วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบมลายูของชาวมลายูบางกอก

คำว่า “วัฒนธรรม” หมายถึง สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ, วิถีชีวิตของหมู่คณะ และทางวิทยาการ หมายถึง พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน ส่วนคำว่า “จารีตประเพณี” หมายถึง “ประเพณีที่นิยมและประพฤติสืบกันมา ถ้าฝ่าฝืนถือว่าเป็นผิดเป็นชั่ว” และคำว่า “วิถีชีวิต” หมายถึงแนวทางในการดำเนินชีวิต

 

เมื่อพิจารณาถึงคำจำกัดความของคำว่า วัฒนธรรมจารีตประเพณี และวิถีชีวิตก็พอจะเทียบกับคำมลายูได้ 3 คำด้วยกัน คือ เกอบูดะยออัน (كبوديان) อาดัต  (عادة)  และคำว่า ฌารอฮิดูป (چاراهيدوف) สิ่งที่กำหนดกรอบและรูปแบบของวัฒนธรรม (เกอบูดายออัน) อาดัต (จารีตประเพณี) และวิถีชีวิต (ฌารอฮิดูป) ของคนมลายูก็คือหลักคำสอนในศาสนาอิสลามซึ่งเริ่มหล่อหลอมอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมนับตั้งแต่ราชวงศ์ศรีมหาวังสาในส่วนของชาวมลายูตานี

 

ส่วนชาวมลายูในมะละกาหรือชวา หรือหัวเมืองมลายูด้านตะวันตก (ไทรบุรี-เคดะห์) อาจจะเริ่มมาก่อนหน้านั้นหรือหลังจากนั้น การหล่อหลอมอัตลักษณ์ของชาวมลายูตานีในด้านวัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตโดยหลักคำสอนของศาสนาอิสลามก็มุ่งหมายเฉพาะคนมลายูมุสลิมเท่านั้น คนมลายูที่ยังคงเป็นพราหมณ์-พุทธ หรือผู้บูชาผีสางนางไม้อย่างพวกเงาะป่าซาไก (ออรัง อัศลี) หรือชาวเล (ออรัง เลาวต์) บางกลุ่มจึงไม่เข้าอยู่ในกรอบที่ว่านี้

 

และพัฒนาการในการหล่อหลอมความเป็นมลายูแบบอิสลามก็คงต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร มิใช่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในคราเดียว เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่อิทธิพลของวัฒนธรรมและจารีตประเพณีเก่าในยุคก่อนอิสลามยังคงฝังแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของชาวมลายูตานี เมื่อหลักคำสอนของอิสลามแพร่หลายและได้มีการเรียนรู้มากขึ้น การปรับตัวก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แต่ก็มิใช่ว่าความเชื่อและวิถีเดิมจะหมดไปโดยสิ้นเชิง คงต้องมีเล็ดลอดแทรกซึมเข้ามาปะปนกับวิถีอิสลามเป็นธรรมดา

 

เหตุนี้เราจึงสามารถเรียกวัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตตามคำสอนอิสลามว่าเป็นแบบมลายูนิยม ซึ่งอาจจะแตกต่างจากแบบอาหรับนิยม หรือแอฟริกานิยมก็ได้เป็นธรรมดา วัฒนธรรมของชาวมลายูตานีตามความหมายของวิถีชีวิตนั้นได้ถ่ายทอดสู่บรรดาชาวมลายูบางกอกนับแต่รุ่นบรรพชนของพวกเขาที่ถูกกวาดต้อนเทครัวเอาไปไว้ที่บางกอกซึ่งเราได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว

 

สำหรับวัฒนธรรมของชาวมลายูตานีตามความหมายของพฤติกรรมและสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่ชนของตน วัฒนธรรมตามความมหมายนี้ก็คงมีนัยครอบคลุมถึงจารีตประเพณีที่สั่งสมและสืบสานต่อๆ กันมาจนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มตลอดจนเป็นสิ่งที่พบเห็นได้เป็นปรกติในวิถีชีวิตของกลุ่มชนนั้นซึ่งสามารถกำหนดประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้

