อบู อะลี อัลฮุซัยนฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ อิบนิ ซีนา ถือกำเนิดในเมือง อัฟชินะฮฺ ใกล้กับตำบล ค็อรมีชฺ ในเมืองบุคอรอ (อุซเบกิสถาน) และเสียชีวิตในเมือง ฮะมะซาน เขามีชีวิตอยู่ในระหว่างปีฮ.ศ.371-428 (ค.ศ.980-1036) อยู่ร่วมสมัยเดียวกับ อบู อัรรอยฮาน อัลบีรูนีย์ และอิบนุ อัลฮัยซัม บิดาของอิบนุซีนามาจากเมือง บะลัค (บักเตรีย) ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางการปกครองของแคว้น คุรอซาน ส่วนมารดาของเขามาจากเมืองบุคอรอ (อุซเบกิสถาน)

บิดาของอิบนุซีนาเสียชีวิตขณะที่อิบนุซีนามีอายุได้ 22 ปี บิดาของเขาเป็นผู้รักในสรรพวิชาและเชื้อเชิญบรรดานักปราชญ์ในเวลานั้นให้มาสั่งสอนอัลฮุซัยน์ (อิบนุซีนา) บุตรชายของตนทั้งในศาสตร์เกี่ยวกับอัลกุรอาน, วรรณคดี, ไวยากรณ์และปรัชญา จนกระทั่งอิบนุซีนามีความแตกฉานในการอ่านและอรรถาธิบายตำรับตำราของนักวิชาการชาวกรีก เช่น ตำราของอิกลิดุสในวิชาเรขาคณิต, ตำราอัลมาญิสฏี่ย์ ของปโตเลมี และตำราในวิชาธรรมชาติวิทยาและตรรกวิทยา เป็นต้น

เคยมีการอภิปรายในวิชาปรัชญาและศาสตร์แขนงต่างๆ ระหว่างอิบนุซีนากับอัลบีรูนีย์ และเกิดการพิพาทกันระหว่างบุคคลทั้งสอง ซึ่งมีการขัดแย้งกันทางความคิดเกี่ยวกับการเมือง ทั้งนี้เพราะอัลบีรูนีย์เป็นปราชญ์ผู้มีความใกล้ชิดกับซุลตอน มะฮฺมูด อัลฆ็อซนะวีย์ ในขณะที่อิบนุซีนาเป็นมิตรที่สนิทสนมกับบรรดาผู้ปกครองในวงศ์ อัซซามานีย์ ซึ่งมีอำนาจเหนือแคว้น ซิญิสตาน , กุรมาน , ญุรมานและดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำ รวมถึงแคว้นคุรอซานในระหว่างปี ฮ.ศ.260-389 อาณาจักรของพวกอัซซามานีย์มีความอ่อนแอกว่าอาณาจักรของซุลตอนมะฮฺมูด อัลฆอซฺนะวีย์เป็นอันมาก และระหว่าง 2 อาณาจักรนี้มีการพิพาทขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ

อิบนุซีนามีความโดดเด่นเหนือนักวิชาการผู้อื่นในทุกสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสรรพวิชาส่วนใหญ่ที่เป็นภาคทฤษฎีและศาสตร์แห่งการประยุกต์ อาทิเช่น ปรัชญา, ฟิสิกส์, เรขาคณิต, คณิตศาสตร์, แพทย์ศาสตร์, เคมี, เภสัชกรรม, พฤกษศาสตร์, ธรณีวิทยา, สัตว์ศาสตร์ และภาษาอาหรับทั้งไวยากรณ์, นิรุกติศาสตร์, วาทศิลป์และบทกวี อิบนุซีนาได้เขียนตำรับตำราในภาควิชาภาษาอาหรับไว้หลายเล่ม ทำให้เขาเป็นนักภาษาศาสตร์แนวหน้าผู้หนึ่งสำหรับภาควิชาภาษาอาหรับ

