กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรี

อุดมการณ์

1) เรียกร้องเชิญชวนประชาคมมุสลิมในประเทศไทยให้พร้อมใจและรวมตัวกันเป็นหมู่คณะเพื่อมอบสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) แก่จุฬาราชมนตรี ในฐานะอิหม่ามผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย

2) รณรงค์ให้ประชาคมมุสลิมแสดงพลังอันเป็นฉันทามติด้วยการมอบสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) แก่จุฬาราชมนตรี และชี้ชวนให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมุสลิมต่อการยอมรับสถานะภาพความเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และการดำรงไว้ซึ่งภาพลักษณ์อันทรงเกียรติและสวยงามของจุฬาราชมนตรีด้วยการปฏิบัติตามและเชื่อฟังผู้นำสูงสุดในด้านกิจการศาสนาอิสลามที่เป็นไปตามบัญญัติของกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ

3) เพื่อสร้างเอกภาพและสามัคคีธรรมในกลุ่มประชาคมมุสลิมในประเทศไทยภายใต้การเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรีซึ่งได้รับการมอบสัตยาบันจากภาคประชาสังคมตามหลักการปกครองในศาสนาอิสลามที่ไม่ได้ขัดต่อกฎหมายของบ้านเมืองและพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540

4) ด้วยการให้สัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) ของภาคประชาสังคมมุสลิมในประเทศไทยแก่จุฬาราชมนตรีในฐานะอิหม่ามผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลาม จะทำให้ประชาคมมุสลิมที่กระทำสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) หลุดพ้นจากสภาพการเสียชีวิตเพียงผู้คนในยุคอวิชา  (ญาฮิลียะฮฺ) ตามที่ปรากฏในอัล-หะดีษที่ว่า “ผู้ใดที่เสียชีวิตลงโดยไม่มีการให้สัตยาบันปรากฏอยู่ในต้นคอของเขา ผู้นั้นเสียชีวิตลงเพียงการเสียชีวิตในยุคญาฮิลียะฮฺ” (บันทึกโดย มุสลิม)

เหตุผลและหลักการ

เนื่องจากประชาคมมุสลิมในประเทศไทยโดยรวมต่างก็ยอมรับว่าจุฬาราชมนตรีคือผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามและเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กรศาสนาอิสลามตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 แต่ด้วยสภาวะทางสังคมมุสลิมในปัจจุบันไร้เสถียรภาพและขาดเอกภาพในการเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามคือจุฬาราชมนตรี

ทั้งนี้เนื่องจากมีกลุ่มชนบางกลุ่มในสังคมมุสลิมเองได้พยายามสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแก่ประชาคมมุสลิมผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ การโจมตี การกล่าวหา และการตั้งข้อสังเกตถึงความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรี

ผลที่เกิดขึ้นจากความพยายามของกลุ่มคนบางกลุ่มดังกล่าวได้บั่นทอนเสถียรภาพขององค์กรบริหารฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย สร้างความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์และบทบาทในความเป็นผู้นำสูงสุดทางกิจการศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรี และสั่นคลอนเอกภาพและความสามัคคีในกลุ่มประชาคมมุสลิมด้วยกันเอง

กอปรกับเป็นการทำลายเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของความเป็นมุสลิมในสายตาของชนต่างศาสนาที่รับรู้และประจักษ์เห็นปรากฏการณ์ความกระด้างกระเดื่องของมุสลิมบางกลุ่มที่แสดงออกผ่านสื่อสาธารณะโดยมุ่งเป้าไปยังสถานะภาพของจุฬาราชมนตรี

หากสังคมมุสลิมยังคงความเฉยและปล่อยให้ปรากฏการณ์ในเชิงลบเช่นนี้ดำเนินอยู่ต่อไปโดยไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่งตามกรอบของบัญญัติในศาสนาอิสลามและกฎหมายของบ้านเมืองประชาคมมุสลิมโดยรวมก็จะสูญเสียพลังและศักยภาพในการวิวัฒน์และปฏิรูปองคาพยพของสังคมมุสลิมให้มีความเข้มแข็งและความมั่นคงในการดำรงไว้ซึ่งหลักการและอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมในอนาคตอันใกล้

กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรีจึงเกิดขึ้นเพื่อดำเนินการและขับเคลื่อนอุดมการณ์ทั้ง 4ประการนั้นให้เป็นจริงและเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้โดยอาศัยการมุบายะอะฮฺ (สัตยาบัน) เป็นเครื่องมือและหลักคิดสำคัญ

หลักคิดว่าด้วยการให้สัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ)

การสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ-บัยอะฮฺ) หมายถึง การยืนยัน รับรองของผู้ให้สัตยาบันแก่ผู้รับสัตยาบันในการดำรงตำแหน่งผู้นำและการมีความชอบธรรมของผู้รับสัตยาบันในการปฏิบัติภารกิจและการดำเนินการตามพันธกิจอันเป็นผลมาจากการให้สัตยาบันระหว่างสองฝ่าย

การสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ-บัยอะฮฺ) จึงประกอบด้วย

1) “ผู้รับสัตยาบัน” คือผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด

2) “ผู้ให้สัตยาบัน” คือผู้มีสถานะเป็นผู้ตามที่มีความยินดีในการรับรองและยืนยันความชอบธรรมของผู้รับสัตยาบันในการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด

3) “การให้และการรับสัตยาบัน” คือการทำข้อตกลงระหว่างผู้ให้สัตยาบันและผู้รับสัตยาบันตามวิธีการที่มีรูปแบบเฉพาะ

4) “พันธกิจ” หมายถึงข้อผูกมัดในการปฏิบัติภารกิจอันเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการรับและการให้สัตยาบันของผู้นำและผู้ตาม กล่าวคือ การทำข้อตกลงระหว่างผู้ให้สัตยาบันและผู้รับสัตยาบันเป็นเหตุให้เกตข้อผูกมัดในแต่ละฝ่าย โดยที่แต่ละฝ่ายมีพันธกรณีร่วมกัน

“พันธกิจ”  คือสิทธิและหน้าที่ซึ่งเกิดขึ้นจากการสัตยาบันตามหลักรัฐศาสตร์อิสลาม มีผลทำให้ผู้นำสูงสุดมีสิทธิโดยชอบธรรมในมิติทางศาสนาคือการได้รับความไว้วางใจ การสนับสนุน ช่วยเหลือ การปฏิบัติตาม (อัฏ-ฏออะฮฺ) การเชื่อฟัง (อัส-สัมอฺ) จากประชาคมมุสลิมที่ให้สัตยาบันแก่ผู้นำสูงสุด สิทธิดังกล่าวคือหน้าที่ของประชาคมมุสลิมที่จะต้องกระทำในฐานะผู้ตาม ในขณะเดียวกันสิทธิของผู้ตามก็คือก็คือหน้าที่ของผู้นำสูงสุดที่จะต้องกระทำในฐานะผู้นำ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันตามกรอบที่ศาสนาอิสลามได้บัญญัติเอาไว้

ดังนั้น สาระสำคัญของการสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) ก็คือการทำข้อตกลงระหว่างผู้นำสูงสุดกับผู้ตามโดยมีผลบังคับตามหลักการของศาสนาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า กล่าวคือ มีผลบังคับให้ผู้นำสูงสุดต้องดำเนินการตามกรอบของกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺตลอดจนแบบฉบับของบรรดาผู้นำในยุคสะลัฟศอลิหฺ

โดยมีภารกิจหลักในการปกป้องศาสนาอิสลามและประชาคมมุสลิม การกำชับใช้ให้ประกอบคุณงามความดีและห้ามปรามจากการประพฤติผิดบัญญัติของศาสนา การชี้ขาดปัญหาปลีกย่อยทางศาสนา การตัดสินข้อพิพาทระหว่างประชาคมมุสลิม การจัดเก็บและรวบรวมทรัพย์ซะกาตตลอดจนการแจกจ่ายทรัพย์ซะกาตแก่กลุ่มบุคคลที่มีสิทธิรับซะกาต การเผยแผ่หลักคำสอนของศาสนา

และการบริหารการจัดการองค์กรฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามตามพระราชบัญญัติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อผู้นำสูงสุดได้ดำเนินการตามภารกิจและหน้าที่ดังกล่าวอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

บรรดาผู้ให้สัตยาบันแก่ผู้นำสูงสุดก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามและเชื่อฟังต่อผู้นำสูงสุดที่รับสัตยาบันไว้โดยมิอาจคัดค้าน ดื้อแพ่ง และกล่าวล่วงเลยต่อสถานะภาพของผู้นำสูงสุดที่ตนได้ให้สัตยาบันเอาไว้ ตราบใดที่การทำตามพันธกิจของผู้นำสูงสุดมิได้ขัดต่อบทบัญญัติทางศาสนาหรือกฎหมายของบ้านเมือง การดำรงรักษาสัมพันธภาพระหว่างผู้นำและผู้ตามจึงเป็นไปด้วยความปกติสุขและย่อมส่งผลต่อสภาวการณ์ในโลกหน้า

กล่าวคือ การปฏิบัติและเชื่อฟังผู้นำสูงสุดเป็นภารกิจทางศาสนา (ฟัรฎู) การปฏิบัติภารกิจของผู้นำสูงสุดในปกครองและรับผิดชอบตลอดจนการรักษาไว้ซึ่งสิทธิประโยชน์ของประชาคมมุสลิมรวมถึงเป็นภาระกิจทางศาสนาในส่วนของผู้นำสูงสุด หากการปฏิบัติภาระกิจทางศาสนาของผู้นำและผู้ตามเป็นไปอย่างสมบูรณ์ก็ย่อมได้รับภาคผลและการตอบแทนจากพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) แต่ถ้าหากมีความบกพร่องในการปฏิบัติภารกิจทางศาสนาของผู้นำและผู้ตามหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ย่อมต้องได้รับโทษทัณฑ์ในโลกหน้า

ประเภทของการสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ)

นักวิชาการมุสลิมได้แบ่งประเภทของการสัตยาบัน (มุบายะอะฮฺ) เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆดังนี้

1) การสัตยาบันเฉพาะกิจ (บัยอะฮฺ ค็อศเศาะฮฺ)

2) การสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ)

ซึ่งในแต่ละประเภทของการสัตยาบันมีรายละเอียดดังนี้

1)            การสัตยาบันเฉพาะกิจ (บัยอะฮฺ ค็อศเศาะห์) หมายถึง  สิ่งที่การสัตยาบันต่อการภักดีเชื่อฟังเกิดขึ้นในกรณีเฉพาะกิจซึ่งไม่มีเรื่องของการปกครองปรากฏอยู่ โดยการสัตยาบันเฉพาะกิจนี้จะเกิดขึ้นจากผู้นำสูงสุด  อิหม่าม) และบุคคลอื่นๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ชนิดดังนี้

1.1) การสัตยาบันต่อการปฏิบัติเฉพาะเรื่อง

ตัวอย่าง  อัล-บุคคอรีย์ ได้รายงานจากอุบาดะฮฺ อิบนุ อัศ-ศอมิต (ร.ฎ.) ว่า:

((بَا يَعْنَا النبيُّ صلى الله عليه وسلم أَنْ لا نَنْتَهِبَ))

ความว่า : “ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้สัตยาบันกับพวกเราว่าพวกเราจะไม่ปล้นสะดมภ์” (อัล-บุคคอรีย์ อัล-มะซอลิม เรื่องการปล้นสะดมหรือฉกชิงทรัพย์โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของ 3/177)

1.2)  การสัตยาบันเฉพาะกิจแก่เฉพาะบุคคล คือการสัตยาบันของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ต่อความเป็นอิสลามและการอพยพ ตัวอย่างเช่น การสัตยาบันของท่านญะรีร อิบนุ อับดิลลาฮฺ (ร.ฎ.) แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ต่อความเป็นอิสลาม (อัล-บุคคอรีย์ 1/23 , อะหฺหมัด 4/357,358)

