อรัมภบทแห่งอิสลามและวิถีทาง

ลักษณะแห่งการพิชิตของอิสลาม

ปูมบันทึกการพิชิตแห่งอิสลามคลาคล่ำไปด้วยรายนามของเหล่าผู้พิชิตนามอุโฆษ บุรุษแรกและผู้พิชิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในฐานะผู้ประกาศสาส์นแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งหัวใจของผู้คนที่ห้อมล้อมท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในนครมักกะห์นั้นต่างก็พันธนาการตัวเองโดยมิยอมเปิดรับสาส์นนั้น

แต่ทว่าท่านก็เรียกร้อง ชี้นำอยู่ตลอดช่วงอายุขัยของท่านจนกระทั่งหัวใจเหล่านั้นได้ปลดแอกพันธนาการนั้น รัศมีแห่งทางนำก็ซึมซับเข้าสู่หัวใจของเหล่าผู้คนที่อยู่ร่วมสมัยกับท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเจิดจรัสด้วยแสงสว่างแห่งอิสลามผสมผสานกลมกลืนด้วยความงดงามแห่งอิสลาม 

และแล้วหัวใจหลายร้อยหลายพันจนเป็นเรือนแสนก็สูงส่งขึ้น มีความบริสุทธิ์ ผ่องใส ปราศจากอวิชาแห่งผู้โง่เขลา และกลุ่มผู้คนดังกล่าวซึ่งมีความแข็งแกร่งและมั่นคงในศรัทธาก็รวมตัวกันห้อมล้อมท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ณ นครม่าดีนะฮฺ ผู้คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นบุรุษและสตรีเพศที่รัศมีแห่งอิสลามและจริยวัตรอันงดงามของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เปลี่ยนแปลงและฉุดพวกเขาจากความจมปลักในอวิชาและการตั้งภาคีสู่ทางนำแห่งอิสลามและการศรัทธา

พวกเขาได้ปฏิบัติตามท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ทุกย่างก้าว ดำเนินชีวิตเฉกเช่นที่ท่านได้ใช้ชีวิตท่ามกลางพวกเขา เมื่อท่านกลับไปสู่องค์พระผู้เป็นเจ้าเหล่าผู้คนที่ได้รับการหล่อหลอมจากเบ้าหลอมแห่งท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เหล่านี้ก็ยังคงดำเนินตามวิถีทางของท่านและได้เริ่มจากรากฐานอันมั่นคงที่ท่านได้สถาปนาไว้ นั่นคือ คาบสมุทรอาหรับที่มีความเป็นปึกแผ่น และพวกเขาก็ได้สร้างจุดศูนย์กลางแห่งโลกอิสลามที่มีความกว้างไกลและรุ่งโรจน์

กฎเกณฑ์ซึ่งที่ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ดำเนินในการเผยแผ่คำเรียกร้องนั้นคือกฎเกณฑ์ที่พระคัมภีร์อัลกุรอานได้วางเอาไว้ในอายะฮฺที่ 125 จากบทอันนะฮ์ลฺ ซึ่งเป็นบทที่ 10 แห่งอัลกุรอาน ว่า

أدع إلى سبيل ربك بالحكمة والموعظة الحسنة وجادلهم بالتى هى أحسن  إن ربك هوأعلم بمن ضل عن سبيله وهوأعلم بالمهتدين

“มุฮัมมัด ท่านจงเรียกร้องสู่วิถีทางแห่งองค์พระผู้อภิบาลของท่านด้วยวิทยปัญญาและอนุสติเตือนใจที่งดงาม และจงถกกับพวกเขาเหล่านั้นด้วยสิ่งที่ดีกว่า แท้จริงพระผู้อภิบาลของท่านนั้นพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบุคคลที่หลงออกจากวิถีทางของพระองค์และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงเหล่าบุคคลที่ได้รับทางนำ”

อิสลามคือความโปรดปรานจากองค์พระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อมวลบ่าวของพระองค์ และเป็นความโปรดปรานที่ไม่แบ่งชนชั้นผู้คนและผู้ที่สมควรที่จะได้รับความโปรดปรานนั้นมีเพียงผู้มีสิทธิสมควรเท่านั้น จากจุดนี้การเรียกร้องสู่อิสลามนั้นย่อมเป็นไปด้วยวิทยปัญญาและเหตุผลที่ลุ่มลึกเท่านั้น นั่นหมายถึงเรียกร้องด้วยวิถีทางที่ดีที่สุด ลุ่มลึกที่สุดในการซึมซับเข้าสู่หัวใจทั้งหลาย

