ประชาคมมุสลิมจากหัวเมืองมลายู ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์

สงครามประเพณีระหว่างสยามในยุคต้นกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองมลายู อันมีนครรัฐปัตตานีดารุสสลามเป็นศูนย์กลางเกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง อาทิเช่น ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม, รัชกาลพระเพทราชา เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม หัวเมืองมลายูก็ยังคงมีสถานภาพอยู่ระหว่างหัวเมืองประเทศราชที่ส่งบรรณาการ บุหงามัส (ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง) ให้กับสยามในยามที่สยามเข้มแข็ง และการแข็งเมืองในคราที่สยามมีเหตุการณ์ไม่สงบและมีศึกติดพันกับพม่าและหัว เมืองทางเหนือ การเสียเมืองขั้นแตกหักไม่ปรากฏในสมัยอยุธยา ตราบจนลุสู่แผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ การสงครามกับหัวเมืองมลายูก็เริ่มขึ้นอีกครั้งและเป็นการสิ้นสุดของนครรัฐปัตตานีดารุสสลาม

ในกองจดหมายเหตุแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๕ บันทึกไว้ว่า
ในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน .. ๒๓๒๘ เมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท เสด็จไปปราบพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก แล้วประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช


ทรงพระราชดำริว่า กองทัพก็มีพร้อมอยู่ที่นั่นแล้ว เป็นโอกาสที่จะปราบปรามหัวเมืองมลายูประเทศราช ที่ตั้งแข็งมาแต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ให้กลับมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาอย่างเดิมได้ จึงมีรับสั่งให้ข้าหลวงถือหนังสือไปถึงพระยาปัตตานีและพระยาไทรบุรี ให้แต่งทูตนำต้นไม้เงินต้นไม้ทองเข้ามาถวายเหมือนแต่ก่อน

พระยาปัตตานีขัดแข็งเสีย หามาอ่อนน้อมไม่ กรมพระราชวังบวรฯ จึงดำรัสสั่งให้พระยากลาโหมกับพระยาจ่าแสนยากร ยกทัพหน้าลงไปตีเมืองปัตตานี แล้วเสด็จยกทัพหลวงตามลงไปยังเมืองสงขลา กองทัพไทยยกลงไปตีเมืองปัตตานี ได้ปืนใหญ่อันเป็นศรีเมืองซึ่งเรียกว่า นางพระยาตานี กับครอบครัวและทรัพย์สมบัติมาในครั้งนั้นเป็นอันมาก พระยาไทรได้ทราบว่าไทยตีได้เมืองปัตตานี ก็มีความเกรงกลัว รีบแต่งทูตให้คุมต้นไม้ทองเงินเข้ามาถวาย ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาเหมือนแต่ก่อน


ฝ่ายพระยาตรังกานู และพระยากลันตัน ที่ขึ้นอยู่แก่เมืองตรังกานูเขตแดนอยู่ต่อเมืองปัตตานีลงไปข้างใต้ทั้ง เมืองนี้ แต่ก่อนหาเคยได้ขึ้นแก่ไทยไม่ ครั้นทราบว่าไทยตีได้เมืองปัตตานี เกรงจะเลยลงไปตีเมืองกลันตัน ตรังกานูด้วย ก็แต่งทูตให้คุมต้นไม้ทองเงินขึ้นมาถวายกรมพระราชวังบวรฯ ขอสวามิภักดิ์ เป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯ ด้วยทั้งสองเมือง


สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติดังนี้

กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา ให้ข้าหลวงเชิญกระแสรับสั่งออกไปถึงพระยาปัตตานี พระยาไทรบุรี และพระยาตรังกานูให้มายอมเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยาอย่างแต่ก่อน พระยาปัตตานีไม่ยอม จึงมีรับสั่งให้กองทัพไทยยกลงไปตีได้เมืองปัตตานี

เมื่อตีได้แล้ว มีรับสั่งให้กวาดครอบครัวแลเก็บเครื่องศัตราวุธ คือ ปืนใหญ่กระบอกที่เรียกว่า พระยาตานี นั่น เป็นต้น เอามากรุงเทพฯ ทอนกำลังเมืองปัตตานีลงเสียบ้าง แล้วทรงตั้งให้แขกซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีเก่าเป็นพระยาปัตตานีต่อมา

