ประชาคมมุสลิมในกรุงศรีอยุธยา

ภาพเขียนชาวแขกเทศในสมัยอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาเป็น “ศูนย์กลางการค้านานาชาติ” ที่พ่อค้าจากตะวันออกและตะวันตกมาพบปะแลกเปลี่ยนสินค้า ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ “ส่งผ่าน” สินค้าจากตะวันออกไปตะวันตก และจากตะวันตกไปตะวันออก พร้อมทั้งขาย “ของป่า” จากภูมิภาคอุษาคเนย์ให้กับจีนและฝรั่งด้วย

บรรยากาศความเป็น “ศูนย์กลางการค้านานาชาติ” ของกรุงศรีอยุธยามีอยู่ในกลอน “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ตอนหนึ่งว่า

“เป็นที่ปรากฏรจนา สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน

ทุกบุรีสีมามณฑล จบสกลลูกค้าวานิช

ทุกประเทศสิบสองภาษา ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคนิต

ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิษ ทั้งความพิกลจริตและความทุกข์”

นานาชาติที่กล่าวถึงมีประชาคมมุสลิมหรือแขกภาษาอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็นดังนี้

(๑) มุสลิมกลุ่มจาม มลายู และมุสลิมจากรัฐในหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ กลุ่มที่ตั้งชุมชนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ มุสลิมเชื้อสายมลายูหรือมุสลิมที่มาจากรัฐในคาบสมุทรมลายู พวกมักกะสันหรือมุสลิมจากรัฐมะกัสซาร์ในหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมุสลิมชาวจาม

มุสลิมกลุ่มนี้มีทั้งที่เข้ามาประกอบการค้าและอพยพเข้ามาเพราะปัญหาทางการเมือง โดยถูกกวาดต้อนหรืออพยพลี้ภัยเข้ามา จึงประกอบด้วยคนหลากหลายอาชีพและชนชั้น บางกลุ่มมีเจ้านายของตัวเองเข้ามาอยู่ด้วย เช่นพวกมะกัสซ่าร์ (Muhammad Rabi, The Ship of Sulaiman,p”177 John F.Cady,Southeast Asia;Its Historica Development (New York; Mc Graw Hill Book, 1994) , p.219)

หรือพวกแขกมักกะสัน คือ พวกมลายูซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เมืองมากัสซาร์ในเกาะซิลิบีส มี “เจ้าดาย” เป็นหัวหน้าได้ควบคุมพากันอพยพหนียุคเข็ญเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานที่ให้อยู่นอกเมือง (ส. พลายน้อย, ชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย, รวมสาส์น (๒๕๓๘) หน้า ๒๔๗-๒๔๘) ยุคเข็ญที่พวกแขกมักกะสันประสบ ก็คือ การยึดครองหมู่เกาะอินโดนีเซีย (ชวา) ของพวกวิลันดา (ดัชท์) นั่นเอง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, ศึกมักกะสัน เมืองบางกอก, ศิลปวัฒนธรรม (๒๕๔๕) หน้า ๖๐)

และที่ดินพระราชทานนั้นอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตก ใกล้คลองตะเคียนด้านใต้ลงไป (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, มุสลิมในประเทศไทย, (๒๕๓๙) หน้า ๓)  คลองตะเคียนนั้นเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คลองขุนละครไชย ที่ปากคลองนั้นมีป้อมปืนอยู่หนึ่งแห่ง มีประตูช่องกุด ๑ ช่องที่ปากคลองคูจามก็มีป้อมปืนเช่นกัน บริเวณคลองตะเคียนนี้มีชุมชนของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นชุมชนใหญ่

บรรดาชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยาม มีทั้งพวกที่เป็นพ่อค้าและพวกทาส ดังปรากฏอยู่ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารหอหลวง, หน้า ๗ และในหนังสือ “The Suma Oriental” ของโตเม ปิเรส ระบุว่าพ่อค้าปัตตานี เคดะห์ กลันตัน ตรังกานู ค้าขายกับจีนและพวกมัวร์ โดยผ่านสยาม และยังได้ระบุว่าสินค้าจากมะละกาที่เข้ามาค้าขายในสยามประกอบด้วย ทาสหญิงและทาสชาย แสดงว่าพวกมลายูส่วนหนึ่งคงถูกขายเป็นทาส เพื่อนำมาใช้แรงงานในสยามตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น (ดูรายละเอียดใน Michael Smithies,tr,The Chevalier de Chaumont and the Abbe’de Choisy Aspects of the Embassy to Siam 1685 (Chiang Mai : Silkworm Books, 1997) p.84)

