ความเป็นมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม

หากเราจะนิยามความเป็นมลายูโดยไม่พิจารณาถึงภูมิศาสตร์ในการตั้งหลักแหล่งของคนมลายูกล่าวคือ ไม่พิจารณาความเป็นมลายูว่าจะต้องหมายถึงพลเมืองมุสลิมเชื้อสายมลายูที่อยู่เฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ 5 จังหวัด (รวมสตูลและสงขลา) เท่านั้นแต่หมายถึงชาวมุสลิมมลายูโดยรวมทั้งประเทศ เราก็คงสามารถกำหนดคุณสมบัติอันเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูได้ในประการต่างๆ ต่อไปนี้ คือ

1. เป็นชาวมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม
2. มีชาติพันธุ์มลายูโดยสายเลือด
3. มีภาษามลายูเป็นภาษาสำคัญ
4. มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบมลายู
5. ประกอบอาชีพทางการเกษตรหรือค้าขาย

 

จึงได้นิยามความเป็นมลายูจากคุณสมบัติทั้ง 5 ประการรวมกันว่า “คนมลายูโดยชาติพันธุ์นับถือศาสนาอิสลาม มีภาษามลายูเป็นภาษาสำคัญ มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบมลายู นิยมประกอบอาชีพทางการเกษตรหรือค้าขาย”  คนที่เข้าองค์ประกอบของคุณสมบัติ 5 ประการตามคำนิยามโดยสังเขปนี้ ย่อมถือว่าเป็นกลุ่มชนที่มีความเป็นมลายูชนโดยสมบูรณ์ แน่นอนคนมลายูในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ย่อมครบองค์ประกอบความเป็นมลายูชนอย่างไม่ต้องสงสัย

 

แต่ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ก็คือ คนมลายูนอกพื้นที่ 5 จังหวัดโดยเฉพาะ “ออแฤ นนายู บาเกาะ” นั้นมีคุณสมบัติเข้าองค์ประกอบทั้ง 5 ประการหรือไม่? ทั้งนี้เพราะ “ออแฤ นนายู บาเกาะ” ถูกตั้งข้อสงสัยว่าพวกเขาหมดความเป็นมลายูและกลายพันธุ์ไปแล้ว คนมลายูที่แท้จริงก็คือคนมลายูปัตตานี (ออแฤ นนายู ตานิง) หรือคนมลายูในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น!

 

ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดก็คือ การตั้งคำถามจากคนมลายูในพื้นที่ที่พูดภาษายาวีหรือภาษามลายูถิ่น กับคนมลายูนอกพื้นที่หรือคนมลายูบางกอกว่าเป็นคนมลายูอิสลามแล้วทำไมจึงไม่พูดภาษามลายู ความสงสัยจึงเกิดขึ้นตามมาว่า ถ้าคนมลายูบางกอกยังคงความเป็นมลายูอยู่ พวกเขาก็จะต้องพูดภาษามลายูได้ แต่การที่พวกเขาพูดภาษามลายูไม่ได้และพูดได้เฉพาะภาษาไทย (บะฮฺซอ สิแย) ก็ย่อมแสดงว่าความเป็นมลายูของพวกเขาสุดสิ้นลงไปแล้วหรือไม่ พวกเขาก็ถูกกลืนสู่วัฒนธรรมของคนสยาม (สิแย) ไปหมดแล้ว!

 

คำถามในทำนองนี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันแสดงว่าผู้ถามเน้นความเป็นมลายูไปยังคุณสมบัติที่ว่าด้วย ภาษาพูดเป็นสำคัญ จึงจำเป็นที่เราจะต้องวิเคราะห์และหาคำตอบจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคุณสมบัติอันเป็นองค์ประกอบของความเป็นมลายูในคำจำกัดความที่กล่าวมา

 

1.ความเป็นมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม
ประชาคมมลายูได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว เราคงไม่มีความจำเป็นในการสืบค้นว่าชาติพันธุ์มลายูเริ่มเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามตั้งแต่เมื่อใด เพราะเรากำลังพูดถึงคนมลายูบางกอกกับคนมลายูปัตตานีที่ยังคงอยู่ในดินแดนปัตตานีดารุสสลามเดิม

 

หลักฐานที่ปรากฏชัดที่สุดก็คือ เริ่มนับอย่างเป็นทางการสำหรับห้วงเวลาเริ่มแรกของศาสนาอิสลามในหมู่ประชาคมมลายูปัตตานีเมื่อสุลต่านองค์แรกของราชวงศ์ศรีมหาวังสาประกาศตนเข้ารับอิสลาม และการเป็นนครรัฐมุสลิมของปัตตานีดารุสสลาม นั่นย่อมเพียงพอแล้วสำหรับการยืนยันข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่าประชาคมมลายูในหัวเมืองมลายูเข้ารับอิสลามมาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว

 

และนับจากนั้นก็ดูเหมือนว่าประชาคมมลายูไม่เคยเปลี่ยนศาสนาและความเชื่อของตนอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาใหม่ที่เข้ามาภายหลังโดยชาวตะวันตก (คริสตศาสนา) หรือการหวนกลับไปนับถือศาสนาเดิมที่เคยมีอิทธิพลมาก่อนในแหลมมลายู (พุทธ-พราหมณ์) ความเป็นมุสลิมได้สืบทอดและส่งผ่านคนมลายูรุ่นแล้วรุ่นเล่าและกลายเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูไปในที่สุด อิสลามกับความเป็นมลายูไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ (อารง สุทธาศาสตร์ “เบื้องหลังชายแดนภาคใต้ไทย” 1982)

 

ข้อเท็จจริงนี้พิจารณาได้จากการใช้คำว่า “มาโสะ นนายู” ที่แปลว่า “เข้าเป็นมลายู” มีความหมายว่าเปลี่ยนสภาพจากการเป็นผู้นับถือศาสนาหนึ่งที่ไม่ใช่ศาสนาอิสลามแล้วเข้ารับเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม (รัตติยา สาและ , ปตานีดารุสสลาม (มลายู-อิสลามปตานี) สู่ความเป็นจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส)  สำหรับชาวมุสลิมมลายูปัตตานีในพื้นที่ของปัตตานีดารุสสลามเดิม (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่เรียกตัวเองว่า “ออแฤ นนายู ตานิง” สำนึกในความเป็นมลายูและความเป็นอิสลามนั้นเราคงไม่ต้องกล่าวถึงเพราะเป็นสิ่งที่รับรู้กันดีอยู่แล้ว

 

แต่สำหรับชาวมลายูนอกพื้นที่ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “ออแฤ นนายู บาเกาะ” นั้น ความเป็นอิสลามของพวกเขาเป็นเช่นใด ยังคงเหนียวแน่นและเข้มข้นอยู่ในสายเลือดของพวกเขาหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องการคำตอบและคำตอบที่ได้ก็จำต้องได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงใด แน่นอนผู้เขียนถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ “ออแฤ นนายู บาเกาะ” เพราะผู้เขียนสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวมลายูมุสลิมและความเป็นมุสลิมของบรรพบุรุษชาวมลายูเหล่านั้นก็มีความเก่าแก่เช่นเดียวกับคนมลายูตานีนั่นเอง

 

กล่าวคือบรรพบุรุษของผู้เขียนเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูมาแต่เดิม มิใช่เป็นบุคคลที่เพิ่งเข้ารับอิสลามตามนัยของคำ “มาโสะ นนายู” แต่อย่างใด อีกทั้งบรรพบุรุษของผู้เขียนก็มิใช่ชาวมลายูปัตตานีแต่ฝ่ายเดียว เพราะเชื้อสายของผู้เขียนทางฝ่ายบิดาเป็นชาวมลายูมุสลิมยะโฮร์ ทางฝ่ายมารดานั้นสืบเชื้อสายมาจากชาวมลายูมุสลิมกลันตันและปัตตานี ในสายเลือดของผู้เขียนจึงมีความเป็นมลายูที่มากกว่าความเป็นมลายูปัตตานีแต่ยังรวมเอาความเป็นมลายูยะโฮร์และกลันตันรวมเข้าไว้ในสายเลือดอีกด้วย

 

และความเป็นมลายูทั้ง 3 กลุ่มนี้ก็เป็นมลายูดั้งเดิมในบางกอกที่รวมกับมลายูปัตตานีจากปัตตานีดารุสสลามเข้าไว้ด้วยกัน กระนั้นผู้เขียนก็จะอาศัยเฉพาะความเป็นมลายูบางกอกในการพิสูจน์ความเป็นมุสลิมของประชาคมมุสลิมมลายูบางกอกโดยรวมเป็นสำคัญ การที่เราจะพิสูจน์ถึงความเป็นมุสลิมของชาวมลายูบางกอกก็จำเป็นต้องกำหนดสิ่งชี้วัดความเป็นมุสลิมโดยข้อมูลประจักษ์ซึ่งน่าจะมีตัวชี้วัดดังต่อไปนี้

1. มัสญิดหรือสุเหร่า
2. โรงเรียนสอนศาสนาและการศึกษาศาสนา
3. การประกอบศาสนกิจอันเป็นเครื่องหมายของความเป็นมุสลิม
4. ความตื่นตัวต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม

 