อิบนุซีนา ได้รับฉายานามมากมายนับแต่ช่วงเป็นหนุ่มเนื่องจากเขามีความชำนาญการในหลากหลายภาควิชา ส่วนหนึ่งจากฉายานามของเขาคือ “อัชชัยคฺ อัรร่ออีซ” (ผู้นำอาวุโส-ปรมาจารย์) , อาจารย์ท่านที่สาม (อริสโตเติ้ล คืออาจาย์ท่านที่หนึ่ง ถัดมาคือ อัลฟารอบีย์ เป็นอาจารย์ท่านที่สอง) “กาลิโนสแห่งชาวอาหรับ” และ “นายแพทย์ใหญ่” (อะมีร อัล-อะฏิบบาอฺ)

อิบนุซีนา เป็นที่เลื่องลือในหมู่เพื่อนพ้องและสานุศิษย์ของเขาถึงความจดจำอันเอกอุ มีความเข้าใจรวดเร็ว มีผลงานทางวิชาการมากมาย เหตุนี้เราจึงพบว่า อิบนุซีนาได้อรรถาธิบายปรัชญากรีก โดยเฉพาะปรัชญาของพลาโต้ และอริสโตเติ้ล ด้วยสำนวนที่สละสลวยและชัดถ้อยชัดคำ อิบนุซีนาจึงเป็นนักปราชญ์ชาวมุสลิมที่วางรากฐานในการก่อเกิดปรัชญาอิสลาม

อิบนุซีนาต้องเผชิญกับการปองร้ายจากพวกที่แวดล้อมบรรดาผู้ปกครองในเวลานั้นอยู่บ่อยครั้ง เขาเคยถูกคุมขังถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยของชัมฺซุดเดาละฮฺ อัลบูยะฮีย์ เจ้าเมืองฮะมะซาน และครั้งที่สองในสมัย อะลาอุดเดาละฮฺ เจ้าเมืองอิสฟาฮาน และตำราของอิบนุซีนาที่ทรงคุณค่าก็ถูกลักขโมยอยู่บ่อยครั้ง เพราะเขามีความชำนาญการในสรรพวิทยาต่างๆ

นักปราชญ์ทั่วโลกต่างก็ได้รับอิทธิพลทางความคิดในเชิงปรัชญาของอิบนุซีนา เป็นต้นว่า โทม่า อักวัยนี และอัฏฏูซีย์ และผู้อื่นอีกเป็นจำนวนมาก ดังกล่าวเป็นเพราะตำรับตำราของอิบนุซีนาได้รวบรวมข้อมูลทางวิชาการในภาควิชาปรัชญา ซึ่งยึดหลักในตรรกวิทยาและการรวบรวมสถิติทางคณิตศาสตร์ อิบนุซีนาเคร่งครัดในด้านการศึกษาและการทดลองทางวิชาการซึ่งใช้หลักการพิสูจน์และการวิเคราะห์ที่ละเอียดเจาะลึกในการค้นคว้าและการคิดค้นทางด้านปรัชญา เหตุนี้เราจึงพบว่าทั้งรัสเซีย, ตุรกีและอิหร่าน ต่างก็กล่างอ้างว่า อิบนุซีนา คือนักปราชญ์ผู้โด่งดังของประเทศตน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่า อิบนุซีนามีชีวิตอยู่ในร่มเงาแห่งอารยธรรมอาหรับ-อิสลาม ซึ่งไม่ได้ถือเอาชาติพันธุ์เป็นสาระสำคัญ หากแต่นักปราชญ์ชาวอาหรับมุสลิมต่างก็ประกาศสงครามกับความนิยมคลั่งไคล้ในชาติพันธุ์หรือเผ่าพันธุ์นิยม

อิบนุซีนา เป็นต้นตำรับแบบแผนเชิงปรัชญาซึ่งตั้งอยู่บนหลักของการทดลอง การพิสูจน์ และการจดรวบรวมสถิติ หาใช่ ฟรานซิส เบคอน ที่มาหลังอิบนุซีนาหลายร้อยปีไม่

มูซา อัลมูซาวีย์ ได้ระบุไว้ในตำราของเขาที่ชื่อ “จากอัลกินดีย์สู่อิบนุรุชด์” ว่า : ความคิดเชิงปรัชญาของอิบนุซีนาได้ส่งอิทธิพลต่อบรรดานักคิดและนักปรัชญา ซึ่งมีรากเหง้าสืบถึงนักบุญ (เซนต์) โทม่า อัควัยนีย์ นักค้นคว้าบางคนมีทัศนะว่า ปรัชญาของอัควัยนีย์ เป็นมรดกทางวิชาการจากหลักคำสอนของอิบนุซีนา และอิบนุซีนา ต่างจากนักปราชญ์ผู้อื่นในกรณีที่เขาได้รับการศึกษาต่อยอดผลงานของตนจากบรรดานักคิดเกี่ยวกับความคิด และผลงานทางวิชาการของเขา ซึ่งทรงอิทธิพลต่อสำนักความคิดของนักวิชาการสาขาปรัชญารุ่นหลัง”