  1. การแต่งกาย
  2. อาหารการกิน
  3. การละเล่น-งานรื่นเริง
  4. การประดิษฐ์และหัตถกรรม
  5. ประเพณีเกี่ยวเนื่องด้วยศาสนาและคติความเชื่อ
  6. การประกอบอาชีพ
  7. การสร้างที่พักอาศัย
  8. ภาษาและวรรณกรรม

 

ทั้ง 8 ประเด็นที่ถูกกำหนดขึ้นนี้บางประเด็นเป็นสิ่งที่เราได้กล่าวมาก่อนแล้ว เช่น ประเด็นที่ 6  ว่าด้วยการประกอบอาชีพ และประเด็นที่ 8 ว่าด้วยภาษาและวรรณกรรมในกรณีของวรรณกรรมที่เป็นภาษามลายูสำหรับชาวมุสลิมมลายูบางกอกนั้น หากเป็นตำรากิตาบยาวีทางศาสนาก็มีอยู่บ้าง เช่น หนังสือที่ชื่อ กิฟายะตุล-มุบตะดียฺ  เป็นหนังสือที่อาจารย์อิสมาแอล (ร.ฮ.) ซึ่งรู้จักกันในนาม ครูแอวัดกลาง” เป็นผู้แต่ง สำหรับผู้เขียนเองได้พยายามเจริญรอยตามบรรดาผู้รู้ในอดีตด้วยการศึกษาตำรากิตาบยาวี

 

และได้แต่งหนังสือภาษามลายู (กิตาบยาวี) เพื่อใช้เรียนในสถาบันปอเนาะที่ผู้เขียนสอนอยู่ ซึ่งได้แก่

1 ริงกัซซัน ซิมปูลัน อีมาน อะเตาวฺ คุลาเศาะฮฺ อะกีดะฮฺ อะฮิลิซซุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ

2 เกอตะรังงัน ยังบาฆูส บาฆี รุกน 2 อีมาน

3 เปอรฮิมปูนัน บิบัรอะปอ เปอลาจารอน หะดีษ และ

4 อัล-อะกีดะฮฺ อัล-มัจลิซียะฮฺ (ภาษายาวี) อินชาอัลลอฮฺ ด้วยการเอื้ออำนวยและชี้นำของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ผู้เขียนจะได้พยายามแต่งตำราภาษามลายู (กิตาบยาวี) ในภาควิชาอื่นๆ อีก

 

 

เหตุที่ผู้เขียนได้พยายามแต่งหนังสือภาษายาวีก็เพื่อใช้สอนในสถาบันปอเนาะแก่บรรดาลูกหลานชาวมลายูบางกอกประการหนึ่ง และเพื่ออนุรักษ์ภาษามลายูกิตาบเอาไว้มิให้สูญหายไปจากสังคมของชาวมลายูบางกอก อย่างน้อยถึงผู้เขียนและบรรดาลูกหลานชาวมลายูบางกอกที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาจะไม่ได้พูดหรือพูดภาษามลายูถิ่นไม่ได้ แต่ภาษามลายูแบบกิตาบยาวีคือสิ่งที่จะต้องสืบสานเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นการเขียน การอ่าน และแปล

 

เพราะเมื่อเราได้สืบสานวรรณกรรมทางวิชาการในรูปข้อเขียนทางศาสนาของบรรดาอาลิมอุละมาอฺปัตตานีและมลายูด้วยการอนุรักษ์การเรียนกิตาบยาวีเอาไว้ในสถาบันปอเนาะภาคกลางเราก็จำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูและต่อยอดงานวรรณกรรมเหล่านั้นออกไปให้เป็นภาษาทางวรรณกรรมและวิชาการที่ไม่ตายไปจากสังคมมลายูบางกอก ทั้งนี้เพื่อมิให้กุศลผลบุญที่บรรดาอาลิมอุละมาอฺชาวตานีและมลายูในอดีตได้อุทิศแรงกายและสติปัญญาของพวกเขาต้องขาดตอนลง

