เวลาของการละหมาด
บทความนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลอันเป็นเกร็ดความรู้ที่ถูกระบุไว้ในตำราอ้างอิงภาษาอาหรับและภาษามลายู ซึ่งเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป มิได้เจาะจงในด้านศาสตร์แขนงใดแขนงหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยผู้รวบรวมได้อ่านเจอและเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้สนใจในการเสริมภูมิความรู้ประดับปัญญาเข้าทำนอง “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” ทั้งนี้ผู้รวบรวมจะอ้างอิงแหล่งที่มาเอาไว้ด้วยสำหรับทุก ๆ ข้อมูลที่นำเสนอเอาไว้ในบทความนี้ วัลลอฮุอะอฺลัม
เวลาของการละหมาด
*ละหมาดดุฮฺริ (صَلاَةُ الظُّهرِ) คือละหมาดฟัรฎูเวลาแรกที่ปรากฏในศาสนาอิสลาม โดยท่านญิบรีล (อ.ล.) ได้สอนวิธีการละหมาดแก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ภายหลังการบัญญัติเรื่องละหมาดฟัรฎู 5 เวลา ในค่ำคืนการมิอฺรอจฺญ์ (ก่อนการฮิจฺญ์เราะฮฺราว 1 ปีหรือ 6 เดือน) โดยเริ่มต้นด้วยเวลาละหมาดดุฮฺริเป็นเวลาแรก อันเป็นการบ่งชี้ว่าศาสนาของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะปรากฏชัดและโดดเด่นเหนือศาสนาอื่นทั้งปวง
(กิตาบ อะฮฺกาม-อัซซอล่าฮฺ, ฮาชียะฮฺ อัชชัยคฺ อิบรอฮีม อัลบัยญูรีย์ เล่มที่ 1/230, สำนักพิมพ์อับบาสฺ อะฮฺมัด อัลบาซฺ ; มักกะฮฺ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฮ.ศ.1420-คศ.1999) ดารุ้ลกุตุบฺ อัลอิลมียะฮฺ เบรุต)
*ละหมาดซุบฮิ (ยามรุ่งอรุณ) เตือนให้มนุษย์รำลึกถึงการถือกำเนิด การมีร่างกายครบถ้วนในครรภ์และการมีความพร้อมสำหรับการคลอดจากครรภ์มารดา ดังการปรากฏขึ้นของรุ่งอรุณซึ่งเป็นอรัมภบทของการขึ้นของดวงอาทิตย์
ละหมาดดุฮฺริ (ยามกลางวัน, บ่าย) เตือนให้มนุษย์รำลึกถึงการคลอดที่เป็นเช่นดวงอาทิตย์ขึ้น ยามเยาว์วัยที่เป็นเช่นการขึ้นสูงของดวงอาทิตย์ ยามหนุ่มสาวที่เป็นเช่นการเคลื่อนของดวงอาทิตย์ ณ จุดกลางฟ้า และยามวัยฉกรรจ์ที่ประหนึ่งดังการคล้อยของดวงอาทิตย์
ละหมาดอัศริ (ยามเย็น) เตือนให้มนุษย์รำลึกถึงยามแก่ชราที่ประหนึ่งดวงอาทิตย์ใกล้อัสดง
ละหมาดมัฆริบ (ยามอาทิตย์ตกดิน) เตือนให้มนุษย์รำลึกถึงความตายของตนที่ประหนึ่งเดียวกับดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
ละหมาดอิชาอฺ (ยามหัวค่ำ) เตือนให้มนุษย์รำลึกถึงการเสื่อมสลายของร่างกายภายหลังสิ้นชีพ ซึ่งประหนึ่งดังกับการลับหายไปของแสงสีแดงที่เส้นขอบฟ้า (อ้างแล้ว หน้า 233 เล่มเดียวกัน)
