คลองแสนแสบและบรรพชนมุสลิมเชื้อสายต่างๆ

คลองแสนแสบ คือ ลำน้ำสายประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติบรรพชนมุสลิมในยุครัตนโกสินทร์ หากคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ และคลองบางกอกน้อยเป็นลำคลองที่บรรพชนมุสลิมในยุคกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี มีความเกี่ยวพันและข้องแวะกันอย่างแนบแน่นในด้านประวัติศาสตร์ชุมชน คลองแสนแสบก็คือลำน้ำที่บรรพชนมุสลิมในยุคต้นรัตนโกสินทร์ มีความผูกพัน และเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่นเช่นกัน

เกือบจะกล่าวได้ว่า ฟ้าใหม่ และชีวิตใหม่ของชาวมุสลิมที่พลัดถิ่นและบ้านแตกสาแหรกขาดจากหัวเมืองมลายู ได้เริ่มต้นเยี่ยงประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ณ ลำคลองสายนี้ ซึ่งเรียกว่า “คลองแสนแสบ”

ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ ๙ มีข้อความบันทึกว่า แล้วรับสั่ง สั่งพระยาราชวังสรรค์ว่า ที่สุเหร่ามีกว้างขวางอยู่ พอจะผ่อนพักไว้ได้ก็รับเอาพักไว้ พอให้มันสบายก่อนเถิด พระยาราชวังสรรค์กราบทูลว่า ที่สุเหร่าคลองนางหงส์ก็กว้างขวางอยู่พอจะพักอยู่ได้ รับสั่งว่า เอา เอาพักไว้ที่ในนี้ก่อนเถิด ที่มันเจ็บไข้อยู่ก็ดูขอหมอไปรักษาพยาบาลมันด้วย พระยาเทพกับพระยาราชวังสรรค์อุตส่าห์เอาใจใส่ดูแลเบิกข้าวปลาอาหารให้มันกิน อย่าให้มันอดหยากซวดโซได้ ถ้าข้างหน้ามีครอบครัว ส่งข้าวไปอีกมากมายแล้ว จึงค่อยจัดแจงเอาไปตั้งที่แสนแสบข้างนอกทีเดียวฯ“ 

แสดงว่า “แสนแสบ” เป็นชื่อเรียกสถานที่นอกเขตพระนครมาก่อนแล้ว ส.พลายน้อย เขียนไว้ว่า “ส่วนบางกอกฝั่งขวาหรือกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนี้ ที่ดินกลับไม่ค่อยดี เหมาะสำหรับการทำนาเท่านั้น ทั้งนี้จะเห็นว่าทางฝั่งกรุงเทพฯ นั้น มีชื่อเรียกว่า “ทุ่ง” ทั้งนั้น เริ่มแต่ทุ่งพระเมรุหรือสนามหลวงทุกวันนี้ เมื่อก่อนนั้นก็มีการทำนาที่สนามหลวงนี่เหมือนกัน ซึ่งจะได้เล่าต่อไปข้างหน้า นอกจากทุ่งพระเมรุหรือสนามหลวงก็มีทุ่งพญาไท ซึ่งจัดเป็นนาหลวง… นอกจากทุ่งเหล่านี้แล้ว ก็ยังมีออกชื่อ ทุ่งสามเสน ทุ่งบางกะปิ ทุ่งมหาเมฆ ในพระราชพงศาวดารก็ออกชื่อ ทุ่งแสนแสบ ซึ่งล้วนแต่เป็นทุ่งใหญ่ ๆ มีอาณาเขตกว้างขวางทั้งนั้น…”  (ส.พลายน้อย, เล่าเรื่องบางกอก, รวมสาส์น (๒๕๔๓) หน้า ๑๔-๑๕)

