ชุมชนมุสลิมบ้านสามอิน

“บ้านสามอิน” ตั้งอยู่บริเวณถนนสุขุมวิท 71 (พระโขนง-คลองตัน) มีมัสยิดฮิดายาตุ้ลอิสลาม (สามอิน) เป็นศูนย์กลาง บรรพชนของ “บ้านสามอิน” อพยพมาจากปัตตานี และกรุงศรีอยุธยาบางส่วน (มุสลิมไทย ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (2547) หน้า 21) ลางที การอพยพของบรรพชนจากกรุงศรีอยุธยานี้น่าจะเกี่ยวพันกับกรณีของ “ชุมชนบ้านป่า” ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียง เรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่า “แขกเก่า” คือ อยู่มาแต่เดิมเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา 

ส่วนบรรพชนที่มาจากปัตตานีน่าจะเข้ามาสมทบภายหลัง เมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการกวาดต้อนเชลยศึกจากหัวเมืองปักษ์ใต้ คำว่า “สามอิน” น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “ซัมมะอีน” ซึ่งน่าจะเป็นคนสำคัญที่ลงหลักปักฐานอยู่ ณ บริเวณชุมชนนี้ ภายหลังเรียกเพี้ยนอย่างสำเนียงไทยว่า “สามอิน”

คล้ายกับกรณีของ “คลองหลอแหล” ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจาก “เลาะห์”, “และห์” ในอดีต “ชุมชนบ้านสามอิน” มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จนผู้แก่ผู้เฒ่าเล่าว่า “ไก่บินไม่ตกหลังคาบ้าน” เพราะมีบ้านเรือนสร้างติดต่อกันหนาแน่น และเป็นชุมชนมุสลิมล้วน ต่อมาบรรพชน “บ้านสามอิน” บางส่วนได้แยกย้ายกันออกไปตั้งรกรากอยู่แถบคลองตัน นวลน้อย ริมคลองลาดพร้าว คลองจั่น คลองหลอแหล ฯลฯ โดยประกอบอาชีพทำไร่ทำนาเป็นหลัก

ในชุมชนบ้านสามอินนั้น มีชาวมุสลิมตระกูลใหญ่บางตระกูลรับราชการ มีตำแหน่งเป็นนายท้ายเรือของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้น เช่น “โต๊ะกีแดง” มีราชทินนามว่า “หมื่นแผงวารี” ท่านมีความดีความชอบจนได้รับพระราชทานที่ดินย่านหัวหมาก 200 กว่าไร (ปัจจุบันอยู่ติดกับสถานีรถไฟหัวหมาก ด้านถนนพระราม 9 และถนนศรีนครินทร์)  ราชทินนาม “หมื่นแผงวารี” ที่ว่ามีตำแหน่งนายท้ายเรือของพระเจ้าแผ่นดินนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งใน “กรมอาษาจาม” ซึ่งมีทั้งแขกจาม (เขมร) และแขกมลายู

และเหตุที่ท่าน “โต๊ะกีแดง” (หมื่นแผงวารี) ได้รับพระราชทานที่ดิน 200 ไร่นั้นก็ไม่แปลก เพราะท่านมีศักดินาเป็น “หมื่นอาษาจาม” นาคล 200 (กฏหมายตามสามดวง เล่ม 1 หน้า 306-307) คือมีศักดินา 200 ไร่ และเขตที่ดินย่านหัวหมากก็เกี่ยวพันกับการกระจายหลักแหล่งของกลุ่มแขกจามบ้านครัว ซึ่งมีทั้งแขกจาม (เขมร) และมลายูเดิมรวมถึงมลายูยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ปะปนกัน ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2381 เชลยศึกจากหัวเมืองมลายูถูกกวาดต้อนเข้ามายังกรุงเทพมหานคร “แล้วรับสั่ง สั่งพระยาราชวังสรรค์ว่า ที่สุเหร่ามีกว้างขวางอยู่ พอจะผ่อนพักไว้ได้ก็รับเอาพักไว้พอให้มันสบายก่อนเถิด…ถ้าข้างหน้ามีครอบครัวส่งข้าวไปอีกมากมายแล้วจึงค่อยจัดแจงเอาไปตั้งที่แสนแสบ ข้างนอกทีเดียวๆ …(จดหมายหลวงอุดมสมบัติ ฉบับที่ 9)

แต่ชวน  ธนากรขำสุวัฒน์ (2514:21-22) ได้กล่าวถึงแขกครัวว่า “…เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้กวาดต้อนครอบครัวเขมร รวม 3,000 คนเศษ ส่งเข้ามากรุงเทพฯ ผ่านทางเมืองปราจีนบุรี ได้แบ่งครอบครัวไว้สำหรับเมืองปราจีนบุรีบ้าง และที่เหลือนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดครอบครัวเขมรไปอยู่ที่คลองมหานาค ตลอดไปจนถึงลำคลองหัวหมาก บางกะปิ พร้อมทั้งพระราชทานที่บ้านที่สวนให้อยู่ทำมาหากินเป็นปกติ และให้เป็นพร่หลวงรักษาเรือรบตามริมคลองบางกะปิ…” (ชวน  ธนากรขำสุวัฒน์. เที่ยวเฟื่องเรื่องเมืองไทย, กรุงเทพฯ : เกษมบรรณกิจ, 2514)

