อบูยูซุฟ ยะอฺกุ๊บ อิบนุ อิสหาก อัลกินดีย์  มีชีวิตอยู่ในระหว่าง ปี ฮ.ศ.185-252/ค.ศ.801-867  ถือกำเนิดในนครอัลกูฟะฮฺ (อิรัก) และศึกษาในนคร อัลบัซเราะฮฺ (อิรัก) กับบรรดานักปราชญ์ผู้เลืองนามของนครอัลบัซเราะฮฺ จนกระทั่งมีความเจนจัดในภาควิชาปรัชญา (อิบนุ ญัลญัล , ฎ่อบะกอต อัลอะฎิบบาอฺ หน้า 73)

อัลกินดีย์เป็นหนึ่งในปราชญ์ผู้มีอัจฉริยะ 12 ท่านแรกของโลก การ์ดเนอร์ กล่าวถึง อัลกินดีย์ ว่าเป็นนักปรัชญาอิสลามที่เลื่องลือที่สุด เป็นผู้หนึ่งที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อภาควิชาปรัชญา คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ กล่าวคือ เป็นที่ทราบกันว่า อัลกินดีย์ คือ ผู้วางรากฐานปรัชญาอิสลามในดินแดนตะวันออกและตะวันตก (ก็อดรีย์ ฮาฟิซ เฏาว์กอน , อ้างแล้ว หน้า 104)

ค่อลีฟะฮฺ อัลมะอฺมูน แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺได้มอบหมายให้อัลกินดีย์ แปลตำรับตำราของอริสโตเติล และนักปราชญ์ปรัชญาเมธีของกรีกท่านอื่น เป็นภาษาอาหรับ และอัลกินดีย์ยังได้ให้ความสนใจต่อการศึกษาปรัชญาอินเดีย อรรถาธิบายทฤษฎีของพวกเขาและวิพากษ์ทฤษฎีเหล่านั้น โดยใช้สำนวนในการเขียนตำราที่ง่ายต่อการเข้าใจของผู้คนที่ร่วมสมัยเดียวกับตน อันเป็นสิ่งที่ทำให้บรรดานักปรัชญาในสมัยของอัลกินดีย์ให้การยอมรับต่อผลงานทางวิชาการของเขา กอรปกับการรู้จักคัดสรรตำราที่เขาจะแปลเป็นภาษาอาหรับอย่างดีอีกด้วย

นักสืบพงษ์พันธุ์ (Genealogist) มีความเห็นสอดคล้องกันว่า อัลกินดีย์สืบเชื้อสายมาจากเผ่า อัลกินดะฮฺ ซึ่งเป็นพงษ์พันธุ์อัลกอฮฺฏอนียะฮฺดั้งเดิมที่เคยปกครองเยเมนในช่วงเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์ บิดาของอัลกินดีย์เคยกินตำแหน่งของเจ้าเมือง อัลกูฟะฮฺในรัชสมัยค่อลีฟะฮฺ อัลมะฮฺดี แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺ (อาลี อับดุลลอฮฺ อัดดัฟฟาอฺ , น่าวาบิฆ อุละมาอฺ อัลอะรอบ วัลมุสลิมีนฯ หน้า 86)

อิบนุ อันนะดีม กล่าวถึงอัลกินดีย์ว่า : เขาเป็นเลิศในสมัยของเขา เป็นหนึ่งในยุคเกี่ยวกับสรรพศาสตร์ เป็นนักปรัชญาอาหรับ เป็นนักวิชาการในสาขาการแพทย์, ปรัชญา, คำนวณ, เรขาคณิต, ตรรกวิทยา , ศาสตร์เกี่ยวกับดวงดาว , การประพันธ์ทำนองดนตรี และธรรมชาติของตัวเลข”

ฟรานซิส เบคอน (Bacon) ยอมรับถึงคุณูปการของอัลกินดีย์ว่า :  “อัลกินดีย์และอัลหะซัน อิบนุ อัลฮัยซัม อยู่ในแถวหน้าพร้อมกับปโตเลมี (บัฏลัยมูส) อัลกินดีย์คือบุคคลแรกที่ได้รับการขนานนามว่า “นักปรัชญาอิสลาม” เขาศึกษาค้นคว้าในเรื่องเรขาคณิต (geometry) และแต่งตำราในศาสตร์แขนงนี้”

อัชชะฮฺรูซีย์และอัลบัยหะกีย์ ต่างก็ยอมรับว่าอัลกินดีย์คือวิศวกรผู้ชำนาญการ

บรรดานักวิชาการในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และยุคถัดมา ต่างก็อ้างอิงทฤษฎีและตำราของอัลกินดีย์ในการสร้างอาคารบ้านเรือน ตลอดจนการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำไทกรีสกับยูเฟรติสเข้าด้วยกัน

ถือกันว่า อัลกินดีย์ เป็นนักคิดมุสลิมคนแรกที่ออกนอกกรอบความคิดแบบจารีตของชาวกรีก กล่าวคือ เขาได้กำหนดหลักสูตรของศาสตร์แขนงต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น

1. ภาควิชาปรัชญา ซึ่งรวมรายวิชาคณิตศาสตร์ , ตรรกวิทยา , ธรรมชาติวิทยา , ฟิสิกส์ , การเมือง และสังคมวิทยา