และการสัตยาบันของท่านมุญาชิอฺ อิบนุ มัสอูด อัส-สุลฺละมียฺ (ร.ฎ.) แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในเรื่องการอพยพ แต่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)  รับสัตยาบันจากท่านมุญาชิอฺ (ร.ฎ.) ในเรื่องความเป็นอิสลาม การญิฮาด และความดีงาม (มุสลิม 4/528 , อะหฺมัด 5/71) เป็นต้น

1.3) การสัตยาบันที่เกิดขึ้นแก่เฉพ่ะกลุ่มบุคคล เช่นการสัตยาบันของบรรดาสตรี การสัตยาบันของบรรดาทาส และการสัตยาบันของกลุ่มบุคคลที่มีความเป็นผู้ทุพพลภาพ เป็นต้น…

นอกจากนี้ยังมีการสัตยาบันในรูปแบบเฉพาะของอะฮฺลุลหัลล์ อัล อักดฺ (أَهْلُ الحَلِّ والْعَقْدِ) หรือ อะหฺลุลอิคติย๊ารฺ (أَهْلُ الإِخْتِيَارِ) ซึ่งหมายถึงกลุ่มคณะบุคคลที่มีภารกิจในการคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำประชาคมมุสลิม ซึ่งกลุ่มคณะบุคคลดังกล่าว จำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่นักวิชาการกำหนดไว้ 3 ประการคือ

1- มีคุณธรรม (อัล-อะดาละฮฺ)

2- มีความรู้ในการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในการเป็นผู้นำ

3- มีวิสัยทัศน์ในการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการดำรงตำแหน่งผู้นำ ซึ่งเรียกกลุ่มคณะบุคคลนี้ตามคำร่วมสมัยว่า “คณะกรรมการสรรหาและนำเสนอผู้เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้นำ”

การสัตยาบันของกลุ่มคณะของบุคคลที่กล่าวถึงนี้เป็นการสัตยาบันที่เกิดขึ้นก่อนการสัตยาบันของประชาคมมุสลิมทั่วไปที่มีให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำ

ซึ่งในกรณีของผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีนั้นได้รับการสัตยาบันเฉพาะกิจนี้แล้วจากบรรดาคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักรเมื่อครั้งกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองได้จัดให้มีการประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2542) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอสลาม พ.ศ. 2540

2) การสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) หมายถึง การสัตยาบันที่ยืนยันรับรองความถูกต้องให้แก่การสัตยาบันของกลุ่มคณะบุคคลที่เรียกว่า “อะฮฺลุลหัลล์ อัล-อักดุ” ต่อผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดซึ่งเราสามารถอธิบายให้เห็นภาพโดยง่ายและสะดวกต่อความเข้าใจได้ดังนี้ว่า :-

“เมื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักรได้สรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง จุฬาราชมนตรีในการประชุมสรรหาที่กระทรวงมหาดไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศวัน เวลา และสถานที่ประชุมเป็นที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว

คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักรที่เข้าร่วมประชุมสรรหาได้ร่วมกันแสดงสัตยาบันแก่นาย อาศิส พิทักษ์คุมพล ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมในการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี การแสดงสัตยาบันของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ราชอาณาจักรในวันดังกล่าวจึงถือเป็นการสัตยาบันเฉพาะกิจ (บัยอะฮฺ ค็อศเศาะฮฺ) ของกลุ่มคณะบุคคลที่เข้าข่ายว่าเป็น “อะฮฺลุลหัลล์ วัล อัคคฺ”

กล่าวคือ การสัตยาบันประเภทที่หนึ่ง ซึ่งเรียกว่าการสัตยาบันเฉพาะกิจได้เกิดขึ้นแล้วในขั้นตอนดังกล่าวสถานภาพความเป็นผู้นำสูงสุดของ อาศิส พิทักษ์คุมพลในฐานะจุฬาราชมนตรีจึงมีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประชาคมมุสลิมในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นแล้วในขั้นตอนดังกล่าว

แต่กระบวนการและขั้นตอนยังมิได้สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น เพราะกกระทรวง  (พ.ศ.2542) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ข้อ 5 ระบุว่า :

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอชื่อผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั่วประเทศให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ตามข้อ 3 วรรคสองหรือตามข้อ 4 วรรคสองหรือวรรคสามแล้วแต่กรณี ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำไปขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี”

ดังนั้นในขั้นตอนตามกฎหมายดังกล่าว นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีผู้นำสูงสุดผ่านกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยโดยสมบูรณ์ภายหลังทรงมีความกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีอย่างเป็นทางการแล้วเท่านั้น

จึงเห็นได้ว่าความเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามของนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีมีความชอบธรรมด้วยการสัตยาบันเฉพาะกิจของกลุ่มคณะบุคคลที่เรียกว่า “อะฮฺลุลหัลล์ วัล อัคคฺ” หรือ “อะฮฺลุล-อิคติยาร” ในมิติทางรัฐศาสตร์อิสลาม และด้วยการทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีในมิติทางกฎหมายของบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม การสัตยาบันเฉพาะกิจที่เกิดขึ้นแล้วนั้นเป็นเพียงการสัตยาบันหนึ่งในสองประเภทเท่านั้น การสัตยาบันโดยทั่วไป(บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) ของประชาคมมุสลิมซึ่งเป็นการสัตยาบันประเภทที่สองยังไม่เกิดขึ้นจวบจนเวลานี้ (กุมภาพันธ์ 2555) ทั้งๆที่นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีอย่างเป็นทางการตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2553 คือ เกือบ 2 ปีแล้ว

ในช่วงระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาประชาคมมุสลิมเกือบทั้งหมดต่างก็รับว่านายอาศิส พิทักษ์คุมพล คือจุฬาราชมนตรีในลำดับที่ 18 ของประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่าการรับรู้ดังกล่าวมิได้หมายความว่าประชาคมมุสลิมทุกคนในประเทศไทยยอมรับในสถานภาพความเป็นผู้นำสูงสุดของจุฬาราชมนตรี ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะยอมรับโดยดุษฎีธรรม

แต่ก็ปรากฏว่ามีข่าวมุสลิมบางกลุ่มได้แสดงท่าทีไม่ยอมรับ มิหนำซ้ำมุสลิมบางกลุ่มที่ว่านี้ยังได้พยายามในการบั่นทอนและทำลายภาพลักษณ์และสถานภาพความเป็นผู้นำของจุฬาราชมนตรีทั้งด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ การกล่าวหา การโจมตีการบริหารงานของจุฬาราชมนตรีโดยอาศัยสื่อที่อยู่ในมือของพวกตน

ครั้นเมื่อจุฬาราชมนตรีได้ล้มป่วยลงอย่างเป็นที่ทราบกัน ก็มีความพยายามของคนกลุ่มเดียวกันนี้ในการยื่นเรื่องถอดถอนจุฬาราชมนตรี การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้สร้างผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์และสภาวะการเป็นผู้นำของจุฬาราชมนตรีทั้งในส่วนของประชาคมมุสลิมเองและในส่วนของสังคมภายนอกที่รับรู้และติดตามผ่านสื่อของกลุ่มบุคคลดังกล่าว

ณ จุดนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการที่ประชาคมมุสลิมซึ่งยอมรับในการเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามจะต้องเข้ามามีส่วนร่มในการแสดงจุดยืนและท่าทีการยอมรับและรับรองความเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรีตามกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมที่มีหลักการทางศาสนาซึ่งนักวิชาการมุสลิมในด้านรัฐศาสตร์อิสลามได้กำหนดเป็นแนวทางเอาไว้

นั้นคือ การสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) จากประชาคมมุสลิมโดยรวม แก่จุฬาราชมนตรีซึ่งผลพวงที่เกิดจากการสัตยาบันทั่วไปมีดังต่อไปนี้

1) สถานภาพการเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรีมีความชัดเจนและเด่นชัดมากขึ้นในแง่ของหลักรัฐศาสตร์อิสลาม

2) การสัตยาบันเฉพาะกิจ(บัยอะฮฺ ค็อศเศาะฮฺ)ที่บรรดากลุ่มคณะบุคคลซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศที่กระทำไว้แกจุฬาราชมนตรีได้รับการยืนยันรับรองและเห็นชอบจากประชาคมมุสลิมโดยทั่วไปซึ่งดังกล่าวเกิดขึ้นได้ด้วยการสัตยาบันทั่วไป

3) เมื่อประชาคมมุสลิมที่เห็นชอบและยอมรับในภาวะการเป็นผู้นำสูงสุดของจุฬาราชมนตรีได้ให้สัตยาบันทั่วไปแก่จุฬาราชมนตรีแล้ว ประเภทของสัตยาบันทั้ง 2 ประเภทที่นักวิชาการในด้านรัฐศาสตร์อิสลามแบ่งประเภทเอาไว้ก็เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์และครบถ้วน

4) ประชาคมมุสลิมที่ให้สัตยาบันแก่จุฬาราชมนตรีด้วยการสัตยาบันทั่วไป(บัยอะฮฺ อามมะฮฺ)ได้ใช้สิทธิอันชอบธรรมตามหลักการของศาสนาในการมีส่วนร่วมต่อการรับรองและยืนยันสถานภาพของจุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย

ทั้งนี้เพราะการสัตยาบันทั่วไปเป็นสิทธิโดยแท้ของประชาคมมุสลิมทุกคน และเมื่อมีการใช้สิทธิด้วยความยินดีและพร้อมใจแล้วก็เท่ากับว่าผู้ใช้สิทธินั้นได้มีส่วนร่วมโดยตรงในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นพันธกรณีที่จำต้องดำรงรักษาไว้อย่างสุดความสามารถตามหลักการของศาสนา

5) ประชาคมมุสลิมที่ให้สัตยาบันทั่วไปแก่จุฬาราชมนตรีมีความมั่นใจและมีความชัดเจนว่าตนมีจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำ(อิหม่าม)สูงสุดของศาสนาของตน ตลอดจนมีความวางใจและสนิทใจในการปฏิบัติตามและเชื่อฟังคำสั่งและการวินิจฉัยข้อประเด็นทางศาสนาของจุฬาราชมนตรี ซึ่งประเด็นข้อปลีกย่อยทางศาสนาที่มีความเห็นต่างกันของนักวิชาการจะได้ข้อยุติในระดับหนึ่งด้วยการให้น้ำหนักและชี้ขาดของจุฬาราชมนตรีตราบใดที่เรื่องดังกล่าวมิได้ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนา

ทั้งนี้เพราะมีกฎเกณฑ์ทางนิติศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับและเห็นพ้องตรงกันระบุว่า

{ إِنَّ حُكْمَ الحَاكِمِ أَوْقَرارَ وَلِيِّ الأْمْرِ يَرْفَعُ الخِلاَفَ فى الأمُوْرِ المُخْتَلَفِ فِيْها }

“แท้จริงการชี้ขาดของผู้ปกครองหรือการรับรองยืนยันของผู้รับผิดชอบกิจการ(ผู้นำ)นั้นจะยก(เลิก)ข้อขัดแย้งในบรรดาเรื่องราวที่มีความเห็นต่างกันในเรื่องเหล่านั้น(ออกไป)”

ดังนั้น เมื่อมีประเด็นปัญหาข้อปลีกย่อยใดๆที่นักนิติศาสตร์มีความเห็นต่างกันจุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำ (วะลียุล-อัมริ) ก็สามารถให้น้ำหนักแก่ทัศนะใดทัศนะหนึ่งได้ในการวินิจฉัยและชี้ขาดตราบใดที่ทัศนะนั้นมิได้ขัดต่อตัวตัวบททางบัญญัติศาสนา

