คัมภีร์อัล-กุรอานกับคริสตชน : ภาคที่ 5

คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุถึงปาฏิหาริย์ (มุอฺญิซาต) ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงประทานแก่ อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (พระเยซูคริสต์) เพื่อยืนยันความสัจจริงในการเผยแพร่พระวจนะของพระองค์ในหมู่ชาวอิสราเอลว่า

إِذْ قَالَ اللَّـهُ يَا عِيسَى ابْنَ مَرْيَمَ اذْكُرْ نِعْمَتِي عَلَيْكَ وَعَلَىٰ وَالِدَتِكَ إِذْ أَيَّدتُّكَ بِرُوحِ الْقُدُسِ تُكَلِّمُ النَّاسَ فِي الْمَهْدِ وَكَهْلًا ۖ وَإِذْ عَلَّمْتُكَ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَالتَّوْرَاةَ وَالْإِنجِيلَ ۖ وَإِذْ تَخْلُقُ مِنَ الطِّينِ كَهَيْئَةِ الطَّيْرِ بِإِذْنِي فَتَنفُخُ فِيهَا فَتَكُونُ طَيْرًا بِإِذْنِي ۖ وَتُبْرِئُ الْأَكْمَهَ وَالْأَبْرَصَ بِإِذْنِي ۖ وَإِذْ تُخْرِجُ الْمَوْتَىٰ بِإِذْنِي

ความว่า : “จงรำลึกขณะพระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า : โอ้ อีซาบุตรของมัรยัมจงรำลึกถึงความโปรดปรานของข้าที่มีต่อเจ้าและมีต่อมารดาของเจ้า กล่าวคือข้าได้สนับสนุนเจ้าด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (คือทูตสวรรค์ญิบรออีล) เจ้าพูดจากับผู้คนในยามแบเบาะและยามเติบใหญ่ และขณะที่ข้าได้สอนให้เจ้ารู้ถึงคัมภีร์และวิทยญาณตลอดจนคัมภีร์เตารอตและอินญีล และขณะที่เจ้าได้ทำรูปจากดินเป็นเหมือนรูปร่างของนกด้วยอนุมัติของข้าแล้วเจ้าก็เป่าเข้าไปในรูปนั้นแล้วมันก็เป็นนกที่โบยบินด้วยอนุมัติของข้า และเจ้าได้รักษาคน ตาบอดแต่กำเนิดและคนที่เป็นโรคเรื้อนให้หายด้วยอนุมัติของข้า และขณะที่เจ้าได้นำคนที่ตายไปแล้ว (ให้ฟื้นขึ้น) ออกมาด้วยอนุมัติของข้า”  (อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 110)


ในอายะฮฺนี้ได้ระบุถึงปาฏิหาริย์ (มุอฺญิซาต) ที่เกิดขึ้นด้วยอนุมัติของพระเจ้าซึ่งพระองค์ทรงประทานแก่อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (อ.ล.) ไว้ดังนี้

1. การสนับสนุนของทูตสวรรค์ญิบรออีลผู้เป็นวิญญาณบริสุทธิ์

2. การพูดจากับผู้คนในวัยทารกและวัยเติบใหญ่เป็นหนุ่มเมื่อเริ่มเผยพระวจนะของพระเจ้า

3. การสอนให้รู้ถึงข้อธรรมบัญญัติในคัมภีร์

4. การปั้นรูปของนกจากดินแล้วเป่าวิญญาณเข้าไป รูปของนกนั้นก็มีชีวิตขึ้น

5. การรักษาคนตาบอดแต่กำเนิดและคนที่เป็นโรคเรื้อนให้หายจากโรคทั้งสอง

6. การทำให้คนตายฟื้นคืนชีพจากความตาย

7. การประทานสำรับอาหารลงมาจากฟากฟ้าเพื่อให้เหล่าสาวกของอัล-มะสีหฺ อีซาได้รับประทาน ซึ่งปาฏิหาริย์ข้อนี้อยู่ในอายะฮฺที่ 112-115 จากบทอัล-มาอิดะฮฺ ซึ่งมีความหมายว่าสำรับอาหารหรือโต๊ะอาหารนั้นเอง

8. การบอกถึงสิ่งที่ผู้คนได้รับประทานและเก็บกักตุนเอาไว้ภายในบ้านของพวกเขา ซึ่งอัล-กุรอานได้ระบุเอาไว้ในบท อาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่ 49

ปาฏิหาริย์ทั้งหมดเป็นความโปรดปรานที่พระเจ้าทรงประทานแก่อัล-มะสีหฺ อีซาโดยเป็นขึ้นด้วยอนุมัติของพระองค์นี่คือสิ่งที่คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุเอาไว้ ซึ่งบางข้อไม่มีระบุในพระคริสตธรรมคัมภีร์ เช่น ข้อที่ 4 และข้อที่ 7,8 เป็นต้น ผู้ที่อ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์จะพบเรื่องราวอันเป็นปาฏิหาริย์ในเรื่องการรักษาคนตาบอดและคนเป็นโรคเรื้อนตลอดจนการทำให้คนตายฟื้นคืนชีพอยู่หลายเหตุการณ์ และปาฏิหาริย์บางประการเช่นการห้ามลมพายุ เป็นต้น จะไม่มีระบุไว้ในอัล-กุรอาน แต่มีระบุไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ดังตัวอย่างถึงเรื่องปาฏิหาริย์ที่พระเยซูคริสต์ทรงแสดงเอาไว้ดังนี้

– ทรงรักษาโรคเรื้อนให้หาย (มัทธิว 8 : 1-4)


– ทรงรักษาบ่าวของนายร้อยที่เป็นง่อย (มัทธิว 8 : 5-13)


– ทรงรักษาแม่ยายของเปโตรซึ่งป่วยเป็นไข้ (มัทธิว 8 : 14-15)


– ทรงห้ามพายุ (มัทธิว 8 : 23-27)


– ขับไล่ผีร้ายที่เข้าคน (มัทธิว 8 : 28-34)


– รักษาคนตาบอด (มัทธิว 9 : 27-30)


– รักษาคนใบ้ (มัทธิว 9 : 32-34)


– รักษาคนที่มือลีบ (มัทธิว 12 : 9-13)


– การเลี้ยงคนห้าพันคนด้วยขนมปังเพียง 5 ก้อนกับปลาสองตัว (มัทธิว 14 : 18-21)


– เดินบนน้ำทะเล (มัทธิว 14 : 26-33)


– การเลี้ยงคนสี่พันคน (มัทธิว 15: 32-38)


– ทรงจำแลงพระกาย (มัทธิว 17 : 1-8)


