ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิด Equus caballus ในวงศ Equidae เป็นสัตว์กีบเดี่ยว  รูปร่างสูงใหญ่ ขายาว หางเป็นพู่ มีแผงคอยาว ใช้เป็นพาหนะขับขี่และเทียมรถ  ชาวอาหรับเรียกม้าไว้หลายชื่อด้วยกัน  อาทิเช่น

                    1.  อัลฮิซอน (اَلْحِصَانُ ) หมายถึง ม้าตัวผู้ เหตุที่เรียกชื่อนี้เพราะ อัลฮิซอน หมายถึง ม้าที่มีสายพันธุ์เก่าแก่และรักเจ้านายของมันและพร้อมจะปกป้องเจ้านายของมันเสมอ บ้างก็บอกว่ามันจะรักษาน้ำเชื้อของมันเอาไว้สำหรับม้าเพศเมียที่เป็นม้าพันธุ์ดีเท่านั้น 

                    2.  อัลฟ่ารอซุ้ (اَلْفَرَسُ ) หมายถึง ม้าพันธุ์เชื่อง มิใช่ม้าป่าที่เปรียว  ใช้สำหรับเป็นพาหนะขับขี่ ลางทีก็หมายถึง ม้าเพศผู้ หรือม้าศึก เรียกผู้ขี่ม้าศึกว่า ฟาริซฺ (فَارِسٌ ) คือ อัศวินนั่นเอง 

                    3.  อัลคอยลุ้ (اَلْخَيْلُ )   หมายถึง   ม้าหรือฝูงม้า เป็นคำนามบ่งประเภท (اسْمُ جِنْسٍ )

                    4. อัลญ่าวาดุ้ (اَلْجَوَادُ ) หมายถึงม้าพันธุ์ดีที่มีฝีเท้ารวดเร็ว เป็นต้น  ม้าที่มีลักษณะงดงามที่สุด เรียกว่า  อัซซอฟินฺ (اَلصَّافِنُ ) ซึ่งมันมักจะยกขาหน้าขึ้นข้างหนึ่งและยืนอยู่บนปลายกีบเท้าอีกข้างหนึ่งเหมือนทำท่าจะย่างเยื้องอย่างมีลีลางดงาม 

                    ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงม้าพันธุ์นี้เอาไว้ในบทซ๊อด  พระบัญญัติที่ 31 มีใจความว่า : “และจงรำลึกเมื่อม้าพันธุ์ดีที่มีฝีเท้าปราดเปรียวได้ถูกนำมาเสนอแก่เขา (ศาสดาสุลัยมาน) ในยามเย็น”

                    นักตีฟซีรระบุว่า  ในตอนเย็นวันหนึ่งได้มีการนำเอาม้าพันธุ์ดีจำนวนนับพันตัวมาแสดงต่อหน้าท่านศาสดาสุลัยมาน (อะลัยฮิซซลาม) ม้าเหล่านี้เป็นมรดกที่ท่านศาสดาสุลัยมาน (อะลัยฮิซซลาม) ได้รับสืบทอดมาจากท่านศาสดาดาวูด (อะลัยฮิซซลาม) ผู้เป็นบิดาเพื่อใช้ในการสงคราม  ท่านศาสดาสุลัยมาน (อะลัยฮิซซลาม) ทรงเพลิดเพลินอยู่กับการชมฝูงม้านับพันจบลืมนมัสการยามเย็น  ท่านจึงมีคำสั่งให้นำม้าเหล่านั้นกลับมา  ท่านศาสดาสุลัยมาน (อะลัยฮิซซลาม) ได้แสดงความอาลัยต่อฝูงม้าด้วยการลูบขาและต้นคอของพวกมัน 

