อบุลว่าฟาอฺ อัลบูซะญานีย์ (أبوالوفاءالبوزجاني)

อบุลว่าฟาอฺ ถือเป็นปราชญ์ผู้หนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 10 และเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของชาวอาหรับ ทั้งนี้เพราะ อบุลว่าฟาอฺมีคุณูปการอย่างยิ่งยวดในด้านความเจริญรุดหน้าของวิชาคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ เขามีความเชี่ยวชาญในวิชาเรขาคณิตและตรีโกณมิติอีกด้วย

อบุลว่าฟาอฺ มีนามเต็มว่า อบุลว่าฟาอฺ มุฮำมัด อิบนุ มุฮำมัด อิบนิ ยะฮฺยา อิบนิ อิสมาอีล อิบนิ อัลอับบ๊าส  อัลบูซะญานีย์ อัลฮาซิบฺ มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ฮ.ศ.328-388/ ค.ศ.940-998 อาศัยอยู่ในนครแบกแดด ศึกษาแต่งตำรา, สร้างผลงาน และสิ้นชีวิตในนครแห่งนี้อบุลว่าฟาอฺมีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่กล่าวขานและสร้างหอดูดาวขึ้นในนครแบกแดด

ส่วนหนึ่งจากตำราที่อบุลว่าฟาอฺได้แต่งขึ้น คือ ตำราอรรถาธิบายข้อเขียนของอิกลิดุส (Eukleides) และดิโอฟานตุส (Diophantos) ตลอดจนอัลคุวาริซฺมีย์ ซึ่งสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับประเด็นที่มีเงื่อนงำและเข้าใจยากในข้อเขียนของนักปราชญ์ทั้ง 3 ท่าน (ก็อดรี่ย์ ฮาฟิซฺ เฏาวฺกอน, อ้างแล้ว หน้า 139)

ฟลอเรนน์ กาจูรี่ย์ ได้ระบุไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์คณิตศาสตร์ว่า อบุลว่าฟาอฺ ได้เพิ่มเติมข้อมูลการค้นคว้าของอัลคุวาริซฺมี่ย์ โดยเฉพาะประเด็นความเกี่ยวพันของวิชาเรขาคณิตกับวิชาพีชคณิต มีการแก้สมการของวิชาพีชคณิตที่สำคัญๆ ในเชิงเรขาคณิต และยังค้นพบวิธีการใหม่ๆ สำหรับ Parabola (รูปโค้งด้านขนานที่ได้ในการตัดรูป cone ขนานกับด้านข้าง , เรียกในภาษาอาหรับว่า ก็อฏอุน มุกาฟิอฺ)

ด้วยเหตุนี้ อบุลว่าฟาอฺจึงเป็นบุคคลแรกที่ปูทางสำหรับการปรากฏขึ้นของ analytic geometry (วิชาเรขาคณิต แผนกที่ว่าด้วยการจำแนก จุด เส้น และเนื้อที่ออกตามเกณฑ์ระยะตั้งและระยะขวาง เรียกในภาษาอาหรับว่า ฮันดะซะฮฺ ตะฮฺลีลียะฮฺ) และ Calculus (วิธีคำนวณจำนวนหนึ่งจำนวนใด โดยสมมติจำนวนน้อยที่สุดเป็นเกณฑ์เพิ่มหรือลด เรียกในภาษาอาหรับว่า ฮิซาบฺ อัตตะฟาฎุล ว่า อัตตะกามุล)

วิธีการคำนวณ Calculus ทั้งประเภท Differential calculus และ integral calculus นั้น นักวิทยาศาสตร์ถือกันว่า เป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่สติปัญญาของมุนษย์บรรลุถึง เพราะเป็นต้นตอแรกสำหรับการประดิษฐ์คิดค้น และการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในโลกวิทยาศาสตร์

อบุลว่าฟาอฺ ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาค้นคว้าตำราของอัลบัตฺตานีย์ ในวิชาตรีโกณมิติ (ฮิซาบฺ อัลมุ่ซัลละซาตฺ) เขาได้อธิบายถึงประเด็นที่เป็นเงื่อนงำในตำราของอัลบัตฺตานีย์และวิเคราะห์วิจารณ์อย่างชัดเจน

ดร.มอริส เคล์น กล่าวว่า : นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน อบุลว่าฟาอฺได้ให้คำจำกัดความและตีแผ่ประเด็นบางจุดซึ่งเป็นเงื่อนงำในตำราของนักปราชญ์ อัลบัตฺตานีย์ (อะลี อับดุลลอฮฺ อัดดัฟฟาอฺ อ้างแล้ว หน้า 128-129)

อบุลว่าฟาอฺ ได้เขียนตำราในวิชาพีชคณิตและเรขาคณิต ตลอดจนสมการ ในพีชคณิตที่มีกำลังสอง (Quadratic equation) ซึ่งเขาสามารถค้นพบวิธีการแก้สมการ parabola อันเป็นการปูทางสำหรับนักวิชาการตะวันตก ในการพัฒนาวิชาเรขาคณิตแบบ analytic geometry ให้เจริญรุดหน้าในเวลาต่อมา

