บรรดาวิถีทางแห่งอิสลาม

เมื่อปรากฏว่าการเรียกร้องแห่งอิสลามได้รับการขานรับจากผู้คน โดยมิต้องมีการทุ่มเทเป็นการเฉพาะ  ก็ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องปรากฏว่ามีวิถีทางหลากหลายที่การเรียกร้องแห่งอิสลามได้ขับเคลื่อนจากเส้นทางแห่งวิถีทางเหล่านั้น  อุปมาในสิ่งดังกล่าวก็อุปมัยดังเช่น  “สายน้ำซึ่งได้ซึมซาบลงสู่ชั้นของพื้นดินและทุ่งนา”  สายน้ำจะไหลรินได้ก็จากเส้นทางที่มันสามารถซึมซาบได้อย่างสะดวก  โดยจะไม่ไหลย้อนกลับสู่เบื้องสูง  หากแต่จะไหลลงสู่ที่ต่ำลาดชัน  และในการไหลลงสู่พื้นที่ต่ำนั้นสายน้ำก็จำต้องมีเส้นทางของมัน

เมื่อเราได้ติดตามสังเกตการไหลของน้ำลงสู่เบื้องต่ำเราจะพบว่าน้ำจะไหลเชี่ยวกรากลงสู่ทุ่งโล่งและรวมตัวอยู่ในพื้นที่ที่มีสิ่งขวางกั้นเพื่อรอเวลาที่จะเอ่อล้นสู่เส้นทางสายใหม่  กระแสน้ำอันเชี่ยวกรากยังคงไหลอยู่เช่นนั้นอย่างต่อเนื่องและจะมีการแยกเส้นทางออกไปจากลำน้ำเดิม  ไปบรรจบกันอีกในช่วงหนึ่งและรวมตัวกันจนกลายเป็นลำห้วย  คูคลองและแม่น้ำน้อย  หลังจากนั้นก็จะกลับกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่มีน้ำไหลเอื่อยอยู่ตลอดเวลา  แม่น้ำสายใหญ่ทั้งหลายที่มีลำน้ำเป็นเส้นทางยาวมากๆ ก็ย่อมมีสาขาของแม่น้ำนั้นมากเช่นกัน 

และนั่นก็คือจุดกำเนิดของชุมชนและความเจริญ  ส่วนสายน้ำที่ไหลเอื่อยจนสู่แก่งตะกอนและแคบลงเรื่อยๆ จนกระทั่งลับหายไปในพื้นดินก็ย่อมไม่มีความเจริญเกิดขึ้นบนลำน้ำนั้น  เมื่อเราได้ตั้งคำถามถึงเส้นทางของอิสลาม  เราก็จะพูดถึงเส้นทางต่างๆ ดังกล่าวที่กระแสแห่งการเรียกร้องได้มารวมตัวกันตามเส้นทางนั้นจนเกิดเป็นสายน้ำที่พวยพุ่งจากความศรัทธาและทำให้เมืองทั้งเมืองหรือส่วนใหญ่เป็นอิสลาม  ดังกล่าวนั้นคือเส้นทางอันหลากหลายที่เราให้ความสำคัญในการมุ่งวิเคราะห์ศึกษา

เส้นทางแรกๆ ของการเผยแผ่อิสลามก็คือ  เส้นทางการค้าขาย  เมื่ออิสลามยังคงเป็นศาสนาที่โบยบิน  คือเคลื่อนย้ายจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง  และจากกลุ่มชนหนึ่งสู่อีกกลุ่มชนหนึ่ง  ก็ย่อมจะต้องปรากฏว่ามนุษย์ผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนั้นมีการเคลื่อนไหว  หรือกลุ่มชนนั้นๆ จะต้องมีการเคลื่อนไหว  ขบวนการที่มีการเคลื่อนไหวของมนุษย์ที่มีระบบแบบแผนมากที่สุดก็คือการเคลื่อนไหวตามเส้นทางการค้าขาย  ทั้งนี้เพราะการค้าขายคือตัวสินค้าทั้งหลายแหล่ที่มนุษย์มีความต้องการตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา 