                    หลังจากนั้นท่านจึงมีบัญชาให้เชือดม้าทั้งฝูงและแจกจ่ายเนื้อม้าเป็นอาหารแก่เหล่าคนยากคนจน  พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) จึงทรงประทานสายลมแก่ท่านศาสดาเพื่อทดแทนม้าศึกเหล่านั้น  ลมที่ว่านี้พัดไปเป็นเวลาหนึ่งเดือน และพัดกลับเป็นเวลาหนึ่งเดือนตามบัญชาของท่านศาสดาสุลัยมาน (อะลัยฮิซซลาม) สุดแล้วแต่ว่าท่านจะประสงค์ให้มันพัดไปทางทิศใด  เรียกได้ว่า “สูญเสียฝูงอาชา แต่ได้ลมวายุเป็นทหารหาญ” กลายเป็นอาวุธวิเศษที่ไม่มีผู้ใดเหมือน

                    ชาวอาหรับที่หลงใหลม้าพันธุ์ดีจะมีม้าประดับบารมีเพียงหนึ่งถึงสองตัวนอกจากชายผู้หนึ่งที่ชื่อ ซัยดฺ อิบนุ มุฮัลลัล อิบนิ ซัยดฺ อัตตออี่ย์  บุคคลผู้นี้มีม้าเป็นฝูงและล้วนแล้วแต่เป็นม้าพันธุ์ดีทั้งสิ้น เช่น ม้าสายพันธุ์ ฮัตต๊อล (اَلْهَطَّالُ ) ที่เวลาวิ่งจะมีเหงื่อออกดั่งฝนพรำ , พันธุ์อัลกุมัยต์ (اَلْكُمَيْتُ ) ที่มีขนสีดำปนแดง , พันธุ์อัลวัรดฺ (اَلْوَرْدُ ) เป็นม้าขนสีแดงปนสีเหลือง และพันธุ์ด่ามู๊ก (اَلدَّمُوْكُ ) ซึ่งเป็นม้าฝีเท้าจัด เป็นต้น

                    ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) มีม้าอยู่หลายตัว อาทิเช่น ม้าที่ชื่อ
                    1.อัซซักบุ้ (اَلسَّكْبُ ) กล่าวกันว่าเป็นม้าตัวแรกที่ท่านครอบครอง โดยซื้อมาจากชาวอาหรับชนบทผู้หนึ่งในราคา 10 อูกียะฮฺ
                    2.อัฎฎิรซุ้ (اَلضِّرْسُ ) เป็นม้าที่มีแด่นปรากฏที่หน้าผากและข้อเท้า  มีขนสีดำปนแดง บ้างก็บอกว่ามีสีเทา 
                    3.อัลมุรตะญิซฺ (اَلْمُرْتَجِزُ ) มีขนสีขาวแซมดำ (สีด่าง)
                    4.อัลลุฮัยฟฺ (اَللُّحَيْفُ
                    5.อัลลิซ๊ารฺ (اَللِّزَارُ )         
                    6.อัซซ่อริบฺ (اَلظَّرِبُ
                    7.อัซซีบฮะฮฺ (اَلسِّبْحَةُ
                    8.อัลวัรดุ้ (اَلْوَرْدُ ) นักวิชาการบางท่านระบุว่าท่านศาสดามีม้าทั้งหมด 7 ตัวด้วยกัน

                    ชาวอาหรับอ้างว่า  ม้าเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด เพราะม้าเป็นสัตว์แสนรู้ มีจิตใจงาม แต่เดิมม้าเป็นสัตว์เปรียวเหมือนสัตว์ป่าทั่วไป  ชาวอาหรับบอกว่าบุคคลแรกที่ฝึกม้าให้เชื่องและใช้ขี่เป็นพาหนะ คือ ท่านศาสดาอิสมาอีล (อะลัยฮิซซลาม)

                    ม้าบางสายพันธุ์จะไม่ฉี่และจะไม่ถ่ายตราบใดที่สารถียังขี่อยู่บนหลังของมัน  ม้าบางตัวจะรู้จักนายของมันเป็นอย่างดีและจะไม่ยอมให้คนอื่นขึ้นขี่หลังของมัน  และมีเรื่องเล่าว่า ท่านศาสดาสุลัยมาน (อะลัยฮิซซลาม) หรือ คิงค์โซโลมอนมีฝูงม้าติดปีกอีกด้วย  ม้าสายพันธุ์เก่าแก่ชาวอาหรับเรียกว่า อัลอะตีก (اَلْعَتِيْقُ )  เป็นม้าที่มีพ่อและแม่เป็นสายพันธุ์อาหรับทั้งคู่  และมีลักษณะงดงามหมดจดไร้ข้อตำหนิ  ส่วนม้าลูกผสม ชาวอาหรับเรียกว่า อัลญะฮีน (اَلْجَهِيْنُ ) เป็นม้าที่มีพ่อพันธุ์เป็นอาหรับและแม่มิใช่ม้าอาหรับ คือ ม้าจากสายพันธุ์อื่น