– ทรงสาปต้นมะเดื่อ (มัทธิว 21 : 18-22) เป็นต้น

นี่เป็นเพียงฉบับของมัทธิวเท่านั้นที่ได้บันทึกเรื่องราวปาฏิหาริย์ของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม ยังไม่นับรวมพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ฉบับอื่นๆ ซึ่งผู้อ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์จะสังเกตได้ว่าเรื่องราวปาฏิหาริย์ดังกล่าวเป็นเหมือน “การแสดง” ฤทธานุภาพของพระบุตรตามคำอ้างของพวกเขา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วการแสดงปาฏิหาริย์ของผู้เผยพระวจนะในขณะที่ผู้คนไม่เชื่อและมีการท้าทาย ไม่ได้เกิดขึ้นพร่ำเพรื่อจนเกินเหตุ

ซึ่งเมื่อรวมเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกันก็จะมีผู้คนที่ถูกชุบชีวิตขึ้นมาให้ฟื้นจากความตายและหายจากโรคร้ายเป็นจำนวนมากมาย จึงดูเหมือนว่าผู้คนในสมัยของอัล-มะสีหฺ อีซามีแต่คนที่เป็นโรคเรื้อน ตาบอดแต่กำเนิด เป็นใบ้ เป็นง่อย เจ็บไข้ได้ป่วยจนเต็มบ้านเต็มเมือง บางทีอาจจะไม่สอดคล้องกับจำนวนของผู้คนในแผ่นดินปาเลสไตน์ ณ เวลานั้นด้วยซ้ำไป ยิ่งไปกว่านั้นปาฏิหาริย์ที่อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัมได้แสดงเอาไว้ยังเกิดขึ้นกับบรรดาอัครทูตของท่านอีกด้วย กลายเป็นว่าปาฏิหาริย์เหล่านั้นมิใช่สิ่งที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม เป็นกรณีพิเศษ

ดังที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ ระบุว่า :

“จงรักษาคนป่วยให้หาย คนตายแล้วให้ฟื้น คนโรคเรื้อนให้หายสะอาด และจงขับผีให้ออก…” (มัทธิว 10 : 8) ซึ่งหากว่าผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์กระทำสิ่งเหล่านี้ได้ เหตุไฉนบรรดาพระสันตะปาปาจึงยังคงเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องมีหมอคอยถวายการรักษา ในเมื่อว่าพวกเขาได้รับอำนาจในการแสดงปาฏิหาริย์จากพระเยซูคริสต์มาแล้ว! ดังมีถ้อยความปรากฏว่า :

“มีผู้ใดในพวกท่านเจ็บป่วยหรือ จงให้ผู้นั้นเชิญบรรดาผู้ปกครองของคริสตจักรมา และให้ท่านเหล่านั้นอธิษฐานเพื่อเขาและเจิมเขาด้วยน้ำมันในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า และการอธิษฐานด้วยความเชื่อจะช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตและองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงโปรดให้เขาหายโรค…” (ยากอบ 5 : 15)

การแสดงปาฏิหาริย์ (มุอฺญิซาต) ของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (อ.ล.) ทั้งในเรื่องการรักษาคนป่วยให้หาย และการทำให้คนตายฟื้นคืนชีพตลอดจนปาฏิหาริย์อื่นๆ นั้น คัมภีร์อัล-กุรอานได้ย้ำว่านั่นเป็นไปด้วยอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ทรงประทานปาฏิหาริย์เหล่านั้นให้เกิดขึ้นโดยมี อัล-มะสีหฺ อีซา เป็นผู้แสดง มิใช่อำนาจเฉพาะของท่านแต่อย่างใด

ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ก็ระบุเอาไว้เช่นกันว่า :

“พระองค์จึงตรัสสั่งคนง่อยว่า “จงลุกขึ้นยกที่นอนกลับไปบ้านเถิด” เขาจึงลุกขึ้นไปบ้าน เมื่อประชาชนเห็นดังนั้นเขาก็ตระหนกตกใจ แล้วพากันสรรเสริญพระเจ้า ผู้ใดทรงประทานสิทธิอำนาจเช่นนั้นแก่มนุษย์” (มัทธิว 9 : 6-8)

“ฝ่ายคนทั้งปวงมีความกลัวและสรรเสริญพระเจ้าว่า “ท่านผู้เผยพระวจนะใหญ่ได้เกิดขึ้นท่ามกลางเรา และพระเจ้าได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนชนชาติของพระองค์แล้ว”  (ลูกา 7 : 16 ในเหตุการณ์เรียกบุตรแม่ม่ายที่นาอินให้เป็นขึ้นจากความตาย)

แต่คริสตชนถือเอาการแสดงปาฏิหาริย์เหล่านั้นของอัลมะสีหฺ อีซา เป็นเหตุผลว่าท่านคือพระเจ้าหรือเป็นพระบุตรของพระเจ้าที่ได้รับสิทธิ์อำนาจนั้นจากพระบิดาโดยเชื่อว่า ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยฤทธานุภาพของอัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) เอง

ซึ่งการมีความเชื่อเช่นนี้แตกต่างจากความเชื่อของชาวมุสลิมเพราะมุสลิมเชื่อว่าปาฏิหารย์เหล่านั้นเป็นไปด้วยการอนุมัติและฤทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทานให้แก่อัล-มะสีหฺ อีซา เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันถึงความสัจจริงของท่านในการเป็นผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า และจะแสดงปาฏิหาริย์นั้นตามความจำเป็น มิได้แสดงพร่ำเพรื่ออย่างที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ระบุเอาไว้ในทำนองนั้น

คัมภีร์อัล-กุรอานระบุว่า การแสดงปาฏิหาริย์ (มุอฺญิซาตฺ) ของอัลมะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม เป็นไปด้วยอนุมัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยกำกับท้ายประโยคที่ระบุถึง ปาฏิหาริย์เหล่านั้นว่า (بِإِذْنِيْ) “โดยอนุมัติของข้า” เสมอในอายะฮฺที่ 110 จากบท อัล-มาอิดะฮฺ การกำกับท้ายประโยคเหล่านั้นก็เพื่อให้ผู้ศรัทธาไม่หลงประเด็นว่านั้นเป็นอำนาจที่ถูกใช้โดยพละการแต่เป็นไปด้วยอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกระทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นด้วยพระประสงค์และฤทธานุภาพของพระองค์เท่านั้น

คัมภีร์อัล-กุรอานระบุถึงหลักศรัทธาข้อนี้เอาไว้อย่างชัดเจนว่า

وَمَا كَانَ لِرَسُولٍ أَن يَأْتِيَ بِآيَةٍ إِلَّا بِإِذْنِ اللَّـهِ

ความว่า : และไม่ปรากฏว่าศาสนทูตของอัลลอฮฺมีสิทธิอันใดในการนำสัญญาณหนึ่งมาแสดง นอกเสียจากการแสดงสัญญาณนั้นเป็นไปด้วยพระอนุมัติของอัลลอฮฺ” (บท ฆอฟิรฺ อายะฮฺที่ 78)

แต่เมื่ออ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์ ผู้อ่านจะพบเรื่องราวการแสดงปาฏิหาริย์ของเหล่าอัครสาวกผนวกเข้ามาด้วยดังปรากฏในหลายเหตุการณ์ดังนี้