สำหรับตัวชี้วัดข้อแรกคือ มัสญิดหรือสุเหร่าข้อมูลประจักษ์คือ ในเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) และจังหวัดใกล้เคียงมีมัสญิดหรือสุเหร่าอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อคำพูดที่ว่า “ที่ใดมีมัสญิดที่นั่นย่อมมีมุสลิม ที่ใดที่มีมุสลิมประกอบศาสนกิจที่มัสญิดที่นั่นย่อมมีอิสลาม เมื่อใดที่มีมัสยิดถูกสร้างขึ้นใหม่ ย่อมแสดงว่าที่นั่นมีการเพิ่มขึ้นของประชาคมมุสลิมและการแผ่ขยายของศาสนาอิสลามมากขึ้น”

 

คำพูดนี้ย่อมสอดคล้องกับข้อเท็จจริงซึ่งประจักษ์ได้ว่า คนมลายูบางกอกยังคงรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นมลายูผู้นับถือศาสนาอิสลามเอาไว้ดังเช่นบรรพบุรุษของพวกเขา ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติจำนวนมัสญิดที่จดทะเบียนโดยคร่าวๆ ก็คือ

บางกอก (กรุงเทพฯ-ธนบุรี)  185   มัสญิด

นนทบุรี  21  มัสญิด

ฉะเชิงเทรา   50  มัสญิด

อยุธยา  59  มัสญิด

ปทุมธานี   27  มัสญิด

นครนายก  26  มัสญิด

สมุทรปราการ  10  มัสญิด

ชลบุรี  24  มัสญิด

ระยอง  6   มัสญิด

ตราด  8  มัสญิด

เพชรบุรี  13  มัสญิด

ประจวบฯ  9  มัสญิด

 

จังหวัดที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกันและเป็นที่ตั้งหลักแหล่งของประชาคมมลายูบางกอกที่กระจายและแผ่ขยายออกไปจากศูนย์กลางคือเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ-ธนบุรี) ซึ่งหากรวมจำนวนมัสญิดในแต่ละจังหวัดเข้าด้วยกันก็จะมีจำนวนเกือบ 300 มัสญิดด้วยกันซึ่งสถิตินี้เป็นสถิติเก่า ในปัจจุบันมีจำนวนมัสญิดที่จดทะเบียนถูกต้องเพิ่มขึ้นอีก

 

ข้อมูลนี้เฉพาะในบางเขตของกรุงเทพฯ จะมีจำนวนมัสยิดที่หนาแน่นอีกด้วย เช่น เขตพระโขนง (เดิมก่อนที่จะถูกแยกออกเป็นเขตสวนหลวง ประเวศ ดอกไม้ บางกะปิ สะพานสูง และบึงกุ่ม) เขตมีนบุรี และเขตหนองจอก เป็นต้น ซึ่งในเขตที่มีมัสญิดจำนวนหนาแน่นนี้จะเป็นที่ตั้งชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูโดยส่วนใหญ่ นอกจากนี้จังหวัดอื่นๆ ที่มีจำนวนมัสญิดปรากฏนั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นเขตชุมชนที่ตั้งของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูโดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดอีกเช่นกัน

 

“รัฐอิสลามนั้นต้องมีมัสยิดสักแห่งหนึ่ง เพื่อให้ราษฎรใช้เป็นสถานที่สักการะพระผู้เป็นเจ้า อัลลอฮฺ ตะอาลา หากไม่มีมัสยิดก็จะไม่เห็นความเป็นรัฐอิสลาม” (A.Teeuw & D.K. Wyatt p.78)  นี่คือคำตอบสำหรับถ้อยคำของสุลต่านมุศ็อฟฟัร ชาฮฺ สุลต่านองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์ศรีมหาวังสา ปัตตานีดารุสสลามที่ว่า “รัฐอิสลามนั้นควรจะมีอะไรเป็นสัญลักษณ์บ้าง”

 

แล้วชัยคฺ เศาะฟียุดดีน ก็ตอบคำถามนั้นซึ่งคำตอบของชัยคฺ เศาะฟียุดดีน อัล-หัฎร่อมียฺ (ร.ฮ.) เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ท่านเริ่มวางรากฐานรัฐอิสลามในนครมะดีนะฮฺด้วยการสร้างมัสญิดอัล-กุบาอฺ และมัสญิดนะบะวียฺ เป็นสัญลักษณ์แรกสำหรับรัฐอิสลาม และประชาคมมุสลิมก็ถือเอาการสร้างมัสญิดเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สุดในการแสดงออกถึงความเป็นมุสลิมผู้ศรัทธา

 

และมัสญิดก็คือศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชาวมุสลิมที่ร่วมกันสร้างมัสญิดนั้นขึ้นบนพื้นฐานของความยำเกรงในพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ชาวมุสลิมมลายูได้ยึดมั่นในแนวทางปฏิบัติดังกล่าวอย่างมั่นคง ไม่ว่าที่ใดก็ตามที่พวกเขารวมตัวตั้งชุมชนอยู่พวกเขาก็จะร่วมสร้างมัสญิดขึ้นเพื่อใช้ในการประกอบศาสนกิจและเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดหลักคำสอนของศาสนาอิสลามแก่สมาชิกในชุมชนที่ตั้งของมัสญิดนั้น

