ชื่อไม้ต้นหลายชนิดในสกุล Ficus วงศ์ Moraceae เช่น มะเดื่อปล้อง (F.racemosa Linn.) มะเดื่ออุทุมพร หรือ มะเดื่อชุมพร (F.racemosa Linn.)    ใบเกลี้ยง ผลกินได้  มะเดื่อกวาง หรือลิ้นกระบือ (F.callosa Willd.) ใบแข็งหนา  ชาวอาหรับเรียก “มะเดื่อ” ว่า “อัตตีน” (اَلتِّيْنُ) หรือ “ตีน” (تِيْنٌ) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคำว่า “ตีน” ในภาษาไทยแต่อย่างใด

               ในคัมภีร์อัลกุรอาน มีอยู่บทหนึ่งเรียกว่า บทอัตตีน เพราะในอายะฮฺแรกจากบทนี้ พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ทรงสาบานด้วยกับมะเดื่อ แสดงว่าผลไม้ชนิดนี้มีความสำคัญอยู่มิใช่น้อย นักอรรถาธิบายอัลกุรอานระบุว่า “อัตตีน” (มะเดื่อ) ก็คือ ผลไม้ที่เรารับประทานกันอยู่นั่นเอง

               ท่านอิบนุ อัลเญาซีย์ (ร.ฮ) กล่าวว่า : เหตุที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ทรงสาบานด้วยผลมะเดื่อนั้น เพราะว่า ผลมะเดื่อเป็นผลไม้ที่บริสุทธิ์จากสิ่งเจือปนที่ทำให้ระคายคอหรืออึดอัดจนหายใจไม่ออก (กล่าวคือ กินแล้วสบายคอ โล่งคอ) และหนึ่งผลของมะเดื่อก็พอดีคำ

               มีเรื่องเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า “อัตตีน” และ “อัซซัยตูน” ที่ถูกระบุเอาไว้ในบท   อัตตีน นักวิชาการอธิบายว่า อัตตีน เป็นชื่อของมัสยิดที่นครดามัสกัส และอัซซัยตูน เป็นชื่อมัสยิดที่นครบัยตุ้ลมักดิส (กรุงเยรูซาเล็ม) บ้างก็ว่า อัตตีน คือ มัสยิดที่ท่านศาสดานัวฮฺ (อะลัยฮิซซลาม) สร้างบทภูเขาญูดีย์ บ้างก็ว่า เป็นชื่อของภูเขาในผืนแผ่นดินชาม (ซีเรีย)

               แต่ท่านอิบนุ ญะรีร (ร.ฮ) กล่าวว่า : ที่ถูกต้องคือ อัตตีน นั้นหมายถึง ผลไม้ที่ถูกรับประทาน และอัซซัยตูน ก็คือ ผลไม้ที่ถูกสกัดน้ำมันของมันออกมา”  กล่าวคือ อัตตีน ก็คือ ผลมะเดื่อ และซัยตูน ก็คือ มะกอกนั่นเอง

               ชัยคฺ  มุฮัมหมัด   มะฮฺมูด   อับดุลลอฮฺ   มีความเห็นว่า  “การสาบานในคัมภีร์อัลกุรอานจะมีรายงานมา 2 ชนิด ลางทีก็เป็นเพราะความประเสริฐ ลางทีก็เป็นเพราะคุณประโยชน์ และการสาบานด้วยมะเดื่อและมะกอกนั้น มีระบุมาเนื่องด้วยคุณประโยชน์สำหรับมนุษย์

               ผลไม้ทั้งสองเป็นทั้งเครื่องดื่ม, อาหาร, ยารักษาโรค และแกงที่ใช้จิ้ม การกล่าวผลไม้ทั้งสองคู่กันเพื่อบ่งถึงสรรพคุณที่สมบูรณ์ มะเดื่อคู่กับมะกอกเป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบโดยมนุษย์สามารถหยิบกินตามที่เขาต้องการทั้งอาหาร, ไวตามินและแร่ธาตุ

