ศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ และบรรดารอซูล

จงศรัทธาและศึกษาความจริงต่อบรรดาคัมภีร์ บรรดารอซูลต่างๆ ที่เป็นประชาชาติก่อนๆ โดยที่ยึดเอาอัลกุรอานและศาสนทูตมูฮำหมัดมายืนยันทั้งหมด กุรอานไม่ได้มายกเลิกบรรดาคัมภีร์ที่ถูกสังคายนาไป (หน้า 2 บรรทัดที่ 2-3 จากข้างบน)


*ถูกต้อง! หลักศรัทธา (อัรกานุล-อีมาน) ระบุไว้ชัดเจนว่า มุสลิมทุกคนต้องศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานลงมาให้แก่ศาสนทูตทั้งหลาย และต้องศรัทธาในบรรดาศาสนทูตทั้งหลายที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ส่งมาประกาศศาสนาแก่ผู้คนในยุคอดีต การศรัทธาต่อท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) และคัมภีร์อัล-กุรอานก็คือการศรัทธาต่อบรรดานบีและรสูลตลอดจนคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาแก่พวกท่านเหล่านั้นด้วย จะแบ่งแย่งไม่ได้หรือเลือกศรัทธาเฉพาะบางท่าน เฉพาะบางคัมภีร์ก็ไม่ได้

ดังที่อัล-กุรอานระบุเอาไว้ว่า :

قُوْلُوْاآمَنَّابِاللهِ وَمَاأُنْزِلَ إِلَيْنَا وَمَاأُنْزِلَ إِلَى إِبْرَاهِيْمَ وَإِسْمَاعِيْلَ وَإِسْحَاقَ وَيَعْقُوْبَ وَالأَسْبَاطِ وَمَاأُوْتِيَ مُوْسَى وَعِيْسى وَمَاأُوْتِيَ النَّبِيُّوْنَ مِنْ رَبِّهِمْ لاَنُفَرِّقُ بَيْنَ أَحَدٍ مِنْهُمْ وَنَحْنُ لهُ مُسْلِمُوْنَ

ความว่า “พวกท่านจงกล่าวว่า พวกเราศรัทธาต่ออัลลอฮฺแล้ว และศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานมายังพวกเรา และสิ่งที่ถูกประทานมายังอิบรอฮีม อิสมาอีล อิสหาก ยะอฺกู๊บ และบรรดาลูกหลานของยะอฺกู๊บ และศรัทธาต่อสิ่งที่มูซาและอีซาได้ถูกนำมา ตลอดจนสิ่งที่บรรดานบีทั้งหลายได้ถูกนำมา ตลอดจนสิ่งที่บรรดานบีทั้งหลายได้ถูกนำมาจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา พวกเราจะไม่แบ่งแยกระหว่างผู้หนึ่งผู้ใดจากพวกเขา และพวกเราเป็นมุสลิมผู้ยอมตนต่อพระองค์”

(อัล-บะกอเราะฮฺ : 136)

ดังนั้น การศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์และบรรดาศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงเป็นสิ่งที่มุสลิมผู้ยอมตนต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ต้องศรัทธาและเชื่อว่าเป็นความจริงที่เด็ดขาดจากพระองค์ ผู้ใดปฏิเสธแม้เพียงผู้หนึ่งผู้ใดจากศาสนทูตเหล่านั้นหรือแม้เพียงคัมภีร์เล่มหนึ่งเล่มใดจากบรรดาคัมภีร์เหล่านั้น ผู้นั้นก็เป็นผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) แล้ว (ดูอายะฮฺที่ 136 สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ, อายะฮฺที่ 40 สูเราะฮฺ อัล-อะอฺร็อพ) ดังนั้น คำถามที่ว่า “ในการศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ บรรดารอซูล ทั้งที่กล่าวและไม่ได้กล่าวไว้ในกุรอาน ให้เราเพียงแค่เชื่ออย่างเดียวเท่านั้นหรือ” (หน้า 2 บรรทัดที่ 16 จากข้างล่าง) คำตอบก็คือ การศรัทธาต่อเรื่องดังกล่าวมี 2 ลักษณะ

