ความสัมพันธ์ระหว่าง บ้านโรงเรียนและมัสญิด

الحمد لله والصلاة والسلام على رسول الله وبعد  ؛

สำหรับคนมุสลิมที่เคร่งครัดในหลักคำสอนของศาสนาโดยปกติแล้วย่อมมีวิถีชีวิตที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญ  3  แห่งด้วยกัน  สถานที่แห่งแรกคือ  บ้านอันเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่  บ้านจึงเป็นสถานที่แรกสุดที่มีความผูกพันกับบุคคลนับแต่เกิดจนกระทั่งตาย  บางคนอาจจะเกิดที่บ้านหลังหนึ่งแต่ใช้ชีวิตในบั้นปลายที่บ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งมิใช่บ้านของตนแต่เป็นบ้านพักคนชรา  บางคนอาจจะเกิดในโรงพยาบาลแต่หลังจากนั้นก็ต้องกลับมารับการอนุบาลเลี้ยงดูที่บ้านของผู้ให้กำเนิด  เติบโตและผ่านช่วงอายุขัยตราบจนสิ้นลมหายใจที่บ้านหลังนั้น

คนที่ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตอาจจะต้องจากบ้านของตนไปอยู่ต่างถิ่น  ไปร่ำเรียนเมืองนอกเมืองนาย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจว่า  ไม่มีที่ใดจะคุ้นเคยและอบอุ่นเท่ากับบ้านของตน  วันที่ตนกลับคืนสู่บ้านคือวันที่วิเศษสุดวันหนึ่งในชีวิต  เมื่อบ้านมีความสำคัญถึงเพียงนี้  ศาสนาอิสลามจึงมีหลักคำสอนที่เกี่ยวกับบ้านมากมายหลายมิติด้วยกัน  มิติหนึ่งที่มีผลต่อการหล่อหลอมความเป็นมุสลิมที่ดีก็คือบรรยากาศและสภาพแวดล้อมภายในบ้านซึ่งหมายถึงบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกภายในบ้าน  สัมพันธภาพและปฏิสัมพันธ์ในระหว่างสมาชิกภายในบ้าน  ลักษณะทางกายภาพของบ้าน  ทัศนียภาพบริเวณบ้านตลอดจนเพื่อนบ้าน 

สำหรับบุคคลภายในบ้านซึ่งอยู่รวมกันเป็นครอบครัว  ผู้นำครอบครัวที่แรกเริ่มอาจจะมีบทบาทเป็นเพียงสามี  แต่ต่อมาก็เพิ่มสถานภาพของความเป็นพ่อสำหรับลูกๆ ที่เกิดมาในขณะที่บทบาทของความเป็นสามียังคงดังเดิมถือว่าเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญที่สุด  ลูกๆ มักจะถือเอาคุณพ่อเป็นนายแบบสำหรับพวกเขา  คุณพ่อที่ดีจึงต้องเป็นทั้งนายคือผู้นำและเป็นทั้งแบบหรือแม่พิมพ์ในการหล่อหลอมความเป็นมุสลิมที่ดีให้แก่ลูกๆ หากคุณพ่อเคร่งครัดละหมาดและเอาใจใส่เรื่องการละหมาดของลูกๆ ทั้งการสอนท่าทาง  การนำละหมาดซึ่งเป็นการสอนโดยวิธีประจักษ์คือการเรียนรู้ผ่านการมองเห็น  ลูกๆ ก็จะถือเอาแบบและท่าทางการละหมาดของคุณพ่อเป็นตัวอย่างตามที่พวกเขาเห็น 