อิบนุซีนา ได้อรรถาธิบายตำราของนักวิชาการกรีกในสาขาวิชาเคมีและวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการ การที่อิบนุซีนาได้ให้ความสนใจต่อวิชาเคมีเนื่องจากภาควิชานี้มีความเกี่ยวพันกับวิชาการแพทย์ ซึ่งอิบนุซีนานับเป็นนักการแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ อิบนุซีนา ได้ศึกษาวิชาเคมีและต่อยอดศาสตร์แขนงนี้และดำเนินตามแบบอย่างของนักวิชาการมุสลิมอาทิเช่น ญาบิร อิบนุ ฮัยยาน, อบูบักร อัรรอซีย์ และอัลกินดีย์ เป็นต้น แต่อิบนุซีนา ก็มิใช่เพียงแต่ดำเนินตามทัศนะของนักปราชญ์รุ่นก่อนเพียงเท่านั้น หากแต่อิบนุซีนามีความเห็นขัดแย้งเป็นอันมากกับเรื่องราวปรัมปราซึ่งแพร่หลายในยุคนั้น

ความเชื่อที่ว่า มีความเป็นไปได้ในการที่จะแปรสภาพธาตุที่ไร้ค่าเป็นธาตุที่มีค่า เช่น ทองคำ และเงินนั้น ครอบงำผู้คนในยุคของอิบนุซีนา แต่อิบนุซีนาได้ปฏิเสธสิ่งดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ซึ่งมิอาจโต้เถียงได้ เขาได้ระบุเรื่องนี้เอาไว้ในตำรา “อัชชิฟาอฺ” อันโด่งดังของเขา

อิบนุซีนา เป็นนักปราชญ์ที่ใช้ปัญญาและตรรกวิทยาเป็นข้อชี้ขาดในด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับฉายาว่า “ผู้นำผู้อาวุโส” (อัชชัยคฺ อัรร่ออีซฺ) เขาได้คิดค้นกรดบางตัวและสารเคมีบางชนิดและเขาคือบุคคลแรกที่คิดวิธีการทางวิทยาศาสตร์สำหรับการเตรียมกรดกำมะถันหรือเกลือของกรดกำมะถัน (vitriol) และ Sulfuric Acid และ แอลกอฮอล์ (alcohol)

อิบนุซีนาได้ให้ความสนใจต่อวิชาธรณีวิทยา เขาได้อรรถาธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบางอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งความคิดของเขานั้นมิได้ขัดแย้งกับทฤษฎีทางวิชาการสมัยใหม่ จนกระทั่งเขาได้รับฉายาว่า เป็นผู้วางรากฐานของวิชาธรณีวิทยาของชาวอาหรับมุสลิม เขาพูดถึงเรื่องราวของโลหะ (Metallic) และวิธีการประกอบโลหะและนำเสนอแร่ธาตุต่างๆ ตลอดจนคุณสมบัติของแต่ละธาตุเป็นจำนวนมาก เขาจุดประกายความคิดที่ว่า “แร่ธาตุแต่ละชนิดนั้นจะรักษาคุณสมบัติทางธรรมชาติของมันเอาไว้”

อิบนุซีนา ได้ระบุไว้ในตำรา “อัชชิฟาอฺ” บทว่าด้วยเรื่องธรรมชาติวิทยาศาสตร์ลำดับที่ 5 (แร่ธาตุและวัตถุที่อยู่เบื้องบน) ว่า “ แร่ธาตุแต่ละชนิดนั้นจะรักษาคุณลักษณะเฉพาะตัวของมันเอาไว้ ซึ่งคุณลักษณะเฉพาะตัวนั้นจะแยกแยะความต่างของมันจากธาตุชนิดอื่น” และเขากล่าวถึงโลหะหรือธาตุหนักในตำราเล่มเดียวกันว่า : โลหะแต่ละชนิดนั้นจะมีส่วนประกอบเฉพาะที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยวิธีการแปรสภาพที่ทราบกัน