 

สิ่งที่ทำได้ก็คือการแต่งหนังสือมลายูหรือกิตาบยาวีตามสำนวนและลีลาแบบเดิมเอาไว้ มิใช่แต่งเป็นภาษามลายูท้องถิ่นหรือภาษารูมียฺ เพราะภาษามลายูท้องถิ่นมิใช่ภาษาทางวิชาการและวรรณกรรมคลาสิคที่บรรดาอาลิมอุละมาอฺตานีใช้ในสมัยของพวกท่าน  และภาษารูมียฺก็เป็นผลพวงของการรุกรานทางวัฒนธรรมจากตะวันตกและทำให้ภาษายาวีที่เขียนด้วยตัวอักษรภาษาอาหรับ-เปอร์เซียซึ่งเป็นภูมิปัญญาของปราชญ์มลายูสูญหายไป

 

ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนจะมีความภูมิใจมากที่สุดก็คือการที่ลูกหลานชาวมลายูบางกอกสามารถอ่านและทำความเข้าใจภาษากิตาบยาวีที่เป็นมรดกทางวิชาการของปราชญ์มลายูโดยแท้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถพูดภาษามลายูท้องถิ่นได้ก็ตาม เมื่อถึงวันในอาลัม-บัรซัค ผู้เขียนจะได้บอกเล่าแก่บรรดาอาลิมอุละมาอฺผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้นว่า ตำราที่พวกท่านทั้งหลายได้แต่งเอาไว้ให้ลูกหลานมุสลิมมลายูได้เรียนรู้และเข้าใจคำสอนของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และรสูล (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม)  นั้นข้าพเจ้าคนนึงละที่สืบสานต่อยอดและถ่ายทอดให้แก่ลูกหลานชาวมลายูบางกอก

 

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้อยู่ในปัตตานีดารุสสลามดินแดนในดุนยาของพวกท่าน เพราะบรรพบุรุษของพวกเขาถูกพรากเอาไปไว้เสียที่บางกอก กระนั้นพวกเขาก็ยังร่ำเรียน เขียน อ่าน และแปลตำราที่พวกท่านทั้งหลายได้อุตสาหะและพากเพียรเอาไว้ นั่นคือปณิธานและความหวังของผู้เขียนถึงแม้ว่ามันจะเป็นความนึกคิดของคนเล็กๆ คนหนึ่งก็ตาม แต่ผู้เขียนก็มีความภาคภูมิใจในความเป็นมลายูมุสลิมของตัวเองและบรรพบุรุษ และผู้เขียนก็จะไม่ยอมให้ผู้ใดมาดูแคลนความภาคภูมิใจในส่วนนี้เลย ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครหน้าไหนก็ตาม

 

ย้อนกลับไปยังประเด็นที่เหลือเกี่ยวกับวัฒนธรรมจารีตประเพณีและวิถีชีวิตของคนมลายู แน่นอนคนมลายู ใน 3 จังหวัดอาจจะมีอัตลักษณ์เด่นชัดในประเด็นเหล่านั้นโดยไม่ต้องพิสูจน์ แต่สำหรับคนมลายูบางกอกแล้วก็ย่อมได้รับการสืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษของพวกเขาทั้งในส่วนของวัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีการดำเนินชีวิตไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการแต่งกายของคนมลายูบางกอกไม่ได้แตกต่างจากคนมลายูตานีพวกเขาสวมหมวก ใส่เสื้อ นุ่งโสร่ง หรือนุ่งผ้าปาเต๊ะ ทุกวันนี้คนมลายูบางกอกที่เป็นสตรี นิยมสวมชุดคลุมยาวแบบอะบายะฮฺและคลุมฮิญาบสวยงาม ในบางพื้นที่สวมนิกอบ (ผ้าคลุมหน้า) ให้เห็นจนชินตา

 