หนึ่ง การศรัทธาโดยรายละเอียด (อัล-อีมาน อัล-มุฟัศศอล) กล่าวคือ นบีหรือรสูลท่านใดที่อัล-กุรอานออกชื่อและระบุถึงเรื่องราวของท่านเหล่านั้นเอาไว้อย่างชัดเจน มุสลิมจะต้องศรัทธาว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นนบีหรือ รสูลของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เมื่อศรัทธาแล้วก็ต้องถือแบบอย่างของท่านเหล่านั้นมาปฏิบัติ เช่น เรื่องราวของนบีนูหฺ (อ.ล.) นบีอิบรอฮีม (อ.ล.) นบีมูซา (อ.ล.) และนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เป็นต้น

ซึ่งการจะรู้ถึงแบบอย่างของท่านเหล่านั้นได้ก็จำต้องศึกษาถึงอัตชีวประวัติของท่านเหล่านั้น ตามข้อมูลที่ถูกต้องทั้งใน อัล-กุรอานและสุนนะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) อีกด้วย มิใช่ว่าศรัทธาต่อนบีอิบรอฮีม (อ.ล.) แต่ไม่รู้ว่าท่านมีอัตชีวประวัติที่เป็นสาระสำคัญอย่างไร การศรัทธาเช่นนี้ย่อมถือว่าบกพร่อง หรืออ้างว่าศรัทธาต่อนบีมุฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ว่าท่านเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) แต่ไม่รู้ว่าท่านเป็นชนชาติอะไร? ถือกำเนิดที่ไหน? เสียชีวิตที่ใด? คัมภีร์ที่ท่านถูกประทานคือคัมภีร์ใดก็ไม่ทราบ การศรัทธาเช่นนี้เป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น ไม่ใช่การศรัทธาที่แท้จริง

สอง การศรัทธาโดยสังเขป (อัล-อีมาน อัล-มุจญมัล) หมายถึง การศรัทธาว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงส่งบรรดาศาสนทูตเป็นจำนวนมากไปยังทุกประชาชาติในอดีตนอกเหนือจากที่ระบุเอาไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอาน หรือในสุนนะฮฺของท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เพราะอัล-กุรอานระบุว่า :

وَرُسُلاً قَدْ قَصَصْنَاهُمْ عَلَيْكَ مِنْ قَبْلُ ، وَرُسُلاً لَمْ نَقْصُصْهُمْ عَلَيْكَ

ความว่า : “และบรรดาศาสนทูต ที่แน่แท้เราได้เล่าถึงเรื่องราวของพวกเขาให้ท่านรู้มาก่อนแล้ว และบรรดาศาสนทูตที่เรามิได้เล่าถึงเรื่องราวของพวกเขาให้ท่านทราบ”

(อัน-นิสาอฺ : 164)

وَلَقَدْ أَرْسَلْنَا رُسُلاً مِنْ قَبْلِكَ ، مِنْهُمْ مَنْ قَصَصْنَاعَلَيْكَ وَمِنْهُمْ مَنْ لَمْ نَقْصُصْ عَلَيْكَ

ความว่า : “และแน่แท้ เราได้ส่งบรรดาศาสนทูตมาก่อนหน้าท่าน ส่วนหนึ่งจากพวกเขาคือผู้ที่เราได้เล่าให้ท่านได้รับรู้แล้ว และส่วนหนึ่งจากพวกเขาคือผู้ที่เรามิได้เล่าเรื่องราว (ของพวกเขา) ให้ท่านทราบ”

(ฆอฟิร : 78)