นอกจากนี้ยังมีพวกเชลยที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเนื่องจากสงครามระหว่างรัฐมุสลิมในคาบสมุทรมลายูและสยาม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว รัฐมุสลิมในเขตคาบสมุทรมลายู ถือเป็นรัฐที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจทางการเมืองของอยุธยา มีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราช อย่างเช่นปัตตานีและเคดะห์ (ไทรบุรี) รัฐดังกล่าวต่อต้านอำนาจการปกครองของอยุธยาอยู่เป็นช่วง ๆ ซึ่งทำให้กษัตริย์อยุธยาต้องทรงส่งกองทัพออกไปปราบปรามหลายครั้ง (ดร.จุฬิศพงษ์ จุฬารัตน์, อ้างแล้ว หน้า ๔๐)

พ่อค้ามลายูส่วนใหญ่มีชุมชนอยู่บริเวณริมน้ำ ซึ่งสะดวกต่อการค้าขาย และพลเมืองชาติพันธุ์มลายูเหล่านี้เป็นกำลังพาณิชย์นาวีของกรุงศรีอยุธยา เพราะชำนาญการเดินเรือเลียบฝั่ง มีอาชีพประมง ชาติพันธุ์นี้ยังกระจัดกระจายไปทั่วฝั่งทะเลอันเป็นเส้นทางการเดินเรืออีกด้วย (ปัญญา ศรีนาค, ถลางฯ หน้า ๑๕) 

ในส่วนของเชลยศึกปัตตานีที่ถูกจับเป็นเชลยศึกในคราวที่อยุธยารบกับปัตตานีนั้น เมื่อถูกนำไปถึงอยุธยา ก็เข้าตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบปากคลองตะเคียนเป็นส่วนใหญ่ แต่มีบางส่วนได้หนีกลับมาหรือถูกปล่อยให้กลับมา ดังกรณีของชาวมุสลิมในจังหวัดเพชรบุรี นั่นคือลูกหลานของชาวปัตตานีที่เคยเป็นเชลยศึก เมื่อถูกปล่อยหรือหนีมาแล้วมาถึงที่เพชรบุรี เห็นทำเลดี จึงปักหลักอยู่ในนั่นเลย (อับดุลลอฮฺ ลออแมน, หนังสือที่ระลึกครบรอบ ๓๗๐ ปี มัสยิดวาดีอัลฮุเซ็น (ตะโละมาเนาะ) ๒๕๓๒, หน้า ๑๐)

นอกจากนี้ยังมีชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูเช่นกัน ตั้งชุมชนในคลองบางกอกใหญ่ตั้งแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๕๓-๒๑๗๗/ค.ศ. ๑๖๑๐-๑๖๒๘) (ดูรายละเอียดใน เสาวนีย์ จิตต์หมวด, กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยมุสลิม, กรุงเทพมหานคร ; กองทุนสง่ารุจิระอัมพร, ๒๕๓๑ หน้า ๑๒๕)

สำหรับชาวจามหรือแขกจาม เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนามบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ชาวจามจำนวนหนึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยมีประชาคมอยู่บริเวณปากคลองคูจามหรือที่เอกสารเก่าเรียกว่า “ปทาคูจาม” แปลว่า ค่ายคูของชาวจาม เพราะคำว่า “ปทา” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ค่าย” คำว่า “ปทาคูจาม” จึงแปลว่า ค่ายคูหรือที่อยู่ของชาวจาม

“ปทาคูจาม” เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ กล่าวว่า ใน พ.ศ. ๑๙๕๒ สมเด็จพระรามราชาธิราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๕๒/ค.ศ. ๑๓๙๕-๑๔๐๙) ทรงให้จับกุมออกญามหาเสนาบดีในข้อหาเป็นกบฏ ออกญาผู้นี้จึงหนีออกจากพระนครโดยข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งปทาคูจาม ต่อมาขุนนางผู้นี้ได้ทูลเชิญสมเด็จพระนครินทราธิราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๖๗ หรือ ค.ศ. ๑๔๐๙-๑๔๒๔) ผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี ให้เสด็จมาเอาราชสมบัติสมเด็จพระนครินทราธิราช ได้ทรงเนรเทศสมเด็จพระรามราชาธิราชให้ไปครองเมืองที่ปทาคูจามแทน

“บริเวณดังกล่าวยังคงมีศาสนสถานของแขกจาม คือ มัสยิดหรือสุเหร่าแขกและกุโบร์ (สุสาน) อยู่ในปัจจุบัน (ดูรายละเอียดใน “พระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ” ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสและพงศาวดารเหนือ เล่ม ๑ (พระนคร:โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๐๔) หน้า ๔ ; พลับพลึง คงชนะ “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชุมชนจาม อยุธยา, วารสารประวัติศาสตร์ (๒๕๔๑) หน้า ๗๑) “ปทาคูจาม” อยู่ด้านใต้ของเกาะเมืองใกล้กับวัดพุทไธสวรรย์ บริเวณนี้ถือเป็นตลาดใหญ่ ๑ ใน ๔ แห่งของตลาดรอบพระนคร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกว่า