เราจะเห็นว่าเหตุใดท่านนบี  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  จึงได้มีคำสอนในสุนนะฮฺของท่านว่า  ให้ผู้ปกครองสั่งใช้ให้ลูกๆ ทั้งชายและหญิงเริ่มฝึกละหมาดตั้งแต่อายุ  7  ขวบและให้มีการคาดโทษหรือออกมาตรการสำหรับความบกพร่องในเรื่องการละหมาดเมื่อลูกๆ มีอายุ 10 ขวบเพราะการละหมาดคือการสอนโดยผ่านวิธีประจักษ์  แฝงคำสอนเรื่องการรักษาเวลาและสอดใส่การฝึกระเบียบวินัย  การเคารพกติกา  การเชื่อฟังผู้นำ  ตลอดจนเป็นการวางพื้นฐานสำหรับหลักศรัทธาที่เกี่ยวเนื่องกับสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ผู้เป็นบ่าวกับพระผู้เป็นเจ้าพระผู้ทรงสร้าง 

การละหมาดจึงเป็นกระบวนการพัฒนาและสร้างบุคลากรที่ดีที่สุดถึงแม้ว่ารายละเอียดเกี่ยวกับภูมิรู้ในเรื่องการละหมาดจะยังไม่สมบูรณ์เพราะต้องผ่านระบบการเรียนรู้ในลำดับต่อไปก็ตาม  พฤติกรรมของสมาชิกครอบครัวที่เกิดขึ้นภายในบ้านมีอิทธิพลต่อการซึมซับรับเอาของเด็กเป็นสาระสำคัญ  การปลูกฝังบ่มเพาะบุคลิกภาพของเด็กจึงมีบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งแรกของชีวิต  เมื่อแหล่งเรียนรู้อุดมด้วยบรรยากาศแห่งอิสลามซึ่งมีนายแบบคือพ่อและนางแบบคือแม่ที่ดีในการเป็นแบบอย่าง  ความเป็นมุสลิมที่ดีของเด็กก็ย่อมถูกปลูกฝังเอาไว้แล้วในมโนสำนึกของเด็กที่รอวันงอกงามและเติบใหญ่ต่อไป 

สถานที่แห่งที่สองซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเด็กให้กว้างไกลออกไปเป็นครั้งแรก  นั่นคือโรงเรียน  อันหมายถึงสถานที่ซึ่งมีการเรียนการสอนความรู้ขั้นพื้นฐานให้แก่เด็ก  คำว่าโรงเรียนมิได้มุ่งจำกัดความหมายเฉพาะสถานศึกษาในระบบเพียงอย่างเดียวแต่อาจจะรวมถึงกลุ่มการเรียนรู้ที่มีการรวมตัวกันตามบ้านหรือสถานที่ที่เหมาะสมอีกด้วย  บทบาทของโรงเรียนที่มีต่อเด็กจะมีครูผู้สอนเป็นผู้แสดงบทบาทเป็นหลัก  มีเพื่อนร่วมเรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญ 

ครูจึงมีสถานะที่เปรียบได้กับพ่อแม่คนที่สองสำหรับเด็กในการให้ความรู้ที่มีรายละเอียดมากขึ้น  ความรู้และบุคคลิกภาพของครูผู้สอนจึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญ  สำหรับมุสลิมแล้วครูคนแรกในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้นอกบ้านก็คือครูสอนอัล-กุรอาน  ซึ่งอาจจะสอนอัล-กุรอานเป็นหลักหรืออาจจะสอนวิชาศาสนาในขึ้นพื้นฐานร่วมด้วย  การซึมซับสิ่งที่ครูป้อนให้จึงถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับพัฒนาการทางสมองและอารมณ์ของเด็ก 

ยิ่งเมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงวัยของการเรียนตามระบบด้วยแล้ว  อิทธิพลของโรงเรียนหรือสถานศึกษาซึ่งกินระยะเวลาหลายปีและเป็นไปอย่างต่อเนื่องย่อมเพิ่มสูงขึ้นจนบางครั้งอาจจะมีอิทธิพลต่อเด็กมากกว่าบ้านเสียอีก  ดังนั้นการรักษาสัมพันธภาพระหว่างบ้านกับโรงเรียนบนดุลยภาพที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องของพันธกิจร่วมกันระหว่างบ้านกับโรงเรียน  เมื่อบ้านมีบรรยากาศที่อบอุ่น  โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งครูและเพื่อนของเด็ก  ก็เชื่อได้ว่าพัฒนาการทางสมองและอารมณ์ของเด็กก็ย่อมเป็นไปในทิศทางที่ดี 

