หมวดการทำธุรกรรมประเภทต่างๆ : การจำนำ จำนอง

การจำนำ จำนอง

การจำนำ จำนอง เรียกในภาษาอาหรับว่า อัร-เราะฮฺนุ (اَلرَّهْنُ) หมายถึง การที่ลูกหนี้นำหลักทรัพย์ไปวางแก่เจ้าหนี้ เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด

ดังนั้น ในเมื่อไม่มีการกำหนดลักษณะของทรัพย์ที่ใช้วางประกันหนี้ ว่าต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ (ทรัพย์เคลื่อนย้ายได้) หรือ อสังหาริมทรัพย์ (เคลื่อนย้ายไม่ได้) อัร-เราะฮฺนุจึงตรงกับการวางหลักทรัพย์ประกันหนี้ในกฏหมายไทยทั้งจำนำ และจำนอง

ผู้นำหลักทรัพย์ไปวางคือผู้จำนำ ส่วนผู้รับจำนำคือผู้ที่รับหลักทรัพย์ไว้เป็นประกัน หลักทรัพย์ที่นำไปวางเป็นประกัน คือทรัพย์ที่นำไปจำนำไว้ ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชดใช้หนี้สินได้ตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้สามารถเรียกหนี้สินของตนคืนได้จากหลักทรัพย์ที่วางไว้ โดยนำไปขายทอดตลาดแล้วนำราคามาใช้หนี้ ส่วนราคาของทรัพย์ที่เหลือต้องนำคืนผู้จำนำ

ส่วนการขายฝาก หมายถึง การขายทรัพย์สินโดยตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ภายในเวลาที่กำหนด

หลักฐานเรื่องการจำนำ จำนอง และการขายฝาก

การจำนำ จำนอง เป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้ ดังปรากฏหลักฐานจากคัมภีร์อัล-กุรอานว่า وَإِنْ كُنْتُمْ عَلى سَفَرٍ وَلَمْ تَجدُوْاكَاتِبًافَرَِهَانٌ مَقْبُوْضَةٌ  “และถาหากพวกเจ้าอยู่ในระหว่างการเดินทางและพวกเจ้าไม่พบผู้บันทึก (หนี้สิน) ดังนั้นก็ให้วางหลักทรัพย์ที่ถูกรับเอาไว้เป็นประกัน”   สูเราะฮฺ อัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 283

และมีหลักฐานจากอัลหะดีษระบุว่า  (رَهَنَ رَسُوْل اللهِ صَلى الله عليه وسلم دَرْعًا عِنْدَيَهُوْدِيٍّ فِى الْمَدِيْنَةِ وأخَذَمِنْهُ شَعِيْرًالأهْلِهِ) “ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ ได้จำนำเสื้อเกราะตัวหนึ่งเอาไว้ที่ชาวยิวคนหนึ่งในนครม่าดีนะห์ และท่านได้นำเอาข้าวฟ่างจากชาวยิวผู้นั้นมาให้แก่ครอบครัวของท่าน”  (รายงานโดย บุคอรี)

และปวง ปราชญ์มีความเห็นพ้องกันว่า การขายฝากนั้นเป็นที่อนุมัติ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ซื้อฝากจะต้องไม่เก็บผลประโยชน์หรือคิดดอกเบี้ยจากผู้ขายฝาก

องค์ประกอบของการจำนำ จำนอง มีดังต่อไปนี้

1. ข้อตกลงสองฝ่าย คือ ผู้จำนำ จำนอง และผู้รับจำนำ จำนอง

ผู้จำนำจำนอง หมายถึง ลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้รับจำนำจำนอง

ผู้รับจำนำจำนอง หมายถึง เจ้าหนี้ของผู้จำนำจำนองที่จะต้องนำหลักทรัพย์ไปวางไว้กับผู้รับจำนำจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้

เงื่อนไขของคู่ตกลงสองฝ่ายมีดังนี้

  • ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์บังคับของศาสนา หมายถึง มีสติสัมปชัญญะ บรรลุศาสนภาวะ
  • เป็นผู้ครอบครองทรัพย์โดยสมบูรณ์ในทรัพย์ที่นำมาวางประกันหนี้ หรือทรัพย์ที่ให้ยืม หมายความว่าคู่ตกลงสองฝ่ายมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการดำเนินการหรือจัดการ อย่างใดๆ กับทรัพย์นั้น เป็นต้นว่านำไปบริจาคหรือนำไปขาย
  • กระทำโดยสมัครใจ กล่าวคือ ผู้จำนำจำนอง จะวางหลักทรัพย์ของตนไว้เป็นประกันการชำระหนี้ด้วยความสมัครใจ เช่นเดียวกับผู้รับจำนำจำนอง ก็จะต้องรับจำนำจำนองด้วยความสมัครใจ ดังนั้นถ้าหากผู้จำนำจำนองถูกบังคับให้จำนำจำนอง หรือผู้รับจำนำจำนองของถูกบังคับให้รับจำนำจำนอง การจำนำจำนองนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ จะไม่มีผลและข้อกำหนดใดๆ ติดตามมา

อนึ่ง ในกรณีของผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะหรือผู้ที่ปัญญาอ่อนมีผู้ปกครอง (วะลี) หรือผู้ได้รับการสั่งเสียให้ดูแล (วะซีย์) ไม่อนุญาตให้บุคคลทั้งสอง (วะลี-วะซีย์) จำนำจำนองทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของตน

ในทำนองเดียวกัน ไม่อนุญาตให้บุคคลทั้งสองนำทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่ตนปกครองอยู่มารับจำนำ แต่มีข้อยกเว้นอยู่สองกรณีที่อนุญาตให้บุคคลทั้งสอง (วะลี-วะซีย์) จำนำจำนองของและรับจำนำจำนองทรัพย์ของผู้เยาว์ได้ คือ

ก.  ในกรณีที่คับขัน อาทิเช่น บุคคลทั้งสองมีความจำเป็นต้องหาค่าใช้จ่ายเพื่อมาเลี้ยงดูผู้เยาว์ในปกครอง ของตน เช่น ซื้ออาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือการศึกษาของผู้เยาว์ เป็นต้น โดยที่บุคคลทั้งสองนั้นไม่มีทรัพย์สินที่จะใช้จ่ายเลี้ยงดูผู้เยาว์ได้ ก็อนุญาตให้บุคคลทั้งสองนำทรัพย์สินของผู้เยาว์ไปจำนำจำนองได้เพื่อแลกกับ ค่าใช้จ่ายที่จะนำมาเลี้ยงดูผู้เยาว์

เช่นเดียวกับที่อนุญาตให้บุคคลทั้งสองใช้ทรัพย์สินของผู้เยาว์ไปรับจำนำ จำนองได้ หากกลัวว่าทรัพย์สินนั้นจะถูกแย่งชิงหรือถูกลักขโมยไป โดยให้ขายทรัพย์สินของผู้เยาว์ไปเป็นเงินเชื่อหรือให้กู้ยืมไป โดยมีการวางหลักทรัพย์ไว้เป็นประกันการชำระหนี้จากฝ่ายผู้ซื้อหรือฝ่ายที่ กู้ยืม

ข. การจำนำจำนองและการรับจำนำจำนองของนั้นต้องเกิดประโยชน์อย่างชัดเจนแก่ผู้ เยาว์ โดยหลักทรัพย์ที่นำไปจำนำจำนองนั้นต้องอยู่กับผู้ที่ซื่อสัตย์ ร่ำรวย และมีพยานรับรู้ตลอดจนจะต้องมีระยะเวลาไม่ยาวนานตามจารีต

2. ถ้อยคำที่ใช้ตกลงกัน

ถ้อยคำที่คู่ตกลงสองฝ่ายใช้ตกลงกัน คือ ถ้อยคำเสนอ (อีญาบ) และถ้อยคำสนอง (กอบูล) ซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายมีความต้องการทำข้อตกลงจำนำจำนอง ด้วยความสมัครใจ เช่น ผู้จำนำกล่าวว่า “ฉันจำนำนาฬิกาเรือนนี้เป็นประกันการชำระหนี้แก่ท่าน” ผู้รับจำนำก็กล่าวตอบว่า “ครับ ผมรับจำนำ” เป็นต้น

3. หลักทรัพย์ที่ถูกจำนำจำนอง

คือ หลักทรัพย์ที่ผู้จำนำจำนองนำไปวางไว้กับผู้รับจำนำจำนอง เพื่อให้ผู้รับจำนำจำนองยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้ของตน เงื่อนไขของหลักทรัพย์ในการจำนำของ คือ

  • ต้องเป็นวัตถุที่เป็นทรัพย์สิน จะเป็นประเภทสังหาริมทรัพย์ หรือ อสังหาริมทรัพย์ก็ได้
  • ต้องเป็นสิ่งที่ซื้อขายได้ หมายความว่ามีเงื่อนไขของการเป็นสินค้าที่ศาสนาอนุญาตให้ซื้อขายได้โดยครบถ้วน

ดังนั้นทรัพย์สินที่เป็นที่ต้องห้ามตามหลักศาสนา เช่น สุกร หรือสิ่งที่มึนเมา เป็นต้น หรือทรัพย์สินที่ขายไม่ได้ หรือทรัพย์สินที่คลุมเครือ เช่น ลูกสัตว์ที่อยู่ในท้อง หรือผลไม้ที่ยังไม่ออกผลจะนำมาเป็นทรัพย์ประกันไม่ได้

อนึ่ง ไม่อนุญาตให้ผู้รับจำนำจำนองใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ถูกจำนำจำนองไว้ ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเขาใช้ประโยชน์ก็เท่ากับเขารับดอกเบี้ย ส่วนผลผลิตที่เกิดจากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้น ถือเป็นสิทธิของผู้จำนำจำนอง ไม่ใช่สิทธิของผู้รับจำนำจำนองแต่อย่างใด

สำหรับสัตว์ที่ถูกจำนำจำนองนั้น ผู้ที่รับจำนำจำนองต้องออกค่าอาหารหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้แก่มัน และผู้ที่รับจำนำสามารถใช้ประโยชน์มันได้ในการขี่หรือรีดนมตามขนาดค่าใช้ จ่ายที่เขาได้ออกไป ทั้งนี้ถือตามทัศนะของอิหม่าม อะห์หมัด (ร.ฮ.) แต่นักปราชญ์ส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ถูกนำมาจำนำจำนองโดย อาศัยหลักนิติศาสตร์ที่ว่า “การให้ยืมโดยหวังผลประโยชน์เพิ่มเติมถือว่าเป็นดอกเบี้ย”