เมืองเขมรหรือเรียกอีกนาม ๑ ว่า กรุงกัมพูชา เดิมเป็นเมืองขอมหลวง มีอำนาจมากแลอาณาเขตกว้างขวางในโบราณสมัย แต่อำนาจลดน้อยถอยลงโดยลำดับมา จนเมื่อไทยมาตั้งเป็นใหญ่ได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขยายอาณาเขตรุกแดนกัมพูชาลงไปจากข้างเหนือทาง ๑ แว่นแคว้นกัมพูชา ซึ่งอยู่ทางริมทะเล ตั้งแต่ปากน้ำโขงไปทางตะวันออก ก็เกิดเป็นประเทศอิสระขึ้นอีกประเทศ ๑ เรียกว่า “จัมปาประเทศ”

ตามตำนานที่พึงจะรู้ได้ ไพร่พลเมืองจัมปานี้ ปะปนกับหลายชาติ เป็นพวกขอมเดิมบ้าง เชื้อสายแขกอินเดียที่มาอยู่ในเมืองขอมบ้าง พวกมลายูข้ามทะเลมาอยู่บ้าง ลงปลายเมื่อการสั่งสอนศาสนาอิสลามแพร่หลายมาทางประเทศเหล่านี้ ชาวเมืองจัมปาโดยมากเข้ารับถือศาสนาอิสลาม บุคคลจำพวกที่เราเรียกว่า “แขกจาม” ก็คือชาวเมืองจัมปานี้เอง เมืองจัมปายังเป็นอิสระมาจนในสมัยเมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองกรุงศรีอยุธยาด้วย ได้พบในหนังสือจดหมายเหตุที่ฝรั่งแต่งไว้ว่า มีราชทูตจัมปาเข้ามากรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น  (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ เล่ม ๑ หน้า ๕๙)

ชาวจามเดินทางเข้ามาสู่สยามเป็นระยะ ๆ ส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการค้าและอีกส่วนหนึ่งอพยพเข้ามาเพราะปัญหาการเมือง เนื่องจากอาณาจักรจามปาถูกรุกรานโดยเวียดนามในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ทำให้ชาวจามจำนวนหนึ่งต้องอพยพลี้ภัยไปยังชวา มลายู กัมพูชา และสยาม (D.G.E. Hall, A History of South-East Asia, p.218 ; Raymond Scupin, “Islam in Thailand before the Bangkok Period,” Journal of The Siam Society 69, 1 January 1980 : 68)

ในปีพ.ศ.๑๔๘๒ อานัมและตังเกี๋ย รวมเป็นอาณาจักรไคโดเวียด และเริ่มทำศึกกับจามปาจนถึงปีพ.ศ.๒๐๑๔ จามปาก็พ่ายแพ้ต่ออานัม (เวียดนาม) และสูญเสียดินแดนเกือบทั้งหมด กษัตริย์จามองค์สุดท้ายได้พาราษฎรส่วนมากของตนอพยพหนีเข้าไปอาศัยอยู่ในดินแดนเขมร เมื่อปีพ.ศ.๒๒๖๓ ชาวจามที่อยู่ในแผ่นดินเขมรนี้มีอยู่ราว ๑๐๐,๐๐๐ คน ยังคงรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมที่ถือสายตระกูลข้างมารดาเป็นหลักทำอาชีพจักสานและค้าขาย นับถือศาสนาอิสลาม (พระพุทธศาสนาในอาเซีย, พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หน้า ๒๒๓-๒๒๕)

ในสมัยอยุธยา เรื่องราวของชนชาติจามปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง โดยมีบทบาทเป็นทหารต่างชาติสังกัดกรมอาสาจาม ซึ่งเป็นกรมหนึ่งในสังกัดกลาโหมมีพระยาราชวังสันเป็นเจ้ากรมทำหน้าที่ควบคุมอาสาจามซึ่งประกอบไปด้วยมุสลิมเชื้อสายจามและมลายู (กฎหมายตราสามดวง เล่ม ๑ หน้า ๓๐๗-๓๐๘) ดังหลักฐานในลิลิตกระบวนแห่พยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ดังนี้

“จามพลตนแต่งแม้น มลายู

ปั้นแหน่งโอบเอวดู เพรอศแพร้ว

เหน็บกฤชพิศไพร โดยรัต และฤา

หอกคู่ชูอาดแกล้ว กลอกแกล้วแสดงหาญฯ

แต่แขกสองพวกเพี้ยน แยกสยาม เพศแฮ

หมู่หนึ่งอาสาจาม อ่าล้ำ

มลายูเยี่ยงแต่งตาม สนอบสนับ เพลาฤา

รจิตรกระบวนจีนซ้ำ โหมดย้อม โอบเศียร”