– เปโตรทำให้คนขอทานลุกขึ้นเดินได้เป็นปกติ (กิจการอัครทูต 3 : 5-10)


– อานาเนียกับสัปฟีราล้มลงตายแทบเท้าของเปโตร เมื่อถูกจับได้ว่ายักยอกเงิน (กิจการอัครทูต 5 : 1-11)


– คนป่วยและคนที่มีผีโสโครกเบียดเบียนหายด้วยการทำหมายสำคัญของเปโตร (กิจการอัครทูต 5 : 12-16)


– สเทเฟนประกอบด้วยพระคุณและฤทธิ์เดชกระทำการมหัศจรรย์และทำการเป็นนิมิตใหญ่ท่ามกลางประชาชนภายหลังได้รับคัดเลือกในหมู่คนทั้งเจ็ดคนซึ่งพวกอัครทูตได้อธิษฐานและวางมือบนเขา (กิจการอัครทูต 7: 1-8)


– ฟีลิปก็แสดงหมายสำคัญและกระทำสิ่งอัศจรรย์ด้วยการรักษาคนที่มีผีโสโครกเข้าสิง คนเป็นอัมพาตและคนง่อยให้หายเป็นปกติ (กิจการอัครทูต 8 : 4-7)


– เปโตรรักษาไอเนอัสให้หายจากการเป็นอัมพาตถึงแปดปี (กิจการอัครทูต 9 : 32-34)


– เปโตรอธิษฐานให้โดรคัสฟื้นคืนชีพ (กิจการอัครทูต 9: 36-41)


– ทูตสวรรค์มาหาเปโตรและช่วยเปโตรให้พ้นจากคุก (กิจการอัครทูต 12 : 6-10)


– เปาโลกับสิลาส อธิษฐานในคุกแล้วเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ประตูคุกเปิดหมด เครื่องจำจองก็หลุด (กิจการอัครทูต 16 :19-29)


– พระเจ้าได้ทรงกระทำอิทธิฤทธิ์อันพิสดารด้วยมือของเปาโล เพียงแค่เอาผ้าเช็ดหน้ากับผ้ากันเปื้อนของเปาโลไปวางที่คนป่วยไข้ก็หายและผีร้ายก็ถูกขับออก (กิจการอัครทูต 19 : 11-12) เป็นต้น

การแสดงสิ่งมหัศจรรย์และหมายสำคัญของเหล่าอัครทูตภายหลังพระเยซูคริสต์เสด็จไปแล้วนั้น ดูเหมือนว่าผู้บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นในพระคริสตธรรมคัมภีร์มุ่งหมายให้สิ่งเหล่านั้นเป็นประจักษ์พยานถึงฤทธานุภาพของพระเยซูคริสต์ที่ทรงมอบเอาไว้ให้แก่พวกเขาแต่ทว่าผู้บันทึกกลับไม่ได้ฉุกคิดว่าการบันทึกเรื่องราวในทำนองนี้ได้ทำให้เกิดข้อกังขาหลายประการด้วยกัน

อาทิเช่น ทำให้จำนวนของผู้คนที่ถูกผีสิงและป่วยเป็นโรคมีจำนวนมากขึ้นไปอีกเมื่อนำไปรวมกับจำนวนของผู้ที่ได้รับการรักษาและการแสดงปาฏิหาริย์ของพระเยซูคริสต์จนดูเหมือนว่า ผู้คนในดินแดนปาเลสไตน์ในยามนั้นมีแต่คนถูกผีสิง คนป่วยเป็นโรคร้าย และมีคนตายแล้วฟื้นคืนชีพเป็นจำนวนมากซึ่งน่าจะขัดกับข้อเท็จจริง ตลอดจนเป็นการหักล้างคำอ้างที่ว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้าเพราะมีฤทธานุภาพทำให้คนหายป่วยและฟื้นจากความตาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วบรรดาอัครทูตเหล่านั้นที่ทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ลงมาสถิตกับผู้คนมีความสามารถในการรักษาคนป่วยให้หายและทำให้คนตายฟื้นคืนชีพได้ นั่นก็แสดงว่าอัครทูตเหล่านั้นเป็นพระเจ้าไปด้วยหรือไม่!

ยิ่งไปกว่านั้น พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้ระบุว่า :

“ผู้ใดเชื่อและรับบัพติศมาแล้ว ผู้นั้นจะรอด แต่ผู้ใดไม่เชื่อจะต้องปรับโทษ”

เมื่อมีคนเชื่อที่ไหน หมายสำคัญเหล่านี้จะบังเกิดขึ้นที่นั่น คือเขาจะขับผีออกโดยนามของเรา เขาจะพูดภาษาแปลกๆ เขาจะจับงูได้ ถ้าเขากินยาพิษอย่างใด จะไม่เป็นอันตรายแก่เขา และเขาจะวางมือบนคนไข้ คนป่วย แล้วคนเหล่านั้นจะหายโรค”  (มาระโก 16 : 16-18)

หากเป็นเช่นนั้นจริง หมอและการรักษาพยาบาลก็คงหมดความสำคัญ เพราะคริสตชนที่เชื่อและรับบัพติศมาแล้วย่อมสามารถรักษาผู้คนทั้งหลายที่ป่วยไข้ได้ และการศึกษาภาษาของคนที่พูดภาษาอื่นก็คงไม่จำเป็น การมีล่ามถ่ายทอดภาษาก็คงไร้ความหมาย เพราะเมื่อเชื่อและรับบัพติศมาแล้วก็สามารถพูดภาษาแปลกๆ ของคนชาติอื่นได้

ความเชื่อเช่นนี้เองน่าจะเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำผู้คนในดินแดนแห่งคริสต์ศาสนาในช่วงยุคกลางมีความล้าหลังทางการแพทย์และผู้คนก็เชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ นาๆ มากกว่าที่จะนำพาต่อการปฏิบัติตามพระธรรมบัญญัติและคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ ในที่สุดศาสนาคริสต์ก็กลายเป็นศาสนาที่ผู้คนยอมรับด้วยเหตุของการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ซึ่งสิ่งนี้แหล่ะคือความไม่ฉุกคิดของผู้บันทึกพระคริสตธรรมคัมภีร์ที่ระบุเอาไว้ในหลายเหตุการณ์ว่า เมื่ออัครทูตได้แสดงหมายสำคัญอันน่าอัศจรรย์แล้วผู้คนก็พากันเชื่อและรับแนวทางของผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์นั้นเป็นจำนวนมาก แทนที่จะยอมรับในหลักธรรมคำสอนว่าเป็นสัจธรรมที่เที่ยงแท้เหนือกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งปวง!