เจ้าเมืองปัตตานีที่สยามแต่งตั้ง คือ เต็งกู  ลามิเด็น (TENGKU LAMIDDEN) (ค.ศ. ๑๗๘๗-๑๗๙๑) เป็นผู้สืบเชื้อสายราชาบือแน  บาแด (Benang Badan) ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๓๒ เต็งกู  ลามิเด็น เจ้าเมืองปัตตานีได้ติดต่อส่งสาส์นอย่างลับ ๆ แก่กษัตริย์เกียลองหรือองเชียงสือ แห่งอันนัมประเทศ (เวียดนาม) เพื่อขอให้โจมตีสยาม โดยให้เวียดนามโจมตีทางตะวันออก ส่วนปัตตานีจะขนาบโจมตีจากทางใต้

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนคำนำไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓ ว่า

“พระยาปัตตานีคนนี้ไม่ซื่อตรงต่อกรุงเทพฯ เมื่อปีระกาเอกศก .. ๒๓๓๒ มีหนังสือไปชวนองเชียงสือเจ้าอนัมก๊ก ให้เป็นใจเข้ากัน มาตีหัวเมืองในพระราชอาณาจักร องเชียงสือบอกความ เข้ามากราบบังคุมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้องยกกองทัพลงไปตีเมืองปัตตานีอีกครั้ง (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย ๓๑ มี.. ๒๔๗๐)

ปัตตานีจึงถูกปราบปรามอีกครั้ง เมื่อเสร็จศึกแล้วเจ้าพระยากลาโหมได้แต่งตั้ง “ดาโต๊ะ  ปังกาลัน (Datok Pangkalan) เป็นเจ้าเมืองปกครองปัตตานีพร้อมทั้งแต่งตั้ง “พระจะนะ” (ลักษมาณาดายัน) เป็นผู้ว่าการเมืองปัตตานีด้วยอีกคน ซึ่งภายหลังเกิดการขัดแย้งระหว่างกัน จนเป็นเหตุให้ในปี พ.ศ. ๒๓๕๑ ดาโต๊ะ  ปังกาลันแข็งเมือง ทางสยามจึงได้ส่งกองทัพลงไปปราบเมืองปัตตานีอีกครั้ง

ในประชุมพงศาวดาร ภาค ๓ บันทึกว่า ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) ตามระตูปังกาลันไปทันที่ปลายน้ำเมืองรามันห์ริมแดนเมืองแประ ได้สู้รบกันในตำบลนั้น ระตูปังกาลันถูกกระสุนปืนตายในระหว่างนั้น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จยกทัพเรือไปตั้งอยู่ที่ปากอ่าวเมืองปัตตานี

ครั้นพระยากลาโหมกองทัพหน้าตีระตูปังกาลันแตก แลได้ตัดศีรษะระตูปังกาลันมาแล้ว พระยากลาโหม พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) พระยาพัทลุง (ทองขาว) หลวงสุวรรณคีรี (นายบุ่นฮุ้ย) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ปลัดจะนะ (ขวัญซ้าย) พร้อมกันลงไปเฝ้าเรือพระที่นั่งหน้าเมืองปัตตานี ทูลแจ้งราชการ (ประชุมพงศาวดาร ภาค : หน้า )

จักเห็นได้ว่า ในรัชกาลที่ ๑ ปัตตานีและหัวเมืองมลายู ถูกสยามส่งกองทัพเข้าปราบปรามถึง ๓ ครั้งด้วยกัน กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘-๒๓๒๙, พ.ศ. ๒๓๓๒ และ พ.ศ. ๒๓๕๑ ในแต่ละครั้งมีการกวาดต้อนชาวมลายูผู้ตกเป็นเชลยศึกเป็นอันมาก เฉพาะในครั้งแรกมีเอกสารระบุว่า จำนวนเชลยศึกชาวมลายูมีมากถึง ๔,๐๐๐ คน (อารีฟีน บินจิ, ปาตานีดารุสสลาม, ศูนย์วัฒนธรรมชายแดนภาคใต้ (๒๕๔๓) หน้า ๔๖)

