เขมร (จาม) ขุดคูเมือง

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์จดว่า “โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลัง และเลกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนครทั้งพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรสถานมงคล โปรดให้รื้อป้อมวิชเยนทร์ และกำแพงเมืองธนบุรี ฟากตะวันออกตรงที่เรียกว่า คลองคูเมืองเดิมออก ขยายพระนครด้านตะวันออกตั้งแต่บางลำพูหรือวัดสังเวชไปออกแม่น้ำข้างใต้ที่วัดเชิงเลนหรือวัดบพิตรพิมุข และพระราชทานชื่อว่า “คลองรอบกรุง”

ขุดคลองเชื่อมคลองรอบกรุงกับคลองคูเมืองเดิม 2 คลอง คลองหนึ่ง คือ คลองข้างวัดราชบพิธ อีกคลองหนึ่งข้างวัดราชนัดดากับวัดเทพธิดา ทำสะพานข้าม และสะพานน้อยข้ามคลองภายในพระนครหลายตำบล

ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแก ปัจจุบันคือวัดสระเกศ พระราชทานนามว่า “คลองมหานาค” เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลง และสักวาในเทศกาลฤดูน้ำ เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า

เขมรที่ถูกเกณฑ์มีหลายพวก แต่พวกหนึ่งเป็นจามที่เข้ารีตอิสลามอยู่ในเมืองเขมร เมื่อขุดคลองคูเมือง และคลองมหานาคแล้ว ก็โปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่สองฝั่งคลองสืบมาทุกวันนี้ เรียกบ้านครัว หมายถึง ถูกกวาดต้อนมาทั้งครอบครัว เลยเรียกยกครัว กลายเป็นบ้านครัวในปัจจุบัน (สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯ มาจากไหน?, ศิลปวัฒนธรรม (2548) หน้า 115-116)