คนมลายูกับหมวกกะปิเยาะฮฺเป็นของคู่กัน  ถึงแม้ว่าจะไม่ใส่เสื่อ นุ่งโสร่งผืนเดียวก็จะต้องมีหมวกกะปีเยาะติดศีรษะอยู่เสมอ เหตุนี้ในกำปงคนมลายูบางกอกจะสังเกตเห็นหมวกกะปีเยาะได้ชัดเจน จนเล่าขานกันว่า ที่มาของบางกะปินั้นแท้ที่จริงไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับกะปิกุ้งเคยแต่เป็นการเรียกที่เพี้ยนเสียงมาจาก บางกะปิเยาะ แล้วกร่อนเหลือเพียง กะปิ เพราะที่ทุ่งบางกะปิเป็นแหล่งอยู่อาศัยของชาวมลายูบางกอกนั่นเอง

 

คนมลายูบางกอกทำนาปลูกข้าวในเขตชานพระนคร เรียกทุ่งนาในภาษามลายูว่า ฮูมอ หรือ โฮมอ นานไปก็เพี้ยนเสียงเป็นหัวหมาก เพราะพื้นที่เขตหัวหมากน้อยและหัวหมากใหญ่ในอดีตไม่มีต้นหมาก (ปีนัง-ปิแน) มีแต่ทุ่งนาปลูกข้าว เรียกกันว่า “นาหลวง” คนมลายูที่ทำนาในสมัยก่อนต้องเสียหางข้าวเป็นรายปีให้แก่หลวง มีคนมลายูเป็นนายกองคอยดูแลเก็บภาษีหางข้าวสารให้หลวง ต่อมาภายหลังหลวงก็ออกสิทธิในการครอบครองที่ดินทำกินเรียกว่า “ออกใบเหยียบย่ำ” ให้แก่ชาวมลายูมุสลิมได้ทำกินบนพื้นที่ “นาหลวง” ดังกล่าว

 

พื้นที่เดิมแถบถนนพัฒนาการค่อนไปทางถนนศรีนครินทร์เรื่อยไปตลอดทุ่งหัวหมากแถบนั้นเคยเป็นนาหลวงมาก่อน การแต่งกายของคนมลายูบางกอกจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อมีงานสุเหร่า เราจะไม่เห็นความแตกต่างของคนที่เดินอยู่ในงานสุเหร่าแถวเมืองบางกอกกับงานสุเหร่าแถวจังหวัดภาคใต้แต่อย่างใดในปัจจุบัน

 

เรื่องอาหารการกินนั้นอาจจะมีวัฒนธรรมที่เป็นต้นเค้าเหมือนกันระหว่างคนมลายูบางกอกกับคนมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเภทแกงกะทิ แกงบุญที่ใส่เครื่องเทศ แต่จะมีวิธีการปรุงส่วนผสมที่ต่างกัน เช่น ข้าวยำของคนมลายูบางกอกจะมีหน้าตาที่แตกต่างจาก “นาซิ กราบู” หรือ ข้าวยำปักษ์ใต้ ที่สำคัญข้าวยำของคนมลายูบางกอกเน้นส่วนผสมที่เป็นสมุนไพร ไม่มีเครื่องเคียง และไม่มีน้ำบูดูหมัก (บุดู บิลิฮฺ) เป็นส่วนผสม ส่วนข้าวหุงน้ำมัน หรือ “นาซิ เมเญาะ” ก็จะมีวิธีการหุงที่แตกต่างกันไป สำหรับคนมลายูก็คือข้าวลวกหรือข้าวหมกนั่นเอง

 