คำสอนของพระเยซูคริสต์กับพระธรรมบัญญัติเก่า

คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสอนให้อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (พระเยซูคริสต์) รู้ถึงการเขียน, วิทยญาณ, คัมภีร์เตารอต(ไบเบิ้ลเก่า) และคัมภีร์ อินญีล (ไบเบิ้ลใหม่) ดังปรากฏในบทอัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 110 ทั้งนี้การสอนดังกล่าวผ่านการดลใจ (วิวรณ์) จากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรงและผ่านทูตสวรรค์ญิบรออีล (กาเบรียล) ความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ของอัล-มะสีหฺ อีซาจึงมิใช่ผ่านการเรียนและศึกษาคัมภีร์อย่างพวกบาเรียน ทั้งฟาริสีและพวกสะดูสี ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นหมายสำคัญประการหนึ่งที่ยืนยันความสัจจริงของอัล-มะสีหฺ อีซาในการเผยพระวจนะของพระเป็นเจ้าซึ่งพระองค์ทรงกระทำเช่นนี้กับบรรดาผู้เผยพระวจนะของพระองค์ในอดีต

ในคัมภีร์อัล-กุรอานระบุคำว่า อัล-หิกมะฮฺ (الحكمة) อันหมายถึงความถูกต้องที่ลุ่มลึก ความเข้าใจอันลึกซึ่งต่อถ้อยคำของคัมภีร์ และการประทาน อัล-หิกมะฮฺ (วิทยญาณ) นี้เป็นสิทธิเฉพาะของพระเป็นเจ้าที่พระองค์จะทรงประทานแก่ผู้ที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์ ดังปรากฏในอัล-กุรอานว่า

يُؤْتِي الْحِكْمَةَ مَن يَشَاءُ ۚ وَمَن يُؤْتَ الْحِكْمَةَ فَقَدْ أُوتِيَ خَيْرًا كَثِيرًا ۗ وَمَا يَذَّكَّرُ إِلَّا أُولُو الْأَلْبَابِ

ความว่า “พระองค์จะทรงนำวิทยญาณมายังผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดถูกนำวิทยญาณมายังเขาแน่แท้ผู้นั้นถูกนำมาซึ่งความดีอันมากมาย และจะไม่ระลึก (ถึงเรื่องนี้) นอกเสียจากบรรดาผู้มีปัญญาเท่านั้น” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 269)


คัมภีร์อัล-กุรอานได้กล่าวถึงศาสนทูตดาวูด (ดาวิด) ว่า

وَشَدَدْنَا مُلْكَهُ وَآتَيْنَاهُ الْحِكْمَةَ وَفَصْلَ الْخِطَابِ

ความว่า “และเราได้ทำให้อำนาจของเขา (ดาวูด) เข้มแข็ง และเราได้นำวิทยญาณมายังเขาตลอดจนความรู้ในการชำระคดีความ” (ศ็อด อายะฮฺที่ 20)

และกล่าวถึงบรรดาศาสนทูตผู้เผยพระวจนะทั้งหลายว่า

وَإِذْ أَخَذَ اللَّـهُ مِيثَاقَ النَّبِيِّينَ لَمَا آتَيْتُكُم مِّن كِتَابٍ وَحِكْمَةٍ

ความว่า “และจงรำลึกขณะที่อัลลอฮฺได้ทรงเอาพันธสัญญาของบรรดาผู้เผยพระวจนะว่าแน่นอนสิ่งที่ข้าได้นำมายังพวกเจ้าจากคัมภีร์และวิทยญาณ…” (อาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่ 81)

และกล่าวถึงอัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (อ.ล.) ว่า :

وَلَمَّا جَاءَ عِيسَىٰ بِالْبَيِّنَاتِ قَالَ قَدْ جِئْتُكُم بِالْحِكْمَةِ

ความว่า : “และเมื่ออีซาได้มาพร้อมกับบรรดาหมายที่ชัดแจ้ง อีซาได้กล่าวว่า แน่แท้ฉันมายังพวกท่านพร้อมด้วยวิทยญาณ…” (อัซ-ซุครุฟฺ อายะฮฺที่ 63)

ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ได้ระบุถึงการสั่งสอนของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (อ.ล.) เอาไว้ว่า :

“เมื่อเสด็จมาถึงตำบลบ้านของพระองค์แล้ว ก็สั่งสอนในธรรมศาลาของเขา จนคนทั้งหลายประหลาดใจแล้วพูดกันว่า “คนนี้มีสติปัญญาและฤทธิ์มหัศจรรย์อย่างนี้มาจากไหน” (มัทธิว 13 : 54)

การได้รับวิทยญาณจากพระผู้เป็นเจ้าของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัมนั้นเกิดขึ้นนับแต่ช่วงเยาว์วัยของพระองค์แล้วดังที่อัล-กุรอานได้ระบุเอาไว้ในบท อาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่ 48 ซึ่งศาสนทูตยะหฺยา (ยอห์น) บุตร ซะกะรียา (เศคาริยาห์) ก็ได้รับวิทยญาณจากพระเป็นเจ้านับแต่เยาว์วัยเช่นกัน ดังที่อัล-กุรอานระบุว่า

وَآتَيْنَاهُ الْحُكْمَ صَبِيًّا

ความว่า : “และเราได้นำวิทยญาณ (ความเข้าใจในคัมภีร์เตารอตและการประกอบศาสนกิจ) มายังเขา (ยะหฺยา) นับแต่ที่เขามีสภาพเยาว์วัย” (มัรยัม อายะฮฺที่ 12)

และบรรดาผู้เผยพระวจนะท่านอื่นๆ ต่างก็ได้รับวิทยญาณจากพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน ดังที่อัล-กุรอานได้ระบุเอาไว้ถึง

– อิบรอฮีม(อับราฮัม) บท อัล-อัมบิยาอฺ 51

– ลูฏ (โลฏ) บท อัล-อัมบินาอฺ 74

– ดาวูด (ดาวิด) สุลัยมาน (เสโลมอน) บท อัล-อัมบิยาอฺ 79 เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการได้รับวิทยญาณของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัมนั้นมิใช่สิ่งพิเศษเฉพาะที่เกิดขึ้นแก่ท่านแต่เป็นสิ่งที่บรรดาผู้เผยพระวจนะในอดีตได้รับมาก่อนแล้วเช่นกัน และอัล-มะสีหฺ อีซาก็คือผู้เผยพระวจนะนั่นเอง!

สำหรับสาระธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม นั้นก็อิงกับพระธรรมบัญญัติในคัมภีร์เตารอตหรือพระคริสตธรรมคัมภีร์เก่านั่นเอง เพราะภารกิจของท่านประการหนึ่งก็คือการยืนยันความสัจจริงให้กับพระธรรมของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทานให้แก่มูซา (อ.ล.) หรือโมเสส

คัมภีร์ อัล-กุรอานได้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :

وَقَفَّيْنَا عَلَىٰ آثَارِهِم بِعِيسَى ابْنِ مَرْيَمَ مُصَدِّقًا لِّمَا بَيْنَ يَدَيْهِ مِنَ التَّوْرَاةِ ۖ وَآتَيْنَاهُ الْإِنجِيلَ فِيهِ هُدًى وَنُورٌ وَمُصَدِّقًا لِّمَا بَيْنَ يَدَيْهِ مِنَ التَّوْرَاةِ وَهُدًى وَمَوْعِظَةً لِّلْمُتَّقِينَ

ความว่า : และเราได้ส่งอีซา บุตรมัรยัมให้ติดตามแนวทางของบรรดาผู้เผยพระวจนะโดยยืนยันความสัจจริงของสิ่งที่มีมาก่อนเขาจากคัมภีร์อัต-เตารอต และเราได้นำ อัล-อินญีลมายังเขา ในนั้นมีทางนำ แสงสว่าง และยืนยันความสัจจริงของสิ่งที่มีมาก่อนเขาจากคัมภีร์ อัต-เตารอต เป็นทางนำ และข้อเตือนใจสำหรับบรรดาผู้ยำเกรงพระเจ้า” (อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 46)

คัมภีร์อัล-กุรอานได้ประกาศอย่างชัดเจนถึงสถานภาพของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (อ.ล.) ว่าท่านคือผู้เผยพระวจนะที่เดินตามรอยและมรรคาของเหล่าผู้เผยพระวจนะในอดีต ภารกิจของท่านคือการยืนยันความสัจจริงในคัมภีร์อัต-เตารอต และในขณะเดียวกัน อัล-มะสีหฺ อีซา ก็ได้รับคัมภีร์ อัล-อินญีล อีกด้วย

แต่ทว่า คัมภีร์อัต-เตารอต และอัล-อินญีล ที่ถูกประทานให้แก่มูซาและอัล-มะสีหฺอีซา ตามลำดับนั้นหาใช่พระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งเก่าและใหม่ไม่ เพราะคัมภีร์ทั้งสองนี้ถูกบิดเบือน เปลี่ยนแปลงและถูกเขียนขึ้นโดยมนุษย์ กระนั้นข้อความอันเป็นสัจธรรมในคัมภีร์ทั้งสองเล่มที่ปรากฏอยู่ในหมู่ชาวยิวและชาวคริสต์นั้นยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้างสำหรับการสืบค้นถึงความจริง โดยเฉพาะข้อความที่สอดคล้องกับคัมภีร์อัล-กุรอานตลอดจนเรื่องคำสอนทางศีลธรรมและความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ซึ่งเราพอจะสรุปคำสอนเหล่านี้ได้ดังต่อไปนี้

คำสอนเรื่องพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว

คัมภีร์ อัล-กุรอานระบุถึงคำสอนของอัล-มะสีหฺ อีซา ในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า :

وَجِئْتُكُم بِآيَةٍ مِّن رَّبِّكُمْ فَاتَّقُوا اللَّـهَ وَأَطِيعُونِ ﴿٥٠

إِنَّ اللَّـهَ رَبِّي وَرَبُّكُمْ فَاعْبُدُوهُ ۗ هَـٰذَا صِرَاطٌ مُّسْتَقِيمٌ ﴿٥١

ความว่า : “และฉันได้มายังพวกท่านพร้อมดัวยสัญญาณหนึ่งจากพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ฉะนั้น พวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺและเชื่อฟังฉัน แท้จริงอัลลอฮฺคือพระผู้อภิบาลของฉันและพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ฉะนั้น จงเคาระสักการะต่อพระองค์ นี่คือมรรคาที่เที่ยงตรง” (อาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่ 50-51)

ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ก็ระบุถึงคำสอนนี้โดยใช้สำนวนโวหารเรียกพระผู้เป็นเจ้าว่าเป็น พระบิดา ซึ่งมิได้มุ่งหมายนัยตามตัวอักษร ดังที่เราได้กล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้วในบทความก่อนหน้า

“ข้าแต่พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคาระสักการะ” (มัทธิว 6: 9)

“จงรักพระองค์พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้า และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า (มัทธิว 22 : 37)

“และอย่าเรียกผู้ใดในโลกว่าเป็นบิดาเพราะท่านมีพระบิดาแต่ผู้เดียว คือผู้ทรงสถิตในสวรรค์” (มัทธิว 23 : 9) เป็นต้น

คำสอนเรื่องคุณลักษณะ (ศิฟะฮฺ) ของพระผู้เป็นเจ้า

พระผู้เป็นเจ้าทรงมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ไม่มีข้อบกพร่อง ไม่มีมลทินใดๆ พระองค์ทรงรู้ถึงสรรพสิ่งต่างๆ และทรงมีฤทธานุภาพเหนือทุกสิ่ง ในคัมภีร์อัล-กุรอานได้สาธยายถึงคุณลักษณะต่างๆ ของพระองค์เอาไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถย้อนกลับไปศึกษาถึงเรื่องนี้ได้ทุกเมื่อ และเราคงไม่มีความจำเป็นในการหยิบยกหลักฐานจากอัล-กุรอานมากล่าวถึงในเรื่องนี้แต่อย่างใด ในส่วนของพระคริสตธรรมคัมภีร์นั้น มีหลายข้อความที่ระบุถึงคุณลักษณะอันสมบูรณ์ของพระองค์

อาทิเช่น

“แต่วันนั้น โมงนั้น ไม่มีใครรูถึง บรรดาทูตสวรรค์หรือพระบุตรก็ไม่รู้ รู้แต่พระบิดาองค์เดียว” (มัทธิว 24 : 36)


“ฝ่ายมนุษย์ก็เหลือกำลังที่จะทำได้ แต่ไม่เหลือกำลังของพระเจ้าเพราะว่าพระเจ้าทรงกระทำให้สำเร็จได้ทุกสิ่ง” (มาระโก 10 : 27)


“เพราะว่าไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งพระเจ้าทรงกระทำไม่ได้” (ลูกา 1 : 37)


“….พระนามของพระองค์ก็บริสุทธิ์ พระกรุณาของพระองค์มีแก่บรรดาผู้ยำเกรง พระองค์ทุกชั่วอายุสืบไป พระองค์ทรงสำแดงฤทธิ์ด้วยพระกรของพระองค์ พระองค์ทรงกระทำให้คนที่ใจเย่อหยิ่ง แตกฉานซ่านเซ็นไป พระองค์ทรงถอดเจ้านายจากพระที่นั่ง และพระองค์ทรงยกผู้น้อยขึ้น พระองค์ทรงโปรดให้คนอดอยากอิ่มด้วยสิ่งดีและทรงกระทำให้คนมั่งมีไปมือเปล่า…” (ลูกา 1 : 49-53)


“ไม่มีใครประเสริฐ เว้นแต่พระเจ้าองค์เดียว” (ลูกา 18 : 19)


“คำสอนของเราไม่ใช่ของเราเอง แต่เป็นของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา” (ยอห์น 7 : 16)


“แต่พระองค์ทรงใช้เรามานั้น ทรงเป็นสัตย์จริง และสิ่งที่เราได้ยินจากพระองค์ เรากล่าวแก่โลก” (ยอห์น 8 : 26)


“ถึงผมของท่านทั้งหลาย ก็ทรงนับไว้แล้วทุกเส้น” (มัทธิว 10 : 30)