ทุ่งแสนแสบกับทุ่งบางกะปิ มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารทั้งคู่ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถ้าข้าศึกจะเข้ามากรุงเทพฯ ก็ต้องเข้ามาทางด้านตะวันออก เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุเวียงจันทร์เป็นกบฏในราชวงศ์ลงมากวาดต้อนครัวเมืองสระบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ โปรดให้จัดแจงตกแต่งพระนครเตรียมสู้รบข้าศึก ให้เสนาบดีไปตั้งค่ายที่ทุ่งวัวลำพองรายไปจนถึงทุ่งบางกะปิ ในรัชกาลนี้เองกองทัพไทยได้กวาดต้อนพวกแขกจามเขมรมาจากเมืองพนมเปญ โปรดให้พวกครัวแขกจามเหล่านี้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองบางกะปิ แสนแสบเลยไปถึงหลอแหล (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, ชื่อบ้านนามเมือง, มติชน (๒๕๔๐) หน้า ๑๗,๑๘)

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๓ ว่า “คลองแสนแสบขุดขึ้นเมื่อเดือน ๒ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๙๙ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๘๐” คลองแสนแสบแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง คือ คลองแสนแสบใต้และคลองแสนแสบเหนือ ในจดหมายเหตุ การอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์บันทึกว่า : คลองแสนแสบใต้สอบไม่พบหลักฐานว่าขุดแต่เมื่อใด แต่จะอยู่ในช่วงหลังจากขุดคลองมหานาคแล้วในรัชกาลที่ ๑ คงจะเป็นผู้นำกองอาสาจามชาวเขมรและชาวมลายูปัตตานีขุดคลองแสนแสบช่วงนี้ (คลองแสนแสบใต้)

โดยได้เล็งเห็นว่า ถ้าขุดคลองช่วงนี้เป็นแนวตรง ต้องรื้อถอนหมู่บ้าน สุเหร่า สุสาน และขุดกระดูกทหารนิรนามขึ้นจากสุสาน แยกสุเหร่าและสุสาน การขุดแสนแสบใต้ต่อจากคลองมหานาคจึงไม่เป็นแนวตรง จึงน่าจะมีสาเหตุมาจากกรณีดังกล่าว เมื่อพ้นช่วงชุมชนบ้านครัวแล้วจึงขุดคลองเข้าหาลำกระโดงที่คดโค้งไปมาตามธรรมชาติให้กว้างจนไปถึงหัวหมากที่คลองตัน (เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ, อ้างแล้ว หน้า ๒๙) คลองแสนแสบใต้ มีชื่อเรียกค่อนข้างสับสน ดังนี้

  • สมัยรัชกาลที่ ๓ บันทึกจดหมายหลวงอุดมสมบัติ พระยาราชบังสัน (ฉิม) เรียกคลองช่วงนี้ว่า “คลองนางหงส์”

  • สมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดฯ ให้สร้างวังสระปทุมที่ริมคลองในพื้นที่นาหลวง เรียกชื่อคลองว่า “คลองบางกะปิ”

  • สมัยรัชกาลที่ ๕ ตามแผนที่มณฑลกรุงเทพสยาม ร.ศ. ๑๒๐ โดยกรมแผนที่ทหารเรียกชื่อคลองว่า “คลองแสนแสบ”

  • สมัยรัชกาลที่ ๕ ตามแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ ร.ศ. ๑๒๖ เรียกชื่อคลองว่า “คลองมหานาค”

  • สมัยรัชกาลที่ ๕ ตามแผนที่บริเวณกรุงเทพฯ ร.ศ. ๑๒๙ โดยกรมแผนที่ทหารเรียกชื่อคลองว่า “คลองบางกะปิ”

  • จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๕๒๕ เรียกชื่อคลองว่า “คลองแสนแสบใต้”

ส่วน “คลองแสนแสบเหนือ” เริ่มขุดจากหัวหมากผ่านคลองสามเสนช่วงปลาย (คลองตัน) ผ่านบางขนากไปออกแม่น้ำบางปะกง ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๓ ว่า

