ซินดฺ อิบนุ อะลี (سند بن علي)

อบูอัตตอยยิบฺ ซินดฺ อิบนุ อะลี อัลมุนัจฺญิม ใช้ชีวิตอยู่ในมหานครแบกแดด ไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาเกิดเมื่อใด แต่เขาปรากฏตัวตนอยู่จริงในปี ฮ.ศ.235 (ค.ศ.850) โดยประมาณ เขาเป็นนักปราชญ์ในสาขาวิชาดาราศาสตร์ และเป็นนักดาราศาสตร์ชาวมุสลิมรุ่นแรกๆ ที่ทำตารางทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวกับการโคจรของดวงดาว ซึ่งเรียกว่า “อัซซีจฺญ์” (ephemeris) และยังมีบทบาทสำคัญในวิชาคำนวณตรีโกณมิติ (trigonometry)

ซินดฺ อิบนุ อะลี ศึกษาเรื่องดวงดาว การทำปฏิทินกลุ่มดาว และการใช้เครื่องมือดาราศาสตร์ที่ใช้วัดตำแหน่งดวงดาว (astrolabe) ด้วยเหตุนี้อัลมะอฺมูนจึงมีความสนิทสนมเป็นการส่วนพระองค์กับเขาในช่วงก่อนที่เขาจะเข้ารับอิสลาม และพระองค์ก็สามารถโน้มน้าวให้ซินดฺ ซึ่งเคยถือในศาสนายูดายให้เข้ารับอิสลามและกลายเป็นนักปราชญ์ที่ปกป้องอิสลามในเวลาต่อมา

ซินดฺ อิบนุ อะลี ได้แปล, ถ่ายทอดและแต่งตำราในวิชาดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ เขาศึกษาหลักวิชาเรขาคณิตของอิกลิดุส เรียนรู้และทำความเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งพร้อมทำการอธิบายและวิพากษ์ตำราของอิกลิดุสในเชิงวิชาการ (academical) ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่บ่งถึงความรู้อันกว้างขวางของเขาในวิชาเรขาคณิต (geometry)

นักประวัติศาสตร์สาขาวิทยาศาสตร์ถือว่า ซินดฺ อิบนุ อะลี อยู่ในระดับเดียวกับอบุลวะฟาอฺ อัลบูซะญานีย์และอบุล กอซิม อัลอันตอกีย์ ซึ่งบุคคลทั้งสองเป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของชาวอาหรับ-มุสลิม ในภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยเฉพาะวิชาดาราศาสตร์ ซินดฺ อิบนุ อะลี ได้รับแต่งตั้งจากคอลีฟะฮฺ อัลมะอฺมูน ให้เป็นผู้ดูแลหอดูดาวทั้งหมดในอาณาจักรอิสลาม

ถึงแม้ว่า ค่อลีฟะฮฺ อบูญะอฺฟัร อัลมันซูร คือ ค่อลีฟะฮฺท่านแรกที่ให้ความสนพระทัยในภาควิชาดาราศาสตร์ แต่ค่อลีฟะฮฺอัลมะอฺมูน ก็คือบุคคลแรกที่มีบัญชาให้สร้างหอดูดาว (Observatory) ในตำบล อัชชะมาซียะฮฺ และสนับสนุนพระราชทรัพย์ตลอดจนบุคลากรทางดาราศาสตร์และธรรมชาติวิทยาโดยมี ซินดฺ อิบนุ อะลี เป็นหัวหน้านักดาราศาสตร์ที่ปฏิบัติการ ณ หอดูดาวแห่งนี้

ส่วนหนึ่งจากตำราที่ ซินดฺ อิบนุ อะลี ได้แต่งเอาไว้คือ ตำราอัลกอวฎิอฺ , ตำราอัลญัมอฺ วัตตัฟรีก , ตำราการคำนวณของอินเดีย และตำราพีชคณิต เป็นต้น