ถัดมาก็คือข้อคิดหรืออนุสติอันงดงามและการถกเถียงที่นิ่มนวล คราใดที่มนุษย์ได้ยอมรับต่อวิถีทางเช่นนี้เขาย่อมได้รับความโปรดปรานแห่งอิสลามนั้น เพราะแท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงรู้ดียิ่งถึงบุคคลที่ความหลงผิดนั้นได้ถูกลิขิตไว้แก่ผู้นั้นและพระองค์จะไม่ทรงชี้นำทางนอกจากเมื่อพระองค์ทรงมีพระประสงค์และพระองค์ทรงทราบดียิ่งถึงเหล่าผู้ได้รับทางนำซึ่งหัวใจของพวกเขาเปิดรับและพร้อมที่จะเข้าสู่ทางนำนั้นโดยสมัครใจ

ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่เราพูดถึงเรื่องการสงครามในประวัติศาสตร์อิสลามยุคแรกนั้นเราจะไม่พูดถึงการสงครามตามความหมายทั่ว ๆ ไปของสงคราม ทั้งนี้เพราะมุสลิมไม่ได้ทำสงครามกับชนชาติใดเพื่อบังคับให้รับอิสลาม มุสลิมเพียงแต่ทำการเปิดดินแดนนั้น ๆ เท่านั้น อันเป็นการปฏิบัติตามเจตนารมณ์แห่งพระดำรัสที่ว่า

إذاجاءنصرالله والفتح ورأيت الناس يدخلون فى دين الله أفواجا  فسبح بحمد ربك واستغفر إنه كان توابا ، سورة الفتح

(เมื่อการช่วยเหลือของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และการพิชิตได้มาแล้วและท่านได้เห็นผู้คนทั้งหลายเข้าสู่ศาสนาของพระองค์เป็นกลุ่มคณะ ดังนั้นท่านจงสดุดีพระบพิธคุณด้วยการสรรเสริญพระผู้อภิบาลของท่านและจงขอลุแก่โทษต่อพระองค์ แท้จริงพระองค์ทรงรับการกลับเนื้อกลับตัวยิ่ง)

บทอัล-ฟัตหฺ ณ จุดนี้ บรรดาอายะฮฺเหล่านี้ได้กล่าวถึงชัยชนะอันเป็นการช่วยเหลือของผู้เป็นเจ้าเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจึงกล่าวถึงการพิชิตและชัยชนะที่มีต่อพลังทั้งหลายซึ่งเป็นอุปสรรคขวางกั้นการบรรลุของอิสลามถึงผู้คน ต่อมาก็คือการเปิดหัวใจทั้งหลายเพื่อรับความโปรดปรานและความผาสุกแห่งอิสลาม ในการศึกทุกครั้งของท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และการสงครามซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงระหว่างศตวรรษแรกนั้น มุสลิมมิได้สู้รบกับกลุ่มชนใดหรือชนชาติใดเลย หากแต่ว่ามุสลิมได้รณรงค์ศึกกับพลังทั้งหลายซึ่งเป็นอุปสรรคขวางกั้นการบรรลุสู่ผู้คนของอิสลาม ท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และเหล่าสาวกที่อยู่พร้อมกับท่านได้ต่อสู้กับเหล่าผู้นำที่ปฏิเสธในนครมักกะฮฺ

แต่ทว่าท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) หาได้สู้รบกับประชาชนชาวมักกะฮฺไม่ และในขณะที่บรรดาผู้นำของชาวมักกะฮฺได้ยอมแพ้ กองทัพของอิสลามก็ยาตราทัพเข้าสู่นครมักกะฮฺโดยไม่มีการสู้รบฆ่าฟันประชาชนและในขณะที่ผู้ป่าวประกาศแห่งอิสลามได้ป่าวประกาศว่า ผู้ใดเข้าสู่ดินแดนต้องห้ามหรือมัสยิดอัลหะรอมผู้นั้นปลอดภัยผู้ใดเข้าสู่เคหะสถานของตน ผู้นั้นปลอดภัยและผู้ใดเข้าสู่บ้านของอบีซุฟยาน ผู้นั้นปลอดภัย ก็ไม่มีผู้ใดเรียกร้องให้เข้ารับอิสลามแต่ท่าน กลับกล่าวแก่ชาวมักกะฮฺว่า : พวกท่านจงไปเถิด พวกท่านนั้นเป็นไทแก่ตัว (ได้รับการนิรโทษกรรม) เมื่อนั้นเองหัวใจของบุคคลที่ยังคงอยู่ในการตั้งภาคีก็เปิดรับต่ออิสลามและเข้ารับอิสลามในที่สุด

เหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นทุกแว่นแคว้นที่ชาวอาหรับมุสลิมสามารถพิชิตได้ การทำสงครามจึงเป็นการต่อสู้กับเหล่าผู้นำที่มีอำนาจและเป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้พี่น้องของเหล่าผู้นำเหล่านั้นเข้ารับอิสลาม ดังนั้นคราใดที่ได้รับชัยชนะเหนือผู้มีอำนาจเหล่านี้การเปิดรับก็ตามมาดังเช่นที่อายะฮฺอัลกุรอานได้ระบุถึง

การพิชิตในยุคค่อลีฟะฮฺอัรรอชีดูน (ผู้ทรงธรรม) ทั้ง 4 และในยุคต่อมาก็มิเคยเป็นสงครามที่รุกรานต่อประชาชนพลเมืองในดินแดนเหล่านั้นเลย อันที่จริงเป็นการต่อสู้กับผู้เป็นศัตรูของพลเมืองต่างหาก ชาวอาหรับหาได้ทำสงครามต่อตีกับพลเมืองในแคว้นชามหรืออียิปต์หากแต่ทำสงครามกับพวกโรมันซึ่งได้ใช้พลเมืองชามและอียิปต์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ของพวกตนและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของอาณาจักรโรมัน พวกโรมันได้ต่อต้านการที่อิสลามเข้าสู่ดินแดนเหล่านี้เพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเท่านั้นเมื่อเสี้ยนหนามของพวกโรมันหมดลง ชาวอาหรับก็ได้ปล่อยให้ชาวเมืองชามและอียิปต์ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ทั้งนี้เพื่อที่พวกเขาจักได้ทำความรู้จักกับอิสลามและเข้ารับอิสลามเมื่อมีความประสงค์

และในขณะที่มุสลิมได้พิชิตแผ่นดินอิรักและเปอร์เซียนั้นมุสลิมก็มิได้สู้รบกับพลเมืองอิรักและเปอร์เซียแต่อย่างใด หากแต่สู้รบกับเหล่าจักรพรรดิและบรรดาผู้สวามิภักดิ์ต่อเปอร์เซียเท่านั้น ซึ่งพวกเหล่านี้ได้ลิดรอนเสรีภาพของพลเมืองอิรักและเปอร์เซียด้วยการเป็นทาสและไม่ต้องการให้อิสลามไปถึงชาวเมือง เมื่อมุสลิมสามารถทำลายอำนาจของจักรพรรดิเปอร์เซียลงและนำเอาอิสลามไปถึงพลเมืองได้ มุสลิมก็ปล่อยให้พลเมืองเหล่านี้เป็นไทแก่ตัว มีสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงจะเลือกทางนำและความหลงผิดให้กับตนเองตามลิขิตของพระเจ้า

ณ จุดนี้ ย่อมเป็นความผิดพลาดในกรณีที่เราพูดถึงว่า มีบางดินแดนได้ถูกพิชิตด้วยสงครามและบางดินแดนถูกพิชิตโดยไม่มีการสู้รบ ทั้งนี้เพราะการสงครามในอิสลามมิได้เป็นไปเพื่อการยึดครองเหนือดินแดน หากแต่เป็นการแย่งชิงดินแดนเอาคืนมาจากผู้ที่ฉกชิงและนำมันกลับไปสู่ชาวเมืองและปล่อยให้พวกเขาเป็นเสรีชนในภายหลังโดยมีสิทธิเลือกที่จะศรัทธาหรือไม่ศรัทธา เพราะไม่มีการบังคับกันในการถือศาสนา

ส่วนกรณีที่นักนิติศาสตร์กล่าวถึงว่ามีดินแดนที่ยอมประนีประนอมกับดินแดนที่สู้รบด้วยกำลังทหารนั้น ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับส่วนของดินแดนนั้น ๆ หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ครอบครองของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากดินแดนนั้น ๆ ก่อนอิสลาม กรณีข้อชี้ขาดทางนิติศาสตร์เกี่ยวกับดินแดนที่ถูกพิชิตด้วยกำลังทหารนั้นจะถูกนำมาใช้เฉพาะกรณีกรรมสิทธิ์ครอบครองของผู้มีอำนาจทางการเมืองและการศาสนาซึ่งต่างก็หลบหนีเบื้องหน้าการพิชิตของอิสลาม และเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกเก็บสะสมเอาไว้ในสถานที่บูชาไฟและทรัพย์สินส่วนบุคคลของผู้ที่เคยมีอำนาจทางศาสนาในอียิปต์ อิรัก และชามก็เช่นกัน