ในยุคปัจจุบันนี้สินค้าจะมีการขนถ่ายผ่านเส้นทางการเดินเรือ, เครื่องบิน  และรถไฟ  บรรดาพ่อค้าจะรอคอยสินค้าของตนที่ถูกส่งมาโดยไม่ยุ่งยากและเกิดความยากลำบากในการรับส่งสินค้า  โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทขนส่งสินค้าหรือบริษัทประกันภัยสินค้า  นอกจากนี้เส้นทางการค้ายังเป็นเส้นทางการติดต่อของมวลมนุษย์อีกด้วย  กองคาราวานสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งมีผู้คนหลายร้อยหลายพันชีวิตร่วมขบวนมาจะใช้เส้นทางเหล่านั้นลำเลียงสินค้าและขนถ่าย  พ่อค้าทุกคนจะมีลูกน้องผู้ติดตามและลูกหาบที่คอยแบกสัมภาระและสินค้า  ด้วยเหตุดังกล่าว  กองคาราวานจึงเปรียบดุจดังสายน้ำที่พวยพุ่งจากผู้คนที่ดำเนินไปในเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ในแต่ละปี

ในช่วงยุคกลาง  มุสลิมคือผู้คนส่วนใหญ่ที่ร่วมขบวนคาราวานสินค้า  โดยไม่เคยปรากฏว่าชาวอินเดีย,  เปอร์เซีย,  มองโกลหรือชาวยุโรปเป็นเจ้าของกองคาราวานที่มีระเบียบขนาดใหญ่  ทั้งนี้เพราะดินแดนของอินเดีย,  เปอร์เซียและยุโรปไม่มีพื้นที่อันเป็นท้องทะเลทรายอันกว้างใหญ่ไพศาลที่มีความจำเป็นในการจัดตั้งกองคาราวานที่มีระเบียบ  และในดินแดนดังกล่าว  ชุมชน  หมู่บ้าน  และหัวเมืองอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน  นักเดินทาง,  พ่อค้าจะโยกย้ายจากตำบลหนึ่งสู่อีกตำบลหนึ่งภายในระยะทางเพียงหนึ่งวัน  หรืออาจไม่ถึงจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกองคาราวานขนาดใหญ่ที่มีระเบียบ 

ส่วนชาวอาหรับนั้นดินแดนของพวกเขาคือท้องทะเลทรายที่ส่วนต่างๆ มิอาจจะติดต่อกันได้นอกจากการใช้กองคาราวานขนาดใหญ่ที่มีการคุ้มกัน  หรือดำเนินไปในเส้นทางที่ปลอดภัย  จากการทำข้อตกลงกับเผ่าต่างๆ ที่มีหลักแหล่งตามรายทาง

ประการต่อมาก็คือว่า  ดินแดนที่ชาวอาหรับนำสินค้ามาจากดินแดนเหล่านั้นเป็นพื้นทะเลทรายเสียเป็นส่วนใหญ่  เช่น  ที่ราบสูงอิหร่าน,  ทะเลทรายในเอเซียกลาง,  ทะเลทรายที่เชื่อมต่อกับชมพูทวีป,  ชนบทของซีเรียและคาบสมุทรไซนาย  ทะเลทรายทางตะวันออกของอียิปต์  และทะเลทรายซาฮาร่าในแอฟริกา

ชาวอาหรับซึ่งอยู่ในท้องทะเลทรายของตนได้จัดตั้งกองคาราวานขนาดใหญ่อย่างเป็นระบบในยุคก่อนอิสลาม  นครมักกะห์  คือ  ตลาดทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดที่อาศัยกองคาราวาน  เป็นที่ทราบกันในประวัติศาสตร์ว่า  ท่านฮาชิม  อิบนุ  อับดิมาน๊าฟ  ปู่ของท่านศาสดา  (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  คือบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งที่มีความช่ำชองในการจัดขบวนคาราวานสินค้าที่รู้จักในประวัติศาสตร์ 

ท่านกุซ็อยซ์  อิบนุ  กิล๊าบ  ซึ่งเป็นผู้สร้างฐานอำนาจของกุเรซและเป็นผู้นำเผ่ากุเรซเข้ายึดครองมักกะฮฺและเปลี่ยนให้มักกะฮฺเป็นฐานที่มั่นของกุเรซก็คือผู้ที่สืบทอดมรดกอันรุ่งโรจน์ของท่านฮาชิมในเวลาต่อมา เมื่อท่านกุซ็อยย์ได้เป็นผู้นำทางทหารและการเมืองที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว  ท่านก็ทราบดีถึงการที่ท่านจะปกครองกลุ่มชนในมักกะห์และเขตปริมณฑลอย่างไร

