วงศ์อัซซามานี่ยูน (السَّامَانِيُّوْنَ )

วงศ์กษัตริย์เชื้อสายอิหร่านที่มีอำนาจปกครองในแคว้นคุรอซานและดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำ  (เอเชียกลาง)  ในระหว่างปี ฮ.ศ.261-390/คศ.874-999  มีเชื้อสายสืบถึงซามาน คุดาฮฺ (เจ้าชายอิหร่านเป็นผู้นำในตระกูลซามาน เข้ารับอิสลามและได้รับการคุ้มครองจากอะสัด  อิบนุ  อับดิลลาฮฺ  ผู้ครองแคว้นคุรอซานในรัชสมัยฮิชาม อิบนุ อับดิลม่าลิก  ค่อลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺ) 

หลานชายสี่คนของซามานคุดาฮฺ  คือ  นัวฮฺ, อะฮฺหมัด, ยะฮฺยาและอิลยาซได้กลายเป็นข้าหลวงของค่อลีฟะฮฺอัลมะอฺมูนแห่งอับบาซียะฮฺในการปกครองนครซะมัรกอนด์, ฟัรฆอนะฮฺ, ช๊าชและฮะรอต  ตามลำดับ, ต่อมาอิสมาอีล อิบนุ อะฮฺมัดได้สร้างฐานอำนาจของวงศ์ซามานในระหว่างปีคศ.892-907 และสามารถปรามปรามพวกวงศ์อัซซอฟฟารียะฮฺลงได้, มีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 9 องค์, มีอำนาจแผ่ครอบคลุมจดเขตแดนของอินเดียและตุรกีสถาน 

กษัตริย์ที่เลื่องลือ  คือ  นัซรฺที่ 2, นัวฮฺที่ 1 และ 2, ในรัชสมัยของกษัตริย์ดังกล่าวมีความรุ่งเรืองทางอารยธรรม, นครบุคอรอ และซามัรกอนด์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งจากศูนย์กลางทางวิทยาการอิสลามที่เคียงคู่กับนครแบกแดด, วรรณกรรมของอิหร่านมีความตื่นตัวและได้รับการฟื้นฟูจนปรากฏชื่อของอัรรูดกีย์, อัลฟิรเดาซีย์ และ อิบนุ ซีนา,

พวกซามานียูนได้ใช้ทาสพวกเติร์กในการรับราชการจนพวกเติร์กมีอำนาจมากขึ้นและการบริหารราชการได้ตกไปอยู่ในกำมือของพวกเติร์กจวบจนอัลบฺ ตะกีน อัลฆอซนะวีย์ ได้แยกตนเป็นอิสระในการปกครองและปราบปรามพวกซามานียูนจนสิ้นอำนาจไปในที่สุด