ครั้นมาถึงเดือน ขึ้น ค่ำ (ตรงกับวันเสาร์ที่ ๓๐ ธันวาคม .. ๒๓๘๐) จึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี เป็นแม่กองจ้างจีนขุดคลอง ตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก เป็นทาง ,๓๓๗ เส้น ๑๙ วา ศอก ลึก ศอก กว้าง ศอก ราคาเส้นละ ๗๐ บาท

คลองแสนแสบเหนือ มีระยะทางตามแผนที่กรมแผนที่ทหาร ตั้งแต่คลองตัน คลองสามเสนช่วงปลาย มีนบุรี หนองจอก ถึงคลองบางขนาก ออกแม่น้ำบางปะกงประมาณ ๖๓.๔ กม. และที่จ้างชาวจีนขุดคลองเป็นทาง ๑,๓๓๗ เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก (ระยะทาง ๕๓.๕๒ กม. ค่าจ้างขุด ๙๓,๖๖๐.-บาท) ยังขาดระยะทางอีก ๒๔๗ เส้น หรือ ๙.๘๘ กม. ซึ่งต้องเพิ่มค่าจ้างขุดอีก ๑๗,๒๙๐.-บาท จึงออกแม่น้ำบางปะกงได้

แต่ถ้าไม่เพิ่มค่าจ้างและต้องขุดคลองออกแม่น้ำบางปะกงให้ได้มีประการเดียวคือ จะต้องเกณฑ์ชาวมลายูปัตตานีที่กวาดต้อนมาสมัยรัชกาลที่ ๑ – รัชกาลที่ ๓ ที่มาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามแนวคลองมาช่วยกันขุดคลองจนทะลุออกแม่น้ำบางปะกง ฉะนั้นนับตั้งแต่คลองมหานาค คลองแสนแสบใต้ คลองแสนแสบเหนือ ไปออกแม่น้ำบางปะกงเป็นคลองสายหลักระยะทาง ๗๓.๘ กม. เป็นผลงานของเชลยศึกสงครามชาวเขมรมลายูปัตตานีทั้งนั้น แม้ว่าคลองแสนแสบเหนือได้จ้างชาวจีนขุดก็ไม่พ้นที่ต้องเกณฑ์แรงงานเชลยศึกสงครามร่วมด้วย (เรืองศักดิ์ ดำริห์เลิศ, อ้างแล้ว หน้า ๓๐)

ชาวมุสลิมจากหัวเมืองมลายูได้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากชุมชนบ้านครัว และแถบคลองมหานาคในมัยรัชกาลที่ ๓ แล้วถูกนำมาไว้ตลอดแนวลำคลองแสนแสบ (เหนือ) มีการหักร้างถางป่ารกพงไพรเป็นท้องทุ่งไร่นา และตั้งชุมชน มีการสร้างมัสยิด สุสาน และโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ก่อตั้งเรียงรายเป็นระยะ ๆ จำนวนมาก และตามคลองซอยที่แยกจากคลองแสนแสบ ก็ยังมีชุมชนมุสลิม และมัสยิดก่อตั้งกระจัดกระจายตามพื้นที่นาดอนทั่วไป ซึ่งราษฎรเหล่านี้ในภายหลังได้จับจองและมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวนมากอีกด้วย

จากการตั้งถิ่นฐานของประชาคมมุสลิมมลายูตลอดเส้นทางคลองแสนแสบนับแต่รัชกาลที่ ๓ ทำให้มีชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูเกิดขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา และนครนายก นอกจากนี้ชาวมุสลิมมลายูที่ถูกเทครัวมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังได้ถูกนำไปไว้ในจังหวัดนนทบุรี (ที่บ้านท่าอิฐ ตำบลปากเกร็ดและตำบลบางบัวทอง เป็นต้น) ปทุมธานี (ที่คลองหนึ่ง คลองหลวง และบ้านสวนพริกไทย เป็นต้น) และสมุทรปราการ (ที่ทุ่งครุ บางมด ปากลัดเขตพระประแดง เป็นต้น)