 

วิถีปฏิบัติข้อนี้ยังคงได้รับการสืบสานต่อมาโดยมิขาดสายนับตั้งแต่มัสญิดปินตูกืรบัง กรือเซะ ที่สุลต่านมุศ็อฟฟัร ชาฮฺ ทรงมีบัญชาให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปัตตานีดารุสสลาม ตามข้อเสนอของชัยคฺ เศาะฟียุดดีน อัล-หัฎร่อมียฺ (ร.ฮ.) ซึ่งได้รับตำแหน่ง ราญา สรี ฟากิฮฺ (Raja Seri Faqih)  ในเวลาต่อมาทุกวันนี้ชาวมุสลิมมลายูบางกอกยังคงรักษาและดำเนินไปตามวิถีปฏิบัติดังกล่าวไม่ต่างอะไรจากบรรพบุรุษชาวมุสลิมมลายูของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย และนี่เป็นประจักษ์พยานที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าความเป็นอิสลามของชาวมุสลิมมลายูบางกอกไม่ได้สูญหายไปแต่อย่างใดเลย!

 

ตัวชี้วัดข้อที่สองก็คือโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และการให้ความสำคัญต่อการศึกษาศาสนาทั้งที่เป็นภาคฟัรฎู อัยนฺ และภาคฟัรฎูกิฟายะฮฺ  โดยข้อเท็จจริงแล้วตัวชี้วัดนี้มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดข้อที่หนึ่ง กล่าวคือ เมื่อมีการสร้างมัสญิดเพื่อการประกอบศาสนกิจร่วมกัน ย่อมต้องมีการเรียนการสอนเรื่องศาสนาตามมา ในช่วงแรกๆ ก็คือที่บริเวณอาคารของมัสญิด ต่อมาเมื่อมีจำนวนผู้เรียนมากขึ้นจึงได้มีการขยับขยายและสร้างโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นเป็นกิจลักษณะ  สถานที่ตั้งของโรงเรียนสอนศาสนาส่วนใหญ่ก็คืออยู่ในบริเวณเดียวกับที่ตั้งของมัสยิดนั่นเอง

 

สิ่งที่โรงเรียนของมัสญิดหรือโรงเรียนสุเหร่าซึ่งบางยุคคนมลายูบางกอกเรียกว่า “โรงเรียนแขก” ทำหน้าที่หลักก็คือการสอนอัล-กุรอาน และความรู้ในการประกอบศาสนกิจเบื้องต้นที่มุสลิมจำเป็นต้องเรียนรู้และปฏัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเรียกว่า “ฟัรฎู อัยนฺ” (ฟัรดูอีน) นั่นเอง จำนวนของโรงเรียนสอนอัล-กุรอานและฟัรฎูอัยนฺนั้นมีอัตรามากกว่าจำนวนมัสญิดที่จดทะเบียน เพราะในหลายชุมชนของคนมลายูบางกอกมีมัสญิดที่ใช้ละหมาดวันศุกร์ (มัสญิดญามิอฺ) 1 มัสญิดแต่อาจจะมีมุศอลลา (ที่ละหมาดประจำเวลา) หรือ บาแล (บาลัย) บะละเศาะฮฺมากกว่า 1 แห่ง

 

มุศอลลาหรือบาแลที่ว่ามานี้ก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกับโรงเรียนของมัสญิด คือมีการเรียนการสอนอัล-กุรอานและความรู้ภาคฟัรฎูอัยนฺเช่นกัน ข้อสังเกตในการสอนอัล-กุรอานของชาวมลายูบางกอกในอดีตประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมายังคงใช้วิธีการอ่านประสมคำตัวอักษรภาษาอาหรับแบบผสมคำมลายู เช่น อะลิฟ ดะตะฮฺอ้า , อะลิฟ ดะปันอู้ , อะลีฟ บะเวาะฮฺ อี้ เป้นต้น คำว่า ดะตะฮฺ ก็คือ ดิอะตัส , คำว่า ดะปัน ก็คือ ดิดะปัน (ฮะดัปปัน) และคำว่า บะเวาะฮฺ ก็คือ ดิบะเวาะฮฺ ที่แปลว่าข้างล่าง หรือ สระกัสเราะฮฺ นั่นเอง

 

