อัสบาบุนนุซูล | อายะฮฺที่ 97 ซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ

“จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) ผู้ใดก็ตามที่เป็นศัตรูต่อญิบรีล (ผู้นั้นย่อมเป็นศัตรูต่อการวะฮีย์ของอัลลอฮฺซึ่งรวมถึงคัมภีร์เตารอ ตและคัมภีร์อื่นๆด้วย) นั่น (เพราะว่า) แท้จริงญิบรีลได้นำอัลกุรอ่านลงมายังหัวใจของท่านด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺโดย มายืนยันความสัจจริงให้กับคัมภีร์ที่มีมาเบื้องหน้าอัลกุรอ่าน เป็นทางนำและเป็นข่าวดีแก่เหล่าศรัทธาชน”

มูลเหตุแห่งการประทาน

อัต-ติรมีซีย์ บันทึกรายงานว่า: พวกยะฮูดีย์กล่าวกับนบี  (صلى الله عليه وسلم)   ว่า: “หาได้มี นบีคนใดนอกจากจะมีม่าลัก (ฑูตสวรรค์) ผู้หนึ่งจากบรรดามาลาอิกะฮฺได้นำสาส์นและการวะฮีย์จากอัลลอฮฺมายัง นบีผู้นั้น ฉนั้นผู้ใดเล่าคือสหายของท่าน (จากม่าลักนั้น) เพื่อว่าเราจะได้ปฏิบัติตามท่าน?”

นบี (صلى الله عليه وسلم)   ตอบว่า : ญิบรีล! พวกยะฮูดีย์กล่าวว่า: นั่นคือม่าลักที่นำเอาสงครามและการประหัตประหารลงมานี่ ม่าลักผู้นั้นคือศัตรูของพวกเรา! หากว่าท่านกล่าวว่า: คือมีกาอีล ม่าลักผู้นำเอาสายฝนและความเมตตาลงมาแล้วไซร้ พวกเราย่อมปฏิบัติตามท่าน” อัลลอฮฺ (تعالى) จึงทรงประทานอายะฮฺนี้ลงมาจนถึงท้ายอายะฮฺที่ 98 (ตัฟซีร อัล-กุรฏุบีย์ 2/36, อะหฺมัดและอันนะสาอีย์ก็บันทึกรายงานนี้เช่นกัน ดู อัสบาบุนนุซุล; อัส-สะยูฏีย์ หน้า 23 และ อัล-วาหิดีย์ หน้า 15)

อิหม่าม อบูญะอฺฟัร อัฏ-เฏาะบะรีย์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า: นักอรรถาธิบายอัลกุรอ่านทั้งหมดเห็นตรงกันว่า อายะฮฺนี้ประทานลงมาเพื่อตอบคำถามของพวกยะฮูดีย์จากวงศ์วานอิสรออีล ขณะที่พวกเขาอ้างว่า ญิบรีล (อ.ล.) เป็นศัตรูของพวกเขา และมีกาอีล (อ.ล.) เป็นที่รักของพวกเขาต่อมานักอรรถาธิบายอัลกุรอ่านก็มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับมูลเหตุที่ประทานอายะฮฺนี้ลงมา

อิหม่ามอะหฺมัดรายงานจากอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ว่า: มีพวกยะฮูดีย์กลุ่มหนึ่งได้มาหาท่านนบี  (صلى الله عليه وسلم)   แล้วกล่าวว่า: โอ้อบุลกอสิม! ท่านจงบอกให้เราทราบถึงประการต่างๆที่พวกเราจะถามท่านถึงประการต่างๆนั้นซึ่งไม่มีผู้ใดรู้นอกจากผู้เป็นนบีเท่านั้น!

นบี (صلى الله عليه وسلم)   กล่าวว่า: “พวกท่านจงถามถึงสิ่งที่พวกท่านประสงค์เถิด แต่พวกท่านจงกระทำสัญญากับฉันและสิ่งที่ยะอฺกู๊บเคยกระทำสัญญานั้นกับวงศ์วานของเขานั่นคือ หากว่าฉันได้บอกให้พวกท่านทราบถึงสิ่งหนึ่งโดยพวกท่านรู้ดีถึงสิ่งนั้นแล้ว พวกท่านต้องปฏิบัติตามฉันตามแนวทางของอิสลาม” พวกยะฮูดีย์กล่าวว่า: “ท่านย่อมได้สิทธิตามนั้น!”

