หมวดการยกให้และการอุทิศ : การอุทิศ

ความหมาย

การอุทิศเรียกในภาษาอาหรับว่า อัล-วักฟุ (اَلْوَقْفُ) ตามหลักภาษาหมายถึง การหยุด, การกักขัง

ในหลักศาสนา หมายถึง การอุทิศทรัพย์ที่สามารถเอาประโยชน์ได้ ให้แก่ฝ่ายรับที่มีตัวตนและศาสนาอนุญาตให้ โดยที่ตัวทรัพย์ยังคงอยู่ไม่สูญสลาย พร้อมทั้งเป็นการตัดสิทธิของผู้อุทิศในการนำทรัพย์นั้นไปจำหน่ายจ่ายแจก ซึ่งเท่ากับเป็นการกักทรัพย์นั้นไว้เพื่อการดังกล่าว

หลักฐานว่าด้วยการอุทิศ
การอุทิศ (อัล-วักฟุ) ถือเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติตามหลักศาสนา และเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้กระทำ โดยมีหลักฐานทั้งที่ปรากฏในอัลกุรอาน และอัล-หะดีษ ดังนี้

อัลกุรอาน พระดำรัสที่ว่า :

لَن تَنَالُواْ الْبِرَّ حَتَّى تُنفِقُواْ مِمَّا تُحِبُّونَ  وَمَا تُنفِقُواْ مِن شَيْءٍ فَإِنَّ اللهَ بِهِ عَلِيمٌ

“พวกท่านจะยังไม่ได้รับความดีจนกว่าพวกท่านจะบริจาค ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่พวกท่านรักเสียก่อน และสิ่งใดก็ตามที่พวกท่านได้บริจาค แน่แท้พระองค์อัลลอฮฺทรงรู้ดีถึงสิ่งนั้น”  (สูเราะฮฺอาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่ 92)

อัลหะดีษ มีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่าแท้จริงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ () ได้กล่าวว่า :

إذَامَاتَ ابْنُ آدَمَ انْقَطَعَ عَنْهُ عَمَلُه إِلاَّمِنْ ثَلاَثَةٍ : صَدَقَةٍ جَارِيَةٍ ، أَوْعِلْمٍ يُنْتَفَعُ بِه ، أَوْوَلَدٍ صَالِحٍ يَدْعُوْلَه

“เมื่อมนุษย์เสียชีวิตลง การประพฤติปฏิบัติของเขาก็ขาดตอนลงแล้วจากเขาผู้นั้น  ยกเว้นจากสามประการ (คือ) การทำทานที่กระแสบุญหลั่งไหล, ความรู้ที่เป็นประโยชน์

หรือบุตรที่ดีขอพรให้” (รายงานโดยมุสลิม -1631-)

การทำทานที่กระแสบุญหลั่งไหล ในหะดีษนี้หมายถึง การอุทิศนั่นเอง

และท่านบุคอรี (หะดีษเลขที่ 2586) และมุสลิม (หะดีษเลขที่ 1632) ได้รายงานจากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ถึงเรื่องการอุทิศที่ดิน ณ เมืองคอยบัรฺของท่านอุมัร อิบนุ อัลคอตตอบ (รฎ.) ตามคำชี้แนะของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ซึ่งถือเป็นการอุทิศที่ดินที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในอิสลาม ต่อมาการอุทิศก็เป็นที่แพร่หลายไปในหมู่สาวกของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) โดยท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) ได้ระบุว่า มีสาวกของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) จำนวนถึง 80 ท่านที่เป็นชาวอันศอรได้ทำการอุทิศ

องค์ประกอบสำคัญของการอุทิศ

การอุทิศ (อัล-วักฟุ) มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการดังนี้

1. ผู้อุทิศ (อัล-วากิฟ)

การอุทิศของผู้อุทิศจะใช้ได้และถูกต้องนั้น ผู้อุทิศจะต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

– เป็นเสรีชน มิใช่ทาส

– บรรลุศาสนภาวะ และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

– เป็นบุคคลที่ใช้จ่ายทรัพย์ในการทำบุญและบริจาคได้ กล่าวคือ ต้องไม่เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งอายัดทรัพย์ เพราะใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย หรือเป็นบุคคลล้มละลาย

– กระทำโดยสมัครใจ ไม่ถูกบังคับ

อนึ่ง ผู้ป่วยที่มีอาการหนักจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้นั้น ศาสนาไม่อนุญาตให้เขาทำการอุทิศทรัพย์สินเกินกว่าหนึ่งในสามของทรัพย์สินที่เขามี ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิของทายาทในกองมรดก ส่วนการอุทิศทรัพย์สินหนึ่งในสามหรือน้อยกว่านั้น ศาสนาอนุญาตให้ ทั้งนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ป่วย ที่ควรได้รับผลบุญภายหลังการเสียชีวิตของตน

