การบ่งชี้ของท่านศาสนฑูตถึงการเป็นค่อลีฟะฮฺของท่านอุมัร อิบนุ อัลค๊อฏฏ๊อบ (ร.ฎ.) ต่อจาก ท่านอบูบักร อัศศิดดีก (ร.ฎ.)

ท่านอิหม่ามอันน่าวาวียฺ (ร.ฮ.) ได้กล่าวไว้ในอัตตะฮฺซีบว่า : ท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้ดำรงตำแหน่งค่อลีฟะฮฺด้วยการมอบหมายของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ให้รับช่วงต่อโดยที่ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ได้ทำการปรึกษาหารือกับเหล่าอัครสาวกในการให้อุมัรสืบต่อการเป็นค่อลีฟะฮฺหลังจากท่าน ท่านอับดุรเราะห์มาน อิบนุ เอาฟฺ ก็ได้ให้คำปรึกษาแก่ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) และกล่าวว่า “อุมัรนั้นดีเกินกว่าทัศนะของท่านที่มีในตัวเขาเสียอีก”

หลังจากนั้นท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ก็ได้ขอคำปรึกษาจากท่านอุสมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ท่านอุสมานได้กล่าวว่า : ท่านเองรู้จักอุมัรมากที่สุดในหมู่พวกเรา และเท่าที่ฉันรู้จักอุมัรนั้น การปฏิบัติตัวในที่ลับของอุมัรมีความประเสริฐมากกว่าสิ่งที่เขาแสดงออกให้รับรู้ และในหมู่พวกเราก็ไม่มีใครเหมือนอย่างกับอุมัร และท่าน สะอีด อิบนุ ซัยดฺ ท่านซัยยิด อิบนุ ฮุฎัยร์ ตลอดจนบรรดามุฮาญีรีนและชาวอันศ็อรก็ได้เข้าร่วมปรึกษาหารือกับบุคคลทั้งสองอีกด้วย (หมายถึงท่านอับดุรเราะหฺมานและท่านอุสมาน (ร.ฎ.)

ท่านอุซัยยิด ได้กล่าวว่า อุมัรเป็นผู้ที่ถูกรับรู้ถึงคุณงามความดีมากที่สุดหลังจากท่านเขาจะพึงพอใจต่อสิ่งที่สมควรพึงพอใจ และเขาจะโกรธเพราะนั่นเป็นสิ่งที่สมควรโกรธ การปฏิบัติของเขาในที่ลับดีกว่าที่เขาแสดงออก และไม่มีทางที่จะมีผู้ใดที่เข้มแข็งมากไปกว่าอุมัรในการรับภารกิจนี้ หลังจากนั้นท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ก็ได้เรียกท่านอุสมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) มาหาและกล่าวว่า : ท่านจงบันทึก….ด้วยพระนามของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ผู้ทรงเมตตากรุณาปราณียิ่ง

นี่คือสิ่งที่อบูบักร อิบนุ อบี กุหาฟะหฺ ได้ทำสัญญามอบไว้ในช่วงปลายอายุขัยของเขาในโลกนี้ขณะที่เขาจะออกจากโลกนี้ไป และในขณะช่วงแรกของเขา ณ โลกหน้า ในสภาพที่เขาเข้าสู่ห้วงของโลกหน้าอันเป็นช่วงที่ผู้ปฏิเสธได้มีศรัทธา คนชั่วก็บังเกิดความไม่มั่นใจ คนมุสาก็บังเกิดความสัจแท้จริง ข้าพเจ้าได้มอบให้อุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ ได้เป็นผู้สืบทอดการเป็นผู้นำเหนือพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังและปฏิบัติตามเขาเถิด และแท้จริงข้าพเจ้าจะไม่บกพร่องต่อพระผู้เป็นเจ้าและศาสนทูตของพระองค์ ต่อศาสนาของพระองค์และต่อตัวฉันเองโดยเฉพาะพวกท่านซึ่งสิ่งที่ดีงาม

ฉะนั้น หากว่าอุมัรมีความเที่ยงตรง นั้นคือคติที่ข้าพเจ้ามีต่อเขา และนั่นคือสิ่งที่ฉันรู้จักเขาดี และถ้าหากว่าเขาเปลี่ยนแปลง ดังนั้น แต่ละบุคคลก็คือสิ่งที่เขาได้พากเพียรเอาไว้ และความดีคือสิ่งที่ข้าพเจ้าประสงค์ และข้าพเจ้าก็ไม่อาจรู้ถึงสิ่งเร้นลับได้เลย (และบรรดาผู้ซึ่งได้อธรรมก็จะได้รู้ว่า สถานที่พำนักใดกันที่พวกเขาจะได้พำนัก) และขอความสันติและความเมตตาแห่งพระผู้เป็นเจ้าจงมีแด่ท่านทั้งหลาย”