และประชาคมมุสลิมที่สัตยาบันแก่จุฬาราชมนตรีก็จำต้องปฏิบัติตามและเชื่อฟังคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีที่ให้น้ำหนักเอาไว้โดยดุษฎีธรรม เพราะเป็นการปฏิบัติตามและเชื่อฟังในสิ่งที่เป็นความดี  (الطاعةُ في المَعْرُوفِ)

6) การสัตยาบัน(มุบายะอะฮฺ-บัยอะฮฺ)ให้แก่ผู้นำสูงสุดทั้ง 2 ประเภท (เฉพาะกิจ-ทั่วไป) ตามวิธีการของสะลัฟ ศอลิฮฺ คือการทำข้อตกลงที่ก่อเกิดพันธกรณีระหว่างผู้นำและผู้ตามซึ่งมีมือขวาเป็นองค์ประกอบ

กล่าวคือ ผู้ที่ทำให้สัตยาบันแก่ผู้นำจะใช้มือขวาของตนในการสัมผัสกับผู้นำ (มุศอฟะหะฮฺ) ยกเว้นสตรีที่ให้ใช้มือขวาเป็นสัญญาณในการแสดงสัตยาบัน (อิชาเราะฮฺ) เท่านั้นโดยไม่ต้องสัมผัสมือกับผู้นำดังนั้นการใช้มือขวาประกอบในการแสดงสัตยาบันจึงถือเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายสำคัญ

เหตนี้จึงปรากฏสำนวนที่เกี่ยวกับ”มือ”ในตัวบทอัล-ฮาดีษหลายบทด้วยกัน เช่น

– อัน-นะสาอียฺ และอะหฺมัด บันทึกรายงานจาก อบี บุค็อยฺละฮฺ อัลบะญะลีย์ ว่า :

ญะรีร กล่าวว่า : ฉันได้มาหาท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) lขณะที่ท่านกำลังรับสัตยาบัน แล้วฉันก็กล่าวว่า:

(يَا رَسُوْلَ الله ، ابْسُطْ يَدَكَ حَتّى أُبَايِعَكَ … الحديث)

“โอ้ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ จงแผ่(ยื่น)มือของท่านเถิด เพื่อฉันจะได้สัตยาบันแก่ท่าน….” อัล-หะดีษ

– รายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร(ร.ฎ.) ว่า : ฉันได้ยินท่านรอซูลุ้ลลอฮฺ(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า :

{ مَنْ خَلَعَ يَدًا مِنْ طَاعَةٍ لَقَي الله يومَ القِيامةِ ولا حُجَّةَ لَهُ ، ومَنْ مَاتَ وَليسَ في عُنُقِهِ بَيْعَةً مَاتَ مِيْتَةً جَاهِلِيَّةً }

ความว่า : “ผู้ใดถอด(ถอน)มือจากการภักดีเชื่อฟัง(ต่อผู้นำ)ผู้นั้นย่อมพบพระองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ.)ในวันกิยามะฮฺ(โดย)ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆสำหรับตน,และผู้ใดเสียชีวิตลงโดยไม่มีการสัตยาบันในต้นคอของเขา ผู้นั้นเสียชีวิตลงในสภาพการเสียชีวิตเยี่ยงผู้คนในยุคก่อนอิสลาม”   (บันทึกโดย มุสลิม)

ประโยคที่ว่า ”ผู้นั้นเสียชีวิตลงในสภาพการเสียชีวิตเยี่ยงผู้คนในยุคก่อนอิสลาม” หมายถึงมีสภาพหลงทางเหมือนผู้คนในยุคญาฮิลียะฮฺที่พวกเข้าจะไม่เข้าอยู่ภายใต้การเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำคนหนึ่งคนใด และพวกเขาเห็นว่าการมีผู้นำเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ(นุซฮะตุล มุตตะกีน ชัรหุ ริยาฎิศศอลิหีน หน้า287)

ดังนั้น การที่บุคคลจะได้ชื่อว่าถอดมือของตนจากการเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำ (ซึ้งหมายถึง แข็งขึ้น ดื้อแพ่ง และทำลายสัตยาบันด้วยการกบฏต่อผู้นำ) ก็แสดงว่าก่อนหน้านั้น บุคคลผู้นั้นได้ใช้มือขวาของตนประกอบในการสัตยาบันแก่ผู้นำของตนมาก่อนแล้ว ต่อมาก็ฉีกหรือทำลายสัตยาบันที่ให้ไว้แก่ผู้นำซึ่งเป็นข้อตกลงและสัญญาที่จะปฏิบัติตามและเชื่อฟัง จึงได้ชื่อว่าผู้นั้นถอดมือของตนจากการปฏิบัติตามและเชื่อฟังนั้นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่ให้สัตยาบันแก่ผู้นำก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีหลักฐาน(หุจญะฮฺ)ยืนยันในข้อแก้ตัวของตนในวันกิยามะฮฺตามที่อัล-หะดีษบ่งชี้ในความเข้าใจมุมกลับ (มัฟฮูม มุคอละฟะฮฺ) และผู้ที่ให้สัตยาบันแก่ผู้นำก็ย่อมเป็นการประกันสภาพในบั้นปลายแห่งชีวิตของตนว่า เขาผู้นั้นมีสัตยาบันในต้นคอของตน จึงพ้นจากสภาพการตายเยี่ยงผู้คนในยุคก่อนอิสลาม

แต่ถ้าเข้าผู้นั้นไม่ได้สัตยาบันเอาไว้ก็มีสภาพการตายเยี่ยงผู้คนในยุคก่อนอิสลามตามที่อัล-หะดีษบทนี้ระบุ เหตุนี้การให้สัตยาบันต่อผู้นำที่มีความชอบธรรมและการผิดมั่นต่อประชาคมมุสลิมโดยไม่แตกแถวจึงเป็นสิ่งจำเป็น (อ้างแล้ว หน้าเดียวกัน)

– รายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ (ร.ฎ.) เป็นอัล-หะดีษที่มีตัวบทค่อนข้างยาก ส่วนหนึ่งจากประโยคที่มีระบุในอัล-หะดีษบทนี้คือ

{ وَمَنْ بَايَعَ إِمَامًا فَأَعْطَاهُ صَفَقَةَ يَدِهِ ، وثَمَرَةَ قَلْبِه  ، فَلْيُعْطِعْهُ إِنْ اسْتَطَاعَ …. الحديث }

ความว่า : และผู้ใดสัตยาบันแก่ผู้นำ แล้วมอบการประกบมือของเขาแก่ผู้นำนั้น(หมายถึงสัมผัสมือ) ตลอดจนมอบผลแห่งหัวใจของเขา (หมายถึง ความจริงใจและเจตนาผูกมัด) แก่ผู้นั้นแล้วผู้นั้นก็จงเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำหากมีความสามารถ (หมายถึง ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำอย่างสุดความสามารถ)”

(บันทึกโดยมุสลิม) เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อประชาคมมุสลิมได้สัตยาบันแก่จุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามแล้วโดยมีการสัมผัสมือหรือใช้มือในการทำสัญญาณ (อิชาเราะฮฺ) ในขั้นตอนของการแสดงสัตยาบันซึ่งเป็นการสัตยาบันที่เกิดจากหัวใจอันบริสุทธิ์ ประชาคมมุสลิมเหล่านั้นก็ย่อมได้ชื่อว่ามีสัตยาบันในต้นคอของพวกตนและมีหลักฐาน (หุจญะฮฺ) อันเป็นข้อยืนยันในความสัตย์ของพวกตนในวันกิยามะฮฺตามที่อัล-หะดีษข้างต้นได้ระบุเอาไว้

และเนื่องจากนัยสำคัญที่ระบุไว้ในตัวบทของอัลหะดีษข้างต้นนี่เอง กลุ่มเครือข่านสัตยาบันจุฬาราชมนตรีจึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนในการเรียกร้องเชิญชวนให้ประชาคมมุสลิมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสัตยาบันและรณรงค์การสัตยาบันแก่จุฬาราชมนตรีอย่างเป็นรูปธรรมบนพื้นที่ของหลักคิดดังกล่าว.

7)   เมื่อมีการสัตยาบันทั่วไป(บัยอะฮฺ อามมะฮฺ)แก่จุฬาราชมนตรีจากประชาคมมุสลิมโดยรวมแล้ว สถานภาพความเป็นผู้นำสูงสุดของจุฬาราชมนตรีย่อมมีความชอบธรรม และมีความชัดเจน ตลอดจนประเด็นข้อสงสัยและความคลุมเครือที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ก็จะได้บรรเทาเบาบางลง  ซึ่งส่วนหนึ่งจากประเด็นข้อสงสัยและคลุมเครือ ดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

7.1) การสัตยาบันเฉพาะกิจ (บัยอะฮฺค็อศเศาะฮฺ) ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศที่ให้ไว้แก่จุฬาราชมนตรีภายหลังมติเห็นชอบ ในวันประชุมสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ได้รับการยืนยันและรับรอง จากประชาคมมุสลิมโดยทั่วไปด้วยการสัตยาบันทั่วไป  (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ)  ซึ่งเป็นเสมือนมติมหาชนที่พร้อมใจกันแสดงฉันทามติ ในการยอมรับความเป็นผู้นำสูงสุดของจุฬาราชมนตรี ซึ่งได้รับการสรรหา และการสัตยาบัน จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศมาก่อนแล้ว

อนึ่งมีข้อถกเถียงในหมู่นักวิชาการว่า การสัตยาบันของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ถือเป็นสัตยาบันประเภทใด? ระหว่างสัตยาบันเฉพาะกิจ (บัยอะฮฺค็อศเศาะฮฺ) และ สัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ)

ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่าเป็นสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) เพราะคณะกรรมการอิสลามที่ร่วมสัตยาบันในวันประชุมสรรหาจุฬาราชมนตรี เป็นตัวแทนของประชาคมมุสลิมโดยทั่วไปอยู่แล้ว กล่าวคือประชาคมมุสลิมในแต่ละมัสยิด ซึ่งเรียกว่า “สัปปุรุษประจำมัสยิด” ได้คัดเลือกอิหม่ามประจำมัสยิด

ต่อมาอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นๆก็คัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดซึ่งต่อมาคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ก็ร่วมประชุม สรรหาจุฬาราชมนตรี การสัตยาบันของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศแก่จุฬาราชมนตรีในวันที่มีการประชุมสรรหาจึงเท่ากับเป็นการสัตยาบันทั่วไป(บัยอะฮฺ อามมะฮฺ)แล้วโดยปริยาย

นักวิชาการอีกฝ่าย เห็นว่า การสัตยาบันของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศแก่จุฬาราชมนตรี ในวันประชุมสรรหานั้น เป็นการสัตยาบันเฉพาะกิจ (บัยอะฮฺค็อศเศาะฮฺ) มิใช่การสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) เพราะการสัตยาบันของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นเพียงการลงมติเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการสรรหา ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ปี พ.ศ.2542

ส่วนการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) เป็นการสัตยาบันของประชาคมมุสลิม โดยรวมเพื่อรับรองผล จากการลงมติของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ทั่วประเทศว่าเป็นสิ่งที่ประชาคมมุสลิมเห็นด้วยกล่าวคือ การสัตยาบันของคณะกรรมการอิสลามฯ เป็นขั้นตอนของการนำเสนอ (ตัรชีหฺ) ผู้ถูกคัดสรรที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และเหมาะสมที่สุดในการดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีส่วนการสัตยาบันทั่วไป คือขั้นตอนของการแสดงฉันทามติว่าเห็นด้วยกับการนำเสนอ ของคณะกรรมการอิสลามโดยประชาคมมุสลิม ยินยอมพร้อมใจในการรับรองและยืนยันว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อ มันคือผู้นำสูงสุดของตน

การอ้างเหตุผลว่าการสัตยาบันของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศแก่จุฬาราชมนตรี ในวันสรรหาเป็นการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) เพราะกลุ่มคณะบุคคลดังกล่าว มาจากการคัดเลือกของอิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดทั่วประเทศ และ อิหม่ามประจำมัสยิดมาจาการคัดเลือกสัปปุรุษประจำมัสยิด

การสัตยาบันของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแก่จุฬาราชมนตรี จึงเท่ากับเป็นการสัตยาบันของประชาคมมุสลิมทั่วไป หรือเป็นการสัตยาบันแทนประชาคมมุสลิมทั่วไป จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการสัตยาบันจากประชาคมมุสลิมทั่วไปอีก

การอ้างเหตุผลดังกล่าวเป็นการอ้างตามระเบียบและลำดับชั้นการปกครองหรือการบริหารองค์กรอิสลามตามพระราชบัญญัติ 2540 เท่านั้นเพราะโดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าอิหม่ามประจำมัสยิดคนใดที่ถูกคัดเลือกจากสัปปุรุษของตน แล้วมีการสัตยาบัน(บัยอะฮฺ)รับรองยืนยันสถานภาพในความเป็นผู้นำของอิหม่ามที่มีต่อสัปปุรุษของมัสยิดในขั้นตอนแรก ของลำดับชั้นการปกครอง

มิหนำซ้ำมีอิหม่ามเป็นจำนวนมากที่ได้รับการคัดเลือกจากสัปปุรุษเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  มิใช่เป็นการคัดเลือกของสัปปุรุษส่วนใหญ่หรือทั้งหมด

ทั้งนี้ไม่พบว่ามีข้อความใดในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 หรือกฎกระทรวง พ.ศ. 2542 หรือระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดว่าจะต้องมีจำนวนสัปปุรุษกี่คนถึงจะครบองค์ประชุม

ดังนั้นในข้อเท็จจริงของการคัดเลือกอิหม่ามประจำมัสยิดเกือบทุกมัสยิดในประเทศไทย ย่อมมิได้หมายความว่าสัปปุรุษทั้งหมด หรือส่วนใหญ่ของมัสยิดนั้นๆ ได้เข้าร่วมประชุมคัดเลือกอิหม่าม เพราะโดยข้อเท็จจริงเป็นการคัดเลือกของสัปปุรุษบางส่วนเท่านั้น

และที่สำคัญภายหลังการคัดเลือกอิหม่ามเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ไม่มีการสัตยาบันใดๆ เกิดขึ้นเพื่อรับรองยืนยันสถานภาพความเป็นผู้นำ (อิหม่าม) ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประจำมัสยิดนั้นๆ มีแต่การกรอกเอกสารและการตรวจสอบความถูกต้องของคณะกรรมการคัดเลือกที่ได้รับมอบหมาย มาจากประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดดำเนินการคัดเลือกเท่านั้นการยอมรับสถานภาพความเป็นผู้นำ ของอิหม่ามประจำมัสยิดจากสัปปุรุษที่เหลือ ซึ่งมิได้เข้าร่วมประชุมสัปปุรุษในวันคัดเลือกอิหม่าม จึงมิได้เกิดการสัตยาบันของสัปปุรุษแก่อิหม่าม

แต่เกิดจากการยอมรับตามกระบวนการที่ถูกดำเนินการ ของข้อกำหนดทางกฎหมายเท่านั้น ซึ่งในกรณีของการยอมรับ (อัร-ริฎอ) ของสัปปุรุษที่มีต่ออิหม่ามประจำมัสยิด เกิดจากการที่ไม่มีสัปปุรุษประจำมัสยิดทำเรื่องการคัดค้าน ผลการคัดเลือกอิหม่ามไปยังประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตามระเบียบที่ออกไว้ไม่ได้เป็นผลมาจากการสัตยาบันให้แก่อิหม่ามที่ถูกคัดเลือกแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจจะถูกคัดค้านว่า การสัตยาบันแก่อิหม่ามไม่ใช่เงื่อนไข เพราะการยอมรับด้วยความยินดี (อัร-ริฎอ) และการดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

ในกรณีนี้ก็สามารถที่จะค้านกลับได้อีกเช่นกันว่า “ เราเห็นด้วยกับทัศนะที่ระบุว่า การสัตยาบันมิใช่เงื่อนไข แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงคือ ไม่มีการสัตยาบัน(บัยอะฮฺ)ให้แก่อิหม่ามประจำมัสยิดเกิดขึ้นในความเป็นจริง ถึงแม้ว่าสัปปุรุษประจำมัสยิดจะยินดียอมรับ ผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นอิหม่ามประจำมัสยิดก็ตาม

และการที่เชื่อว่าการสัตยาบัน แก่อิหม่ามมิใช่เงื่อนไขนี่เอง  เป็นสิ่งที่สนับสนุนคำกล่าวของเราที่ว่า ไม่มีการสัตยาบันแก่อิหม่ามจากสัปปุรุษประจำมัสยิดในความเป็นจริงเพราะการไม่เชื่อว่าการสัตยาบันเป็นเงื่อนไขในการดำรงตำแหน่งอิหม่าม อาศัยเพียงแค่การยินดียอมรับและไม่คัดค้านก็เพียงพอ นั้นแหละคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่มีการสัตยาบันแก่อิหม่ามเกิดขึ้นเมื่อไม่มีการสัตยาบันแก่อิหม่ามในเบื้องต้น พันธกรณีระหว่างอิหม่ามกับสัปปุรุษ อันเกิดจากการสัตยาบันจึงไม่มีอย่างชัดเจน

ต่อมาเมื่ออิหม่ามเข้าร่วมประชุมคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ก็ไม่มีการให้สัตยาบันเกิดขึ้นอีกในขั้นตอนที่สองนี้อย่างชัดเจนอีกเช่นกัน การสัตยาบันที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นตอนที่สามคือการสัตยาบันของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้แก่ผู้ที่ถูกเลือกสรรจากที่ประชุมให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเท่านั้น

ดังนั้นการอ้างว่าการสัตยาบันของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศแก่จุฬาราชมนตรีจึงเท่ากับเป็นการสัตยาบันของสัปปุรุษทุกมัสยิด ซึ่งเป็นประชาคมมุสลิมทั่วไปด้วย จึงเป็นการกล่าวอ้างที่คลุมเครือ เพราะไม่มีการสัตยาบันปรากฏอย่างชัดเจนในขั้นตอนแรก

เรื่องของเรื่องจึงเป็นการกล่าวอ้างโดยอาศัยความยินดียอมรับที่ไม่มีการคัดค้านจากประชาคมมุสลิมเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องของสัตยาบันแต่อย่างใด ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้จึงต้องสร้างความชัดเจนด้วยการสัตยาบันของประชาคมมุสลิมทั่วไป ว่าพวกเขายินดียอมรับในความเป็นผู้นำสูงสุดของจุฬาราชมนตรีอย่างเป็นรูปธรรมเพราะเมื่อประชาคมมุสลิมได้ให้สัตยาบันทั่วไปแก่จุฬาราชมนตรีแล้ว ขั้นตอนที่ขาดการสัตยาบันเป็นทอดๆ มาก่อนก็จะสมบูรณ์ และชัดเจนโดนปริยาย

แต่ถ้าไม่มีการสัตยาบันทั่วไปแก่ประชาคมมุสลิม เรื่องนี้ก็คงยังคลุมเครือ และมีข้อถกเถียงกันเรื่อยไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาก็จะคาราคาซังและอยู่ในวังวนเดิมๆโดยไม่ได้รับการแก้ไข และถึงแม้ว่าเราจะเห็นด้วยกับทัศนะที่ว่า การสัตยาบันทั้งในขั้นต้น และขั้นตอนสุดท้าย ไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญในการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจุฬาราชมนตรี แต่การที่ไม่เป็นเงื่อนไขก็มิได้หมายความว่าจะทำการสัตยาบันอีกครั้งเพื่อความชัดเจนไม่ได้ หรือเป็นข้อห้ามมิให้กระทำ

นอกจากนี้การที่ไม่ถือว่าการสัตยาบันทั่วไป หรือแม้กระทั้งการสัตยาบันเฉพาะกิจ เป็นเงื่อนไขในความชอบธรรมของการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจกการศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรี นั้นอาจจะมีเหตุผลเนื่องจากภาวะที่เป็นปกติและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยทุกฝ่ายยอมรับด้วยความยินดี แต่ในสภาวะที่ไม่เป็นปกติและเกิดการดื้อแพ่ง การสัตยาบันทั่วไปก็อาจจะกลายเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องกระทำเพื่อความชัดเจนและคงไว้ซึ่งสถานภาพอันมั่นคงของจุฬาราชมนตรี หรืออย่างน้อยการสัตยาบันทั่วไปก็ย่อมดีกว่าในกรณีที่ไม่มีการสัตยาบันทั่วไปเกิดขั้นมิใช่หรือ?  ”

7.2)  ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งทางราชการไม่ใช่ตำแหน่งทางศาสนา เพราะตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในอดีตมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีอำนาจหน้าที่ดูแลกรมท่าขวา และเป็นแม่กองแขก บางสมัยได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าแผ่นดินให้ดูแลกรมท่ากลางควบคู่ไปด้วย  บางสมัยก็ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นรองอำมาตย์เอกหรือ เป็นเจ้ากรมแสตมป์ก็มี ซึ่งตำแหน่งที่กล่าวมาล้วนเป็นตำแหน่งทางราชการ

ต่อมาในยุคปัจจุบันตำแหน่งจุฬาราชมนตรีก็กลายเป็นตำแหน่งที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 ในมาตราที่ 3 ซึ่งระบุว่า จุฬาราชมนตรีมีหน้าที่ปฏิบัติการราชการส่วนพระองค์เกี่ยวแก่การที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลามต่อมามีการออกพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ. 2491 ซึ่งจุฬาราชมนตรีมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่กรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวแก่การศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม

แล้วในที่สุดก็มีพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ออกมาโดยยกเลิกพระราชกฤษฎีกาทั้ง2 ฉบับ โดยในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติฯ 2540 ระบุว่า :

“ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีคนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ”และ มาตราที่ 8 ระบุอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีเอาไว้ 4 ข้อด้วยกัน การดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจึงเป็นเรื่องของพระราชบัญญัติฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับราชการมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทางศาสนาโดยตรง

และถึงแม้ว่า มาตราที่ 8 ข้อ (1) และ ข้อ (4) จะระบุว่าจุฬาราชมนตรีมีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษา และเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามและออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม และเป็นประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ตามความในพระราชบัญญัติฯ มาตรา 16 ก็ตาม นั้นก็เป็นอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฯซึ่งเป็นเรื่องของตัวบทกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องของศาสนาโดยตรง

ในข้อ 7.2 นี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควร เป็นเหตุให้สถานภาพความเป็นผู้นำทางศาสนาของจุฬาราชมนตรีไม่ชัดเจนและเกิดความสับสน ดังนั้นเพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) แก่จุฬาราชมนตรี จากประชาคมมุสลิมโดยรวม

เพราะอย่างไรก็ตามการมีพระราชบัญญัติฯรับรองสถานภาพทางกฎหมายของจุฬาราชมนตรี ว่าเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ก็เป็นเรื่องทีเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในความเป็นจริง และการมีสถานภาพทางกฎหมายก็มิใช่เรื่องเสียหาย ตราบใดที่ไม่ได้ขัดด้วยบัญญัติทางศาสนาอิสลาม ตลอดจนการมีตำแหน่งทางราชการของจุฬาราชมนตรีควบคู่กับการมีสถานภาพเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลาม ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าการไม่มีตำแหน่งทางราชการมารองรับ

การอ้างว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งทางราชการมิใช่ตำแหน่งทางศาสนาโดยตรง ก็สามารถหักล้างให้ตกไปได้ด้วยการสัตยาบันทั่วไปแก่จุฬาราชมนตรี จากประชาคมมุสลิมโดยรวม เพราะเมื่อมีการสัตยาบันทั่วไปแก่จุฬาราชมนตรีแล้ว ความเป็นผู้นำและตำแหน่งอันชอบธรรมตามสถานภาพของผู้นำทางศาสนาสำหรับประชาคมมุสลิมโดยรวม ก็ย่อมเกิดขึ้นอย่างชัดเจนแก่ศาสนาอิสลามสำหรับประชาคมมุสลิมก็ย่อมเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

