ทับทิม  ชื่อไม้พุ่มชนิด Punica granatum Linn. ในวงศ์ Punicaceae เนื้อที่หุ้มเมล็ดสีแดงใสคล้ายพลอยทับทิม กินได้ เปลือกของต้น ของผล และของราก ใช้ทำยาได้ ชาวอาหรับเรียก “ทับทิม” ว่า “อัรรุมมาน” (اَلرُّمَّانُ) ผลเดียวเรียกว่า รุมมานะฮฺ (رُمَّانَةٌ ) เดิมที “ทับทิม” เป็นไม้ผลยืนต้นที่ขึ้นในอิหร่าน, เอเชียน้อย และภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนทั่วไป ภายหลังต้นไม้ชนิดนี้ก็แพร่หลายไปทั่วโลก

              ในคัมภีร์อัลกุรอาน  ได้ระบุเรื่องของ “ทับทิม” เอาไว้ 3 แห่งด้วยกัน คือ ในบท อัลอันอาม อายะฮฺที่ 99 และอายะฮฺที่ 141 และบทอัรเราะฮฺมาน อายะฮฺที่ 68 ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผลไม้ในสวรรค์ “ทับทิม” เป็นผลไม้ที่ผู้คนในสมัยโบราณรู้จักมาแต่เก่าก่อน พวกอิยิปต์โบราณใช้ทับทิมในการรักษาคนป่วย

              นักวิชาการระบุว่า แหล่งกำเนิดของทับทิมอยู่ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชีย และทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีปและจาก  ชมพูทวีป (อินเดีย) ทับทิมก็เข้ามาแพร่หลายในอิหร่าน ต่อมาก็แพร่หลายสู่ภูมิภาคแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอิยิปต์และเข้าสู่ยุโรปในยุคต่อมา

              ท่านอิบนุ อัลก็อยยิม (ร.ฮ) ระบุว่า :  ความหวานของทับทิมมีผลดีต่อกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารแข็งแรง  มีประโยชน์ต่อลำคอ, อกและปอด  ดีสำหรับอาการไอเรื้อรัง  น้ำของผลทับทิมเป็นยาระบายอ่อนๆ และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย  ช่วยให้มีความจำดี แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่มีไข้ตัวร้อน  กรดที่ได้จากน้ำทับทิมมีประโยชน์ต่อกระเพาะที่มีอาการอักเสบ ทำให้ปัสสาวะคล่อง  บรรเทาอาการดีซ่าน  และหยุดอาการท้องเสียได้ชะงัด  และหยุดอาการอาเจียนคลื่นไส้  และทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง…”

              ทับทิมมี 3 ชนิด คือ ชนิดหวาน , เปรี้ยว และอมเปรี้ยว  ทับทิมชนิดหวานมีน้ำตาลประมาณ 7-10 % มีน้ำ 81% โปรตีน 0.6% ไขมัน 0.3% มีไฟเบอร์หรือใยอาหาร 2% และมีแร่ธาตุจำพวกเหล็ก, ฟอสฟอรัส, กำมะถัน, แคลเซียม, โปตัสเซียมและแมงกานีส และมีไวตามิน C ค่อนข้างมาก สำหรับผลทับทิมที่มีรสเปรี้ยวจะมีเปอร์เซ็นต์ของน้ำตาลไม่มาก แต่มีกรดมะนาวสูงถึง 2% ซึ่งถือว่าในผลทับทิมมีมากกว่าในมะนาวเอง เมล็ดของทับทิมชนิดนี้มีโปรตีน 9% และไขมัน 7%

 

              เปลือกภายนอกของผลทับทิมมี Tannic Acide จึงนิยมเอาเปลือกทับทิมแห้งมาบดละเอียดเป็นยาแก้ท้องเสียและอาการเป็นบิด และบรรเทาอาการเลือดออกในระบบย่อยอาหาร บางทีก็ใช้เปลือกต้มสุกเพื่อบรรเทาอาการที่ว่านี้เหมือนกัน เปลือกของผลทับทิมยังมีสรรพคุณในการขับพยาธิ เพราะเปลือกทับทิมมีสารเพลลิเธียรีน(Peletierine) 

              นอกจากนี้ยังนิยมใช้เปลือกทับทิมเป็นส่วนผสมในการทำให้สีคงทน  และใช้ในการฟอกหนังสัตว์  และการย้อมผิวร่วมกับเฮนน่าอฺ (เทียน)  เปลือกของส่วนรากทับทิมก็มีสรรพคุณในการขับพยาธิและบรรเทาอาการท้องเสีย  ดอกทับทิมที่นำมาต้มสุกก็มีสรรพคุณที่ว่าเช่นกัน  และมีสรรพคุณแก้โรคเหงือก  เช่น เหงือกบวม รำมะนาด เป็นต้น

              น้ำทับทิมคั้นจากทับทิมชนิดที่มีรสเปรี้ยว ช่วยป้องกันอาการเท้าและข้อบวมอักเสบ และป้องกันการเป็นก้อนนิ่วในไต ผลทับทิมมีสารกระตุ้นทำให้มีความกระชุ่มกระชวย บำรุงหัวใจและระบบประสาท มีประโยชน์สำหรับผู้มีอาการประสาทอ่อนๆ เมื่อนำเอาน้ำทับทิมหยอดจมูกหรือผสมกับน้ำผึ้งจะช่วยรักษาอาการเยื่อโพรงจมูกอักเสบและทำให้ทางเดินหายใจสะอาดและดีสำหรับอาการจามเนื่องจากหวัดและมีน้ำมูก

     
พันธุ์ไม้และสมุนไพรในอัลกุรอาน :  5.  ทับทิม (اَلرُّمَّانُ)

โดย…อาลี เสือสมิง