และการอุทิศของชนต่างศาสนิกนั้นถือว่ามีผลใช้ได้ แม้จะเป็นการอุทิศให้กับมัสญิดก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากชนต่างศาสนิกถือเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติในการทำบุญและบริจาคได้ และการอุทิศของชนต่างศาสนิกก็ไม่จำเป็นต้องมีเจตนา (เนียต) ในกรณีนี้

2. สิ่งที่ถูกอุทิศ (อัล-เมากูฟ)

สำหรับสิ่งที่ถูกอุทิศ มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

– สิ่งที่ถูกอุทิศจะต้องมีตัวตนที่แน่ชัด ดังนั้นการอุทิศเฉพาะผลประโยชน์อย่างเดียว โดยไม่อุทิศตัวตนของมัน การอุทิศเช่นนี้ถือว่าใช้ไม่ได้

– ต้องมีการระบุสิ่งที่ถูกนำไปอุทิศให้แน่ชัด เช่น สิ่งที่ถูกอุทิศเป็นบ้านหลังใด หรือที่ดินแปลงใด เป็นต้น

– สิ่งที่ถูกนำไปอุทิศต้องเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ของผู้อุทิศ (อัล-วากิฟ) และพร้อมที่จะเปลี่ยนมือได้ ตลอดจนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือให้ประโยชน์ได้

– สิ่งที่ถูกอุทิศ ต้องคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ภายหลังการใช้ประโยชน์แล้วตามภาวะปกติ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาก็ตาม

– ประโยชน์ของสิ่งที่ถูกอุทิศ ต้องเป็นที่อนุมัติ (หะลาล) ตามหลักศาสนา จะเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ไม่ได้

อนึ่ง ศาสนาอนุมัติให้ทำการอุทิศ อสังหาริมทรัพย์ เช่นที่ดิน , บ้านเรือน , ร้านค้า หรือบ่อน้ำ เป็นต้น ไม่ว่าสิ่งดังกล่าวจะมีสภาพอย่างไรก็ตาม ต่อเมื่อสามารถที่จะเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้ทันทีหรือในอนาคต

ในทำนองเดียวกัน ศาสนาก็อนุมัติให้ทำการอุทิศ ทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ได้เช่นกัน อาทิ สัตว์, รถยนต์, ยุทโธปกรณ์, เสื้อผ้า, พรม, ภาชนะเครื่องใช้ และหนังสือที่มีประโยชน์ เป็นต้น

การอุทิศสิ่งที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วม

การอุทิศสิ่งที่ผู้อุทิศมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่นโดยยังไม่ได้แยกส่วนออกจากกัน (ซึ่งเรียกสิ่งที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันนี้ว่า อัล-มุชาอฺ) ถือว่ามีผลใช้ได้ โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่นนั้น จะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ก็ตาม และไม่คำนึงอีกเช่นกันว่า มีผู้อุทิศเพียงผู้เดียวที่ทำการอุทิศเฉพาะส่วนของตนที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่กับผู้อื่น หรือมีผู้อุทิศหลายคนได้ทำการอุทิศในหลายส่วนที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันก็ตาม

3. ผู้รับการอุทิศ (อัล-เมากูฟ-อะลัยฮิ)

ผู้รับการอุทิศมีสองประเภท คือ

– ถูกเจาะจงตัวแน่นอน คนเดียวหรือหลายคนก็ตาม ผู้รับการอุทิศประเภทนี้มีเงื่อนไขว่า ต้องสามารถมอบให้เขาหรือพวกเขาถือสิทธิในขณะทำการอุทิศได้ หมายความว่าจะต้องมีตัวตนอยู่จริงแล้วในขณะนั้น ดังนั้นการอุทิศให้แก่บุตรของตน ทั้งที่ในความเป็นจริงตนยังไม่มีบุตร จึงถือว่าใช้ไม่ได้ เช่นเดียวกัน การอุทิศให้แก่ทารกในครรภ์ หรือให้แก่ศพ หรือให้แก่สัตว์ก็ถือว่าใช้ไม่ได้

– ไม่เจาะจงตัวผู้รับ อาทิเช่น อุทิศให้แก่ฝ่ายต่าง ๆ เช่น มัสญิดหรือโรงเรียน หรือให้แก่บรรดาผู้ยากจนทั้งหลาย เป็นต้น ในการอุทิศประเภทนี้มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการอุทิศที่ไม่มีจุดมุ่งหมายที่เป็นความชั่วหรือมีส่วนในการสนับสนุนความชั่ว ดังนั้น การอุทิศให้แก่คนยากจน, บรรดานักวิชาการนักท่องจำอัลกุรอาน, นักรบศาสนา, มัสญิด, โรงเรียน, โรงพยาบาล และการห่อศพ เป็นต้น ทั้งหมดถือว่าเป็นการอุทิศที่ใช้ได้ และถือเป็นความดีที่ศาสนาเรียกร้องให้กระทำ