ท่านฮาชิมเป็นนักการค้าและคหบดี  ท่านสามารถวางรากฐานอันแข็งแกร่งทางการค้าของมักกะฮฺ  โดยกำหนดหุ้นส่วนในการลงทุนอย่างเป็นระบบซึ่งชาวมักกะฮฺทุกคนจะมีหุ้นส่วนในการค้าสู่แคว้นชามและยะมัน  ต่อมาท่านฮาชิมก็จะทำข้อตกลงกับเผ่าต่างๆ ที่กองคาราวานสินค้าต้องใช้เส้นทางผ่านจากยะมันสู่มักกะฮฺและจากมักกะฮฺสู่หัวเมืองชามหรืออียิปต์,  กาซ่า  หรืออิรัก  ข้อตกลงเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในนาม  อัลอีล๊าฟ  (การสร้างความปลอดภัย)

นอกจากนี้ท่านฮาชิมยังได้ทำข้อตกลงอัลอิซ็อม  (การคุ้มกัน)  ซึ่งก็คือการอนุญาตที่อาณาจักรต่างๆ ได้มอบให้แก่ผู้เดินทางและพ่อค้าเพื่อท่องไปในดินแดนของอาณาจักรนั้นๆ อย่างปลอดภัย  ท่านฮาชิมได้ข้อตกลงอัลอิซ็อมกับเจ้าหน้าที่ของจักรพรรดิเปอร์เซียและโรมันตลอดจนตัวแทนของอบิสซิเนียในเมืองชุอัยบะห์เพื่อให้การคุ้มครองความปลอดภัยแก่การค้าของมักกะห์ในอบิสซิเนีย

ด้วยความดีความชอบที่ท่านฮาชิม  อิบนุ  อับดิมาน๊าฟ  ได้จัดระเบียบเอาไว้การค้าของมักกะฮฺก็มีระบบแบบแผนตั้งแต่ยุคก่อนอิสลามและมักกะฮฺก็กลายเป็นตลาดทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงยุคกลางแห่งหนึ่งของโลก  และภายในโรงเรียนของฮาชิมนั้นชาวอาหรับก็ได้ศึกษาเรียนรู้ถึงการจัดขบวนกองคาราวานสินค้าที่แยบยลและมีระบบและถ่ายทอดกันเป็นมรดกสืบทอดมาจนกระทั่งชาวอาหรับได้กลายเป็นกลุ่มชนที่มีความสันทัดในการจัดขบวนกองคาราวานสินค้ามากที่สุดและพ่อค้าในเอเซียกลางไม่ว่าจะเป็นมองโกล,  เติร์ก,  อิหร่าน  ตลอดจนพ่อค้าในแอฟริกาเหนือก็ได้รับเอาศิลปะแขนงนี้ไปจากชาวอาหรับ 

และทั้งๆ ที่คำที่ใช้เรียกกองคาราวานจะไม่ใช้คำในภาษาอาหรับดั้งเดิม  นั่นคือคำว่า  การาวาน,  การฟาน  ซึ่งเป็นคำในภาษาเปอร์เซียที่มีความหมายว่า  สถานีสินค้า  หรือป้อมปราการที่อยู่ในดินแดนทุรกันดาร  (ชาวอาหรับเรียกคำว่า  การาวานด้วยสำเนียง  กอยร่อวาน)  นอกเสียจากว่ากองคาราวานสินค้าในประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรมของมนุษย์นั้นอยู่เคียงคู่กับชาวอาหรับ  ซึ่งพวกเขาก็คือผู้คนแห่งกองคาราวานสินค้าโดยสัญชาตญาณ 

อัลมัสอูดีย์ได้กล่าวถึงกองคาราวานของชาวอาหรับและความช่ำชองของพวกเขาในการจัดขบวนคาราวานเอาไว้เสียยืดยาวในหนังสือมุรูญุซซะฮับ  และในคำบันทึกของอิบนุบัตตูเตาะห์เองก็มีสิ่งที่เข้าใจได้ว่า  ชาวอาหรับเป็นที่เลื่องลือในเรื่องการจัดขบวนกองคาราวาน  จนกระทั่งว่า  พวกพ่อค้าชาวเติร์ก,  เปอร์เซีย  และมองโกลเองนั้นยังให้ความสำคัญต่อชาวอาหรับถึงขั้นตั้งให้เป็นนายกองคาราวานและผู้รับผิดชอบในการจัดขบวนสินค้าเป็นการเฉพาะ

กองคาราวานสินค้าเหล่านี้นี่เองที่ถือเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาวิถีทางที่มีระบบแบบแผนในการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม  ชาวอาหรับมุสลิมเป็นผู้นำและเจ้าของกองคาราวาน  ผู้ร่วมขบวนส่วนใหญ่ก็คือมุสลิมกองคาราวานสินค้าเหล่านี้ได้ท่องไปในดินแดนต่างๆ โดยนำเอาอิสลามไปด้วย 

