หมวดว่าด้วยการอุปโภคบริโภค

ความหมาย
คำว่า “อุปโภค” เป็นคำกริยา หมายถึง เอามาใช้สอยให้เกิดประโยชน์ ส่วนคำว่า “บริโภค” นั้นเป็นคำกริยาเช่นกัน มีความหมายว่ากินหรือใช้สอย (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525) ดังนั้นคำว่า อุปโภค-บริโภค จึงหมายถึง การใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์หรือการกินอย่างเกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมโดยรวม โดยสิ่งที่ถูกใช้สอยนั้นจะมีการเสื่อมสภาพ ร่อยหรอ หรือหมดไปในชั่วระยะเวลาหนึ่งและอาจต้องหาสิ่งใหม่มาเพิ่มเติมเมื่อต้องการใช้อีก หรือสิ่งที่มีอยู่นั้นอาจจะไม่หมดไป และสามารถทดแทนได้ตลอดเวลา การบริโภค โดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในเรื่องของการกิน ส่วนอุปโภคนั้นจะเน้นในเรื่องการใช้สอย ดังนั้นการอุปโภค-บริโภค จึงมีนัยครอบคลุมถึงเรื่องการกิน , การใช้สอย , สินค้า และการบริการ

หลักศาสนบัญญัติว่าด้วยการอุปโภค-บริโภค

การอุปโภคบริโภคเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวม ซึ่งทั้งสองส่วนย่อมมีสถานภาพเป็นผู้บริโภค หรือเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ อาหาร ผลิตภัณฑ์ สินค้าหรือเป็นผู้ให้บริการก็ได้ การอุปโภค-บริโภค จึงเป็นความสัมพันธ์ในเชิงแลกเปลี่ยนประโยชน์ของสองฝ่ายบนพื้นฐานของการผลิตการบริการและความต้องการ

ดังนั้นเมื่อศาสนาอิสลามมีหลักคำสอนในการจัดระเบียบพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวม การอุปโภค-บริโภค จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในข่ายของการจัดระเบียบและการกำหนดขอบเขตภายใต้หลักคำสอนของศาสนาอิสลามด้วยเช่นกัน โดยมีหลักศาสนบัญญัติกำหนดเอาไว้ดังต่อไปนี้ คือ

1. หลักเดิมในสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนประโยชน์ทั้งหลายถือเป็นที่อนุมัติ (อิบาหะฮฺ) เมื่อไม่ตัวบทที่ชัดเจนระหว่างสิ่งนั้น ๆ เป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) โดยมีหลักฐานระบุเอาไว้ในอัลกุรอานว่า

هُوَ الَّذِي خَلَقَ لَكُم مَّا فِي الأَرْضِ جَمِيعاً

“พระองค์คือพระผู้ทรงสร้างสิ่งที่อยู่ในผืนแผ่นดินนี้ทั้งหมดแก่สูเจ้าทั้งหลาย”  (สูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 29)

และหะดีษที่รายงานจากท่าน ซัลมาน อัลฟาริซี (ร.ฏ.) ว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (صلى الله عليه وسلم) ได้ถูกถามถึงข้อชี้ขาดของไขมัน,เนย และสิ่งที่ติดอยู่กับหนัง ท่านศาสนทูตฯกล่าวว่า :

الحَلاَ لُ مَا أحَلَّ الله فى كِتَابه ، وَالْحَرَامُ مَا حَرَّ مَ الله فى كِتَابِه  وَمَاسَكَتَ عنه فَهُوَ مِمَّاعَفَالَكُمْ

“สิ่งที่อนุมัติ คือ สิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงอนุมัติเอาไว้ในคัมภีร์ของพระองค์  และสิ่งต้องห้ามคือสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงบัญญัติห้ามเอาไว้ในคัมภีร์ของพระองค์  และสิ่งใดที่พระองค์ทรงนิ่ง (ไม่ระบุเอาไว้)จากสิ่งนั้นมันคือส่วนหนึ่งจากสิ่งที่พระองค์ทรงอนุโลมให้แก่พวกท่าน”  (รายงานโดย ติรมีซี,อิบนุมาญะฮฺและอัล-หากิม)

หลักการข้อนี้ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงพฤติกรรมและการดำเนินการต่างๆซึ่งมิใช่เรื่องของการประกอบศาสนกิจ (อิบาดาตฺ) ซึ่งเราเรียกว่า อัล-อาดาต (จารีตประเพณี) ก็ให้ถือหลักเดิมที่ว่าอนุมัติให้กระทำได้ยกเว้นสิ่งที่มีบัญญัติทางศาสนาระบุห้ามเอาไว้

2- การถือว่าสิ่งใดเป็นที่อนุมัติ (หะล้าล) และสิ่งใดเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เป็นสิทธิของพระองค์อัลลอฮฺ () แต่เพียงพระองค์เดียว และการเข้าไปก้าวก่ายสิทธิในเรื่องนี้ถือเป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) กล่าวคือ การที่มนุษย์จะบริโภคหรือใช้สอยสิ่งใดหรือเอาประโยชน์จากสิ่งหนึ่งสิ่งใดจำต้องอาศัยหลักศาสนบัญญัติเป็นตัวกำหนดว่าเป็นที่อนุมัติหรือเป็นที่ต้องห้าม ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกรุอ่านว่า :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُلُواْ مِن طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ

“โอ้บรรดาศรัทธาชน สูเจ้าทั้งหลายจงบริโภคจากสิ่งที่ดีๆของสิ่งที่เราได้ประทานเป็นปัจจัยแก่เหล่าสูเจ้าเถิด”  (สูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 172)

และพระดำรัสที่ว่า :

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ لاَ تُحَرِّمُواْ طَيِّبَاتِ مَا أَحَلَّ اللهُ لَكُمْ وَلاَ تَعْتَدُواْ إِنَّ اللهَ لاَ يُحِبُّ الْمُعْتَدِينَ

“โอ้บรรดาศรัทธาชน  สูเจ้าทั้งหลายอย่าได้ถือว่าสิ่งดีๆของสิ่งซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงอนุมัติแก่สูเจ้าทั้งหลายเป็นที่ต้องห้าม และสูเจ้าทั้งหลายอย่าได้ละเมิด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺมิทรงรักบรรดาผู้ละเมิด” (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 87)


3- การบัญญัติห้ามสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นย่อมแสดงว่าสิ่งนั้นๆเป็นที่น่ารังเกียจและมีอันตราย โดยสามารถอธิบายเหตุผลทางสติปัญญามารองรับการบัญญัติห้ามนั้นได้ อาทิเช่น อิสลามห้ามบริโภคเนื้อสุกร ซากสัตว์ สัตว์ป่าบางชนิด เลือด สุรา เครื่องดื่มที่มึนเมา การพนัน และการอุปโภค-บริโภคด้วยความสุรุ่ยสุร่าย เป็นต้น

ทั้งหมดสามารถอธิบายเหตุผลทางสติปัญญาและวิชาการได้อย่างที่ทราบกันดี อีกทั้งการบัญญัติห้ามในหลักศาสนบัญญัตินั้นก็ถือว่าเป็นส่วนน้อย เมื่อนำไปเทียบการบริโภค-อุปโภคที่เป็นที่อนุมัติตามหลักศาสนบัญญัติซึ่งมีอยู่มากมาย หลากหลายโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์แต่อย่างใด

4- สิ่งใดที่นำพาไปสู่สิ่งต้องห้าม สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งต้องห้ามและทุกๆสิ่งที่มีส่วนสนับสนุนสิ่งต้องห้าม สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งต้องห้ามไปด้วย และบุคคลใดก็ตามมีส่วนสนับสนุนในสิ่งต้องห้ามผู้นั้นย่อมมีส่วนในบาปนั้นด้วย ดังนั้นการบริโภค-อุปโภคผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทหรือโรงงานที่มีเป้าหมายสนับสนุนองค์กรหรือรัฐบาลที่เป็นศัตรูกับชาวมุสลิมและศาสนาอิสลามหรือส่งเสริมสิ่งที่เป็นอบายมุขตลอดจนการกระทำที่ผิดกฎหมายและหลักศีลธรรมอันดีจึงเป็นสิ่งต้องห้าม

5- การใช้เล่ห์เลี่ยมหรือช่องว่างทางกฎหมายในการกระทำสิ่งต้องห้าม ย่อมถือเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักการของศาสนา อาทิเช่น การเรียกชื่อสุราหรือเครื่องดื่มที่มึนเมาด้วยชื่อเรียกต่างๆ การเรียกดอกเบี้ยว่า “เงินปันผล” การเรียกการเต้นรำที่เปลือยกายว่าเป็นศิลปะ เป็นต้น

6- การระวังจากการบริโภคหรืออุปโภคสิ่งที่คลุมเครือในข้อชี้ขาดตามหลักศาสนบัญญัติ กล่าวคือ สิ่งที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่อนุมัติ (หะล้าล) หรือเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ศาสนาเรียกร้องให้มุสลิมผู้บริโภคหลีกห่างจากการบริโภคหรือใช้สอยประโยชน์ของสิ่งนั้นเพื่อป้องกันจากการตกไปสู่สิ่งต้องห้ามและเพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศและความบริสุทธิ์ในการประพฤติตนตามหลักศาสนา

7- ในกระบวนการของการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคจะต้องปลอดจากสิ่งต้องห้ามที่ศาสนบัญญัติเอาไว้ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตต้องได้มาอย่างถูกต้อง และขั้นตอนในการผลิตก็ต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง ดังนั้นการปลอมปนสิ่งที่เป็นนะยิสในอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการบริโภค หรือการใส่สารและวัตถุปรุงแต่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพของผู้บริโภค เช่น สารบอแรกซ์ สารหนู สารตะกั่ว สีสังเคราะห์ ดินประสิว เป็นต้น ลงในอาหารเกินกว่าที่องค์กรอาหารและยากำหนดจึงเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามศาสนบัญญัติ

ทั้งนี้เนื่องจากอัลกุรอานได้ระบุว่า :­

وَكُلُواْ مِمَّا رَزَقَكُمُ اللهُ حَلاَلاً طَيِّبًا وَاتَّقُواْ اللهَ الَّذِيَ أَنتُم بِهِ مُؤْمِنُونَ

“และบรรดาสูเจ้าจงบริโภคส่วนหนึ่งจากสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานเป็นปัจจัยยังชีพแก่บรรดาสูเจ้าในสภาพที่สิ่งนั้นเป็นที่อนุมัติและดี (มีประโยชน์) และสูเจ้าทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺพระผู้ซึ่งสูเจ้าทั้งหลายศรัทธาต่ออัลลลอฮฺ” (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 88)


ดังนั้นสิ่งที่มุสลิมจะบริโภคนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการคือ 1) เป็นสิ่งที่อนุมัติ (หะล้าล) 2) เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกาย และคุณสมบัติทั้ง 2 ประการนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ผลิตได้คำนึงถึงสิ่งสองประการดังกล่าวนับตั้งแต่ขั้นตอนแรกของกระบวนการผลิต ในขณะที่ผู้บริโภคก็จำต้องพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่ตนจะบริโภคนั้นมีคุณสมบัติทั้งสองประการนั้นหรือไม่

8- ศาสนาอิสลามได้บัญญัติห้ามการบริโภคอาหารจำพวกเนื้อสัตว์เอาไว้หลายชนิด อาทิเช่น เนื้อสุกร,เลือดสัตว์,สัตว์ที่ตายเองโดยมิถูกเชือด,สัตว์ที่ถูกรัดคอตาย,สัตว์ที่ถูกตีจนตาย,สัตว์ที่ตกจากที่สูงแล้วตาย,สัตว์ที่ถูกขวิดหรือชนจนตาย,สัตว์ที่ถูกสัตว์ร้ายกัดกินจนตาย,สัตว์ที่ถูกเชือดด้วยนามอื่น นอกจากพระนามของอัลลอฮฺ,

สัตว์ที่ถูกเชือด ณ แท่นบูชาเพื่อสังเวย,ลาบ้าน,ล่อ สัตว์ที่มีเขี้ยวที่แข็งแรงใช้ล่าเหยื่อด้วยเขี้ยวนั้น เช่น สุนัข,หมี,แมว,เสือ,สิงโต,ลิง เป็นต้น ,สัตว์ปีกจำพวกนกที่มีกรงเล็บแข็งแรงใช้ตะครุบเหยื่อ เช่น นกอินทรีย์,เหยี่ยว,อีแร้ง เป็นต้น และสัตว์ที่ศาสนาส่งเสริมให้ฆ่ามัน เช่น งู,แมงป่อง,อีกา,หมู เป็นต้น แมงหรือแมลง เช่น แมลงสาป, เห็บ, เหา, มด และสัตว์ที่มีเหล็กในและมีพิษ เช่น ผึ้ง, ต่อ, แตน เป็นต้น

9- เครื่องดื่มที่ศาสนาอิสลามได้บัญญัติห้ามเอาไว้ได้แก่ ทุกสิ่งที่เป็นอันตราย เช่น ยาพิษ เป็นต้น ของเหลวทุกชนิด เป็นนะยิส อาทิเช่น เลือด,ปัสสาวะ,น้ำนมของสัตว์ที่ห้ามกินเนื้อของมัน (ยกเว้น น้ำนมของมนุษย์) และของเหลวที่ปนเปื้อนนะยิสหรือมีนะยิสตกลงไปเจือปน,เครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมา เช่น สุรา ไวน์,เบียร์,สี่คูณร้อย เป็นต้น

10- การใช้สอยเครื่องอุปโภคและเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลายเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ แต่จะต้องไม่สุรุ่ยสุร่ายและฟุ่มเฟือยในการใช้สอย ทั้งนี้เพราะอัลกุรอานได้ระบุว่า

وَلاَ تُسْرِفُواْ إِنَّهُ لاَ يُحِبُّ الْمُسْرِفِينَ

“และสูเจ้าทั้งหลายอย่าได้สุรุ่ยสุร่าย,ฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์มิทรงรักบรรดาผู้ที่สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย (สูเราะฮฺ อัล-อันอาม อายะฮฺที่ 141)

และพระดำรัสที่ว่า :

وَلاَ تُبَذِّرْ تَبْذِيرًا إِنَّ الْمُبَذِّرِينَ كَانُواْ إِخْوَانَ الشَّيَاطِينِ

“และสูเจ้าอย่าได้สุรุ่ยสุร่าย (ด้วยการใช้จ่ายไปในสิ่งที่มิใช่การภักดีต่ออัลลอฮฺ) แท้จริงบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้นพวกเขาเป็นพี่น้องของหมู่มาร” (สูเราะฮฺ อัล-อิสรออฺ อายะฮฺที่ 26-27)