“ท่านทั้งหลายจงมีความเมตตากรุณาเหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา” (ลูกา 6 : 36)

คำสอนของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัมว่าด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมบัญญัติของพระเจ้า

คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุว่า ภารกิจของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (อ.ล.) คือการยืนยันถึงความสัจจริงของคัมภีร์เตารอต ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานมาให้แก่ศาสนทูต มูซา (โมเสส) โดยพระองค์ได้สอนให้อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) รู้ถึงพระธรรมบัญญัติในคัมภีร์เตารอตที่แท้จริงโดยการดลใจ (วิวรณ์) มิใช้ด้วยการศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์อย่างพวกฟาริสีและสะดูสีหรือพวกปุโรหิตชาวยิว

ดังปรากฏในอัล-กุรอานว่า

وَمُصَدِّقًا لِّمَا بَيْنَ يَدَيَّ مِنَ التَّوْرَاةِ وَلِأُحِلَّ لَكُم بَعْضَ الَّذِي حُرِّمَ عَلَيْكُمْ

ความว่า : “และยืนยันความสัจจริงให้แก้คัมภีร์เตารอตที่มีมาก่อนฉัน และเพื่อที่ฉันจะได้อนุมัติบางส่วนของสิ่งที่ถูกบัญญัติเหนือพวกท่านให้แก่พวกท่าน” (อาลิ อิมรอน อายะฮฺที่ 50)

หมายความว่า อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) ได้มายังวงศ์วานอิสราเอลในฐานะผู้ยืนยันความสัจจริงของคัมภีร์เตารอตที่มีมาก่อนแล้ว มิใช่มายกเลิกคัมภีร์เตารอตหรือกระทำสิ่งที่ขัดแย้งกับคำสอนและหลักบัญญัติของคัมภีร์เตารอต ยกเว้นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงผ่อนปรนเอาไว้ในคัมภีร์ อัล-อินญีล จากสิ่งที่เคยถูกบัญญัติอย่างเข้มงวดเหนือวงศ์วานอิสราเอล เช่น การรับประทานเนื้อปลา เนื้ออูฐ ไขมันสัตว์ และการทำงานในวันเสาร์ (สะบาโต) เป็นต้น

สิ่งข้างต้นนี้สอดคล้องกับข้อความที่มีบันทึกไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ดังนี้

“อย่าคิดว่าเรามาเลิกล้างธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะ เรามิได้มาเลิกล้าง แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินดำรงอยู่ แม้อักษรหนึ่งหรือขีดๆ หนึ่งก็จะไม่สูญไปจากธรรมบัญญัติ จนกว่าสิ่งที่จะต้องเกิด ได้เกิดขึ้นแล้ว เหตุฉะนั้น ผู้ใดได้ทำให้ข้อเล็กน้อยสักข้อหนึ่งในธรรมบัญญัตินี้เบาขึ้น ทั้งสอนให้คนอื่นทำอย่างนั้นด้วย ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้น้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ใดประพฤติและสอนตามธรรมบัญญัติ ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินสวรรค์”  (มัทธิว 5 : 17-19)


“จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจของท่านทั้งหลายจะได้พัก ด้วยแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา”  (มัทธิว 11 : 29-30)


“เพราะว่าบุตรมนุษย์เป็นเจ้าเป็นใหญ่เหนือวันสะบาโต”  (มัทธิว 12 : 8)


“โมเสสได้ยอมให้ท่านทั้งหลายหย่าภรรยาของตนเพราะใจท่านทั้งหลายแข็งกระด้าง แต่เมื่อเดิมมิได้เป็นอย่างนั้น” (มัทธิว 19 : 8)


“เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งซึ่งเขา (พวกธรรมจารย์และพวกฟาริสี) สั่งสอนพวกท่าน จงถือประพฤติตามเว้นแต่การประพฤติของเขาอย่าได้ทำตามเลย เพราะเขาเป็นแต่ผู้สั่งสอน แต่เขาเองหาทำตามไม่” (มัทธิว 23 : 3)

อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (อ.ล.) ได้กำชับให้ผู้ที่เชื่อในการแสดงปาฏิหาริย์ของท่านด้วยการปฏิบัติตามสิ่งที่ศาสนทูตมูซา (อ.ล.) หรือ โมเสส กำหนดเป็นบัญญัติเอาไว้ดังเช่นในกรณีของคนโรคเรื้อนที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้บันทึกว่า :

“พระองค์จึงกำชับเขาไม่ให้บอกผู้ใด และตรัสว่า : “แต่จงไปสำแดงแก่ปุโรหิตและถวายเครื่องบูชาสำหรับคนที่หายโรคเรื้อนแล้ว ตามซึ่งโมเสสได้สั่งไว้ เพื่อเป็นหลักฐานต่อคนทั้งหลายว่าเจ้าหายโรคแล้ว” (ลูกา 5 : 14)

นอกจากนี้ อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (อ.ล.) ยังได้กำชับเศรษฐีหนุ่มคนหนึ่งให้รักษาพระบัญญัติไว้เพื่อได้ชีวิตนิรันดร์ ดังปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ว่า :

“ดูเถิด มีคนหนึ่งมาทูลพระองค์ว่า “ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำดีประการใดจึงจะได้ชีวิตนิรันดร์”

พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “ท่านถามเราถึงสิ่งที่ดีทำไม ผู้ที่ดีมีแต่ผู้เดียว แต่ถ้าท่านปรารถนาจะเข้าใจชีวิต ก็ให้ถือรักษาพระบัญญัติไว้” คนนั้นทูลถามว่า “คือพระบัญญัติข้อใดบ้าง” พระเยซูตรัสว่า : คือข้อที่ว่า “อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา อย่าลักทรัพย์ อย่าเป็นพยานเท็จจงให้เกียรติแก่บิดามารดาของตน และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”  (มัทธิว 19 : 16-19)

อย่างไรก็ตาม คำสอนของอัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) ก็มีความแตกต่างในรายละเอียดของพระธรรมบัญญัติเดิมของโมเสส (ศาสนทูตมูซา) ในหลายประเด็นดังนี้

– พระธรรมบัญญัติของโมเสสห้ามฆ่าคน แต่พระเยซูคริสต์สอนไปมากกว่านั้นว่า

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ถ้าผู้ใดฆ่าคน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ

เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดโกรธพี่น้องของตน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ ถ้าผู้ใดจะพูดกับพี่น้องว่า “อ้าย โง่” ผู้นั้นต้องถูกนำไปที่ศาลสูงให้พิพากษาลงโทษ และผู้ใดจะว่า “อ้าย บ้า” ผู้นั้นจะมีโทษถึงไฟนรก” (มัทธิว 5 : 21-22)

– พระธรรมบัญญัติของโมเสสห้ามล่วงประเวณีผัวเมียเขา แต่พระเยซูคริสต์ห้ามยิ่งกว่านั้นว่า :

