ในคัมภีร์อัลกุรอาน ระบุถึงสัตว์น้ำโดยเฉพาะสัตว์ทะเลเอาไว้ในรูปคำว่า ฮูต (حُوْتٌ ) หมายถึง ปลา (اَلسَّمَكُ )  มีรูปพหูพจน์ว่า อะฮฺวาตฺ , ฮูตะฮฺ และฮีตานฺ  คำว่า ฮูต ถูกระบุในอายะฮฺที่  61 และ 63  บทอัลกะฮฺฟี่  เป็นเรื่องของปลาที่ท่านศาสดามูซา (อะลัยฮิซซลาม) กับเด็กรับใช้ของท่านนำใส่ตะกร้าหรือข้อง  ได้นำไปเป็นอาหารระหว่างการเดินทางไปพบท่านศาสดาค่อฎิรฺ (หรือคิเฎ็ร) 

           ปลาที่ว่านี้เป็นปลาย่าง  แต่มันกลับมามีชีวิตและดิ้นออกจากข้องลงทะเลไป  ซึ่งนั่นเป็นจุดนัดพบระหว่างท่านศาสดามูซา (อะลัยฮิซซลาม)  กับศาสดาค่อฎิรแต่เด็กรับใช้ของท่านศาสดามูซา คือ ยูชะอฺ บิน นูนฺ  ไม่ได้แจ้งให้ท่านทราบ  จวบจนกระทั่งเดินทางผ่านมาได้ระยะหนึ่ง  ท่านศาสดามูซา (อะลัยฮิซซลาม) อ่อนล้าและเกิดอาการหิว  จึงเรียกหาปลาที่นำมาเป็นอาหารกลางวัน 

           ยูชะอฺ บิน นูน จึงแจ้งให้ท่านศาสดาทราบและบอกว่า ชัยตอนทำให้ยูชะอฺลืมแจ้งเรื่องแปลกประหลาดนั้นแก่ท่านศาสดามูซา (อะลัยฮิซซลาม) ท่านจึงบอกว่า  นั่นแหล่ะ คือสิ่งที่เราสองคนกำลังแสวงหา  ทั้งสองจึงย้อนกลับไปยังที่ซึ่งปลาตัวนั้นหลุดจากข้องไป  แล้วทั้งสองก็พบกับศาสดาค่อฎิร (อะลัยฮิซซลาม)  และเกิดเรื่องราวดังที่ถูกระบุไว้ในบทอัลกะฮฺฟี่  นับแต่อายะฮฺที่ 60  ถึงอายะฮฺที่ 82

           นักวิชาการได้ระบุว่า  ปลาที่ท่านศาสดามูซา (อะลัยฮิซซลาม) ให้ยูชะอฺ บิน นูน นำใส่ข้องไปด้วยนั้นเป็นปลาย่าง  ต่อมามันก็หลุดออกจากข้องไปและว่ายลงทะเล  น้ำทะเลบริเวณนั้นก็หยุดไหลและจับตัวแข็งรอบๆ ตัวปลา  เหมือนโขดหิน  มีรายงานจากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ) ว่า  เหตุที่ปลาย่างกลับมามีชีวิตเพราะมันโดนหยดน้ำจากตาน้ำแห่งหนึ่งที่นั่น  เรียกกันว่า  ตาน้ำแห่งชีวิต (عَيْنُ الْحَيَاةِ )  ซึ่งหยดน้ำนี้เมื่อโดนหรือสัมผัสกับสัตว์ที่ตาย  มันจะฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ 

           แต่อัลกัลบีย์  กล่าวว่า  ยูชะอฺ บิน นูน ได้อาบน้ำละหมาดจากน้ำของตาน้ำแห่งชีวิต  และน้ำก็หยดลงบนตัวปลาที่ถูกใส่เกลือขณะที่มันอยู่ในข้องแห้งๆ จนลงน้ำทะเลไป  ตรงนั้นเรียกว่า  ที่รวมของทะเลสองแห่ง (مَجْمَعُ الْبَحْرَيْنِ ) ซึ่งนักวิชาการก็กล่าวไว้แตกต่างกัน เช่น คือทะเลเปอร์เซียกับทะเลรูมถัดจากทิศตะวันออก  บ้างก็บอกว่า  ทะเลจอร์แดนกับทะเลกุลซุม  บ้างก็ว่าเป็นทะเลที่อยู่ทางทิศตะวันตกกับทะเลที่อยู่ตรงช่องแคบ

           เรื่องของปลาย่างที่กลับมามีชีวิตนี้  นับเป็นเรื่องแปลก  แต่ก็รับฟังเอาไว้เพื่อประดับความรู้ก็แล้วกัน  สิ่งที่จำเป็นต้องเชื่อก็คือ เจ้าปลาตัวนี้ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัล   กุรอานในเรื่องของศาสดามูซา (อะลัยฮิซซลาม) ส่วนที่เล่าให้ฟังนั้นเป็นรายละเอียดที่ไม่รู้ไม่ทราบก็ไม่เป็นไรหรอก