เดวิด, สมิต และซาร์ตัน ต่างก็ยอมรับว่า อบุลว่าฟาอฺคือบุคคลแรกที่กำหนด Triangular numbers คือจำนวนที่เป็นบวกของ 1,2,3,4 คือ 1,3,6,10 ซึ่งเขาใช้สูตรดังกล่าวในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ตลอดจนค้นพบวิธีการใหม่ในการคำนวณตาราง sine อย่างละเอียดอีกด้วย

นักปราชญ์ชาวอาหรับและมุสลิมได้ให้ความสนใจต่อการโคจรของดวงจันทร์และการเปลี่ยนวิถีโคจรของดวงจันทร์ในแต่ละปี ในปี ฮ.ศ.388/ค.ศ.998 อบุลว่าฟาอฺ อัลบูซะญานีย์ได้อาศัยสมการทางตรีโกณมิติในการอธิบายตำแหน่งของดวงจันทร์ เขาเรียกมันว่า มุอาดะละฮฺ อัซซุรอะฮฺ (สมการความเร็ว) แต่ปรากฏว่า ตีโควีร่า แฮย์ (ค.ศ.971-1008) นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์กกลับกล่าวอ้างว่าตนเป็นบุคคลแรกที่ค้นพบการเปลี่ยนวีถีโคจรของดวงจันทร์

แต่ยังนับว่าโชคดีที่นักค้นคว้าชาวตะวันตกได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า อบุลว่าฟาอฺ คือ เจ้าของความคิดและการค้นพบ มิใช่ ตีโควีร่า แฮย์ แต่อย่างใด  กรณีเดียวกันนี้ยังเกิดกับ เรจิโอ มอนตานุส ซึ่งแอบอ้างทฤษฎีของอบุล   ว่าฟาอฺในวิชาตรีโกณมิติ และลอกทฤษฎีเหล่านั้นในหนังสือของตนที่ชื่อ (De Trianglis)

อบุลว่าฟาอฺยังได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการคำนวณแบบ Common fraction (เศษส่วนร่วม) ในขณะที่ผู้คนในยุคนั้นสนใจแต่เฉพาะการคำนวณแบบ simple fraction (เศษส่วนพื้นฐาน) อัลบูซะญีนีย์ได้แก้ไขปัญหาเศษส่วนในทุกรูปแบบ

ในปี ฮ.ศ.380 นักดาราศาสตร์ทั่วโลกเป็นจำนวนมากได้มุ่งสู่นครแบกแดดเพื่อเฝ้าดูการทำงานของอบุลว่าฟาอฺ ในหอดูดาวแห่งนครแบกแดด อบุลว่าฟาอฺได้แสดงให้เห็นถึงความรอบรู้ของตนในด้านดาราศาสตร์จนชื่อเสียงของท่านขจรขจายไปทั่ว ณ เวลานั้น และถูกขนานนามว่า “สารานุกรมแห่งสรรพศาสตร์” หรือ พหูสูต

และเนื่องจากความเลืองนามของอบุลว่าฟาอฺ อัลบูซะญานีย์ในวิชาคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ในองค์การนาซ่าของอเมริกาได้ตั้งชื่อปากปล่องภูเขาไฟบนพื้นผิวดวงจันทร์แห่งหนึ่งด้วยชื่อของอัลบูซะญานีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นักปราชญ์ผู้นี้

ส่วนหนึ่งจากตำราที่อบุลว่าฟาอฺ อัลบูซะญานีย์ได้แต่งไว้ ได้แก่

1. หนังสือว่าด้วยการใช้ไม้บรรทัดและวงเวียน ชาวยุโรปได้แปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Geometrical Construction ในหนังสือเล่มนี้มีรูปทรงทางเรขาคณิตต่างๆ เช่น วงกลม , สามเหลี่ยม , สี่เหลี่ยมและมุมฉากต่างๆ เป็นต้น

2. หนังสือในวิชาคำนวณ แบ่งเป็น 7 บท สามบทแรกเป็นเรื่องของวิชาคณิตศาสตร์ล้วนๆ ส่วนอีก 4 บทที่เหลือกล่าวถึงการใช้มาตราการชั่งตวงต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

3. หนังสือเรขาคณิต ซึ่งอบุลว่าฟาอฺอาศัยข้อมูลจากตำราของอิกลิดุส อาร์คิมิดุสและเฮรอน แห่งอเล็กซานเดรีย

4. หนังสือคำนวณโดยอาศัยค่าของตัวอักษร (อัลฮุรุฟ อัลอับญะดียะฮฺ) แทนตัวเลขอารบิก

5. ตำรา “อัลกามิล” ซึ่งมีความละเอียดเหมือนตำราอัลมาญิสฏียะฮฺ ของปโตเลมี

6. ตำราปฏิทินดวงดาว “อัลวาดีย์” ซึ่งรวบรวมข้อมูลการทำงานในหอดูดาวของอบุลว่าฟาอฺในนครแบกแดด

7. ข้อเขียนเกี่ยวกับการวาดรูปทรงเรขาคณิตและการใช้อุปกรณ์วาดภาพ

8. ตำราเกี่ยวกับรูปทรงเรขาคณิตโดยรวม

9. หนังสืออรรถาธิบายทฤษฎีของดีโอฟานโตสเกี่ยวกับตัวเลข , จำนวน

10. ตำราว่าด้วยวิชาดาราศาสตร์