และดูเหมือนว่าคนมลายูบางกอกที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปต่างก็เคยผ่านการเรียนอัล-กุรอานด้วยการประสมคำแบบนี้มาด้วยกันทั้งสิ้น เพิ่งจะมาปรับเปลี่ยนให้ง่ายขึ้นนี้มาด้วยภายหลังไม่นานมานี้เอง คนมลายูบางกอกในอดีตยังคงให้ความสำคัญกับพิธีตัมมัตอัล- กุรอานของบุตรหลานที่เรียนอัล-กุรอานหัวใหญ่จบสมบูรณ์ และถือเป็นงานที่ทุกคนให้ความสำคัญถึงขั้นล้มวัวล้มควายกันลยทีเดียว

 

ในทุกวันนี้ชาวมลายูบางกอกยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนอัล-กุรอานของบุตรหลาน มีการฝึกการอ่านแบบทำนอง ซึ่งเรียกว่า “ละฆู” ทั้งทำนองมุรอตตัล และ มุเญาวฺวัด มีการเปิดค่ายอบรมภาคฤดูร้อนสำหรับเรื่องการอ่านอัล-กุรอานและวิชาตัจญวีดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการเสริมการขับร้องประสานเสียง ที่เรียกว่า “นะชีด” หรือ สมัยก่อนเรียกว่า “นะเสฟ” ตามสำเนียงมลายูบางกอกอีกด้วย

 

และส่วนมากของเนื้อหาเพลงที่เยาวชนขับร้องก็ล้วนเป็นเนื้อในภาษามลายูโดยส่วนใหญ่ เพิ่งจะมีภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษเข้ามาในตอนหลังๆ นี้ไม่นาน การขับร้องเพลงนะชีดทางศาสนที่เป็นภาษามลายูนี้ก็เป็นข้อยืนยันอีกประการหนึ่งว่า ลูกหลานคนมลายูบางกอกยังคงสืบสานภาษามลายูของบรรพบุรุษในรูปของเนื้อเพลงภาษามลายู ซึ่งโดยส่วนมากร้องได้ไพเราะจับใจ แต่อาจจะไม่รู้ความหมายของเนื้อเพลงที่ร้องด้วยซ้ำไป

 

กระนั้นพวกเขาก็ร้องเพลงนะชีดภาษามลายูด้วยความภาคภูมิใจทั้งๆ ที่พูดภาษามลายูไม่เป็น แต่ถึงแม้พวกเขาจะพูดภาษาไทยเยาวชนมุสลิมมลายูเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทเพลงภาษาไทยมากเท่ากับบทเพลงภาษามลายู นี่เป็นเรื่องแปลกที่เกิดขึ้นจริงในสังคมของชาวมลายูบางกอก

 

ในงานน้ำชาของมัสญิดหรือโรงเรียนสอนศาสนาเป็นเรื่องปกติมากที่ผู้เข้าไปในงานจะได้ยินเสียงการขับร้องประสานของคณะนะชีดที่เป็นเยาวชนและเนื้อเพลงที่พวกเขาซักซ้อมและขึ้นเวทีขับร้องก็ล้วนแต่เป็นภาษามลายูทั้งสิ้น คณะขับร้องนะชีดบางคณะออกสำเนียงมลายูในเนื้อเพลงที่ขับร้องแทบจะไม่ได้แตกต่างจากคณะ อัร-รอยฮาน ของมาเลเซียด้วยซ้ำไป

 

ในด้านการอ่านคัมภีร์อัล-กุรอานด้วยทำนองเสนาะ (มุเญาวฺวัด) หรือ มุร็อตตัลนั้นเยาวชนมุสลิมลูกหลานมลายูบางกอกในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมากเพราะมีองค์กรที่ให้การสนับสนุน เช่น สมาคมกอรีแห่งประเทศไทย ชมรมอัล-กุรรออฺ เป็นต้น ที่สำคัญการอ่านและการออกอักขระวิธีตามหลักวิชาตัจญ์วีดเป็นสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีไม่แพ้เยาวชนลูกหลานคนตานีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความฉะฉาน (ฟะศอหะฮฺ) ในการอ่านของพวกเขาอาจจะดีกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียอีก

 

จึงไม่แปลกที่จะกล่าวว่านักกอรีเยาวชนที่เป็นลูกหลานชาวมลายูบางกอกในปัจจุบันที่เป็นนักกอรีรุ่นใหม่มีจำนวนมิใช่น้อยที่ผ่านเวทีการประกวดทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศอย่างในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งหมดเป็นผลมาจากการทุ่มเทและให้ความสำคัญของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีต่อการสืบสานและสนับสนุนการเรียนอัล-กุรอานของบุตรหลานอย่างจริงจังนั่นเอง

 

