น่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ (نَصِيرُالدِّين الطُّوْسِي)

มุฮำมัด อิบนุ มุฮำมัด อบูญะอฺฟัร น่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ ถือกำเนิด ณ แคว้นคุรอซาน และมีชีวิตอยู่ในมหานครแบกแดดระหว่างปี ฮ.ศ.597-672 (ค.ศ.1201-1274) และสิ้นชีวิตในมหานครแห่งนี้ในปลายรัชสมัยค่อลีฟะฮฺ อัลมุอฺตะซิม บิลลาฮฺ ค่อลีฟะฮฺองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺในมหานครแบกแดด  อัฏฏูซีย์ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัลลามะฮฺ (ปรมาจารย์) ในวิทยาการสาขาต่างๆ โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ , ดาราศาสตร์และจักษุประสาท ตลอดจนเป็นผู้มีความสำคัญและทรงอิทธิพลมากที่สุดผู้หนึ่งในราชสำนัก

อัฏฏูซีย์ได้แปลและวิพากษ์ตำรา “มูลฐานเรขาคณิต” ของอิกลิดุสซึ่งถือเป็นฉบับแปลภาษาอาหรับที่ละเอียดและชัดเจนที่สุดเท่าที่รู้จักกัน  เขายังมีชื่อเสียงโด่งดังในวิชาดาราศาสตร์ สิ่งดังกล่าวประจักษ์ชัดจากการที่เขาได้ปฏิบัติการในหอดูดาวของเมือง “มะรอเฆาะฮฺ” ซึ่งมีอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่มีความแม่นยำ มีหอสมุดที่ใหญ่โตและมีนักดาราศาสตร์จำนวนมากประจำการอยู่ที่นั่น  นักดาราศาสตร์เหล่านี้มาจากทั่วโลกและล้วนแล้วแต่เป็นสานุศิษย์ของน่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ และที่หอดูดาวแห่งเมืองมะรอเฆาะฮฺนี้ น่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ได้จัดการประชุมทางวิชาการขึ้นเป็นครั้งแรก นักวิชาการที่เข้าร่วมประชุม ณ หอดูดาวแห่งนี้มาจากทุกสารทิศเพื่อร่วมกันสร้างผลงานทางดาราศาสตร์ร่วมกับอัฏฏูซีย์

น่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ได้วิจารณ์ตำรา “อัลม่าญิสฏีย์” ของปโตเลมีอย่างรุนแรงและยืนยันว่า ดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล ซึ่งค้านกับความเชื่อที่แพร่หลายในเวลานั้นว่า โลกเป็นศูนย์กลางและอ้างว่าระบบสุริยจักรวาลโคจรรอบโลก อัฏฏูซีย์โด่งดังในงานค้นคว้าเกี่ยวกับ Celestial sphere (เขตวงของท้องฟ้าหรือโดมแห่งฟากฟ้า เรียกในภาษาอาหรับว่า อัลกุบบะฮฺ อัซซ่ามาวียะฮฺ) โดยเฉพาะเทหวัตถุและดวงดาวต่างๆ ในท้องฟ้า (heavenly bodies) การเคลื่อนที่ของกลุ่มดาวและตำแหน่งเส้นรุ้งเส้นแวงตลอดจนระยะทางระหว่างตำแหน่งของกลุ่มดาวกับโลก

น่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ได้มุ่งความพยายามของตนในการแยกการคำนวณแบบตรีโกณมิติออกจากวิชาดาราศาสตร์ และเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เขาแต่งตำราเล่มแรกในเรื่องนี้และให้ชื่อว่า “ชักลุ้ลกิฏออาตฺ” และนักวิชาการชาวตะวันตกได้แปลตำราเล่มนี้เป็นภาษาละติน, ฝรั่งเศสและอังกฤษ ตำราเล่มนี้ยังคงเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญสำหรับนักวิชาการตะวันตกที่สนใจตรีโกณรูปทรงกลมและด้านเท่า เรจิโอ มอนตานุส นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้อาศัยตำรา “ชักลุ้ลกิฏออาตฺ” ของอัฏฏูซีย์ในการแต่งตำราตรีโกณมิติของตน โดยอ้างทฤษฎีและความคิดของอัฏฏูซีย์ที่ปรากฏอยู่ในตำรา “ชักลุ้ลกิฏออาตฺ” ซึ่งมีอยู่ 5 บทความด้วยกัน ดังนี้

