การบ่งชี้ของท่านศาสนฑูตถึงการที่อบูบักร อัศ-ศิดดิ๊ก (ร.ฎ.) จะได้ดำรงตำแหน่ง ค่อลีฟะฮฺแห่งประชาชาติอิสลามหลังจากท่าน

บรรดานักวิชาการในฝ่ายอะหฺลิสซุนนะหฺวัลญ่ามาอะหฺ ต่างก็ยืนยันและมีความเชื่อว่าผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่มวลสาวกของท่านศาสนฑูต นั้นคืออบูบักร อัศ-ศิดดิ๊ก ถัดมาก็คือ ท่านอุมัร อัลฟารู๊ก (ร.ฎ.) ต่อมาคือ ท่านอุสมาน ซุนนูรอยนฺ (ร.ฎ.) และท่านอาลี อัลมุรตะฎอ (ร.ฎ.) ตามลำดับ  บุคคลทั้งสี่ท่านคือ เหล่าผู้สืบทอดภายหลังจากท่านศาสนฑูตที่ดำรงมั่นอยู่ในวิถีทางแห่งความถูกต้อง

ในส่วนของอบูบักร อัศ-ศิดดิ๊ก (ร.ฎ.) นั้นนักวิชาการมีทัศนะที่แตกต่างกันในกรณีที่ว่า ท่านศาสนฑูตได้ระบุชัดเจนหรือไม่ถึงการเป็นค่อลีฟะฮฺของอบูบักร (ร.ฎ.) หลังจากท่านศาสนฑูต นักวิชาการกลุ่มหนึ่งจากฝ่ายนักวิชาการหะดีษ (มุฮัดดิษูน) ได้มีทัศนะว่า มีตัวบทที่ชัดเจนบ่งชี้ถึงการเป็นค่อลีฟะฮฺของอบูบักร (ร.ฎ.) ส่วนปวงปราชญ์ส่วนใหญ่ของอะหฺลิสซุนนะหฺ กลุ่มมัวะตะซิละหฺ และค่อวาริจญ์ มีทัศนะว่าท่านศาสนฑูตมิได้กำหนดหรือระบุเจาะจงว่าบุคคลใดจะเป็นค่อลีฟะฮฺต่อจากท่าน ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีหลักฐานและตัวบทสนับสนุนทัศนะที่ฝ่ายตนได้แสดงเอาไว้

ท่านอิบนุตัยมียะหฺ (ร.ฮ.) ได้กล่าวว่า : ที่ถูกต้องนั้นคือท่านศาสนฑูตได้เคยทรงบ่งชี้ถึงการเป็นค่อลีฟะฮฺของอบูบักร (ร.ฎ.) แก่บรรดามวลผู้ศรัทธา และชี้ชัดถึงอบูบักร (ร.ฎ.) แก่พวกเขาให้ทราบด้วยประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดและการปฏิบัติของท่านศาสนฑูต และพระองค์ยังได้ทรงบอกถึงการเป็นค่อลีฟะฮฺของอบูบักร (ร.ฎ.) อันเป็นที่น่าพึงพอใจและสรรเสริญต่ออบูบักร (ร.ฎ.) อีกด้วย

ท่านศาสนฑูตเคยมีความตั้งใจที่เขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกรณีดังกล่าวเอาไว้เป็นพันธสัญญา ครั้นต่อมาท่านก็ทราบเป็นที่แน่ชัดว่าเหล่ามวลผู้ศรัทธาต่างก็จะร่วมเห็นพ้องด้วยเอกฉันท์กับท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ในฐานะผู้นำต่อจากท่านจึงได้ละวางจากการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเนื่องจากเป็นการพอเพียงแล้วถึงความวางใจในสิ่งดังกล่าว

ต่อมาภายหลังท่านศาสนฑูตก็มีความตั้งใจที่จะกระทำเช่นนั้นอีกครั้ง เมื่อคราวที่ท่านล้มป่วยหนักในวันพฤหัสบดี (ก่อนสิ้นชีวิตหลายวันด้วยกัน) ครั้นเมื่อสาวกบางคนเกิดความลังเลไม่มั่นใจในเรื่องดังกล่าวว่าการสั่งของท่าน ศาสนฑูตให้มีการบันทึกพันธสัญญาสั่งเสียเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเกิดจากอาการเจ็บป่วยหรือไม่ หรือเป็นคำสั่งในเชิงที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

(เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้)  ท่านศาสนฑูตจึงได้ละจากการบันทึกลายลักษณ์อักษรอันเนื่องจากเป็นการพอเพียงแล้วสำหรับสิ่งที่ท่านทราบดีว่า พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเหล่ามวลผู้ศรัทธาจะเลือกท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ให้เป็นค่อลีฟะฮฺสืบต่อจากท่าน

ดังนั้นถ้าหากว่าการกำหนดเจาะจงบุคคล (ที่จะดำรงตำแหน่ง ค่อลีฟะฮฺสืบต่อจากท่านนั้น) เป็นสิ่งที่มีความคลุมเครือไม่กระจ่างชัดเจนต่อประชาชาติของท่านแล้ว แน่นอนท่านศาสนฑูตย่อมจะแจ้งให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนั้นเพื่อตัดปัญหาทั้งปวง (มินฮาญุซซุนนะหฺของท่านตะกียุดดีน อิบนุ ตัยมียะหฺ 1/139)

ตัวบทอัลหะดีษที่ระบุชัดเจนถึงการเป็นค่อลีฟะฮฺของท่านอบูบักร อัศศิดดิ๊ก (ร.ฎ.)
1. รายงานจากท่านหญิงอาอีชะหฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านศาสนฑูตได้ทรงกล่าวแก่ฉันเมื่อคราวท่านล้มป่วยว่า : เธอจงเรียกอบูบักร บิดาของเธอและพี่ชายของเธอมาหาฉันเพื่อที่ฉันจักได้เขียนหนังสือขึ้นมาฉบับหนึ่ง ทั้งนี้เพราะฉันเกรงว่าจะมีผู้ที่มีความปรารถนาเกิดความต้องการและมีผู้กล่าวว่า ฉันสมควรกว่าและพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ตลอดจนเหล่าผู้ศรัทธาจะปฏิเสธ (ไม่ยอมรับผู้ใด) นอกจากอบูบักร (เท่านั้น)”  รายงานโดย บุคอรียฺและมุสลิม

2. รายงานจากท่านญุบัยรฺ อิบนุ มุฏอิม (ร.ฎ.) กล่าวว่า : มีสตรีนางหนึ่งมาหาท่านศาสนฑูต ท่านศาสนฑูตจึงได้ทรงใช้ให้นางกลับมาหาท่าน (อีกครั้งหนึ่ง) นางจึงกล่าวขึ้นว่า : ขอท่านได้บอกฉันทีว่า หากฉันได้มาแล้ว ฉันไม่พบท่านอีกเล่า (นางหมายถึงการเสียชีวิตของท่านศาสนฑูต) ท่านจึงกล่าวว่า : ถ้าหากว่าเธอไม่พบฉัน ดังนั้นเธอจงมาหาอบูบักร (รายงานสอดคล้องกันโดยบุคอรียฺและมุสลิม) และอิบนุ สะอฺด์ บันทึกหะดีษนี้ไว้ในอัฏเฏาะบะกอต อัลกุบรอ เล่มที่ 2 หมวด 2 หน้า 20 , ท่านอิหม่ามอะหฺหมัด ในมุสนัด เล่มที่ 4/82,83 ท่านอัฏเฏาะยาลีซีย์ ในมุสนัด หะดีษเลขที่ 944)

3. รายงานจากท่านอบู มูซา อัลอัชอารียฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ท่านศาสนฑูตได้ล้มป่วยและอาการป่วยของท่านก็ทรุดหนัก ท่านจึงกล่าวว่า : พวกท่านทั้งหลายจงสั่งให้อบูบักรนำผู้คนละหมาดเถิด ท่านหญิงอาอีชะหฺ (ร.ฎ.) ได้กล่าวว่า : โอ้ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ แท้จริงอบูบักรเป็นบุคคลที่อ่อนไหว เมื่อเขายืนแทนที่ท่านเขาก็ย่อมไม่สามารถนำผู้คนละหมาดได้ ท่านศาสนฑูตจึงกล่าวว่า : พวกท่านทั้งหลายจงสั่งให้อบูบักรนำผู้คนละหมาดเถิด