การศึกษาภาคฟัรฎู อัยนฺ ของเยาวชนมุสลิมบางกอกก็ถือเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีในการให้การศึกษาหลักวิชาการศาสนาเบื้องต้นซึ่งมีองค์กรเข้ามารับผิดชอบ เช่น สมาคมคุรุสัมพันธ์ เป็นต้น เยาวชนมุสลิมบางกอกทุกวันนี้ยังคงได้รับการศึกษาในภาควิชาฟัรฎูอัยนฺ นับตั้งแต่เริ่มอ่านออกและเขียนภาษาไทยได้ตามหลักสูตร 6-9 ปี ทั้งในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนจากโรงเรียนสามัญและช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หากเยาวชนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนตาดีกา เยาวชนมุสลิมบางกอก็มีโรงเรียนฟัรฎูอัยนฺที่อยู่ในสังกัดของสมาคมคุรุสัมพันธ์ เช่นกัน

 

สำหรับการศึกษาในภาคฟัรฎูกิฟายะฮฺที่เป็นสายศาสนาโดยเฉพาะนั้น ชาวมุสลิมมลายูบางกอกก็ได้ให้ความสำคัญในการต่อยอดการศึกษาเฉพาะทางแก่บุตรหลานของตน ถึงแม้ว่าสัดส่วนของเยาวชนที่ศึกษาต่อในด้านนี้จะมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการศึกษาในระดับฟัรฎูอัยนฺก็ตาม สถาบันปอเนาะในภาคกลางซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองบางกอกและจังหวัดปริมณฑล (นนทบุรี , ฉะเชิงเทรา , นครนายก และเพชรบุรี) ก็ยังคงสืบสานภาระกิจในการสร้างบุคคลากรทางศาสนาให้แก่สังคมมุสลิมโดยรวม

 

สถาบันปอเนาะในภาคกลางได้พัฒนาระบบการเรียนการสอนจากระบบปอเนาะเดิมที่มีรูปแบบมาจากสถาบันปอเนาะในจังหวัดปัตตานี ซึ่งในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง เพราะได้กลายสภาพเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแบบบูรณาการคือสอนสามัญควบคู่กับศาสนา แต่สถาบันปอเนาะในภาคกลางยังคงรักษารูปแบบของการเรียนการสอนวิชาการศาสนาเพียงอย่างเดียว

 

โดยพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนแบบโรงเรียนสมัยใหม่ มีคาบวิชาที่เน้นภาษาอาหรับเป็นแกนหลัก แต่ยังคงอนุรักษ์ตำราภาษามลายูเอาไว้ในการเรียนการสอนทั้งในคาบวิชาเรียนและนอกเวลาเรียน และตำราภาษามลายูที่ใช้สอนกันในสถาบันปอเนาะภาคกลางก็ผสมผสานกันระหว่างกิตาบมลายูที่เขียนโดยอุละมาอฺชาวปัตตานีและอุละมาอฺชาวมลายูรุ่นหลังที่เป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาคมมุสลิมมลายูในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

 

ซึ่งผู้เขียนจะยกตัวอย่างรายชื่อของตำราภาษามลายูที่นิยมเรียนกันมากในภาคกลางโดยรวมดังนี้

١. مسائل الهتدى لإخوان المبتدى
٢. كفاية المبتدى
٣. فرروكونن
٤. فرهمفونن عبادة
٥. وشاحالأفراح وإصباح الفلاح
٦. مطلع البدرين ومجمع البحرين
٧. فريدة الفرائد
٨. انق ڬونجى شرڬك
٩. تفسير نور الإحسان
١٠. ڤناور با ڬى هاتى

เป็นต้น

 

ตัวอย่างรายชื่อกิตาบยาวีหรือตำราภาษามลายูที่ใช้สอนกันอยู่ในสถาบันปอเนาะภาคกลางนี้มีเนื้อหาวิชาที่ครอบคลุมทั้งภาควิชาการประกอบศาสนกิจเบื้องต้น วิชาฟิกฮฺ (นิติศาสตร์อิสลามในมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺ) หลักศรัทธา (เตาฮีด-อะกีดะฮฺ-อุศูลุดดีน) การอรรถาธิบายคัมภีร์อัล-กุรอาน และวิชาตะเศาวุฟ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ในบางสถาบันปอเนาะของภาคกลางยังมีตำราภาษามลายูเล่มอื่นๆ ที่ใหญ่ขึ้นไปอีกซึ่งโต๊ะครูที่สอนจะมีความรู้สันทัดกรณีในการอรรถาธิบายเพราะได้เคยร่ำเรียนมาจากสถาบันปอเนาะในภาคใต้ ในเมืองกลันตันและบางท่านศึกษาที่นครมักกะฮฺหรืออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งวิชาการทั้งในภาคภาษาอาหรับและภาษามลายู ในขณะที่บางสถาบันมีการบรรจุวิชาภาษามลายูกลาง (รูมียฺ) เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนอีกด้วย

 