ครั้นต่อมาในชั้นหลังลูกหลานชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูเหล่านี้ได้เคลื่อนย้ายเข้าไปทำมาหากินและตั้งหลักแหล่งอยู่ในจังหวัดภาคตะวันออกของไทย เช่น จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมือง อำเภอพนัสนิคม และพัทยา เป็นต้น) จังหวัดระยอง จันทบุรี และจังหวัดตราด เป็นต้น ในขณะที่บางส่วนได้เคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน อันได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และพังงา เป็นต้น

ส่วนชาวมุสลิมในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา ที่อยู่มาแต่เดิมนั้นเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูและมีความเกี่ยวพันกับไทรบุรี (เคดาห์) มาตั้งแต่ครั้งก่อนเป็นเมืองถลางตลอดจนเป็นชนพื้นเมืองเชื้อสายมลายูที่อยู่มาแต่ครั้งโบราณในเส้นทางการค้าเก่าแก่ เช่น ที่คลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่าประชาคมมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นประชากรมุสลิมในประเทศไทยที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดและมีการตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ครอบคลุมกว้างขวางมากที่สุดอีกด้วยเมื่อเทียบกับประชาคมมุสลิมกลุ่มอื่นในประเทศไทย

ประชาคมมุสลิมที่เคยเป็นพลเมืองในบังคับของต่างชาติ  ได้แก่ ชาวมุสลิมยะวา (ชวา) จากอินโดนิเซียซึ่งเป็นพลเมืองในบังคับของฮอลันดาและชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียซึ่งเป็นพลเมืองในบังคับของอังกฤษหรือภายหลังการได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว สำหรับชาวมุสลิมยะวานั้นมีหลักฐานที่ปรากฏในเอกสารของทางราชการระบุว่า มีชาวยะวาเดินทางเข้ามาค้าขายเลี้ยงชีพในประเทศไทยตั้งแต่ ร.ศ.๘๑ (พ.ศ.๒๔๐๕)

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา และเมื่อคราวเสด็จประพาสชวา ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำชาวยะวา ๒ คนเข้ามาพร้อมกับนายเอเลนบาส ฝรั่งชาวฮอลันดา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการเพาะปลูก ชาวยะวามีฝีมือในการตกแต่งสวนจึงได้เข้ารับงานด้านตกแต่งสวนในบริเวณพระบรมมหาราชวัง วังสราญรมย์ วังสวนสุนันทา พระราชวังบางปะอิน

นอกจากนี้ยังทำสวนบริเวณโรงกษาปณ์ ตกแต่งไม้ประดับในแนวถนนราชดำเนิน และปลูกต้นมะขามบริเวณท้องสนามหลวงอีกด้วย (กรรณิการ์ จุฑามาศ สุมาลี; ยะวา-ชวา ในบางกอก, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (๒๕๔๑) หน้า ๓๖) ชาวยะวาตั้งหลักแหล่งกระจายอยู่ในหลายเขตของกรุงเทพมหานคร เช่น เขตพระราชวัง ชนะสงคราม บางขุนพรหม สามเสน สาทร และบางรัก เป็นต้น ส่วนหนึ่งจากมัสยิดทีชาวยะวาได้สร้างขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครคือ มัสยิดยะวา มัสยิดบาหยัน มัสยิดดารุ้ลอาบีดีน มัสยิดบ้านอู่ และมัสยิดอินโดนีเซีย เป็นต้น

ในส่วนของชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียนั้น ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตบางรัก มหานาค ราชวงศ์ เยาวราช วรจักร์ และสีลม เป็นต้น (เอกสารกระทรวงนครบาล เรื่องที่ดินคนในบังคับต่างชาติ เล่มที่๑ – ๒๐ (ร.๕/๑ น.๑๘) ชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียบางตระกูลมีความเจริญก้าวหน้าในด้านธุรกิจการค้าเป็นอันมาก ดังกรณีของห้าง เอช อับดุลราฮิม และ นักกุดาอิสไมเลีย เป็นต้น