2. ภาควิชาศาสนศาสตร์ รวมวิชาอุซูลุดดีน (หลักความเชื่อมูลฐานของศาสนา) หลักศรัทธา , การให้เอกภาพต่อพระผู้เป็นเจ้าและการตอบโต้กลุ่มผู้อุตริกรรมและฝ่ายตรงกันข้าม

การแบ่งภาควิชาตามหลักสูตรของอัลกินดีย์ ได้ผสมผสานปรัชญาของพลาโต (อัฟลาโตน) และอริสโตเติ้ลเข้าด้วยกัน และอาศัยวิธีการวิเคราะห์แบบตรรกวิทยา ปรัชญาของอัลกินดีย์เป็นที่รู้จักกันในเวลานั้นว่า “ปรัชญาใหม่” (New philosophy)

อัลกินดีย์ยังถืออีกว่า การศึกษาวิชาคณิตศาสตร์นั้นเป็นหนทางสู่การทำความเข้าใจปรัชญาและอธิบายว่า คณิตศาสตร์จะเป็นที่ยอมรับด้วยการอ้างหลักฐาน ไม่ใช่การคาดเดาหรือการยอมจำนนส่วนบุคคล นอกจากนี้เขายังเชื่อว่า ท่วงทำนองของดนตรีมีผลต่อการเต้นของหัวใจ บางทำนองทำให้ตื่นเต้นระทึกใจ และบางทำนองทำให้ผ่อนคลาย ด้วยเหตุนี้อัลกินดีย์จึงให้ความสนใจในการศึกษาวิชาดนตรี

อัลกินดีย์ มีความเห็นว่า การศึกษาค้นคว้าวิชาเคมีเพื่อเล่นแร่แปรธาตุให้เป็นทองคำนั้น เป็นการสูญเสียเวลาและเงินทองโดยใช่เหตุ ในขณะที่ผู้คนร่วมสมัยเป็นจำนวนมากกลับไม่เห็นเช่นนั้น อัลกินดีย์จึงเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เพื่อหักล้างคำกล่าวอ้างของพวกนักเล่นแร่แปรธาตุ ที่ต้องการเสกธาตุให้เป็นทองหรือเงินว่าไร้สาระ

นอกจากนี้ อัลกินดีย์ยังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการศึกษาวิชากลศาสตร์อีกด้วย

ตำรับตำราที่อัลกินดีย์ได้แต่งเอาไว้มีอยู่ราว 265 เล่ม แบ่งเป็น 22 เล่มในสาขาปรัชญา , 16 เล่มในสาขาวิชาดาราศาสตร์ , 14 เล่มในวิชาคำนวณ , 32 เล่มในวิชาเรขาคณิต , 22 เล่มในวิชาแพทย์ศาสตร์ , 12 เล่มในวิชาธรรมชาติวิทยา , 7 เล่มในวิชาดนตรี , 5 เล่มในวิชาจิตวิทยา และ 9 เล่มในวิชาตรรกวิทยา และยังเขียนตำราเกี่ยวกับตาหรือจักษุประสาท (Optic) ซึ่งอิบนุ อัลฮัยซัมได้อาศัยข้อมูลจากตำราเล่มนี้ในการอ้างอิงตำราของตน

อัลกินดีย์ไม่เชื่อว่าดวงดาวมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของมนุษย์ เขาจะไม่ทำนายหรือพูดอย่างที่นักโหราศาสตร์มักนิยมกระทำกัน แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า อัลกินดีย์จะไม่ศึกษาค้นคว้าวิชาดาราศาสตร์ ตรงกันข้าม อัลกินดีย์กลับให้ความสำคัญและศึกษาการโคจรของดวงดาวและแต่งตำราเกี่ยวกับดาราศาสตร์เอาไว้เป็นจำนวนมาก นักประวัติศาสตร์บางคนถือว่า อัลกินดีย์ คือ หนึ่งในแปดของนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคกลาง

อิบนุ อบีอุซอยบิอะฮฺ กล่าวว่า : “อัลกินดีย์ได้แต่งตำราและหนังสือเป็นจำนวนมากในทุกสาขาวิชา”

อิบนุ นะบาตะฮฺ ก็กล่าวถึงอัลกินดีย์ด้วยความประทับใจว่า “ยะอฺกู๊บ ได้ย้ายมาอยู่ในนครแบกแดด และศึกษาวรรณคดี ตามด้วยศาสตร์แขนงต่างๆ ของปรัชญา เขาศึกษาจนช่ำชองและชำนาญ และสามารถแก้ข้อปัญหาต่างๆ ในตำราของชนรุ่นก่อนๆ เอาอย่างอริสโตเติ้ลและแต่งตำราที่ยิ่งใหญ่เป็นอันมาก… และอาณาจักรของอัลมุอฺตะซิมก็งดงามด้วยอัลกินดีย์และตำราของเขา ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก”

ในปี ฮ.ศ. 1382 รัฐบาลของอิรักได้จัดงานเฉลิมฉลองเพื่อประกาศเกียรติคุณของอัลกินดีย์ เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งพันปี นับแต่การสิ้นชีวิตของท่าน และชาวอิรักยังเรียกหอดูดาวของพวกเขาในนครแบกแดดอีกด้วยว่า หอดูดาวอัลกินดีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่นักปราชญ์ผู้นี้