(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, ลิลิตกระบวนแห่พยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค (กรุงเทพฯ บัณฑิตการพิมพ์, ๒๕๒๘ พิมพ์ประกาศเกียรติคุณ “วันอดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามและดิถีคล้ายวันเกิด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริ) สมเด็จพระสังฆราช วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๘) หน้า ๘๓)

ฉันท์สรรเสริญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรฯ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “อาสาจามชำนาญการทเลล้วนมลายู” (สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรฯ “ฉันท์สรรเสริญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” ในชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย (พระนคร: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๓) หน้า ๘) แสดงว่ากรมอาสาจาม มีมุสลิมชาวจามกับมลายูปะปนกันอยู่

นอกจากนี้ราชทินนาม “ลักษมาณา” ซึ่งเป็นตำแหน่งของเจ้ากรมอาสาจามซ้าย ในทำเนียบพระไอยการฯ สยาม ก็ตรงกับตำแหน่งแม่ทัพเรือของมลายู กรมอาสาจาม จึงน่าจะประกอบไปด้วยมุสลิมเชื้อสายจามและมลายู รวมทั้งมุสลิมจากรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้จากการที่มีเจ้ากรมถึง ๔ ท่าน ซึ่งแต่ละท่านบังคับบัญชากลุ่มมุสลิมพวกเดียวกัน โดยมีมุสลิมจามและมลายูเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ส่วนเจ้ากรมอาสาจาม คือ พระยาราชวังสันนั้น ก็เป็นมุสลิมเช่นเดียวกัน (ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์, ขุนนางมุสลิมสมัยอยุธยา, (๒๕๔๖) หน้า ๑๗)

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ระบุว่า บริเวณปากคลองคูจาม มีท่าเรือสำคัญ คือ ท่าเรือพระยาราชวังสัน ซึ่งใช้ข้ามไปมาระหว่างฝั่งด้านใต้กับในพระนคร ท่าเรือดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้บริเวณบ้านของพระยาราชวังสันเจ้ากรมอาสาจาม ซึ่งเป็นผู้ดูแลประชาคมจามในกรุงศรีอยุธยา โดยพวกจามและมุสลิมเชื้อสายมลายูส่วนหนึ่งซึ่งรับราชการอยู่ในกรมอาสาจาม น่าจะใช้ท่าเรือนี้เดินทางเข้าออกระหว่างภายในกำแพงเมืองกับชุมชนที่คลองคูจาม

(๒) มุสลิมกลุ่มแขกเทศ มุสลิมจากปัตตานีและกลุ่มพ่อค้ามุสลิมรายย่อย  คือ พวกที่ตั้งชุมชนอยู่ในเขตริมกำแพงเมืองด้านนอก ใกล้คลองหรือแม่น้ำทางทิศใต้ของเกาะเมือง ได้แก่ พวกแขกตานี (แขกปัตตานี) และแขกเทศ สำหรับแขกเทศ น่าจะได้แก่มุสลิมชาวอาหรับหรืออินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณท่ากายี อันเป็นย่านแขกเก่าของอยุธยา โดยปลูกบ้านเรือนอยู่ตรงบริเวณฝั่งพระนครด้านตะวันออกและด้านทิศใต้

(คมขำ ดีวงษา, “บทบาทของตลาดในเมืองพระนครศรีอยุธยาต่อการค้าภายในและภายนอก พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๓๑๐” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๑), หน้า ๑๙) มุสลิมกลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นพ่อค้ารายย่อยที่ค้าขายอยู่ตามตลาดในเมืองและพวกที่ค้าขายอยู่กับสำเภาที่ทอดสมออยู่แถบ “ย่านตลาดน้ำวนบางกระจะ”

ย่านตลาดน้ำวนบางกระจะเป็นบริเวณที่แม่น้ำ ๒ สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกันทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา เป็นเส้นทางที่พ่อค้าท้องถิ่นใช้ขนสินค้าล่องลงมาจากทางเหนือนำมาขาย ส่วนพ่อค้าต่างชาติจะนำเรือเข้ามาจอดขนถ่ายสินค้า และหาซื้อสินค้าพื้นเมือง มุสลิมซึ่งอาศัยในย่านนี้ ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าและช่างฝีมือ โดยสร้างบ้านเรือนขนานกับลำน้ำเจ้าพระยา พวกพ่อค้าจะค้าขายอยู่กับสำเภาต่างชาติ ขณะเดียวกันก็ยังรับซื้อสินค้านำไปขายต่อที่ตลาดในเมือง (“คำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม” ระบุว่า แขกเทศตั้งร้านขายเครื่องประดับและเครื่องทองเหลืองอยู่ตรงตลาดชีกุนในกำแพงเมือง ดูรายละเอียดในหน้า ๑๕)

