อิบนุ อัลบันฺนาอฺ อัลมัรฺรอกิชีย์ (ابن البناء المراكشي)

อบุลอับบาส อะฮฺมัด อิบนุ มุฮำมัด อิบนิ อุสมาน อัลอะซะดีย์รู้จักกันในนาม อิบนุ อัลบันนาอฺ เพราะบิดาของเขาเป็นช่างก่อสร้างและได้รับฉายาว่า “อัลมัรฺรอกิชี่ย์” เพราะเขาเกิดในนครมัรฺรอกิชฺ ของมอรอคโค และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นระหว่างปี ฮ.ศ.654-731/ค.ศ.1256-1321 อิบนุ อัลบันฺนาอฺ อัลมัรฺรอกิชีย์ ได้ศึกษาวิชาอัลหะดีษ นิติศาสตร์อิสลามและไวยากรณ์ในนครมัรฺรอกิชฺ ต่อมาเขาได้เดินทางสู่นคร ฟ๊าส และศึกษาวิชาการแพทย์, คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ จนมีความแตกฉานและกลายเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของโลกมุสลิม

อิบนุ อัลบันฺนาอฺ มีความโด่งดังในฐานะอาจารย์ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นจำนวนมากจากทุกสารทิศ เขายังแต่งตำราในภาควิชาคณิตศาสตร์, เลข, คำนวณ, พีชคณิต, เรขาคณิตและดาราศาสตร์ รวมแล้วมากกว่า 70 เล่มด้วยกัน

อิบนุ อัลบันฺนาอฺ คือ บุคคลแรกที่นำเอาเส้นแบ่งเศษส่วนระหว่างตัวเลขที่เขียนข้างบนเศษส่วน (Numerator) และส่วนหรือตัวหาร (denominator) ซึ่งแพร่หลายเป็นครั้งแรกในเขตดินแดนตะวันตกของโลกอิสลาม ต่อมานักวิชาการในซีกตะวันออกของโลกอิสลามก็รับความคิดดังกล่าวต่อมา ความคิดนี้ได้แพร่สู่ยุโรปไปพร้อมกับตัวเลขอารบิก

ตำรา “ตัลคีซ อะอฺม๊าล อัลฮิซาบ” ของอิบนุ อัลบันนาอฺ นับเป็นตำราที่เลื่องลือและแพร่หลายมากที่สุดเล่มหนึ่งในโลกอิสลามและยุโรป มี 2 ภาคคือ

1. ว่าด้วยเรื่องตัวเลข ประเภทและลำดับต่างๆ ของค่าตัวเลข การบวก การลบ, การคูณ, การหารและเศษส่วน การบวก, การลบ, การหารและการคูณตลอดจนการแบ่งเศษส่วน, เรื่องราก (Root) การบวก, ลบ, คูณและการหารรากและทฤษฎีการบวก square (ตัวเลขกำลังสอง) และ Cubic (ตัวเลขกำลังสาม)

2. กล่าวถึงสัดส่วนและพีชคณิต

ตำราเล่มนี้ยังคงเป็นตำราอ้างอิงพื้นฐานในวิชาคำนวณของยุโรป จวบจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 และนักวิชาการยุโรปได้ตรวจสอบข้อมูลและแปลตำราเล่มนี้ออกเป็นภาษาต่าง ๆ

นักปราชญ์ชาวอาหรับ-มุสลิม ในวิชาคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่จะพูดถึงจำนวนเต็ม, จำนวนเพิ่มและจำนวนพร่อง แต่อิบนุ อัลบันนาอฺกลับวางกฎเกณฑ์สำหรับจำนวนดังกล่าวดังนี้

1. จำนวนเต็ม เช่น จำนวน 6 ก็คือ จำนวนที่ได้ผลรวมของส่วน 1+2+3 ซึ่งมีค่าเท่ากับจำนวน 6 นั่นเอง

2. จำนวนเพิ่ม เช่น จำนวน 12 ก็คือ จำนวนที่ได้จากผลรวมของส่วนต่างๆ คือ 1+2+3+4+6 มีค่ามากกว่าจำนวนของมันเอง คือ รวมส่วนทั้งหมด = 16

3. จำนวนพร่อง คือ 8 ได้จากค่ารวมของส่วน 1+2+3+4 น้อยกว่าจำนวนของมันเอง เพราะผลรวม คือ 7

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่นักปราชญ์ชาวตะวันตกได้แปลตำราตัลคีซฯ ของอิบนุ อัลบันนาอฺ อัลมัรรอกิชีย์ ได้ลอกเลียนความคิดและทฤษฎีในคณิตศาสตร์เป็นอันมาก และอ้างว่าเป็นผลงานของตน ความเชื่อที่มุสานี้ยังคงมีอยู่จวบจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ต่อมานักบูรพาคดีชาวฝรั่งเศส อริสต์ เดอ มาร์ ได้ทำการแปลตำรา ตัลคีซฯ จากต้นฉบับภาษาอาหรับเป็นภาษาฝรั่งเศส จึงเป็นผลทำให้พวกหัวขโมยที่ลอกเลียนทฤษฎีต่างๆ ของอิบนุ อัลบันนาอฺ อัลมัรรอกิชีย์ถูกเปิดโปงต่อหน้าสาธารณชน และบทบาทของอิบนุ อัลบันนาอฺ ในแวดวงคณิตศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่รับรู้กันตามข้อเท็จจริง