ในสองครั้งหลังนั้นไม่ทราบจำนวน แต่คงมีเป็นเรือนพันเช่นกัน เชลยศึกส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู โดยเฉพาะชาวมลายูปัตตานี จะนะ และเทพา ตลอดจนปูยุดและเมืองสาย รวมถึงรามันห์ การกวาดต้อนชาวมลายูในสงครามครั้งต้นกรุงนั้น ในจดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์บันทึกไว้ว่า “บริเวณหน้าวัดชนะสงครามยังมีนิคมชาวมลายู ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กวาดต้อนเข้ามาในปีพุทธศักราช ๒๓๒๙ เป็นเชลยของวังหน้า

และที่ริมคลองมหานาคมีนิคมชาวมลายูเป็นเชลยของวังหลวง” ในส่วนบรรดาเชลยศึกที่เป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองปัตตานีนั้น ได้ถูกนำไปไว้ในบริเวณหลังวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี (หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า สี่แยกบ้านแขก บ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ) ส่วนพวกเชลยศึกที่เป็นทหารชาวมลายูปัตตานี ได้ถูกนำไปไว้ในแถบบริเวณปากคลองเคล็ดใกล้กับคลองพระโขนง ซึ่งต่อมาเรียกว่า นครเขื่อนขันธ์โดยรวมเอาพื้นที่ฝั่งพระประแดงผนวกเข้ามา

ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๓๖๔ (ตรงกับรัชกาลที่ ๒) กองทัพสยามได้ยกพลลงไปปราบปรามหัวเมืองมลายูอีกครั้ง ดังปรากฏใน “กองจดหมายเหตุแห่งชาติ” พ.ศ. ๒๕๒๕ ระบุว่า

.. ๒๓๖๔ น้องชายของเจ้าพระยาไทรบุรีชื่อ ตนกูม่อม เข้ามาฟ้องเจ้าพระยานครฯ ว่าเจ้าพระยาไทรบุรีเอาใจไปเข้ากับพม่าจริง โดยอ้างถึงหนังสือรับสั่งของพระเจ้าอังวะ มีถึงเจ้าพระยาไทรบุรี ที่จีนมาเก๊า ชื่อลิมหอย ยึดได้จากเรือพม่า ได้ความต้องกันเช่นนี้ จึงโปรดให้มีตราลงไปหาตัวเจ้าพระยาไทรบุรีมาไต่ถาม เจ้าพระยาไทรบุรีจึงแข็งเมืองขึ้น จึงโปรดให้เจ้าพระยานครฯ ยกกองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ไปตีเอาเมืองไทรบุรี

เจ้าพระยานครฯ ซึ่งได้ต่อเรือรบที่เมืองตรังและเมืองสตูลไว้แล้ว ก็รวบรวมกองทัพได้ มีจำนวน ,๐๐๐ คน ทำกิตติศัพท์ว่า จะยกไปตีมะริด ตะนาวศรี ให้เจ้าพระยาไทรบุรียกทัพมาช่วย แต่เจ้าพระยาไทรบุรีบิดพลิ้ว เจ้าพระยานครฯ พร้อมด้วยทัพเจ้าเมืองสงขลา พัทลุง ก็ยกไปตีเมืองไทรบุรีพร้อมกัน เจ้าพระยาไทรบุรีหนีไปอยู่อังกฤษที่เกาะหมาก หลังจากได้ไทรบุรีแล้ว เจ้าพระยานครฯ ให้กองทัพเรือไปตีเกาะลังกาวี ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ของไทรบุรีอีกเกาะหนึ่ง กวาดต้อนครอบครัวของชาวเมืองไทรบุรีเข้ามากรุงเทพฯ บ้าง เอาไว้ที่นครฯ บ้าง ลดกำลังให้น้อยลง