ส่วนพวกช่างฝีมือ ได้แก่ แขกเทศและแขกมลายู ซึ่งทำเชือกผูกเรือและตีสมอขายให้กับกัปตันชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีพวกแขกตานีซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดลอดช่อง มีอาชีพทอผ้าไหม ผ้าด้าย ซึ่งใช้เป็นผ้าพื้นและผ้าม่วงลายดอก ไว้สำหรับขาย (Sir John Chardin, Travels in Persia 1673-1677 (New York:Dover Publication, 1988) p.126)

ในจดหมายเหตุโบราณมีคำว่า “แขกเทศ” ซึ่งเข้าใจว่า หมายถึง มุสลิมที่มาจากอินเดีย เปอร์เซียและอรับ ชาวอินเดียเรียกต่างด้าวว่า ปัรเดสี (Pardesi) หรือแผลงทางสำเนียงไทยว่า ปรเทสี และกลายเป็น ปรเทศ สังเกตแต่เสียงก็แปลงไปเป็นวรเชษฐ์ (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๔๒ หน้า ๘)

พวกแขกเทศเหล่านี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา และยังมีท่าน้ำทำเลค้าขาย เรียกว่า ท่ากายี คำนี้เป็นศัพท์เปอร์เซีย คงจะเพี้ยนมาจากคำว่า อากอ (Aga) ซึ่งแปลว่า หัวหน้า ส่วนยี (ตามอักษรเทียบเป็นญี) นั้น เติมเข้าเพื่อแสดงคาราวะ เช่น ครับหรือใต้เท้า คำนี้ยังเป็นนามสกุล อากายี ของพวกเจ้าเซ็นตระกูลหนึ่ง ทุกวันนี้ คำ อะกาคาน (Aghakhan) ก็เพี้ยนมาจากศัพท์นี้ ในบริเวณนี้มีกุฎีทอง ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า โคกแขกบ้าง โคกกุฎีทองบ้าง ท่านเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ว่าเป็นสุเหร่าของเฉกอะฮฺหมัด (วัฒนธรรมไทย ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ หน้า๒๙)

(๓) มุสลิมกลุ่มเชื้อสายอินโด-อิหร่าน คือ พวกที่ตั้งชุมชนอยู่ในกำแพงเมือง ประกอบด้วย มุสลิมเชื้อสายอิหร่าน อาหรับ เตอร์กและอินเดีย ที่ผสมกลมกลืนทางสายเลือดและวัฒนธรรมจนเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “มุสลิมอินโด-อิหร่าน” (Indo-Iranian Muslim) คือ “มุสลิมที่ประกอบไปด้วยกลุ่มเชื้อชาติอิหร่านและอินเดีย รวมถึงพวกเลือดผสมระหว่างคนเชื้อชาติอิหร่านกับอินเดีย”

อย่างไรก็ตามเป็นการยากที่จะกำหนดถึงสายเลือดที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้ เนื่องจากชาวอิหร่านประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ที่มีการผสมกลมกลืนกันอยู่ในระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับมุสลิมในอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกเลือดผสมระหว่างชนพื้นเมืองกับมุสลิมจากอาหรับ ตุรกี และอิหร่าน (Kalikinkar Datta . H.C. Raychaudhuri and R.C. Majumdar, An Advanced History of India (Madras; Macmillan India Press, 1987) pp. 451-452, 469)

เอกสารชาวตะวันตกจะเรียกมุสลิมกลุ่มนี้อย่างรวม ๆ ว่า “มัวร์” (Moor) ซึ่งชาวโปรตุเกสและสเปนใช้เรียกมุสลิมหรือผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มาจากแอฟริกาตะวันออก เอเชียตะวันออกกลาง เอเชียกลางและอินเดีย เป็นความหมายโดยรวม ๆ มิได้แยกตามเชื้อชาติ ภูมิลำเนา หรือนิกายทางศาสนา เมื่อชาวตะวันตกชาติอื่นเข้ามายังเอเชียในระยะหลัง ก็เอานิยามคำว่า “มัวร์” ของชาวโปรตุเกสและสเปนมาใช้ ดังปรากฏหลักฐานในบันทึกของลาลูแบร์กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าเรียกว่า “มัวร์” ตามอย่างสเปน มิได้หมายถึงพวกแขกนิโกร แต่เป็นแขกชาติอาหรับ นับถือศาสนาพระมะหะหมัด ซึ่งบรรพบุรุษของเราเรียกแขกสาระเซ็น และแขกชาตินี้แผ่ซ่านอยู่ในที่ต่าง ๆ เกือบทั่วทวีปยุโรป” (ลาลูแบร์, ราชอาณาจักรสยาม เล่ม ๑, หน้า ๔๕-๔๖)

คำว่า “มัวร์” ที่ใช้ในเอกสารของตะวันตก จึงหมายรวมถึงมุสลิมที่มาจากเอเชียตะวันตกและบางครั้งก็รวมมุสลิมจากอินเดียด้วย ดังที่เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) ราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวว่า พวกมัวร์ในสยามประกอบไปด้วย เตอร์ก อิหร่าน โมกุล กอลกอนดา และเบงกอล (Michael Smithies, tr, The Chevalier de Chaumont and the Abbe de Choisy Aspects of the Embassy to Siam 1685, p.83)