นบี (صلى الله عليه وسلم)   จึงกล่าวว่า: “พวกท่านจงถามถึงสิ่งที่พวกท่านประสงค์เถิด!” พวกยะฮุดีย์กล่าวว่า: ท่านจงบอกให้พวกเราทราบถึง 4 ประการที่พวกเราจะถามถึง จงบอกพวกเราสิว่า: อาหารใดเล่าที่อิสรออีล (นบียะอฺกู๊บ) ห้ามเอาไว้เป็นการส่วนตัวก่อนที่คัมภีร์เตารอตจะถูกประทานลงมา? จงบอกพวกเราสิว่า: น้ำอสุจิของชายและน้ำอสุจิของหญิงเป็นเช่นไร? และจงบอกให้พวกเราทราบถึงนบีผู้นี้ซึ่งอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ในคัมภีร์เตารอตว่ามีคุณลักษณะเช่นไร? และม่าลักผู้ใดเป็นที่รักของนบีผู้นี้? 

นบี (صلى الله عليه وسلم) จึงกล่าวว่า: “พวกท่านต้องยึดมั่นในพันธสัญญาของอัลลอฮฺ หากว่าฉันได้บอกให้พวกท่านทราบแล้ว พวกท่านจะต้องปฏิบัติตามฉัน” แล้วพวกยะฮูดีย์กลุ่มนั้นก็มอบพันธสัญญาและคำมั่นแก่นบีตามที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ นบี (صلى الله عليه وسلم) ก็ตอบคำถามทั้งหมดของพวกเขา และขณะที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) กล่าวว่า: “ผู้เป็นที่รักของฉันคือญิบรีล และอัลลอฮฺจะไม่ทรงแต่งตั้งนบีท่านใดมาเลยนอกจากว่าญิบรีลคือผู้เป็นที่รักของนบีท่านนั้น” พวกยะฮูดีย์ก็กล่าวว่า: “ญิบรีลเป็นศัตรูของพวกเรา” อัลลอฮฺ (تعالى) จึงทรงประทานอายะฮฺนี้ลงมา


บุคอรีย์ รายงานจากอนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ว่า: อับดุลลอฮฺ อิบนุ สลาม ได้ยินถึงการมาของนบี (صلى الله عليه وسلم) ยังนครมะดีนะฮฺขณะที่เขาอยู่ในดินแดนหนึ่งในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เขาจึงมาหานบี (صلى الله عليه وسلم) แล้วกล่าวว่า: ฉันจะถามท่านถึงสามสิ่งที่ไม่มีผู้ใดรู้นอกจากผู้เป็นนบี อะไรคือสิ่งแรกของบรรดาสัญญาณวันสิ้นโลก? อาหารมื้อแรกของชาวสวรรค์คืออะไร? และอะไรทำให้เด็กทารกคล้ายผู้เป็นพ่อหรือผู้เป็นแม่?

นบี (صلى الله عليه وسلم) กล่าวว่า: “ญิบรีลได้บอกสิ่งนี้ให้ฉันทราบแล้วเมื่อครู่นี้เอง!” อับดุลลอฮฺกล่าวว่า: ญิบรีลกระนั้นหรือ? นบี (صلى الله عليه وسلم) กล่าวว่า: ใช่แล้ว! อับดุลลอฮฺ กล่าวว่า: “นั่นคือม่าลักที่เป็นศัตรูของพวกยะฮูดีย์” นบี (صلى الله عليه وسلم) จึงอ่านอายะฮฺนี้ (คืออายะฮฺที่ 97 จากซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ)

ส่วนสิ่งแรกของบรรดาสัญญาณวันสิ้นโลกนั้นคือ ไฟที่จะไล่ต้อนผู้คนจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ส่วนอาหารมื้อแรกของชาวสวรรค์ที่จะได้รับประทานคือตับของปลาวาฬที่เพิ่มให้ และเมื่อน้ำของชายนำหน้าน้ำของหญิงเด็กทารกก็เหมือนผู้เป็นพ่อ และเมื่อน้ำของหญิงนำหน้าน้ำของชายเด็กทารกก็จะเหมือนผู้เป็นแม่”

อับดุลลอฮฺกล่าวว่า “ฉันให้สัตยาบันว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และแท้จริงท่านคือศาสนฑูตของอัลลอฮฺ แน่แท้พวกยะฮูดีย์นั้นเป็นบุคคลที่ชอบใส่ไคล้ แล้วหากพวกเขารู้ถึงการเข้ารับอิสลามของฉันก่อนหน้าที่ท่านจะถามพวกเขา พวกเขาก็จะใส่ไคล้ต่อฉัน” แล้วพวกกยะฮูดียฺก็มา