บทความที่ 1  ประมวลถึงปฏิภาคหรือสัดส่วน (Proportion)
บทความที่ 2  กล่าวถึงรูปทรงของด้านตัดแนวราบ
บทความที่ 3  กล่าวถึง Sector คือส่วนของวงกลมที่ตัดออกโดยเส้นรัศมีสองเส้น
บทความที่ 4  กล่าวถึง Sector ที่มีรูปทรงกลมและสัดส่วน (ปฏิภาค)
บทความที่ 5  กล่าวถึงเส้นโค้งหรือเส้นรอบวง (Arc) ขนาดใหญ่บนพื้นผิวรูปโลก

น่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ได้รับชื่อเสียงอันโด่งดังในวิชาเรขาคณิตอีกเช่นกัน เพราะเขาได้วิจารณ์ทฤษฎีเรขาคณิตของอิกลิดุส ซึ่งผู้คนในยุคนั้นเชื่อกันว่าทฤษฎีเรขาคณิตของอิกลิดุสไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือวิจารณ์ได้ อัฏฏูซีย์ได้พยายามอ้างหลักฐานสมมติฐาน “เนื้อหาที่ห้า” ของอิกลิดุส ซึ่งอิกลิดุสเองไม่ได้อ้างหลักฐานเอาไว้ จึงเป็นต้นกำเนิดของเรขาคณิต “อัลฮัซลูลียะฮฺ” ในเวลาต่อมา

หลังยุคของน่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ ยอห์น วัลเลซ นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษได้ศึกษาอย่างวิเคราะห์เจาะลึกถึงหลักฐานของน่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์เกี่ยวกับ “เนื้อหาที่ห้า” ของอิกลิดุสและยอมรับว่า น่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์คือนักคณิตศาสตร์อันดับต้นและมีส่วนสำคัญในการเริ่มต้นของเรขาคณิต “อัลลาอิกลิดุส” (คือ เรขาคณิตที่มิใช่แบบของอิกลิดุส) และปรากฏอรุณรุ่งของคณิตศาสตร์ยุคใหม่

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่นักคณิตศาสตร์ในยุคใหม่ เมื่อกล่าวถึงเรขาคณิตที่ไม่ใช่แบบอิกลิดุส (อัลฮันดะซะฮฺ อัลเฟาว์กียะฮฺ) จะกล่าวถึงนักคณิตศาสตร์ตะวันตกบางคนที่มีชื่อเสียงในแวดวงคณิตศาสตร์ เช่น นิโคลิย่า ลูบาชอฟสกี้ ชาวรัสเซีย (ฮ.ศ.1208-1273) คาร์ล กาวส์ชาวเยอรมัน (ฮ.ศ.1191-1272) และจูลิอา ชาวฮังการี ซึ่งมีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ฮ.ศ.1242-1283

แต่กลับหลงลืมที่จะกล่าวถึงนักวิชาการซึ่งมีการคิดค้นทฤษฎีคณิตศาสตร์มาก่อนหน้านั้นหลายศตวรรษ อาทิเช่น ซาบิตฺ อิบนุ กุรฺเราะฮฺ , อิบนุ อัลฮัยซัม , อุมัร อัลค็อยยาม และน่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ เป็นต้น โปรดอย่าลืมว่าเรขาคณิตที่มิใช่แบบอิกลิดุสนั้น มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงในการศึกษาเนื้อที่ของธรรมชาติและการอรรถาธิบายทฤษฎีสัดส่วน

น่าซีรุดดีน อัฏฏูซีย์ยังได้แต่งตำราในสาขาอื่นมากกว่า 145 เล่ม อาทิเช่น วิชาคำนวณ , วิชาพีชคณิต , ตรีโกณมิติ , ดาราศาสตร์ , ภูมิศาสตร์ , จักษุประสาทและตรรกวิทยาเป็นต้น ส่วนหนึ่งจากตำราที่อัฏฏูซีย์ได้แต่งไว้ คือ

1. ตำราปฏิทินดวงดาว อัลอีลี่คอนีย์
2. ตำราพีชคณิต
3. ตำราอาร์คามิดิส ว่าด้วยการหารเส้นรอบวง
4. ตำราว่าด้วยปรากฎการณ์ดาราศาสตร์
5. ตำราเกี่ยวกับวิชามรดก
6. ตำรากฎเรขาคณิต
7. ตำราอัตตัซฮีล ว่าด้วยเรื่องดวงดาว
8. ตำราตะฮฺรีรุ้ลมะซากิน
9. ตำราตะฮฺรีรุ้ลมนาซิร ในวิชาจักษุประสาท
10. ตำราตะฮฺรีรุ้ลกะลาม

ฯลฯ