                    ในคัมภีร์อัลกุรอาน ได้ระบุถึงฝูงม้าศึกของเหล่านักรบ (มุญาฮิดีน) ที่ออกศึกเพื่อปกป้องศาสนาขณะที่มันวิ่งเจ้าจู่โจมเหล่าศัตรู ขณะที่มันควบฝีเท้าอย่างรวดเร็ว มีเสียงลมหายใจดังออกมา ท่านอิบนุอับบาส (ร.ฎ) กล่าวว่า เวลาที่ม้าวิ่งมันจะส่งเสียงออกมา อุฮฺ ๆ (أُحْ ) อัลกุรอานเรียกเสียงลมหายใจของม้าที่ดังออกมาจากลำคอของมันว่า  อัฎฎอบฮุ้ (اَلضَّبْحُ ) เมื่อเกือกม้ากระทบกับหินก็มีประกายไฟและทำให้ฝุ่นดินฟุ้งตลบในสมรภูมิ เรื่องของม้าศึกถูกระบุไว้ในบทอัลอาดิยาต พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้ทรงสาบานด้วยม้าศึกในสมรภูมิ เพื่อยืนยันถึงความประเสริฐและเกียรติยศของมัน  โดยสาบานถึงความเนรคุณของมนุษย์ที่ปฏิเสธพระองค์  มักมากและโลภโมโทสันเป็นเนืองนิตย์

                    ในพระวจนะของท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ระบุว่า ม้ามีอยู่ 3 ประเภท 
                    1. ม้าที่เจ้าของผูกมันไว้เพื่อโอ้อวด แสดงบารมีและเพื่อใช้ในการวิวาทกับพี่น้องร่วมศาสนา ม้าประเภทนี้เป็นม้าบาป  กล่าวคือ  เจ้าของม้าย่อมมีบาป 
                    2. ม้าที่เป็นเกราะกำบังให้กับเจ้าของ คือ ม้าที่เจ้าของเตรียมมันไว้เพื่อการศึกปกป้องศาสนาและเจ้าของม้าก็ไม่ได้ลืมสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ในหลังและต้นคอของมัน 
                    3. ม้าที่เจ้าของได้อานิสงค์  คือ ม้าที่เจ้าของเตรียมมันไว้เพื่อการศึกปกป้องศาสนา  สำหรับชาวมุสลิมในยามเกิดศึก  เขาปล่อยมันในทุ่งหรือสวนต้นไม้  ไม่ว่าม้าจะกินหญ้าหรือต้นไม้หรือขับถ่ายมูลของมัน  เจ้าของย่อมได้รับอานิสงค์ (รายงานพ้องกันโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม) 

                    ในอีกพระวจนะหนึ่ง  ท่านศาสดา (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ระบุว่า : ม้ามีอยู่ 3 ประเภท
                    1. ม้าของพระผู้ทรงเมตตา คือ ม้าที่ถูกเตรียมในการศึกเพื่อปกป้องศาสนา หญ้า มูล และปัสสาวะที่มันขับถ่ายเป็นอานิสงค์สำหรับเจ้าของ
                    2. ม้าของชัยตอน (มารร้าย) คือ ม้าที่ถูกนำมาแข่งเพื่อการพนันและเดิมพัน
                    3. ม้าของมนุษย์ คือ ม้าที่เจ้าของเลี้ยงไว้เพื่อขยายพันธุ์ ม้าประเภทนี้ทำให้เจ้าของมีรายได้ไม่ยากจน