           มาถึงเรื่องของปลาอีกตัวหนึ่ง  เป็นปลาจริงๆ คือ ไม่ใช่ปลาเค็มย่างที่ฟื้นคืนชีพ  ปลาตัวนี้เรียกกันว่า  ปลาของศาสดายูนุส บุตร มัธทาย (อะลัยฮิซซลาม) และเรียกศาสดายูนุส (อะลัยฮิซซลาม) ว่า เจ้าของปลา (صَاحِبُ الْحُوْتِ )  โดยถูกระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน   บทอัซซอฟฟาต  อายะฮฺที่ 142 และบทอัลก่อลัม อายะฮฺที่ 48

           ศาสดายูนุส (อะลัยฮิซซลาม) ถูกส่งไปยังเมืองนีเนเว่ห์ ใกล้กับเมืองโมซุลในอิรักเพื่อเรียกร้องเชิญชวนชาวเมืองให้ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) แต่ปรากฏว่า ชาวเมืองไม่ยอมศรัทธา  ท่านศาสดายูนุส (อะลัยฮิซซลาม) ก็ถอดใจและหนีออกจากเมืองไปโดยไม่ได้มีบัญชาของพระเจ้าให้กระทำเช่นนั้น  ท่านหนีลงเรือลำหนึ่งซึ่งบรรทุกผู้คนเป็นจำนวนมาก  จนต้องมีการจับฉลากเพื่อหาคนที่สละเรือ  ปรากฏว่าท่านศาสดายูนุส (อะลัยฮิซซลาม) จับฉลากได้ ชาวเรือจึงจับท่านโยนลงทะเล 

           นักวิชาการระบุว่า  ท่านศาสดายูนุส (อะลัยฮิซซลาม) ไม่สบายใจที่ชาวเมืองไม่เชื่อคำเรียกร้องของท่าน  ท่านจึงเตือนพวกนั้นว่าจะถูกพระผู้เป็นเจ้าลงทัณฑ์ในเวลาอันใกล้  แล้วท่านก็ออกจากเมืองในสภาพที่ขุ่นเคืองชาวเมือง  ความขุ่นเคืองได้นำพาให้ท่านออกเดินทางไปยังริมฝั่งทะเล  ซึ่งที่นั่นมีเรือโดยสารที่มีผู้คนเพียบแปล้  ท่านลงเรือลำนั้นไป 

           ต่อมาเกิดลมพายุและคลื่นใหญ่ จนเรือเกือบจะอับปาง  พวกชาวเรือจึงพากันกล่าวว่า  : ในเรือลำนี้มีทาสที่กบฏต่อนายร่วมโดยสารมาด้วย  และเรือลำนี้จะปลอดภัยถ้าจับทาสผู้นั้นโยนลงน้ำไปเสีย  จึงจับฉลากดังที่กล่าวมา  เมื่อศาสดายูนุส (อะลัยฮิซซลาม) ถูกจับโยนลงทะเล  ก็มีปลาตัวหนึ่งมากลืนท่านลงท้องไป  นักวิชาการระบุว่า  พระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) ได้มีบัญชากับปลาตัวนั้นว่า  ข้ามิได้ให้ยูนุสเป็นอาหารของเจ้า  เพียงแต่ทำให้ท้องของเจ้าเป็นที่เก็บและคุมขังยูนุสเอาไว้ 

           ในขณะที่อยู่ในท้องปลาท่านศาสดายูนุส (อะลัยฮิซซลาม) ได้สำนึกผิดและกล่าวสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ท่าน  มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ท่าน  แท้จริงข้าพระองค์นั้นเป็นผู้หนึ่งจากเหล่าผู้อธรรม”  พระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ) จึงให้ท่านรอดชีวิตจากท้องปลานั้น 

           นักวิชาการระบุว่า  ท่านศาสดายูนุส (อะลัยฮิซซลาม) อยู่ในท้องปลาเป็นเวลา 3 วัน , 7 วัน , 20 วัน และ 40 วันตามความเห็นที่ต่างกัน  บ้างก็ว่าปลาได้กลืนท่านลงท้องไปในช่วงสายและคายท่านออกมาในตอนเย็นของวันเดียวกัน  (ดู ฮะยาตุ้ล ฮะยะวาน อัลกุบรอ ของ อัดดุมัยรี่ย์ 1/268) ปลาของท่านศาสดายูนุส (อะลัยฮิซซลาม) คงไม่ใช่ปลาตัวเล็กๆ แต่น่าจะเป็นปลาที่มีขนาดเขื่องเอาการ  เพราะสามารถกลืนคนเป็นๆ ลงท้องไปได้

           อย่างไรก็ตาม  อัลกุรอานใช้คำว่า ฮูต (حُوْتٌ )  ซึ่งหมายถึง “ปลา” กินความหมายกว้าง  ไม่เจาะจงว่าเป็นปลาชนิดใด  มีเพียงท้องเรื่องที่ส่อให้เห็นว่า  ปลาตัวนี้ (ปลาของศาสดายูนุส อะลัยฮิซซลาม) กลืนท่านลงท้องและสามารถอยู่ในท้องของมันได้  แสดงว่าเป็นปลาใหญ่  อาศัยอยู่ในทะเล 