ส่วนการอุทิศให้แก่ศาสนสถานของศาสนาอื่น จะเพื่อนำรายได้มาบำรุงหรือบริการหรือบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานนั้นถือว่าใช้ไม่ได้ตามเงื่อนไขข้างต้น

4. ถ้อยคำที่ใช้ในการอุทิศ

หมายถึง คำพูดที่สื่อให้รู้ถึงจุดประสงค์ หรือสิ่งที่ใช้แทนคำพูดได้ เช่น การแสดงท่าทางของคนใบ้ที่สื่อความเข้าใจได้ หรือการเขียนของคนใบ้ เป็นต้น

ถ้อยคำที่ใช้ในการอุทิศมี 2 ประเภทคือ

– ถ้อยคำที่ชัดเจน ตีความเป็นอื่นไม่ได้ เช่น กล่าวว่า : “ฉันอุทิศ (วักฟุ) บ้านของฉันให้แก่คนยากจน” หรือ “บ้านของฉันถูกอุทิศให้แก่คนยากจน” เป็นต้น การใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนนี้ถือว่ามีผลใช้ได้เพียงแต่กล่าวออกมาจากผู้อุทิศ โดยไม่จำเป็นต้องมีการตั้งเจตนา (เนียต) แต่อย่างใด

– ถ้อยคำที่คลุมเครือ หมายถึง เป็นถ้อยคำที่ครอบคลุมถึงความหมายที่ต้องการและความหมายอื่น ๆ ก็ได้ เช่น กล่าวว่า : “ทรัพย์สินของฉันเป็นทานซอดะเกาะฮฺแก่คนยากจน” หรือ “ฉันหวงห้ามมันไว้ให้แก่คนยากจน” เป็นต้น

การใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือนี้ ผู้อุทิศจำต้องมีการตั้งเจตนา (เนียต) ว่าเป็นการอุทิศ (อัล-วักฟุ) จึงจะมีผลใช้ได้และข้อความอันเป็นลายลักษณ์อักษรที่ผู้อุทิศ ซึ่งพูดได้ (มิได้เป็นใบ้) เขียนขึ้นนั้น ก็ถือเป็นถ้อยความที่คลุมเครือซึ่งจำเป็นต้องมีการตั้งเจตนา (เนียต) เช่นกัน

ในการใช้ถ้อยคำการอุทิศทั้งสองประเภทดังกล่าว มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. ต้องเป็นคำพูดที่สื่อถึงจุดประสงค์ตามที่ต้องการสำหรับผู้พูดได้ หรือเป็นข้อเขียนที่ระบุจุดประสงค์อย่างชัดเจนสำหรับคนใบ้

2. ต้องเป็นถ้อยคำที่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องกำหนดเวลา โดยเงื่อนไขข้อนี้ได้รับการยกเว้นในเรื่องการอุทิศให้แก่มัสญิด, สุสาน และสิ่งที่อยู่ในข่ายเดียวกันนี้ โดยถือว่าการอุทิศในสิ่งดังกล่าวถือเป็นการอุทิศที่ใช้ได้และตลอดไป ถึงแม้จะมีการตั้งกำหนดเวลาไว้ก็ตาม ซึ่งการตั้งกำหนดเวลาในถ้อยคำอุทิศถือเป็นโมฆะ อาทิเช่น หากผู้อุทิศกล่าวว่า : “ฉันอุทิศที่ดีของฉันแปลงนี้เป็นมัสญิดหรือเป็นสุสาน เป็นเวลาหนึ่งปี” การอุทิศนี้ถือว่าใช้ได้ตลอดไป ส่วนการตั้งกำหนดเวลาเอาไว้นั้นถือเป็นโมฆะ

3. ต้องระบุตัวผู้รับการอุทิศให้แน่ชัดว่าอุทิศให้แก่ผู้ใดหรือฝ่ายใด

4. ต้องไม่มีข้อแม้ใด ๆ หรือผูกพันกับการเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่งสิ่งใด

5. จะต้องมีผลบังคับโดยทันที

อนึ่งมีเงื่อนไขในกรณีการอุทิศให้แก่ผู้รับการอุทิศที่ถูกระบุตัวโดยเจาะจงแน่นอนว่า ผู้รับการอุทิศจะต้องกล่าวคำสนอง (กอบูล) อย่างต่อเนื่องกับคำเสนอ (อีญาบ) ในการอุทิศ การอุทิศจึงจะมีผลใช้ได้ ส่วนในกรณีที่ผู้รับการอุทิศมิได้ถูกเจาะจงตัวโดยแน่นอน เช่น อุทิศให้แก่บรรดาคนยากจน หรือให้แก่มัสญิด เป็นต้น การอุทิศนี้มีผลใช้ได้โดยไม่ต้องมีคำสนอง (กอบูล) ในการอุทิศแต่อย่างใด