ทุกครั้งที่กองคาราวานจอดพักในสถานที่แห่งหนึ่งแห่งใดก็จะมีการป่าวประกาศ  (อะซาน)  และดำรงการนมัสการ  ผู้คนก็จะได้ประจักษ์เห็น-ซึ่งอาจจะมิใช่มุสลิม-ผู้ร่วมขบวนหลายพันคนเข้าแถวปฏิบัติการนมัสการอย่างมีระเบียบ,  มีอากัปกิริยาความสงบนอบน้อมที่เป็นหนึ่งเดียว  สิ่งดังกล่าวย่อมส่งอิทธิพลต่อหัวใจของผู้คนที่ได้ประจักษ์เห็น  เช่นนี้เองอิสลามได้เคลื่อนสู่เอเซียกลางและเอเซียใต้ตลอดจนตะวันออกเฉียงใต้จากเส้นทางการค้าและกองคาราวาน  และในแอฟริกากลางก็เช่นกัน  โดยรุกฝ่าเข้าไปในทะเลทรายซะฮาร่าสู่เขตแอฟริกาในเส้นเขตร้อนใต้ 

ตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษในอดีตชาวอาหรับยังเป็นกลุ่มชนที่มีความชำนาญในการเดินเรือทะเล  นอกเหนือจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดขบวนสินค้าทางบก  ชาวอาหรับในเยเมนและเขตฮัฎร่อเมาต์รวมถึงโอมานยังเป็นนักเดินเรือที่เป็นที่รู้จักกันดี  ณ  จุดนี้เราจะพบว่าชาวอาหรับมีความสันทัดในศาสตร์ของการเดินเรือทะเล  พวกเขาได้ตั้งกองเรือล่องสู่ท้องทะเลและมหาสมุทรต่างๆ อย่างเป็นระบบถึงแม้ว่าจะมีขนาดกองเรือที่เล็กก็ตาม  ชาวอาหรับรู้จักการใช้ใบเรือและการควบคุมใบเรือ  และสามารถนำเรือให้ล่องไปในท้องทะเลที่มีคลื่นสูงด้วยใบเรือนั้น 

พวกเขาเรียนรู้ทิศทางลม,  พายุฝนและการกำหนดตำแหน่งของดวงดาว  จนมีความชำนาญในศาสตร์ของการเดินเรือ  พวกเขาศึกษาน่านน้ำและท้องทะเล,  เส้นทาง,  ท่าจอดเรือ  และตำแหน่งของดวงดาวทางทิศตะวันตก  มีนักเดินเรือชาวอาหรับที่มีความช่ำชองปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์หลายต่อหลายคน  โดยขนานนามว่า  อัรร่อบาบินะห์  (ผู้ควบคุมกองเรือ)  โดยมีอยู่สี่คนที่ได้ฉายานามว่า  ราชสีห์แห่งท้องทะเลที่สำคัญที่สุดก็คือ  สุลัยมาน  อัลมีรีย์  และชีฮาบุดดีน  อะห์หมัด  อิบนุ  มาญิ๊ด 

ความชำนาญในศาสตร์การเดินเรือของชาวอาหรับทางตอนใต้คาบสมุทอาหรับคือสิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นผู้มีอำนาจในน่านน้ำแถบนี้จวบจนกระทั่งพวกโปรตุเกสได้เข้ามาในช่วงศตวรรษที่  16  และนักเดินเรือชาวอาหรับก็ได้ทำให้พวกโปรตุเกสประจักษ์ถึงความเก่งกาจของตน  ชาวโอมานจึงเป็นพวกแรกที่ทำลายกองเรือของโปรตุเกสและขับไล่พวกโปรตุเกสออกไปจากน่านน้ำของอ่าวอาหรับ

การค้าทางทะเลหรือพาณิชย์นาวีที่ชาวอาหรับเป็นผู้สันทัดกรณีนับได้ว่าเป็นเส้นทางที่สำคัญประการหนึ่งในการแพร่หลายของอิสลาม  กองเรือของชาวอาหรับได้นำอิสลามสู่แอฟริกาตะวันออกจรดเมืองท่าสุฟาละห์  (سُفَالَة) และโมซัมบิก  และนำอิสลามสู่เขตชายฝั่งของอินเดียตะวันออก  ต่อจากนั้นก็เข้าสู่มะลักกา  และดินแดนอัลมิฮฺรอจ  หรืออินโดนีเซียในปัจจุบันตลอดจนดินแดนทางเหนือของอินโดนีเซียในหมู่เกาะฟิลิปปินส์