การกวาดต้อนเชลยศึกเมืองไทรบุรีในรัชกาลที่ ๒ นี้ เข้าใจว่าได้นำเข้ามาไว้ในบริเวณชุมชนมลายูปัตตานีต้นกรุงรัตนโกสินทร์ฯ รุ่นแรก (รัชกาลที่ ๑) คือ บริเวณหลังวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี ตลอดจนบริเวณใกล้กับวัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) ในย่านบางลำภู ในภายหลังคงได้ขยับขยายออกไปยังถิ่นข้างเคียง

การสงครามกับหัวเมืองมลายูยังมิได้สิ้นสุดลงเพียงนี้ เพราะต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ สงครามและการกวาดต้อนครอบครัวพลเมืองทางมลายูประเทศราชได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ดังนี้

ถึงปีระกา นพศกจุลศักราช ๑๑๙๙ .. ๒๓๘๐ สมเด็จพระศรีสุลาไลยสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงสวรรคต ทำงานพระเมรุถวายพระเพลิง เมื่อต้นปีจอ สัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๒๐๐ .. ๒๓๘๑ ผู้ว่าราชการหัวเมืองเข้ามากรุงเทพฯ ในงานพระเมรุโดยมาก ในระหว่างนั้น ตนกูหะหมัดสหัส ตนกูอัลดุลละ หลานเจ้าพระยาไทร (ประแงรัน) ซึ่งหลบหนีไปเป็นสลัดอยู่ในท้องทะเลทางตะวันตก คบคิดกับหวันมาลี ซึ่งเป็นหัวหน้าแขกสลัดอยู่ที่เกาะยาวแขวงเมืองภูเก็ต เที่ยวชักชวนพวกแขกร่วมคิด ได้เป็นอันมาก ยกจู่มาตีเมืองไทรบุรีในเวลาไทยเผลอ

ไทยรักษาเมืองไทรไว้ไม่ได้ ต้องถอยมาตั้งมั่นที่เมืองพัทลุงอีกครั้ง เมื่อพวกแขกตีเมืองไทรได้แล้วมีใจกำเริบ ด้วยรู้ว่าในเวลานั้น ข้าราชการผู้ใหญ่ทางหัวเมืองปักษ์ใต้โดยมากมีเจ้าพระยานครฯ แลพระยาสงขลา เป็นต้น เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อพวกแขกตีได้เมืองไทรแล้ว จึงยกไปตีเมืองตรัง ซึ่งเป็นเขตเมืองนครฯ อีกเมือง ก็ได้โดยง่าย ครั้นได้เมืองตรังแล้ว จึงยกทัพข้ามแหลมมลายูเข้ามาตีเมืองสงขลา แลแต่งตนไปเกลี้ยกล่อมพวกแขกทาง หัวเมืองจะให้กำเริบขึ้นอย่างคราวก่อน

เมื่อข่าวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ผู้ว่าราชการเมืองรีบกลับออกไปรักษาบ้านเมือง แต่ทรงพระปริวิตกอยู่ด้วย คราวหลังนี้ พวกแขกขบถเข้ามาตีได้ถึงเมืองตรังแลมาประชิดติดเมืองสงขลาซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เกรงเกลือกพวกแขกตามหัวเมือง ทางหน้าในมีเมืองตรังกานูแลเมืองกลันตัน เป็นต้น จะกำเริบขึ้นด้วยดังคราวก่อน

จึงทรงพระราชดำริให้จัดกองทัพใหญ่ยกออกไปจากรุงฯ อย่างเคย โปรดให้เจ้าพระยาพระคลังยกออกไปเมื่อคราวก่อน เปลี่ยนแต่ให้พระศรีพิพัฒน์ (ทัด) น้องเจ้าพระยาพระคลัง (ที่ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เมื่อในรัชกาลที่ ) เป็นแม่ทัพ (จดหมายหลวงอุดมสมบัติ กรมศิลปากร ๒๕๓๐)


การยกทัพนับหมื่นคนออกไปปราบตนกูมะหะหมัดสหัส ตนกูอับดุลละ หลานเจ้าพระยาไทรบุรีที่เข้ามาตีเมืองตรังมาประชิดติดเมืองสงขลาได้ระดมไพร่ พลจากเมืองนครฯ สงขลา เพชรบุรี ราชบุรี ชุมพร ประทิว กุย ปราณ กรุงเทพฯ และกองทหารอาสาจาม (ชาวเขมรมุสลิม-มลายู) เป็นกำลังสำคัญ (เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ ประวัติสาสตร์บ้านครัวฯ, กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์ ๒๕๔๕ หน้า ๑๔)