แต่ถ้าปล่อยให้ความสงสัยและคลุมเครือเอาไว้โดยไม่มีการสัตยาบันทั่วไปแก่จุฬาราชมนตรี คำกล่าวที่อ้างว่านั้นก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปไม่มีสิ้นสุด

7.3) การสรรหาจุฬาราชมนตรีเป็นเรื่องของกลุ่มคณะบุคคลเท่านั้น กล่าวคือ ผู้ที่มีสิทธิและเข้าร่วมประชุมและลงมติสรรหาจุฬาราชมนตรีคือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศซึ่งมีเพียง 38 จังหวัดเท่านั้นและมีจำนวนผู้เข้าร่วมเพียงไม่กี่ร้อยคน ในขณะที่ประชาคมมุสลิมประชาคมส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิในการร่วมประชุมคัดสรรแต่อย่างใด

การวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองนี้เป็นที่ประจักษ์อยู่บ่อยครั้งและเกิดขึ้นอยู่โดยตลอด ถึงแม้ว่าจะมีการแสดงสัตยาบันเฉพาะะกิจของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศซึ่งมีสิทธิเข้าร่วมประชุมคัดสรรจุฬาราชมนตรีก็ตาม แน่นอนทางออกในเรื่องนี้ที่สามารถกระทำได้ก็คือการเปิดโอกาสให้ประชาคมมุสลิมโดยรวมมีส่วนร่วมในการแสดงสิทธิเห็นด้วยและยอมรับด้วยการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) แก่จุฬาราชมนตรี

เพราะเมื่อเปิดโอกาสให้สัตยาบันทั่วไปแก่จุฬาราชมนตรีแล้วการกล่าวอ้างว่าประชาคมมุสลิมโดยรวมไม่มีสิทธิในการมีส่วนร่วมต่อการแสดงฉันทามติต่อผู้นำสูงสุดของตนก็ย่อมตกไป หรืออย่างน้อยก็ไม่มีข้ออ้างใดๆได้อีกว่าตนไม่มีส่วนร่วม เพราะเปิดโอกาสให้แล้วในการใช้สิทธิดังกล่าว

7.4) การดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายกิจกรรมศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรีเป็นผลมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 9 ระบุว่า: “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธมามกะ พระองค์ท่านก็ย่อมมิใช่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) การแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีก็ย่อมเป็นการแต่งตั้งจากผู้ที่มิใช่มุสลิม การดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรีจึงไม่มีสถานภาพของผู้นำประชาคมมุสลิมตามหลักการของศาสนาอิสลาม

ทั้งนี้เพราะตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประชาคมมุสลิมเป็นเรื่องของการปกครอง (วิลายะฮฺ) ซึ่งจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ที่มิใช่มุสลิมโดยเฉพาะที่มาของอำนาจหน้าที่และสถานภาพของผู้นำสูงสุดผ่านกิจการศาสนาอิสลาม ดังนั้นเมื่อที่มาของอำนาจหน้าที่และสถานภาพของจุฬาราชมนตรีเกิดจากการแต่งตั้งของผู้ที่มิใช่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ประชาคมมุสลิมก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามจุฬาราชมนตรีแต่อย่างใด

ดูเหมือนว่าคำกล่าวอ้างที่คลุมเครือข้อนี้จะสร้างความสับสนและความกังวลใจแก่พี่น้องมุสลิมก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ดังต่อไปนี้

1) ประชาคมมุสลิมในประเทศไทยเป็นพลเมืองของประเทศไทยซึ่งมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นพุทธศาสนิกชน รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจึงตราไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราเดียวกันก็ระบุชัดเจนว่า “และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก” อีกด้วย

การที่พระองค์ท่านทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกก็หมายถึงพระองค์ท่านทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรให้การรับรองและคุ้มครอง ดังปรากฏความในมาตรา 5 ว่า “ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน” และมาตรา 37 ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐทำการใดๆอันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมิควรได้ เพราะเหตุที่นับถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือแตกต่างจากบุคคลอื่น” และมาตรา 30 วรรคหนึ่งว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” และวรรค 3 ว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ  สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้”

นอกจากนี้รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานและศาสนาอื่นตามมาตรา 79 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อีกด้วย คำว่า “ศาสนาอื่น” ก็คือศาสนาอื่นนอกเหนือจากพุทธศาสนา อันได้แก่ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และศาสนาสิกข์ นั่นเอง

2) เมื่อประชาคมมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองในประเทศไทยที่สิทธิและเสรีภาพซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ประชาคมมุสลิมก็จำต้องอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเมื่อการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามที่ตัวบทกฎหมายระบุไว้ ประชาคมมุสลิมก็จำต้องยอมรับและปฏิบัติตามสิ่งที่ตัวบทกฎหายกำหนดเอาไว้

ดังนั้นการแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีให้เป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยด้วยการทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จึงเป็นสิ่งที่ประชาคมมุสลิมจะต้องยอมรับและปฏิบัติตามพระบรมราชโองการโดยจะขัดมิได้เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประมุข และประชาคมมุสลิมเป็นพลเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองและการใช้พระราชอำนาจของพระองค์

3) การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเพื่อเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยเป็นการใช้พระราชอำนาจในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศและเป็นไปตามการศาสนูปถัมภ์ของพระองค์ท่านในฐานะอัครศาสนูปถัมภก มิใช่เป็นการสงวนสิทธิ์หรือทำให้ประชาคมมุสลิมเสียประโยชน์อันควรมีควรได้และมิใช่เป็นการคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา หากแต่เป็นการคุ้มครอง อุปถัมภ์ และส่งเสริมตลอดจนเป็นการรับรองและยอมรับตามพระราชอำนาจและพระราชวินิจฉัยโดยสมบูรณ์ต่อการดำรงตำแหน่งของจุฬาราชมนตรีที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง

ดังนั้นเมื่อจุฬาราชมนตรีได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระองค์ท่านแล้ว จุฬาราชมนตรีก็เป็นผู้นำกิจการอิสลามในประเทศไทยโดยอำนาจหน้าที่ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรอิสลาม พ.ศ.2540 ซึ่งในขั้นตอนนี้จุฬาราชมนตรีเป็นผู้มีภาระกิจหน้าที่ในการบริหารกิจการศาสนาอิสลามโดยตรง มิใช่พระมหากษัตริย์ที่จะทรงดำเนินการในเรื่องนี้เพราะพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามเป็นที่เสร็จสิ้นแล้วนั่นเอง

ดังนั้นการที่ข้อกล่าวอ้างข้างต้นจะมีน้ำหนักได้ก็ต่อเมื่อมีการแทรกแซงดังกล่าว ข้อกล่าวอ้างข้างต้นก็ย่อมไร้น้ำหนักและตกไปโดยปริยาย

4) ตามขั้นตอนในการดำรงตำแหน่งของจุฬาราชมนตรีได้ผ่านการสัตยาบันเฉพาะกิจ (บัยอะฮฺ คอศเศาะฮฺ) จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ประชุมสรรหาจุฬาราชมนตรี

ต่อมาก็ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งการดำรงตำแหน่งของจุฬาราชมนตรีจึงสมบูรณ์ในอง่ของกฎหมายแต่ในแง่รัฐศาสตร์อิสลามยังคงไม่สมบูรณ์เสร็จสิ้นเพราะยังขาดการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) จากประชาคมมุสลิมทั่วไป

ดังนั้นเมื่อมีการสัตยาบันทั่วไปแก่จุฬาราชมนตรี สถานภาพความเป็นผู้นำทางศาสนาของจุฬาราชมนตรีก็จะครบถ้วนสมบูรณ์และชัดเจนด้วยการสัตยาบันทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการโปรดเกล้าฯ เมื่อสัตยาบันทั่วไปจากประชาคมมุสลิมเกิดขึ้นภายหลังการโปรดเกล้าฯ การกล่าวอ้างว่าจุฬาราชมนตรีมาจากการโปรดเกล้าฯ จึงขาดน้ำหนักในแง่ของศาสนา

เพราะการสัตยาบันเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้สถานภาพของจุฬาราชมนตรีเป็นไปอย่างสมบูรณ์และชอบธรรมด้วยการสัตยาบันทั่วไปในแง่ของศาสนามิใช่ในแง่ของกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อการกล่าวอ้างดังกล่าวอิงด้วยเหตุผลทางศาสนา ก็จำต้องหักล้างข้ออ้างนั้นด้วยเหตุผลทางศาสนาเช่นกัน

ซึ่งเหตุผลทางศาสนาที่ว่านี้ก็คือ การสัตยาบันทั่วไปคือกระบวนการทางศาสนาที่ทำให้จุฬาราชมนตรีกลายเป็นผู้นำทางศาสนาโดยสมบูรณ์ และการสัตยาบันทั่วไปนี้ก็เกิดภายหลังข้อกล่าวอ้างดังกล่าวซึ่งเป็นการอ้างถึงลำดับขั้นตอนที่ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อสมบูรณ์ด้วยการสัตยาบันทั่วไปแล้วคำกล่าวอ้างนี้ก็ย่อมตกไป

5) ในกรณีข้อเท็จจริงของประเทศไทย ซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน และใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งรัฐธรรมนูญตราไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ตามข้อเท็จจริงนี้ประเทศไทยมิได้บังคับใช้กฎหมายอิสลามและประชาคมมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ

กระนั้นตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยประชนคมมุสลิมก็มีส่วนร่วมในการปกครองประเทศในฐานะพลเมืองของประเทศที่มีสิทธิและหน้าที่เอกเช่นพลเมืองที่มิใช่มุสลิม ดังนั้นเมื่อประมุขสูงสุดของราชอาณาจักรไทยคือพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้นำฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยคือจุฬาราชมนตรี การปฏิบัติหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีในด้านกิจการศาสนาอิสลามย่อมถือว่ามีความชอบธรรมและการตัดสินชำระคดีความที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลามในระหว่างประชาคมมุสลิมย่อมถือว่าลุล่วงและเป็นผลในทางศาสนบัญญัติ

ทั้งนี้ถือตามคำฟัตวาของ อิหม่าม อิซซุดดีน อิบนุ อับดิสสลาม (ร.ฮ.) ซึ่งปรากฏในตำรา เกาะวาอิดุล อะหฺกาม ฟี มะศอลิหิล อะนาม หน้า 85 ว่า:

وَلَوِ اسْتَوْلى الكُفَّار على إِقْلِيْمٍ عَظيم ، فَوَلَّو القَضَاءَ لِمَنْ يُقَدِّمُ مَصَالِحَ المسلمين العامةَ ، فالذي يظهر : إنفاذُ ذلك كُلِّه ، جَلبًا للمصالح العامة ودفعًا للمفاسد الشاملة ….