           คิดไปคิดมาก็น่าจะเป็น “วาฬ” หรือ “ปลาวาฬ” เป็นชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับ Odontoceti   และ Mysticeti  มีหลายชนิดในหลายวงศ์  ขนาดใหญ่มาก  หัวมนใหญ่  หางแบนเพื่อช่วยในการพุ้ยน้ำ  สามารถพ่นอากาศที่มีไอน้ำออกทางจมูกได้เวลาโผล่ขึ้นมาหายใจ  เช่น ปลาวาฬสีน้ำเงิน (Balaenoptera musoulus) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก  ในภาษาอาหรับเรียก ปลาวาฬว่า บาลฺ (اَلْبَالُ ) แต่ในอัลกุรอานใช้คำที่มีความหมายกว้าง  ๆ ว่า ฮูต (حُوْتٌ )  ซึ่งหมายถึง ฮูตกะบีร     (حَوْتٌ كَبِيْرٌ )  คือ ปลาใหญ่  ซึ่งก็คือ ปลาวาฬนั่นเอง  บางทีก็เรียกกันว่า นูน (نُوْنٌ )  หมายถึง ปลา 

           เหตุนี้จึงเรียกท่านศาสดายูนุส (อะลัยฮิซซลาม) ว่า ซูนนูน (ذُوالنُّوْنِ )  -The prophet Jonah- ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า ซอฮิบุ้ลฮูต (صَاحِبُ الْحُوْتِ ) ในอัลกุรอาน  อันมีความหมายว่า เจ้าของปลานั่นเอง  นักวิชาการระบุว่า ปลาวาฬ เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล  ตัวที่มีขนาดใหญ่มากๆ นั้น  อาจจะมีขนาดความยาวถึง 50 ศอก หรือ 500 ศอก หรือมากกว่า  เวลาที่มันโผล่สีข้างเหนือน้ำจะมีลักษณะเหมือนกระโดงเรือขนาดใหญ่  ชาวเรือในสมัยก่อนกลัวปลาชนิดนี้มาก  เมื่อรู้ว่ามันอยู่ใกล้ๆ กับเรือก็จะตีกลองเพื่อไล่มัน 

           บางทีชาวอาหรับก็เรียกปลาวาฬ ว่า อัมบัร (اَلْعَنْبَرُ )  ซึ่งมีความหมายเดียวกับ อำพัน  โดยมากเรียกว่า อำพันขี้ปลา หรือ อำพันทอง  เป็นวัตถุสีเทาและสีเหลือง มีกลิ่นหอม ลอยอยู่ในทะเลหรือริมฝั่งทะเลของประเทศแถบร้อน  เข้าใจว่าเป็นขี้ปลาวาฬชนิดหนึ่ง  ชาวอาหรับเรียกสัตว์ทะเลที่กินอำพันว่า “อัมบัร” ซึ่งหมายถึง ปลาวาฬนั่นเอง

           มีรายงานโดยท่านบุคอรีย์  จากท่านญาบิร (ร.ฎ) ว่า ครั้งหนึ่งเหล่าสาวกจำนวน 300 ท่าน ได้ออกลาดตระเวนเพื่อเฝ้าติดตามกองคาราวานสินค้าของพวกกุรอยซ์  ในครั้งนั้นเหล่าสาวกกินอินทผลัมประทังชีวิตอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง  ต่อมาก็เดินทางสู่ชายทะเล ก็พบซากปลาวาฬที่ตายเกยตื้นอยู่  มีขนาดใหญ่เหมือนภูเขาลูกย่อมๆ จึงอาศัยเนื้อและไขมันปลาวาฬกินประทังชีวิตอยู่ราว 1 เดือน 

           ภายหลังกลับสู่นครม่าดีนะฮฺ  ก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านศาสดา (ซ.ล) ทราบ  ท่านก็บอกว่า  นั่นเป็นอาหารที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ทรงบันดาลให้มันออกมาสำหรับพวกท่าน  และท่านศาสดา (ซ.ล) ก็ถามว่า มีเนื้อของมันเหลืออยู่กับพวกท่านบ้างหรือไม่ ?  เหล่าสาวกจึงนำเอาเนื้อปลาวาฬนั้นให้กับท่านศาสดา (ซ.ล) ท่านก็ทานเนื้อนั้น (ฮะยาตุ้ล ฮะยะวาน อัลกุบรอ , อัดดุมัยรี่ย์ 2/157)

           ในสมัยก่อน มีการล่าปลาวาฬกันมากเพื่อเอาเนื้อมาบริโภคและนำเอาไขของปลาวาฬมาเคี่ยวทำน้ำมัน แต่ปัจจุบันประชากรปลาวาฬลดน้อยลงมาก  จึงมีการรณรงค์ให้เลิกล่าปลาวาฬ  แต่ดูเหมือนว่าชาวอาทิตย์อุทัยหรือญี่ปุ่นยังคงยืนกรานที่จะล่าปลาวาฬกันต่อไป