ความจริงมีเอกสารระบุว่า กองทัพสยามที่ยกพลลงไปปราบปรามหัวเมืองมลายูในปี พ.ศ. ๒๓๘๑-๒๓๘๒ นั้นมีราว ๕,๕๐๐ คน ในขณะที่กำลังพลของไทรบุรีมีอยู่ราว ๔,๐๐๐ คน ซึ่งปรากฏว่าเมืองไทรบุรีต้องพ่ายแพ้สงครามให้กับสยามอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ก็เกิดสงครามกับหัวเมืองมลายูมาก่อนแล้วในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ โดยมีพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพ สงครามในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ นี้นั้นมีราษฎรปัตตานีมีจำนวนประมาณ ๖,๐๐๐ คน ตกเป็นเชลยศึก และถูกกวาดต้อนมายังกรุงเทพฯ ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๙ บันทึกไว้ว่า

“ครั้น วันเดือน ขึ้น ๑๒ ค่ำ เพลาเช้า พระยาพิพัฒน์กราบทูลว่า ท้าวพระกรุณามีหนังสือบอกให้ขุนเทพอาญากรมการเมืองสงขลา ถือเข้าไปว่า เรือนายทัพนายกองออกมาตั้งแต่ วันเดือน แรม ค่ำไปจด วันเดือน แรม ๑๒ ค่ำ อีก ๑๔ ลำ เข้ากันเก่าใหม่เป็นเรือออกมาถึงแล้ว ๔๐ ลำ คน ,๔๐๙ คนทรงตรัสว่า จนป่านนี้แล้วเรือกองทัพยังไม่มาถึงหมดทีเดียวหนอ เป็นกระไร เรือเจ้าพระยายมราชไปถึงแล้วหรือยัง

ทรงตรัสถามว่า ครัวซึ่งเอาเข้าไปนั้นเป็นคนที่ไหน เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า เป็นเมืองจะนะบ้าง เมืองเทพาบ้างเมืองตานีบ้าง ว่าเป็นคนเมืองไทรบ้างก็มีทรงตรัสว่า จนป่านนี้แล้ว มันจะมาเมื่อไรอีกเล่า แล้วรับสั่ง สั่งพระยาราชสุภาวดีว่า ดูรับเอาจำนวนครอบครัวที่ส่งเข้าไปมอบให้พระยาราชวังสรรค์รับเอาไปพักไว้ที่ไหน แต่พอให้มันสบายก่อนเถิด จะเอาไปให้กับใครได้ จะมีเข้าไปมากน้อยอย่างไร ก็มอบให้เป็นบ่าวพระยาราชวังสรรค์หมดนั่นแหละ แล้วรับสั่ง สั่งพระยาราชวังสรรค์ว่า ที่สุเหร่ามีกว้างขวางอยู่ พอจะผ่อนพักไว้ได้ก็รับเอาพักไว้ พอให้มันสบายก่อนเถิด

พระยาราชวังสรรค์ กราบทูลว่า ที่สุเหร่าคลองนางหงส์ ก็กว้างขวางอยู่พอจะพักอยู่ได้ รับสั่งว่า เออ เอาพักไว้ที่ในนี้ก่อนเถิด ที่มันเจ็บไข้อยู่ก็ดูขอหมอไปรักษาพยาบาลมันด้วย พระยาเทพกับพระยาราชวังสรรค์อุตส่าห์เอาใจใส่ดูแลเบิกข้าวปลาอาหารให้มันกิน อย่าให้มันอดอยากซวดโซได้ ถ้าข้างมีครอบครัวส่งข้าวไปอีกมากมายแล้ว จึงค่อยจัดแจงเอาไปตั้งที่แสนแสบข้างนอกทีเดียวฯ