หลังจากนั้น ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ก็ได้ใช้ให้เหล่าอัครสาวกลงตราประทับสาส์นดังกล่าว และได้นำสาส์นออกประกาศแก่ผู้คนทั้งหลาย บรรดาปวงชนจึงได้ให้สัตยาบันต่อท่านอุมัรโดยพร้อมเพรียง และพวกเขาก็มีความพึงพอใจต่อท่านอุมัร (ร.ฎ.) หลังจากนั้นท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ก็ได้เรียกตัวท่านอุมัร (ร.ฎ.) และได้ทำการสั่งเสียต่อท่านอุมัร (ร.ฎ.)

ท่านอุมัรเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการขนานนามว่า “อะมีรุ้ลมุอฺมีนีน” (ผู้นำปวงชนผู้ศรัทธา)โดยมีท่านอะดียฺ อิบนุ ฮาติม และท่านละบีด อิบนุ ร่อบีอะหฺ ได้ขนานนามท่านอุมัร (ร.ฎ.) เช่นนั้นขณะที่บุคคลทั้งสองได้เดินทางมาจากอิรักเพื่อเข้าพบท่านอุมัร (ร.ฎ.) ซึ่งก่อนหน้านั้นท่านอุมัร (ร.ฎ.) ถูกขนานนามว่า “ค่อลีฟะตุ้ ค่อลีฟะติ้ร่อซูลิ้ลลาหฺ” (ท่านค่อลีฟะฮฺ – ผู้สืบทอดหลังจาก- ท่านค่อลีฟะฮฺ (คนแรก) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลออฺ โดยได้เปลี่ยนสำนวนดังกล่าวเนื่องจากมีความยืดยาว” (อัตตะฮฺซีบ 2/11,12)

ส่วนหนึ่งจากบรรดาตัวบทที่บ่งชี้ถึงการเป็นค่อลีฟะฮฺของท่านอุมัร (ร.ฎ.) หลังจากท่าน อบูบักร (ร.ฎ.) นั้นคือสิ่งที่เราได้นำเสนอไปบ้างแล้วข้างต้น ในส่วนของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ณ จุดนี้เราจึงขอเสนอตัวบทหลักฐานอื่นๆ เพื่อเป็นการเพิ่มเติม

1. ท่านลัยษฺ อิบนุ อบีสุลัยมฺ ได้รายงานจากมุญาฮิด จากท่านอิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ได้กล่าวว่า : ท่านศาสนฑูตได้กล่าวว่า : แท้จริงสำหรับฉันนั้นมีผู้สนับสนุน (เสนาบดี) 2 คน จากชาวสวรรค์และมีผู้สนับสนุนอีก 2 คนจากชาวโลก ฉะนั้นผู้สนับสนุน 2 คนของฉันจากชาวฟ้าสวรรค์นั้นคือ ญิบรีลและมีกาอีล และผู้สนับสนุน 2 คนจากชาวโลกคือ อบูบักรและอุมัร

และยังมีอีก 2 รายงานในเรื่องเดียวกันนี้จากท่านอบู สะอีด อัลคุดรียฺ ท่านอัตติรมีซียฺได้กล่าวถึงหะดีษของท่านอบู สะอีด ว่าเป็นหะดีษหะสัน ท่านอัซซะฮฺบียฺ กล่าวว่า หะดีษของท่านอิบนุ อับบาสก็เช่นกันเป็นหะดีษหะสัน และมีรายงานจากท่านมุฮำหมัด อิบนุ ษาบิต อัลบันนานียฺ จากบิดาของเขา จากท่านอะนัสเช่นกัน (ซิยัร อะอฺลาม อันนุบะลาอฺ 2/511)

2. ท่านอัลอัชอัษ รายงานจาก อัลหะสัน จากอบี บักเราะฮฺ ว่าท่านศาสนฑูตได้กล่าวขึ้นในวันหนึ่งว่า : มีใครในหมู่พวกท่านที่มีนิมิตในฝันบ้าง ชายคนหนึ่งกล่าวว่า ฉันนี่แหละ ฉันได้ฝันเห็นตาชั่งได้ลงมาจากฟากฟ้า ท่านและอบูบักรก็ถูกชั่งบนตาชั่ง ตาชั่งของท่านก็หนักกว่าท่านอบูบักร ต่อมาอุมัรและอบูบักรก็ถูกชั่งตาชั่ง ท่านอบูบักรก็หนักกว่า และท่านอุมัรกับอุสมานก็ถูกชั่ง ท่านอุมัรก็หนักกว่า หลังจากนั้นตาชั่งก็ถูกยกขึ้นไป และแล้วฉัน (อบูบักเราะฮฺ) ก็ได้เห็นสีหน้าของท่านศาสนฑูตไม่สู้ดีนัก และได้กล่าวว่า “(นั่นคือ) การเป็นค่อลีฟะฮฺสืบต่อจากการเป็นศาสนฑูตหลังจากนั้นพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็จะทรงมอบอำนาจมายังผู้ที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์”