               มนุษย์รู้จักมะเดื่อมาแต่โบราณ และปลูกมะเดื่อมามากกว่า 4,000 ปีมาแล้ว มะเดื่อถูกระบุไว้ในคัมภีร์เตารอตและคัมภีร์อินญีล เป็นไม้ยืนต้นที่แพร่หลายในเขต  เมดิเตอร์เรเนียน โสเครติสและโฮมิรุส ต่างก็กล่าวถึงมะเดื่อ  และพลาโต้ก็ชอบรับประทานผลมะเดื่อเป็นอันมาก  ด้วยเหตุนี้จึงเรียกผลมะเดื่อว่า “มิตรของนักปรัชญา”

               พวกฟินิเชียนก็นิยมใช้ผลมะเดื่อเป็นอาหารและยารักษาโรค และพวกอิยิปต์โบราณก็ใช้ผลมะเดื่อในการรักษาอาการเจ็บปวดของกระเพาะอาหาร ท่านอิบนุ ซีนา ย้ำว่า มะเดื่อมีประโยชน์เป็นอันมากสำหรับสตรีมีครรภ์และสตรีที่กำลังให้นมทารก  ส่วนอัรรอซียฺ กล่าวว่า : มะเดื่อจะมีสรรพคุณลดกรดในร่างกายและขจัดผลข้างเคียงของกรด

               ท่านอัลมุ่วัฟฟักฺ อัลบัฆดาดีย์ กล่าวว่า : ผลมะเดื่อให้สารอาหารมากที่สุดในบรรดาผลไม้ด้วยกัน มีสรรพคุณทำให้อารมณ์อ่อนโยน ดับกระหาย บรรเทาอาการไอเรื้อรัง และทำให้ปัสสาวะคล่อง การรับประทานผลมะเดื่อขณะท้องว่างมีผลดีในการเปิดหลอดอาหาร
ท่านอิบนุ อัลก็อยยิม กล่าวว่า : “ผลมะเดื่อที่ดีที่สุดคือ ชนิดที่มีเปลือกสีขาว มีสรรพคุณขับก้อนนิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะและลดอาการเป็นพิษ มะเดื่อเป็นผลไม้ที่ให้สารอาหารมากที่สุด มีประโยชน์ต่ออาการเจ็บคอและหน้าอก ล้างตับและม้าม…”

               ผลมะเดื่ออุดมด้วยไวตามินต่าง ๆ  โดยเฉพาะ B1 ,  B2 และ C  และแคโรตีนของไวตามิน A และยังมีแร่ธาตุที่สำคัญ อาทิเช่น  เหล็ก , แคลเซียม และทองแดง  แร่ธาตุเหล่านี้มีประโยชน์ต่อเซลล์ในร่างกายและการฟอกเลือด มีประโยชน์สำหรับคนที่ขาดเลือด  นอกจากนี้ผลมะเดื่อยังมีเปอร์เซ็นต์ของน้ำตาลระหว่าง 18-30 % ตามความสดและแห้ง  ผลมะเดื่อสดปริมาณ 100 กรัม  ให้พลังงาน 70 แคเลอรี  ถึง 267 แคเลอรี่ เมื่อเทียบกับผลมะเดื่อแห้ง 

               ด้วยเหตุนี้ผู้ที่รับประทานผลมะเดื่อจะมีกำลังวังชาและทนต่อความหนาวได้เป็นอย่างดี  ในปัจจุบันมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาของผลมะเดื่อออกมามากมาย  แต่ดูเหมือนว่า ในบ้านเรา (เมืองไทย) ไม่ค่อยได้รับข้อมูลดังกล่าว  อีกทั้งผลมะเดื่อก็เป็นผลไม้ที่หายากในบ้านเรา  บางคนไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำไป  คนที่เคยไปทำฮัจญ์หรืออุมเราะฮฺ ก็มักจะซื้อติดไม้ติดมือมาฝาก  นั่นแหล่ะถึงจะได้กินกัน  ของดีก็หายากอย่างนี้แหล่ะ  เป็นธรรมดา