ครั้น วันเดือน ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาค่ำทรงตรัสถามพระยาราชวังสรรค์ว่า จัดแจงรับเอาครัวขึ้นพักไว้หมดแล้วหรือ พระยาราชวังสรรค์กราบทูลว่า รับเอาขึ้นพักไว้แล้ว เป็นชายฉกรรจ์ ๓๓ สำมะโนครัว ๔๘ เข้ากัน ๘๑ คน ป่วยตายเสียกลางทาง ชายฉกรรจ์ ๑๙ สำมะโนครัว เข้ากัน ๒๔ คน ทรงตรัสถามว่า มันยังเจ็บป่วยมีอยู่อีกบ้างหรือไม่ พระยาราชวังสรรค์กราบทูลว่า ยังมีอยู่บ้าง รับสั่งว่าดูเอาใจใส่ ขอหมอไปรักษาพยาบาลอย่าให้มันตายไปเสียได้

มันเป็นก็เพราะโทษมันอดฝิ่นนั่นแหล่ะ ขอเอามูลฝิ่นไปเจือยาให้มันกินเข้าไปมันก็คงจะหายสิ้น แล้วทรงตรัสถามว่า มีคนเมืองไทรเข้ามาเท่าไร พระยาราชวังสรรค์กราบทูลว่า เป็นคนเมืองไทร ชายฉกรรจ์ ๓๕ ๔๕ คน เมืองปัตตานี ชายฉกรรจ์ สำมะโนครัว ๑๖ คนเข้ากัน ชายฉกรรจ์ ๓๓ สำมะโนครัว ๔๘ ๘๑ คน รับสั่งว่า อุตส่าห์ดูแลรักษามันไว้ให้ดี ถ้ามีเข้าไปอีกมากมายแล้ว จึงจัดแจงให้ออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่นอกทีเดียวฯ

ข้อความจาก “จดหมายหลวงอุดมสมบัติ” ได้ให้ข้อมูลสำคัญแก่เราว่า การกวาดต้อนครัวมลายูในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น ได้นำเอาเข้ามาไว้ที่ “สุเหร่าคลองนางหงส์” โดยมีพระยาราชวังสรรค์ (ฉิม) แม่ทัพเรือซึ่งเป็นชาวมุสลิมเก่า เชื้อสายตระกูลสุลต่านสุลัยมานเป็นผู้ดูแล พระยาราชวังสรรค์ (ฉิม) เป็นเจ้ากรมกองอาสาจามซึ่งประกอบด้วยกำลังพลจากมุสลิมเขมร (จาม) และชาวมลายูเดิม (แขกเก่า)

และ “สุเหร่าคลองนางหงส์” นี้น่าจะเป็นสุเหร่าที่กองอาสาจามในเขตคลองแสนแสบใต้ ซึ่งเป็นบรรพชนบ้านครัวและสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๓๐ ตรงกับรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และบรรดาเชลยศึกมลายูในครั้งนั้น ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองปัตตานี จะนะ เทพา สตูล และไทรบุรี และชาวมลายูรุ่นนี้ถือว่าเป็นรุ่นที่ ๓ ถูกกวาดต้อนเทครัวเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการขุดคลองแสนแสบ จึงให้พักอาศัยอยู่ในชุมชนของกองอาสาจาม (บ้านครัว) เป็นการชั่วคราวไว้ก่อน

การโยกย้ายราษฎรให้ออกไปตั้งถิ่นฐานตามแนวคลองแสนแสบ (เหนือ) เป็นการแผ่ขยายอาณาเขตพระนครด้านทิศตะวันออกให้กว้างขวางออกไปอีกด้วย (เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ อ้างแล้ว หน้า ๒๐)

สาเหตุที่โยกย้ายชาวมลายูปัตตานีในครั้งนี้ตามบันทึกจดหมายหลวงอุดมสมบัติ คือ ต้องใช้ข้าวเลี้ยงดูราษฎรที่กวาดครอบครัวเข้ามากว่า ๖,๐๐๐ คนและยังมีครอบครัวที่กวาดเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๒ ที่ยังตกค้างอยู่อีกเป็นจำนวนมากไม่ไหว รัชกาลที่ ๓ จึงทรงมีรับสั่ง สั่งพระยาราชวังสรรค์ (ฉิม) ดังข้อความบางตอนที่ระบุว่า