ขนมที่เป็นของชาวมลายูแท้และจำเป็นต้องมีในโอกาสสำคัญก็คือ กะตุมปะ หรือ ข้าวต้มมัด คนมลายูบางกอกก็ยังคงนิยมทำรับประทาน โดยเฉพาะมะอฺของผู้เขียนนั้นเรียกได้เต็มปากว่าเป็นนักทำข้าวต้มมัดตัวยงที่หาตัวจับได้ยาก รับรองและประกันคุณภาพได้ว่า 3 วันไม่บูดไม่ออกยาง นอกจากนี้ข้าวยำที่มะอฺของผู้เขียนมักจะทำให้กินในช่วงเดือนเราะมะฎอนของทุกปีนั้นก็เรียกว่าอร่อย เสอดะอฺ ไม่แพ้ข้าวยำปักษ์ใต้ แต่ไม่รับประกันเรื่องบูด เพราะข้าวยำแบบนี้มีอายุไม่นาน ต้องกินตอนปรุงเสร็จใหม่ๆ ข้าวสวยยังอุ่นๆ นั้นดีที่สุด

 

อาหารประจำชาติมลายูก็คือ “บูดู” คือปลาหมักจำพวกปลาน้ำจืด สามารถแปรรูปได้ทั้งทอดแล้วใส่เครื่องโรยหน้าจำพวกพริกทอด หัวหอมเจียว กินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยอย่าบอกใคร หรือจะหลนกับกะทิ เรียกว่า บูดูหลน แล้วกินจิ้มผักเคียงก็อร่อยแบบไม่รู้ลืม กล่าวโดยสรุปในเรื่องอาหารการกินและขนมหวานของคนมลายูบางกอกนั้นก็ยังคงรักษาเค้าเดิมของคนมลายูตานีเพียงแต่อาจจะมีสูตรการปรุงและแปรรูปที่แตกต่างกัน เพราะอาหารการกินเป็นเรื่องของลักษณะภูมิอากาศของแต่ละภาคและขึ้นอยู่กับวัตถุดิบซึ่งอาจจะมีแตกต่างกัน

 

แต่ที่ยืนยันได้ชัดเจนก็คือ คนมลายูไม่เคยลืมกะตุมปะกับปลาบูดู ส่วนอาหารคาวจำพวก เนื้อสะเตะ หรือ มะตะบะนั้นก็ยังเป็นอาหารคาวที่หารับประทานได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนเราะมะฎอน นิยมทำขายกันมาก อาหารจำพวกแป้งทอดที่เรียกว่า ดะดารฺนั้นซึ่งมักทำคู่กับข้าวเหนียวเหลือง ไก่ปิ้ง อาหารจำพวกนี้มาช่วงหลังหากินยากเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพิธีกรรมตามความเชื่อเดิม ขนมกวนที่เรียกว่า ซูฆอ หรือ อาซูรอ นั้นก็ยังมีบางพื้นที่นิยมกวนกันในช่วงเดือนมุฮัรรอมของทุกปีเพียงแต่ไม่ได้จัดทำกันเป็นงานใหญ่แบบประเพณีนิยมเหมือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น

 

ในด้านการละเล่นนั้นหรือมหรสพที่เป็นแบบมลายูจำพวก ร็องเง็ง มะโย่ง วายังกูลิต หรือ ลิเกฮูลู การละเล่นจำพวกนี้แทบไม่หลงเหลืออยู่อีกแล้วในสังคมของคนมลายูบางกอก จะมีเฉพาะลิเกฮูลูที่ตอนหลังมีการฟื้นฟูและแพร่เข้ามาในภาคกลาง และร้องนะเสฟ ตลอดจนลิเกเรียบที่ตีวงนั่งตีกลองรำมะนาและร้องเพลงมัรฮะบาน ตอนหลังมาก็เลิกฟังลำตัดเพราะค่อนข้างจะทะลึ่งและสัปดน นักลำตัดที่เป็นศิลปินแห่งชาติก็เป็นลูกหลานคนมลายูบางกอกก็คือ หวังเต๊ะ นิมา ในงานรื่นเริงที่เกี่ยวกับประเพณีทางศาสนา เช่น งานมัสญิด งานเข้าสุนัต งานแต่งงาน

 