มัสยิดสำคัญที่ประชาคมมุสลิมกลุ่มนี้สร้างขึ้นได้แก่ มัสยิดเซฟี บริเวณตึกแดง มัสยิดกูวะติ้ลอิสลาม และมัสยิดฮารูณ เขตบางรัก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิมเชื้อสายปากีสถาน-อินเดียที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และตาก เป็นต้น มีชุมมชนที่เก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ คือ ชุมชนมัสยิดช้างคลาน ชุมชนมัสยิดช้างเผือก ชุมชนหนองแบน และชุมชนสันกำแพง เป็นต้น

ประชาคมมุสลิมที่เป็นชาวต่างชาติแต่เดิมซึ่งอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเขตจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสานมี ๒ กลุ่มใหญ่คือ ชาวมุสลิมเชื้อสายปาทาน อินเดีย บังกลาเทศ และพม่ากลุ่มหนึ่ง และชาวมุสลิมเชื้อสายจีนจากมณฑลยูนนานอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งชาวมุสลิมเชื้อสายจีนคนไทยเรียกว่า “จีนฮ่อ” ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงนับแต่ช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๙ มีชุมชนสำคัญได้แก่ ชุมชนบ้านฮ่อและชุมชนสันป่าข่อย เป้นชุมชนหลัก

ส่วนชาวมุสลิมในภาคอีสานนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวปาทานจากประเทศปากีสถานที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๐ และมัสยิดแห่งแรกที่ถุกสร้างขึ้นในภาคอีสานคือ มัสยิดญันนะตุ้ลฟิรเดาส์ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในภายหลังชาวมุสลิมในภาคอีสานยังได้ร่วมกันสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อนประกอบศาสนกิจในอีกหลายจังหวัดด้วยกัน เช่น จังหวัดขอนแก่น สุรินทร์ เลย สกลนคร กาฬสินธ์ อุบลราชธานี และอุดรธานี เป็นต้น (เก็บความจากประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ,มุสลิมในประเทศไทย โดยสรุป)

กล่าวได้ว่าในยุครัตนโกสินทร์เป็นยุคที่ศาสนาอิสลามแผ่ขยายออกไปครอบคลุมทุกภาคของประเทศไทยและประชาคมมุสลิมทุกกลุ่มได้มีส่วนสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาและตั้งชุมชนมุสลิมอันมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งสิ่งนี้มีเหตุปัจจัยมาจากการที่มุสลิมได้รับสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา การประกอบศาสนกิจ และมีความเสมอภาคภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ

ตลอดจนการเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชกาลซึ่งมิได้ทรงถือเอาความแตกต่างทางศาสนาและลัทธิความเชื่อมาเป็นเหตุในการเลือกปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่อเหล่าพสกนิกรที่ล้วนอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของทุกพระองค์แต่อย่างใดเลย

สำหรับจำนวนประชากรผู้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปี พ.ศ.2548 มีจำนวน 2,213,381 คน หรือ 4% จากจำนวนประชากทั้งหมด 60,916,441 คน เฉพาะในกรุงเทพมหานครมีประชากรมุสลิม 156,676 คน ในภาคใต้โดยรวมมีประชากรมุสลิม 1,864,102 คนทั่วประเทศมีจำนวนมัสยิดทั้งหมด 3494 มัสยิด (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2550 จากสำนักกิจการความมั่นคงภายใน (ส่วนประสานราชการ  กรมการปกครอง ) จังหวัดปัตตานี มีจำนวนมัสยิดมากที่สุด 636 มัสยิด และจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 36 จังหวัด (ปี พ.ศ. 2547)