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดมองหญิงเพื่อให้เกิดกำหนัดในหญิงนั้น ผู้นั้นได้ล่วงประเวณีในใจกับหญิงนั้นแล้ว” (มัทธิว 5 : 27-28)

– ธรรมบัญญัติของโมเสสอนุญาตให้หย่าร้างได้ แต่พระเยซูคริสต์ได้นำชีวิตสมรสกลับสู่ความบริสุทธิ์เดิมและยกเลิกการหย่าร้างซึ่งโมเสสมิได้อนุญาตนอกจากเป็นเพราะความหยาบกระด้างของหัวใจที่เกิดขึ้นในหมู่วงศ์วานอิสราเอล

“ยังมีคำกล่าวไว้ว่า ถ้าผู้ใดจะหย่าภรรยา ก็ให้ทำหนังสือหย่าให้แก่ภรรยานั้น ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า : ถ้าผู้ใดจะหย่าภรรยาเพราะเหตุอื่น นอกจากการเล่นชู้ ก็เท่ากับว่าผู้นั้นทำให้หญิงนั้นผิดศีลล่วงประเวณี และถ้าผู้ใดจะรับหญิงซึ่งหย่าแล้วเช่นกันนั้นมาเป็นภรรยา ผู้นั้นก็ผิดศีลล่วงประเวณีด้วย” (มัทธิว 5 : 31-32)

– ธรรมบัญญัติของโมเสสห้ามการเสียคำสบถสาบานต่อพระเจ้า ส่วนพระเยซูคริสต์นั้นทรงห้ามการสบถสาบานทุกรูปแบบ

“อีกประการหนึ่งท่านทั้งหลายได้ยินคำ ซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า อย่าเสียคำสัตย์สาบาน คำสัตย์สาบานที่ได้ถวายต่อองค์พระเป็นเจ้านั้น ต้องรักษาไว้ให้มั่น

ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย โดยอ้างถึงสวรรค์ก็อย่าสาบาน เพราะสวรรค์เป็นที่ประทับของพระเจ้า หรือโดยอ้างถึงแผ่นดินโลกก็อย่าสาบาน เพราะแผ่นดินโลกเป็นที่รองพระบาทของพระเจ้า หรือโดยอ้างถึงกรุงเยรูซาเล็มก็อย่าสาบานเพราะกรุงเยรูซาเล็มเป็นราชธานีของพระมหากษัตริย์

อย่าสาบานโดยอ้างถึงศีรษะของตน เพราะท่าน จะกระทำให้ผมขาวหรือดำไปสักเส้นหนึ่งก็ไม่ได้ จริงก็จงว่าจริง ไม่ก็ว่าไม่ พูดแต่เพียงนี้ก็พอ คำพูดเกินจากนี้ไปมาจากความชั่ว” (มัทธิว 5 : 33-37)

– ธรรมบัญญัติของโมเสสมีความผ่อนปรนและยอมรับในเรื่องการตอบแทน แต่พระเยซูคริสต์มีทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า ตาแทนตา และฟันแทนฟัน ฝ่ายเราบอกท่านว่า อย่าต่อสู้คนชั่ว ถ้าผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน ก็จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย” (มัทธิว 5 : 38-39)

– ธรรมบัญญัติของโมเสสว่าให้รักคนสนิทและเกลียดชังศัตรู แต่พระเยซูคริสต์สอนว่า :

“ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า “จงรักคนสนิทและเกลียดชังศัตรู” ฝ่ายเราบอกท่านว่า จงรักศัตรูของท่านและจงอธิษฐานชวนเพื่อนที่ข่มเหงท่าน” (มัทธิว 5 : 43-44)

ดูเหมือนว่าคำสอนประการสุดท้ายและประการก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่คริสตชนละเลยและไม่ถือปฏิบัติตามที่พระเยซูคริสต์สอนไว้เพราะสงครามครูเสดก็ดี สงครามโลกก็ดี ตลอดจนการล่าอาณานิคมพร้อมกับคณะมิชชันนารีของกลุ่มประเทศคริสตชนที่ได้กระทำกับคนนอกศาสนาเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้อย่างมิอาจปฏิเสธได้เลยว่าคริสตชนเหล่านั้นปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูคริสต์หรือไม่?

คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุถึงการหลงลืมพันธสัญญาที่ไว้กับพระผู้เป็นเจ้าและสิ่งที่พระเยซูคริสต์ได้เตือนให้ชาวคริสต์รำลึกไว้ในคำสอนของพระองค์ว่า :

وَمِنَ الَّذِينَ قَالُوا إِنَّا نَصَارَىٰ أَخَذْنَا مِيثَاقَهُمْ فَنَسُوا حَظًّا مِّمَّا ذُكِّرُوا بِهِ فَأَغْرَيْنَا بَيْنَهُمُ الْعَدَاوَةَ وَالْبَغْضَاءَ إِلَىٰ يَوْمِ الْقِيَامَةِ

ความว่า : “และจากบรรดาผู้ที่กล่าวว่า แท้จริงเราคือนะศอรอ (คริสตชน) เราได้เอาพันธสัญญาของพวกเขา แล้วพวกเขาก็หลงลืมส่วนหนึ่งจากสิ่งที่พวกเขาเคยถูกเตือนให้ระลึกถึงสิ่งนั้น ดังนั้นเราจึงปลุกปั่นให้มีความเป็นศัตรูและความขุ่นเคืองระหว่างพวกเขาจวบจนวันอวสาน” (อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 14)

ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ก็ระบุถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า :

“คราวนั้นคนเป็นอันมากจะถดถอยไป และอายัดกันและกัน ทั้งจะเกลียดชังซึ่งกันและกันด้วย” (มัทธิว 24 : 10)

การอ้างถึงผู้เผยพระวจนะในอดีตดังที่ปรากฏในคำสอนของพระเยซูคริสต์

สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความเป็นผู้เผยพระวจนะของพระเยซูคริสต์ (อัล-มะสีหฺ อีซา) คือการอ้างถึงบรรดาผู้เผยพระวจนะในอดีตเพื่อประกอบคำอธิบายในเรื่องต่างๆ ที่อาจจะมีผู้ถามถึง เช่น พวกธรรมาจารย์ พวกฟาริสี และพวกสะดูสี เป็นต้น ตลอดจนการอ้างในเชิงเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นถึงสาระธรรมที่สั่งสอนแก่ผู้คนในเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งการอ้างเช่นนี้บ่งบอกถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อธรรมบัญญัติเดิมซึ่งเป็นวิทยญาณที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่อัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) โดยตรง

อีกทั้งยังบ่งชี้ว่า อัล-มะสีหฺ อีซา มีสถานภาพและดำเนินตามวิถีทางของบรรดาผู้เผยพระวจนะที่มีมาก่อน ทั้งนี้บรรดาผู้เผยพระวจนะของพระเจ้านั้นถือในมรรคาเดียวกัน และมีความเป็นพี่น้องกันในการประกาศสาส์น ของพระผู้เป็นเจ้า คัมภีร์อัล-กุรอาน ได้ยืนยันถึงข้อเท็จจริงนี้ว่า :