หะดีษนี้เป็นหะดีษเศาะเฮียะหฺ รายงานโดยท่านอบูดาวูด (4634 , 4635) จาก 2 สายรายงานจากท่านอบีบักเราะหฺ สำนวนของหะดีษที่ท่านอบูดาวูดคัดออกไว้นั้นมาจากสายรายงานของอัลอัชอัษ แต่ช่วงสุดท้ายของหะดีษนี้เพิ่มเติมจากสายรายงานอื่น

3. รายงานจากท่านนาฟิอฺ ว่าท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ได้เล่าให้ท่านฟังว่าท่านศาสนฑูตได้กล่าวว่า : “ระหว่างที่ฉันอยู่บนบ่อน้ำเพื่อดึงน้ำขึ้นมาจากบ่อนั้นในบัดดลนั้น อบูบักรและอุมัรก็ได้มา และอบูบักรก็ได้เอากระป๋องตักน้ำไปและดึงน้ำขึ้นมาหนึ่งกระป๋องหรือสองกระป๋องเต็ม (ในสายรายงานของท่านฮัมมามและท่านอบู ยูนุส ระบุชัดเจนว่า 2 กระป๋องเต็ม) และในการดึงน้ำขึ้นมาของอบูบักรมีความอ่อนแอ และขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงอภัยโทษแก่ท่านอบูบักรด้วย

ต่อมาอิบนุ อัลค็อฏฏ็อบก็ได้เอากระป๋องน้ำจากมือของอบูบักรและกระป๋องน้ำก็ได้กลายมาอยู่ในมือของท่านอุมัรทางตะวันตก (หรือกระป๋องน้ำในมือของอุมัรมีน้ำล้นกระป๋อง) ดังนั้นฉันไม่เคยเห็นผู้ยิ่งใหญ่คนใดจากผู้คนทั้งหลายที่จะให้น้ำแตกกระเซ็นดังเช่นอุมัร (ในรายงานของอบี ยุนุส ใช้สำนวนว่า ฉันไม่เคยเห็นการดึงน้ำจากล่อของคนใดเลยที่จะแข็งขันยิ่งไปกว่าอุมัร) จนกว่าผู้คนทั้งหลายจะตี ณ ที่หมอบของอูฐรอบบ่อน้ำ” รายงานโดยบุคอรียฺและมุสลิม ท่านอัลกอฎียฺ อัลอิย็าฎ ได้กล่าวว่า นัยยะของหะดีษบทนี้นั้นหมายถึงการเป็นค่อลีฟะฮฺของท่านอุมัร (ร.ฎ.)

นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า บ่งชี้ถึงการเป็นค่อลีฟะฮฺของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) และท่านอุมัร (ร.ฎ.) ทั้งนี้เพราะท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นของปวงชนมุสลิมเป็นอันดับแรกด้วยการตอบโต้กับพวกที่ตกศาสนา และการพิชิตดินแดนต่างๆ ก็ได้เริ่มขึ้นในสมัยของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ก็ได้มอบหมายแก่ท่านอุมัร ซึ่งต่อมาการพิชิตดินแดนต่างๆ ในสมัยท่านอุมัร (ร.ฎ.) เป็นไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ศาสนาอิสลามก็แพร่หลายเป็นอันมากและเต็มไปด้วยความสงบและมั่นคง

นอกจากนี้นักวิชาการบางท่านยังได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า การที่กระป๋องน้ำอยู่ในมือของท่านอุมัร (ร.ฎ.) มีขนาดใหญ่นั้นหมายถึงการพิชิตดินแดนต่างๆ เป็นอันมากในสมัยของท่านอุมัร (ร.ฎ.) และการที่กระป๋องน้ำเปลี่ยนสภาพนั้น หมายถึงความเปลี่ยนแปลงจากเล็กสู่ความยิ่งใหญ่ ท่านอิหม่ามอันนะวาวียฺ ได้กล่าวว่า : นักวิชาการกล่าวว่า ความฝันอันเป็นนิมิตของท่านศาสนฑูต เป็นตัวอย่างถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแก่ค่อลีฟะฮฺทั้งสองจากการมีผลพวงอันดีงามของบุคคลทั้งสอง และการที่ผู้คนได้รับประโยชน์ด้วยการเป็นค่อลีฟะฮฺของท่านสองท่านนั้น

