึ่งยังอยู่ในรูปเดิมดีกว่าที่พบเห็นในเมืองไทยเสียอีก

นอกจากนี้ยังได้พบในประเทศอิหร่าน และในทวีปแอฟริกาอีกหลายแห่ง และในประเทศฟิลิปปินส์ (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ “ความสัมพันธ์ของมุสลิม” (๒๕๔๕) หน้า ๑๑) จากหนังสือโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอนของ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” ได้กล่าวถึงการมาของชาวอินเดีย และอื่นๆ ไว้ว่า “เมื่อดูจากเศษกระเบื้องต่างๆ ที่เกลื่อนกลาดอยู่ริมทะเลของเมืองตะกั่วป่าก็แสดงให้เห็นได้ว่า ชาวจีนได้นำเครื่องกระเบื้องของเขาเข้ามาขายยังถิ่นนั้นตั้งแต่ ๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว และชาวเปอร์เซียก็ได้นำเครื่องกระเบื้องของตนเข้ามาค้าขายด้วยตั้งแต่ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้วเหมือนกัน

ชาวกรีกได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๒๔ คือไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ส่วนชาวอาหรับนั้น เรามีหลักฐานแน่นอนจากจดหมายเหตุของพวกอาหรับเอง ซึ่งแสดงให้ทราบว่าเขาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนส่วนนี้ตั้งแต่สมัย ๑,๑๐๐ มีมาแล้วเหมือนกัน (อ้างจาก ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ “มุสลิมในประเทศไทย” (๒๕๓๙) หลักฐานเหล่านี้แสดงว่า ได้มีการค้าขายระหว่างกรุงสุโขทัยกับมุสลิมมาช้านานแล้ว