وَأَوْحَيْنَا إِلَىٰ إِبْرَاهِيمَ وَإِسْمَاعِيلَ وَإِسْحَاقَ وَيَعْقُوبَ وَالْأَسْبَاطِ وَعِيسَىٰ وَأَيُّوبَ وَيُونُسَ وَهَارُونَ وَسُلَيْمَانَ

ความว่า : “และเราได้มีวะฮฺยุ (การดลใจ) ไปยังอิบรอฮีม (อับราฮัม) อิสมาอีล (อิชมาเอล) อิสหาก (อิสอัค) ยะอฺกู๊บ (ยอกอบ) และบรรดาลูกหลานของยะอฺกู๊บ ตลอดจน อีซา (พระเยซูคริสต์) อัยยูบ (โยบ) ยูนุส (โยน่าห์) ฮารูน (อารอน) และสุลัยมาน (ซาโลมอน)” (อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 163)

ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องแปลก ที่เราจะพบว่าในคำสอนของอัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) มีการอ้างถึงบรรดาผู้เผยพระวจนะในอดีตประกอบคำสอนของพระองค์ด้วยดังปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์เป็นตัวอย่างดังนี้ว่า :

“คนชาติชั่วและคิดทรยศต่อพระเจ้าแสวงหาหมายสำคัญ และจะไม่ทรงโปรดให้หมายสำคัญแก่เขา เว้นไว้แต่หมายสำคัญของโยนาห์ผู้เผยพระวจนะ” (มัทธิว 12 : 39)

โยนาห์ผู้เผยพระวจนะในคำสอนนี้หมายถึง นบียูนุส (อ.ล.) ผู้เป็นบุตร มัดธาย ซึ่งเผยพระวจนะในเมืองนีนะเวห์ ท่านมีฉายานามว่า ซุนนูน (เจ้าของปลาใหญ่) เพราะเหตุที่ท่านอยู่ในท้องปลาวาฬนั่นเอง ในคัมภีร์อัล-กุรอานมีบทหนึ่งชื่อว่า บทยูนุส และกล่าวถึงชาว นีนะเวห์ซึ่งเป็นกลุ่มชนของนบียูนุส (อ.ล.) ไว้ในอายะฮิที่ 98 และในบทอัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 163 ก็ออกชื่อท่านไว้พร้อมกับชื่อของบรรดาผู้เผยพระวจนะท่านอื่นๆ รวมถึง อัล-มะสีหฺอีซา บุตร มัรยัมด้วย ในบท อัล-อันอาม อายะฮฺที่ 86 และในบท อัศ-ศอฟาต อายะฮฺที่ 139-148 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของท่านอย่างกระชับและครอบคลุม

“นางกษัตริย์ฝ่ายทิศใต้จะลุกขึ้นในวันพิพากษาพร้อมกับคนยุคนี้ และจะเป็นตัวอย่างในคนยุคนี้ได้รับโทษ ด้วยว่าพระนางนั้นได้มาจากสุดปลายแผ่นดินโลก เพื่อจะฟังสติปัญญาของซาโลมอน…” (มัทธิว 12 : 42)

นางกษัตริย์ฝ่ายทิศใต้ที่ถูกกล่าวถึงนี้คือ ราชินีแห่งสะบะอฺ ในยะมัน (เยเมน) โบราณ พระนางอยู่ร่วมสมัยกับนบีสุลัยมาน (อ.ล.) หรือกษัตริย์ซาโลมอน เรื่องราวของบุคคลทั้งสองถูกระบุไว้ในคัมภีร์ อัล-กุรอาน บท อันนัมลุ อายะฮฺที่15-44 ซึ่งมีเรื่องราวที่ชัดเจน กินใจ และครอบคลุมเนื้อหาสำคัญ เมืองสะบะอฺที่พระนางปกครองก็เป็นชื่อเรียก บทหนึ่งในคัมภีร์ อัล-กุรอาน คือ บทสะบะอฺ ในอายะฮฺที่ 15-18 ระบุเรื่องราวของผู้คนในเมือง สะบะอฺ นี้เอาไว้

ส่วนนบีสุลัยมาน (อ.ล.) นั้นถูกออกชื่อเอาไว้พร้อมกับเรื่องราวของท่านถึง 17 ครั้ง ในบทต่างๆ ของคัมภีร์ อัล-กุรอาน และรายละเอียดที่ปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอานเกี่ยวกับสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่นบีสุลัยมาน (อ.ล.) หรือ ซาโลมอนนั้นไม่ปรากฏมีในพระคริสตธรรมคัมภีร์เก่า อาทิเช่น การเข้าใจภาษาของนกและฝูงมด การบังคับและควบคุมหมู่ญิน ตลอดจนการความคุมสายลมเพื่อสนับสนุนอำนาจของท่าน เป็นต้น

นอกจากนี้พระเยซูคริสต์ยังได้กล่าวถึง เอลียาหฺ (นบีอิลยาส) (มัทธิว 17 : 11) โมเสส (มูซา) (มัทธิว 19 :7-8) ยอห์น (ยะหฺยา) (มัทธิว 21 : 25-32) อับราฮัม (อิบรอฮีม) อิสหาก (อิสอัค) และยาโคบ (ยะอฺกู๊บ) (มัทธิว 22 : 32) ดาวิด (ดาวูด) (มัทธิว 22 : 42) เศคาริยาห์ (ซะกะรียา) (ลูกา 11 : 51) โนอาหฺ (นูหฺ) (มัทธิว 24 : 37-38) เป็นต้น

เหตุที่ท่านกล่าวถึงบรรดาผู้เผยพระวจนะเหล่านั้นก็เพื่อยืนยันแก่ชาวอิสราเอลในสมัยของท่านว่า ท่านคือผู้เผยพระวจนะซึ่งมีกิจจานุกิจเช่นเดียวกับพวกเขาหล่านั้น ท่านนบี มุฮัมมัด กล่าวว่า :

اَلْأَنْبِيَاءُ إِخْوَةٌ مِنْ عَلَّاتٍ ، أُمَّهَا تُهُمْ شَتّٰى ، وَدِيْنُهُمْ وَاحِدٌ

ความว่า : “บรรดาผู้เผยพระวจนะนั้นคือบรรดาพี่น้องที่ร่วมบิดาเดียวกัน มารดาของพวกเขาหลายหลาย และศาสนาของพวกเขาหนึ่งเดียว”  (รายงานโดย อัล-บุคอรียฺและมุสลิม)

หมายความว่า รากฐานแห่งศาสนาของเหล่าผู้เผยพระวจนะนั้นเป็นหนึ่งคือ การเชื่อในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า ถึงแม้ว่าข้อปลีกย่อยในธรรมบัญญัติของพวกเขาจะแตกต่างกันก็ตาม (ฟัตหุลบารียฺ 6/489)