หมวดว่าด้วยการอุปโภคบริโภค : ระบบสหกรณ์อิสลาม

1. สหกรณ์อิสลามหมายถึงคณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการของศาสนาอิสลาม

หลักการดำเนินกิจการของสหกรณ์อิสลาม

สหกรณ์อิสลามมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักในการให้ความช่วยเหลือสมาชิกของสหกรณ์เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น อาทิเช่น อัคคีภัย, ความเสียหายทางทรัพย์สินหรือกรณีเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวสอดคล้องกับหลักคำสอนของอิสลามดังที่มีระบุในอัลกุรอานว่า

وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبرِّ وَالتَّقْوٰى الآية   “และสูเจ้าทั้งหลายจงช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในสิ่งดีงามและความยำเกรง”  สูเราะฮฺอัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 2

2. สมาชิกของสหกรณ์อิสลามจะจ่ายเงินเป็นงวดแก่กองทุนของสหกรณ์ซึ่งอาจจะมีอัตราที่แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงก็ได้ โดยสมาชิกของสหกรณ์จะมีคุณสมบัติเป็นทั้งผู้ให้ประกันและผู้เอาประกันในคราวเดียวกัน ซึ่งนักวิชาการเรียกการเอาประกันประเภทนี้ว่าการเอาประกันแบบแลกเปลี่ยน (อัตตะอฺมีน-อัตตะบาดุลี)

3. บรรดาสมาชิกของสหกรณ์สามารถตั้งคณะกรรมการกองทุนสหกรณ์จากกลุ่มสมาชิกเพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดอัตราของเงินช่วยเหลือทดแทนซึ่งสมาชิกมีสิทธิได้รับในกรณีเกิดอุบัติภัยหรือความเสียหายโดยอัตราของเงินช่วยเหลือนั้นจะตั้งอยู่บนหลักของความเท่าเทียมกัน

4. การทำข้อตกลงของสมาชิกกับสหกรณ์นั้นจะมีเนื้อหาหลักในการร่วมกันแบกรับผลกระทบหรืออุบัติภัยที่เกิดขึ้นกับผู้หนึ่งผู้ใดจากสมาชิก กล่าวคือ เป็นการกระจายความเสี่ยงในหมู่สมาชิกโดยไม่มีการแสวงหากำไรและผลประโยชน์ต่างตอบแทนแต่เป็นการทำข้อตกลงในเชิงของการร่วมรับผิดชอบซึ่งกันและกัน

5. การจ่ายเงินเข้าร่วมกองทุนของสหกรณ์นั้นเป็นการจ่ายเงินในเชิงบริจาค (ตะบัรรุอฺ) และไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใดในการนำเงินของกองทุนสหกรณ์ไปลงทุนเพื่อการพัฒนากองทุนให้งอกงามในกิจการที่เป็นที่อนุมัติตามหลักการของศาสนา โดยใช้หลักการร่วมลงทุนแบบมุฎอรอบะฮฺ