คนมลายูบางกอกนิยมเล่นกระบี่กระบองและฟันดาบซึ่งเป็นการต่อสู้แบบโบราณและมีแม่ไม้ร่ายรำที่สวยงาม เรียกกันว่า “กระบี่แขก” กีฬาที่เป็นการละเล่นของคนมลายูบางกอกก็คือ “ตะกร้อลอดบ่วง” นิยมเล่นตามงานใหญ่ๆ เช่น งานสุเหร่า เป็นต้น นักตะกร้อลอดบ่วงที่เป็นชาวมลายูบางกอกในอดีตนั้นมีฝีมือและลีลาที่หาตัวจับยากเลยทีเดียว

 

สำหรับงานประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาของชาวมลายูนั้นในอดีตที่ให้ความสำคัญกันมากก็เช่น งานโกนผมไฟ (อะกีเกาะฮฺ) งานมาโส๊ะยาวี (เข้าสุนัต) งานแต่งงาน งานบุญตัมมัติอัล-กุรอาน , และงานวันอีด ฮารีรายอฮัจยี เป็นต้น สำหรับพิธีอะกอดนิกาหฺนั้นคนมลายูบางกอกก็ยังคงนิยมใช้ภาษามลายูในการกล่าวคำอีญาบเกาะบูลกันอยู่ในหลายพื้นที่ ถึงแม้ในภายหลังจะมีการใช้ภาษาอาหรับหรือภาษาไทยมากขึ้นก็ตาม

 

ฝีมือของชาวมลายูบางกอกในด้านการทำทองแถบบ้านบางลำภูและมหานาคซึ่งเป็นลูกหลานช่างทำทองที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองปัตตานีก็มีเหลืออยู่บ้างแต่ไม่มาก ลูกหลานมลายูบางคนได้มีโอกาสทำทองที่ใช้ประดับประตูบัยตุลลอฮฺเลยทีเดียว ส่วนช่างไม้และฝีมือในการปรุงตู้ใส่เครื่องขันหมากนั้น ในอดีตมีลูกหลานมลายูบางกอกแถวบ้านป่าเป็นช่างฝีมือเอกที่สร้างผลงานเอาไว้มากพอควร

 

ปัจจุบันลูกหลานของท่านหันไปทำงานเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่กันหมดแล้ว และช่างไม้ที่มีฝีมือนี้ยังรวมถึงช่างก่อสร้างที่เป็นนักต่อบ้านโดยเฉพาะทรงไทยแบบประยุกต์ เพราะคนมลายูบางอกในอดีตนิยมอยู่บ้านทรงไทยแบบภาคกลาง ทุกวันนี้หากจะหาบ้านทรงไทยรุ่นเก่าฝีมือช่างมลายูบางกอกก็ต้องหาชมได้แถบชุมชนคนมลายูมุสลิมเท่านั้น คนไทยที่มิใช่มุสลิมไม่นิยมปลูกบ้านทรงไทยเหมือนในอดึต กลายเป็นว่าคนที่อยู่บ้านทรงไทยก็คือคนมุสลิมมลายูนั่นเอง

 

ท้ายที่สุดของบทความ “ออแฤ นนายู บาเกาะ” (คนมลายูบางกอก) ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมข้อสังเกตและข้อเท็จจริงประจักษ์เพื่อยืนยันว่า คนมลายูบางกอกที่เป็นมุสลิมในทุกวันนี้พวกเขายังคงสืบสานและดำรงอัตลักษณ์ความเป็นมลายูของพวกเขาเฉกเช่นบรรดาบรรพบุรุษชาวมลายูตานีและหัวเมืองมลายูในอดีตไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

 

แต่วิถีชีวิตของพวกเขาที่แสดงออกและดำเนินอยู่บ่งชี้ว่าพวกเขาก็คือชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง และพวกเขาไม่เคยและไม่มีวันที่จะถูกกลืนหายไปในสังคมอื่นที่มิใช่มุสลิมมลายู ทั้งหมดที่เขียนมาคือสิ่งที่ยืนยันและเป็นประจักษ์พยาน

 

والله ولي التوفيق والهداية

والسلام عليكم ورحمة الله وبركاته

(อาเนาะอฺ จูจู  ออแฤ นนายู บาเกาะ)