“…ถ้าข้างหน้ามีครอบครัว ส่งข้าวไปอีกมากมายแล้ว จึงค่อยจัดแจงเอาไปตั้งที่แสนแสบข้างนอกทีเดียวฯ

“…อุตส่าห์ดูแลรักษามันไว้ให้ดี ถ้ามีเข้าไปอีกมากมายแล้ว จึงจัดแจงให้ออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่นอกทีเดียวฯ

พระยาราชวังสรรค์ (ฉิม) ได้นำชาวมลายูปัตตานีและหัวเมืองมลายูอื่นไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่คลองแสนแสบ เหนือตามที่พระองค์ทรงมีรับสั่ง ดังนั้น ประชาคมมุสลิมตามลำคลองแสนแสบเหนือจึงเกิดขึ้น นับจากคลองมหานาค บ้านครัว บ้านดอน คลองตัน บางกะปิ บึงกุ่ม หลอแหล มีนบุรี แสนแสบ คู้เจียรดับ หนองจอก กระทุ่มราย ถึงบางน้ำเปรี้ยวปลายทางที่บางขนากจนออกสู่แม่น้ำบางปะกง

และชาวมุสลิมมลายูถิ่นเดิม เช่น ฝั่งธนบุรีและผ่านบางลำภู ก็อาจจะขยับขยายติดตามไปด้วยส่วนหนึ่งในครั้งนั้น  เพราะย่อมถือเป็นโอกาสในการจับจองพื้นที่ว่างเปล่าและประกอบอาชีพเกษตรกรรม อันเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวมลายูปัตตานีที่สืบมาแต่ครั้งโบราณ นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่า ประชาคมมุสลิมในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงก็คงจะขยับขยายและเทครัวไปตั้งชุมชนใหม่ในเขตเมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน เช่น ที่ท่าอิฐ, ฉะเชิงเทรา, ปทุมธานี และนครนายก เป็นต้น

โดยสืบเนื่องมาจากการมีพระบรมราชานุญาติของรัชกาลที่ ๓ มาแต่ครั้งนั้น อันเป็นการกระจายหลักแหล่งชุมชนครั้งใหญ่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นับเนื่องได้ราวศตวรรษครึ่งมาแล้วเป็นอย่างน้อย

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายกรณีการกวาดต้อนครอบครัวราษฎรเมื่อฝ่ายชนะสงครามกระทำกับฝ่ายแพ้ สงคราม ในพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามจดหมายหลวงอุดมสมบัติ มีใจความว่า

มีความอีกข้อ ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะกล่าวไว้ในท้ายหนังสือเรื่องนี้ คือ ด้วยเรื่องวิธีกวาดครัวผู้อ่านจดหมายหลวงอุดมสมบัติ คงจะสังเกตเห็นว่าวิธีราชการในครั้งนั้น ถือเอาธุระในเรื่องกวาดครัวราษฎรพลเมืองที่เข้าด้วยกับพวกผู้ประทุษร้ายเอาเข้ามากรุงเทพฯ เป็นการสำคัญอย่าง บางทีจะมีผู้อ่านในสมัยนี้มีความคิดเห็นว่า วิธีราชการของไทยในครั้งนั้น เป็นการกดขี่ไพร่บ้านพลเมืองให้ได้รับความเดือดร้อนเหลือเกินข้อที่ผู้ต้องกวาดเข้ามาได้ความเดือดร้อนนั้น ข้าพเจ้าไม่คัดค้าน

ถ้าจะดูถึงอกเราอกเขา การที่ต้องถูกบังคับแม้เพียงให้ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเมือง ก็ต้องรู้สึกเดือดร้อนอยู่เป็นธรรมดา ข้าพเจ้าประสงค์จะอธิบายข้อนี้ว่า ประเพณีกวาดผู้คนพลเมืองที่ตีได้ไปเป็นเชลยของฝ่ายชนะ เป็นประเพณีมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ จะเห็นได้ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อคราวตีเมืองกลิงคราฐได้กว่า ,๐๐๐ ปีมาแล้ว พระเจ้าอโศกฯ กวาดครอบครัวชาวกลิงคราฐไปเป็นเชลยในครั้งเดียวกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน การกวาดครัวที่ถือว่าเป็นประเพณีที่ฝ่ายชนะควรทำนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าด้วยสาเหตุ ประการ คือ