การกวาดต้อนครัวเขมร รวม 3,000 คนเศษนี้ เป็นระลอกหลัง เพราะบ้านกองอาษาจามที่ชุมชนบ้านครัวนั้นมีมาก่อนแล้ว ซึ่งมีทั้งแขกและมลายูตั้งหลักแหล่งอยู่ร่วมกัน การจัดครอบครัวเขมรไปอยู่เขตนอกพระนครทางทิศตะวันออกตามที่ชวน  ธนากรขำสุวัฒน์  ระบุนั้น น่าจะเป็นการดำเนินตามที่ทรงมีพระบัญชาให้พระยาราชวังสรรค์ (ฉิม) นำแขกครัวจากบ้านครัวออกไปไว้ข้างนอกแถบทุ่งแสนแสบ ดังที่มีบันทึกในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ และน่าจะเป็นแขกมลายู ซึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาแล้วเอามาพักไว้ที่บ้านครัว ภายหลังก็ย้ายออกมาข้างนอก ไม่น่าจะเป็นแขกจาม (เขมร) ซึ่งยังคงตั้งหลักแหล่งอยู่ในบ้านครัวเดิม

การที่ท่าน “หมื่นแผงวารี” ได้รับพระราชทานที่ดินตามศักดินาของกรมอาษาจาม ก็มิได้หมายความว่าท่านเป็นแขกจาม เพราะทหารในกรมอาษาจามนั้นมีแขกมลายูอยู่เป็นอันมาก และที่ดินพระราชทานในย่านหัวหมากก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการจัดครัวแขกมลายูกระจายออกมาด้านนอกพระนคร ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของทุ่งใหญ่ เช่น ทุ่งแสนแสบ ทุ่งบางกะปิ เป็นต้น

ท่านหมื่นแผงวารี (โต๊ะกีแดง) ได้สมรสกับ ฮัจยะฮฺทองคำ มีบุตรชายคนโต เรียกันว่า ท่านโต (อับดุลลอฮฺ  แฉล้มวารี) ภายหลังได้เป็นผู้ใหญ่บ้านของชุมชนบ้านสามอิน ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ท่านโตได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “ขุนวิจิตรทโนราษฎร์แฉล้มวารี” ท่านเสียชีวิตเมื่อมีอายุได้ 80 ปี นับได้ว่า “ชุมชนบ้านสามอิน” เป็นชุมชนมุสลิมที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร และยังเป็นแหล่งของบรรพชนที่ขยายวงศ์วานว่านเครืออกไปตั้งชุมชนมุสลิมอื่นๆ อีกหลายชุมชนด้วยกัน อาทิเช่น ชุมชนมุสลิมสุเหร่าวัดตึก, วัดกลาง, คลองลาดพร้าว, บ้านหลอแหล และบ้านคลองสี่ (วังเล็ก) มีนบุรี เป็นต้น

ซึ่งมีข้อความระบุว่า บรรพชนของหมู่บ้านเหล่านี้ เดิมตั้งหลักแหล่งอยู่ในหมู่บ้านสามอิน ซึ่งอพยพมาจากเมือง “ยามู” หรือ “ยะหริ่ง” ปัตตานี ในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (วารสาร มุสลิม กทม. ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547)

ชุมชนบ้านวัดตึก (วัดเทพลีลา) นั้นได้ก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2470 โดยกลุ่มชาวมุสลิมจากบ้านสามอิน บ้านคลองตัน บ้านคลองกะจะ เข้ามารวมตัวกันตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น ปัจจุบันนี้ มีมัสยิดยามิอุ้ลอิสลาม (มัสยิดหน้าราม) ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งคลองแสนแสบเป็นศูนย์กลางของชุมชน

จะเห็นได้ว่า การกระจายครัวเรือนของชาวมลายูจากหัวเมืองประเทศราชนั้น จะตั้งชุมชนเรียงรายตามคลองแสนแสบนับแต่คลองตัน ชุมชนวัดตึก ชุมชนวัดกลาง (คลองจั่น) บึงกุ่ม และคลองหลอแหล ซึ่งเป็นคลองซอยจากคลองแสนแสบจรดถึงมีนบุรี ล้วนแต่เป็นชุมชนมุสลิมที่เกี่ยวพันกัน คือ เป็นชาวมลายูที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองประเทศราชทั้งสิ้น หากจะกล่าวว่าชุมชนบ้านสามอินเป็นแหล่งบรรพชนเก่าแก่ของชาวมุสลิมบางกอกพลัดถิ่นที่ขยายชุมชนออกไปยังที่ซึ่งห่างออกไปก็คงไม่ผิดนัก