สิ่งดังกล่าวทั้งหมดนั้นต่างก็ถูกนำมาจากท่านศาสนฑูต เพราะท่านเป็นเจ้าของเรื่อง ท่านศาสนฑูตได้ปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ และทำให้รากฐานของศาสนามีความมั่นคง ต่อมาท่าน  อบูบักร (ร.ฎ.) ก็ได้สืบทอดมาจากท่านศาสนฑูต และท่านได้ทำการสู้รบกับบรดดาผู้ตกศาสนาอย่างราบคาบ ต่อมาท่านอุมัร (ร.ฎ.) ก็ได้สืบทอดต่อจากท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ศาสนาอิสลามก็ได้แผ่ไพศาลในยุคสมัยของท่านและท่านศาสนฑูตได้เปรียบกิจการของปวงชนมุสลิมด้วยกับบ่อน้ำที่มีน้ำเต็มเปี่ยมอันหมายถึงการดำรงชีวิตของพวกเขา และการอยู่ในหลักการของศาสนา

ส่วนคำพูดของท่านศาสนฑูตที่ระบุถึงการชักน้ำจากบ่อของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ว่ามีความอ่อนแอนั้นไม่ใช่เป็นการลดเกียรติของท่านอบูบักร (ร.ฎ.) แต่หมายถึงการที่ท่านอยู่ในตำแหน่งค่อลีฟะฮฺในระยะเวลาอันสั้น (กล่าวโดยสรุปจาก ฟัตหุลบารียฺ เล่มที่ 12/347,348)

4. รายงานจากท่านสะอีด อุฟัยร์ ว่า อัลลัยษ์ได้เล่าให้ฉันฟังว่า : อุกอยล์ได้เล่าให้ฉันฟังจากอิบนุชิฮ๊าบ ว่าสะอีดได้บอกให้ฉันทราบว่า อบู ฮุรอยเราะห์ (ร.ฎ.) ได้บอกแก่สะอีดว่าท่านศาสนฑูตได้กล่าวว่า : ในระหว่างที่ฉันได้นอนหลับ ฉันก็ฝันเห็นบ่อน้ำแห่งหนึ่งและบนปากบ่อน้ำนั้นมีกระป๋องน้ำอยู่ใบหนึ่ง ดังนั้นฉันได้ชักน้ำขึ้นมาจากบ่อน้ำนั้นตามที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงมีพระประสงค์

หลังจากนั้น อิบนุ อบี กุหาฟะห์ ได้เอากระป๋องน้ำนั้นและชักน้ำขึ้นมาจากบ่อนั้น 1 กระป๋อง หรือ 2 กระป๋อง และในการชักน้ำของอบูบักรนั้นมีความอ่อนแอ และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงอภัยโทษแก่เขา ต่อมากระป๋องน้ำก็กลายมาอยู่ทางทิศตะวันตก อุมัร อิบนุ อัลคอฏฏ็อบ ก็ได้เอากระป๋องน้ำไป ดังนั้นฉันไม่เคยเห็นผู้มีความสำคัญคนใดจากผู้คนที่จะชักน้ำจากบ่อเหมือนเช่นการชักน้ำของอุมัร อิบนุ อัลคอฏฏ็อบ จนกระทั่งผู้คนได้ตีที่หมอบของอูฐ (รอบบ่อน้ำ) รายงานโดยท่านบุคอรีย์

5. รายงานจากอิสหาก อิบนุ อิบรอฮีม ว่า อับดุรร่อซ๊าก ได้เล่าให้เราฟังจากมะอฺมั้ร จากท่านฮัมมามว่า เขาเคยได้ยินท่านอบู ฮุรอยเราะห์ (ร.ฎ.) กล่าวว่า ท่านศาสนฑูตได้กล่าวว่า : “ในขณะที่ฉันนอนหลับ ฉันได้ฝันเห็นว่า ฉันอยู่เหนือบ่อน้ำ (ที่อูฐจะหมอบลงดื่มน้ำ) ในสภาพที่ฉันตักน้ำให้แก่ผู้คนทั้งหลาย ต่อมาอบูบักร (ร.ฎ.) ก็ได้มาหาฉันและเขาก็ได้เอากระป๋องน้ำไปจากมือของฉันเพื่อที่จะให้ฉันได้พัก (แบ่งเบา) อบูบักรก็ได้ตักน้ำขึ้นมา 2 กระป๋อง และในการตักน้ำของอบูบักรนั้นมีความอ่อนแอ และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงให้อภัยแก่อบูบักร

ต่อมา อุมัร อิบนุ อัลคอฏฏ็อบ ก็มาและเอากระป๋องน้ำจากอบูบักร และอุมัรก็ยังคงตักน้ำขึ้นมาจากบ่อน้ำจนกระทั่งผู้คนทั้งหลายได้ผินหลังและบ่อน้ำนั้นก็มีน้ำพุ่งออกมา” รายงานโดย บุคอรีย์ ในฟัตหุ้ลบารี 12/349

ผู้อ่านบางท่านอาจจะมีความเข้าใจในกรณีความฝันของท่านศาสนฑูต ว่าสามารถเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด และสามารถนำเป็นหลักฐานทางศาสนาได้หรือไม่ ก็ต้องขอตอบว่า เรื่องราวใดๆ ก็ตามที่เป็นความฝันของท่านศาสนฑูต มีสายรายงานบอกเล่าในระดับที่มาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการผู้สันทัดกรณีแล้ว ย่อมถือว่านั่นเป็นหลักฐานทางศาสนา เพราะความฝันของท่านศาสนฑูตถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของวะฮีย์จากพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.)

ดังมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะห์ว่า : แรกสุดของสิ่งซึ่งท่านศาสนฑูตได้ถูกเริ่มต้นจากการวิวรณ์ (วะฮีย์) คือ ความฝันอันเป็นจริงในขณะนอนหลับ และท่านศาสนฑูตจะไม่ฝันเห็นนิมิตใดๆ นอกจากมันจะมีมา (เกิดขึ้น) ประหนึ่งดังแสงอรุณเบิกฟ้า รายงานโดย อัล-บุคอรีย์

ท่านอัลวากิดีย์ ได้กล่าวว่า : ท่านอบู ฮัมซะห์ ยะอ์กู๊บ อิบนุ มาญาฮิด ได้เล่าให้เราฟังจากท่านมุฮำหมัด อิบนุ อิบรอฮีม จากท่าน อบี อัมรฺ ได้กล่าวว่า : ฉันเคยกล่าวแก่ท่านหญิงอาอิชะห์ (ร.ฎ.) ว่า : “บุคคลใดคือผู้ที่ขนานมอุมัร อัล-ฟารู๊ก ว่า อะมีรุ้ลมุอฺมีนีน (ผู้นำปวงชนศรัทธา)” ท่านหญิงอาอิชะห์ (ร.ฎ.) ได้กล่าวว่า : ท่านศาสนฑูตนั่นเองท่านเคยกล่าวว่า : อะมีรุ้ลมุอ์มีนีน (ผู้นำปวงชนศรัทธา) คือเขา (อุมัร) “และบุคคลแรกที่คารวะท่านอุมัรด้วยสำนวนดังกล่าวคือ อัลมุฆีเราะห์ อิบนุ ชุอ์บะฮฺ” บ้างก็กล่าวว่า เป็นคนอื่น วัลลอฮุอะอ์ลัม”

ในสมัยของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้มีการพิชิตดินแดนต่างๆ มากมาย อาทิเช่น แคว้นชาม (ดามัสกัส , เยรูซาเล็ม , เมืองฮิมศฺ , บะอ์ละบัก , จอร์แดน , ฏอบรียะฮฺ) อัลอะฮ์ว๊าซ , อัลม่าดาอิน , ตักรีต , กอยซารียะห์ อียิปต์ , อเล็กซานเดรีย , อาเซอร์ไบจาน , ทรีโปลีอิสฟาฮาน ฯลฯ ดินแดนต่างๆ ที่ถูกพิชิตในสมัยท่านอุมัร (ร.ฎ.) โดยส่วนใหญ่เคยเป็นดินแดนในยึดครองของจักรวรรดิโรมันและเปอร์เซีย

ส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ได้แก่ การสร้างเมืองฟุสฏ็อฏในอียิปต์ ปีฮ.ศ. 22 (ค.ศ.642) เมืองกูฟะฮฺ อ.ศ.15 มีการตั้งดีวาน (ทบวง , กรม) ต่างๆ ในสมัยของท่านอุมัร (ร.ฎ.) ในปี ฮ.ศ. 15 และในปีฮ.ศ.ที่ 18 ได้เกิดโรคระบาดอัมว๊าสในแคว้นชามซึ่งกองทหารและสาวกคนสำคัญได้เสียชีวิตเป็นอันมาก