سورة البقرة อัสบาบุนนุซูล | อายะฮฺที่ 6-7 ซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ

ซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ (سورة البقرة) เป็นซูเราะฮฺที่ถูกประทานลงมาในช่วงเวลาหลังการฮิจเราะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺแล้ว จึงถูกจัดอยู่ในหมวด “ซูเราะฮฺ มะดะนียะฮฺ” (سورة مدنية) มีจำนวนอายะฮฺทั้งหมด 286 อายะฮฺ ซูเราะฮฺอัล-บะกอเราะฮฺ เป็นซูเราะฮฺที่ยาวที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอ่าน และเป็นซูเราะฮฺแรกที่ถูกประทาน ณ นครมะดีนะฮฺ ตามคำกล่าวของ อิกริมะฮฺ คำว่า “อัล-บะกอเราะฮฺ” (البقرة) หมายถึง “วัวตัวนั้น”

เหตุที่มีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะในซูเราะฮฺนี้ระบุถึงเรื่องราวของวัวตัวหนึ่งที่อัลลอฮฺ (تعالى) ได้ทรงบัญชาให้วงศ์วานอิสรออีลทำการเชือดมัน เพื่อให้รู้ถึงฆาตกรที่ฆ่าคนตายในยุคนั้นโดยให้ชาวอิสรออีลใช้เนื้อส่วนหนึ่งจากวัวที่ถูกเชือดตีไปที่ร่างของผู้ถูกฆาตกรรมแล้วอัลลอฮฺ (تعالى)  ก็ทรงให้ผู้นั้นฟื้นคืนชีพขึ้นมาบอกแก่ชาวอิสรออีลว่าผู้ใดเป็นฆาตกร เรื่องราวดังกล่าวเริ่มต้นที่อายะฮฺ 67 จากซูเราะฮฺนี้ (วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ ; อัต-ตัฟซีร อัล-มุนีร 1/70,71)


บรรดาอายะฮฺในซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ ที่มีการรายงานถึงมูลเหตุแห่งการประทานมีดังนี้ :-

1) อายะฮฺที่ 6-7 ซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ

إِنَّ الَّذينَ كَفَروا سَواءٌ عَلَيهِم ءَأَنذَرتَهُم أَم لَم تُنذِرهُم لا يُؤمِنونَ ﴿٦﴾   خَتَمَ اللَّهُ عَلىٰ قُلوبِهِم وَعَلىٰ سَمعِهِم ۖ وَعَلىٰ أَبصٰرِهِم غِشٰوَةٌ ۖ وَلَهُم عَذابٌ عَظيمٌ ﴿٧﴾

“แท้จริงบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้นคือเสมอกันต่อพวกเขา ไม่ว่าท่านได้เตือนพวกเขาแล้วหรือท่านมิได้เตือนพวกเขาก็ตาม พวกเขาก็ย่อมไม่ศรัทธา (อยู่ดี)”

“อัลลอฮฺทรงผนึกปิดหัวใจและการได้ยินของพวกเขาแล้ว และเหนือการมองเห็นของพวกเขามีสิ่งปิดบังอยู่ และพวกเขาย่อมได้รับการลงทัณฑ์อันมหันต์


มูลเหตุแห่งการประทาน

อัฏเฏาะบะรีย์ บันทึกรายงานจาก อิบนุ อับบาส และ อัล-กัลบีย์ ว่า “สองอายะฮฺนี้ประทานลงมาในเรื่องของบรรดาผู้นำชาวยะฮูดีย์ เช่น ฮุยัย อิบนุ อัคฏ๊อบ และ กะอฺบ อิบนุ อัล-อัชร๊อฟ เป็นต้น (ตัฟซีร อัฏเฏาะบะรีย์ 1/48, ตัฟซีร อัล-กุรฏุบีย์ 1/184)

และอิบนุ ญะรีร บันทึกรายงานจากสายรายงานของอิบนุ อิสหาก จาก มุฮัมมัด อิบนุอบีมุฮัมมัด จากอิกริมะฮฺหรือจากสอัด อิบนุ ญุบัยรฺ จาก อิบนุ อับบาส (ร.ฎ.) ว่า “สองอายะฮฺนี้ประทานลงมาในเรื่องของบรรดายะฮูดีย์แห่งนครมะดีนะฮฺ”

และอัรร่อบีอฺ อิบนุ อนัส กล่าวว่า : “สองอายะฮฺนี้ประทานลงมาในเรื่องการทำสงครามอัล-อะฮฺซาบ (อัล-อะฮฺซาบ หรือ อัล-ค็อนดั๊ก เป็นสมรภูมิที่เกิดขึ้นในเดือน เชาว้าล ปี ฮ.ศ. ที่ 5 คำว่า “อัล-อะฮฺซาบ” หมายถึง บรรดาพลพรรคหรือพันธมิตร ที่รวมตัวกันทำสงครามกับนครมะดีนะฮฺ อันประกอบด้วยชาวยะฮูดีย์ เผ่าอัน-นะฎีร พวกกุรอยชฺมักกะฮฺ และเผ่าเฆาะฏ่อฟาน

ส่วนคำว่า “อัล-ค็อนดั๊ก” หมายถึง คันคูหรือสนามเพลาะ ที่เรียกเช่นนี้เพราะฝ่ายมุสลิมในนครมะดีนะฮฺใช้การขุดคันคูหรือสนามเพลาะเป็นยุทธวิธีในการตั้งรับการโจมตีของข้าศึก ฝ่ายมุสลิมมีกำลังพล 3,000 คน ในขณะที่พวกพันธมิตรมีกำลังพล 10,000 คน สมรภูมิครั้งนี้จบลงด้วยการถอยทัพของพวกพันธมิตรซึ่งมีความแตกแยกในระหว่างพวกเดียวกันและสิบวันหลังนับจากการปิดล้อมเกิดลมพายุอันหนาวเย็นที่รุนแรง พัดกระหน่ำเข้าโจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายพันมิตร อันเป็นเหตุให้ล่าถอยทัพไปในที่สุด (ฟิกฮุสซีเราะฮฺ อัน-นะบะวีย์ ; มุฮัมมัด สอัด ร่อมะฎอน อัล-บูฏีย์ หน้า 213-216)

หุยัย อิบนุ อัคฏ๊อบ เป็นหัวหน้าชาวยะฮูดีย์ เผ่าอัน-นะฎีร บุคคลผู้นี้เป็นผู้เกลี่ยกล่อมให้กะอฺบ อิบนุ อัชร๊อฟ หัวหน้าชาวยะฮูดียฺ เผ่ากุรอยเซาะฮฺ ฉีกพันธสัญญาที่ได้กระทำไว้กับท่านนบีมุฮัมมัด  (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  และบุคคลทั้งสองนี่เองที่สองอายะฮฺข้างต้นประทานลงมาเพื่อเปิดโปงธาตุแท้ของบุคคลทั้งสอง