อิบนุ ยูนุส อัซซอดฟี่ย์ (ابن يونس الصد في)

อะลี อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อิบนิ อะฮฺมัด อิบนิ ยูนุส อัซซอดฟีย์ อัลมิซรี่ย์ ถือกำเนิดในประเทศอิยิปต์ และเสียชีวิตในปี ฮ.ศ.399 (ค.ศ.1009) อิบนุ ยูนุส เติบโตในครอบครัวของนักวิชาการ บิดาของเขา คือ อับดุรเราะฮฺมานนั้นเป็นนักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในอิยิปต์ และปู่ของเขาคือ ยูนุสนั้น เป็นสานุศิษย์ของท่านอิหม่ามอัชชาฟีอีย์ และเป็นผู้หนึ่งที่ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ของเขาในการศึกษาวิชาดาราศาสตร์

อิบนุ ยูนุส มีความเชี่ยวชาญในวิชาดาราศาสตร์ เขาได้รับการอุปถัมภ์จากบรรดาค่อลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์ฟาฏิมียะฮฺในการค้นคว้าด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ บรรดาค่อลีฟะฮฺได้สร้างหอดูดาวให้แก่ อิบนุ ยูนุส เหนือภูเขา อัลมุกอฏฏ็อม ใกล้กับกรุงไคโร และเตรียมอุปกรณ์ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมืออย่างพร้อมสรรพสำหรับการปฏิบัติการทางดาราศาสตร์ ณ หอดูดาวแห่งนี้

อิบนุ ยูนุส ได้ใช้หอดูดาวเหนือภูเขาอัลมุกอฏฏ็อม ในการเฝ้าดูปรากฎการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคาในกรุงไคโร เมื่อปี ฮ.ศ.368 (ค.ศ.978) และค้นพบความเร็วที่เพิ่มขึ้นของดวงจันทร์

อิบนุ ยูนุส ได้เฝ้าดูปรากฎการณ์ทางท้องฟ้าและขลุกอยู่กับการอรรถาธิบายปฏิทินดวงดาวของนักวิชาการรุ่นก่อนที่คิดค้นเอาไว้เป็นอันมาก ด้วยเหตุดังกล่าว อิบนุยูนุสจึงได้แต่ง “อัซซิจญ์ อัลฮากีมี่ย์” ซึ่งมี 4 เล่มด้วยกัน ในตำราเล่มแรกนั้น อิบนุยูนุสได้เขียนเกี่ยวกับวิชาภูมิศาสตร์ เส้นรุ้ง เส้นแวง และในปี ฮ.ศ.1238 (ค.ศ.1822) หอสมุดลีดอนในฮอลแลนด์ได้จัดพิมพ์และเผยแพร่ตำราเล่มนี้สู่สาธารณชน

นักวิชาการของยุโรปได้ศึกษา “อัซซิจญ์ อัลฮากีมี่ย์” ของอิบนุยูนุสอย่างละเอียด เนื่องจากตำราเล่มนี้มีความสำคัญและเขียนด้วยสำนวนอย่างเป็นวิชาการที่ง่ายต่อความเข้าใจ ตลอดจนเป็นตำราที่รวบรวมการทดลองทางวิทยาศาสตร์เอาไว้อย่างเอกอุ ดังนั้น กูแซง นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสจึงได้แปลเนื้อหาบางบทของตำราเล่มนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1804 และกลายเป็นตำราอ้างอิงหลักในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของตะวันตก

อิบนุยูนุสยังได้ศึกษาในภาควิชาตรีโกณมิติจนมีความชำนาญการค้นคว้าของเขาในภาควิชานี้มีความเหนือชั้นกว่าการค้นคว้าของนักวิชาการรุ่นก่อนเป็นอันมาก ซึ่งส่งผลอย่างใหญ่หลวงในการเจริญรุดหน้าของวิชาตรีโกณมิติ นอกจากนี้เขายังได้คำนวณสูตร جااْ อย่างละเอียดและคิดค้นตาราง Cotangent ตลอดจนแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในรูปทรงปริซึม

อิบนุยูนุสมีความดีความชอบในการค้นพบกฎ جتاأجتاب = ١/٢[أ+ب] + ١/٢جتا [أ+ب]  ซึ่งกฎที่ว่านี้นำไปสู่การคิดค้นภาควิชา ลูการิธัม (Logarithm) ด้วยเหตุนี้ จำต้องถือว่า อิบนุยูนุส เป็นผู้ปูทางสำหรับการคิดค้นในภาควิชา ลูการิธัม ซึ่งทำให้การคำนวณเป็นเรื่องง่าย  ตะวันตกกล่าวอ้างอย่างผิดพลาดว่า ญอง นาปิแอร์ (J.Napier) ชาวสก็อตแลนด์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ราวตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 คือ ผู้คิดค้นวิชาลูการิธัม (Logarithm) เพราะเขาค้นพบค่า  جاأجاب = ١/٢ جتا [أ+ب] – ١/٢ جتا [أ- ب]  อันเป็นสิ่งที่นำพาให้ ญอง นาปิแอร์ ผู้นี้คิดค้นวิชาลูการิธัมในช่วงเวลาต่อมา

จริงๆ แล้ว จำต้องให้ความดีความชอบแก่เจ้าของสูตรตัวจริง คือ อิบนุยูนุส นักคิดชาวมุสลิมผู้ตกผลึกความคิดในการเปลี่ยนวิธีการคูณไปเป็นวิธีการบวก ก่อนหน้านาปิแอร์ ถึง 7 ศตวรรษด้วยกัน ต่อมาภายหลัง อิบนุ ฮัมซะฮฺ อัลมัฆริบี่ย์ได้พัฒนาความคิดของอิบนุยูนุสและทำให้ความคิดดังกล่าวกลายเป็นภาควิชาที่รู้จักกัน ลูการิธัม อย่างไรก็ตามเราก็จำต้องยอมรับว่า ญอง นาปิแอร์ ได้พัฒนาต่อยอดวิชานี้จนมีสภาพดังเช่นในปัจจุบัน

อิบนุยูนุส ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ของเขาไปในการศึกษาการโคจรของดวงดาว ซึ่งในที่สุดได้นำพาให้อิบนุยูนุสประดิษฐ์คิดค้นลูกตุ้มนาฬิกา (Pendulum) อันเป็นสิ่งที่รู้จักกันในหมู่นักวิชาการมุสลิมในชื่อว่า “อัลมุว๊าร” ซึ่งนักค้นคว้าจำต้องอาศัยสิ่งประดิษฐ์นี้ในการทราบช่วงระยะเวลาในการเฝ้าดูดวงดาว และยังถูกใช้เป็นลูกตุ้มนาฬิกาที่กำหนดเวลาเป็นนาทีได้อย่างแม่นยำ

ด้วยเหตุนี้นักวิชาการตะวันตกจึงโกหก ที่อ้างว่า กาลิเลโอ นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี่เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นลูกตุ้มนาฬิกา จริงๆ แล้ว กาลิเลโอ ได้ทำการทดลองสิ่งประดิษฐ์นี้อยู่หลายครั้งด้วยตัวเองจนกระทั่งเขาสามารถอาศัยสิ่งประดิษฐ์นี้ในการพัฒนากฎของลูกตุ้มอย่างที่ทราบกันในทุกวันนี้

กล่าวโดยสรุป อิบนุยูนุส มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยมในการประดิษฐ์คิดค้นลูกตุ้มและใช้มันในการคำนวณเวลา เหตุนี้ความดีความชอบจึงเป็นเรื่องที่ย้อนกลับสู่อิบนุยูนุส หาใช่กาลิเลโอไม่ ฉะนั้น การกล่าวอ้างการประดิษฐ์คิดค้นลูกตุ้ม (Pendulum) ไปยังกาลิเลโอจึงถือเป็นการละเมิดและลิดรอนสิทธิอันชอบธรรมของอิบนุยูนุส เพราะเขาคือผู้ใช้ลูกตุ้มในการคำนวณช่วงระยะเวลาในระหว่างการเฝ้าดูดวงดาวในหอดูดาวของตนเหนือภูเขา อัลมุก๊อฏฏ็อม และการใช้นาฬิกาที่กำหนดนาทีด้วยลูกตุ้มนาฬิกาอย่างแม่นยำ