ซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ (ثابت بن قرة)

ซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ ถือกำเนิด ณ เมือง ฮัรฺรอน (Carrhae) (เป็นเมืองโบราณในตุรกี, เป็นที่พำนักของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.ล.) ภายหลังการอพยพจากเมืองอู๊ร, ในเมืองฮัรฺรอนมีสถานศึกษาที่สอนดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์) ในปี ฮ.ศ.221/ค.ศ.836 และสิ้นชีวิตในนครแบกแดด ในปี ฮ.ศ.288/ค.ศ.901 ในช่วงแรก ซาบิตฺ เป็นพ่อค้ารับแลกเงินในเมือง ฮัรฺรอน  ต่อมาภายหลังก็ย้ายถิ่นฐานมาสู่นครแบกแดดและศึกษาค้นคว้าศาสตร์แขนงต่างๆ ของชนรุ่นก่อนจนมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่กล่าวขานในนครแบกแดด (อัลก็อฟฏี่ย์, ตารีคอัลฮุกะมาอฺ หน้า 115/ อิบนุ อบี อุซอยบิอะฮฺ ซอบิอะฮฺ เป็นลัทธิความเชื่อที่มีผู้นับถือในเมืองฮัรฺรอนและดินแดนเอเชียกลาง มีภาษาซุรยานียะฮฺ เป็นภาษาของตน พวกนี้กราบไหว้ดวงดาวและซาบิตฺก็เป็นผู้หนึ่งที่นิยมในลัทธินี้)

หลายประเด็น พวกซอบิอะฮฺไม่ยอมรับข้อโต้แย้งของซาบิตฺ และผู้นำของพวกเขาก็ห้ามมิให้ซาบิตฺเข้าสู่วิหารของพวกเขา ซาบิตฺจึงเดินทางออกจากเมืองฮัรฺรอน และมุ่งสู่เมืองกุฟฺรุตูมา ซึ่งที่นั่นซาบิตฺได้พบกับ มุฮำมัด อิบนุ มูซา อัลคุวาริซฺมี่ย์ ขณะเดินทางกลับจากหัวเมืองของโรมันไบแซนไทน์

อัลคุวาริซฺมี่ย์ประทับใจต่อความเฉลียวฉลาดและความฉะฉานของซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ จึงชวนให้ซาบิตฺร่วมเดินทางไปยังนครแบกแดดกับตน และนำตัวซาบิตฺเข้าถวายงานกับค่อลีฟะฮฺอัลมุอฺตะฎิด แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ซาบิตฺเข้าอยู่ในกลุ่มโหราจารย์ประจำราชสำนัก ซาบิตฺได้รับเกียรติจากค่อลีฟะฮฺเป็นอันมาก เป็นที่โปรดปรานและได้รับพระราชทานรางวัลและที่ดินในนครแบกแดดเป็นอันมาก

ซาบิตฺ เป็นผู้หนึ่งจากเหล่านักปราชญ์ผู้เลืองนามในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เขาพูดได้หลายภาษา ทั้งภาษาอัซซุรยานียะฮฺ, ฮิบรู, ภาษากรีก และภาษาอาหรับ มีความชำนาญในการแปลและถ่ายทอดภาษาจนถือกันว่าเขาเป็นนักแปลหรือล่ามผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง และยังเป็นนักวิชาการของสถานศึกษาแห่งเมืองฮัรฺรอน ที่เลื่องลือที่สุดในโลกอาหรับ (ก็อดรี่ย์ ฮาฟิซ เฎาวักกอน, อัลอุลูม อินดัล อะร็อบ หน้า 118)

ซาบิตฺ ได้แปลตำราของปโตเลมี (บัฏลัยมูซ) หลายเล่ม อาทิเช่น อัลมาญิสฏี่ย์ (มาเจสติก) ตำราภูมิศาสตร์โลก เป็นต้น นอกจากนี้เขายังได้แปลตำรับตำราของชนรุ่นก่อน มีทั้งตำราคณิตศาสตร์, ตรรกวิทยา ,โหราศาสตร์และแพทย์ศาสตร์ ซึ่งนั่นเป็นเพราะซาบิตฺมีความชำนาญในภาษาต่างๆ นั่นเอง

นักประพันธ์ ลีน เธอนาดิก กล่าวถึง ซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺว่า : “ซาบิตฺ อิบนุ กุรเราะฮฺ เป็นนักคณิตศาสตร์และนักภาษาศาสตร์ผู้ช่ำชอง เขามีข้อเขียนที่สำคัญมากในวิชาพีชคณิต ในข้อเขียนนั้นเขาได้แก้สมการยกกำลังสามอยู่ด้วย”

ดร.ฟรานซิส คาร์มูดีย์ ระบุว่า : “ซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺได้แปลผลงานทางวิชาการส่วนใหญ่ของ อิกลิดุส (Eukleide’s) ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ชาวกรีก (ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล), อาร์คิมิดุส (Arkhimedes) ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคโบราณ (287-212 ก่อนคริสตกาล), อบูลูนิอุส (Apollonios) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์แห่งนครอเล็กซานเดรีย (260-200 ก่อนคริสตกาล) และกลอดิอุส ปโตเลมี นักดาราศาสตร์และนักภูมิศาสตร์กรีก (ราวปี ค.ศ.90-168) จนกระทั่งตำราข้อเขียนของนักปราชญ์ชาวกรีกที่กล่าวมาได้กลายเป็นแบบเรียนที่ใช้เป็นมาตรฐานในทุกแว่นแคว้นของจักวรรดิ์อิสลาม” (อะลี อับดุลลอฮฺ อัดดัฟฟาอฺ,อ้างแล้ว หน้า 94)