แต่คราใดที่สัมพันธภาพระหว่างบ้านกับโรงเรียนขาดดุลยภาพที่เหมาะควร  ปัญหาของเด็กก็จะเริ่มก่อตัวและสะสมมากขึ้น  หากมิได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีเด็กก็อยู่ในภาวะเสี่ยงสูง  โดยเฉพาะในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อซึ่งเป็นช่วงวิกฤติคือจะดีหรือร้ายมีความเป็นไปได้ทั้งสองทาง  หากบ้านขาดความอบอุ่น  มีแต่ความรุ่มร้อนของการทะเลาะวิวาทจากสมาชิกในครอบครัว  โดยเฉพาะพ่อกับแม่มีปัญหาระหว่างกันเสมอ  บ้านก็จะกลายเป็นฝันร้ายสำหรับเด็กซึ่งจะเตลิดออกจากความฝันนั้นไปสู่เพื่อนฝูงในโลกของการสร้างฝันได้ตามที่ตนอยากจะให้เป็น 

ในสถานการณ์เช่นนี้โรงเรียนก็อาจจะหมดความหมายและไม่ได้อยู่ในความคิดของเด็ก  พวกเขาพบโลกใหม่ของตนที่ไม่มีพ่อแม่และครูเข้ามาเป็นส่วนเกิน  แต่จะมีเฉพาะเพื่อนฝูงที่ร่วมฝันไปด้วยกันเท่านั้น  ในทำนองเดียวกัน  หากบ้านขาดความอบอุ่น  มีแต่ความเงียบเหงา  ว้าเหว่ที่ก่อให้เกิดอุณหภูมิติดลบในขั้วหัวใจ  พ่อกับแม่มุ่งแต่ประกอบอาชีพของตนเพื่อหวังจะสร้างอนาคตให้แก่ลูก  ตื่นมาลูกก็ไม่พบพ่อหรือแม่เพราะออกจากบ้านมุ่งสู่งานของตนแต่รุ่งสาง  ลูกกลับมาก็ยังไม่พบพ่อหรือแม่ที่ยังไม่กลับจากงานของตน  ความหนาวเย็นยะเยือกจับตัวเป็นก้อนน้ำแข็งอยู่ในจิตใจของเด็กจนในที่สุดบ้านก็กลายเป็นตู้เย็นไป 

การมุ่งสู่สิ่งทดแทนและการแสวงหาความอบอุ่นก็จะเกิดขึ้นกับเด็กอย่างหลีกหนีไม่พ้น  พวกเขาพร้อมที่จะโบยบินออกจากบ้านที่หนาวเย็นมุ่งสู่เขตอบอุ่นของเพื่อนฝูงซึ่งกำลังนั่งล้อมวงชุมนุมอยู่รอบกองไฟ  ณ  สถานที่ส่วนตัวของพวกเขา  เด็กบางคนมิได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้นแต่พวกเขาประชดสิ่งที่เกิดจากบ้านของตนด้วยการกลายสภาพเป็นแมลงเม่าบินถลาเข้าสู่กองไฟเบื้องหน้าเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการที่ผู้ใหญ่ถักทอและผูกพวกเขาเอาไว้ 