ประการที่ การที่กะเกณฑ์ผู้คนยกกองทัพลงไปรบพุ่งถึงจะมีชัยชนะ ผู้คนพลเมืองมีต้องกะเกณฑ์ไปนั้นต้องมีจำนวนล้มตายหายจากมิมากก็น้อย การทำสงครามถึงชนะก็เหมือนกับขาดทุนในส่วนจำนวนผู้คนพลเมืองทุกคราว เมื่อชนะจึงหาผู้คนมาเพิ่มเติมทดแทน เพื่อมิให้กำลังเมืองลดน้อยถอยลง


ประการที่ ผู้ที่ไปทำสงครามแต่ปางก่อน ตั้งแต่ตัวแม่ทัพลงไปไม่ได้รับเงินเดือนอย่างทหารทุกวันนี้ เมื่อทำศึกชนะได้ครอบครัวผู้คนขึ้นมา พวกแม่ทัพนายกองได้รับส่วนแบ่งแจกไปเป็นกำลัง


ประการที่ ลักษณะทำการสงครามกันในระหว่างประเทศหรือระหว่างต่างชาติ ต่างภาษา ถึงแต่ก่อนก็เหมือนกับปัจจุบันนี้ ในลักษณะอันหนึ่ง คือ ถ้าถึงต้องรบพุ่งขับเคี่ยวหรือถ้าเมืองน้อยเป็นขบถประทุษร้ายต่อเมืองใหญ่ซึ่งเคยเป็นเจ้าเป็นนาย ข้างฝ่ายชนะย่อมถือว่าต้องระวังอย่าให้ต้องรบพุ่งหรือเกิดเหตุประทุษร้ายได้ดังเป็นมาแล้วต่อไป

การที่กวาดครัวตามประเพณีโบราณคือว่าเป็นการทอนกำลังเมืองแพ้ ไม่ให้ต่อสู้คิดร้ายได้ จึงถือกันว่าควรทำประเพณีกวาดครัว ทำกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ เห็นจะแทบทุกประเทศ ด้วยเหตุดังแสดงมานี้ มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นต่อเมื่อภายหลังด้วยกันทั้งนั้น


เมื่อครั้งรัชกาลที่ ไทยเรายังนิยมตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ จึงถือว่าการกวาดครอบครัวเป็นการสำคัญอัน ซึ่งจำต้องทำ แต่ผู้อ่านจะแลเห็นได้ในกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า มิได้ทำโดยปราศจากความเมตตากรุณาแก่ผู้ที่ต้องกวาดมานั้นเลย


“แขกครัว” ที่ต้องกวาดเข้ามาครั้งนั้นได้รับความอุปถัมภ์บำรุงทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไป ได้ และที่สุดก็ได้รับความเป็นอิสรภาพเหมือนกับไทยที่เป็นฝ่ายชนะ ข้อนี้มีพยาน ผู้อ่านจะเห็นได้ในทุกวันนี้ที่ยังมีเชื้อสายพวกแขกครัวอยู่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองเป็นอันมากฯ (เรืองศักดิ์  ดำริห์เลิศ, อ้างแล้ว หน้า ๑๘-๑๙)

คำ “แขกครัว” ที่ถูกกล่าวถึงนี้ หมายถึง ชาวมุสลิมจามและชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งมีทั้งมลายูเก่า (แขกเก่า) และมลายูที่เข้ามาใหม่เมื่อครั้งสงครามต้นกรุงรัตนโกสินทร์ฯ คือ แขกใหม่นั่นเองซึ่งประชาคมมุสลิมมลายูและมุสลิมจาม (เขมร) ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีความเกี่ยวพันกับการขุดคลองรอบกรุง และคลองแสนแสบ