นบี (صلى الله عليه وسلم) จึงกล่าวกับพวกเขาว่า: อับดุลลอฮฺ อิบนุ สลาม เป็นคนประเภทไหนกันในหมู่พวกท่าน? พวกนั้นตอบว่า: “เป็นคนดีที่สุดในหมู่เราและเป็นบุตรของผู้ที่ดีที่สุดของหมู่เรา เป็นนายของเราและเป็นบุตรของนายแห่งหมู่เรา”  นบี (صلى الله عليه وسلم) กล่าวว่า: พวกท่านจงบอกทีเถิด หากว่าเขาเข้ารับอิสลามแล้วจะว่าอย่างไร? พวกนั้นตอบว่า: “ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองเขาให้พ้นจากสิ่งดังกล่าว”

แล้วอับดุลลอฮฺก็ออกมาพลางกล่าวขึ้นว่า: “ฉันให้สัตยาบันว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และฉันยืนยันว่ามุฮัมมัดคือศาสนฑูตของอัลลอฮฺ” พวกยะฮูดีย์จึงกล่าวว่า: “เขาเป็นคนเลวที่สุดของหมู่เราและเป็นบุตรของคนที่เลวที่สุดแห่งหมู่เรา” แล้วพวกนั้นก็กล่าวโจมตีอับดุลลอฮฺอย่างสาดเสียเทเสีย อับดุลลอฮฺจึงกล่าวว่า: “นี่แหละคือสิ่งที่ฉันเคยหวั่นเกรงเอาไว้แล้วโอ้ท่านศาสนฑูตของอัลลอฮฺ” (ตัฟซีร อัฏ-เฏาะบะรีย์ 1/342, ตัฟซีร อิบนิ กะษีร 1/129-130)

อิบนุหะญัร กล่าวไว้ใน “ฟัตหุ้ล-บารีย์” ว่า: ตามสำนวนในท้องเรื่องที่ปรากฏชัดคือท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) อ่านอายะฮฺนี้เพื่อตอบโต้พวกยะฮูดีย์ สิ่งดังกล่าวไม่จำเป็นว่าอายะฮฺนี้ประทานลงมาในขณะนั้น อิบนุหะญัรกล่าวว่า: “นี่คือสิ่งที่ถูกยึดถือเป็นหลัก” และมีเรื่องราวอื่นนอกจากเรื่องราวของอับดุลลอฮฺ อิบนุ สลาม ข้างต้น ที่ถูกต้องในมูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺนี้ลงมา (ลุบาบุนนุกูล หน้า 16)

และมีระบุในบางรายงานว่า: ปราชญ์ยะฮูดีย์คนหนึ่งคือ อับดุลลอฮฺ อิบนุ ศูรียาซึ่งเป็นปุโรหิตแห่งเมืองฟะดัก ได้ถามท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ถึงม่าลักที่นำวะฮียฺลงมายังท่าน นบี (صلى الله عليه وسلم) กล่าวว่า: คือญิบรีล อิบนุศูรียาจึงกล่าวว่า: “ม่าลักผู้นั้นคือศัตรูของพวกเรา หากเป็นม่าลักผู้อื่นเราย่อมศรัทธาต่อม่าลักผู้นั้น และแท้จริงญิบ รีลได้กระทำตนเป็นศัตรูกับพวกเราอยู่หลายครั้ง ส่วนหนึ่งจากความเป็นศัตรูของญิบรีลคือ อัลลอฮฺได้มีบัญชาให้ญิบรีลกำหนดความเป็นนบีในหมู่พวกเรา แต่ญิบรีลกลับไปกำหนดความเป็นนบีในหมู่ชนอื่นที่มิใช่พวกเรา และญิบรีลคือผู้เป็นเจ้าของธรณีสูบและการลงทัณฑ์ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นผู้เตือนถึงการล่มสลามของบัยตุ้ล-มักดิส ส่วนมีกาอีลเป็นผู้นำความอุดมสมบูรณ์และสันติภาพมา”

ในรายงานหนึ่งระบุว่า อุมัร อิบนุ อัลคอฏฏอบได้เข้าไปยังมิดร๊อสของพวกยะฮูดีย์ (มิดร๊อส หมายถึง ธรรมศาลาหรือโบสถ์ของยะฮูดีย์ที่มีการสอนคัมภีร์เตารอต) แล้วอุมัร (ร.ฎ.) ก็ได้กล่าวถึงญิบรีล พวกยะฮูดีย์จึงกล่าวว่า: ม่าลักผู้นั้นคือศัตรูของพวกเรา เขาบอกให้มุฮัมมัดรู้ถึงความลับของพวกเรา และเป็นเจ้าของธรณีสูบและการลงทัณฑ์ทั้งหมด แท้จริงมีกาอีลเป็นม่าลักแห่งความเมตตา เขาเป็นผู้นำสายฝนและความอยู่ดีกินดีลงมา” (อัต-ตัฟซีร อัล-มุนีร 1/235-236)

อะหฺมัด,อัต-ติรมิซีย์ และอัน-นะสาอีย์ได้บันทึกรายงานจากสายรายงานของบุกัยรฺ อิบนุ ชิฮาบ จากสะอีด อิบนุ ญุบัยรฺ จากอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) ว่า: พวกยะฮูดีย์มุ่งหน้ามาหาท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และกล่าวว่า: โอ้อบุลกอสิม พวกเราจะสอบถามท่านถึง 5 สิ่ง หากว่าท่านบอกให้เราทราบถึง 5 สิ่งนั้นแล้ว เราย่อมรู้ว่าท่านคือนบี แล้วอิบนุอับบาสก็กล่าวถึงหะดีษ ซึ่งปรากฏในหะดีษนั้นว่า พวกยะฮูดียฺได้ถามนบี (صلى الله عليه وسلم) ถึงสิ่งที่อิสรออีล (นบียะอฺกู๊บ) ได้ห้ามเอาไว้เป็นการส่วนตัว เครื่องหมายของนบี ฟ้าร้องและเสียงฟ้าร้อง หญิงจะมีบุตรเป็นชายและเป็นหญิงได้อย่างไร และถามถึงข่าวคราวแห่งฟากฟ้าที่มายังนบี (صلى الله عليه وسلم) จนกระทั่งพวกยะฮูดียฺกล่าวว่า: ท่านจงบอกให้ทราบเถิดว่าผู้ใดคือสหายของท่าน?

นบี (صلى الله عليه وسلم) กล่าวว่า: “คือ ญิบรีล” พวกยะฮูดียฺกล่าวว่า: “ญิบรีล! ม่าลักผู้นั้นนำเอาสงครามการประหัตประหารและการลงทัณฑ์ลงมา เขาคือศัตรูของพวกเรา หากว่าท่านกล่าวว่า “คือ มีกาอีล” ม่าลักผู้นำพระเมตตา พันธุ์พืชและสายฝนลงมานั่นย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า” อายะฮฺนี้จึงประทานลงมา

อิสหาก อิบนุ รอฮะวัยฮฺ ได้บันทึกรายงานในมุสนัดของเขาและอิบนุญะรีรจากสายรายงานของอัช-ชะอฺบีย์ว่า: อุมัร (ร.ฎ.) เคยมาหาพวกยะฮูดีย์และได้ยินข้อความจากคัมภีร์เตารอต อุมัรเกิดความประหลาดใจว่าคัมภีร์เตารอตยืนยันถึงสิ่งที่มีในอัลกุรอ่านว่าสัจจริงอย่างไร อุมัรกล่าวว่า: แล้วนบี (صلى الله عليه وسلم) ก็ผ่านพวกยะฮูดียฺมา ฉันจึงกล่าวว่า: ฉันขอถามพวกท่านด้วยนามของอัลลอฮฺ พวกท่านรู้หรือไม่ว่าเขาเป็น ศาสนฑูตของอัลลอฮฺ?

ปราชญ์ของพวกยะฮูดียฺก็กล่าวว่า: ใช่แล้ว พวกเรารู้ว่าเขาคือศาสนฑูตของอัลลอฮฺ ฉันจึงกล่าวว่า: เหตุใดพวกท่านจึงไม่ปฏิบัติตามเขาเล่า? พวกยะฮูดียฺก็กล่าวว่า: พวกเราเคยถามเขาว่าผู้ใดเล่านำความเป็นนบีมายังเขา? เขาตอบว่า: “ญิบรีล ผู้เป็นศัตรูของพวกเรา เพราะญิบรีลนำความรุนแรง วิกฤติ การสู้รบและความวิบัติลงมา” ฉันจึงกล่าวว่า: “เช่นนั้นผู้ใดเล่าคือม่าลักที่เป็นฑูตของพวกท่าน?” พวกยะฮูดียฺกล่าวว่า: “มีกาอีล ผู้นำสายฝนและความเมตตาลงมา” ฉันจึงกล่าวว่า: “ทั้งสองมีตำแหน่งจากพระผู้อภิบาลของทั้งสองอย่างไร?”