สิ่งที่เป็นไปได้และสามารถกระทำได้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงภายนอกในรูปทรงของโลหะและรูปลักษณ์ของมันเท่านั้น การเคลือบหรือชุบสีทองแดงด้วยสีขาวจะทำให้มันมีลักษณะคล้ายกับเงิน และการเคลือบหรือชุบเงินด้วยสีแดงก็จะทำให้มันปรากฏสภาพภายนอกคล้ายกับทองคำ บางทีการเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะกระทำได้อย่างแนบเนียนมากๆ จนอาจเข้าใจได้ว่า โลหะชนิดนั้นๆ แปรสภาพเป็นอย่างอื่น แต่จริงๆ แล้วการชุบหรือการเคลือบก็ไม่ได้เปลี่ยนให้โลหะเป็นสิ่งอื่นไปได้เลย”

อิบนุซีนาได้พูดถึงการผสมองค์ประกอบของหินที่เกิดตามภูเขาว่า บางทีมันก็ประกอบจากดินแห้งหรือประกอบจากน้ำที่มีปฏิกิริยาการระเหยเป็นไอหรือการตกตะกอน และเขายังได้บ่งชี้ถึงความคิดที่ว่า หินจะประกอบกันขึ้นจากไฟหรือความร้อน โดยเขากล่าวว่า “โดยส่วนใหญ่แล้วหินภูเขาจะประกอบจากดินเหนียวที่ชื้นและเมื่อเวลาผ่านไปนานมาก ดินก็เริ่มแข็งตัวจับเป็นก้อน สิ่งนี้จะคล้ายกับผืนดินที่เคยจมอยู่ใต้ทะเลโคลนในช่วงยุคดึกดำบรรพ์แล้วงอกเป็นผืนดิน และบ่อยครั้งที่จะพบว่าในหินนั้น เมื่อแตกออกจะมีชิ้นส่วนของสัตว์น้ำปะปนอยู่เช่น เปลือกหอย เป็นต้น

อิบนุซีนา ได้พูดถึงหินตะกอนและซากฟอสซิล ตลอดจนการเปลี่ยนสภาพของทะเลเป็นผืนดินที่แห้ง และการที่ผืนดินที่แห้งจมอยู่ในน้ำตลอดจนการเปลี่ยนสภาพของชั้นเปลือกโลกเนื่องจากแผ่นดินไหว อิบนุซีนา จึงเป็นผู้นำรุ่นแรกๆ ที่กล่าวถึงวิชาธรณีวิทยา (Geological)

อิบนุซีนา ยังได้ระบุถึงปรากฏการณ์แผ่นดินไหวว่า : “เป็นการเคลื่อน ที่เกิดกับส่วนหนึ่งส่วนใดจากโลก ด้วยสาเหตุของสิ่งที่อยู่ใต้พื้นโลก ผลที่ทำให้มันเคลื่อนจากส่วนใต้ของโลกทำให้ส่วนบนของผิวโลกเคลื่อนขยับตามไปด้วย และวัตถุที่สามารถเคลื่อนที่อยู่ใต้ผิวโลกนั้นย่อมทำให้พื้นโลกเคลื่อนไหว ซึ่งบางทีอาจจะเป็นวัตถุจำพวกกลุ่มควันที่มีไอ (ก๊าซ) ที่มีแรงดันมหาศาล หรือวัตถุของเหลวที่ไหลหรือเป็นอากาศหรือเป็นวัตถุจำพวกไฟหรือดิน หรือวัตถุจำพวกไฟที่มีความร้อนสูงนั้น จะมีสภาพเหมือนกับลมที่มีไฟลุก”

สำนวนและถ้อยคำที่อิบนุซีนาใช้อธิบายเรื่องแผ่นดินไหวนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นสำนวนที่คนในยุคเราไม่คุ้นเคย แต่ก็สามารถทำความเข้าใจได้ถึงเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ไม่ยากเกี่ยวกับเรื่องนี้ และสอดคล้องกับคำอธิบายของวิชาธรณีวิทยายุคใหม่