ท่านหญิงอาอีชะหฺ (ร.ฎ.) ได้กล่าวว่า : โอ้ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ แท้จริงอบูบักรเป็นบุคคลที่อ่อนไหว เมื่อเขายืนแทนที่ท่านเขาก็ย่อมไม่สามารถนำผู้คนละหมาดได้ ท่านศาสนฑูตจึงกล่าวว่า พวกท่านทั้งหลายจงสั่งให้ อบูบักรนำผู้คนละหมาดเถิด ท่านหญิงอาอีชะหฺ (ร.ฎ.) ก็ได้กล่าวเช่นนั้นอีก ท่านจึงทรงกล่าวว่า : เธอ (อาอิชะห์) จงใช้ให้อบูบักรนำผู้คนทั้งหลายละหมาดเถิด ดังนั้นพวกเธอทั้งหลายย่อมเป็นบรรดาเพื่อนสตรีของยูซุฟ ดังนั้นท่านศาสนฑูตจึงได้มาหาอบูบักร อบูบักรจึงได้นำผู้คนละหมาดในขณะที่ท่านศาสนฑูตยังมีชีวิตอยู่ รายงานสอดคล้องกันโดยท่านบุคอรียฺและมุสลิม และนับเป็นส่วนหนึ่งจากหะดีษที่รายงานอย่างท่วมถ้น (มุตะวาติร)

ฝ่ายอะหฺลิสซุนนะหฺวัลญ่ามาอะหฺได้ถือว่าเหตุการณ์การเป็นผู้นำละหมาดของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) โดยคำสั่งของท่านศาสดานั้นเป็นการบ่งชี้ถึงการย้ายตำแหน่งการเป็นค่อลีฟะฮฺสู่ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ภายหลังจากท่านศาสนฑูต ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดเพราะมุสลิมทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นอะหฺลิสซุนนะหฺหรือชีอะหฺ ต่างก็เห็นพ้องกันว่าการนมัสการละหมาดนั้นเป็นภาระทางศาสนาที่สำคัญที่สุด และถือเป็นหลักการปฏิบัติประการแรกของศาสนา

โดยที่ฝ่ายอะหฺลิสซุนนะหฺได้นำเอาการเป็นผู้นำสูงสุด คือการเป็นค่อลีฟะหฺมาเทียบกับการเป็นผู้นำเล็ก คือ การนำการนมัสการละหมาด ทั้งนี้เพราะว่าไม่ปรากฏว่ามีหลักมูลฐานใดในอิสลามที่จะประเสริฐไปกว่าการนมัสการหลังจากการให้เอกภาพ (อัตเตาฮีด) ด้วยเหตุนี้การที่ท่านศาสนฑูตได้สั่งใช้ให้ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) นำผู้คนละหมาดในขณะที่ท่านล้มป่วยนั้นย่อมมีเป้าหมายจากท่านต่อการที่จะชี้นำมวลมุสลิมให้ทราบว่า ท่านอบูบักร อัศศิดดิ๊ก มีความเหมาะสมที่สุดต่อการเป็นผู้นำสูงสุดในศาสนาภายหลังท่าน

ส่วนหนึ่งจากบุคคลที่มองเห็นถึงหลักการสำคัญข้อนี้ก็คือท่านอะลี อิบนุ อบีฏอลิบ (ร.ฎ.) เอง โดยท่านบุคอรียฺได้รายงานจากท่านมุฮำหมัด อิบนุ อัลหะนะฟียะฮฺ จากบิดาของท่านคือ ท่านอะลี อิบนุ อบีตอลิบ (ร.ฎ.) และท่านอัลฮะซัน อัลบัศรียฺ ได้รายงานจากกอยซฺ อิบนุ อับบ๊าด ได้กล่าวว่าท่านอะลี (ร.ฎ.) ได้กล่าวแก่ฉันว่า : ท่านศาสนฑูตได้ล้มป่วยอยู่หลายวันหลายคืนก็มีผู้ประกาศการนมัสการละหมาด

ท่านศาสนฑูตจึงได้กล่าวว่า : ท่านจงสั่งใช้ให้อบูบักรนำผู้คนละหมาด ครั้นท่านศาสนฑูตได้ทรงเสียชีวิต ฉัน (คือท่านอะลี) ได้พิจารณาว่า เมื่อนมัสการการละหมาดเป็นสัญลักษณ์ของอิสลามและเป็นแก่นของศาสนา ดังนั้นพวกเราจึงได้พึงพอใจต่อดุนยาของเราต่อบุคคลที่ท่านศาสนฑูตได้ทรงพึงพอใจผู้นั้น (คืออบูบักร) ต่อศาสนาของเรา ดังนั้นพวกเราจึงได้ให้สัตยาบันแก่อบูบักร (ร.ฎ.)