กุฎีเจริญพาศน์ (อิมามบาราห์) ของชาวมุสลิมชีอะห์ชาวสยามในสมัยอยุธยาเรียกมุสลิมกลุ่มอินโด-อิหร่าน ไว้แตกต่างกัน ได้แก่ แขกเจ้าเซ็น แขกมะหง่น แขกใหญ่ แขกเทศ คำว่า “แขกเจ้าเซ็น” เป็นคำที่ชาวสยามใช้เรียกเพื่อบ่งบอกนิกายทางศาสนาของมุสลิมกลุ่มนี้ “เจ้าเซ็น” มาจากนามของอิหม่ามฮุเซ็น (ฮุซัยน์) บุตรท่านอิหม่ามอะลี กับท่านหญิงฟาติมะฮฺ อัซซะฮฺรออฺ บุตรีของท่านศาสดามุฮำหมัด (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)

พวกชีอะฮฺนิกายอิหม่ามสิบสอง (อิษนาอะชารีย์) ถือว่าท่านอิหม่ามฮุเซ็น เป็นอิหม่ามลำดับที่สาม และเมื่อถึงวันที่๑๒ เดือนมุฮัรรอมของทุกปี จะจัดพิธีรำลึกถึงการสิ้นชีวิตของท่าน เรียกว่า “พิธีมะหะหร่ำ” ซึ่งเพี้ยนเสียงมาจาก “มุฮัรรอม” นั่นเอง ในช่วง ๑๐ วันแรกของเดือนนี้ พวกในลัทธิชีอะฮฺ ซึ่งไทยเราเรียกว่า “เจ้าเซ็น” มีพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย เรียกว่า “เต้นเจ้าเซ็น” คำนี้บางเขียนเป็น “บ้าระฮำ” การเต้นอย่างนี้อาจตั้งเค้าแก่ศัพท์ไทย “บ้าระห่ำ” ก็ได้ (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, ความสัมพันธ์ของมุสลิมฯ, สำนักพิมพ์มติชน (๒๕๔๕) หน้า ๘๓)

ในวรรณคดีไทยเรา มีเรื่องเจ้าเซ็นและเดือนมุฮัรรอมมาก เช่น ในกาพย์แห่เรือ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ มีเห่บทเจ้าเซ็นว่า

“ดลเดือนมหหร่ำเจ้า เซ็นปี ใหม่แม่

มะหง่นประปรานทวี เทอษไห้

ห่อนเห็นมิ่งมารศรี เสมอชีพ มานา

เรียมลูบอกไล้ไล้ คู่ข้อนทรวงเซ็น

ดลเดือนมหหร่ำ ขึ้นสองค่ำแขกตั้งการ

เจ้าเซ็นสิบวันวาร ประหารอกฟกฟูมนัยน์

มหหร่ำเรียมคอยเศร้า ไม่เห็นเจ้าเศร้าเสียใจ

ลูบอกโอ้อาลัย ลาลดลำกำศรวลเซ็นฯ”

(ประชุมกาพย์แห่เรือ หน้า ๒๓)

จากหลักฐานบันทึกของชาวตะวันตกกล่าวว่า พวกมัวร์ในสยามนับถือศาสนาแตกต่างกับพวกมลายู โดยพวกมลายูนับถือนิกายสุหนี่กลุ่มชาฟีอีย์ ส่วนพวกมัวร์ในสยามส่วนใหญ่นับถือนิกายชีอะฮฺ กลุ่มอิษนาอะชารีย์ (อิหม่ามสิบสอง) ส่วนคำว่า “แขกมะหง่น” นั้น นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า มาจากคำว่า “โมกุล” หรือ “มูกัลป์” (Mughal, Mugal) ซึ่งบางทีใช้เรียกพวกเจ้าเซ็น (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ อ้างแล้ว หน้า ๘๕) 

ซึ่งน่าจะมาจากการที่คนไทยเข้าใจว่า มุสลิมพวกนี้เป็นพวกแขกโมกุล ซึ่งที่จริง พวกโมกุลในอินเดียเป็นพวกที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ถึงแม้ว่า ขุนนางและพระมเหสีของสุลต่านโมกุลบางองค์ จะมีความนิยมในนิกายชีอะฮฺอยู่บ้างก็ตาม มีภาพลายรดน้ำบนบานตู้ใบหนึ่งในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติปัจจุบันนี้