“และหากว่าบรรดาชนต่างศาสนามีอำนาจปกครองเหนือมณฑลอันกว้างใหญ่ แล้วพวกเขาได้แต่งตั้งหน้าที่การชำระคดีความแก่บุคคลที่ทำให้สิทธิประโยชน์ส่วนรวมของประชาคมมุสลิมเกิดขึ้นก่อน ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏชัดก็คือ ถือว่าสิ่งดังกล่าวทั้งหมดเป็นที่ลุล่วง ทั้งนี้เพื่อเป็นการนำมาซึ่งสิทธิประโยชน์ส่วนรวมและเป็นการปัดป้องสิ่งที่เป็นเหตุแห่งความเสียหายโดยรวม…”

ฉะนั้น ตามคำฟัตวาของ อิหม่าม อิซซุดดีน อิบนุ อับดิสสลาม (ร.ฮ.)  ซึ่งสอดคล้องโดยนัยสำคัญกับคำฟัตวาของชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) ตามที่ปรากฏรายละเอียดใน มัจญมูอฺ ฟะตาวา เล่มที่30 หน้า 356-360 ย่อมถือว่าการดำรงตำแหน่งของจุฬาราชมนตรีซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้นำฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามมีความชอบธรรมตามหลักการของศาสนา

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ส่วนรวมของประชาคมมุสลิมและเป็นการปัดป้องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่มีผู้รับผิดชอบภารกิจสำคัญดังกล่าว ดังนั้นเมื่อมีการออกประกาศคำวินิจฉัยในประเด็นข้อปัญหาทางศาสนาของจุฬาราชมนตรีก็ถือว่าเป็นเรื่องที่มีผลบังคับตามหลักการของศาสนาแล้วในเบื้องต้น

แต่เพื่อความชัดเจนและความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งของจุฬาราชมนตรีให้เป็นที่ประจักษ์ในฝ่ายของประชาคมมุสลิมเอง จึงเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่งในการสัตยาบันผืนผันจากประชาคมมุสลิมโดยรวมอีกครั้ง เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการสัตยาบันทั่วไปมิได้ขัดกับศาสนบัญญัติและกฎหมายของประเทศ

ทั้งนี้เพราะการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) เป็นการแสดงฉันทามติของประชาคมมุสลิมที่มีต่อผู้นำสูงสุดผ่านกิจการศาสนาอิสลามซึ่งมีนัยสำคัญทางศาสนาปรากฏอยู่ในทำนองของพิธีการทางศาสนาซึ่งได้รับการรับรองสิทธิเสรีภาพให้กระทำได้อยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

7.5) ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีซึ่งเรียกว่า “ชัยคุล อิสลาม” ในภาษาอาหรับโดยอนุโลม ไม่มีความชัดเจนในสถานภาพของความเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย จะเรียกว่า “อิมาม อะอฺซอม” ก็ไม่ได้เพราะตำแหน่งอิมาม อะอฺซอม เป็นตำแหน่งของเคาะลีฟะฮฺ จะเรียกว่า “อะมีรุลมุอฺมินีน” ก็ไม่ได้เพราะอะมีรุลมุอฺมินีน เป็นคำเรียกขานเคาะลีฟะฮฺ จะเรียก “หากิม” หรือวะลียฺ อาม ก็ไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจในปกครองและการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม จะเรียกว่า มุฟตียฺหรือกอฎียฺ ก็ไม่ใช่อีก

ตำแหน่งของจุฬาราชมนตรีที่พอจะมองออกได้อย่างชัดเจนตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ตามความมาตรา 16 วรรคหนึ่งระบุว่า “…จุฬาราชมนตรีเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย…”  เมื่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นเป็นองค์กรทางศาสนาอิสลามสูงสุดตามพระราชบัญญัติ

จุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นประธานก็เป็นผู้นำองค์กรสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ในตำแหน่งอื่นๆ ไม่มีความชัดเจนว่าเข้าข่ายเป็นหรือไม่ ? นี่เป็นข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่มุ่งเข้าไปยังความชัดเจนในสถานภาพความเป็นผู้นำประชาคมมุสลิมของจุฬาราชมนตรีซึ่งเราสามารถให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ด้วยการสัตยาบันทั่วไปจากประชาคมมุสลิมโดยรวม เพราะเมื่อมีการสัตยาบันแก่ผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแล้ว  จุฬาราชมนตรีมีสถานภาพเป็นผู้นำสูงสุดที่เรียกว่า อิมาม อะอฺซอม ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ตำแหน่งผู้นำศาสนามี 2 ระดับคือ

1) อิมามะฮฺ ศุฆรอ หมายถึงการเป็นอิมามหรือผู้นำในการประกอบศาสนกิจทางศาสนาเช่น  อิมามมัสยิดที่ทำหน้าที่นำละหมาดวันศุกร์ เป็นต้น

2) อิมามะฮฺ อุซฺมา หมายถึงการเป็นอิมามหรือผู้นำประชาคมมุสลิมโดยรวมซึ่งมีสถานภาพสูงกว่าอิมามประจำมัสยิด ซึ่งบุคคลที่มีสถานภาพความเป็นผู้นำในระดับที่ 2 นี้เรียกว่า “อิมาม อะอฺซอม” ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเคาะลีฟะฮฺเสมอไป หากแต่คำว่า  “อิมาม อะอฺซอม” เป็นเสมือนฉายา (ละก็อบ) ที่บ่งสถานภาพอันสูงส่งของผู้ที่ได้รับการสัตยาบันในฐานะผู้นำที่ใหญ่ที่สุดของประชาคมมุสลิมในประเทศไทย

เหมือนที่นักนิติศาสตร์เรียกขาน อิมาม อบูหะนีฟะฮฺ อันนุอฺมาน อิบนุ ษาบิต (ร.ฎ.) ด้วยฉายาว่า  “อิมาม อะอฺซอม” อันหมายถึงอิมามสูงสุดของฝ่ายอัล-หะนะฟียะฮฺ ในทำนองเดียวกันจุฬาราชมนตรีก็ย่อมถูกเรียกขานด้วยฉายานี้เช่นกัน ทั้งๆที่จุฬาราชมนตรีมิใช่เคาะลีฟะฮฺตามคำจำกัดความในเชิงรัฐศาสตร์อิสลาม เช่นเดียวกับ อิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ด.) ซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นอิมามอะอฺซอม

ทั้งๆ ที่อิมาม อบูหะนีฟะฮฺ (ร.ด.) มิใช่เคาะลีฟะฮฺตามคำจำกัดความในเชิงรัฐศาสตร์อิสลาม แต่ถือเป็นอิมามใหญ่สุดของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัล-หะนะฟียะฮฺ ซึ่งจุฬาราชมนตรีก็ย่อมมีสถานภาพเป็นอิมาม อะอฺซอม คือผู้นำใหญ่สุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามสำหรับประชาคมมุสลิมในประเทศไทย

ส่วนฉายา “อะมีรุลมุอฺมินีน” นั้นก็ย่อมสามารถที่จะนำมาเรียกขานเป็นฉายาของจุฬาราชมนตรีภายหลังการได้รับสัตยาบันทั่วไปจากประชาคมมุสลิมแล้วเช่นกัน เพราะคำว่า “อะมีร” ก็หมายถึงผู้นำเช่นกัน ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นบุคคลในระดับเคาะลีฟะฮฺเสมอไป ดังกรณีของอิมา อัล-บุคคอรียฺ (ร.ฮ.) ก็ถูกเรียกขานด้วยฉายา  “อะมีรุลมุอฺมินีน” ทั้งๆที่ท่านมิใช่เคาะลีฟะฮฺ

ดังนั้นการจะเรียกขานจุฬาราชมนตรีว่า อิมาม อะอฺซอมหรืออะมีรุลมุอฺมินีน จึงเป็นเรื่องของการอ้างความเป็นผู้นำสูงสุดผ่านกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยเท่านั้น โดยมิได้มุ่งหมายว่าเป็นเคาะลีฟะฮฺของประชาชาติอิสลามทั่วโลกอย่างที่เข้าใจกัน

สำหรับกรณีของมุฟตียฺหรือกอฎียฺผู้ทำหน้าที่ออกประกาศคำวินิจฉัยเกี่ยวกับบทบัญญัติทางศาสนาอิสลามนั้นมีความชัดเจนอยู่แล้วตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540

และโดยการสัตยาบันเฉพาะกิจของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศก็มีการยอมรับการสัตยาบันให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีที่ได้รับการคัดสรรจากที่ประชุมเป็นกอฎียฺ ชัรอียฺ เฎาะรูรียฺ อยู่แล้ว

ดังนั้นความชัดเจนในสถานภาพความเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยของจุฬาราชมนตรีจะมีความเด่นชัดและปลอดจากความคลุมเครือยิ่งขึ้นด้วยการสัตยาบันทั่วไปของประชาคมมุสลิมในประเทศไทย ซึ่งเมื่อมีการสัตยาบันแล้วสถานภาพของจุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำสูงสุดก็จะได้รับความกระจ่างชัดในแง่รัฐศาสตร์อิสลามอย่างที่ควรจะเป็น

ถึงแม้ว่าโดยข้อเท็จจริงจะเป็นเพียงการมีอำนาจปกครององค์กรศาสนาอิสลามและประชาคมมุสลิมในด้านกิจการศาสนาอิสลามเท่านั้นก็ตาม เพราะประเทศไทยปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิใช่รัฐอิสลามที่บังคับใช้กฎหมายอิสลามโดยสมบูรณ์ กระนั้นประชาคมมุสลิมในประเทศไทยก็ไม่ได้ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการใช้กฎหมายชะรีอะฮฺที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายโดยพฤตินัยอยู่แล้ว ดังนั้นการดำเนินการเท่าที่มีข้อจำกัดให้ถึงขีดตามสามารถอย่างถึงที่สุดก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าไม่มีความพยายามใดๆเกิดขึ้นเลย

8) หลักรัฐศาสตร์อิสลาม (อัน-นุซุม อัล-อิสลามียะฮฺ) มีหลักพื้นฐานมาจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺตลอดจนแบบฉบับของบรรดาเคาะลีฟะฮฺในยุคต้นอิสลามเป็นบรรทัดฐานเมื่อประชาคมมุสลิมจะมีการคัดสรรผู้นำสูงสุดของตน ก็จำต้องอาศัยหลักพื้นฐานดังกล่าวเป็นบรรทัดฐาน

การกล่าวอ้างว่าการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) เป็นเรื่องของเคาะลีฟะฮฺและเป็นเรื่องของรัฐอิสลามที่ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกับกรณีของจุฬาราชมนตรี ถือเป็นคำกล่าวอ้างที่ขาดความสมเหตุสมผลและค้านกับหลักวิชาการโดยสิ้นเชิง

เพราะหากเป็นเช่นคำดังกล่าวอ้างก็แสดงว่าเราไม่สามารถนำเอารูปแบบและกระบวนการในการคัดสรรผู้นำคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ และสิทธิระหว่างผู้นำและผู้ตามมาใช้ในการดำเนินการได้เลยด้วยข้ออ้างที่ว่านั้นเป็นเรื่องของเคาะลีฟะฮฺและจุฬาราชมนตรีมิใช่เคาะลีฟะฮฺ จึงไม่สามารถเอาเรื่องของเคาะลีฟะฮฺมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของสถานภาพความเป็นผู้นำของจุฬาราชมนตรี และถ้าคำกล่าวอ้างนั้นเป็นจริงเราในฐานะมุสลิมก็ย่อมไม่มีหลักพื้นฐานใดๆทางศาสนามารองรับเรื่องการปฏิบัติตามและเชื่อฟังผู้นำศาสนาเลยไม่ว่าจะเป็นกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ

ทั้งนี้มีหลักฐานในสุนนะฮฺมากมายที่ระบุในเรื่องการเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำซึ่งมิได้เจาะจงว่าต้องเป็นเคาะลีฟะฮฺเท่านั้น จริงอยู่เราไม่สามารถที่จะกล่าวอ้างว่าจุฬาราชในตรีมีสถานภาพเท่าเทียมกับคิลีฟะฮฺ เพราะเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่านล้วนแล้วแต่เป็นอัครสาวกอยู่ใกล้ชิดกับท่านร่อซู้ล ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และเป็นผู้สืบทอดการปกครองประชาชาติมุสลิมในฐานะประมุขของรัฐอิสลาม อีกทั้งเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่านยังถือเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์สำหรับผู้ปกครองในสมัยถัดมา แน่นอนต้นแบบย่อมมีคุณสมบัติพิเศษที่สูงส่งและสมบูรณ์ยิ่งกว่าผู้เอาอย่างหรือเลียนแบบ