ในส่วนของบรรดาศาสนทูตที่พระองค์มิได้ทรงบอกเล่าถึงเรื่องราวของพวกเขาเอาไว้นี่เอง ที่เราจำเป็นต้องศรัทธาโดยสังเขป เพราะเมื่อพระองค์มิได้ทรงเล่าเรื่องราวของพวกเขาเอาไว้ เราจึงไม่อาจรู้ได้ถึงรายละเอียดของพวกเขาได้ แต่สาระสำคัญอยู่ตรงที่เราศรัทธาตามที่พระองค์บอกเอาไว้ว่าเป็นความจริง คือ เมื่อพระองค์ยืนยันว่าได้ทรงส่งรสูลเป็นอันมากมาก่อนหน้ายุคของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เราก็ศรัทธาตามนั้น ส่วนบุคคลใดที่ถูกระบุในแหล่งอื่นนอกเหนือจากอัล-กุรอานและสุนนะฮฺที่ถูกต้อง ว่าเป็นนบีหรือรสูลโดยมิได้ขัดกับหลักการพื้นฐานของศาสนา เราก็ไม่ศรัทธาว่าจริงหรือปฏิเสธว่าไม่จริง เพราะข้อมูลจากแหล่งอื่นนั้น จริงก็ได้หรือไม่จริงก็ได้ เราเพียงแต่รับรู้เอาไว้เท่านั้นเอง

*การกล่าวอ้างว่า อัล-กุรอานไม่ได้มายกเลิกบรรดาคัมภีร์ที่ถูกสังคายนาไปแล้วนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ห้วนและขาดรายละเอียดซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความสับสนได้ ทั้งนี้จำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อนว่า คัมภีร์ที่เราต้องศรัทธานั้นคือ คัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงประทานให้แก่บรรดาศาสนทูตของพระองค์ ซึ่งมี 2 ลักษณะ

หนึ่งคืออัศ-ศุหุฟ (الصُّحُفُ) ซึ่งเข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ พระวรสารที่เป็นแผ่นบันทึกพระวจนะของพระเจ้า

สองก็คือ คัมภีร์ที่เรียกว่า “อัล-กิตาบ” (الكِتَابُ) เช่น อัต-เตารอต, อัซ-ซะบูร, อัล-อินญีล และอัล-กุรอาน คัมภีร์อัต-เตารอต ที่แท้จริงคือ คัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่นบีมูซา (อ.ล.) มิใช่คัมภีร์อัต-เตารอตที่ถูกเขียนและรวบรวมขึ้นในสมัยหลังนบีมูซา (อ.ล.) คัมภีร์ อัซ-ซะบู๊ร ที่แท้จริงก็คือ คัมภีร์ที่พระองค์ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่นบีดาวุด (อ.ล.) มิใช่คัมภีร์ภาคเพลงสรรเสริญ หรือบทเพลงสดุดีที่เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์เตารอตที่ถูกเขียนและรวบรวมขึ้นในภายหลังโดยชาวยิว

คัมภีร์-อินญีล ที่แท้จริงก็คือ คัมภีร์ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่นบีอีซา (อ.ล.) มิใช่คัมภีร์อัล-อินญีลที่เรียกกันว่า พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ ที่เขียนขึ้นโดยนักบุญมัทธิว มาระโก ลูกาและยอห์น ดังนั้นเราจะต้องไม่สับสนระหว่างคัมภีร์ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานแก่บรรดาศาสนทูตในยุคก่อนกับคัมภีร์ที่ถูกรวบรวมและเขียนขึ้นด้วยมือของมนุษย์ในสมัยหลังศาสนทูตเหล่านั้น คัมภีร์ประเภทแรกนั้นคือ พระวจนะของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เป็นทางนำและเป็นสัจธรรม

ส่วนคัมภีร์ที่รวบรวมและเขียนขึ้นในสมัยหลังนั้นเป็นคัมภีร์ที่ถูกสังคายนาไปแล้ว มีการบิดเบือน มีการตัดทอนและเพิ่มเติมด้วยมือมนุษย์ แล้วก็อ้างว่าเป็นคัมภีร์ที่มาจากพระเจ้า ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นการผสมปนเประหว่างเนื้อหาบางส่วนที่เป็นความถูกต้องและเป็นสัจธรรมกับเนื้อหาที่ถูกบิดเบือนและเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง คัมภีร์อัล-กุรอานจึงถูกประทานลงมาเพื่อยืนยันถึงเนื้อหาของคัมภีร์ที่ถูกต้องและยังคงเป็นสัจธรรม ซึ่งรอดพ้นจากมือของมนุษย์ และแยกแยะความจริงที่ยังคงมีอยู่ในคัมภีร์ก่อนออกจากความเท็จและการบิดเบือน