ซึ่งเข้าใจว่าได้เขียนไว้ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ แสดงภาพของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และอีกภาพซึ่งเข้าใจว่าเป็นกษัตริย์เอารังซีบ แห่งวงศ์โมกุล (Mughal) “อินเดีย” นั้นเป็นเรื่องน่าทึ่ง เพราะรัชกาลของกษัตริย์เอารังซีบ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๐๑ ถึง พ.ศ. ๒๒๕๐ (ค.ศ. ๑๖๕๘-๑๗๐๗) รวมราว ๕๐ ปี ประสูติเมื่อ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๑๖๑ (ค.ศ. ๑๖๑๘) ส่วนของพระนารายณ์มหาราชเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๐๐ ถึง พ.ศ. ๒๒๓๑ (ค.ศ. ๑๖๕๗-๑๖๘๘) รวมเวลา ๓๒ ปี และของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นั้น พระองค์ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๑ และสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๘ (ค.ศ. ๑๖๓๘-๑๗๑๕)

บางทีคำแขกมะหง่น อาจเรียกตามอย่างชาวตะวันตกที่มักเรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่า พวกมัวร์มูกัลหรือมัวโร (Mouro) อันเป็นคำที่พวกสเปนและโปรตุเกสใช้เรียกมุสลิมโดยรวม บางทีคำว่า “มะหง่น” อาจจะมาจากคำว่า “มะห้ล” (Mahol) ซึ่งเป็นคำที่ชาวอิหร่านใช้เรียกมุสลิมอินเดีย ดังหลักฐานใน “สำเภากษัตริย์สุลัยมาน” ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางของคณะทูตอิหร่านในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์กล่าวว่า “พวกมะห้ล” คือ มุสลิมที่นับถือนิกายชีอะฮฺซึ่งมาจากอินเดีย (Muhammad Rabi, The Ship of Sulaiman, p. ๙๕)

ถ้าเป็นไปตามนี้ พวกแขกมะหง่นจึงน่าจะหมายถึงพวกมุสลิมอินโด-อิหร่าน ที่นับถือนิกายชีอะฮฺ ความหมายนี้ปรากฏอยู่ใน “กาพย์ห่อโคลงว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ กล่าวถึง “พิธีมะหะหร่ำ” ซึ่งเป็นพิธีรำลึกการสิ้นชีวิตของท่านอิหม่ามอัลฮุซัยน์ (ร.ฎ.) ของพวกแขกเจ้าเซ็นหรือแขกมะหง่นในสยาม ใน “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ซึ่งแต่งขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เรียกพวกแขกเจ้าเซ็นหรือมุสลิมที่นับถือนิกายชีอะฮฺในสยามว่า “แขกมะห่น” หรือ “แขกมะหง่น” (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, “หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” (กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๑๔) หน้า ๑๓๑)

ในจดหมายเหตุของชาวต่างชาติระบุถึงถิ่นฐานของมุสลิมกลุ่มนี้ไว้ตรงกันว่า ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองใกล้กับย่านชาวจีนโดยมีบ้านเรือนและร้านค้าอยู่ติดถนนอิฐขนาดใหญ่ซึ่งทอดถึงพระบรมมหาราชวัง (Nicolas Gercaise, the Natural and Political History of the Kingdom of Siam, p.39)  มุสลิมอินโด-อิหร่าน ตั้งประชาคมอยู่ในย่านการค้าของอยุธยา คือ ตั้งแต่ประตูจีนถึงประตูใต้ท่ากายี

ดังมีปรากฏในตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงเก่า ระบุว่า ขุนโกชาอิศหากและขุนราชเศรษฐีขุนนางแขกมีหน้าที่ดูแลตรวจตราความสงบเรียบร้อยในเขตอำเภอแขก โดยเริ่มจากประตูจีนถึงวัดนางมุก เลี้ยววนไปถึงประตูใต้ท่ากายี (ดูรายละเอียดในกรมศิลปากร, ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ เล่ม ๒ หน้า ๕๑๙)

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม อธิบายถึงย่านที่อยู่อาศัยของมุสลิมกลุ่มนี้ไว้ว่า ตั้งอยู่บริเวณเกือบจะกลางพระนคร และเนื่องจากชาวสยามมักจะเรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่า แขกเทศ แขกใหญ่ หรือแขกเจ้าเซ็น บรรดาสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในบริเวณชุมชนจึงตั้งตามชื่อเรียกขานดังกล่าว อาทิ “บ้านแขกใหญ่เจ้าเซ็น” “คลองประตูเทศ” และ “ถนนบ้านแขกใหญ่” เป็นต้น

บริเวณนี้เป็นที่ตั้งบ้านเรือน และห้างร้านริมถนนที่เรียกว่า “บาซาร์” (bazaar) ซึ่งในภาพเขียนของชาวตะวันตกจะแสดงแนวร้านค้าตั้งขนานไปกับถนน มุสลิมกลุ่มนี้ยังได้สร้างศาสนสถานไว้ในบริเวณชุมชน (พระยาโบราณราชธานินทร์ เรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า “ทุ่งแขก” หรือ “โคกแขก” เป็นบริเวณชุมชน สุสานและศาสนสถานของพวกมุสลิมนิกายชีอะฮฺ)

โดมครอบสุสานเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉก อะฮฺมัด) บริเวณ สถาบันราชภัฎพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบันพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ยังหลงเหลือหลักฐาน เนินดินและสะพานอิฐก่อช่องโค้งแหลมแบบสถาปัตยกรรมอินโด-อิหร่าน ปรากฏอยู่ (รายละเอียดในเพ็ญศรี กาญจโนมัย และมันทนา กปิลกาญจน์ “รายงานผลการวิจัยบทบาทมุสลิมในปลายอยุธยา-ธนบุรี พ.ศ. ๒๓๐๐-๒๓๒๕ (กรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๒๑) หน้า ๓๒-๓๔) และปรากฏหลักฐานในบันทึกของชาวฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์กล่าวถึงพวกแขกมัวร์ ประกอบพิธีกรรมตามศาสนาของตนอยู่ในบริเวณนี้ (ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม เล่ม ๑ หน้า ๕๐๐)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราชสำนักอนุญาตให้มุสลิมกลุ่มนี้เข้าตั้งประชาคมในเมืองเช่นเดียวกับชาวจีน เพราะความสำคัญของชุมชนที่มีต่อกิจการค้าภายในและภายนอก มุสลิมที่อาศัยอยู่ในเขตกำแพงเมืองเป็นกลุ่มพ่อค้าผู้นำเข้าสินค้าประเภทของฟุ่มเฟือย อาทิ พรมเปอร์เซีย น้ำดอกไม้เทศ ผ้า แพรพรรณ เครื่องแก้ว และเครื่องทอง (ดูรายละเอียดใน นันทา วรเนตติวงศ์ แปล, เอกสารฮอลันดาสมัยอยุธยา พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ กรมศิลปากร ๒๕๔๑) หน้า ๒๑๕)

สินค้าเหล่านี้เป็นของราคาสูง ผู้ที่ซื้อหาได้จึงเป็นพวกคหบดี ขุนนาง พระราชวงศ์และพระมหากษัตริย์ ซึ่งพำนักอยู่ในกำแพงเมือง พ่อค้าเหล่านี้คงประกอบการค้ากับผู้มีฐานะ และมีอิทธิพลในเมืองหลวงมาตั้งแต่ต้น จึงได้รับอภิสิทธิ์ให้สร้างชุมชนอยู่ในย่านสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ดังที่นิโกลาส์ แชร์แวส์ มิชชันนารีฝรั่งเศสที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๖ (ค.ศ. ๑๖๘๓) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าพ่อค้ามัวร์มีบทบาททางการค้าในสยามมากพอ ๆ กับพ่อค้าชาวจีน (Nicolas Gervaise, The Natural and Political History of The Kingdom of Siam, p.63)

การตั้งประชาคมของมุสลิมซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม เป็นลักษณะการจัดประชาคมของมุสลิมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จนสามารถรวมตัวกันเป็นประชาคมใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา ทว่ายังมีมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในอยุธยา ได้แก่ พวกกลิงค์ พวกจุเหลี่ย (Chulia) พวกคุชราต และพวกเบงกอล ในส่วนของพวกจุเหลี่ย คือ พวกทมิฬที่นับถือศาสนาอิสลาม (Tamil Muslim) ซึ่งเป็นพวกที่เกิดจากการสมรสระหว่างมุสลิมกับสตรีพื้นเมืองในแถบอินเดียภาคใต้

พ่อค้าเหล่านี้เดินเรือค้าขายระหว่างอินเดียกับตอนใต้ของสยาม คาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะในอินโดนีเซีย (Ashin Das Gupta, Changing Face of the Maritime Merchants, “in Merchants of Maritime India, 1500-1750, p.361) พวกจุเหลี่ย เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ (ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, อ้างแล้ว หน้า ๒๒) พวกจุเหลี่ยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการค้าดีบุก และช้างจากสยาม ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และเป็นผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าสู่สยาม จึงน่าจะตั้งถิ่นฐานใกล้กับแม่น้ำ ซึ่งเป็นอู่จอดเรือขนส่งสินค้า คือ บริเวณย่านน้ำวนบางกะจะ ซึ่งมีชุมชนของมุสลิมอินเดีย อีกทั้งบางส่วนยังตั้งร้านค้าอยู่ในกำแพงพระนครด้วย (ดร.จุฬิศพงษ์ จุฬารัตน์ อ้างแล้ว หน้า ๙)

แผนที่กรุงศรีอยุธยาในจดหมายเหตุลาลูแบร์ แสดงที่ตั้งหมู่บ้านญี่ปุ่นและหมู่บ้านโปรตุเกส ด้านล่างซ้ายสุดของแผนทีปรากฏที่ตั้งชุมชนมลายูและมักกะสัน