บุคคลที่เป็นชนชั้นศักดินาเหล่านี้ได้เคยครอบครองดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลเป็นของตัวโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ดังนั้นรัฐอิสลามจึงได้ปลดปล่อยและมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ชาวนาที่มีความประสงค์ถือครองและจ่ายภาษี 1 ใน 10 แก่การคลังของมุสลิม (บัยตุ้ลมาล) หรือถือครองในการทำการเกษตรคนละครึ่งหรือแบ่งสรรปันส่วนกันตามเงื่อนไขที่ชาวนาเหล่านั้นต้องการและพอใจ ที่ดินดังกล่าวคือ ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ได้และใช้ในการเพาะปลูกเพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตร ส่วนที่ดินที่ใช้ในการเกษตรเพาะปลูกอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คนเดิม ๆ นั้น มุสลิมจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เจ้าของที่ดินเพียงแต่จ่ายภาษีที่ดิน 1 ใน 10 เท่านั้น

ดังนั้นจึงไม่ปรากฏว่าชาวนาที่ได้รับความปลอดภัยและยอมประนีประนอมในดินแดนที่ถูกพิชิตได้นั้นรู้จักสิ่งที่เรียกว่าประนีประนอมหรือใช้กำลัง อันที่จริงมันเป็นสิทธิของรัฐอิสลามที่จะต้องมอบให้แก่ชาวนาผู้นั้นอยู่แล้วในฐานะที่เขาเป็นผู้ที่ได้รับความปลอดภัยจากมุสลิมซึ่งมุสลิมจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเคหะสถานอันเป็นกรรมสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใดไม่ว่าเขาจะศรัทธาหรือไม่ศรัทธาก็ตามที มุสลิมเพียงแต่ยึดเอาปราสาทราชวังของทรราชที่กดขี่ เพราะทั้งหมดคือทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบและนำมาใช้ในด้านสาธารณประโยชน์แก่มวลมุสลิมและพลเมืองโดยรวม

อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เราได้อ่านจากเงื่อนไขและอัตราพิกัดต่าง ๆ ในตำรา “อัลอัมว๊าล” (ทรัพย์สิน) โดยเฉพาะตำราของอบีอุบัยด์ อัลกอซิม อิบนิ สะลามนั้น เมื่อเราได้อ่านถึงปีที่ 100 แห่งฮิจเราะห์ศักราชซึ่งเป็นช่วงกลางในรัชสมัยของค่อลีฟะห์ผู้ทรงธรรมอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ เราจะพบว่าพลเมืองในอาณาจักรอิสลามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาวอาหรับหรือมุสลิมหรือไม่ก็ตาม ต่างก็จ่ายภาษีหนึ่งในสิบของผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวได้จากที่ดินการเกษตรซึ่งใช้น้ำตามธรรมชาติ และหนึ่งในห้าสำหรับที่ดินที่เสียค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำ ส่วนที่ดินรกร้างหรือที่ดินที่ต้องพัฒนาตลอดจนที่ดินอันเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์และทุ่งหญ้าก็เพียงแต่จ่ายซะกาตทรัพย์สินเท่านั้น

พวกเปอร์เซียและโรมันได้รุกรานดินแดนเหล่านี้และบริโภคทรัพย์สินของพลเมือง เลือกสรรสิ่งดี ๆ มาเป็นของตน จนกระทั่งว่าอาหารของพลเมืองในดินแดนโรมันและคอนสแตนติโนเปิ้ลเช่นข้าวสาลีของอียิปต์และชามจะถูกระดมจัดเก็บจากชาวเมืองโดยกดขี่บังคับและนำไปแจกจ่ายแก่พวกของตนโดยมิได้ลงทุนลงแรงอันใดแม้แต่น้อย เหล่าจักรพรรดิซีซาร์แห่งโรม บรรดาแม่ทัพนายกองและข้าหลวงของโรมันได้สั่งสมรวบรวมทรัพย์สินจำนวนมหาศาลจากเลือดเนื้อของผู้คนและใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อเหนือกองทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นเวลาหลายศตวรรษ

ส่วนชาวอาหรับนั้นถือเป็นชนชาติเดียวเท่านั้นที่ได้ยอมเสียสละเลือดเนื้อและเข้าสู่สงครามต่าง ๆ ตลอดจนพิชิตดินแดนเหล่านั้นซึ่งในภายหลังพวกเขาก็ได้รับผลานิสงค์จากพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น อันเป็นสิ่งที่จีรังและมีศิริมงคลในบั้นปลายของการพิชิตนั้น เราจะไม่พบว่าชาวอาหรับได้กลับกลายเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือทรัพยากรอันมหาศาลเหล่านั้น แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาเหล่านั้นมีทรัพย์สินน้อยกว่าประชาชนพลเมืองที่เป็นเจ้าของดินแดนเดิมเสียอีก

