คุณสมบัติเฉพาะของชนชาติจาม

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของชนชาติจามในอาณาจักรจัมปาก่อนยุคศาสนาอิสลามที่แผ่เข้ามาในภายหลังทำให้เราได้รับทราบถึงคุณสมบัติเฉพาะอันเป็นอัตลักษณ์ของชนชาติจามในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

1.ชนชาติจามเป็นชาติพันธุ์มลายู-ชวา

 

2.ชนชาติจามรับอารยธรรมจากอินเดียเช่นเดียวกับพวกฟูนันซึ่งเป็นชนชาติมลายูเช่นเดียวกัน และพวกขอมโบราณ (เขมร) หรือเจนละซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของพวกฟูนันมาก่อน ส่วนพวกอานัมหรือเวียดนามนั้นรับอารยธรรมมาจากจีน

 

3.ชนชาติจามเคยนับถือศาสนาฮินดู-พราหมณ์นิกายไศวะ และพุทธศาสนาแบบมหายานนิกายอารยสันมีตียะเช่นเดียวกับพวกฟูนันและพวกขอมโบราณ (เขมร) โดยได้รับอิทธิพลจากอินเดียผ่านอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นมลายู-ชะวาเช่นกัน ทั้งนี้ในบางช่วงของประวัติศาสตร์มีการรุกรานของพวกชะวาเข้ามาถึงอินโดจีน

 

ดังในกรณีของอาณาจักรจัมปาที่กล่าวมาแล้ว และอาณาจักรเจนละซึ่งภายหลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1193-1256) ได้แตกออกเป็น 2 ส่วน กลายเป็นเจนละบกหรือเจนละเหนือฝ่ายหนึ่ง กับเจนละน้ำหรือเจนละใต้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเจนละน้ำนี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของชะวา

 

ในราวตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 14 กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรแห่งชะวาได้ยกทัพเรือมาตีเจนละจับพระเจ้ามหิปติวรมันแห่งเจนละน้ำตัดพระเศียร เจ้าชายเขมรซึ่งต่อมาก็คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ปี พ.ศ. 1345) ก็เคยเสด็จไปประทับอยู่ในชะวา จึงเห็นได้ว่าทั้งจัมปา ฟูนัน และเจนละมีความเกี่ยวพันกับชะวาอย่างชัดเจน ทั้งในด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ตลอดจนลัทธิและคติความเชื่อทางศาสนา

 

4.ชนชาติจามมีความเป็นชาวทะเล ชำนาญในการเดินเรือมานับแต่ต้น เช่นเดียวกับชาวมลายู-ชะวา และอาณาจักรจามปาเคยมีกองทัพเรือที่เกรียงไกร ในปี พ.ศ. 1720 กษัตริย์จามเคยยกกองทัพเรือเข้าไปยึดเมืองพระนคร ราชธานีของอาณาจักรกัมพูชา (เขมร) และกองทัพเรือของชนชาติจามก็เคยบุกโจมตีอาณาจักรของพวกอานัม (เวียดนาม) และมียุทธนาวีสำคัญในรัชสมัยพระเจ้าเชบองงา กษัตริยน์จามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

 

5.การรบพุ่งในสงครามของชนชาติจามที่เป็นมาโดยตลอดทั้งกับฝ่ายขอมโบราณ (เขมร) และเวียดนาม รวมถึงจีนในบางช่วงของประวัติศาสตร์ย่อมมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชนชาติจามเป็นนักรบผู้เจนศึกและชำนาญในศาสตร์ของสงคราม โดยเฉพาะการยุทธทางทะเลซึ่งถือเป็นคุณสมบัติพิเศษของชนชาติจามที่สืบทอดต่อมาในภายหลังเมื่อมีการจัดตั้งกรมอาสาจามในสยามประเทศ