แม้แต่บรรดาเคาะลีฟะฮฺในราชวงศ์ อัล อุมะวียะฮฺ ,อัล อับบาสียะฮฺ และอุษมานียะฮฺก็ยังไม่อาจเทียบเคียงในด้านความสูงส่งและสมบูรณ์แบบของบรรดาคอลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่านได้เลย จะมียกเว้นเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้น เช่น เคาะลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ  เป็นต้น กระนั้น เคาะลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ  แห่งราชวงศ์อัล อุมะวียะฮฺก็มีสถานะด้อยกว่าเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่านอยู่ดี

อย่างน้อยก็คือ ความเป็นอัครสาวกของเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่านนั้นก็เป็นสถานะที่เคาะลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ ไม่มีสถานะดังกล่าว ดังนั้นในกรณีของจุฬาราชมนตรีจึงเป็นเรื่องที่มีสถานภาพที่ด้อยกว่า เคาะลีฟะฮฺ อยู่แล้ว

และเราก็มิได้อ้างว่าจุฬาราชมนตรีมีสถานภาพเป็นเคาะลีฟะฮฺตามคำจำกัดความในเชิงรัฐศาสตร์อิสลามที่เป็นต้นแบบหากแต่เราพยายามในการยกสถานภาพของจุฬาราชมนตรีให้มีความสอดคล้องกับต้นแบบให้ได้มากที่สุดเท่านั้นซึ่งสิ่งที่เราสามารถกระทำได้ก็คือ การสัตยาบันทั่วไปแก่จุฬาราชมนตรีเพื่อยกระดับและภาวะความเป็นผู้นำสูงสุดในหมู่ประชาคมมุสลิมในประเทศไทย  ทั้งนี้เพื่อให้สถานภาพความเป็นผู้นำทางศาสนาของจุฬาราชมนตรีสอดรับกับนัยตัวบทหลักฐานจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺที่ระบุเอาไว้นั้นเอง

ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าสิ่งที่เรากำลังเขียนหรือพูดถึงเป็นเรื่องของคอลีฟะฮฺหรือผู้นำสูงสุดของรัฐอิสลาม โดยไม่อาจนำสถานภาพความเป็นผู้นำของจุฬาราชมนตรีมาเทียบเคียงได้เพราะจุฬาราชมนตรีมิใช่อิมาม อะอฺซอม มิใช่อะมีร มิใช่ผู้ปกครอง(วะลียฺ) ตามความเข้าใจของผู้กล่าวอ้าง

แล้วเหตุไฉนเราจึงอ้างหลักฐานจากอัล-กุรอานที่ว่าด้วยการฏออะฮฺเชื่อฟังผู้นำ (วะลียุล-อัมริ) มาประกอบคำเรียกร้องให้ประชาคมมุสลิมยอมรับและปฏิบัติตามการประกาศและออกคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรี และเหตุไฉนเราจึงนำเอาตัวบทในอัล-หดีษที่ระบุตำแหน่ง อิมาม, อะมีร , วะลีย์ หรือแม้กระทั้งสุลฎอนมาประกอบคำอธิบายถึงเรื่องความสำคัญของการปฏิบัติตามผู้นำศาสนาเล่า?

เพราะถ้าเราอ้างว่า จุฬาราชมนตรี คือ ชัยคุลอิสลามมิใช่อิมาม, อะมีร , วะลียฺ และสุลฎอนแล้วด้วยเหตุใดเราจึงนำหลักฐานจากอัล-ฮะดีษมากมายซึ่งไม่มีคำว่า “ชัยคุลอิสลาม” มาใช้เรียกร้องผู้คนให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามจุฬาราชมนตรีหรือว่าผู้นั้นมิใช่การเทียบเคียงกับตัวบทจากอัล-ฮะดีษ

ถ้าตอบว่าใช่! ก็แสดงว่าเนื้อหาและสารัตถะในการเทียบเคียงกับตัวบทอยู่ตรงประเด็น ของความเป็นผู้นำซึ่งจะเรียกขานด้วยคำใดๆก็ย่อมหมายถึงผู้นำนั้นเอง แต่ถ้าตอบว่าไม่ใช่!ก็ต้องถามกลับไปว่า แล้วเราจะเอาสิ่งใดมาเป็นบรรทัดฐานในการรองรับสถานภาพความเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรี

ถ้าหากว่าเราไม่สามารถเทียบเคียงกับต้นแบบและตัวบทในเรื่องการเป็นผู้นำและเป็นผู้ตามในมุมของศาสนาได้ ดังนั้นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ จึงอยู่ที่ความเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยของจุฬาราชมนตรี ไม่ได้อยู่ที่ฉายานามหรือคำเรียกขานแต่อย่างใด เพราะแม้แต่คำว่า “จุฬาราชมนตรี” ในอดีตกับปัจจุบันก็มีบริบทของคำที่แตกต่างกัน

กล่าวคือ จุฬาราชมนตรีในอดีตเป็นราชทินนามของขุนนางฝ่ายพลเรือนสังกัดกรมท่าขวา มีศักดินาในบางสมัยเป็นถึง พระยาจุฬาราชมนตรี หรือ พระจุฬาราชมนตรี ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหลังปี พ.ศ. 2475 บริบทและบทบาทในอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีก็แปรเปลี่ยนไป

แต่สิ่งที่ยังคงปรากฏอยู่ก็คือ จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเหมือนเมื่อครั้งอดีตนั่นเอง

ในกรณีการยอมรับว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประไทยเราสามารถใช้ถ้อยคำทางภาษาอาหรับในการเทียบเคียงความหมายโดยสารัตถะได้หลายคำ เช่น อิมามะฮฺ  (إِماَمَةٌ) ริอาสะฮฺ (رِئَاسَةٌ) อิมาเราะฮฺ (إِمَارَةٌ) ซิอามะฮฺ (زِعَامَةٌ) และวิลายะฮฺ (وِلايَةٌ) เป็นต้น

ถ้อยคำข้างต้นมีความหมายใกล้เคียงกันในทางภาษา  (لُغَوِيَّةٌ)  ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในด้านคำจำกัดความตามหลักวิชาการ  (اصْطِلاحِيَّةَ) ก็ตาม แต่ถ้อยคำทั้งหมดจะถูกนำมาใช้ในการเรียกขานตำแหน่งผู้นำของกลุ่มคณะบุคคลซึ่งเรียกว่า อิมาม (إِمَامٌ) , เราะอีส (رَئِيْسٌ) , อะมีร (أَمِيْرٌ), ซะอีม (زَعِيْمٌ) วะลียฺ (وَلِيٌّ) ตามลำดับ

หากยอมรับว่าถ้อยคำเหล่านี้มีนัยสอดคล้องหรือสามารถเทียบเคียงได้กับคำว่า จุฬาราชมนตรี หรือ ชัยคุลอิสอิสลาม ในฐานะผู้นำประชาคมมุสลิมฝ่ายกิจการศาสนาอิสลาม เราก็ย่อมสามารถนำตัวบทจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺตลอดจนแบบฉบับของเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่านมาเป็นหลักฐานรองรับในเรื่องการปฏิบัติตามและเชื่อฟังผู้นำได้โดยไม่มีปัญหา

แต่ถ้าไม่ยอมรับก็จะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการเทียบเคียงกับตัวบททางศาสนาซึ่งไม่มีคำว่า จุฬาราชมนตรี หรือ ชัยคุลอิสลาม ปรากฏอยู่เลยแม้แต่น้อย

9) ในกรณีที่ยอมรับว่าระบบการปกครองและการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามมีหลักพื้นฐานมาจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺตลอดจนแบบอย่างของบรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4 ท่าน รวมถึงข้อมูลและเนื้อหาที่บรรดานักปราชญ์มุสลิมได้รวบรวมและเรียบเรียงเป็นตำราว่าด้วยการปกครองในเชิงรัฐศาสตร์อิสลามเราย่อมสามารถในการนำหลักพื้นฐานดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับรูปแบบการปกครองและการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของประชาคมมุสลิมในประเทศไทย โดยมีประเด็นสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

9.1) ประชาคมมุสลิม (ญะมาอะฮฺ อัล-มุสลิมีน) จำเป็นต้องมีผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลาม โดยความจำเป็นที่ว่านี้เป็นฟัรฎู กิฟายะฮฺ (อัล-อะฮฺกาม อัส-สุลฎอนียะฮฺ;อัล-มาวัรดีย หน้า3) ทั้งนี้ เมื่อประชาคมมุสลิมได้รวมตัวกันแสดงฉันทามติด้วยการให้สัตยาบันแก่ผู้นำฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามแล้ว บุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดในทางศาสนา ก็ย่อมมีพันธกรณีในการปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาคมมุสลิมโดยรวมทั้งในโลกนี้และโลกหน้าซึ่งมีผลให้ประชาคมมุสลิม (ญะมาอะฮฺ อัล-มุสลิมีน) เข้าองค์ประกอบตามคำนิยามของนักวิชาการที่ระบุว่า :

اَلطَّائِفَةٌ المُجْتَمِعَةُ في أَمْرِ الإِسْلامِ على أَمِيْرٍ

“กลุ่มชนที่รวมตัวกันปฏิบัติตามผู้นำคนหนึ่งในกิจการของศาสนา” (ฟัตหุล-บารียฺ 13/37)

หรือเข้าองค์ประกอบตามคำที่ว่า :

اَلجَمَاعَةُ المُتَّفِقَةُ مِنْ أَهْلِ الإِسْلامِ

“กลุ่มชนที่มีฉันทามติพ้องกันจากอิสลามิกชน” (ฟัตหุล-บารียฺ 13/316)

9.2)การได้มาซึ่งผู้นำสุงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยคือจุฬาราชมนตรีนั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2542

กล่าวคือ จุฬาราชมนตรีเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศในการประชุมคัดสรรผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองเป็นผู้ดำเนินการ

ดังนั้นจึงถือได้ว่าจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบกับกลุ่มคณะบุคคลที่มีสถานะเป็นตัวแทนของประชาคมมุสลิมในประเทศไทยซึ่งอนุโลมเรียกได้ว่า เป็น อะฮฺลุลหัลล์ วัล-อักด์ (أَهْلُ الحَلِّ وَالْعَقْدِ)   หรือ อะฮฺลุล-อิคติย๊าร (أَهْلُ الإِخْتِيَار) หรือ อะฮฺลุช-ชูรอ (أَهْلُ الشُّوْرى) ตามที่นักรัฐศาสตร์อิสลามได้กำหนดไว้โดยกลุ่มคณะบุคคลที่ว่านี้มีคุณลักษณะ 3 ประเภท คือ

1) ความมีคุณธรรมทางศาสนา (อัล-อะดาละฮฺ)

2) ความรู้ที่จะนำพาสู่การรู้จักบุคคลที่มีสิทธิและความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดในฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามตามเงื่องไขที่ถูกกำหนดไว้เป็นคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง

3) วิสัยทัศน์และทัศนคติที่นำพาไปสู้การคัดสรรผู้ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามและการบริหารที่มีประสิทธิภาพ (อัล-อะหฺกาม อัส-สุลฎอบียะฮฺ ; อัล-มาวัรดีย์ หน้า6) ซึ่งเราสามารถเรียกกลุ่มคณะบุคคลนี้ว่านี้ “คณะกรรมการสรรหา” (ลัจญนะฮฺ อัต-ตัรชีหฺ) อย่างที่รู้กันในปัจจุบัน

ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540  ก็คือกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศซึ่งเข้าร่วมประชุมสรรหาตามระเบียบปฏิบัติที่บังคับใช้โดยกระทรวงปี พ.ศ. 2542