พวกยะฮูดียฺกล่าวว่า: ผู้หนึ่งอยู่เบื้องขวาของพระองค์ อีกผู้หนึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของพระองค์” ฉันจึงกล่าวว่า: “เป็นไปไม่ได้ที่ญิบรีลจะเป็นศัตรูกับมีกาอีล และเป็นไปไม่ได้ที่มีกาอีลจะมีไมตรีกับศัตรูของญิบรีล แท้จริงฉันขอยืนยันว่าม่าลักทั้งสองและพระผู้อภิบาลของทั้งสองย่อมทรงมีไมตรีกับผู้ที่พวกเขามีไมตรีด้วย และทรงทำสงครามกับผู้ที่พวกเขาทำสงครามด้วย” ต่อมาฉันได้มาหาท่านนบี  (صلى الله عليه وسلم) โดยที่ฉันต้องการจะบอกเรื่องนั้นให้นบีทราบ ครั้นเมื่อฉันพบนบี (صلى الله عليه وسلم)

นบีก็กล่าวว่า: “ฉันจะไม่บอกให้ท่านทราบถึง 3 อายะฮฺที่ถูกประทานลงมายังฉันกระนั้นหรือ?” ฉันกล่าวว่า: “หามิได้ โอ้ศาสนฑูตแห่งอัลลอฮฺ” แล้วท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ก็อ่านอายะฮฺนี้ ฉันกล่าวว่า: “โอ้ท่านศาสนฑูตแห่งอัลลอฮฺ ขอสาบานต่ออัลอฮฺ ฉันมิได้ลุกขึ้นยืนจากพวกยะฮูดียฺนอกจากมาหาท่านโดยตรงเพื่อที่ฉันจะบอกให้ท่านทราบถึงสิ่งที่พวกยะฮูดีย์กล่าวแก่ฉันและฉันกล่าวแก่พวกนั้น แล้วฉันก็พบว่าอัลลอฮฺ (تعالى) นำหน้าฉันมาก่อนแล้ว” สายรายงานถูกต้องจนถึงอัช-ชะบีย์ แต่อัช-ชะบีย์ไม่ทันพบท่านอุมัรแต่อย่างใด

อิบนุ อบีชัยบะฮฺ และอิบนุ อบีหาติม ก็บันทึกรายงานอีกสายรายงานหนึ่งจากอัช-ชะอฺบีย์ และอิบนุ ญะรีรได้บันทึกรายงานจากสายรายงานของอัส-สุดดีย์จากอุมัรและจากสายรายงานของเกาะตาดะฮฺจากอุมัร ทั้งสองสายรายงานนี้ขาดตอน (มุงเกาะฎิอฺ)

และอิบนุ อบีหาติม บันทึกรายงานจากอีกสายรายงานหนึ่งจากอับดุรเราะหฺมาน อิบนุ อบีลัยลาว่า: มียะฮูดีย์คนหนึ่งมาพบอุมัร อิบนุ อัลคอฏฏอบและกล่าวว่า: แท้จริงญิบรีลผู้ที่สหายของพวกท่านระบุถึงนั้นเป็นศัตรูของพวกเรา อุมัรจึงกล่าวว่า: “ผู้ใดก็ตามที่เป็นศัตรูต่ออัลลอฮฺและบรรดามาลาอิกะฮฺของพระองค์และบรรดาฑูตของพระองค์ตลอดจนญิบรีลและมีกาอีล ฉะนั้นแท้จริงอัลลอฮฺทรงเป็นศัตรูกับบรรดาผู้ปฏิเสธ” แล้วอายะฮฺนี้ก็ประทานลงมาตามที่อุมัรพูดไว้ ดังนั้นสายรายงานเหล่านี้ต่างก็สนับสนุนความแข็งแรงให้แก่กันและกัน และอิบนุ ญะรีรได้ถ่ายทอดมติเอกฉันท์ (อิจมาอฺ) ว่ามูลเหตุแห่งการประทานอายะฮฺนี้คือเรื่องดังกล่าว (ลุบาบุนนุกูลฯ หน้า 16-18)