การกำหนดแบบแผนในราชสำนักอับบาซียะฮฺนั้นมีผลพวงอันใหญ่หลวงในการอุปถัมภ์วิทยาการและเหล่านักปราชญ์ กล่าวคือ ค่อลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺเกือบทุกท่านต่างก็ให้ความสนใจอย่างยิ่งยวดต่อสิ่งที่บรรดานักปราชญ์ได้นำเสนอการค้นพบและการประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ อันเป็นการอุปถัมภ์ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด อาทิเช่น ค่อลีฟะฮฺ อัลมุอฺตะฎิด บิลลาฮฺ นั้น พระองค์มักจะร่วมวงสนทนากับเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิต อดตาหลับขับตานอนในยามค่ำคืนเพื่อรับฟังการอภิปรายของนักปราชญ์และสิ่งที่พวกเขาได้ประดิษฐ์คิดค้นในศาสตร์แขนงต่างๆ และพระองค์จะทรงพระราชทานรางวัลอันมากมายแก่พวกเขาอยู่เนืองๆ

และนักปราชญ์ผู้ทรงคุณวุฒิก็มีสถานภาพที่สูงส่งทางสังคมและเป็นที่โปรดปรานของเหล่าค่อลีฟะฮฺ และซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺก็เป็นนักปราชญ์ผู้หนึ่งที่นำเสนอผลงานการค้นคว้าทางวิชาการและการประดิษฐ์คิดค้นต่อค่อลีฟะฮฺ อัลมุอฺตะฎิด พระองค์จึงทรงโปรดปรานและพระราชทานทรัพย์สินและที่ดินเป็นอันมากเป็นรางวัลแก่ซาบิตฺ 

นักวิชาการในปัจจุบันทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตกต่างก็มีความเห็นพ้องกันว่า ซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ ได้ปูทางอย่างเป็นวิชาการเกี่ยวกับการคำนวณ แคล-คิวลัส (Calculus) ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณจำนวนหนึ่งจำนวนใด โดยสมมติจำนวนน้อยที่สุดเป็นเกณฑ์เพิ่มหรือลดโดยเฉพาะเรียกว่า integral calculus (حساب التكامل) ส่วนการคำนวณซึ่งตรงกันข้ามกับข้างบนเรียกว่า differential calculus (حساب التفاضل) ดังที่ เดวิด ลูแกน สมิต ได้ระบุเอาไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์คณิตศาสตร์” และในการบรรยายทางวิชาการ ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก เมื่อปี ค.ศ. 1920

ซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ ยังได้รับการยกย่องจากนักปราชญ์ร่วมสมัยเดียวกันว่า มีความชำนาญในสาขาวิชาเรขาคณิต เขากล้าสวนกระแสด้วยการวิพากษ์ทฤษฎีและความคิดในวิชาเรขาคณิตของ อิกลีดุสซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีผู้ใดกล้าวิพากษ์วิจารณ์ และยังรู้จักประยุกต์ใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมมุมฉากของ พิธากอรัส (584-495 ก่อนคริสตกาล) ได้อย่างครอบคลุมอีกด้วย

ชื่อเสียงของซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ เป็นที่ยอมรับกันในด้านการแพทย์และเภสัชกรรมอีกเช่นกัน เขาแต่งหนังสือเล่มหนึ่งที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการอักเสบของไตและท่อปัสสาวะ และมีอีกเล่มหนึ่งแต่งเกี่ยวกับวิธีการปรุงยาสมุนไพร

นักวิชาการของยุโรปและอเมริกาทำทีไม่รับรู้ถึงคุณูปการที่ซาบิตฺได้หยิบยื่นแก่อารยธรรมของมนุษยชาติ  บางคนถึงกับปักใจเชื่อว่าภูมิปัญญาของชาวอาหรับไม่ถึงขั้นในการสร้างทฤษฎีมูลฐานอย่างกาลิเลโอ, นิวตัน เป็นต้น ที่เป็นเช่นนั้น น่าจะมีเหตุมาจาก 2 ประการ คือ

1 ชาวตะวันตกไม่ยอมรับและแสร้งไม่รับรู้ถึงมรดกทางวิชาการของชาวอาหรับและอิสลาม

2 ชาวอาหรับละเลยไม่ให้ความสำคัญต่อมรดกทางวิชาการของพวกเขาเอง  อันเป็นสิ่งที่ช่วยให้ชาวตะวันตกมีความเชื่อเช่นนั้น

ส่วนหนึ่งจากตำราที่ซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ ได้แต่งไว้มีดังนี้

1 ตำราเกี่ยวกับข้อปัญหาทางเรขาคณิต

2 หนังสือว่าด้วยปัญหาของอิกลิดุส

3 หนังสือว่าด้วยเหตุของการเกิดคราส

4 ข้อเขียนในวิชาพีชคณิตและความสัมพันธ์ของพีชคณิตกับเรขาคณิต

5 ตำราการคำนวณทางดาราศาสตร์

6 หนังสือการคำนวณการเกิดสุริยคราสและจันทรคราส

7 หนังสือว่าด้วยบทนำเกี่ยวกับตัวเลข

8 ข้อเขียนเกี่ยวกับความสมดุลของน้ำหนัก

9 หลักมูลฐานทางเรขาคณิตของอิกลิดุส

10 ข้อเขียนว่าด้วยรูปทรงกรวยและปริซึม (อัลมุกาฟิอฺ) ฯลฯ