จึงเห็นได้ว่า การมาของผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นการประชุมปรึกษาหารือ (อัช-ชูรอ) ของกลุ่มคณะบุคคลที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไข 3 ประการที่กล่าวมาซึ่งสอดคล้องกับหลักรัฐศาสตร์อิสลามและหลักกฎหมายบ้านเมืองเมื่อที่ประชุมได้สรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีแล้วที่ประชุมของกลุ่มคณะบุคคลดังกล่าวได้สัตยาบันเฉพาะกิจ (เตาลียะฮฺ-บัยอะฮฺ) แก่ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในวันดังกล่าว ซึ่งแสดงว่าการสัตยาบันเฉพาะกิจ (บัยอะฮฺ คอศเศาะฮฺ) ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะในเบื้องต้นแล้วโดยนักวิชาการได้ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

بَيْعَةُ أَهْلِ الحَلِّ والعَقْدِ هي البَيْعَةُ التِى تَسْبِقَ بَيْعَةَ الحَمَاعَةِ وَالأَمَّةِ على الإِمَامَةِ

“การสัตยาบันของอะฮฺลุลหัลล์ วัลอักด์(คณะกรรมการสรรหา) คือ การสัตยาบันซึ่งมีมาก่อนการสัตยาบันของกลุ่มชนและประชาคมต่อการเป็นผู้นำ”

(มันฮะญุสสุนนะฮฺ ดร.ยะหฺยา อิสมาอีล น. 176)

หากเราย้อนกลับไปดูต้นแบบของเคาะลีฟะฮฺ อบูบักรอัศ-ศิดดีก (ร.ฎ.) เป็นตัวอย่างในการเทียบเคียงเรื่องนี้ เราจะพบว่าในวันที่ท่านรสูล(ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวาซัลลัม) เสียชีวิตนั้น ฝ่ายเศาะหาบะฮฺที่เป็นฝ่านอันศอรได้ประชุมกันที่ ศะกีฟะฮฺ บะนี สาอิดะฮฺ และเห็นชอบสะอฺด์ อิบนุ อุบาดะฮฺ (ร.ฎ.)เป็นผู้นำของฝ่ายตน เหตุนั้นท่านอบุบักร(ร.ฎ.) ท่านอุมัร(ร.ฎ.)และท่านอบูอุบัยดะฮฺ อามิรอิบนุ ญัรรอหฺ (ร.ฎ.) จึงรุดไปยัง สะกีฟะฮฺ บะนี สาอิดะฮฺ

เมื่อบุคคลทั้ง 3 ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในฝ่ายเศาะฮาบะฮฺที่เป็นมุฮาญิรีนไปถึงที่นั้นก็ได้มีการอภิปรายและถกเถียงกันระหว่างสองฝ่าย การอภิปรายได้สิ้นสุดลงด้วยการให้สัตยาบันแก่ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ในการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺสืบต่อจากท่านรสูล (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวาซัลลัม)

ดังนั้น การสัตยาบันของกลุ่มคณะบุคคลอันประกอบไปด้วยตัวแทนของฝ่ายมุฮาญิรีนและเหล่าเศาะฮาบะฮฺที่เป็นชาวอันศ็อรซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนไม่มากที่เข้าร่วมประชุม ณ สะกีฟะฮฺ บานีสาอิดะฮฺจึงถือเป็นการสัตยาบันเฉพาะกิจ(บัยอะฮฺ คอสเศาะฮฺ) ของกลุ่มคณะบุคคลที่เราเรียกว่า “คณะกรรมการสรรหา” แก่บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺคือ ท่านอบูบักร อัศศิดดีก (ร.ฎ.) นั่นเอง และในถัดมาจึงได้ทีการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) ซึ่งกระทำขึ้นที่มัสยิด นะบะวียฺ โดยท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ซึ่งอยุ่บนมิมบัร และเหล่าผู้คนโดยทั่วไปก็ได้กระทำสัตยาบันแก่ท่านท่านอบูบักร (ร.ฎ.) การดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ จึงสมบูรณ์ด้วยการสัตยาบันทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการสัตยาบันเฉพาะกิจของที่ประชุม ณ สะกีฟะฮฺ บนี สาอิดะฮฺ(อัน-นุซุม อัลอิสลามียะฮฺ ดร.หะสัน อิบรอฮีม หน้า 35)

เมื่อนำเอาต้นแบบในการสัตยาบันของบรรดาเศาะฮาบะฮฺที่ให้แก่ท่านอบูบักร (ร.ฎ.)มาเทียบเคียงกับกรณีกับกรณีของจุฬาราชมนตรีก็จะพบว่า ในการดำรงตำแหน่งของจุฬาราชมนตรีนั้นมีเพียงการสัตยาบันเฉพาะกิจ(บัยอะฮฺ คอศเศาะฮฺ) ที่กระทำในวันสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเท่านั้น

ส่วนการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ)จากประชาคมสลิมโดยรวมยังมิได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นเพื่อความสมบูรณ์ในการดำรงตำแหน่งของจุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามของประเทศไทยตามหลักรัฐศาสตร์อิสลาม อันมีต้นแบบมาจากรูปแบบการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ รอชีดะฮฺ จึงมีการเรียกร้องให้ประชาคมมุสลิมโดยรวมการกระทำสัตยาบันแก่ท่านจุฬาราชมนตรีเพื่อความสมบูรณ์และชัดเจนในสถานภาพแห่งการเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยและเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาคมมุสลิมมีส่วนร่วมในการแสดงฉันทามติรับรองความเป็นผู้นำสูงสุดของจุฬาราชมนตรีซึ่งนักรัฐศาสตร์อิสลามระบุว่า

البَيْعَةُ العَامَّةُ هِى البَيْعَةُ المُصَدِّقَةُ لِبَيْعَةِ أَهْلِ الحل والعقدِ على الإمامةِ

“การสัตยาบันทั่วไปคือการสัตยาบันที่ยืนยันรับรองความชอบธรรมต่อการสัตยาบันของอะฮฺลุลหัลล์ วัล-อักด์ต่อการดำรงตำแหน่งของผู้นำสูงสุด”

(มันฮะญูสสุนนะฮฺฯ ดร.ยะหฺยา อิสมาอีล หน้า 179)

ทั้งนี้นักวิชาการยังได้ระบุว่า :

وَلَوْ قَدِّرَ أَنَّ أبَابَكْر بَايَعَه عُمَرُ  وطائِفَةٌ وامْتَنَعَ سَائِرِ الصَّحابَةِ مِنْ بَيْعَتِه لَمْ يَصَرْ إِمَامًا بِذَلك ، وإنما صَارَ  إمامًا بمبايعةِ جمهور المسلمين….     ولَو قدر أنَّ آحادَ الناسِ كارِهًا لِلبَيْعة لم يقدح ذلك فيها…. وأما عهدُ أبي بكر إلى عُمَرَ بالخلافةِ فتمَّ بمبايعةِ المسلمين له بعدَ موتِ أبى بكر ، ولو قدرَ أنهم لم يُنْفِذُوا عهَد أبى بكر ولم يبايعوه لم يصر إماما ….))

“และหากสมมุติว่า แท้จริงท่านอบูบักร (ร.ฎ.) นั้นมี อุมัร (ร.ฎ.) และคนกลุ่มหนึ่งได้สัตยาบันต่ออบูบักร (ร.ฎ.)และบรรดาเศาะฮาบะฮฺคนอื่นๆที่เหลิอปฏิเสธจากการสัตยาบันแก่อบูบักร (ร.ฎ.) อบูบักร (ร.ฎ.) ก็ไม่กลายเป็นผู้นำสูงสุดด้วยสิ่งดังกล่าว

และอันที่จริง อบูบักร (ร.ฎ.)กลายเป็นผู้นำสูงสุดด้วยการสัตยาบันของมหาชนชาวมุสลิม… และหากสมมุติว่ามีบุคคลบางรายรังเกียจ(ไม่ยอม)ให้สัตยาบัน สิ่งดังกล่าวก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอันใดในการสัตยาบันแต่อย่างใด…

และกรณีการมอบหมายของอบูบักร (ร.ฎ.) ให้อุมัร (ร.ฎ)เป็นเคาะลีฟะฮฺนั้นกรณีดังกล่าวก็สมบูรณ์ด้วยการสัตยาบันของบรรดามุสลิมที่มีแก่อุมัร (ร.ฎ.) ภายหลังการเสียชีวิตของอบูบักร (ร.ฎ.)

และหากสมมุติว่า แท้จริงบรรดามุสลิมไม่ปฏิบัติตามคำมอบหมายของอบูบักร (ร.ฎ.)และไม่ให้สัตยาบันแก่ อุมัร (ร.ฎ) อุมัร(ร.ฎ)ก็ย่อมไม่กลายเป็นผู้นำสูงสุดแต่อย่างใด……(มินฮาญุส สุนนะฮฺ  อิบนุตัยมียะฮฺ 1/142 , อัล-มุนตะกอ หน้า 58)

ดังนั้นเมื่อพิจารณาสิ่งที่นักวิชาการผู้เจนจัดได้ระบุเอาไว้โดยเทียบต้นแบบของเคาะลีฟะฮฺกับจุฬาราชมนตรีบนสาระสำคัญของความเป็นผู้นำสูงสุดของประชาคมมุสลิม การดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจุฬาราชมนตรีจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้รับการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) จากประชาคมมุสลิมโดยรวมเท่านั้น

10)  เมื่อมีการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) จากประชาคมมุสลิมในประเทศไทยแก่จุฬาราชมนตรีในฐานะผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามแล้วการสัตยาบันทั่วไปที่เกิดขึ้นจะมีผลอย่างสำคัญในเชิงรัฐศาสตร์อิสลามดังนี้

10.1) จุฬาราชมนตรีมีอำนาจและหน้าที่ในฐานะของอิมามสูงสุด (อิมาม อะอฺซอม) ของประชาคมมุสลิมในประเทศไทย

10.2) การสัตยาบันทั่วไปเปรียบเสมือนการทำข้อตกลงอันดับต้นหรือใหญ่ที่สุดซึ่งการทำข้อตกลงอื่นๆขึ้นอยู่กับการทำข้อตกลงอันดับต้นนั้น(อันนัซรียาตฺ อัส-สิยาสียะฮฺ อัล-อิสลามียะฮฺ หน้า 215) และส่วนหนึ่งจากการทำข้อตกลงอื่นๆที่เป็นผลมาจากการสัตยาบันทั่วไปแก่ผู้นำสูงสุดก็คือการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่กอฎียฺ เป็นต้น

10.3) ประชาคมมุสลิมต้องได้รับการพิทักษ์รักษาให้พ้นจากสภาพของการไร้สัตยาบันต่อผู้นำสูงสุดตลอดจนเอกภาพของประชาคมโดยรวมภายใต้การนำของผู้นำสูงสุดในด้านกิจการศาสนาอิสลาม

10.4) รูปลักษณ์ของการบริหารองค์กรฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามมีความสอดคล้องและใกล้เคียงดับต้นแบบในเชิงรัฐศาสตร์อิสลาม

10.5) สถานะของการสัตยาบันทั่วไปตามศาสนาบัญญัติจะเป็นตัวกำหนดท่าทีของประชาคมมุสลิมที่มีต่อผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามซึ่งได้รับการสัตยาบันนั้น กล่าวคือ ด้วยการสัตยาบันแก่ผู้นำสูงสุด ประชาคมมุสลิมก็ย่อมมีหน้าที่ในการปฏิบัติตามและเชื่อฟังคำสั่งของผู้นำ ตราบใดที่คำสั่งนั้นมิได้ขัดต่อตัวบทศาสนา และการตัดสินหรือให้น้ำหนักต่อทัศนะที่มีความเห็นต่างในประเด็นข้อวินิจฉัยทางศาสนาของผู้นำสูงสุดถือเป็นที่สิ้นสุด

การกระด้างกระเดื่อง ดื้อแพ่ง การด่าทอ บริภาษ และการกบถแข็งขืนไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบธรรมของผู้นำสูงสุดถึงเป็นความผิดทางศาสนาอิสลาม เป็นต้น

  • กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรี

    ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่

    http://www.mediafire.com/?u6q3h578d17h3tn

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟสบุค

http://www.facebook.com/pages/กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรี

http://www.facebook.com/groups/187964561308731/