ปัจจุบันโรงเรียนสอนศาสนาในระดับอัษ-ษานะวียฺที่บูรณาการวิชาศาสนาทีใช้ตำราภาษาอาหรับและภาษามลายูยังคงทำหน้าที่ในการสืบสานการให้การศึกษาศาสนาแก่เยาวชนมุสลิมลูกหลานคนมลายูบางกอกอยู่โดยไม่มีการแปรสภาพโรงเรียนหรือสถาบันปอเนาะสายศาสนาให้กลายเป็นโรงเรียนบูรณาการที่สอนสามัญควบคู่กับศาสนาแต่อย่างใด  และมีการรวมตัวกันจัดตั้งชมรมโรงเรียนสอนศาสนาที่เรียกในภาษาอาหรับว่า อิดติหาดฺ อัล-มะดาริสฺ อัล-อิสลามียะฮฺ  หรือเรียกในภาษามลายูว่า เปอรฺสะตูวัน เสอกะเลาะฮฺ อูฆะมา อิสลาม

 

นักเรียนจากสถาบันปอเนาะในภาคกลางเหล่านี้ได้เดินทางไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยอิสลามของกลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางเป็นจำนวนมาก และนั่นย่อมเป็นตัวชี้วัดได้ว่า ชาวมุสลิมมลายูบางกอกได้ให้ความสำคัญต่อการสืบสานศาสนาอิสลามของพวกเขามากน้อยเพียงใด และสถาบันปอเนาะในภาคกลางที่ยังคงดำรงอยู่นี้ยังได้สืบสานภาระกิจในการให้การศึกษาศาสนาโดยเฉพาะแก่เยาวชนมุสลิมมลายูและชาวมุสลิมเชื้อสายอื่นๆ อันเป็นการต่อลมหายใจของระบบปอเนาะดั้งเดิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังอ่อนแรงและเหลืออยู่น้อยเต็มทีให้คงดำรงอยู่ต่อไป

 

อาจกล่าวได้ว่าลูกหลานคนมุสลิมมลายูในปัจจุบันหากพวกเขาต้องการความรู้ทางศาสนาทั้งภาษาอาหรับและภาษามลายูแล้ว ปอเนาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะมิใช่จุดมุ่งหมายของพวกเขาอีกต่อไป เพราะสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นและจำนวนของสถาบันปอเนาะที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งไม่เอื้ออำนวยในการแสวงหาความรู้ทางศาสนาของพวกเขา แต่จุดมุ่งหมายของพวกเขาในเรื่องนี้ได้ย้ายมาอยู่ในเมืองบางกอก และจังหวัดในภาคกลางเสียแล้ว

 

ในอดีตปัตตานีดารุสสลามได้รับการขานนามว่า “ระเบียงมักกะฮฺ”  หรือ “ดินแดนแห่งสรรพวิทยาการ”  เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สรรพวิชาทางด้านศาสนาที่สำคัญในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งชุมชนของบรรดาอุละมาอฺที่ร่วมกันผลิตตำรับตำราทางศาสนา หรือ กิตาบยาวี ซึ่งกลายเป็นตำราและเอกสารอ้างอิงทางศาสนาที่สำคัญ

 

แต่ทว่าในปัจจุบันโรงเรียนปอเนาะที่สอนเฉพาะวิชาการทางศาสนาทั้งภาษาอาหรับและกิตาบยาวีได้มีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก เพราะมีการแปรสภาพไปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีวิชาสามัญเข้ามาบรรจุและเบียดคาบวิชาทางศาสนาให้ลดน้อยลง นี่เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่จำนวนของโรงเรียนปอเนาะในระดับอัล-อิอฺดาดียฺและอัษ-ษะนาวียฺของชาวมุสลิมมลายูบางกอกยังคงมีจำนวนมีคงเดิมหรือเพิ่มขึ้น

 

บางกอกอาจจะไม่ใช่ระเบียงมักกะฮฺเหมือนอย่างปัตตานีดารุสสลามในอดีต เพราะในระยะหลังมานี้มีลูกหลานชาวมุสลิมมลายูบางกอกได้เดินทางไปศึกษาต่อในประเทศอียิปต์ (มิเศร) และประเทศมุสลิมอื่นๆ และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นจำนวนมิใช่น้อย

 

และดูเหมือนว่าสัดส่วนของผู้สำเร็จการศึกษาจากประเทศอียิปต์ในมหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร กรุงไคโรจะมีสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งในอดีต ณ ระเบียงหนึ่งของมัสญิด อัล-อัซฮัรมีระเบียงเฉพาะของนักศึกษาชาวมลายูที่เดินทางมาจากเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่า ระเบียงญาวะฮฺ (ริวากฺ ญาวะฮฺ) จึงอาจกล่าวได้ว่า บางกอกในปัจจุบันก็คือ ระเบียงของอัล-อัซฮัร  ก็คงไม่ผิด

 