*ละหมาดซุบฮิ มี 2 รอกอะฮฺ เพราะความคร้านของการหลับนอนยังคงอยู่
ละหมาดดุฮฺริและละหมาดอัศริมี 4 รอกอะฮฺ เพราะในช่วงเวลานั้นมีความกระฉับกระเฉงและความตื่นตัวสมบูรณ์แล้ว
ละหมาดมัฆริบมี 3 รอกอะฮฺ เป็นการบ่งชี้ว่าละหมาดมัฆริบเป็นละหมาดคี่ (วิตรฺ) ของยามกลางวัน
ละหมาดอิชาอฺมี 4 รอกอะฮฺ เพื่อเป็นการทดแทนความบกพร่องของเวลากลางคืนที่น้อยกว่าเวลากลางวัน กล่าวคือในเวลากลางคืนมี 2 ฟัรฎูและในเวลากลางวันมี 3 ฟัรฎู (อ้างแล้ว หน้า 233 เล่มเดียวกัน)
*พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงสร้างให้เหล่าม่าลาอิกะฮฺ มีปีก 2, 3 และ 4 ปีกตามลำดับ พระองค์จึงทรงกำหนดการละหมาดแก่เหล่ามนุษย์ให้มี 2 รอกอะฮฺ, 3 รอกอะฮฺ และ 4 รอกอะฮฺ เฉกเช่นจำนวนปีกของบรรดาม่าลาอิกะฮฺนั้น และการละหมาดฟัรฎูมี 5 เวลานั้นเป็นเพราะการละหมาด 5 เวลาถือเป็นหลักหมุดที่ตรึงศาสนาเอาไว้เฉกเช่นที่ภูเขา 5 ลูกซึ่งถูกนำมาสร้างกะอฺบะฮฺเป็นหลักหมุดตรึงโลกนี้เอาไว้ฉันนั้น
(อ้างแล้ว หน้า 233 เล่มเดียวกัน)
*การละหมาดทั้ง 5 เวลาซึ่งถูกรวมเข้าไว้ด้วยกันถือเป็นความพิเศษเฉพาะของประชาชาตินี้ ซึ่งในประชาชาติก่อน ๆ นั้นการละหมาดมิได้ถูกรวมเช่นนี้มาก่อน
การละหมาดซุบฮิเป็นการละหมาดของท่านนบีอาดัม (อ.ล.)
การละหมาดดุฮฺริเป็นการละหมาดของนบีดาวุด (อ.ล.)
การละหมาดอัศริเป็นการละหมาดของนบีสุลัยมาน (อ.ล.)
การละหมาดมัฆริบเป็นการละหมาดของนบียะอฺกู๊บ (อ.ล.)
และการละหมาดอิชาอฺเป็นการละหมาดของนบียูนุส (อ.ล.) ท่านอิหม่ามอัรรอฟิอีย์ (ร.ฮ.) ได้ระบุเอาไว้
บ้างก็ระบุว่าละหมาดดุฮฺริ เป็นของนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) ละหมาดอัศริเป็นของนบียูนุส (อ.ล.) บ้างก็ว่าเป็นของนบีอุซัยร์ (อ.ล.) ละหมาดมัฆริบเป็นของนบีดาวูด (อ.ล.) บ้างก็ว่าเป็นของนบีอีซา (อ.ล.) ซึ่งท่านละหมาด 2 รอกอะฮฺเพื่อเป็นการไถ่ถอน (กัฟฟาเราะฮฺ) สิ่งที่ถูกอ้างไปยังท่านและอีก 1 รอกอะฮฺเพื่อเป็นการไถ่ถอน (กัฟฟาเราะฮฺ) สิ่งที่ถูกอ้างไปยังท่านหญิงมัรยัม (อ.ล.) มารดาของท่าน และบ้างก็ว่าการละหมาดอิชาอฺ เป็นของนบีมูซา (อ.ล.) บ้างก็ว่าการละหมาดอิชาอฺเป็นเวลาละหมาดเฉพาะสำหรับท่านนบีมุฮำหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งเป็นความเห็นที่ถูกต้องที่สุด (الأَصَحُّ )
(อ้างแล้ว หน้า 233,234 เล่มเดียวกัน)