ส่วนบรรดาผู้ซึ่งได้รับประโยชน์จากความผาสุกและความเที่ยงธรรมแห่งอิสลาม พวกเขากลับมิใช่ชาวอาหรับ หากแต่เป็นพลเมืองเดิมของดินแดนนั้น ๆ อัลญาฮิซฺ ได้แสดงความแปลกประหลาดใจไว้ในหนังสือ “อัลบะยาน วัตตับยีน” (البيان والتبيين)   ถึงการที่ชาวอาหรับมีทรัพย์สินเพียงเล็กน้อยในอิรักและแคว้นคุรอซาน เมื่อนำไปเปรียบกับชนชาติอื่น ๆ เช่น เปอร์เซียซึ่งมีทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์อันเป็นที่ดินถือครองเป็นจำนวนมาก อัลญาฮิซได้กล่าวตำหนิชาวอาหรับเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวและกล่าวหาว่าชาวอาหรับฟุ่มเฟือย จับจ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายและขาดการบริหารทรัพย์สินที่ดี

อัลญาฮิซมองผิดพลาดในเรื่องนี้ เพราะจริง ๆ แล้วชาวอาหรับมิได้ทำให้เกิดข้อบกพร่องใด ๆ ในการบริหารทรัพย์สินของพวกเขา หากแต่ว่าชาวอาหรับมิได้ฉกชิง ปล้นสะดมภ์ทรัพย์สินของพลเมืองประชาชนที่บ้านเมืองของพวกเขาถูกพิชิตได้ต่างหากเล่าและพวกเขาก็มิได้บ่ายหน้าไปสู่การแสวงหาปัจจัยยังชีพอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนอย่างชนชาติอื่นได้กระทำ ลักษณะดังกล่าวนั่นย่อมเป็นข้อยืนยันได้เป็นอย่างดีสำหรับชาวอาหรับ พวกเขาต่อสู้ ทุ่มเท และได้รับชัยชนะ แต่ในเวลาต่อมาหลังจากชัยชนะที่ได้รับนั้น พวกเขาก็หาได้รับรางวัลใด ๆ ที่เป็นความสุขทางโลกไม่ พวกเขาจึงมีสภาพที่โดดเด่นและแตกต่างอย่างไม่มีใครเหมือนในประวัติศาสตร์

เรากล่าวเช่นนี้ก็เพื่อหักล้างคำพูดของผู้มีอคติบางคนที่ใส่ไคล้ว่าอิสลามเผยแพร่ด้วยคมดาบ ทั้งนี้ด้วยการอาศัยหลักฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ นั่นคือ ไม่เคยมีการเงื้อดาบเหนือคอของผู้ใดให้จำต้องรับอิสลาม ไม่เคยมีชนชาติใดที่เข้ารับอิสลามโดยมีดาบที่อยู่ต้นคอของพวกเขา อันที่จริงดาบนั้นมีไว้ต่อกรกับกลุ่มคนที่ชักดาบของตนเพื่อฟาดฟันอิสลามและมุสลิม และมีไว้สำหรับบุคคลที่ยืนขวางเส้นทางการเผยแผ่และเรียกร้องสู่อิสลาม

และเมื่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงทำให้ผืนแผ่นดินนี้อยู่ในอำนาจของอิสลาม นั่นก็เกิดจากแนวทางแห่งอิสลามเองอันเป็นสิ่งที่ได้เปิดหัวใจทั้งหลายและปลุกเร้าต่อความรู้สึกภายใน และพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงทำให้ศาสนาของพระองค์มีความสูงส่ง โดยไม่มีประสงค์ให้สิ่งใดมีความประเสริฐเหนือกว่าอิสลามและความประเสริฐนั้นเป็นสิทธิของพระองค์และอิสลามเท่านั้น และพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงดำรัสไว้สมจริงแล้วว่า

يمنون عليك أن أسلمواقل لاتمنواعلى إسلامكم بل الله يمن عليكم أن هداكم للإيمان ان كنتم صادقين الحجرات ۱۷

“พวกเขาถือเป็นบุญคุณแก่เจ้าว่าพวกเขาได้รับอิสลามแล้ว จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) พวกท่านอย่าถือเอาการเป็นอิสลามของพวกท่านมาเป็นบุญคุณแก่ฉันเลย แต่ทว่าอัลลอฮฺ ทรงประทานบุญคุณแก่พวกท่านต่างหาก โดยชี้นำพวกท่านสู่การศรัทธา หากพวกท่านเป็นผู้สัตย์จริง”