สิทธิ์ของผู้อุทิศ

ผู้อุทิศ (วากิฟ) ย่อมไม่มีสิทธิเอาผลประโยชน์จากสิ่งที่ตนอุทิศ ยกเว้นในเรื่องการอุทิศให้แก่มัสญิด หรือสุสาน หรือเป็นการอุทิศบ่อน้ำให้แก่ส่วนรวม ผู้อุทิศยังคงมีสิทธิเอาประโยชน์จากสิ่งที่ตนอุทิศได้เช่นเดียวกับชาวมุสลิมโดยทั่วไป ดังนั้นจึงเป็นที่อนุญาตสำหรับผู้อุทิศในการเข้าไปละหมาดในมัสญิดที่เขาได้อุทิศไว้ ดื่มน้ำจากบ่อน้ำ และฝังศพของตนในสุสานที่ได้อุทิศไว้

การอุทิศ (อัล-วักฟุ) เป็นข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ทันที และมีข้อกำหนดต่างๆ เกิดขึ้นตามมาดังนี้

เมื่อได้กล่าวถ้อยคำอุทิศที่ถูกต้องออกไปแล้ว ผู้อุทิศจะไม่มีสิทธิตัดสินใจให้เป็นอย่างอื่นอีกขณะที่ยังคงอยู่ในสถานที่ที่กล่าวถ้อยคำอุทิศนั้น

กรรมสิทธิ์ในสิ่งที่ถูกอุทิศนั้น ได้ย้ายออกจากผู้อุทิศไปเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ดังนั้นผู้อุทิศจึงไม่มีอำนาจใด ๆ อีกในการโอนสิทธิสิ่งที่ถูกอุทิศไปให้ผู้อื่นแล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีการซื้อขาย หรือด้วยการยกให้ หรืออื่น ๆ ก็ตาม

สิทธิในการเอาประโยชน์จากสิ่งที่ถูกอุทิศจะย้ายไปยังฝ่ายที่รับการอุทิศ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ถูกระบุเจาะจงแน่นอนหรือทั่ว ๆ ไปก็ตาม

ผลประโยชน์ของสิ่งที่ถูกอุทิศ

ผลประโยชน์ของสิ่งที่ถูกอุทิศจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับการอุทิศ ดังนั้นหากผู้รับการอุทิศถูกระบุตัวอย่างแน่ชัด เขาย่อมมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์เหล่านั้นได้ด้วยตัวเขาเอง หรือโดยผ่านผู้อื่น ด้วยวิธีการให้ขอยืม หรือด้วยการให้เช่า ตลอดจนผลประโยชน์จากสิ่งที่ถูกอุทิศซึ่งเกิดขึ้นในภายหลัง ก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาด้วยเช่นกัน

ในกรณีที่มิได้ระบุตัวผู้รับการอุทิศไว้อย่างชัดเจน เช่น บรรดาคนยากจน เป็นต้น ผลประโยชน์ของสิ่งที่ถูกอุทิศจะไม่ตกเป็นของพวกเขา แต่พวกเขามีสิทธิเอาประโยชน์จากสิ่งที่ถูกอุทิศให้เท่านั้น

การจำหน่ายจ่ายโอนสิ่งที่ถูกอุทิศไว้

ศาสนาไม่อนุญาตให้จำหน่ายจ่ายโอนสิ่งที่ถูกอุทิศ ไม่ว่าจะด้วยการขายหรือซื้อ หรือยกให้หรือรับมรดก ไม่ว่าจากฝ่ายผู้อุทิศ หรือผู้รับการอุทิศ จะถูกระบุตัวแน่นอนหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ถูกอุทิศยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์อัลลอฮฺ () เท่านั้น โดยให้จ่ายผลประโยชน์ของมันไปยังผู้รับการอุทิศ และให้ปฏิบัติไปตามที่ผู้อุทิศได้ระบุไว้อย่างสุดความสามารถ ทั้งนี้มีหลักฐานระบุในอัล-หะดีษว่า  أَنَّه لاَيُبَاعُ ، وَلاَيُوْهَبُ ، وَلاَيُوْرَثُ  “แท้จริงสิ่งที่ถูกอุทิศนั้นจะไม่ถูกขาย, จะไม่ถูกยกให้ และจะไม่ถูกสืบเป็นมรดก”  (รายงานโดยบุคอรี -2586- / มุสลิม -1632-)