อิบนุซีนายังได้กล่าวถึงเรื่องของเมฆและสาเหตุการรวมตัวของเมฆว่า : เมฆเกิดจากไอน้ำที่มีความชื้นสูง เมื่อไอน้ำนั้นลอยตัวสูงขึ้นเนื่องจากความร้อนเป็นตัวกระทำ ไอน้ำนั้นก็ลอยขึ้นไปบรรจบกับชั้นบรรยากาศที่เย็น มันก็รวมตัวกันเป็นเมฆ ดังนั้นไอน้ำจึงเป็นวัตถุก่อเกิดกลุ่มเมฆ, ฝน, หิมะ, ลูกเห็บ, ก้อนน้ำแข็ง และความเย็น ทำให้เห็นวงของแสงและรุ้งกินน้ำ

เมเยอร์ ฮอฟ ได้ระบุไว้ในหนังสือ “มรดกแห่งอิสลาม” ว่าดินแดนตะวันตกเป็นหนี้บุญคุณอิบนุซีนา เกี่ยวกับความคิดทางวิทยาศาสตร์ของเขาที่นำเสนอแก่มนุษยชาติโดยรวม ทั้งในเรื่องการกำเนิดภูเขา, แร่ธาตุ, หินและเมฆ เป็นต้น นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยต่างก็ยอมรับถึงคุณูปการของ อิบนุซีนาในภาควิชาธรณีวิทยา อาทิเช่น ไลล์, แจ็คกี้ และอาดัมฺส์ ทั้งนี้เพราะความคิดของอิบนุซีนาในเรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาวิชาธรณีวิทยายุคใหม่ หากไม่มีทฤษฎีของอิบนุซีนาแล้ว วิชาธรณีวิทยาก็คงไม่อาจบรรลุสู่มาตรฐานอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

อิบนุซีนา ยังได้รับฉายาว่า “ผู้นำของเหล่าแพทย์” เพราะเขาเป็นผู้มีความอัจฉริยะในด้านการแพทย์ที่โด่งดังที่สุดในหมู่นักการแพทย์ของยุคกลาง ตำรา “อัลกอนูน” ในวิชาแพทย์ศาสตร์ของเขามีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อวงการแพทย์และสถานภาพของเขาเอง เนื่องจากอิบนุซีนาได้แบ่งบทต่างๆ อย่างเหมาะสมและตำรา “อัลกอนูน” ได้รวบรวมข้อมูลทางวิชาการเอาไว้เป็นอันมาก มีการรวบรวมตัวยาและศัพท์แสงทางแพทย์ศาสตร์และเภสัชศาสตร์ ตำรา “อัลกอนูน” มีความโด่งดังเป็นอันมากในโลกตะวันตกและถูกตีพิมพ์หลังจากการตีพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลของชาวคริสเตียน และถูกตีพิมพ์ซ้ำถึง 16 ครั้ง ในช่วงเวลา 30 ปีสุดท้ายจากคริสต์ศตวรรษที่ 15

วิลเลี่ยม ออสเลอร์ ได้กล่าวว่า : ตำรา “อัลกอนูน” ยังคงเป็นคัมภีร์ไบเบิลทางการแพทย์ตลอดช่วงระยะเวลาอันยาวนานในดินแดนตะวันออกและตะวันตก บรรดามหาวิทยาลัยของยุโรปได้ยึดถือตำรา “อัลกอนูน” เป็นตำราอ้างอิงพื้นฐานสำหรับการสอนวิชาการแพทย์ ในอังกฤษและสกอตแลนด์ก็เช่นกัน และมหาวิทยาลัยโบโลเนียคือมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ถือเอาตำรา “อัลกอนูน” เป็นตำราอ้างอิงอย่างเป็นทางการในการสอนวิชาการแพทย์

ซึ่งในมหาวิทยาลัยดังกล่าว มีการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ในปี ค.ศ.1260 และนับแต่เวลานั้นเป็นต้นมา ตำรา “อัลกอนูน” ของอิบนุซีนา ได้ถูกบรรจุเป็นหลักสูตรในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ ของยุโรป จนกระทั่งกลายเป็นเหมือนหลักสูตรวิชาแพทย์ศาสตร์ครึ่งหนึ่งจากหลักสูตรในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของยุโรปในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนถึงตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17