โดยอัล-กุรอานเน้นถึงสาระธรรมหลักที่เป็นความจริงซึ่งยังคงปรากฏอยู่ในคัมภีร์ก่อนว่าเป็นสาระธรรมเดียวกับเนื้อหาที่มีอยู่ในอัล-กุรอาน เช่น การเรียกร้องสู่การให้เอกภาพต่อพระเจ้าองค์เดียว เป็นต้น และเนื้อหาที่เป็นสาระธรรมหนึ่งเดียวนี่เองที่อัล-กุรอานมิได้มายกเลิก แต่อัล-กุรอานมายืนยันและเรียกร้องให้ชาวคัมภีร์ (อะฮฺลุลกิตาบ) ยอมรับ

ส่วนเนื้อหาที่เป็นธรรมบัญญัติหรือหลักชารีอะฮฺนั้น โดยหลักมูลฐานอัล-กุรอานก็ยืนยันเอาไว้เช่นกัน เช่น เรื่องการนมัสการ การจ่ายทานซะกาตฺ การถือศีลอด บทลงโทษผู้กระทำผิดสถานหนัก และเรื่องหะลาล-หะรอม เป็นต้น ส่วนที่เป็นข้อปลีกย่อยอันเป็นส่วนหนึ่งจากธรรมบัญญัติ อัล-กุรอานก็มายกเลิกและประกาศธรรมบัญญัติใหม่ที่ครบถ้วนสมบูรณ์

ดังนั้นในข้อเท็จจริง อัล-กุรอานจึงถูกประทานลงมาในสองลักษณะ หนึ่งคือยืนยันความจริงที่มีอยู่ในคัมภีร์ก่อน สองยกเลิกธรรมบัญญัติ (ชะรีอะฮฺ) ก่อนด้วย หลักธรรมบัญญัติที่สมบูรณ์โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิบัติ รายละเอียดของศาสนกิจและประมวลกฎหมายที่เหมาะสมกับยุคสมัยของมนุษย์อันเป็นยุคสุดท้าย

อัล-กุรอานได้ยืนยันถึงการยกเลิกธรรมบัญญัติก่อนในส่วนของรายละเอียดและข้อปลีกย่อยว่า :

الَّذِيْنَ يَتَّبِعُوْنَ الرَّسُوْلَ النَّبِيَّ الأُمِّيَّ الَّذِي يَجِدُ وْنَه مَكْتُوْبًا عِنْدَهُمْ فِي التَّوْراةِ وَالإِنْجِيْلِ يَأْمُرُهُمْ بِالمَعْرُوْفِ وَيَنْهَاهُمْ عَنِ المُنْكَرِ وَيُحِلُّ لَهُمُ الطَّيِّبَاتِ وَيُحَرِّمُ عَلَيْهِمُ الخَبَائِثَ وَيَضَعُ عَنْهُمْ إِصْرَهُمْ وَالأَغْلاَ لَ التي كَانَتْ عَلَيْهِمْ

ความว่า : “(คือ) บรรดาผู้ซึ่งพวกเขาปฏิบัติตามศาสนทูตผู้เผยพระวจนะ ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งพวกเขาพบ (เรื่องราวและคุณลักษณะของ) ศาสนทูตนั้นถูกบันทึก ณ พวกเขาในคัมภีร์ อัต-เตารอตและคัมภีร์อัล-อินญีล ศาสนทูตนั้นจะใช้ให้พวกเขาประพฤติความดีและจะห้ามพวกเขาจากความชั่ว และศาสนทูตนั้นจะอนุมัติสิ่งที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และบัญญัติห้ามสิ่งที่เป็นมลทินเหนือพวกเขา และจะวางภาระอันหนักอึ้งและแอกซึ่งเคยอยู่บน (ต้นคอของ) พวกเขาลงจากพวกเขา”

(อัล-อะอฺรอฟ : 157)