อนาคตที่พ่อแม่วาดหวังเอาไว้ให้แก่ลูกและทุ่มเวลาไปกับงานเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่ควรกระทำก็พลันสลายลง  ทิ้งเอาไว้เพียงการได้สติกลับคืนมาว่า  สิ่งที่พ่อแม่ทำไปมิใช่การสร้างอนาคตให้แก่ลูกแต่เป็นการทำลายอนาคตของลูกแบบผ่อนส่งนั่นเอง  การประสานที่สอดรับและมีความต่อเนื่องระหว่างบ้านกับโรงเรียนจึงเป็นมาตรการอย่างหนึ่งที่จะช่วยป้องกันมิให้เรื่องน่าเศร้าเช่นนี้เกิดขึ้น  เพราะอย่าลืมว่า  โรงเรียนคือจุดนัดพบของเด็กๆ และในหลายๆ สถานการณ์จุดนัดพบก็มิใช่จุดหมายที่เด็กๆ นัดแนะไปรวมตัวกันแต่เป็นสถานที่ซึ่งพวกเขามีอิสระในการปลดปล่อย 

ครูและผู้บริหารโรงเรียนจึงต้องเข้ามามีส่วนในการควบคุมมิให้นักเรียนออกนอกเส้นทาง  ในขณะที่บ้านก็ต้องสนับสนุนและร่วมมือกับทางโรงเรียนในการประคับประคองให้พวกเขาอยู่ในร่องในรอยที่ควรจะเป็น  หากทางบ้านผลักภาระให้แก่ทางโรงเรียนแต่ฝ่ายเดียวความสัมฤทธิผลในเรื่องนี้ก็เป็นไปได้ยาก  เรื่องจะเลวร้ายลงไปอีกถ้าหากว่าบ้านเป็นสถานที่ที่เด็กไม่อยากกลับและไม่อยากอยู่  โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ของผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจเด็ก  ครูทำตัวเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือไม่ก็กลายเป็นผู้ไร้ความสามารถในการปกครองเด็ก  ขาดภาวะของการเป็นผู้ชี้นำทางปัญญา  เด็กก็ย่อมไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาที่รอวันระเบิดออกมา 

ซึ่งสิ่งที่จะปลดชนวนระเบิดได้ก็คงหนีไม่พ้นหลักคำสอนของศาสนาที่ซึมซับเข้าสู่จิตใจของเด็กและกลายเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมของเด็ก  และหลักคำสอนนี้ก็ต้องเริ่มที่บ้าน  ต่อยอดที่โรงเรียน  และเติมเต็มที่มัสญิดซึ่งเป็นสถานที่สำคัญแห่งที่  3  สำหรับมุสลิมทุกคนบทบาทและอิทธิพลทางความคิดของมัสญิดในฐานะศูนย์กลางของชุมชนในอดีตเคยมีศักยภาพในการบ่มเพาะสมาชิกในสังคมมุสลิมมาก่อน  แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป  คนเปลี่ยน  สังคมเปลี่ยนไป  มัสญิดก็ถูกลดบทบาทลงตามลำดับ 

ดังนั้นการจะสร้างทัศนคติให้แก่เด็กที่มีต่อมัสญิดในเชิงบวกจึงเป็นเรื่องท้าทาย  สิ่งที่ทำได้ก็คือ  ต้องทำให้มัสญิดเกิดขึ้นในบ้านเป็นอันดับแรก  และต้องทำให้มัสญิดเกิดขึ้นในโรงเรียนด้วย  เมื่อบ้านและโรงเรียนเป็นมัสญิดในเชิงอุดมคติแล้ว  ความผูกพันเกี่ยวเนื่องของเด็กกับมัสญิด  จริงๆ ตามหลักการก็ย่อมเป็นไปโดยไม่ยาก  คำถามที่เป็นปรัศนีสำคัญก็คือ  เราจะทำอย่างไรให้บ้าน  โรงเรียนและมัสญิดหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีการแยกส่วนสำหรับเด็ก 

นี่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาคำตอบที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ซึ่งถ้าหากทำได้อย่างทันท่วงที  ปัญหาของเยาวชนก็จะถูกจำกัดวงให้แคบลงถึงแม้จะไม่หมดสิ้นไปในทันทีก็ตาม