อิบนุซีนา นับเป็นแพทย์คนแรกที่ใช้เข็มฉีดยาใต้ผิวหนัง และเป็นบุคคลแรกที่ใช้ยาสลบเพื่อทำการผ่าตัด อีกทั้งยังเป็นแพทย์คนแรกที่ศึกษาเจาะลึกเกี่ยวกับโรคแผลหรือหนองในกระเพาะ เหตุนี้เขาจึงเป็นบุคคลแรกที่ระบุถึงการส่งผลทางจิตใจซึ่งส่งผลต่อระบบการย่อยอาหารและเขายังได้เปรียบเทียบระหว่างก้อนนิ่วทางเดินปัสสาวะและก้อนนิ่วในไตด้วยวิธีการและขนาด เขาเป็นบุคคลแรกที่อธิบายถึงการเกี่ยวข้องของอาการเส้นประสาทตายของใบหน้าที่เกิดจากเหตุภายในกับอาการอัมพาตหรือประสาทตายที่เกิดขึ้นจากสาเหตุภายนอก

อิบนุซีนายังเป็นบุคคลแรกที่อธิบายถึงลักษณะของพยาธิในลำไส้ใหญ่ (intestinal worm) และเป็นบุคคลแรกที่อธิบายอย่างชัดเจนถึงระบบทางเดินหายใจและถึงแม้ว่าการผ่าตัดในยุคของอิบนุซีนายังไม่บรรลุถึงขั้นที่การผ่าตัดในปัจจุบัน แต่อิบนุซีนาก็มีความโดดเด่นในการผ่าตัดที่เกี่ยวกับก้อนเนื้อร้าย คือ มะเร็งนั่นเอง ทัศนะความเห็นของอิบนุซีนาเกี่ยวกับมะเร็งนั้นมีความแม่นยำและถูกต้อง

เขาได้ตั้งข้อสังเกตอย่างละเอียดถึงการวินิจฉัยอาการที่เกิดขึ้นในร่างกายจากอาการมะเร็ง และเขามีความเห็นว่า มะเร็งในสตรีนั้นจะถูกพบมากกว่าผู้ชาย และหากว่ามันเป็นมะเร็งภายใน มันจะค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ และยากต่อการรักษาให้หายขาด ส่วนมะเร็งภายนอกนั้น การแพทย์และหมอจะเข้าไปเกี่ยวข้องนับแต่แรกขณะที่มันมีอาการบวมอักเสบขนาดเล็ก และสามารถใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อตัดรากถอนโคนก้อนมะเร็งนั้นออก และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ซึ่งสิ่งนี้หมอผู้เชี่ยวชาญในโรคมะเร็งปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ อิบนุซีนายังสามารถค้นพบการเกี่ยวพันระหว่างสรีระร่างกายและจิตใจและจะต้องรักษาโรคนี้ด้วยหลักวิชาจิตวิทยา ซึ่งสิ่งนี้ การแพทย์ยุคใหม่เพิ่งก้าวถึงไม่นานมานี้เอง

มหาวิทยาลัย มอนตฺบิเล่ฮฺ และมหาวิทยาลัยแห่งนครปารีสของฝรั่งเศสได้รับอิทธิพลทางด้านการแพทย์ของชาวมุสลิมเป็นอันมาก ดังปรากฏพระราชกฤษฎีกาซิ่งประกาศโดย พระสันตะปาปา คลีเมนต์ที่ 5 ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 (ราวปี ค.ศ.1309) ตามข้อเสนอของเหล่าคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมอนตฺบิเล่ฮฺ โดยกำหนดระเบียบของผู้ที่จะประกอบอาชีพหมอว่าจะต้องผ่านการสอบในตำราที่ถูกกำหนด โดยเฉพาะตำราของอิบนุซีนาและอัรรอซีย์

และในปี ค.ศ.1340 มีการกำหนดหลักสูตรในคณะแพทย์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัย มอนตฺบิเล่ฮฺ ส่วนหนึ่งจากแบบเรียนของหลักสูตรนั้นคือ ตำรา “อัลกอนูน” ของอิบนุซีนา ในส่วนของมหาวิทยาลัยปารีสก็กำหนดให้ตำราของอิบนุซีนาในการเรียนการสอนเช่นกัน