มุสลิมจะได้พิชิตอียิปต์ในกาลข้างหน้า

ท่านมาลิกและท่านอัลลัยษฺ ได้รายงานจากท่านอัซซุฮฺรียฺจากท่านอิบนุกะอ์บฺ อิบนิ มาลิกได้รายงานจากบิดาของท่านว่า ท่านศาสนฑูตได้ทรงกล่าวว่า : “เมื่อใดที่พวกท่านทั้งหลายพิชิตได้อียิปต์แล้วก็จงกำชับกันให้ปฏิบัติดีกับชาวกิบฏีย์ ในอีกสายรายงานหนึ่งใช้สำนวนว่า “ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงกำชับให้ปฏิบัติดีกับพลเมืองของอียิปต์ เพราะแท้จริงสำหรับพวกเขามีพันธกรณีและความเป็นเครือญาติ”

และในเศาะเฮียะห์ของท่านอิหม่ามมุสลิมรายงานจากท่านอบู ซัรริน จากท่านศาสนฑูตว่า : แท้จริงพวกท่านทั้งหลายจะได้พิชิตดินแดนแห่งหนึ่งที่คำว่า อัลกีร๊อฏ ถูกเรียกขานในดินแดนแห่งนี้ ดังนั้นพวกท่านจงสั่งเสียให้ปฏิบัติดีกับพลเมืองของดินแดนนี้ แท้จริงสำหรับพวกเขานั้นมีสิทธิและศักดิ์ตลอดจนความเป็นเครือญาติ”

หะดีษนี้รายงานโดยท่านมุสลิมและอะห์หมัด ซึ่งเป็นสายรายงานเดียวกันกับสายรายงานของท่านมุสลิม และใช้สำนวนว่า : “แท้จริงต่อไปพวกท่านทั้งหลายจะได้พิชิตอียิปต์ อันเป็นดินแดนซึ่งคำว่า อัลกีร๊อฏถูกเรียกใช้ในดินแดนนี้ ฉะนั้นเมื่อใดที่พวกท่านทั้งหลายพิชิตดินแดนนี้ได้ ก็จงปฏิบัติดีกับพลเมืองดินแดนนี้ เพราะแท้จริงสำหรับพวกเขานั้นมีสิทธิ์ ความเป็นเครือญาติหรือมีสิทธิและความเกี่ยวดองทางเครือญาติ ดังนั้นเมื่อพวกท่านเห็นชายสองคนต่อยตีกันในดินแดนนี้ ณ ที่ของก้อนอิฐ ฉะนั้นก็จงออกจากที่แห่งนั้น”

การพิชิตดินแดนอียิปต์อันเป็นอู่ของอารยธรรมโบราณได้เกิดขึ้นจริงตามวจนะของท่านศาสฑูตในสมัยของท่านอุมัร อิบนุ อัลคอฏฏ็อบ (ร.ฎ.) ค่อลีฟะฮฺท่านที่สองแห่งรัฐอิสลาม โดยมีท่านอัมร์ อิบนุ อัลอ๊าศ (ร.ฎ.) เป็นแม่ทัพในปี อ.ศ.ที่ 20

ดินแดนอียิปต์ในช่วงก่อนการพิชิตของอิสลามเป็นหัวเมืองสำคัญของอาณาจักรโรมัน ไบเซนไทน์ มีนครอเล็กซานเดรียเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองในช่วงก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของโรมัน อียิปต์ปกครองด้วยราชวงศ์ปโตเลมี และภายหลังความปราชัยของอัลโตนิอุส (มาร์ก แอนโทนี่) ในยุทธนาวีอักติอุมและการฆ่าตัวตายของคลีโอพัตราที่ 5 อียิปต์ก็กลายสภาพเป็นเพียงมณฑลหนึ่งในอาณาจักรโรมัน มีอัลมุเกาว์กอส (กูริช) เป็นข้าหลวงที่ได้รับการแต่งตั้งจากโรมันและเป็นสังฆนายกออร์ธอดอกซ์แห่งอเล็กซานเดรีย

พลเมืองดั้งเดิมของอียิปต์มีชื่อว่า ชนชาติค๊อปติก (ชาวอาหรับเรียก อัลกิบฏุ้มีพหูพจน์ว่า อัลอักบ๊าฏ) พวกค๊อปติกยังคงอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นของตนไว้ตามสำเนียงที่หลากหลาย และยังคงใช้ภาษาค็อปติกในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ ชนชาติค็อปติกโดยส่วนใหญ่ได้เข้ารับอิสลามตั้งแต่ยุคต้นๆ ของการพิชิต และยังคงมีส่วนน้อยที่ยังรับนับถือศาสนาคริสต์ในสามนิกายใหญ่ (ออร์ธอดอกซ์ โรมันคาธอลิก และโปรแตสแตนท์)

กลุ่มคนหล่านี้ภายหลังการพิชิตได้กลายเป็นพลเมืองในดินแดนอิสลามที่ยังคงมีสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนาและการมีกรรมสิทธิครอบครองที่ดินตามเดิมโดยจะต้องจ่ายภาษีรัชชูปการให้แก่รัฐอิสลาม และเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า อะห์ลุซซิมมะฮฺ คำว่า อัซซิมมะฮฺ ในด้านภาษาหมายถึง พันธสัญญา ความปลอดภัยและการประกัน ดังนั้นคำว่า อะห์ลุซซิมมะฮฺ จึงเป็นชื่อที่ใช้เรียกพลเมืองที่มีหลักแหล่งอยู่ในดินแดนอิสลามอันเป็นชาวคัมภีร์ (คริสต์และยิว)

เหตุที่เรียกกลุ่มชนเหล่านี้เช่นนี้ก็เป็นเพราะพวกเขายินยอมที่จะจ่ายภาษี ส่วยญิซยะฮฺ (คล้ายๆกับภาษีรัชชูปการ) ให้แก่รัฐอิสลามโดยได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนเสรีภาพในการถือศาสนา พวกเขาจึงกลายเป็นกลุ่มชนที่มีพันธกรณีที่เหล่ามุสลิมต้องให้ความคุ้มครอง ส่วนชาวคัมภีร์ (อะห์ลุ้ลกิต๊าบ) หมายถึง บรรดาผู้ยึดถือในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกตน (เตาร๊อต อินญีล) จากกลุ่มชาวยิวและคริสเตียน

ต่อมาในสมัยของท่านอุมัร อิบนุ อัลคอฏฏ็อบ (ร.ฎ.) ได้ถือเอาพวกอัลมะญูซีย์ (โซโรอัสเตอร์ , เมไจ , พวกบูชาไฟ) เข้ามาในกลุ่มนี้ นอกจากนี้ในสมัยท่านอุสมาน อิบนุ อัฟฟาน (ร.ฎ.) ได้ผนวกรวมชนเผ่าเบอร์เบอร์ ในแอฟริกาเหนือ) ตลอดจนพวกอัศ-ศอบิอะฮฺ (พวกที่ถือในอำนาจดวงดาว) ในรัชสมัยค่อลีฟะฮฺ อัลมะอ์มูน แห่งราชวงศ์อับบาสียะฮฺ เข้ามาในกลุ่มของอะห์ลุซซิมมะฮฺ อย่างไรก็ตาม คำว่า อะห์ลุซซิมมะฮฺ หรือ อัซซิมมียูน มักจะใช้เรียกถึงกลุ่มชนที่ไม่ได้รับนับถือศาสนาอิสลามที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรอิสลาม โดยเฉพาะชาวยิวและ คริสเตียน