(อัตติรมีซียฺในตุหฺฟะหฺ อัลอะหฺวะซียฺ 10/156 , บุคอรียฺรายงานจากท่านหญิงอาอิชะหฺ 2/166 , 3/77 , 8/143 จากท่านอะนัสและมุสลิม จากท่านอะนัส 1/315 และจากท่านหญิงอาอิชะหฺ 1/316 อัดดารีมียฺ 1/287 จากท่านหญิงอาอิชะหฺ , อัลหุมัยดียฺ 1/105 จากท่านอะนัส อิบนุ สะอฺด์ จากหลายสายรายงาน 1/220 , อะหฺหมัด 2/520 , 1/231 ในมุชกิลุ้ลอาษ๊าร 2/27 และในชัรหุมะอานีอัลอาษ๊าร 1/405)

4. รายงานจากท่านหญิงอาอิชะหฺ (ร.ฎ.) จากท่านศาสนฑูตได้กล่าวว่าไม่เป็นการบังควรสำหรับกลุ่มชนใดที่มีอบูบักรร่วมอยู่ด้วยที่พวกเขาจะให้ผู้อื่นจากอบูบักรเป็นผู้นำของพวกเขา รายงานโดยท่านอัตติรมีซียฺ

5. รายงานจากท่านฮุซัยฟะหฺ อิบนุ อัลยะมาน ว่าท่านศาสนฑูตได้กล่าวว่า พวกท่านทั้งหลายจงปฏิบัติตามบุคคลสองคนหลังจากฉัน อบูบักรและอุมัร รายงานโดย อะหฺหมัด อิบนุ มาญะหฺ , อิบนุ หิบบาน ในเศาะเฮียะหฺของท่าน และท่านอัลหากิมถือว่าเป็นหะดีษเศาะเฮียะหฺ  ท่านอัลบัยฮะกียฺได้คัดรายงายจากท่านอัซซะอฺฟารอนียฺว่า : ฉันเคยได้ยินท่านอิหม่ามอัชชาฟีอียฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : มวลชนได้เห็นพ้องเป็นมติถึงการเป็นค่อลีฟะฮฺของท่านอบูบักร กรณีดังกล่าวเนื่องจากผู้คนเกิดความสับสนภายหลังจากท่านศาสนฑูต และพวกเขาก็ไม่พบว่าภายใต้ท้องฟ้านี้จะมีผู้ใดที่จะประเสริฐไปกว่าท่านอบูบักร (ร.ฎ.)

ดังนั้นพวกเขาจึงได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้นำเหนือพวกเขา (อัศ-เศาะวาอิกฺ หน้า 11) ท่านอิหม่ามอันนะวะวียฺได้กล่าวว่า : ประชาชาติได้มีมติเห็นพ้องถึงความถูกต้องในการเป็นค่อลีฟะหฺของท่านอบูบักร และเหล่าอัครสาวก (ร.ฎ.) ก็ได้ถือว่าท่านมีความประเสริฐเหนือผู้อื่นเนื่องจากคุณลักษณะของท่านอบูบักรที่เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่อัครสาวก และเป็นผู้ที่มีสิทธิสมควรที่สุดต่อการเป็นค่อลีฟะหฺมากกว่าผู้อื่น และหะดีษที่รายงานถึงการให้สัตยาบันแก่ท่านนั้นเป็นที่ทราบกันดีดังระบุในเศาะเฮียะหฺทั้งสอง

ท่านอบูบักร อัศศิดดีก (ร.ฎ.) ได้ดำรงตำแหน่งค่อลีฟะฮฺเป็นเวลา 2 ปี 3 เดือน 3 วัน และท่านได้เสียชีวิตในปีฮ.ศ. ที่ 13 ในค่ำคืนของวันอังคารของช่วงเวลา 7 วันสุดท้ายของเดือนญุมาดิ้ลอาคิเราะหฺ ขณะมีอายุได้ 63 ปี ศพของท่านถูกฝังอยู่ในบ้านของท่านหญิงอาอิชะหฺ (ร.ฎ.) เคียงข้างกับสุสานของท่านศาสนฑูต ขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงพึงพอพระทัยต่อท่านอบูบักร อัศศิดดีกด้วยเถิด และท่านศาสนฑูตได้กล่าวไว้สมจริงแล้วถึงการเป็นค่อลีฟะหฺของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ภายหลังจากการเสียชีวิตของท่านดังเป็นที่ทราบกันในประวัติศาสตร์อิสลาม และนี่คือหนึ่งจากสัจจพยากรณ์ของท่านศาสนฑูต (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)