ภาระอันหนักอึ้งและแอกที่ถูกกล่าวในอายะฮฺนี้ หมายถึง ธรรมบัญญัติเดิมในคัมภีร์เตารอตซึ่งมีความเคร่งครัดและยากลำบากในการปฏิบัติให้สมบูรณ์ ท่านรสูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จึงได้รับบัญชาให้มาประกาศธรรมบัญญัติใหม่ในคัมภีร์อัล-กุรอานเพื่อยกเลิกภาระอันหนักอึ้งและแอกนั้นเสีย ซึ่งเป็นธรรมบัญญัติในศาสนาอิสลามที่มีความสะดวกและง่ายดายในการปฏิบัติได้อย่างเป็นนิจศีล คำว่า “วางแอกลง” จึงหมายถึงยกเลิก (อัน-นัสคฺ) ธรรมบัญญัติที่เข้มงวดซึ่งมีอยู่ในคัมภีร์เดิมนั่นเอง

นอกจากนี้ ความจริงที่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ก่อนๆ นั้นได้ถูกประมวลเอาไว้ในคัมภีร์อัล-กุรอานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว โดยคัมภีร์อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์เล่มเดียวและเล่มสุดท้ายที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงพิทักษ์รักษาให้รอดพ้นจากการบิดเบือน การเพิ่มเติม และตัดทอนด้วยมือมนุษย์ ดังที่อัล-กุรอานระบุว่า

إِنَّانَحْنُ نَزَّلْنَا الذِّكْرَ وَإِنَّالَهُ لَحَافِظُوْنَ

ความว่า : “แท้จริง เรา (อัลลอฮฺ) เราได้ประทานบทรำลึก (อัล-กุรอาน) ลงมาและแท้จริงเราคือผู้พิทักษ์รักษาสำหรับบทรำลึกนั้น”

(อัล-หิจญร์ : 9)

ดังนั้น คำพูดของพวกคุณที่ว่า “จงศรัทธาและศึกษาความจริงต่อบรรดาคัมภีร์ บรรดารอซูลต่างๆ ที่เป็นประชาชาติก่อนๆ โดยที่ยึดเอาอัล-กุรอานและศาสนทูตมูฮำหมัดมายืนยันทั้งหมด” นั่นเป็นคำพูดที่ถูกต้อง แต่ประโยคสุดท้ายที่ว่า “กุรอานไม่ได้มายกเลิกบรรดาคัมภีร์ที่ถูกสังคายนาไป” เป็นคำพูดที่คลุมเครือและขาดความชัดเจนเนื่องจากขัดแย้งกันโดยถ้อยคำและนัยที่บ่งถึง เพราะคัมภีร์ที่เราต้องศรัทธาและศึกษาความจริงคือ คัมภีร์ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่บรรดาศาสนทูต และอัล-กุรอานก็ประมวลและยืนยันเนื้อหาสาระอันเป็นสัจธรรมในคัมภีร์เหล่านั้นเอาไว้ในอัล-กุรอานอย่างสมบูรณ์แล้ว

ส่วนคัมภีร์ที่ถูกสังคายนาไปแล้วนั้น มิใช่คัมภีร์ที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่ศาสนทูตในยุคก่อน เพราะมันถูกสังคายนาไปแล้วนั่นเอง เหตุนี้อัล-กุรอานจึงถูกประทานลงมาเพื่อแยกแยะว่าอะไรคือสัจธรรมเดิม อะไรคือสิ่งที่ถูกสังคายนาเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เป็นสัจธรรมเดิม อัล-กุรอานก็ยืนยันรับรอง สิ่งใดที่เป็นความเท็จถูกปลอมปนเข้ามาด้วยมือของมนุษย์ อัล-กุรอานก็เปิดเผยและหักล้าง และอัล-กุรอานก็ยกเลิกธรรมบัญญัติเก่าด้วยธรรมบัญญัติที่สมบูรณ์และเหมาะสมกับยุคสุดท้ายจวบจนวันสิ้นโลก และนี่คือความจริงจากพระเจ้า ไม่ใช่สิ่งคลุมเครือและสับสนอย่างที่ปรากฏในคำพูดของพวกคุณ!