ในด้านการประกอบศาสนกิจที่เป็นสัญลักษณ์ (ชิอ๊ารฺ) ของประชาคมมุสลิมมลายูบางกอกก็เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดถึงความเป็นอิสลามของพวกเขา และสัญลักษณ์นี้ก็ผูกพันอยู่กับมัสญิดเป็นสำคัญ ทุกวันนี้ชาวมุสลิมมลายูบางกอกยังคงละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดในชุมชนของตน เสียงบังหรือเสียงอะซานยังคงก้องกังวานในทุกเวลาของการละหมาดฟัรฎู  5 เวลา และวันศุกร์ซึ่งมีผู้นำมาร่วมละหมาดมากน้อยลดหลั่นกันไปตามขนาดของมัสญิดและจำนวนสัปปุรุษ

 

การละหมาดอีชาอฺและการละหมาดสุนนุฮฺตะรอวีหฺตลอดช่วงค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนก็ยังคงเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา การกล่าวตักบีรในเช้าวันอีดทั้งสอง การร่วมละหมาดอีดยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญ หากจะถือเอามัสญิดเป็นสัญลักษณ์ทางวัตถุที่ประจักษ์เห็นได้ง่ายสำหรับการรับรู้ถึงความมีตัวตนของประชาคมมุสลิมมลายูบางกอก ในทุกวันนี้เส้นทางสายมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ – ชลบุรีที่ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ผู้ที่สัญจรผ่านไปในเส้นทางสายดังกล่าวจะพบอาคารมัสญิดที่มีหออะซานสูงตระหง่าน สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมอิสลามร่วมสมัยได้อย่างชัดเจน

 

เฉพาะบริเวณต้นทางสายมอเตอร์เวย์ที่ต่อจากถนนพระราม 9 ซึ่งเป็นถนนที่ตัดผ่านที่ดินเดิมของมุสลิมมลายูก็มีมัสยิดปรากฏโดดเด่นให้เห็นถึง 5 มัสญิดด้วยกัน มัสญิดที่อาจจะเป็นมัสญิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือมัสญิด อัล-ยุสรอ หลอแหลก็ปรากฏหออะซานที่สูงเสียดฟ้าในบริเวณที่เห็นได้ชัดจากเส้นทางสายมอเตอร์เวย์กรุงเทพ-บางปะอินใกล้กับด่านเก็บเงินทับช้าง มัสญิดทุกหลังที่ปรากฏอยู่ในแถบพื้นที่ดังกล่าวคือสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงความมั่นคงในศาสนาอิสลามของบรรดาชาวมุสลิมมลายูบางกอกอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ตัวชี้วัดสุดท้ายที่กำหนดไว้เพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นอิสลามของชาวมลายูมุสลิมบางกอกก็คือความตื่นตัวต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม แน่นอนตัวชี้วัดทุกข้อก่อนหน้านี้ก็ย่อมเพียงพอต่อการพิสูจน์ถึงความเป็นอิสลามของชาวมลายูบางกอก แต่เราสามารถเพิ่มเติมตัวชี้วัดข้อสุดท้ายนี้เข้าไปอีกเพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคมมุสลิมมลายูบางกอกในด้านการศาสนาได้อย่างชัดเจน

 

ในช่วงของเดือนเราะมะฎอนทุกปีจะมีรายการวิทยุภาคมุสลิมมากกว่า 40 รายการทำหน้าที่เผยแผ่ความรู้ทางวิชาการศาสนาให้แก่พี่น้องมุสลิมโดยทั่วไป เกือบทุกมัสญิดและสถาบันองค์กรทางศาสนาจะจัดกิจกรรมเข้าค่ายอบรมจริยธรรมให้กับเยาวชน มีโครงการอบรมผู้เข้ารับอิสลามใหม่ (มุอัลลัฟ) มีการบรรยายและอภิปรายศาสนธรรมในการจัดงานหารายได้ มีองค์กรและสถาบันที่ให้การอุปการะเด็กกำพร้า มีองค์กรที่ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาแก่ผู้สนใจอิสลาม มีการผลิตและเขียนงานวิชาการหลากหลายเกี่ยวกับเรื่องราวของศาสนาอิสลามและมุสลิม

 

และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากสิ่งบ่งชี้ถึงความตื่นตัวของชาวมุสลิมมลายูบางกอกในด้านการสืบสานศาสนาอิสลาม เมื่อพิสูจน์ตัวชี้วัดทั้ง 4 ประการด้วยข้อมูลประจักษ์ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็ย่อมได้ข้อสรุปที่ว่า ชาวมุสลิมมลายูบางกอกยังคงมีคุณสมบัติในข้อแรกอันเป็นอัตลักษณ์ของ ออแฤ นนายู อยู่เหมือนเช่นบรรพบุรุษของพวกเขานั่นคือความเป็นอิสลามหรือความเป็นมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม