ในหนังสือพิมพ์มุสลิมไทย ปีที่ 6 ฉบับที่ 18, 15 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2549 หน้า 20 ระบุว่า “เมื่อประมาณ 170 ปีล่วงมาแล้ว ชนมุสลิมกลุ่มหนึ่งจากภาคใต้ของประเทศไทย คือ จังหวัดปัตตานี ได้มาตั้งภูมิลำเนาเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ในบริเวณถนนสุขุมวิท ซอย 47 (ซอยบ้านดอน) ขณะนั้น บริเวณดังกล่าวเป็นที่ดอน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านดอน”

…ต่อมาหมู่บ้านนี้ (บ้านดอน) มีคนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเป็นอยู่ได้รับความลำบากนานาประการ เนื่องจากหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ที่ดอน การขาดแคลนน้ำและการคมนาคมเกิดเป็นปัญหาสำคัญขึ้น จึงได้ร่วมกันย้ายหมู่บ้านมาอยู่ที่บ้านต้นไทร ริมคลองแสนแสบ เนื่องจากที่นี่มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง คนทั่วไปจึงเรียกกันว่า “บ้านต้นไทร” แต่ละคนที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่นั้นได้ย้ายมาจากบ้านดอน จึงนิยมเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านดอน” จนกระทั่งปัจจุบันนี้”

ช่วงเวลา 170 ปีล่วงมาแล้ว น่าจะอยู่ในราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2367-2394 และบรรพชนของชุมชนมุสลิมบ้านดอนนั้นน่าจะถูกกวาดต้อนขึ้นมายังกรุงเทพฯ เมื่อครั้งสยามยกกองทัพใหญ่ไปตีหัวเมืองมลายูปัตตานีในปี พ.ศ. 2381 (นับเวลาถึงปัจจุบันได้ราว 168 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ระบุคือ 170 ปี)

เมื่อครัวของชาวมลายูปัตตานีถูกกวาดต้อนขึ้นมากรุงเทพฯ นั้นคงนำเอามาพักไว้ที่ “บ้านครัว” ก่อนเป็นเบื้องต้น ดังปรากฏในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ต่อมาชาวมลายูปัตตานีรุ่นนี้จึงถูกโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่คลองแสนแสบเหนือ ไปหักร้างถางพงเป็นท้องทุ่งไร่นา

สาเหตุที่โยกย้ายชาวมลายูปัตตานีจากบ้านครัวในครั้งนั้น ตามบันทึกจดหมายหลวงอุดมสมบัติจะต้องใช้ข้าวเลี้ยงดูราษฎรที่กวาดครัวเข้ามากว่า 6,000 คน และยังมีครอบครัวที่กวาดเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 1-2 ที่ยังตกค้างอยู่อีกจำนวนมาก เลี้ยงดูกันไม่ไหว รัชกาลที่ 3 จึงทรงรับสั่งให้พระยาราชวังสรรค์ นำครอบครัวมลายูปัตตานีส่วนใหญ่ออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่คลองแสนแสบเหนือ และอาณาบริเวณใกล้เคียง

เห็นที “ชุมชนบ้านดอน” คงเริ่มขึ้นแต่สมัยนั้น และเป็นชุมชนต้นทางที่อยู่ในอาณาบริเวณคลองแสนแสบซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากชุมชนบ้านครัว บรรพชนบ้านดอนจึงน่าผสมผสานกันระหว่างแขกมลายูปัตตานีรุ่นแรกที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาสมัยรัชกาลที่ 1-2 และสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีมากที่สุดตลอดจนน่าจะมีแขกมลายูรุ่นเก่าที่อยู่มาก่อนในหมู่บ้านอาษาจาม (บ้านครัว) ร่วมเดินทางออกมาตั้งถิ่นฐานด้วยเช่นกัน

ชุมชนบ้านดอน มีมัสยิดดารุ้ลมุฮฺซินีน เป็นศูนย์กลางของชุมชนและมีโรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะฮฺ เป็นสถาบันทางวิชาการศาสนาที่ก่อตั้งโดย ท่านอาจารย์มูฮำหมัด  มะหะหมัด (ร.ฮ.) อดีตจุฬาราชมนตรี สถาบันมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะฮฺ เริ่มทำการสอนนับแต่ปี พ.ศ. 2504 มีลูกศิษย์ลูกหามากมายที่เป็นผลผลิตของสถาบันแห่งนี้ ทั้งนี้เพราะเหตุที่ท่านอดีตจุฬาราชมนตรี เป็นนักวิชาการผู้แตกฉานในสรรพวิชาทางด้านศาสนา อีกทั้งท่านเป็นศิษย์ของท่าน ซัยยิด  อามีน (ร.ฮ.) ปราชญ์แห่งนครมักกะฮฺ ซึ่งทำการสอน ณ มัสยิดอัลฮะรอม

เมื่อท่านอาจารย์ได้ทำการสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ จึงมีลูกศิษย์มากมายจากทั่วประเทศไทยก็ว่าได้ เดินทางเข้ามารับการศึกษาจากท่าน นอกจากนี้บรรดาสานุศิษย์อีกเป็นอันมากได้รับทุนการศึกษาต่อในต่างประเทศ อาทิเช่น อิยิปต์ ซาอุดิอาระเบีย ตูนิเซีย แอลจีเรีย และกาต้าร์ เป็นต้น บรรดานักศึกษาเหล่านี้ เมื่อเรียนจบได้เดินทางกลับมาเป็นบุคลากรทางศาสนา และวิชาการในหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งที่เป็นอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตลอดจนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และเป็นครูอาจารย์ในสถาบันอิสลามมากโขอยู่

นับเป็นเกียรติประวัติยิ่งนักสำหรับชุมชนมุสลิมบ้านดอน ที่ได้ร่วมสร้างเกียรติภูมิแห่งวิชาการของศาสนาจนกลายเป็นแหล่งการศึกษาที่เลื่องลือไปทั่วแคว้นไทยแลต่างประเทศ และเกียรติภูมินี้ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างหนักแน่นยิ่งนักว่า ชาวมุสลิมมลายูในดินแดนพลัดถิ่นนี้ยังคงสืบสานศาสนาและมรดกทางวิชาการอิสลามต่อมา จากเหล่าบรรพชนเมื่อครั้งบ้านเมืองดีในปัตตานีดารุสสลาม หาได้ถูกกลืน หรือหลงลืมวิถีทางของเหล่าบรรพชนที่นำติดตัวมาด้วย คือวิถีทางอิสลามก็หาไม่

หากเราจะกล่าวอ้างว่า การกวาดต้อนเทครัวชาวมลายูหัวเมืองปัตตานีและหัวเมืองปักษ์ใต้ คือ พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.) ที่ทรงกำหนดให้สงครามในครั้งอดีตเป็นเหตุแห่งการก่อเกิดชุมชนและมัสยิดตลอดจนสถาบันทางวิชาการในใจกลางของราชธานีสยาม ก็คงไม่ผิดเป็นแน่แท้ ทั้งนี้ เพราะชาวมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนมาแต่ครั้งอดีต ได้เติบใหญ่และฝังรากหยั่งลึกลงเหนือผืนแผ่นดินแห่งราชธานีนี้ ในขณะที่หัวเมืองมลายูปัตตานีก็ยังคงมีพลเมืองมุสลิมเติบใหญ่อยู่ดังเดิม ไม่ได้ถูกถอนรากถอนโคนไปหมดสิ้นแต่อย่างใด นี่คือกิจและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.) ในการแผ่ขยายรัศมีแห่งศาสนาของพระองค์โดยแท้ และผลจากพระประสงค์นั้น จึงก่อเกิดประชาคมมุสลิมบางกอกหรือมลายูบางกอกสืบมานั่นเอง

ณ จุดนี้จึงพอสรุปได้ว่า

1. หลักคำสอนของศาสนาอิสลามระบุชัดว่า มนุษย์ทั้งมวลมีต้นกำเนิดจากบิดา และมารดาคนเดียวกัน คือ อาดัมและฮาวาอฺ ความแตกต่างทางสีผิว ภาษา เป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.) ชาติพันธุ์อาหรับไม่ได้เลิเลศไปกว่าชาติพันธุ์อื่น และชาติพันธุ์อื่นก็หาได้ประเสริฐกว่าชาติพันธุ์อาหรับไม่ นอกจากความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า (ซ.บ.) เท่านั้นที่เป็นเครื่องกำหนดว่า ใครประเสริฐกว่าใคร

2. ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาติพันธุ์มลายูอาศัยอยู่ในแหลมมลายูมาเนิ่นนาน อาจจะก่อนที่คนไทยจะอพยพลงมาสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และตั้งรัฐอิสระขึ้นในดินแดนแถบนี้เสียอีก ดังนั้นชาติพันธุ์มลายูจึงเป็นประชาคมดั้งเดิมในภูมิภาคนี้ อันหมายถึง แหลมมลายู และดินแดนส่วนด้ามขวานของสุวรรณภูมิ รวมถึงมาลัยทวีป ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย และหมู่เกาะตอนใต้ของฟิลิปปินส์

กล่าวโดยรวมแล้ว ชาติพันธุ์มลายูเป็นประชาคมขนาดใหญ่ของภูมิภาคนี้ที่มีจำนวนประชากรร่วม 300 ล้านคน ส่วนใหญ่มีนิวาสถานอยู่ในหมู่เกาะของอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน, หมู่เกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์และภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่หมายถึงภาคใต้ของไทยโดยรวมในเกือบทุกจังหวัด ส่วนจังหวัดในภาคกลางนับแต่เพชรบุรีจนถึงนครนายกนั้น ก็เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวมลายูเป็นจำนวนมาก และกระจายไปจนถึงจังหวัดตราดในภาคตะวันออกของประเทศไทย

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงชุมชนมลายูที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือของไทย ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก อาจกล่าวได้ว่า ชาติพันธุ์มลายูส่วนใหญ่นั้นกระจายอยู่เกือบทั่วประเทศ และเป็นประชาคมส่วนใหญ่ ทั้งนี้หากถือเอาจำนวนประชากรไทยที่นับถือศาสนาอิสลามตามข้อมูลหรือสถิติที่น้อยที่สุด คือ จำนวน 6 ล้านคนนั้น ชาวมุสลิมไทยซึ่งมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวมุสลิมไทยที่มีชาติพันธุ์มลายู ย่อมหมายความว่า ชาวมุสลิมไทยที่มีชาติพันธุ์มลายูส่วนใหญ่กระจายอยู่เกือบทั่วประเทศไทย ส่วนชาวมุสลิมไทยที่มีชาติพันธุ์มลายูใน 4 จังหวัดภาคใต้ นั้นมีจำนวนไม่เกิน 2 ล้านคน ถึงแม้ว่าจะเป็นชนกลุ่มใหญ่ใน 4 จังหวัดภาคใต้นั้นก็ตาม

จึงนับเป็นความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อน หากมีผู้เข้าใจว่าชาวมลายูมีอยู่เฉพาะใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ทั้งนี้เพราะชาวมลายูที่เป็นพลเมืองของประเทศไทยนั้นกระจายอยู่ในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้พูดภาษามลายูก็ตาม

ชาวมลายูดั้งเดิมในจังหวัดพังงา, ตรัง, กระบี่, ภูเก็ต, สงขลา, นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานีนั้น เป็นกลุ่มชนท้องถิ่นที่ลงหลักปักฐานอยู่ในดินแดนแถบนี้มาแต่ครั้งโบราณกาล และเป็นชาวมลายูที่เข้ารับศาสนาอิสลามนับแต่เบื้องแรกที่ศาสนาอิสลามได้เผยแผ่มาถึงภูมิภาคนี้จากฟากทะเลตะวันตก ซึ่งเป็นเส้นทางพาณิชย์นาวีในมหาสมุทรอินเดีย อาจถือได้ว่าชาวมลายูกลุ่มนี้มีบริบทและปูมหลังที่แตกต่างจากชาวมลายูใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยซ้ำโดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง

3. ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูนอกพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถึงแม้จะมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผสมผสานระหว่างแบบมลายูกับไทยปักษ์ใต้ และไม่ได้พูดภาษามลายูแต่พูดภาษาไทยตามสำเนียงท้องถิ่น กระนั้นความมีอัตลักษณ์อันสืบเนื่องจากศาสนาอิสลามก็ยังคงปรากฏชัดอย่างเข้มข้น